นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

หลังวัย 40 ทำไม?..กินอะไรก็อ้วนง่าย



หลังวัย 40 ทำไม?..กินอะไรก็อ้วนง่าย

เคยรู้สึกมั้ยว่า พออายุเริ่มมากขึ้น กินข้าวเท่าเดิมแต่ทำไม? น้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางวันแค่หายใจยังอ้วนเลย ทั้งที่สมัยเป็นวัยรุ่นไม่เคยเป็นแบบนี้เลย!

ขออธิบายง่ายๆ ว่า สาเหตุหนึ่งเกิดจากการที่ระบบเผาผลาญหรือเมตาบอลิซึม (Metabolism) มันเริ่มเสื่อมยังไงล่ะ โดยร่างกายจะมีระบบเผาผลาญดีที่สุดวัยไม่เกิน 40 ปี หลังจากนั้นกินอะไรก็จะอ้วนง่ายแล้ว

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกับคำว่า “ระบบเผาผลาญ” ที่เราเรียกกันว่าเมตาบอลิซึมกันก่อน ระบบนี้มันคือกระบวนการเคมีในร่างกายที่เปลี่ยนสารอาหารที่เรากินให้กลายเป็นพลังงานไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน หรือระบบอวัยวะในร่างกายก็ต้องใช้พลังงานทั้งสิ้น

เหมือนเราขับรถแล้วต้องเติมน้ำมัน เครื่องยนต์จะขับเคลื่อนได้ก็ต้องไปเผาน้ำมันจนกลายเป็นพลังงาน ระบบเมตาบอลิซึมในร่างกายก็คล้ายๆ กัน การเผาผลาญของคนก็เหมือนกับเครื่องยนต์ พอใช้ไปนานๆ เข้า มันก็เริ่มเสื่อมสภาพได้ ทำให้เผาผลาญได้ไม่เต็มที่เหมือนตอนเป็นวัยรุ่น

ซึ่งได้รับการวิจัยมาแล้วว่าระบบเผาผลาญของเราจะค่อยๆ เสื่อมลง 5% ทุก 10 ปี ตั้งแต่อายุเลยวัย 40 ปีไปแล้ว คือถ้าปล่อยไว้ไม่ทำอะไรเจ้าค่าเมตาบอลิซึมมันก็จะลดไปเรื่อยๆ กินเท่าเดิมแต่เพิ่มเติมคือน้ำหนักมากขึ้น พูดแบบบ้านๆ ก็คืออ้วนง่ายนั่นแหละ แต่ถ้าไม่อยากเป็นแบบนั้นก็พอมีวิธีชะลอไม่ให้มันเสื่อมลง ซึ่งวิธีซ่อมเมตาบอลิซึมหลักๆ มีอยู่ 2 อย่างคือ การทานอาหาร และอีกเรื่องที่เพิ่มเมตาบอลิซึมได้ก็คือการออกกำลังกาย เพราะจะช่วยกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานต่อวันให้ดียิ่งขึ้น ถ้าจะออกกำลังกายให้เพิ่มการเผาผลาญก็ควรต้องออกกำลังโดยให้หัวใจเต้นในอัตรา 60-70% ของอัตราสูงสุด

** คำนวนได้จากการเอาเลข 220 - อายุปัจจุบัน จะได้ฮาร์ทเรทสูงสุด แล้วออกกำลังกายแค่ 60-70% ของฮาร์ทเรทสูงสุด ซึ่งตัวเลขที่ให้ออกกำลังกายที่ได้เป็นตัวเลขค่าประมาณเท่านั้น ถ้าจะเอาชัวร์ๆ ว่าเราต้องออกกำลังกายสักเท่าไร เพื่อให้ฮาร์ทเรทอยู่ในช่วงเผาผลาญไขมัน หรือถ้าอยากจะเพิ่มเมตาบอลิซึมด้วยการออกกำลัง ก็ควรจะรู้ลิมิตตัวเองด้วยการตรวจ Vo2 Max และได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาล อันนี้จะช่วยให้ได้ผลและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

