นอนท่าไหน? ให้เหมาะสมกับวัยเกษียณ
นอนท่าไหน? ให้เหมาะสมกับวัยเกษียณเราคงเคยได้ยิน และรับรู้กันมาตลอดว่า การพักผ่อนที่ดีที่สุดคือ “การนอนหลับ”เพราะนอกจากจะช่วยให้ร่างกายได้ซ่อมแซมเซลล์ต่างๆแล้วยังเป็นการเปิดระบบร่างกาย ช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนแบบจริงๆอีกด้วย ซึ่งคนเราจะใช้เวลาเพื่อการนอนถึง 1 ใน 3 ของเวลาทั้งหมดที่มีในแต่ละวัน เพราะดังนั้น“ท่าที่ใช้นอน” จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากจะส่งผลให้นอนหลับสนิทตลอดคืน และตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่นแจ่มใส พร้อมที่จะทำกิจกรรมระหว่างวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากนอนหลับด้วยท่านอนที่ไม่ดี อาจทำให้ปวดเมื่อย หรือนอนไม่ได้ไปเลยก็มี หรือบางคนที่นอนในท่าที่ไม่ถูกสุขลักษณะบ่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดโรคเรื้อรังเช่น โรคหมอนรองกระดูก ซึ่งต้องพบแพทย์เพื่อรักษากันเลยทีเดียว คราวนี้มาดูกันว่าท่านอนแต่ละท่า และที่ถูกสุขลักษณะนั้นเป็นอย่างไร แน่นอนว่าท่านอนที่ชอบของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป บางคนชอบนอนหงาย บางคนชอบนอนตะแคง บางคนชอบนอนคว่ำ แต่ถ้านอนแล้วยังเกิดอาการปวดเมื่อยไปทั้งตัว บางทีอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงท่านอนเพื่อให้เหมาะสมโดยเฉพาะกับวัยเกษียณหรือผู้สูงอายุทุกท่าน
- นอนหงาย คือการนอนเอาแผ่นหลังแนบไปที่นอน เหยียดขาตรง แขนแนบข้างลำตัว หากไม่มีปัญหาสุขภาพอะไรเป็นพิเศษ ท่านอนหงายดูจะเป็นท่านอนที่เหมาะสมที่สุด เพราะจะช่วยให้สรีระร่างกายอยู่ในแนวตรงไปตลอดทั้งคืน จึงป้องกันอาการปวดเมื่อยคอ และหลังได้
- ท่านอนตะแคงขวา เป็นท่านอนที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับท่าอื่น เพราะจะช่วยให้หัวใจเต้นสะดวก อาหารจากกระเพาะจะถูกบีบลงลำไส้เล็กได้ดี ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดีอีกด้วย นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการนอนกรนและช่วยลดอาการหยุดหายใจขณะหลับได้ดี รวมทั้งป้องกันอาการกรดไหลย้อน และอาจจะช่วยจัดกระดูกสันหลังให้เป็นแนวตรงป้องกันการปวดหลังอีกด้วย
- ท่านอนตะแคงซ้าย เป็นท่าที่ช่วยลดอาการปวดหลังได้แต่ควรกอดหมอนข้าง และพาดขาไว้เพื่อป้องกันอาการชาที่ขาซ้าย จากการนอนทับเป็นเวลานาน แต่ท่านอนตะแคงซ้ายอาจทำให้เกิดลมจุกเสียดบริเวณลิ้นปี่ เนื่องจากอาหารที่ยังย่อยไม่หมดในช่วงก่อนเข้านอนคั่งค้างในกระเพราะอาหาร อย่างไรก็ตาม สำหรับท่านอนตะแคงนั้น หากได้งอเข่าข้างหนึ่ง และมีหมอนข้างกอดไว้ หรือจะงอเข่าทั้งสองข้างในท่าคู้ตัวก็ได้ สำหรับหมอนที่ใช้หนุนในท่านี้ควรมีความหนามากพอที่จะให้ศีรษะอยู่ในแนวเดียวกันกับลำตัว
