นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

อย่ากังวลกับ COVID-19 จนลืมพาเด็กๆ ไปฉีดวัคซีน


เด็กจะมีภูมิต้านทานโรคบางชนิดที่รับมาจากแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และการกินนมแม่ก็ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้แก่เด็กได้แต่ภูมิต้านทานนี้จะคงอยู่เพียงชั่วคราว การฉีดวัคซีนจึงเป็นการช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคให้แก่เด็กได้ในระยะยาว

วัคซีนพื้นฐานที่เด็กควรได้รับเริ่มตั้งแต่แรกเกิด จนถึง 12 ปี การฉีดวัคซีนเด็กควรเป็นไปตามที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วนเพื่อสุขภาพของเด็กและลดการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งคุณหมอจะแนะนำและนัดให้เด็กมาฉีดวัคซีนให้ครบอยู่แล้ว หรือคุณพ่อคุณลองเช็คดูก็ได้ว่าลืมตัวไหนไปบ้างหรือป่าว? ... ถ้ามีก็ให้พาลูกไปฉีดได้เลย

นอกจากวัคซีนที่ควรฉีดให้ครบตามที่คุณหมอแนะนำแล้ว ยังมีวัคซีนเสริมที่อยากให้พาเด็กๆ ไปฉีด นั้นก็คือ “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” และยิ่งในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี หรือมีโรคประจำตัวด้วยแล้วล่ะก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ง่าย

สามารถฉีดได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป หลังฉีดประมาณ 1-2 สัปดาห์ ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่มามากขึ้นและอยู่ไปอีกประมาณ 1 ปี ดังนั้นจึงควรพาเด็กๆ ไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปีด้วยนะครับ

ถ้าให้ดีที่สุด ก็ควรจะฉีดวัคซีนทั้งบ้านไปเลย เพราะจะได้มีภูมิต้านทานกันทุกคน เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าคนในบ้านของเรา มีใครไปรับเชื้อไข้หวัดใหญ่กันมาบ้างมั๊ย

รพ.รามคำแหงมีมาตรการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลรามคำแหงอย่างเข้มงวดตั้งแต่เริ่มมีข่าวการแพร่ระบาด คุณพ่อคุณแม่ พาเด็กๆ มาฉีดวัคซีนตามนัดได้อย่างมั่นใจ คลิก https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/514




 

Create Date : 05 มิถุนายน 2563   
Last Update : 5 มิถุนายน 2563 15:00:09 น.   
Counter : 642 Pageviews.  


สัญญาณการมาเยือนของ "โรคเบาหวาน"



เบาหวานอาจเป็นโรคใกล้ตัวของใครหลายๆ คน เพราะนอกจากจะเป็นโรคที่พบได้บ่อยแล้ว ยังเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมด้วย

และถึงแม้ว่าจะเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ถ้าเราสามารถตรวจพบเจอได้ตั้งแต่แรกเริ่ม ก็จะทำให้การดูแลรักษาควบคุมโรคเป็นไปได้ด้วยดี โรคก็จะไม่ลุกลามและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอื่นๆ ตามมา

เสี่ยงเป็นเบาหวานหรือไม่?... สามารถสังเกตได้จาก

✔️ ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะตอนกลางคืน
✔️ หิวน้ำบ่อย
✔️ น้ำหนักขึ้นลง ผิดปกติ
✔️ กินเยอะ ยิ่งกินยิ่งผอม
✔️ ตามัว มองเห็นไม่ค่อยชัด
✔️ เวลาเป็นแผล แผลจะหายช้ากว่าปกติ

ใครที่มีอาการดังกล่าว ร่วมกับมีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด ด้วยการเจาะเลือดตรวจ เพราะหากพบว่าเป็นโรคเบาหวานจะได้รีบรักษาและรับคำแนะนำการดูแลตัวเองที่ถูกต้องจากแพทย์




 

Create Date : 04 มิถุนายน 2563   
Last Update : 4 มิถุนายน 2563 10:37:15 น.   
Counter : 890 Pageviews.  


COVID-19 ในเด็ก และภาวะแทรกซ้อนอันตรายที่ต้องจับตามอง



แม้ว่าเราจะรู้จักโรค COVID-19 มาได้สักระยะแล้ว แต่ก็ยังมีข้อมูลข่าวสารใหม่ๆมาให้ได้ติดตามอยู่เสมอ อย่างเช่นข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนอันตรายที่ต้องจับตามองของผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อไวรัสที่ก่อโรค COVID-19) ที่มีรายงานมาเมื่อเร็วๆนี้

ข้อมูลในช่วงต้นของการระบาดของโรค COVID-19 ในทวีปเอเชีย พบว่าโรคนี้เกิดในเด็กได้ค่อนข้างน้อย เพียง 1-2% ของผู้ป่วยทั้งหมด อีกทั้งผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ โดยพบเด็กที่มีอาการรุนแรงเพียง 2-5% ของผู้ป่วยเด็กทั้งหมดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามหลังจากมีการระบาดของโรคไปยังทวีปต่างๆ มากขึ้น มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น ก็พบจำนวนผู้ป่วยเด็กที่มีอาการรุนแรงมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ในขณะที่กำลังมีการระบาดของโรค COVID-19 อย่างหนักในทวีปยุโรป และอเมริกาเหนืออยู่นั้น ก็ได้มีการรายงานการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของกลุ่มผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นที่ต้องได้รับการรักษาในไอซียูด้วยอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ อาการของเด็กๆ เหล่านี้มีความคล้ายคลึงกับโรคคาวาซากิ (Kawasaki) ซึ่งเป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย โดยโรคคาวาซากินั้นมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แต่จากรายงานเกี่ยวกับผู้ป่วยเด็กที่พบการอักเสบของอวัยวะหลายระบบที่สงสัยว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับโรค COVID-19 นั้น พบว่าเกิดในช่วงอายุตั้งแต่ 2-17 ปีเลยทีเดียว

อาการที่พบในผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ได้แก่ อาการไข้ ผื่นแดงตามตัว ตาแดง ปากแดง ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย ไปจนถึง หัวใจอักเสบ หลอดเลือดหัวใจผิดปกติ ความดันต่ำ อวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ช๊อค และเสียชีวิตได้ ซึ่งเมื่อได้ทำการตรวจเพิ่มเติม ก็พบหลักฐานว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้เคยมีการติดเชื้อ SARS-CoV-2 มาก่อนถึง 80% แพทย์จึงสังเกตเห็นความสัมพันธ์ของกลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบนี้ ว่าอาจจะเกิดตามหลังการติดเชื้อ SARS-CoV-2 นั่นเอง

เนื่องจากอาการของโรคมีความคล้ายคลึงกับโรคคาวาซากิ การรักษาที่ใช้จึงมีความใกล้เคียงกัน คือการให้ยาเพื่อต้านการอักเสบ และการใช้อิมมูโนโกลบูลิน บางรายอาจมีการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากมีการตอบสนองต่อการรักษาที่ค่อนข้างดี

แม้ว่าภาวะแทรกซ้อนนี้จะดูรุนแรงและน่ากลัว แต่คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าเพิ่งวิตกกังวลจนเกินไป เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่พบภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ยังมีน้อย และที่สำคัญในประเทศไทยและในทวีปเอเชียเอง ยังไม่มีรายงานว่าพบเด็กๆ ที่มีอาการการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ ที่สงสัยว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับโรค COVID-19 นี้

อย่างไรก็ตามโรค COVID-19 นี้ยังมีปริศนาอีกหลายอย่างที่เรายังต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เด็กๆ ติดโรค โดยเด็กที่ป่วยเป็นโรค COVID-19 มักมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยในครอบครัวที่มีการติดเชื้อ ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่ในบ้านดูแลตัวเองได้ดี เด็กๆ ในบ้านก็จะปลอดภัยไปด้วยนั่นเอง



 
พญ.ตวงพร ตุรงค์สมบูรณ์
กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ




 

Create Date : 01 มิถุนายน 2563   
Last Update : 1 มิถุนายน 2563 16:27:08 น.   
Counter : 761 Pageviews.  


