ภาวะซีดหรือโลหิตจาง กระทบพัฒนาการลูกน้อยภาวะซีดในเด็กปัญหาที่พบบ่อยในเด็กไทยประมาณร้อยละ 30-50 ส่วนใหญ่ไม่มีอาการทางร่างกายชัดเจน จนกระทั่งอาการซีดรุนแรงขึ้นและสังเกตเห็นได้จากเปลือกตาล่าง ริมฝีปาก หรือผิวเริ่มซีด ไม่มีเลือดฝาดเหมือนผิวเด็กปกติ มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หรือกินอาหารน้อยลง ภาวะซีดในเด็กสามารถเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุหลักๆ คือ
ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก พบได้ในเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะเด็กที่กินนมแม่อย่างเดียว และกินอาหารเสริมมื้อหลักไม่เพียงพอ ถึงแม้ว่านมแม่จะมีสารอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน แต่ถ้าหลังจาก 6 เดือนเป็นต้นไป การกินนมแม่เพียงอย่างเดียวอาจมีปริมาณธาตุเหล็กไม่เพียงพอต่อความต้องการต่อวัน จึงจำเป็นต้องได้รับอาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กสูงร่วมด้วยอย่างเพียงพอ ส่วนในเด็กโตมักเกิดจากปัญหาการเลือกทานอาหาร เช่น ไม่ทานผักใบเขียว หรือเนื้อสัตว์
ภาวะซีดจากโรคธาลัสซีเมีย ที่ถ่ายทอดจากพันธุกรรม เกิดจากความผิดปกติในการสังเคราะห์ฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง จึงทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายและทำให้เกิดภาวะซีด
และหากไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลต่อพัฒนาการตามวัยของเด็กได้ เช่น
- สมองทำงานได้ช้าลง ส่งผลให้รู้สึกไม่กระฉับกระเฉง เฉื่อยชา เรียนรู้ช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน เนื่องจากได้รับออกซิเจนจากเม็ดเลือดแดงไม่พอ
- การที่เด็กเบื่ออาหาร กินอาหารได้น้อย ร่างกายจึงขาดสารอาหาร ทำให้สุขภาพไม่แข็งแรง เจ็บป่วยง่าย และยังทำให้เติบโตช้าอีกด้วย
- เมื่อร่างกายขาดธาตุเหล็ก ก็จะไม่มีธาตุเหล็กไปใช้ในการจริญเติบโต และยังส่งผลให้กระดูกไม่แข็งแรง เปราะง่าย และอาจตัวเตี้ยกว่าเด็กวัยเดียวกัน
ภาวะซีดสามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจเลือดดูค่าความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง และวิเคราะห์ลักษณะของเม็ดเลือดแดงเพื่อวินิจฉัยภาวะซีด และพิจารณาตรวจเพิ่มเติมหาสาเหตุหากมีภาวะซีด เพื่อที่จะได้ให้การรักษาที่เหมาะสมกับโรคต่อไป ดังนั้นหากสงสัยว่าลูกหลานเข้าข่ายภาวะซีด ควรพาไปพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจรักษาก่อนที่จะกระทบต่อพัฒนาการต่างๆ ของเด็ก