นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

คุณหมอผิวหนังแนะ วิธีรับมือกับ "สิวฮอร์โมน"

 

คุณหมอผิวหนังแนะ วิธีรับมือกับ "สิวฮอร์โมน"

“สิวฮอร์โมน” มีสาเหตุมาจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนนั้นเกิดขึ้นได้ในทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ในช่วงวัยหนุ่มสาว ระหว่างตั้งครรภ์ ขณะมีประจำเดือน หรือช่วงวัยทอง การมีสิวฮอร์โมนในช่วงเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ

โดยในช่วงวัยเจริญพันธุ์หรือวัยรุ่นนั้น มักก่อให้เกิดสิวในช่วงทีโซน (T-Zone) ได้แก่ บริเวณหน้าผาก จมูก และคาง ส่วนในวัยผู้ใหญ่มักพบสิวฮอร์โมนบริเวณใบหน้าส่วนล่าง เช่น แก้ม คาง และแนวสันกราม นอกจากนี้ บริเวณอื่นๆ ก็อาจมีสิวฮอร์โมนขึ้นได้เช่นกัน เช่น ตามลำคอ แผ่นหลัง ไหล่ หน้าอก โดยสิวที่เกิดขึ้นอาจอยู่ในรูปสิวอักเสบ สิวหัวดำ สิวหัวขาว หรือสิวผดเล็กๆ ก็ได้

สิวฮอร์โมน เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจและรับมือให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยรุ่นหนุ่มสาว เพราะถ้าหากเป็นสิวฮอร์โมนแล้วปล่อยให้ลุกลาม ผลเสียที่ตามมาไม่ใช่แค่เรื่องบุคลิกภาพที่ดูไม่ดี แต่ยังทำลายความมั่นใจส่งผลต่อโอกาสในการพัฒนาตัวเองด้านต่างๆ อีกด้วย

ดังนั้นการใส่ใจดูแลผิวหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลยหากเป็นสิวฮอร์โมนแนะนำให้ปฏิบัติดังนี้

  • ล้างหน้าให้สะอาดด้วยสบู่หรือโฟมล้างหน้าที่อ่อนโยนและมีคุณสมบัติในการรักษาสิววันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
     
  • ระหว่างที่เป็นสิว ให้เลี่ยงการขัดหน้าหรือใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าแบบสครับ เพราะจะเพิ่มการเสียดสีทำให้เกิดการระคายเคือง ทำให้สิวเห่อ หายยากขึ้น
     
  • ทายารักษาสิวที่มีคุณสมบัติช่วยลดอาการอักเสบ หรืออาจทานยาที่มีส่วนช่วยปรับระดับฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะ ยาในกลุ่มวิตามินเอ หรือยาแก้อักเสบช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของสิว จะช่วยบรรเทาให้สิวยุบลงได้ การใช้ยาหรือเวชสำอาง ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
     
  • ใช้เลเซอร์รักษาสิว หรือทำทรีทเมนท์รักษาสิว ตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อลดอาการหน้ามัน ลดการอักเสบลดรอยดำรอยแดงจากสิวให้จางหายไป
     
  • ออกกำลังกายเป็นประจำควบคุมน้ำหนักและสัดส่วนให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อช่วยในการปรับสมดุลฮอร์โมนให้เข้าสู่ภาวะปกติ
     
  • หลีกเลี่ยงแสงแดดฝุ่นควัน ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ งดทานอาหารรสจัด อาหารหมักดอง อาหารหวาน ของมันของทอดไขมันสูง เพราะจะกระตุ้นการเกิดสิวและทำให้สิวเห่อได้ง่าย
     
  • หันมาทานผักและผลไม้สดๆ อาหารที่มีกากใย มีวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระอยู่มาก เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดสี ข้าวไรซ์เบอรี่ งาดำดื่มเปล่าน้ำวันละ 2-3 ลิตร เพื่อช่วยเรื่องการขับถ่ายชะล้างของเสียที่ตกค้างภายในร่างกาย ทั้งยังช่วยยับยั้งและลดความรุนแรงของสิวอักเสบ
     
  • ไม่เครียดเกินไป นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดนอน เพราะความเครียดและการอดนอน นอกจากจะเป็นการกระตุ้นต่อมไขมันทำให้สิวแย่ลงแล้ว ยังส่งผลเสียต่อกระบวนการซ่อมแซมเซลล์ ทำให้สิวและรอยสิวหายช้าลง

** แม้จะดูแลผิวอย่างดีที่สุดแล้วหากสิวที่เป็นอยู่ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด




 

Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2565   
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2565 13:35:22 น.   
Counter : 641 Pageviews.  


