นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

หมอเด็กแนะ เด็กนอนท่าไหน?... ถึงจะดีและปลอดภัย



👶ในเด็กอันตรายอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยแรกเกิด – 1 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ต้องดูแลแบบไม่ให้คลาดสายตา แม้แต่ในขณะหลับ และยิ่งถ้าเด็กนอนในท่านอนที่ไม่เหมาะสม หรือที่นอนไม่มีความปลอดภัย ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน แล้วเด็กควรจะนอนท่าไหน? ถึงจะดีและปลอดภัย มีคำแนะนำดีๆ จากคุณหมอมาฝากกันครับ..

📌ข้อแนะนำการนอนอย่างปลอดภัยสำหรับเด็ก
1. ทารกจัดให้นอนในท่านอนหงายเท่านั้น

2. เด็กอายุ 2 ปีแรก ควรให้นอนเตียงเด็กเตียงแยก หากไม่ใช้เตียงแนะนำให้ใช้เบาะแยก นอนห่างจากผู้ใหญ่ 1 เมตร หรือ 1 ช่วงแขน เพื่อป้องกันการนอนทับตัวเด็ก

3. เบาะที่นอนที่เหมาะสมต้องมีความแข็ง ไม่หนาและอ่อนนุ่มเกินไป เพราะเมื่อเด็กพลิกคว่ำแล้วอาจกดทับการหายใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กอายุ 4-6 เดือน ซึ่งคว่ำเองได้แต่หงายไม่ได้

4. การจัดวางระหว่างเบาะกับกำแพงต้องไม่มีช่องว่าง เพราะศีรษะเด็กอาจเข้าไปติด

5. เลี่ยงการใช้หมอนในเด็กเล็ก ถ้าใช้ต้องไม่อ่อนนุ่มและใบใหญ่เกินไป ไม่สูง เพราะคอจะพับทำให้ขาดอากาศหายใจ หรืออาจกดทับใบหน้า จมูกได้

6. อย่าวางผ้าห่ม ตุ๊กตา เยอะจนแน่นใกล้ศีรษะเด็ก เพราะอาจกดทับใบหน้า จมูก ทำให้ขาดอากาศหายใจ และชิ้นส่วนของเล่นต้องประกอบแน่นไม่หลุดง่าย

7. การใช้เตียงเด็กมีข้อกำหนดความปลอดภัยที่สำคัญ ดังนี้
🔸ควรเลือกใช้เตียงที่มีมาตรฐาน มอก.
🔸เตียงเด็กต้องมีราวกันตกที่มีซี่ราวห่างกันไม่เกิน 6 เซนติเมตร เพราะส่วนอื่นของร่างกาย เช่น แขน ขา ลำตัว สามารถผ่านได้ แต่ศีรษะจะติดค้างอยู่ระหว่างซี่เตียงได้
🔸ราวกันตกต้องมีตัวยึดที่ดี เด็กไม่สามารถเหนี่ยวรั้งให้เคลื่อนไหวได้เอง
🔸เบาะที่นอนต้องพอดีกับเตียง และไม่มีช่องว่างระหว่างเบาะกับราวกันตก
🔸ผนังเตียงด้านศีรษะและเท้าต้องไม่มีการตัด ตกแต่งให้เกิดร่อง รู

8. หลีกเลี่ยงการใช้เปลตะกร้าที่ทำจากวัสดุถักสาน เนื่องจากเสี่ยงทำให้ทารกหายใจไม่ออกและอาจนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้

🤱นอกจากนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนั่งอุ้มจนเด็กหลับ เพราะอาจจะเผลอปล่อยเด็กออกจากมือ ทำให้เด็กตกลงมาและอันตรายได้...




 

Create Date : 14 กันยายน 2563   
Last Update : 14 กันยายน 2563 9:42:44 น.   
Counter : 710 Pageviews.  


สังเกตตัวเองสักนิด... ว่ามีอาการไทรอยด์เป็นพิษหรือเปล่า



“ไทรอยด์” เป็นต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่งในร่างกายทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย เผาผลาญสารอาหาร กระตุ้นการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดรวมทั้งควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ทั่วร่างกาย ต่อมไทรอยด์จึงมีความสำคัญไม่แพ้อวัยวะอื่นๆ เลยนะครับ

สาเหตุที่ทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติเป็นไปได้หลายสาเหตุ แต่หลักๆ จะมาจากพันธุกรรม คือคนในครอบครัวเคยมีประวัติการรักษาเกี่ยวกับอาการไทรอยด์ผิดปกติ และอาจเกิดจากร่างกายสร้างภูมิต้านบางอย่างไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติไป
 
ดังนั้นเมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ จึงส่งผลให้ทุกระบบแปรปรวน ทั้งร่างกาย จิตใจ และสมอง โดยเฉพาะต่อประสาทการทำงานอัตโนมัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ โดยแบ่งความผิดปกติออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ

1. กลุ่มอาการไทรอยด์ที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน แบ่งออกเป็นต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากเกินไป ทำให้เกิดโรคไทรอยด์เป็นพิษ และต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อยเกินไปทำให้เกิดโรคไทรอยด์ต่ำ

2. กลุ่มที่มีภาวะต่อมไทรอยด์โตหรือมีก้อนตรงบริเวณต่อมไทรอยด์ มีอาการคอโต คอพอก
 
* ถ้าระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงมากเกินไปหรือไทรอยด์เป็นพิษ จะทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก หิวบ่อยกินจุแต่น้ำหนักลด นอนไม่หลับ บางคนถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้นวันละ 2-3 ครั้ง ในผู้หญิงประจำเดือนอาจมาน้อยลง ส่วนผู้ชายจะมีอาการกล้ามเนื้อขาและแขนส่วนต้นอ่อนแรง ตัวเหลือง ตาเหลือง ผู้ที่ต่อมไทรอยด์เป็นพิษรุนแรงอาจมีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวได้
 
* แต่ถ้าฮอร์โมนไทรอยด์น้อยเกินไป อาการก็จะตรงข้าม เช่น เฉื่อยชา ขี้เกียจ ง่วง ซึมเศร้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริวง่าย ในผู้หญิง และในรายที่อาการรุนแรงมากอาจพบน้ำอยู่ในช่องปอด ช่องหัวใจ

* กรณีที่เป็นก้อนเนื้อหรือคอโต คอพอก จะเกิดความผิดปกติที่เห็นได้ชัดจากภายนอกอยู่แล้ว บางคนอาจเจ็บบริเวณก้อน เวลานอนหายใจลำบาก กลืนลำบาก
 
ส่วนการรักษาต่อมไทรอยด์ผิดปกติ ในผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์โต ควรติดตามอาการด้วยการอัลตร้าซาวด์ไทรอยด์ ร่วมกับการตรวจก้อนมะเร็งไทรอยด์ หากไทรอยด์เป็นพิษ สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยายับยั้งการสร้างฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ กลืนน้ำแร่รังสี หรือการผ่าตัด หากต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อย แพทย์จะให้ฮอร์โมนไทรอยด์ชดเชยที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นได้ เมื่อชดเชยฮอร์โมนได้เพียงพอร่างกายจะกลับสู่ภาวะปกติ แต่ที่สำคัญคือจะต้องชดเชยฮอร์โมนให้อยู่ในระดับปกติไปตลอดชีวิต

โรคที่เกี่ยวกับการทำงานของต่อมไทรอยด์ สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราจึงจำเป็นต้องหัดสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา ว่ามีอาการที่คล้ายกับไทรอยด์เป็นพิษ ไทรอยด์บกพร่องหรือไม่ หากเริ่มมีอาการผิดปกติหรือไม่มั่นใจก็ควรมาพบแพทย์จะดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันการตรวจหาความผิดปกติของโรคกลุ่มไทรอยด์ทำได้ง่าย เพียงแค่ตรวจเลือด รอเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็รู้ผลแล้ว นอกจากนี้การตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยคัดกรองว่าเรามีอาการเกี่ยวกับก้อนเนื้อในต่อมไทรอยด์, มะเร็งไทรอยด์, คอพอกหรือไม่...

 




 

Create Date : 10 กันยายน 2563   
Last Update : 10 กันยายน 2563 10:29:52 น.   
Counter : 982 Pageviews.  


เลือดออกขณะตั้งครรภ์... สัญญาณความผิดปกติที่ต้องรีบไปพบแพทย์



🩸ภาวะเลือดออกในขณะตั้งครรภ์อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ โดยมีเลือดออกกะปริดกะปรอยหลังปฏิสนธิ 1-2 สัปดาห์ อาจเกิดจากการฝังตัวของไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิในมดลูก บริเวณปากมดลูกอาจจะมีเลือดออกได้ง่ายในระหว่างการตั้งครรภ์เนื่องจากมีเส้นเลือดเพิ่มขึ้น

การมีเลือดออกในอายุครรภ์น้อยแม้ส่วนใหญ่จะไม่ใช่สัญญานเตือนอันตราย แต่บางครั้งอาจจะบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ จำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของเลือดออกว่าเป็นอันตรายหรือไม่ มีโอกาสแท้งมากน้อยแค่ไหน ส่วนใหญ่แพทย์จะตรวจภายในและอัลตร้าซาวด์ตรวจดูโพรงมดลูกและทารกในครรภ์เพื่อหาสาเหตุ โดยสาเหตุที่ทำให้เลือดออกในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก อาจเกิดจากการติดเชื้อ การแท้งคุกคาม การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือมีรอยโรคที่ปากมดลูกซึ่งแพทย์จะทำการรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ

ส่วนสาเหตุที่ทำให้มีเลือดออกในช่วงหลังของการตั้งครรภ์ (ช่วงอายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์) ที่พบบ่อยและทำให้มีเลือดออกเล็กน้อยคือ การอักเสบหรือการขยายขนาดของปากมดลูก ในกรณีเลือดออกมากถือเป็นภาวะที่อันตรายอาจเกิดจากความผิดปกติของรกหรือการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้ เช่น ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ภาวะรกเกาะต่ำ หรือภาวะรกเกาะแน่น และหากตรวจพบว่าเป็นอันตรายต่อแม่และทารกในครรภ์ แพทย์อาจจำเป็นต้องรีบผ่าตัดคลอด

📌จะเห็นได้ว่าอาการเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์มีสาเหตุซ่อนอยู่มากมายหลายอย่าง การดูแลรักษาก็แตกต่างกัน ดังนั้นในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย หากมีเลือดออกระหว่างการตั้งครรภ์ไม่ว่าช่วงไหน จะมากหรือน้อยก็ตาม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์




 

Create Date : 07 กันยายน 2563   
Last Update : 7 กันยายน 2563 9:40:49 น.   
Counter : 1039 Pageviews.  


สุขภาพคุณแม่ช่วงตั้งครรภ์สำคัญที่สุด


🤰การดูแลสุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์ตั้งแต่เริ่มต้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสุขภาพที่ดีย่อมส่งผลดีต่อลูกน้อยที่กำลังจะเกิดมาในอนาคต ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้มากกว่าคนทั่วไป

แล้ววิธีการดูแลสุขภาพของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์จะต้องทำอย่างไรบ้าง? มาดูกันครับ คลิกอ่านข้อมูล https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/649




 

Create Date : 05 กันยายน 2563   
Last Update : 5 กันยายน 2563 10:58:41 น.   
Counter : 828 Pageviews.  


มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคร้ายที่หลายคนมองข้าม

จากข่าวการเสียชีวิตของนักแสดงชื่อดังท่านหนึ่งด้วย “โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่” ในวัยเพียง 43 ปี ทำให้หลายคนเริ่มตื่นตัวและกลัวโรคนี้กันมากขึ้น วันนี้หมอจะมาอธิบายให้ฟังว่า...
 

* มะเร็งลำไส้เกิดจากอะไร ?

* ใครเสี่ยงที่จะเป็นบ้าง ?

* มีวิธีสังเกตอาการเบื้องต้นอย่างไร?

* แล้วต้องตรวจแบบไหนถึงจะเจอ ?

ซึ่งจากงานวิจัยหลายๆที่พบว่ามะเร็งลำไส้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน มีทั้งการเป็นโรคลำไส้อักเสบหรือเป็นติ่งเนื้อในลำไส้เรื้อรัง รวมถึงปัจจัยด้านการกินอาหาร เช่นคนที่กินอาหารกากใยน้อย กินเนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูปเป็นประจำ และอาหารที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคนี้มากที่สุด ก็คือส่วนเกรียมๆ หรืออาหารปิ้งย่างไหม้ๆที่หลายต่อหลายคนชอบกินกัน อันนี้เสี่ยงมากๆ

ส่วนปัจจัยจากเรื่องพันธุกรรมคนในครอบครัวที่เคยเป็นแล้วเราเสี่ยงจะเป็นไหม ? อันนี้ก็ยังตอบแบบแน่ชัดไม่ได้ แต่ถ้าคนในครอบครัวมีประวัติป่วยโรคมะเร็งหมอแนะนำว่าให้หมั่นเช็คและสังเกตอาการเป็นพิเศษ ซึ่งวิธีสังเกตอาการเบื้องต้นว่าเราเสี่ยงจะเป็นไหม ในระยะเริ่มแรกสัญญาณเตือนโรคนี้ค่อนข้างจะไม่ชัดอาจจะมีอาการ เช่นท้องผูก ท้องเสีย ท้องอืด ปวดท้องนิดๆหน่อยๆ ซึ่งใกล้เคียงกับภาวะโรคที่เราสามารถเป็นกันได้ประจำ เลยแยกยากมาก ว่าเป็นแค่ท้องผูกหรือเป็นมะเร็งกันแน่

ยกเว้นว่ามะเร็งเริ่มลุกลามจนมีอาการหนักแล้ว หรือเป็นเยอะจนรูในลำไส้ตีบ จนอาการเด่นชัด เช่นเริ่มอุจจาระยากขึ้น หรือถ่ายหนักออกมาเป็นเส้นเล็กๆ ผสมกับมีเลือดปน พอเป็นเรื้อรังเข้าก็จะเห็นได้ชัดว่าน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว

 

การตรวจหามะเร็งลำไส้ในปัจจุบันนี้ หลักๆมี 2 วิธีด้วยกัน
1.ตรวจหาการปนเปื้อนของเลือดในอุจจาระ อันนี้ทำง่าย สามารถขอตรวจพร้อมการตรวจร่างกายประจำปีได้เลย แต่ความไวในการบ่งชี้โรคอาจจะไม่มาก เพราะถ้าเนื้องอกในลำไส้ไม่มีเลือดออก ก็ไม่สามารถตรวจเจอโรคได้

 

2.ตรวจด้วยการมองหาชิ้นเนื้อ ไม่ว่าจะเป็นการ CT Scan, MRI หรือการส่องกล้องสวนทวาร แต่ส่วนใหญ่แพทย์จะเน้นเรื่องการส่องกล้องเป็นหลักเลย เพราะตรวจได้ละเอียดที่สุด รวมถึงมองเห็นได้ชัดเจนมาก ถ้าตรวจเจอติ่งเนื้อต้องสงสัยก็สามารถตัดผ่านการส่องกล้องได้เลยส่วนวิธี CT และ MRI จะเป็นทางเลือกในกรณีที่คนไข้ไม่สามารถส่องกล้องได้

พูดง่ายๆก็คือ ถ้าอยากตรวจให้ชัดเจนที่สุดต้องส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เป็นหรือไม่เป็นส่องทีเดียวก็ตอบได้ชัดเจนเลยครับ

ส่วนผู้ที่ควรตรวจคัดกรองด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่นั้นหากไม่มีความเสี่ยงหรือไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง ให้เริ่มตรวจเมื่ออายุ 50 ปี แต่หากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็ง และมีพฤติกรรมเสี่ยงข้างต้นที่บอกไป ควรตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปหากไม่พบความผิดปกติ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจซ้ำในอีก 5-10 ปีแล้วแต่ปัจจัยเสี่ยงของแต่ละคน นอกจากนี้การทานอาหารที่มีกากใยมาก ลดอาหารที่มีไขมัน อาหารปิ้งย่าง ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และป้องกันไม่ให้ท้องผูกจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อีกทาง

มะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถป้องกันได้... ตรวจก่อน รู้เร็ว รักษาทัน

“เทคโนโลยีส่องกล้องลำไส้ใหญ่ตรวจเนื้อร้าย” https://youtu.be/SZB4NjN6ixc

 




 

Create Date : 02 กันยายน 2563   
Last Update : 2 กันยายน 2563 10:48:00 น.   
Counter : 621 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com