แถมข้อดีของการทำเทส Vo2 Max จะทำให้เรารู้โซนออกกำลังกายที่เพิ่มความฟิตได้ด้วย ช่วยให้การออกกำลังกายไปแล้วจะฟิตขึ้น อึดขึ้น วิ่งได้ไกลขึ้นอะไรแบบนี้.. (คุณแข็งแรงหรือฟิตแค่ไหน? VO2 Max มีคำตอบด้วยเทคโนโลยี CPET วัดอัตราการเผาผลาญออกซิเจนของร่างกาย คลิกอ่าน >> https://bit.ly/2L1uDCA)

ดังนั่นใครที่อายุเกิน 40 ปีแล้วโปรดอย่านิ่งนอนใจ เพราะอัตราการเผาผลาญและมวลกล้ามเนื้อจะค่อยๆ ลดลงไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น การออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิคและการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ รวมถึงการทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้รับโปรตีนที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ จะช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อและทำให้อัตราการเผาผลาญอยู่ในระดับที่ดี ช่วยลดปัญหาอ้วนง่าย คุมน้ำหนักได้ดีขึ้น

** การออกกำลังกายและเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน คุ้มค่ากว่าการปล่อยให้อ้วน แล้วต้องจ่ายค่ารักษาโรคต่างๆ ทีหลังแน่นอน**




 

Create Date : 09 มีนาคม 2565   
Last Update : 9 มีนาคม 2565 10:34:26 น.   
Counter : 547 Pageviews.  


อย่าให้ลูกขาดวิตามิน D ถ้าต้องการให้เด็กสุขภาพดีจากภายใน




อย่าให้ลูกขาดวิตามิน D ถ้าต้องการให้เด็กสุขภาพดีจากภายใน


วิตามินดี (Vitamin D) เป็นหนึ่งในสารอาหารที่จำเป็นมากสำหรับเด็ก โดยแหล่งวิตามินดีที่พบได้ง่ายที่สุดก็คือ “ แสงแดดอ่อนๆ ในยามเช้า ” ควรให้เด็กทำกิจกรรมที่ได้รับแสงแดด อย่างน้อย 15 นาที จำนวน 2-4 ครั้ง/สัปดาห์ ช่วงเวลาที่ไม่ร้อนจนเกินไป เช่น เวลาเช้า 6.00 - 8.00 น.หากเด็กขาดวิตามินดี ย่อมส่งผลต่อสุขภาพที่ไม่ดีนัก เพราะวิตามินดีมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ยับยั้งการสลายของกระดูก

ที่สำคัญ วิตามินดี ยังเป็นฮอร์โมนประเภทหนึ่ง ที่มีส่วนช่วยในการสร้างและควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน กระตุ้นการผลิตอินซูลิน ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเซลล์ และยังมีส่วนช่วยให้ร่างกายสามารถป้องกันการติดเชื้อ และการเกิดโรคบางโรคได้
 


เด็กที่ขาดวิตามินดี จะส่งผลต่อกระดูกและกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อน (rickets) อาจพบภาวะกระหม่อมปิดช้า กระโหลกนิ่ม ฟันขึ้นช้า ฝันผุง่าย กระดูกข้อมือ แขนขา ผิดรูป ตัวเตี้ยไม่สมส่วน ในเด็กเล็กอาจมีพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ล่าช้า เด็กโตอาจมีอาการปวดกระดูกและกล้ามเนื้อ
 


การขาดวิตามินดียังส่งผลต่อระบบอื่นๆ เช่น ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนได้ง่าย และภูมิแพ้ต่างๆ โรคเบาหวานชนิดที่1 น้ำตาลในเลือดสูง และกลุ่มอาการเมตาบอลิก (โรคอ้วนลงพุง) ถ้าขาดวิตามินดีรุนแรงอาจมีอาการของแคลเซียมในเลือดต่ำได้ เช่น ชักเกร็ง เป็นตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง หยุดหายใจ หรือกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมได้
 