วิตามิน D มีความสำคัญในการลดความรุนแรงของ COVID-19


วิตามินดี เป็นวิตามินที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย นอกจากเรื่องของการสร้างกระดูกอย่างที่เราเคยเรียนสุขศึกษาตอนเด็กๆวิตามินดียังมีบทบาทสำคัญ ในขบวนการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย

วิตามินดี เป็นวิตามินที่พบในอาหารจำพวกปลา เนื้อสัตว์ นม ถั่วเมล็ดแข็ง และร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้จากการรับรังสีอัลตราไวโอเล็ตจากแสงแดด แต่ด้วยวิถีชีวิตในปัจจุบัน รวมถึงการป้องกันแสงแดดเพื่อลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งผิวหนังและภาวะแก่ก่อนวัย ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ขาดวิตามินดี โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมือง

📌การขาดวิตามินดีอาจทำให้ติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น และเมื่อติดเชื้อแล้วกลไกในการกำจัดเชื้อ หรือ immune response ของร่างกายในคนที่มีวิตามินดีเพียงพอจะดีกว่าคนที่ขาดวิตามินดี

กลไกการเกิดอาการรุนแรงของผู้ป่วย COVID-19 ไม่เพียงแต่เกิดจากตัวไวรัสโดยตรง แต่เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อตัวเชื้อ โดยเม็ดเลือดขาวจะปล่อยสารเคมีที่กระตุ้นการอักเสบออกมามากเกินควบคุมที่เรียกเป็นศัพท์ทางการแพทย์ว่าพายุไซโตไคน์ (Cytokine Storm) ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายของเซลและระบบต่างๆในร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่อปอดถูกทำลายจนเกิดภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด

วิตามินดี มีผลต่อการควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจรวมถึงการควบคุมการอักเสบไม่ให้เกิดมากเกินไปจนทำลายเนื้อเยื่อ

จากงานวิจัย ใน Irish Medical Journal พบว่ามีความสัมพันธ์ ระหว่างอัตราการตายและอัตราการติดเชื้อ ที่มีสูงในประเทศสและอิตาลี่ทั้งๆที่เป็นประเทศยุโรปตอนใต้ ที่มีแสงแดดและความอบอุ่น แต่มีสัดส่วนของคนที่ขาดวิตามินดีสูงกว่า

ในขณะที่ยุโรปตอนเหนือ เช่นกลุ่มประเทศนอร์ดิก กลับมีอัตราตายและอัตราการติดเชื้อต่ำกว่า เพราะประเทศกลุ่มนี้มีการเสริมวิตามินดีในอาหารเป็นปกติมานานแล้ว ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดวิตามินดี

งานวิจัยพบว่าความสัมพันธ์ของการขาดวิตามินดีและอัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19 มีนัยยสำคัญทางสถิติ

สำหรับกลุ่มเสี่ยง ที่จะมีแนวโน้มขาดวิตามินดี ได้แก่ผู้สูงอายุ,เพศชาย, มีโรคประจำตัวเรื้อรัง, โรคอ้วน, ชนชาติที่มีสีผิวเข้ม( ผู้อพยพในยุโรปที่เป็น ชาวอาฟริกัน และเอเชียท่ีผิวคล้ำ เมื่ออยู่ในประเทศที่มีแสงแดดน้อย ยิ่งทำให้การสังเคราะห์วิตามินดีน้อยลงไปอีก)

จะเห็นได้ว่า ปัญหาการขาดวิตามินดี นอกจากจะส่งผลกับเรื่องความแข็งแรงของกระดูกแล้ว ยังส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ที่มีบทบาทสำคัญต่อผลของการรักษาภาวะติดเชื้อทางเดินหายใจ รวมถึง COVID-19 อีกด้วย

