นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

โรคซึมเศร้า สามารถเป็นได้ในเด็ก



เชื่อว่าปัจจุบันนี้ ทุกคนคงรู้จักเรื่องซึมเศร้ากันดีอยู่แล้ว แต่มีเรื่องหนึ่งที่เชื่อว่าหลายท่านอาจยังไม่ทราบกัน ว่าโรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นในเด็กได้ด้วย และสถิติผู้ป่วยก็มีจำนวนไม่แพ้คนวัยผู้ใหญ่เลยเช่นกัน

ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้นในเด็กได้นั้น อาจเป็นผลจากพันธุกรรมและความผิดปกติของสมอง รวมถึงเกิดจากสภาพแวดล้อมรอบตัวของเด็กได้ด้วย

📣👶ซึ่งโรคซึมเศร้าในเด็กว่ากันตามตรงนั้นตรวจพบได้ยากกว่าผู้ใหญ่ เพราะว่าบางครั้งอารมณ์ซึมเศร้าอาจจะเป็นหนึ่งในพัฒนาการของเด็กที่กำลังพัฒนา จึงทำให้การวินิจฉัยว่าเด็กคนนี้เป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่อาจไม่ชัดเจนแน่นอน เนื่องจากเด็กอาจยังไม่เข้าใจความรู้สึกตัวเองว่าแบบไหนคือการแสดงออกถึงความเศร้าบางครั้งเลยแสดงออกมาเป็นอาการทางกายต่างๆ แทน เช่น ปวดหัว ปวดท้องคลื่นไส้ อาเจียนหรือมีพฤติกรรมหงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ก้าวร้าว แยกตัวอยู่คนเดียว ไม่สนใจใคร นอนไม่หลับ หากมีอาการสะสมไปจนช่วงวัยรุ่นอาจส่งเสริมให้น้องมีพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย เช่น อาจมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ ทำร้ายตัวเอง ติดเกม ดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดได้ด้วยทั้งสิ้น

🕵️‍♀️ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองก็ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็กและพยายามพูดคุยกับเด็กบ่อยๆลองถามคำถามปลายเปิดเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างวันบ้างหากลูกไม่ยอมพูด ในบางครั้งต้องขอความร่วมมือจากคุณครูในโรงเรียนด้วย เพราะเด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ที่โรงเรียนมากกว่าอยู่บ้านนั่นเอง

รวมถึงหาเวลาว่างพาเด็กๆ ไปทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการไปเที่ยว หรือแม้กระทั่งการออกกำลังกายก็ตาม เพราะการออกกำลังกายช่วยหลั่งฮอร์โมนความสุขได้ด้วยนะ ไม่ใช่ว่าออกเพื่อสุขภาพอย่างเดียวเท่านั้น

แต่หากสังเกตอาการของน้องสักระยะแล้ว พบว่าอาการไม่ดีขึ้น อันนี้ควรรีบพาไปปรึกษาจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการความรุนแรงก่อนเลยเพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้เสี่ยงมีอาการซึมเศร้ารุนแรงเพิ่มขึ้นและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ดังที่กล่าวไปเบื้องต้น

📌ดังนั้นหากพบเห็นความผิดปกติต่างๆ พ่อๆ แม่ๆ อย่าได้นิ่งนอนใจ หากมาหาหมอแต่เนิ่นๆ โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยนะครับ อย่ารอจนเหตุการณ์บานปลายแล้วมาโทษตัวเองกันทีหลังเลย พ่อจ๋าแม่จ๋า




 

Create Date : 30 กันยายน 2563   
Last Update : 30 กันยายน 2563 10:14:24 น.   
Counter : 1122 Pageviews.  


ไวรัส RSV อาการคล้ายหวัด แต่อันตรายมากกว่า



🦠RSV เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ปอด หอบหืด หรือทารกที่คลอดก่อนกำหนด เชื้อไวรัสนี้สามารถทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรงและเสียชีวิตได้

ไวรัส RSV สามารถติดต่อได้จากน้ำลาย ละอองเสมหะของเด็กที่ป่วยและไอออกมา นอกจากการแพร่กระจายจากผู้ที่มีเชื้อแล้ว อาจติดจากการไปสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนน้ำลายของผู้มีเชื้อ ดังนั้นผู้ปกครอง หรือพี่เลี้ยงที่สัมผัสเด็กป่วย ก่อนจะไปสัมผัสเด็กคนอื่นควรล้างมือให้สะอาดก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากเด็กคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง

ไวรัสตัวนี้น่ากลัวไม่น้อยเลยนะครับ เพราะถ้ามองเผินๆ คุณพ่อคุณแม่อาจจะคิดว่าลูกเป็นแค่หวัดธรรมดา เนื่องจากอาการของโรคติดเชื้อไวรัส RSV มีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา ซึ่งเด็กที่เป็นหวัดธรรมดาจะมีอาการไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล กินข้าว กินนมได้ และมักจะหายได้ใน 5-7 วัน แต่อาการที่เกิดจากไวรัส RSV จะมีไข้ ไอ จาม หอบเหนื่อย บางคนหอบมากจนอกบุ๋ม หายใจมีเสียงหวีด หรือเด็กบางคนไอมากจนอาเจียน ซึมลง กินข้าว กินนมไม่ได้

📌ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะเป็นเพียงการรักษาตามอาการแบบประคับประคองรอให้ร่างกายแข็งแรงจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา และดูแลเรื่องการหายใจและเสมหะ เช่น เช็ดตัวลดไข้ ทานยาลดไข้ตามอาการทุก 4-6 ชั่วโมง ให้ยาละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม หรือพ่นยา ในผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อย หายใจไม่ค่อยดี และเริ่มมีออกซิเจนในเลือดต่ำลง อาจต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือด ให้ยาพ่นขยายหลอดลม เคาะปอด ดูดเสมหะ รวมถึงให้ออกซิเจน ส่วนในรายที่มีอาการหนักมาก อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยให้การดูแลในหอพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติจนกว่าอาการจะดีขึ้น ซึ่งร่างกายจะค่อยๆ ฟื้นตัว อาจใช้เวลาประมาณ 7-14 วัน

และเนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การระวังไม่ให้เด็กติดเชื้อไวรัสจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ ผู้ดูแลเด็กรวมถึงคนรอบข้าง ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลก่อนไปจับตัวเด็ก แยกของใช้ส่วนตัวของเด็ก และเน้นการทำความสะอาดของเล่น ของใช้เด็ก หลีกเลี่ยงไม่พาเด็กไปสถานที่แออัด คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกป่วยควรให้ลูกหยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการไอจามแพร่เชื้อให้กับเด็กคนอื่นๆ หรือผู้ใหญ่เวลาไม่สบายและจำเป็นต้องดูแลเด็กก็ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่เด็ก...

🔷“RSV ภัยร้ายคุกคามลูกน้อย เสี่ยงปอดบวม” อ่านข้อมูลเพิ่มเติม https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/272




 

Create Date : 23 กันยายน 2563   
Last Update : 23 กันยายน 2563 9:54:10 น.   
Counter : 1055 Pageviews.  


อันตรายแทรกซ้อนของ โรคมือ เท้า ปาก



👶“มือ เท้า ปาก” เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กทารก เด็กเล็กตามสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ติดต่อกันง่ายโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำและทำให้มีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต

โรคมือเท้าปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (มีมากกว่า 100 สายพันธุ์) โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่พบบ่อย คือคอกซากีไวรัส เอ16 (coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71) สามารถติดต่อกันได้ด้วยการรับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสอาจติดมากับมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพอง หรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม ใส่กัน

อาการเริ่มต้นของโรคมือเท้าปากจะคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้สูงหรือไข้ต่ำจากนั้น 1-2 วัน จะพบแผลในปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น ริมฝีปาก ทำให้เจ็บกินได้น้อยอ่อนเพลีย ต่อมาจะมีตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำใสที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ข้อศอก รอบก้น และมักจะหายได้ภายใน 7- 10 วัน ในรายที่อาการรุนแรงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาตกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไปจนถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิดในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก แม้ว่าผื่นและแผลในปากจะหายไปแล้วก็ตาม โดยสัญญาณเตือนของ

📌ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที ได้แก่
* เด็กมีอาการซึมลง ไม่เล่น ไม่ทานอาหารหรือนม
* อาเจียนมาก บ่นปวดหัวมาก
* กระสับกระส่าย หายใจเร็ว เหนื่อยหอบ
* ไอมีเสมหะมาก ดูเหนื่อยๆ หน้าซีด
* ตัวเย็น ชัก เดินเซ

โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากอาการและอาการแสดง แต่ถ้ามีอาการแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์อาจจะต้องส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยัน เช่น การส่งตรวจตัวอย่างสารคัดหลั่ง หรืออุจจาระเพื่อหาเชื้อไวรัส ด้วยวิธี PCR (Polymerase Chain Reaction) หรือการเพาะเชื้อไวรัส (Virus Culture) ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมนี้ไม่จำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา

👩‍⚕️💊โรคมือเท้าปากยังไม่มีการรักษาโดยเฉพาะ จึงเป็นการรักษาอาการทั่วไปตามอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเท่านั้น เช่น หากเจ็บคอมาก ทานอะไรไม่ได้ เพลียมากอาจให้นอนโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด หรือหยอดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก และเฝ้าระวังสังเกตอาการภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น และเนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือเท้าปากได้ ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือการรักษาความสะอาดและมีสุขอนามัยที่ดีซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้

* พ่อแม่ หรือพี่เลี้ยงเด็กเล็กควรล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กทาน หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก
* ให้เด็กทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด ดื่มน้ำสะอาด
ไม่ใช้ภาชนะในการทานอาหารร่วมกัน โดยเฉพาะ ช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ ขวดนม
* เมื่อเช็ดน้ำมูกหรือน้ำลายให้เด็กแล้วต้องล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว
* ทำความสะอาดของเล่นและพื้นผิวโดยรอบด้วยสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดอยู่เสมอ
* หากเด็กมีอาการของโรคมือเท้าปากให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ ให้เด็กหยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์หรือจนกว่าหาย

ในกรณีที่มีเด็กป่วยและในสถานที่เดียวกันมีเด็กป่วยเพิ่มขึ้นอาจต้องปิดโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็ก และทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการระบาดของโรค

🕵️‍♀️“ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับโรค มือ เท้า ปาก https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/74




 

Create Date : 21 กันยายน 2563   
Last Update : 21 กันยายน 2563 9:45:25 น.   
Counter : 1271 Pageviews.  


Shaken Baby Syndrome อันตรายจากการเขย่าเด็กแรงๆ



📌 จากสถิติพบว่า เด็กที่มีอาการ Shaken Baby Syndrome 1 ใน 3 สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ ในขณะที่อีก 1 ใน 3 กลายเป็นเด็กพิการไปตลอดชีวิต เช่น ไร้สมรรถภาพในการเรียนรู้ ตาบอด หรือเป็นอัมพาตในสมอง และอีก 1 ใน 3 อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

Shaken Baby Syndrome กลุ่มอาการที่มักพบในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี เกิดจากการที่พ่อแม่จับลูกเขย่าแรงๆ อาจจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม เช่น การเขย่าตัวเด็กเพื่อให้หยุดร้องไห้ การเล่นกับเด็กรุนแรงหรือโลดโผนเกินไป เช่น จับลูกวัยยังไม่ถึง 1 ขวบ โยนขึ้นไปกลางอากาศแล้วรับ

แรงเขย่า แรงเหวี่ยงนั้น อาจทำให้เนื้อสมองของเด็กกระแทกกับกะโหลกศรีษะ จนสมองได้รับการกระทบกระเทือนและมีเลือดออก เพราะเส้นเลือดในสมองของเด็กเล็กๆ ยังไม่แข็งแรง โอกาสที่จะฉีกขาดจึงมีมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กทารกวัย 3-8 เดือน และอาจจะลุกลามไปถึงขั้นเส้นเลือดในจอประสาทตาขาดได้ด้วย

👶โดยทั่วไปเด็กที่ถูกเขย่าและมีอาการ Shaken Baby Syndrome จะไม่ค่อยมีสัญญาณภายนอกให้พ่อแม่เห็น จึงทำให้ไม่ได้รับการรักษาปล่อยทิ้งไว้เพราะความไม่รู้ เด็กจึงมีโอกาสเสียชีวิต มีปัญหาทางสายตา เป็นลมชัก หรือมีปัญหาด้านการเรียนรู้ และสติปัญญา

แม้ว่าอาการของโรค Shaken Baby Syndrome จะสังเกตได้ยาก แต่แนะนำให้หมั่นสังเกตหากลูกถูกเขย่าตัวรุนแรง แล้วมี อาการอาเจียน หายใจติดขัด กลืนน้ำลายไม่ได้ ไม่ยอมดูดนม เซื่องซึม หน้าผากบวม หรือมีเนื้อปูดออกมาที่ศีรษะ ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และต้องแจ้งกับแพทย์ด้วยว่าเด็กถูกเขย่าตัวอย่างรุนแรง เพื่อที่แพทย์จะได้วินิจฉัยอาการและทำการรักษาอย่างทันท่วงที




 

Create Date : 18 กันยายน 2563   
Last Update : 18 กันยายน 2563 9:46:22 น.   
Counter : 1273 Pageviews.  


