นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

สังเกตอาการ "โรคเบาหวาน" ในเด็ก



สังเกตอาการ "โรคเบาหวาน" ในเด็ก

👦 ถ้าพูดถึงโรคเบาหวานหลายคนมักจะคิดว่าเป็นโรคของผู้ใหญ่ แต่ความจริงโรคนี้ก็สามารถพบในเด็กได้เช่นกัน นี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม?..คุณพ่อคุณแม่ถึงควรใส่ใจ และหมั่นสังเกตความผิดปกติของลูกอยู่เสมอ

อย่างแรกเลยคุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เบาหวานในเด็กมีหลายชนิดเหมือนในผู้ใหญ่ แต่ที่เราพบบ่อยในเด็กจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 รองลงมาก็จะเป็นชนิดที่ 2 และเป็นเบาหวานจากสาเหตุอื่นๆ

เด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 อายุตั้งแต่ 1-2 ขวบ ก็สามารถเป็นได้แล้ว สาเหตุเกิดจากภูมิคุ้มกันร่างกายตัวเองทำลายตับอ่อน การที่เซลล์ตับอ่อนถูกทำลาย จึงทำให้ร่างกายของเด็กไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินที่ทำหน้าที่ในการควบคุมระดับน้ำตาลได้ ทำให้น้ำตาลสูงและอาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรดได้

เด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนหนึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันจากการทานอาหาร ของหวาน หรือน้ำตาลมากเกินไป ทำให้มีน้ำหนักตัวมากหรืออ้วน ส่งผลให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินที่เป็นฮอร์โมนควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย

📌 อาการของเด็กที่อาจเป็นโรคเบาหวานที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตได้ เช่น
* ปัสสาวะมากและบ่อย
* ดื่มน้ำมาก
* กินเก่ง แต่น้ำหนักลด หรือมีภาวะอ้วน
* มีปื้นดำหนาที่คอ รักแร้ ขาหนีบ ขัดถูไม่ออก
* มีการติดเชื้อราที่ผิวหนัง
* เด็กบางคนพอเป็นสัก 2-3 อาทิตย์ จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หอบ เหนื่อย เป็นผลมาจากภาวะเลือดเป็นกรด

หากพบอาการผิดปกติดังกล่าวเพื่อความแน่นอน คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพราะถ้าเรารู้แล้วว่าเด็กกำลังเริ่มมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือเป็นเบาหวาน จะได้รีบรักษาเพราะโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังตลอดชีวิต ถ้าไม่ดูแลรักษาตั้งแต่ตอนนี้ในอนาคตก็จะมีโรคอื่นๆ แทรกซ้อนตามมา

ซึ่งโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ยังไม่สามารถป้องกัน ส่วนเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นสามารถป้องกันได้ หากไม่อยากให้ลูกเสี่ยงเป็นเบาหวาน แนะนำให้ปรับพฤติกรรมการทาน ต้องควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารฟาสต์ฟู้ด ขนม ของหวานต่างๆ และให้ลูกออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยให้น้ำหนักตัวลดลง ส่งผลให้ภาวะดื้ออินซูลินลดลง ก็จะลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้




 

Create Date : 01 กันยายน 2564   
Last Update : 1 กันยายน 2564 10:58:47 น.   
Counter : 1059 Pageviews.  


ออกกำลังกาย ช่วยลดเบาหวานได้จริงหรือ?

 

ออกกำลังกาย ช่วยลดเบาหวานได้จริงหรือ?

การออกกำลังกาย ช่วยลดเบาหวานได้จริงหรือ? อธิบายง่ายๆ คือ โรคเบาหวานเกิดจากเซลล์ในร่างกายอยู่ในภาวะ “ดื้อต่ออินซูลิน” ที่สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ใช่เพียงแค่ทานอาหารรสหวานจัดอย่างเดียว แต่รวมถึงการทานอาหารที่มีไขมันสูง และขาดการออกกำลังกายจนกลายเป็นโรคอ้วน น้ำหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งนี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน จนนำไปสู่โรคเบาหวานได้ในที่สุด

ดังนั้นหากอยากรักษาโรคเบาหวานจากสาเหตุของโรคจริงๆ นั่นก็คือการทำให้ร่างกายไวต่ออินซูลินให้มากขึ้น ซึ่งวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายไวต่ออินซูลินมากขึ้น ก็คือ “การออกกำลังกาย” อย่างไรก็ตามผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการคัดกรองความเสี่ยง ก่อนที่จะออกกำลังกายเพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัยและได้รับประโยชน์สูงสุดจากการออกกำลังกายโดยผู้เชี่ยวชาญ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/747




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2564   
Last Update : 27 สิงหาคม 2564 10:34:07 น.   
Counter : 773 Pageviews.  