ผ่าตัดผ่านกล้องทางโพรงจมูกรักษา “โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง” เป็นอย่างไร?




ผ่าตัดผ่านกล้องทางโพรงจมูกรักษา “โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง” เป็นอย่างไร?
 


จริงๆ แล้วเนื้องอกต่อมใต้สมองนั้น ยังไม่มีสาเหตุการเกิดที่ชัดเจน เป็นกลุ่มเนื้องอกที่ยังไม่ทราบว่าอะไรกันแน่ที่เป็นตัวกระตุ้นชัดเจน เนื้องอกต่อมใต้สมองส่วนใหญ่ไม่ใช่เนื้อร้าย มีลักษณะโตช้าและไม่แสดงอาการ ยกเว้นแต่ว่าเมื่อไรที่เริ่มมีอาการผิดปกติไป เช่น มีขนาดโตไวและเริ่มไปกดเบียดบริเวณรอบข้าง อาจจำเป็นต้องผ่าตัด
 


อาการของโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองค่อนข้างหลากหลาย แต่ว่าที่เจอบ่อยๆ คือเรื่องของสายตา เนื่องจากเนื้องอกต่อมใต้สมองอยู่ใกล้กับเส้นประสาทจอตา จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการมองเห็นภาพไม่ชัด ส่วนในผู้ป่วยที่มีเลือดออกในเนื้องอกต่อมใต้สมองอาจจะมีอาการปวดหัวรุนแรงรวมกับมองเห็นภาพไม่ชัด ถือเป็นเรื่องที่อันตรายและเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบรักษาทันที เพราะถ้าปล่อยไว้อาจถึงขั้นทำให้ตาบอด ฮอร์โมนผิดปกติ หรือเสียชีวิตได้เลย

นพ.นภสินธุ์ เถกิงเดช ประสาทศัลยแพทย์ โรงพยาบาลรามคำแหง อธิบายให้ฟังว่า การรักษาโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองเมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ เบื้องต้นจะต้องทำการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์ MRI เพื่อดูตำแหน่งของเนื้องอกว่าอยู่บริเวณไหน ขนาดเท่าไหร่ โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาที่เกี่ยวข้องจะทำการวางแผนและปรึกษาหาแนวทางการรักษาร่วมกัน เพื่อนำเนื้องอกออกมาโดยไม่ทำให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วย

ปัจจุบันการรักษาเนื้องอกต่อมใต้สมองมีหลายวิธี เนื่องจากต่อมใต้สมองนั้นอยู่กึ่งกลางระหว่างไซนัสและบริเวณที่เป็นสมอง และการจะเข้าไปยังต่อมใต้สมองวิธีที่ดีวิธีหนึ่งก็คือการเข้าผ่านทางไซนัสบริเวณฐานกระโหลก ซึ่งหากผ่าตัดด้วยการส่องกล้องโดยเป็นเทคนิคการผ่าตัดร่วมกันระหว่างประสาทศัลยแพทย์ และ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับผลการรักษาที่ดี ปลอดภัยและเจ็บตัวน้อยมาก 
 


และด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้องที่ช่วยให้เห็นภาพเนื้องอกได้ค่อนข้างชัดเจน ทำให้แพทย์สามารถผ่าตัดเนื้องอกออกได้โดยยังสามารถเก็บต่อมใต้สมองเอาไว้ได้ อย่างที่เราทราบกันดีว่าตัวต่อมใต้สมองเป็นอวัยวะสำคัญในการผลิตฮอร์โมน ซึ่งถ้าฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอนว่าอาจทำให้เกิดความผิดปกติ ซึ่งสามารถแสดงอาการออกมาได้หลากหลาย

** เทคโนโลยีปัจจุบันและการผ่าตัดร่วมกันระหว่างประสาทศัลยแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก ที่เชี่ยวชาญทำให้สามารถเก็บตัวต่อมใต้สมองเอาไว้ได้ และส่งผลดีต่อคนไข้ในระยะยาว **

วิธีผ่าตัดส่องกล้องทางโพรงจมูก รักษาโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง ต้องทำในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั้งในเรื่องเครื่องมือ อุปกรณ์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยทีมแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำและเลือกการผ่าตัดที่เหมาะสมที่สุดให้กับผู้ป่วยแต่ละราย

ศูนย์ผ่าตัดส่องกล้องเนื้องอกต่อมใต้สมอง (RAM Pituitary Center) โรงพยาบาลรามคำแหง“ รักษาเนื้องอกต่อมใต้สมอง.. ไม่ใช่ที่ไหนก็ได้ ”อ่านข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/readcenter_clinic/50


 




 

Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2565   
Last Update : 4 กุมภาพันธ์ 2565 10:41:30 น.   
Counter : 749 Pageviews.  


ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR & การตรวจ ATK (ด้วยตัวเอง) ต่างกันอย่างไร?




ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR & การตรวจ ATK (ด้วยตัวเอง) ต่างกันอย่างไร?

 


อย่างที่เราทราบกันว่าโควิด-19 กำลังกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งในประเทศไทย โดยผู้ติดเชื้อล่าสุดส่วนใหญ่พบว่ามาจากการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ติดต่อง่ายและแพร่กระจายเร็วได้กว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา การตรวจหาเชื้อโควิด-19 จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย หรือผู้ที่เริ่มมีอาการต้องสงสัย ควรเข้ารับการตรวจโควิด-19 ทันที ด้วยวิธีที่เหมาะสม
 


วิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ

  • ตรวจด้วยวิธี RT-PCR (realtime, reverse transcriptase-PCR)
  • ตรวจด้วยตัวเอง Antigen Test Kit (ATK) หรือ Rapid Antigen Test
     


โดยการตรวจด้วยวิธี RT-PCR เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสด้วยการเก็บตัวอย่างเชื้อจากสารคัดหลั่งบริเวณลำคอและหลังโพรงจมูก แล้วนำเชื้อไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลหรือสถานที่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เท่านั้น จึงมีระยะเวลารอผลอย่างน้อย 24 ชั่วโมงการตรวจด้วยวิธีนี้มีความแม่นยำสูงถึงแม้เชื้อในร่างกายจะมีปริมาณน้อยก็สามารถตรวจพบเชื้อได้สามารถนำผลตรวจไปใช้ยืนยันการทำงานหรือการเดินทางได้

 


ส่วนการตรวจด้วย Antigen Test Kitหรือ Rapid Antigen Test เป็นวิธีการตรวจโควิด-19 ที่สะดวกและรวดเร็ว รู้ผลภายใน 15-30 นาที ทุกวันนี้มีชุดตรวจ ATK แบบ Home use หรือ Self-test สำหรับให้ผู้ตรวจซื้อมาตรวจเองที่บ้านได้ กับชุดตรวจแบบ Professional use สำหรับตรวจที่โรงพยาบาลคลินิกเวชกรรมและคลินิกเทคนิคการแพทย์การตรวจ ATK เป็นการตรวจหาชิ้นส่วนโปรตีนของเชื้อไวรัสด้วยการเก็บตัวอย่างเชื้อจากสารคัดหลั่งบริเวณหลังโพรงจมูก ลำคอและน้ำลาย นำมาหยอดน้ำยาในตลับตรวจเพื่อหาเชื้อเบื้องต้น ซึ่งหากตรวจด้วยขั้นตอนและชุดตรวจที่ไม่ได้มาตรฐานก็อาจทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อนได้ (ควรใช้ชุดตรวจที่ผ่านมาตรฐานขึ้นทะเบียนกับทาง อย. แล้วเท่านั้น)และอาจตรวจไม่พบเชื้อหากเชื้อในร่างกายมีปริมาณน้อยซึ่งต้องรอ 3-5 วันก่อนตรวจหลังจากสัมผัสเชื้อ
 

** กรณีที่ตรวจแบบ ATK ด้วยตัวเองและผลเป็นบวก(พบเชื้อโควิด-19) จะต้องทำการตรวจแบบ RT-PCR เพื่อยืนยันผลอีกครั้ง
 


** แม้จะตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 แต่เราก็ไม่ควรประมาท ให้ระมัดระวังป้องกันตัวเองอยู่เสมอด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ เจลหรือสเปย์แอลกอฮอล์ เลี่ยงการไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่ที่มีคนอยู่เยอะๆ และที่สำคัญอยากแนะนำให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดส หรือ 2 เข็มแล้ว ฉีดวัคซีนเข็ม 3 หรือ Booster Dose กันด้วย เท่านี้ก็ช่วยป้องกันไม่ให้เราติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้แล้วค่ะ...




