นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

ทำไม? ยังสาว แต่ "กระดูกพรุน"


ทำไม? ยังสาว แต่ "กระดูกพรุน"


👩 Working Woman ไม่อยากกระดูกพรุนก่อนวัย ต้องอ่าน!!

หลายคนมัวแต่ทำงานจนไม่ได้ใส่ใจสุขภาพของตัวเองเท่าที่ควร หรือถ้าสนใจส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องการดูแลผิวพรรณ ควบคุมน้ำหนักให้มีหุ่นเพรียวสวยซะมากกว่าที่จะดูแลร่างกายส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะกระดูกที่เป็นอวัยวะสำคัญมากๆ ในการเคลื่อนไหวร่างกาย นอกจากนี้ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเราทุกวันนี้ ยังช่วยทำลายมวลกระดูกให้เสื่อมเร็วขึ้นแบบไม่รู้ตัวอีกด้วย

ซึ่งปัจจัยที่เร่งให้มวลกระดูกเสื่อมเร็วขึ้นส่วนหนึ่งมาจากไลฟ์สไตล์ที่สาวๆ ทำกันจนเคยชิน ทั้งเครียดกับงาน ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ใส่รองเท้าส้นสูง ชอบดื่มน้ำอัดลม ตกเย็นก็ไปดื่มกับเพื่อน พักผ่อนน้อย ทุกเช้าก็ต้องดื่มกาแฟเพื่อให้ร่างกายตื่นตัว หรือบางคนก็ทำงานจนดึกดื่น ซึ่งการทำพฤติกรรมซ้ำๆ แบบนี้วนไปหลายๆ ปี ยิ่งเร่งให้กระดูกพรุนมาเยือนเร็วขึ้นโดยไม่ต้องรอจนอายุมาก

และหากเป็นโรคกระดูกพรุนขึ้นมานี่บอกเลยว่าชีวิตเปลี่ยนแน่ๆ เพราะมีโอกาสที่กระดูกจะแตกหักได้ง่ายๆ อย่างไม่คาดคิด สร้างความเจ็บปวดให้ร่างกาย เพราะจะเคลื่อนไหวไปไหนก็ไม่สะดวก ขยับตัวก็ลำบาก แถมยังต้องเสียเงินรักษาอีกไม่น้อย

แต่ถ้าเรารีบเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ด้วยการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาตัวเล็กๆ ถั่วต่างๆ เต้าหู้ งาดำ ผักใบเขียว ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เลี่ยงยกของหนักๆ รวมถึงตรวจมวลกระดูกเป็นประจำ ก็จะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้อีกทาง

การเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงควรทำตั้งแต่วัยหนุ่มสาวเพราะหลังอายุ 35 ปีไปแล้ว จะทำได้เพียงชะลอการเสื่อมของกระดูกเท่านั้น นอกจากนี้ไลฟ์สไตล์คนปัจจุบันอาจจะได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ (วิตามินดีช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม) จึงควรต้องตรวจเช็คและรับวิตามินดีเสริมโดยแพทย์เพิ่มเติมด้วย

📌 “วิตามินดี” ดีอย่างไร? คลิกอ่านเลย >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/289

 




 

Create Date : 20 ตุลาคม 2564   
Last Update : 20 ตุลาคม 2564 10:07:36 น.   
Counter : 559 Pageviews.  


แค่อ้วนลงพุง หรือเป็นเพราะคุณมี "เนื้องอกรังไข่"

 

แค่อ้วนลงพุง หรือเป็นเพราะคุณมี "เนื้องอกรังไข่"

"เนื้องอกรังไข่" เป็นอีกหนึ่งโรคที่คุณผู้หญิงควรต้องรู้จักและเฝ้าสังเกตให้มาก เพราะสามารถพบเจอได้ในทุกวัย และถ้าปล่อยไว้ให้มันเติบโตโดยไม่รู้ตัว อาจส่งผลกระทบกับการทำงานของร่างกายและไม่แน่ว่าเจ้าเนื้องอกนั้นอาจกลายร่างเป็นมะเร็งได้ในที่สุด