จะเห็นได้ว่าวิตามินดีเป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพกระดูกและพัฒนาการโดยรวมของเด็ก เด็กทุกคนจึงควรได้รับวิตามินดีในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ แข็งแรงสมวัยและห่างไกลจากโรคต่างๆ นอกจากแสงแดดอ่อนๆ ในยามเช้าแล้ว ยังมีอาหารหลายอย่างที่อุดมไปด้วยวิตามินดี เช่น เนื้อสัตว์ ตับ ไข่แดง นมและผลิตภัณฑ์จากนม น้ำมันตับปลา ปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า

หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยในการเลือกอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดีให้ลูก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ หรือหากสังเกตเห็นสัญญาณของการขาดวิตามินดีในเด็ก ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันทีเพื่อจะได้รับการแก้ไขได้ทันเวลา
 




 

Create Date : 07 มีนาคม 2565   
Last Update : 7 มีนาคม 2565 13:31:36 น.   
Counter : 776 Pageviews.  


14 เรื่อง.. เกี่ยวกับเนื้องอกต่อมใต้สมอง ที่หลายคนยังไม่รู้



14 เรื่อง.. เกี่ยวกับเนื้องอกต่อมใต้สมอง ที่หลายคนยังไม่รู้

ต่อมใต้สมองผลิตฮอร์โมนสำคัญๆ ให้ร่างกายมากมาย แล้วจะเป็นอย่างไร? ถ้าวันหนึ่งต่อมใต้สมองทำงานไม่ได้หรือมีเนื้องอกเกิดขึ้นมา.. ใครที่ยังไม่รู้จักโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง มาครับ! หมอจะอธิบายให้ฟังสั้นๆ

  1. เนื้องอกต่อมใต้สมองพบได้ประมาณ 10% ของเนื้องอกสมองทั้งหมด
     
  2. ส่วนใหญ่ไม่ใช่มะเร็ง
     
  3. แม้จะมีขนาดเล็กเท่าเม็ดถั่วลันเตา และอยู่ในแอ่งกระดูกเล็กๆที่ฐานสมอง แต่ก็มีหน้าที่สำคัญในการผลิตฮอร์โมนต่างๆ มากมาย
     
  4. เมื่อเกิดเนื้องอกขึ้น หากมีขนาดเล็กและไม่รบกวนหน้าที่ปกติของต่อมใต้สมอง อาจจะไม่มีอาการแสดงอะไรเลย จะตรวจพบในการทำ MRI สมองเพื่อตรวจหาเรื่องอื่นและเจอโดยบังเอิญ
     
  5. แต่ถ้ามีขนาดใหญ่หรือก่อให้เกิดความผิดปกติในการทำหน้าที่ จะทำให้มีอาการต่างๆ ตามมาได้ดังนี้
     
  6. การสร้างฮอร์โมนที่มากไปหรือน้อยไป ส่งผลให้อวัยวะเป้าหมายทำงานผิดปกติ เช่น รอบเดือนไม่มา หรือมาผิดปกติ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มีน้ำนมไหลแม้ไม่ได้ตั้งครรภ์ ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ปัสสาวะบ่อยและมาก
     
  7. หรือเนื้องอกไปกดเบียดจุดตัดเส้นประสาทตา ก็อาจทำให้มีอาการตามัวมองไม่ชัด
     
  8. เนื้องอกขยายตัวเร็วหรือมีเลือดออกภายในจนไปกดเบียดโครงสร้างอื่นๆ ในสมองทำให้มีอาการปวดศรีษะรุนแรงได้
     
  9. จะเห็นว่าผู้ป่วยเนื้องอกต่อมใต้สมองมีอาการแสดงต่างกัน จึงต้องมีแพทย์สหสาขาร่วมวินิจฉัยและดูแล
     
  10. อายุรแพทย์ระบบประสาท จะตรวจประเมินความผิดปกติของระบบประสาทที่เกี่ยวข้อง
     
  11. อายุรแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อ ประเมินดูระดับฮอร์โมน ความผิดปกติ เพื่อให้การดูแลรักษาทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด
     
  12. จักษุแพทย์ ตรวจดูความผิดปกติของการมองเห็น ให้การดูแลและตรวจติดตามหลังการรักษา
     