ABI ตัวช่วยวินิจฉัย "โรคแผลเบาหวานที่เท้า"



ABI ตัวช่วยวินิจฉัย "โรคแผลเบาหวานที่เท้า"

👨‍⚕️ในผู้ป่วยเบาหวานมักมีภาวะหลอดเลือดส่วนปลายตีบ ทำให้รู้สึกชาที่เท้า เวลาเป็นแผลเลยไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไร หลายคนรู้ตัวอีกทีก็เมื่อแผลลุกลามติดเชื้อถึงขั้นต้องตัดเท้าแล้ว

เทคโนโลยี ABI จึงเป็นตัวช่วยประเมินภาวะอุดตันของหลอดเลือดส่วนปลายได้เป็นอย่างดี มีความอย่างแม่นยำ นอกจากนี้ยังสามารถบอกแนวโน้มของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย เป็นการตรวจที่ไม่เจ็บ คุ้มค่า ปลอดภัย เป็นการตรวจที่ง่ายไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร ก่อนเข้ารับการตรวจ

สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การดูแลเท้าเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย ให้หมั่นสังเกตอาการต่างๆ อย่างใกล้ชิด หากมีอาการเท้าชา ผิวหนังบริเวณเท้ามีสีคล้ำลง หรือเป็นแผลเรื้อรังไม่หาย ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจถึงขั้นสูญเสียเท้าได้

แผลเบาหวานที่เท้าสามารถรักษาได้ด้วยการสอดสายสวนขยายหลอดเลือดที่ตีบตันและใส่โครงค้ำยัน เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงที่เท้าได้สะดวก ทำให้แผลเรื้อรังหายเร็วขึ้นและช่วยรักษาเท้าเอาไว้ได้

ซึ่งการรักษาด้วยวิธีการสอดสายสวนขยายหลอดเลือดก้าวหน้าไปมาก จากเดิมทำได้เพียงขยายหลอดเลือดที่ตีบตันเป็นความยาวสั้นๆ เท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้สามารถทำได้ในผู้ป่วยที่มีการตีบตันของหลอดเลือดที่มีระยะทางยาวๆ ได้ จนทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ดีขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด

 “แผลที่เท้าจากเบาหวาน รักษาได้อาจไม่ต้องตัดเท้า” อ่านข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/40


 




 

Create Date : 25 สิงหาคม 2564   
Last Update : 25 สิงหาคม 2564 10:21:15 น.   
Counter : 708 Pageviews.  


กินหวานให้พอ ดีต่อสุขภาพ



กินหวานให้พอ ดีต่อสุขภาพ 

🍭 จริงๆ ความหวานหรือน้ำตาลก็ไม่ได้เลวร้ายแต่อย่างใด เพราะเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย ทั้งยังช่วยให้กล้ามเนื้อมีการยืดและหดตัว ระบบเนื้อเยื่อ ระบบประสาททำงานได้ดีขึ้น ช่วยเรื่องการไหลเวียนเลือด รวมถึงการควบคุมการเต้นของหัวใจ

นอกจากนี้หากร่างกายได้รับน้ำตาลในปริมาณที่พอดี ตับอ่อนจะปล่อยอินซูลินเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้สมองสร้างสารเซโรโทนินออกมา สารนี้ทำหน้าที่ด้านการแสดงออกทางอารมณ์และควบคุมการนอนหลับ ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล

** โดยทั่วไปร่างกายคนเราไม่ควรได้รับน้ำตาลเกินวันละ 4 ช้อนชาสำหรับเด็ก และ 6 ช้อนชาสำหรับผู้ใหญ่ คำนวณง่ายๆ คือ 4 กรัม เท่ากับ 1 ช้อนชา ซึ่งการทานของหวานหรือน้ำตาลที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ “โรคเบาหวาน”

เนื่องจากเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การใช้ยารักษาเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถควบคุมเบาหวานได้ การควบคุมอาหารและรู้จักเลือกกินอาหารที่เหมาะสม ในปริมาณที่ถูกสัดส่วนกับความต้องการของร่างกาย ถือเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาและช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้เป็นอย่างดี “อาหารแลกเปลี่ยนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน” ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/283