ซึ่งเนื้องอกสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งชนิดเนื้องอกธรรมดา มีทั้งที่เป็นถุงน้ำหรือซีสต์ในรังไข่ และเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งรังไข่ โดยอาจมีสัญญาณเตือนจากอาการผิดปกติได้เช่น ปวดท้องประจำเดือน, ประจำเดือนมาผิดปกติ, ปัสสาวะบ่อย (อาจเกิดจากที่ก้อนกดทับกระเพาะปัสสาวะ), ท้องผูก หรือถ่ายลำบาก (อาจเกิดจากที่ก้อนกดทับลำไส้ใหญ่และอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ), บางคนอาจมีท้องโตผิดปกติ

โดยขนาดของก้อนเนื้องอกมีโอกาสใหญ่ขึ้นจนทำให้หน้าท้องของเราเหมือนคนท้อง หรือคนอ้วนได้ ดังนั้นถ้าเรามีพุงออก พุงยื่น อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจว่าตัวเองอ้วน แต่ให้ลองทดสอบด้วยวิธีดังนี้

  • นอนราบลงกับพื้น แล้วสังเกตดูหน้าท้องถ้าท้องหรือพุงยังป่องอยู่ นั่นอาจผิดปกติแล้วล่ะ
  • เวลาที่ปวดปัสสาวะ น้ำปัสสาวะจะดันก้อนเนื้องอกให้ลอยสูงติดหน้าท้อง ทำให้รู้สึกว่าแน่นท้อง ถ้ารู้สึกว่าแน่นท้องมากผิดปกติ ให้ลองคลำตรงจุดที่ป่องดู ถ้าเป็นก้อนๆ ต้องรีบไปปรึกษาหมอแล้ว

เนื้องอกรังไข่อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวหลายคนไม่ใส่ใจเพราะคิดว่าแต่งงานมีลูกแล้วก็รอดไป แต่จริงๆ แล้วก็มีสิทธิ์เป็นได้เหมือนกัน แค่น้อยกว่าคนโสดเท่านั้นเอง

ดังนั้นเราจึงต้องหมั่นสังเกตร่างกายตัวเองสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติหรือสงสัยว่าจะเกิดโรค ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านสูติ-นรีเวช เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม.. หมอว่าจับๆ คลำๆ หาก้อนเนื้อดูทุกวัน มันคงไม่ลำบากมากนักหรอกเนอะ!

“เนื้องอกรังไข่”อ่านข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/669




 

Create Date : 18 ตุลาคม 2564   
Last Update : 18 ตุลาคม 2564 11:31:33 น.   
Counter : 868 Pageviews.  


อย่าเคยชินกับตกขาว & การติดเชื้อในช่องคลอด

 

อย่าเคยชินกับตกขาว & การติดเชื้อในช่องคลอด

ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มีการติดเชื้อในช่องคลอด มักแสดงอาการผ่านทางลักษณะของตกขาว ไม่ว่าจะเป็นอาการคันหรือกลิ่น โดย 3 โรคหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับตกขาวผิดปกติ ได้แก่

1. การติดเชื้อราในช่องคลอด ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ CANDIDA ALBICANS แต่บางรายอาจเกิดจากเชื้อราชนิดอื่นได้ โดยตกขาวจะมีลักษณะเหมือนแป้งเปียก มักมีอาการคันบริเวณปากช่องคลอด หรือมีอาการแสบร้อนในช่องคลอด ปัสสาวะแสบขัด เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ เมื่อตรวจภายในอาจพบการบวมแดงบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอด

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอดได้แก่ โรคเบาหวาน การใช้ยาปฎิชีวนะเป็นเวลานาน การมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้นหรือได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนจากภายนอก (ใช้ยาคุมกำเนิด การตั้งครรภ์) ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (การติดเชื้อเอชไอวี การได้รับยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน)