- การนอนคว่ำ คือการนอนเอาลำตัวด้านหน้าแนบไปกับที่นอน โดยเอียงใบหน้าไปด้านข้างแนบกับหมอน แม้ว่าจะเป็นท่านอนที่เหมาะกับคนที่นอนกรน เพราะเป็นท่าที่ช่วยให้หายใจได้ค่อนข้างสะดวก แต่ก็เป็นท่านอนที่อาจเสี่ยงต่อการนอนหลับไม่สนิทตลอดทั้งคืน เพราะอาจทำให้ไม่สบายตัวนัก โดยเฉพาะคอ และหลัง อาจต้องขยับร่างกายเปลี่ยนท่านอนบ่อยๆ ดังนั้นอาจใช้หมอนนุ่มๆที่รับกับสรีระของตัวเองเพื่อช่วยให้การนอนท่านี้สบายมากยิ่งขึ้น ** ท่านอนคว่ำ นักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นค้นพบว่า การนอนคว่ำหน้าจะช่วยลดความดันโลหิตสูง ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี ป้องกันการนอนกรน และไม่ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก
นอกจากเรื่องท่านอนที่เป็นสาเหตุของอาการปวดหลัง หรืออาการอื่นๆแล้ว องค์ประกอบอื่นอย่าง “หมอน”หรือ “ที่นอน” ก็มีส่วนสำคัญต่อสุขลักษณะในการนอนของคนเราด้วยเช่นกัน
- หมอน ถือว่ามีส่วนช่วยรองรับกระดูกสันหลังส่วนคอให้อยู่ในแนวโค้งที่ปกติ เพราะในขณะที่หลับกล้ามเนื้อรอบๆคอจะคลายตัว หากคออยู่ในท่าที่ไม่ดี ตื่นมาอาจปวดคอหรือคอแข็งได้ ดังนั้น หมอนที่ใช้ควรมีความนุ่มและขนาดพอดี โดยทั่วไปหมอนมาตรฐานควรมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 นิ้ว แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นคนคอสั้นหรือคอยาว เพราะถ้าคุณเป็นคนคอยาวมากไป การใช้หมอนมาตรฐานก็จะทำให้ศีรษะอยู่ในท่าที่แหงนมากเกินไป แต่หลักสำคัญที่จะตอบว่าหมอนใบนั้นเหมาะกับเราหรือไม่ ทางเดียวที่ทำได้ก็คือเมื่อคุณหนุนหมอนใบนั้นแล้วรู้สึกสบายคอ หรือตื่นมาแล้วไม่มีอาการปวดเมื่อยต้นคอให้เป็นที่รำคาญใจ ก็ถือว่าเพียงพอ และไม่จำเป็นว่าต้องเป็นหมอนราคาแพงเสมอไป หมอนราคาถูกๆ แต่เป็นขนาดที่เหมาะกับคุณ ก็สามารถรองรับศีรษะและกระดูกสันหลังส่วนคอให้กับคุณได้ดีทีเดียว
- ที่นอน สำหรับที่นอนที่ภายในทำด้วยนุ่นที่ใช้กันอยู่นั้น เป็นที่นอนที่เหมาะอยู่แล้ว เพราะไม่แข็งหรือนุ่มจนเกินไป แต่สำหรับที่นอนฟองน้ำที่ใช้กับเตียงสปริง ถือว่าเป็นที่นอนที่ไม่เหมาะกับสุขภาพหลัง หรือสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหลัง เพราะมีความนุ่มหรืออ่อนตัวมากเกินไป ทำให้กระดูกสันหลังอยู่ในแนวที่ผิดปกติ นอกจากนี้การนอนบนพื้นแข็งก็อาจจะช่วยเรื่องอาการปวดหลังสำหรับบางคน แต่สิ่งสำคัญก็คือบางทีการนอนบนพื้นแข็งๆ เช่นพื้นไม้ หรือบนพื้นกระเบื้องนั้นไม่เหมาะสมกับวัยเกษียณเท่าใดนัก เพราะนอนแล้วอาจจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับการลุกขึ้นนั่งหรือยืนได้ จึงควรเลี่ยงมากกว่า
** ทั้งหมดที่แนะนำมาเป็นเพียงตัวเลือกบางส่วนเท่านั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องหาท่านอนที่หลับสบายไม่สร้างความลำบากต่อการนอนและไม่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพกับตัวเราก็เพียงพอแล้วโดยเฉพาะวัยเกษียณแล้วยิ่งต้องเลือกทั้งที่นอน หมอน และท่านอนให้เหมาะสม เพื่อการพักผ่อนที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุดและเพื่อสุขภาพที่ดีนั่นเอง...
Create Date : 22 กรกฎาคม 2565 |
Last Update : 22 กรกฎาคม 2565 10:35:43 น. |
|
0 comments
|
Counter : 689 Pageviews. |
|
|
|