📌ดังนั้นคนที่ขาดวิตามินดีเช่น คนสูงอายุ ผิวสี ไม่ค่อยได้รับรังสี UVB หรือตรวจเลือดพบว่า วิตามินดีต่ำ การเสริมวิตามินดีให้พอเพียงน่าจะมีประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ ทั้งโรคRSV ไข้หวัดใหญ่และCOVID-19

ref : https://www.cambridge.org/…/7FDF0857C837FD4644…/core-reader…
https://imj.ie/vitamin-d-and-inflammation-potential-implica…/




 

Create Date : 26 พฤษภาคม 2563   
Last Update : 26 พฤษภาคม 2563 10:16:03 น.   
Counter : 983 Pageviews.  


หมอผิวหนังแนะวิธี ผิวไม่เสีย ไม่สิว แม้ต้องใส่ MASK


เราต้องสวมหน้ากากบนใบหน้าเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน ในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19 เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคและป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ

แต่การสวมหน้ากากก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นบนใบหน้าได้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะรอบจมูก รอบปาก โหนกแก้ม หรือคางได้ ซึ่งเกิดจากความชื้น ละอองไอน้ำจากลมหายใจ หรือน้ำลายที่จะติดอยู่พื้นผิวด้านในของหน้ากาก ทำให้เกิดการระคายเคือง เกิดเป็นผื่นหรือรอยแดง หรือเกิดเป็นสะเก็ดสีขาวลอกๆ บางคนอาจจะรู้สึกคันโดยที่ไม่มีผื่นก็ได้

สำหรับคนที่เป็นสิวง่าย การที่ผิวหน้าของเราถูกกดและเสียดสีโดยหน้ากากเป็นเวลานาน ทำให้รูขุมขนอุดตันได้ง่ายขึ้น เกิดสิวหรือตุ่มหนองขึ้นเป็นหย่อมได้ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่อาจจะต้องทาครีมกันแดด หรือแต่งหน้าเป็นประจำ

นอกจากนี้ มีคนจำนวนหนึ่งที่เกิดการแพ้หน้ากาก ซึ่งเป็นผลจากสารเคมีบางชนิดที่เคลือบบนผิวหน้ากาก ดังนั้นก่อนนำมาใช้ก็ควรซักก่อนเสมอถ้าเป็นหน้ากากผ้า

📌หมอขอแนะนำให้ทำความสะอาดผิวหน้าด้วยคลีนเซอร์ (Cleanser) ที่อ่อนโยนต่อผิว ทั้งก่อนสวมหน้ากากและหลังจากถอดหน้ากากออก เพื่อกำจัดความมันส่วนเกินและเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และไม่ควรแต่งหน้าหรือทาครีมกันแดดในบริเวณผิวที่ต้องสัมผัสกับหน้ากาก เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองและอุดตันง่ายขึ้น

การทาครีมบำรุงผิวที่ปราศจากน้ำหอมและไม่เหนียวเหนอะหนะบ่อยๆ ก็ช่วยได้มาก ถ้าอาการไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง เพราะผื่นที่เกิดขึ้นบนใบหน้าอาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้

อย่างไรก็ตาม ทุกคนต้องสวมหน้ากากก่อนออกจากบ้านหรือเมื่อไปที่สาธารณะทุกครั้งเพื่อลดการสัมผัสและกระจายโรค และเปลี่ยนหรือซักหน้ากากอนามัยทุกวันด้วย พยายามหาช่วงเวลาในแต่ละวันเพื่อถอดหน้ากากออกบ้าง เช่น เวลาขับรถยนต์ส่วนตัว หรืออยู่ในห้องส่วนตัว และถ้ารู้สึกอับชื้นก็ให้เปลี่ยนหน้ากากพร้อมกับทำความสะอาดผิวหน้าและทาครีมบำรุงตามที่แนะนำ




 

Create Date : 25 พฤษภาคม 2563   
Last Update : 25 พฤษภาคม 2563 9:59:01 น.   
Counter : 660 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com