2. การติดเชื้อแบคทีเรีย เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ดีมีการเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนมากกว่าเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น อาจมาจากการมีคู่นอนหลายคน การสวนล้างช่องคลอด การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย และการขาดแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัสในช่องคลอด ส่วนมากจะไม่แสดงอาการผิดปกติ บางคนอาจมีอาการตกขาวผิดปกติ เช่น ตกขาวมีสีเทา มีกลิ่นเหม็นเหมือนคาวปลา มีอาการคัน อาจมีปัสสาวะแสบขัดหรือเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย

3. การติดเชื้อทริโคโมแนส เกิดจากเชื้อโปรโตซัว TRICHOMONAS VAGINALIS ที่มักติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้ตกขาวมีสีเขียวเป็นฟองและมีกลิ่นเหม็น ร่วมกับมีอาการแสบร้อนและคันบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอด ปัสสาวะแสบขัด เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์หรือเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ มีการอักเสบ บวมแดงบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอด มีจุดเลือดออกบริเวณช่องคลอดและปากมดลูกที่มีลักษณะจำเพาะเรียกว่า Strawberry cervix

โดยทั่วไปการติดเชื้อหรือความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศหญิงอาจมีผลทำให้ตกขาวผิดปกติได้ ซึ่งบางครั้งอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษา ดังนั้นหากสังเกตเห็นอาการผิดปกติของตกขาวหรืออาการอื่นๆ ที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการรักษา




 

Create Date : 15 ตุลาคม 2564   
Last Update : 15 ตุลาคม 2564 10:59:23 น.   
Counter : 2486 Pageviews.  


ประจำเดือนผิดปกติแบบไหน? ที่ต้องรีบไปพบหมอ


ประจำเดือนผิดปกติแบบไหน? ที่ต้องรีบไปพบหมอ

นัดกันทุกเดือนแต่ไม่เคยมาตรงสักรอบ ผู้หญิงหลายคนน่าจะเจอปัญหานี้กันอยู่บ่อยๆ ที่ประจำเดือนมาบ้าง ไม่มาบ้าง โดยประจำเดือนที่ผิดปกติอาจส่งผลร้ายกว่าที่เราคิดก็ได้.. ถึงเวลาแล้วที่คุณสาวๆ ต้องใส่ใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น มาดูกันว่าอาการผิดปกติของประจำเดือนมีอะไรบ้าง?...

  • รอบเดือนมาไม่ปกติ ปกติแล้วผู้หญิงจะมีรอบเดือนอยู่ที่ประมาณ 21-35 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน โดยช่วงที่เพิ่งเริ่มมีประจำเดือนรอบเดือนจะค่อนข้างยาว และจะเริ่มสั้นลงตามอายุที่มากขึ้น หรือในคนที่ใช้ยาคุมกำเนิด และพบว่าในแต่ละเดือนมีรอบเดือนที่ไม่เท่ากันติดต่อกันหลายเดือน
     
  • ปวดท้องประจำเดือนรุนแรง ถึงขั้นต้องขาดเรียน ขาดงาน ร่วมกับมีอาการปวดหลัง ปวดท้องตลอดทั้งเดือนแม้จะไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน
     
  • ประจำเดือนมานานเกินกว่า 7 วัน ระยะเวลาการมีประจำเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 2-7 วัน แต่ถ้ามากกว่า 7 วันขึ้นไป อาจไม่ใช่เรื่องที่ปกติ
     
  • ประจำเดือนออกมามาก ปกติแล้วในช่วงที่เป็นประจำเดือน ส่วนใหญ่จะใช้ผ้าอนามัยประมาณไม่เกินวันละ 5 แผ่น ถ้ามากกว่านี้หรือต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยถี่ๆ เพราะเลือดออกมามาก แบบนี้ผิดปกติแน่
     