ทำไม?...ลูกน้อยถึงตัวเหลืองหลังคลอด



👶“ตัวเหลือง” เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปในทารกแรกเกิด มักพบในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอดโดยส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย จะสังเกตได้จากผิวหนังและตาขาวของทารกจะเป็นสีเหลือง สารเหลืองนี้เรียกว่า “บิลิรูบิน” ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง เมื่อเม็ดเลือดแดงสลายตัว สารบิลิรูบินในกระแสเลือดจะถูกส่งไปที่ตับและขับออกทางอุจจาระ

ในเด็กแรกเกิด “ตับ” จะยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่จึงทำให้ไม่สามารถกำจัดสารนี้ได้เร็วพอ ระดับสารบิลิรูบินจึงเพิ่มสูงในกระแสเลือดและไปเกาะตามเนื้อเยื่อต่างๆ โดยมากภาวะนี้จะค่อยๆ ดีขึ้นและหายไปเองเมื่อตับของทารกพัฒนาขึ้น

นอกจากนี้ ภาวะตัวเหลืองยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้ เช่น คลอดก่อนกำหนด ติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะท่อน้ำดีอุดตันหรือถุงน้ำดีผิดปกติเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD หมู่เลือดของแม่กับลูกไม่เข้ากัน การดื่มนมแม่ ภาวะตับอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะพร่องไทรอยด์ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้จำเป็นต้องรีบรักษา เพราะหากปล่อยไว้ระดับบิลิรูบินที่สูงมากอาจแทรกซึมเข้าไปเกาะกับเนื้อเยื่อสมองและทำให้เกิดความผิดปกติของสมองและเกิดอาการทางระบบประสาทได้

ถ้าระดับบิลิรูบินสูงจนมีอาการตัวเหลืองรุนแรง และไม่ได้รับการรักษาบิลิรูบินจะเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อสมองและก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท หากเกิดขึ้นเฉียบพลัน ทารกจะมีอาการซึม ดูดนมน้อยลง หรืออาจเกิดอาการเกร็ง ชัก มีไข้ อาการที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการที่ช้ากว่าปกติ และอาจมีระดับสติปัญญาลดลง ซึ่งความผิดปกติทางสมองเหล่านี้ไม่อาจรักษาให้หายขาดได้แม้ว่าจะลดระดับของบิลิรูบินจนเข้าสู่ภาวะปกติ

📌โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจร่างกายและตรวจหาภาวะตัวเหลืองภายใน 72 ชั่วโมงหลังคลอด โดยดูจากสีผิว สีของตาขาว สีเหงือก สีปัสสาวะ สีอุจจาระ หากสงสัยว่าทารกมีภาวะตัวเหลือง แพทย์จะตรวจวัดระดับบิลิรูบินในเลือด เพื่อหาสาเหตุและพิจารณาว่าจำเป็นต้องรับการรักษาหรือไม่ และทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ส่วนกรณีที่เด็กมีภาวะตัวเหลืองจากโรคอื่นๆ การรักษาจะแตกต่างกันตามสาเหตุที่ตรวจพบ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการรักษาเป็นรายๆ ไป

แม้ว่าภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดจะพบได้บ่อยและอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองของทารก แต่ภาวะนี้สามารถรักษาให้หายได้ ในเด็กที่อาการตัวเหลืองไม่รุนแรงจะหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ในรายที่อาการไม่ดีขึ้นและมีระดับสารบิลิรูบินในเลือดสูง แพทย์อาจใช้การรักษาเพื่อลดระดับสารบิลิรูบินในเลือดด้วยวิธี

🔸การส่องไฟรักษา เป็นการใช้หลอดไฟชนิดพิเศษที่มีความยาวคลื่นแสงที่เหมาะสมเพื่อลดระดับสารบิลิรูบินในเลือดหากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงเกิน 12-15 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร

🔸ถ่ายเลือดร่วมกับการส่องไฟรักษา ถ้าหากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงมากจนอาจเกิดการสะสมในเนื้อเยื่อสมอง หรือแสดงอาการเฉียบพลันทางสมองเบื้องต้นแล้ว เพื่อลดระดับของบิลิรูบินในร่างกายได้อย่างทันท่วงที

🔸การรักษาด้วยยา ด้วยการฉีดอิมมูโนโกลบูลินเข้าเส้นเลือดในกรณีที่ภาวะตัวเหลืองเกิดจากเลือดของแม่และเด็กไม่เข้ากัน




 

Create Date : 16 กันยายน 2563   
Last Update : 18 กันยายน 2563 9:27:40 น.   
Counter : 990 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com