📌 โดยอาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยง
* น้ำตาลและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ
* คาร์โบไฮเดรตขัดสี เช่น ข้าวขาว ผลิตภัณฑ์จากแป้งขัดสี
* ผลไม้ที่มีรสหวานจัด หรือมีแป้งมาก
* อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง หรือมีเกลือปริมาณมาก

ที่สำคัญ ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ จำกัดปริมาณและชนิดของแป้งเป็นแบบไม่ขัดสี เพราะนอกจากจะให้วิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นแล้ว ยังมีกากใยอาหารที่ช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาล ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงเกินไป ซึ่งการจะควบคุมโรคเบาหวานให้อยู่หมัดจำเป็นต้องลดทั้งหวาน มัน เค็ม และเพิ่มผัก รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานยาและมาพบแพทย์ตรวจติดตามอาการตามนัด




 

Create Date : 23 สิงหาคม 2564   
Last Update : 23 สิงหาคม 2564 11:18:22 น.   
Counter : 1057 Pageviews.  


Home Distancing อย่างไร?​... เมื่อต้องอยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยโควิด-19


Home Distancing อย่างไร?​... เมื่อต้องอยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยโควิด-19

จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่รวดเร็วในขณะนี้ ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นและขยายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนเตียงของโรงพยาบาลต่างๆ หรือสถานที่ที่รัฐจัดให้ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการแยกกักตัวที่บ้านระหว่างรอเตียง(Home Isolation) เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย

ทั้งนี้การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง สำหรับผู้ที่ต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้านนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญและต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

 

เมื่อบ้านของท่านมีผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมหากต้องอยู่ร่วมกัน แนะนำให้ปฏิบัติดังนี้

* คนในครอบครัว ควรแยกส่วนหรือพื้นที่เว้นระยะห่างกับผู้ป่วยอย่างน้อย1-2 เมตร 

* หากมีพื้นที่จำกัดให้ทำฉากกั้นระหว่างผู้ป่วยกับคนอื่นๆ ในครอบครัว

* จัดห้องพักให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดีมีแสงแดดเข้าถึง

* ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ น้ำและสบู่นานอย่างน้อย 20 วินาที

* หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยเฉพาะในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ

* เตรียมถังขยะมีฝาปิดมิดชิดและของใช้ส่วนตัวเช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า อุปกรณ์การกินอาหาร อุปกรณ์ทำความสะอาดไว้สำหรับผู้ป่วยโดยเฉพาะ ทั้งในบริเวณที่นอนและห้องน้ำ 

* ไม่ทานอาหารร่วมกัน และควรทานอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด 6-8 แก้วต่อวัน และแยกเก็บล้างภาชนะด้วยน้ำยาล้างจาน แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง

* แยกตะกร้าเสื้อผ้า แยกซักเสื้อผ้า ให้ทำความสะอาดเสื้อผ้าด้วยน้ำสบู่ น้ำยาซักผ้าหรือผงซักฟอก

* ทำความสะอาดบ้านทุกวันด้วยน้ำยาถูพื้นหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ และบริเวณที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อยๆ

* การใช้ห้องน้ำ ห้องสุขา กรณีที่ไม่สามารถแยกห้องได้ ให้ผู้อื่นใช้ห้องน้ำก่อน ส่วนผู้ป่วยให้ใช้เป็นคนสุดท้าย พร้อมทำความสะอาดให้เรียบร้อย ด้วยผ้าชุบน้ำยาฟอกขาวความเข้มข้น 0.1% หรือแอลกอฮอล์ 70 % หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5% 

* พักผ่อนให้เพียงพอ หากิจกรรมผ่อนคลายเพื่อลดภาวะเครียด

* ในแต่ละวันให้รวบรวมขยะ หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วไว้ในถุง ให้ใส่น้ำยาฟอกขาว 2 ฝา ก่อนใส่ถุงอีกชั้น ปิดปากถุงให้สนิทและนำไปทิ้ง

ทั้งนี้ผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ป่วยโควิด-19 ควรเฝ้าสังเกตอาการต่างๆ ของผู้ป่วยเป็นประจำหากมีอาการที่เป็นสัญญาณอันตราย เช่น หายใจลำบาก หายใจติดขัด เจ็บหน้าอก สับสน สูญเสียความสามารถในการพูดหรือการเคลื่อนที่ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที


 




 

Create Date : 19 สิงหาคม 2564   
Last Update : 19 สิงหาคม 2564 10:10:03 น.   
Counter : 954 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com