  13. รังสีแพทย์ระบบประสาทและสมอง จะทำการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่อง MRI ร่วมกับการฉีดสารทึบรังสี เพื่อดูขนาดและลักษณะของเนื้องอก ผลกระทบต่อโครงสร้างข้างเคียง เพื่อร่วมวางแผนการรักษากับทีมแพทย์ต่อไป
     
  14. ศัลยแพทย์ระบบประสาทและสมอง ศัลยแพทย์หูคอจมูก จะทำงานร่วมกันในการผ่าตัดผ่านกล้อง เพื่อเข้าถึงตำแหน่งของเนื้องอกได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย ร่วมกับการใช้ภาพ MRI ที่เชื่อมต่อกับระบบนำวิถี (neuronavigator surgery) เพื่อการผ่าตัดและสลายเนื้องอกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ทำได้อย่างแม่นยำ บอบช้ำน้อย โดยยังคงรักษาเนื้อสมองส่วนที่ดีเอาไว้ได้มากที่สุด

รักษาเนื้องอกต่อมใต้สมองไม่ใช่ที่ไหนก็ได้ “ศูนย์ผ่าตัดส่องกล้องเนื้องอกต่อมใต้สมอง โรงพยาบาลรามคำแหง” อ่านข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/readcenter_clinic/50




 

Create Date : 03 มีนาคม 2565   
Last Update : 3 มีนาคม 2565 11:13:06 น.   
Counter : 447 Pageviews.  


คุณ "ติดหวาน" แล้วหรือยัง? เช็กได้ที่นี่!



คุณ "ติดหวาน" แล้วหรือยัง? เช็กได้ที่นี่!

ใครเคยมีอาการแบบนี้บ้าง? เวลาที่ขาดความหวานไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือขนม จะชอบหงุดหงิด หรือเวลาปรุงอาหารมักใส่น้ำตาลมากๆ อาการเหล่านี้อาจเข้าข่ายการเสพติดความหวาน... แล้วอยากรู้กันไหม? ว่าคุณกำลังติดหวานอยู่หรือเปล่า? งั้นมาลองทำแบบทดสอบง่ายๆ นี้กันดูนะครับ จะได้รู้กันไปเลยว่าคุณติดหวานไหม? ...

  • ต้องกินน้ำหวานหรือน้ำปั่นทุกวัน แถมบางวันเพิ่มวิปครีม เพิ่มน้ำเชื่อมอีก
     
  • กินก๋วยเตี๋ยวเป็นต้องใส่น้ำตาลหลายๆ ช้อน จนน้ำแทบจะเป็นน้ำเชื่อม
     
  • รู้สึกอยากกินของหวานๆ ตลอดเวลา จนต้องมีขนมหรือลูกอมติดโต๊ะเสมอ
     
  • เห็นร้านเค้ก ร้านไอศกรีม ร้านขนมหวานเป็นต้องแวะเดินโฉบเข้าไปทุกครั้ง
     
  • วันไหนไม่ได้กินของหวานจะหงุดหงิด กระสับกระส่ายเป็นพิเศษ
     
  • รู้สึกฟินมากทุกครั้งเมื่อได้กินรสหวาน
     
  • เมื่อรู้สึกแย่จะมองหาของหวานกินแก้เครียด
     
  • ชอบกินของหวานเป็นอาหารจานหลัก ส่วนของคาวกินแค่พออิ่ม
     
  • ถึงจะกินข้าวอิ่มแล้ว แต่ก็พร้อมเสมอสำหรับของหวานจานใหญ่
     
  • กินขนมหวานชิ้นเดียวไม่เคยพอ ต้องจัดเต็มตลอดๆ

ตอบใช่ 4 ข้อ > คุณก็เสพติดความหวานเหมือนกัน แต่อยู่ในระดับปานกลาง แต่ไม่ควรชะล่าใจ

ตอบใช่ 6 ข้อ > คุณเสพติดความหวานมากเหมือนกัน ควรรีบการกินหวานให้น้อยลงก่อนที่จะติดหนักกว่านี้

