“นิ้วล็อค” ไม่รีบรักษา ระวัง!... ล็อคถาวร
หลายคนคิดว่านิ้วล็อค เป็นแค่โรคที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน มีอาการแค่ปวดนิ้ว กางนิ้วออกไม่ได้ คิดว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวก็หาย ไม่เห็นต้องรีบรักษา แต่รู้ไหม? ว่า “นิ้วล็อค” ยิ่งปล่อยไว้นาน หรือรักษาไม่ถูกวิธี อาจทำให้ข้อที่ติดค้างงอไม่ลง ข้อนิ้วยึดติด หรือทำให้เส้นเอ็นและปลอกหุ้มเส้นเอ็นเสียหายถาวร แม้จะรักษาด้วยการผ่าตัดก็อาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
นิ้วล็อค ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่ใช้มือทำต่อเนื่องเป็นเวลานาน มักพบในผู้ที่ใช้งานนิ้วมือมากและนานในท่ากำมือ เช่น แม่บ้านที่ซักผ้าติดต่อกันนาน ช่างเย็บผ้า ช่างไม้ ช่างยนต์ คนที่ถือของหนักเป็นเวลานานคนที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ใช้คีย์บอร์ดพิมพ์งาน และยิ่งในคนรุ่นใหม่ที่ใช้มือถือ เล่นแท็บเล็ตกันเป็นเวลานานในแต่ละวัน และผู้ที่มีโรคประจำ เช่น โรคเบาหวาน และรูมาตอยด์ ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการนิ้วล็อคได้สูง
อาการนิ้วล็อค จะมีหลายระยะเริ่มตั้งแต่
- มีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณโคนนิ้วมือ
- มีอาการสะดุดเวลากำหรือเหยียดนิ้วมือ แต่ยังสามารถเหยียดนิ้วได้เอง
- กำมือแล้วไม่สามารถเหยียดนิ้วได้เอง ต้องใช้อีกมือมาช่วยง้างออก
- ไม่สามารถกำมือได้สุด และอาจมีข้อนิ้วมืองอผิดรูปร่วมด้วย
แม้อาการนิ้วล็อคจะไม่ได้ส่งผลถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็ทำให้เจ็บปวดและสร้างความไม่สะดวกในการใช้ชีวิตไม่น้อย ช่วงแรกอาจยังพอใช้มืออีกข้างช่วยคลายล็อคเองได้ แต่ถ้าปล่อยไว้นานไม่รีบรักษา นิ้วอาจล็อคอยู่อย่างนั้น จนไม่สามารถคลายนิ้วได้ ดังนั้นหากเริ่มมีอาการผิดปกติข้างต้นไม่ว่ามากน้อยแค่ไหน แนะนำให้พบแพทย์ ตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม
การรักษานิ้วล็อค ถ้ามีอาการไม่มากอาจแค่พักการใช้งานมือข้างที่มีอาการนิ้วล็อค ทำกายภาพบำบัด แช่น้ำอุ่น ประคบร้อน หรือทานยา แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นอาจฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่เป็นการรักษาแบบชั่วคราวและมีข้อจำกัดคือไม่ควรฉีดยาเกิน 2-3 ครั้ง ต่อ 1 นิ้วที่เป็น หากนิ้วล็อคติดรุนแรงหรือพังผืดหนามากฉีดยาไม่ได้ผล อาจต้องผ่าตัดรักษาด้วยวิธีการ "สะกิดนิ้วล็อค" โดยฉีดยาชาที่มือแล้วแพทย์จะใช้เครื่องมือพิเศษสอดเข็มเข้าไปบริเวณโคนนิ้วที่มีอาการ และใช้ปลายเข็มสะกิดปลอกหุ้มเอ็นนิ้ว ตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่รัดเส้นเอ็นให้ขาดออกจากกันใช้เวลาไม่นาน มีแค่รอยแผลเล็กๆ เท่านั้น ทำเสร็จกลับบ้านได้ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล