นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

อย่าลืมสังเกตเรื่องนี้! ถ้าไม่อยากให้ลูกตัวเตี้ย



อย่าลืมสังเกตเรื่องนี้! ถ้าไม่อยากให้ลูกตัวเตี้ย

ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย ส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็กผู้หญิง เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการเจริญเติบโตในช่วงวัยเด็ก ทำให้เด็กมีเต้านม มีประจำเดือน มดลูก รังไข่ หรืออัณฑะในเด็กผู้ชาย พร้อมที่จะเจริญพันธุ์ การเจริญเติบโตที่เร็วผิดปกตินี้อาจส่งผลเสียต่อเด็กหลายด้านรวมถึงเรื่องความสูง

เป็นหนุ่มสาวก่อนวัย เป็นอีกหนึ่งภาวะที่อาจส่งผลเสียต่อความสูงของเด็ก เนื่องจากการมีฮอร์โมนเพศ (ฮอร์โมนเอสโตรเจน) สูงกว่าปกติ ทำให้ช่วงแรกเด็กจะเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด สูงโตเร็วกว่าปกติ สูงเร็วกว่าเพื่อนวัย เดียวกัน ฮอร์โมนนี้ยังทำให้กระดูกปิดตัวเร็ว หยุดการเจริญเติบโตเร็วกว่าปกติ ทำให้เตี้ยเมื่อเป็นผู้ใหญ่

ในเด็กผู้หญิงจะหยุดสูงหลังจากมีประจำเดือนสม่ำเสมอแล้ว 3 ปี ส่วนปลายกระดูกของเด็กผู้ชายจะปิดช้ากว่า 3-5 ปี จึงมีโอกาสตัวสูงกว่าเด็กผู้หญิง นอกจากนี้ผู้หญิงยังมีโอกาสเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมสูงขึ้นด้วย ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็ก รวมถึงอันตรายจากบุคคลภายนอก เช่น กรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศ และภาวะตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม

ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตว่าลูกอยู่ในภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยหรือไม่ ได้จากลักษณะร่างกายของลูก โดย

เด็กผู้หญิง จะเริ่มมีเต้านม มีขนบริเวณอวัยวะเพศและรักแร้ รูปร่างเปลี่ยน เช่น เอวคอด สะโพกผาย และส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนอายุ 8 ปี หรือมีประจำเดือนก่อนอายุ 9 ปี

เด็กผู้ชาย ขนาดอัณฑะหรืออวัยวะเพศโตขึ้น เริ่มขนบริเวณอวัยวะเพศและรักแร้ กล้ามเนื้อเป็นมัด เสียงแตกห้าว มีหนวดขึ้น หน้ามัน เป็นสิว มีกลิ่นตัว และส่วนสูงเพิ่มขึ้นเร็วก่อนอายุ 9 ปี

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของลูก สงสัยหรือไม่แน่ใจว่าเด็กเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยหรือไม่ ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด จะได้รู้ว่าเด็กควรได้รับการรักษาหรือไม่ เพราะในบางกรณีหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เด็กหยุดเจริญเติบโตก่อนวัยอันควรได้... อ่านข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/72




 

Create Date : 02 ธันวาคม 2564   
Last Update : 2 ธันวาคม 2564 16:35:52 น.   
Counter : 840 Pageviews.  


เมื่ออาการปวดหัวในเด็ก อาจไม่ใช่เรื่องเด็กๆ อย่างที่คิด


 

เมื่ออาการปวดหัวในเด็ก อาจไม่ใช่เรื่องเด็กๆ อย่างที่คิด

อาการปวดหัวในเด็ก เป็นหนึ่งปัญหาที่พบได้บ่อย โดยส่วนใหญ่มักมีสาเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น มีภาวะไข้, ไซนัสอักเสบ, จากความเครียด (Tension headache) แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะปวดหัวในเด็ก อาจเกิดจากสาเหตุที่อันตรายได้ ดังนั้น พ่อ แม่ ผู้ปกครอง จึงควรใส่ใจและไม่เพิกเฉยต่ออาการปวดหัวของลูก
 

อาการปวดหัวในเด็กเกิดจากอะไร?

อาการปวดหัวในเด็ก สามารถแบ่งได้ เป็น 2 แบบ

1. อาการปวดหัวแบบปฐมภูมิ (Primary headache) เป็นอาการปวดหัวที่ไม่มีสาเหตุหรือพยาธิสภาพที่ชัดเจน เช่น อาการปวดหัวไมเกรน (Migraine headache), อาการปวดหัวจากความเครียด(Tension typed headache)

2. อาการปวดหัวแบบทุติยภูมิ (Secondary headache) เป็นอาการปวดหัวที่มีสาเหตุหรือพยาธิสภาพ โดยอาจจะมีสาเหตุที่ไม่อันตราย เช่น มีไข้ หรือ การติดเชื้อบริเวณไซนัส แล้วปวดหัวหรือ มีสาเหตุที่อันตราย อย่างเช่น มีภาวะติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง (CNS infection), มีก้อนเนื้องอกในระบบประสาท, มีเลือดออกในสมอง หรือ มีภาวะความดันในสมองสูง (Increased intracranial pressure) ซึ่งหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา อาจจะส่งผลถึงแก่ชีวิตได้


ปวดหัวอย่างไร? ที่พ่อแม่ไม่ควรเพิกเฉย ควรรีบมาพบแพทย์

หากบุตรของท่านมีอาการปวดหัวลักษณะแบบนี้ ควรรีบมาพบแพทย์

  • อาการปวดหัวรุนแรงฉับพลันทันที อาจจะเกิดจาก ภาวะเลือดออกในสมองได้
  • มีอาการอื่นทางระบบประสาทร่วมด้วย ชัก อ่อนแรง ซึม เดินเซ เห็นภาพซ้อน หรือ จะจำง่ายๆ ว่า “ชัก อ่อน ซึม เซ ซ้อน”
  • อาการปวดหัวเรื้อรังที่ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆปวดมากจนอาเจียน
  • มีอาการปวดหัวมากจนต้องตื่นมาตอนกลางคืน (awakening pain) หรือ ตื่นมาแล้วปวดหัวมาก
  • มีอาการปวดหัวมากขึ้น เมื่อ ไอ จาม เบ่ง


จะรู้ได้อย่างไรว่าอาการปวดหัวอันตรายหรือไม่?

โดยปกติ มักวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย การตรวจค้นเพิ่มเติม จะทำในกรณีที่ประวัติและการตรวจร่างกาย สงสัยว่าอาจจะมีสาเหตุที่อันตรายในสมอง

  • การตรวจภาพสมอง (CT scan หรือ MRI) พิจารณาทำ ในกรณีที่จากประวัติและการตรวจร่างกาย ชวนให้สงสัยว่าอาจจะมีพยาธิสภาพในสมอง เช่น มีเนื้องอกในสมอง มีน้ำคั่งในโพรงสมอง
     
  • การเจาะน้ำไขสันหลัง จะพิจารณาในกรณีที่สงสัยภาวะติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง หรือ ความดันในสมองสูงแบบไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Intracranial Hypertension)


เด็กปวดหัวแต่ละแบบ รักษาอย่างไร?

  • หากปวดหัวฉับพลันแต่ไม่รุนแรงมาก ไม่รบกวนชีวิตประจำวัน และ มีสาเหตุที่พออธิบายได้ เช่น มีไข้ อากาศร้อน นอนไม่พอ หลังได้ยินเสียงดัง อาจจะพิจารณาให้ยาพาราเซตามอลร่วมกับให้นอนพัก และ สังเกตอาการ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรมาพบแพทย์
     
  • หากปวดหัวฉับพลันอย่างรุนแรง หรือ ปวดหัวฉับพลันร่วมกับมีสัญญาณเตือนอย่างที่อธิบายไว้ข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์
     
  • หากปวดหัวเรื้อรัง (ปวดหัว นานเกินกว่า 15 วัน) ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาตามการวินิจฉัย


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1629




 

Create Date : 26 พฤศจิกายน 2564   
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2564 14:27:45 น.   
Counter : 481 Pageviews.  


จะรู้ได้อย่างไร?... ว่าเราเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด



จะรู้ได้อย่างไร?... ว่าเราเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

มีคนอีกมากไม่เคยรู้ว่าตนเองกำลังเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ และคิดว่าอาการที่เป็นอยู่บ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคหัวใจก็สายไปเสียแล้วละครับ

คุณกำลังมีอาการเหล่านี้อยู่หรือเปล่า?
จุกแน่นกลางหน้าอก อาจจะร้าวไปที่ไหล่ซ้ายด้านในของแขนซ้าย คอ กราม ขากรรไกรหรือหลังได้ อาการเจ็บที่เกิดขึ้นนี้มักจะเป็นแบบกดทับ, จุกแน่น, แสบ, หรือเหมือนถูกบีบรัด มากกว่าเจ็บแบบถูกเข็มแทง, เจ็บแปลบๆ หรือชาๆ อาการเจ็บหน้าอกนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นช่วงกล้ามเนื้อหัวใจต้องการเลือดมาเลี้ยงมากกว่าปกติ เช่น ออกกำลังกาย เดินหรือวิ่งเร็วๆ เดินขึ้นที่สูงชันหรือขึ้นบันได หรือขณะเบ่งอุจจาระ เป็นต้น

ถ้าคำตอบคือ “ ใช่ “ วิธีที่ดีที่สุดที่จะบอกได้แน่นอนว่าอาการต่างๆ ที่น่าสงสัยนั้นเป็นอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่ คือการไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คอาการต่างๆ เหล่านั้นให้แน่ใจนะครับ ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/49




 

Create Date : 24 พฤศจิกายน 2564   
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2564 11:38:40 น.   
Counter : 652 Pageviews.  


โรค NPH หรือ ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง โรคที่ผู้สูงอายุทุกคนมีโอกาสเป็น

 

โรค NPH หรือ ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง โรคที่ผู้สูงอายุทุกคนมีโอกาสเป็น

“ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง” หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Normal Pressure Hydrocephalus (NPH) เป็นภาวะที่มีน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังมากเกินไป ทำให้โพรงสมองขยายโตขึ้น จนไปกดเบียดเนื้อสมองส่งผลให้เนื้อสมองเสียหาย ทำให้การทำงานของสมองผิดปกติไป

ส่วนใหญ่เรามักจะเจอโรคนี้ประมาณ 3% ในคนที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นไปได้ว่าในสมองของคนสูงวัยนั้น มีการสร้างและการดูดกลับของน้ำไขสันหลังที่ไม่สมดุลกันเกิดขึ้น จนทำให้ปริมาณของน้ำที่คงค้างอยู่ในสมองมีมากกว่าปกติ

ภาวะนี้ประกอบด้วยอาการหลักๆ 3 อย่าง ได้แก่

1. เดินลำบาก เป็นลักษณะของการเดินติด เดินแข็งๆ เท้าติดพื้น ก้าวสั้นๆ

2. ความจำเสื่อมหรือมีความคิดความจำที่แย่ลง

3. กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือว่าปัสสาวะไม่รู้ตัว

** อาการทั้งสามอย่างนี้ไม่จำเป็นต้องมีครบทั้งสามอย่างก็ได้ **

การวินิจฉัยโรคน้ำคั่งในโพรงสมองทำได้ด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด ในรายที่สงสัยจำเป็นต้องสแกนสมองด้วยเครื่อง CT Scan หรือ MRI Scan ตรวจดูขนาดของโพรงสมอง ลักษณะการไหลของน้ำที่มากกว่าปกติ เพื่อความแม่นยำในการวางแผนการรักษา

การรักษาเป็นการรักษาเฉพาะที่เรียกว่า “การผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำ” เป็นลักษณะของการใส่สายเข้าไปในโพรงน้ำของสมอง ซึ่งจะเป็นท่อฝั่งอยู่ในตัว แล้วทำการระบายน้ำออกไปในช่องท้อง ถ้าทำในคนไข้ที่มีอาการยังไม่มากจะทำให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้ดีขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ

การผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำจะมี 2 เทคนิคที่ใช้กันบ่อย อ่านวิธีการรักษาเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1651

ในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านต้องหมั่นสังเกตอาการ หากมีความผิดปกติที่กล่าวมาแม้เพียงเล็กน้อย ก็ควรรีบพาไปพบแพทย์ตรวจวินิจฉัย เพราะการเริ่มรักษาในขณะที่อาการยังไม่รุนแรง จะทำให้การรักษาได้ผลดีช่วยคืนชีวิตให้ผู้สูงวัย กลับมาใช้ชีวิตอย่างหนุ่มสาวอีกครั้ง

RAM NPH CENTER
ศูนย์สมองและระบบประสาท
โรงพยาบาลรามคำแหง โทร. 0-2743-9999




 

Create Date : 22 พฤศจิกายน 2564   
Last Update : 22 พฤศจิกายน 2564 15:39:12 น.   
Counter : 1056 Pageviews.  


มีวิธีเสริมสร้างภูมิคุ้มกันดีๆ ให้กับร่างกายยังไงกันบ้าง?




มีวิธีเสริมสร้างภูมิคุ้มกันดีๆ ให้กับร่างกายยังไงกันบ้าง?


ภูมิคุ้มกันนับเป็นสิ่งสำคัญของร่างกาย ยิ่งในช่วงโรคระบาดแบบนี้ระบบภูมิคุ้มกันของเราคือหนึ่งในกลไกด่านหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่มีประสิทธิภาพที่สุดเลยนะครับ
 


โดยภูมิคุ้มกันร่างกายแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (Innate Immunity) ที่ช่วยป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย และภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (Adaptive Immunity) ที่ทำหน้าที่กำจัดหรือยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรคในร่างกาย เช่น ไวรัสและแบคทีเรีย การเสริมภูมิคุ้มกันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

ดังนั้นจึงอยากมาแนะนำ 5 พฤติกรรมดีๆ ที่ควรทำเป็นประจำเพื่อร่างกายที่แข็งแรงและเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี
 


เพิ่มปริมาณผักและผลไม้ในมื้ออาหาร

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่าการบริโภคผักผลไม้ 400 กรัมต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แนะนำให้กินผลไม้หลังอาหารมื้อเช้าทุกวันจนเป็นนิสัย เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์จากสารอาหารแล้ว ยังช่วยเติมความสดชื่นได้ตลอดวัน นอกจากนี้ให้พยายามกินผักเพิ่มเป็น 2 เท่าทุกมื้อ ลดอาหารประเภทแป้งหรือไขมันลง อาหารหลายชนิดสามารถใส่ผักหรือผลไม้ได้หลายอย่าง ลองดัดแปลงทำดูก็จะได้อาหารจานอร่อยที่มีคุณค่าอาหารสูง รวมถึงลองกินผักผลไม้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยกิน รสชาติที่แปลกใหม่จะช่วยให้มีตัวเลือกมากขึ้น และเมื่อทำจนเป็นนิสัยเราก็จะสามารถกินผักได้มากขึ้นอัตโนมัติ
 


หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป และอาหารฟาสต์ฟู้ดส์

ด้วยภาวะที่เร่งรีบในปัจจุบัน อาหารสำเร็จรูปจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่คนส่วนใหญ่นิยมทาน เพราะแค่อุ่นให้ร้อนก็ทานได้ทันที แต่การผลิตอาหารสำเร็จรูปบางอย่างก็ไม่ได้มาตรฐาน อาจมีส่วนผสมของสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และคุณภาพทางโภชนาการและแร่ธาตุในอาหารสำเร็จรูปก็มีน้อยกว่าอาหารที่สดใหม่
 


ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

เลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับร่างกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาทีเป็นต้นไป เช่นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic Exercise)จะทำให้หัวใจ ปอด และระบบหมุนเวียนโลหิตแข็งแรงขึ้น
 


นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

จัดตารางเวลาการนอนให้เหมาะสมและเป็นเวลา ซึ่งความต้องการในการนอนหลับของคนเราขึ้นอยู่กับช่วงอายุหรือวัย ยิ่งอายุน้อยยิ่งต้องการนอนมาก สำหรับผู้ใหญ่โดยทั่วไปแล้วประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน เพราะฮอร์โมนและสารต่างๆ ที่จำเป็นในการก่อให้เกิดสุขภาพร่างกายและผิวพรรณที่ดี จะผลิตเป็นเวลาตามที่ร่างกายกำหนด จึงควรเข้านอนไม่เกิน 4 ทุ่ม
 


หัดนั่งสมาธิ

การนั่งสมาธิมีส่วนช่วยให้ภาวะทางอารมณ์ดีขึ้น เช่น มีทัศนคติใหม่ๆที่ดีขึ้น เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด ช่วยเพิ่มความสามารถในการรับมือกับความเครียด เพราะความเครียดนอกจากจะสร้างปัญหาทางใจแล้วยังสร้างปัญหากับร่างกายทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้มากมาย การนั่งสมาธิจึงอาจช่วยลดความเครียดได้ ลดอารมณ์หรือความคิดในแง่ลบ เพิ่มจินตนาการหรือความคิดที่สร้างสรรค์ เพิ่มความอดทนอดกลั้นและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้และการทำงาน

** ใครมีวิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายแบบไหนมาแชร์กันได้ครับ จะได้มีสุขภาพที่แข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่ายๆ แม้ในยุคที่มีโรคระบาดอย่างในปัจจุบันนี้
 




 

Create Date : 19 พฤศจิกายน 2564   
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2564 10:34:53 น.   
Counter : 475 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com