ตอบใช่ 8 ข้อ > คุณกำลังเสพติดความหวานอย่างหนักแล้ว ควรลดการกินหวานโดยด่วน! เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณ

จะทำยังไงดี? ถ้าติดหวาน.. 
หากไม่อยากเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ ที่เกิดจากความหวานไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน หัวใจ เบาหวาน แนะนำให้ค่อยๆ ลดความหวานลงทีละนิดทีละหน่อย เพื่อสุขภาพที่ดีลดความเสี่ยงการเกิดโรค และที่สำคัญไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการหักดิบอดหวาน เพราะร่างกายอาจทนไม่ไหวและกลับไปกินน้ำตาลในปริมาณที่มากกว่าเดิม ถ้าเป็นแบบนี้คงไม่แน่ๆ..




 

Create Date : 02 มีนาคม 2565   
Last Update : 2 มีนาคม 2565 11:52:28 น.   
Counter : 753 Pageviews.  


ความเครียดสะสม เสี่ยงฆ่าตัวตายสูง

 

ความเครียดสะสม เสี่ยงฆ่าตัวตายสูง

สถิติทั่วโลก คิดสั้นสำเร็จ “1 คน ทุก 40 วินาที” กรมสุขภาพจิตเผยโควิด-19 ทำคนไทยเครียด เสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น10 เท่า

สถิติทั่วโลกในหนึ่งปีมีคนฆ่าตัวตายเป็นจำนวนกว่าล้านคน เมื่อคิดเฉลี่ยแล้วพบว่าทุก 40 วินาที จะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน พฤติกรรมการฆ่าตัวตายนั้นเกี่ยวข้องกับหลายสาเหตุซึ่ง “ความเครียดสะสม” ก็เป็น 1 ในสาเหตุที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย

และด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายคนเกิดความเครียดและความกังวลใจเพิ่มขึ้น เมื่อสะสมเรื่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและมีพฤติกรรมอยากฆ่าตัวตายสูงขึ้น

สถานการณ์ COVID-19 คุณมีอาการดังต่อไปนี้หรือไม่ แนะนำให้สังเกตอาการเหล่านี้

  • กลัว เครียด กังวล
  • นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง แปรปรวน หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย
  • เบื่อ เฉยชา รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่สดชื่น ลดกิจกรรมลงอย่างชัดเจน ไม่อยากทำอะไร
  • พฤติกรรมการกินผิดปกติ บางคนกินไม่ลง บางคนกินมากผิดปกติ
  • บางคนดื่มแอลกอฮอล์หนักขึ้น หรืออาจมีการสูบบุหรี่
  • สมาธิจดจ่อไม่ดี หลงๆ ลืมๆ ทำงานบกพร่อง
  • เริ่มรู้สึกท้อแท้หมดหวัง รู้สึกไร้ค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่

ในกรณีรุนแรงอาจพูดว่า “อยากตาย” บางครั้งฟังเหมือนเป็นการพูดเล่น แต่ควรใส่ใจและคอยสังเกตอาการผู้พูดให้มากขึ้น ไม่ว่าจะพบการตัดพ้อเช่นนี้ในโลกโซเชียลหรือพูดขึ้นมาลอยๆ ก็ตาม

ดังนั้นหากพบเห็นคนรอบข้างหรือตัวคุณเองเริ่มมีอาการตามที่กล่าวมาแนะนำให้ไปพบแพทย์ การที่มาพบแพทย์ก็เหมือนการหาที่ปรึกษา โดยมีผู้รับฟังและช่วยแก้ปัญหาที่ดี ก็จะทำให้เราได้รับคำแนะนำอย่างถูกวิธีและช่วยลดความเครียดที่เกิดขึ้นได้ ก่อนที่อะไรๆ จะสายเกินแก้ไขและอาจเกิดความสูญเสียได้

เทคนิคการฝึกคลายเครียดด้วยตัวเอง ฉบับกรมสุขภาพจิต คลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1683




 

Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2565   
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2565 14:54:24 น.   
Counter : 726 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com