โรคเหงือกอักเสบ อันตรายที่เกิดในช่องปาก
โรคเหงือกอักเสบ อันตรายที่เกิดในช่องปาก
เหงือกอักเสบ (gingivitis) คือ สภาวะการอักเสบที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อช่องปากในส่วนที่เรียกว่าเหงือก โดยมีลักษณะบวม แดง มีเลือดออกง่าย เนื่องจากเหงือกอักเสบเป็นโรคที่ไม่ได้มีความรุนแรง คนส่วนใหญ่จึงไม่ได้ให้ความสนใจในการดูแลรักษา แต่เมื่อปล่อยไว้เป็นเวลานานจะนำไปสู่โรคปริทันต์อักเสบ (periodontitis) ที่มีความรุนแรงมากขึ้นและอาจนำไปสู่การสูญเสียฟันในที่สุด
สาเหตุของเหงือกอักเสบ สาเหตุหลักที่พบได้บ่อย ได้แก่ การสะสมของคราบจุลินทรีย์หรือคราบพลัค และภาวะอาหารอัดติดตามซอกฟัน (food impaction) - คราบจุลินทรีย์ เกิดจากการสะสมตัวของแบคทีเรีย เศษอาหารขนาดเล็กและน้ำลาย จับรวมตัวกันเป็นคราบที่มีลักษณะนิ่มแต่เหนียว เมื่อสะสมตัวเป็นเวลานาน สารพิษที่เกิดจากแบคทีเรียจะทำให้เหงือกระคายเคืองเกิดปฏิกิริยาการอักเสบ นอกจากนี้เมื่อคราบจุลินทรีย์สะสมนานจะค่อยๆมีสภาพแข็งตัว เนื่องจากเกิดการตกตะกอนของแร่ธาตุจากน้ำลาย ทำให้มีลักษณะแข็ง หรือที่เรามักเรียกว่าหินน้ำลายหรือหินปูนซึ่งผู้ป่วยไม่สามารถกำจัดหินปูนออกได้ด้วยตนเอง
- ภาวะอาหารอัดติดซอกฟัน มักเกิดจากการเรียงตัวของฟันที่ไม่ดีหรือการบูรณะฟันที่ไม่ดีพอ ทำให้อาหารอัดติดค้างอยู่ในซอกฟัน เมื่อติดเป็นเวลานานก็ทำให้เหงือกช้ำเกิดการอักเสบและอาจทำให้เกิดฟันผุได้ด้วย
อาการของเหงือกอักเสบ เหงือกปกติจะมีสีชมพูอ่อน เนื้อเหงือกแน่น ไม่มีลักษณะบวมน้ำ เมื่ออักเสบจะมีการบวมน้ำ สีแดงอมม่วง มีเลือดออกง่ายเวลาสัมผัสโดนเหงือกจะสูญเสียการยึดเกาะกับผิวฟัน บางรายมีการบวมเป็นหนองและลุกลามต่อไปเป็นโรคปริทันต์อักเสบต่อไป ซึ่งอาจทำให้เกิดฟันโยกและสูญเสียฟันในที่สุด
การรักษาเหงือกอักเสบ
โดยพื้นฐานการรักษาควรเริ่มต้นจากการกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งในกรณีเหงือกอักเสบทั่วไป สาเหตุเกิดจากคราบจุลินทรีย์ เศษอาหารติดซอกฟันและหินน้ำลาย - คราบจุลินทรีย์และเศษอาหาร ผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตนเองด้วยการแปรงฟันและใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดซอกฟัน (ซึ่งซอกฟันเป็นบริเวณที่การแปรงฟันไม่สามารถทำได้) เช่น ไหมขัดฟัน แปรงซอกฟันโดยสามารถขอคำแนะนำได้จากทันตแพทย์
- คราบหินน้ำลาย สามารถกำจัดออกได้ โดยมารับการรักษาจากทันตแพทย์ทั่วไป หรือหากคราบหินน้ำลายลงลึกใต้เหงือกควรพบทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการเกลารากฟันหรือขูดหินปูนใต้เหงือก
- เศษอาหารติดซอกฟัน ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีใดได้บ้าง เช่น อุดฟัน ครอบฟัน หรืออาจแก้ไขโครงสร้างฟันบริเวณที่มีปัญหานั้นได้
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ช่วยเสริมให้เหงือกอักเสบเป็นรุนแรงมากกว่าปกติ เช่น โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ ยาบางชนิด ซึ่งต้องพิจารณาการรักษาตามอาการของแต่ละคน
** เหงือกอักเสบ มีลักษณะบวม แดง เลือดออกง่าย เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ได้มีความรุนแรง คนส่วนใหญ่จึงไม่ได้ให้ความสนใจในการดูแลรักษา แต่เมื่อปล่อยไว้เป็นเวลานานจะนำไปสู่โรคปริทันต์อักเสบที่มีความรุนแรงมากขึ้นและอาจนำไปสู่การสูญเสียฟันในที่สุด **
Create Date : 06 พฤศจิกายน 2566 |
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2566 13:26:00 น. |
|
0 comments
|
Counter : 374 Pageviews. |
|
|
|