  • ลิ่มเลือดประจำเดือนมีขนาดใหญ่ผิดปกติ แม้ว่าการมีลิ่มเลือดประจำเดือนจะไม่ใช่อาการที่น่ากังวล แต่ถ้าลิ่มเลือดที่ออกมามีขนาดใหญ่กว่าที่ควรจะเป็น
     
  • มีหยดเลือดออกมาที่ไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน ปกติแล้วในช่วงระหว่างรอบเดือนก่อนที่จะมีประจำเดือนจะไม่มีเลือดออกมาจากช่องคลอด แต่ถ้ามีหยดเลือดออกมาจากช่องคลอดถือว่าเป็นอาการที่ผิดปกติ
     
  • ประจำเดือนมีกลิ่น ปกติเลือดประจำเดือนจะมีกลิ่นคาวอยู่แล้ว แต่หากรู้สึกว่ามีกลิ่นของเลือดเหม็นผิดปกติ ให้สังเกตว่ากลิ่นเหม็นนั้นมีตลอดช่วงที่มีประจำเดือนหรือไม่

รอบเดือนเป็นเรื่องของผู้หญิงที่ต้องสังเกตตัวเองสม่ำเสมอว่าปกติหรือไม่ และถ้ารู้สึกว่าผิดแปลกไปให้รีบมาปรึกษาสูติแพทย์ จะได้ทราบว่าสาเหตุมาจากอะไร และรักษาได้ตรงจุดก่อนที่จะลุกลามยากต่อการรักษา




 

Create Date : 14 ตุลาคม 2564   
Last Update : 14 ตุลาคม 2564 10:18:00 น.   
Counter : 727 Pageviews.  


ภาวะ MIS-C (มิสซี) ในเด็ก ระบบร่างกายผิดปกติหลังติดเชื้อโควิด-19

 

ภาวะ MIS-C (มิสซี) ในเด็ก ระบบร่างกายผิดปกติหลังติดเชื้อโควิด-19

"หมอเด็ก" เตือน! ให้ผู้ปกครองสังเกตภาวะ MIS-C (มิสซี) ในเด็ก เกิดระบบร่างกายผิดปกติหลังติดเชื้อโควิด-19 พบแล้ว 30-40 คนทั่วประเทศ

จากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในผู้ใหญ่ ส่งผลให้มีเด็กติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น จึงคาดว่าจะทำให้มีผู้ป่วยภาวะ MIS-C ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบในเด็กหลังติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ภาวะ MIS-C (มิสซี) ในเด็ก สาเหตุเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มากเกินไป ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายหลายระบบ ภาวะนี้พบได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุ อุบัติการณ์ <1% ของผู้ป่วยเด็กที่เป็นโควิด แม้จะพบได้น้อยแต่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรง ในประเทศไทยพบผู้ป่วย MIS-C แล้วประมาณ 30-40 คน ทั่วประเทศ

เด็กที่มีภาวะ MIS-C จะมีอาการภายใน 2-6 สัปดาห์หลังติดเชื้อโควิด-19 โดยอาจตรวจพบเชื้อ ตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อโรค หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโรคโควิด-19 มาก่อน อาการที่พบ เช่น ไข้ ผื่น ตาแดง อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว หายใจเหนื่อย อาจมีภาวะช็อกที่เกิดจากการอักเสบที่หัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง

การอักเสบของหัวใจพบได้ 50-90% ของผู้ป่วยทั้งหมด อาจมีอาการรุนแรงจนจำเป็นต้องรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต หรืออันตรายถึงแก่ชีวิตได้ การรักษาภาวะนี้หลักๆ ทำได้โดยการให้อิมมูโนโกลบูลินและยากดภูมิคุ้มกัน

ดังนั้น ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตลูกหลานหลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 หากมีอาการดังกล่าวควรพาไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงที




 

Create Date : 12 ตุลาคม 2564   
Last Update : 12 ตุลาคม 2564 10:19:30 น.   
Counter : 646 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com