 

Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2565   
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2565 13:42:47 น.   
Counter : 746 Pageviews.  


คนที่เคยเป็นอีสุกอีใส ทำไม? เสี่ยงเป็น "โรคงูสวัด"



คนที่เคยเป็นอีสุกอีใส ทำไม? เสี่ยงเป็น "โรคงูสวัด"

นั่นก็เพราะ “โรคงูสวัด” เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส (Varicella Zoster Virus : VZR) เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้วเชื้อจะยังคงอยู่และเข้าไปหลบซ่อนอยู่ตามปมประสาทของร่างกายโดยไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ จนเมื่อร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันลดลง โรคงูสวัดจะเริ่มแสดงอาการออกมา

เริ่มแรกอาจรู้สึกเหมือนเป็นไข้หวัด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัวหรือเจ็บปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนัง จากนั้นจะเริ่มมีผื่นแดงเกิดขึ้นเป็นทางยาวตามแนวเส้นประสาทร่างกาย เช่น ลำตัว แขน ขา แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณลำตัว ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส แตกออกและตกสะเก็ดดังนั้นหากมีอาการผิดปกติหรือสงสัยว่าจะเป็นงูสวัด ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะหากเกิดการติดเชื้อที่อวัยวะสำคัญอย่างเช่นดวงตา หรือเยื่อหุ้มสมอง ก็อาจมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

การรักษาโรคงูสวัดทำได้โดยการให้ยาต้านไวรัส ซึ่งจะช่วยลดอาการปวด การอักเสบ และจำนวนตุ่มน้ำที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้อาจให้ยารักษาตามอาการและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น ยาบรรเทาอาการปวด ยาบรรเทาอาการคัน ยาปฏิชีวนะ

โรคงูสวัดส่วนมากรักษาหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์หลังมีอาการ แต่อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะอาการปวดเรื้อรังตามบริเวณเส้นประสาทที่แสดงอาการของโรคทั้งนี้อาการปวดจะค่อยๆ ดีขึ้นแต่อาจใช้เวลานานเป็นสัปดาห์เป็นเดือน หรือในผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังเป็นโรคงูสวัดอยู่นานเป็นปี หรือมากกว่านั้น ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและพบภาวะแทรกซ้อนนี้ได้มากขึ้นในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังบางโรคที่ทำให้ประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันลดลง

โรคงูสวัดมักเกิดในผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมากยิ่งมีความเสี่ยงสูงเพราะภูมิต้านลดลง การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการฉีดวัคซีน แนะนำให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปทุกคนฉีดวัคซีนป้องกัน ส่วนผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือมีโรคอื่นๆ ที่ทำให้ภูมิต้านทานไม่แข็งแรงอาจจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนก่อนอายุ 60 ปี หรือตามคำแนะนำของแพทย์โดยฉีดเพียง 1 เข็มจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคงูสวัด และลดความรุนแรงของอาการลงได้หากเป็นโรค

ในผู้ที่เป็นหรือเริ่มเป็นควรรีบมาพบแพทย์ การได้รับยาและรับการรักษาเร็ว จะช่วยลดผลแทรกซ้อนทั้งการลุกลามของผื่น ความเจ็บปวด เส้นประสาทอักเสบหลังจากหายแล้วและภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอื่นๆ ได้




 

Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2565   
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2565 16:03:05 น.   
Counter : 769 Pageviews.  


แค่เปลี่ยน..ก็ลดความดันโลหิตได้


 

แค่เปลี่ยน..ก็ลดความดันโลหิตได้

ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีอาการ มักพบโดยบังเอิญขณะไปตรวจรักษาโรคอื่น ซึ่งการตรวจวัดความดันสม่ำเสมอจะช่วยวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และการควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะช่วยป้องกันให้ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้

นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน โดยการ “ลดเค็มเน้นผัก ลดน้ำหนักออกกำลังกาย สลายเครียด เลี่ยงบุหรี่หนีแอลกอฮอล์”

  • ลดอาหารเค็ม ของมัน ของทอด ทานอาหารที่มีกากใยให้มากขึ้น
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ลดน้ำหนัก พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ไม่เครียดเกินไป และพักผ่อนให้เพียงพอ

รับรองว่าความดันที่ดีเยี่ยมจะตามมาอย่างแน่นอน




 

Create Date : 27 มกราคม 2565   
Last Update : 27 มกราคม 2565 13:16:44 น.   
Counter : 537 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com