นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

ผื่นแบบไหน.. เป็นอะไร?




ผื่นแบบไหน.. เป็นอะไร?

ปัญหาเรื่องผื่นในเด็กเล็ก คงเป็นเรื่องกังวลใจไม่น้อยสำหรับคุณพ่อคุณแม่หลายท่าน โดยเฉพาะเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 1 ปี ที่โครงสร้างผิวยังไม่แข็งแรงดี ผิวจึงบอบบาง แพ้ง่าย และมักมีปัญหาผดผื่นตามมา เช่น

ผื่นต่อมไขมันอักเสบ (Seborrheic Dermatitis) เป็นผืนที่พบบ่อยมาก เริ่มมีได้ตั้งแต่อายุ 2-12 สัปดาห์ อาการมากน้อยแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน ลักษณะผื่นเป็นแผ่นแดง มีขุยสะเก็ดสีเหลือง ไม่ค่อยคัน มักเป็นในบริเวณที่มีต่อมไขมัน เช่น แก้ม คิ้ว หลังหู หนังศีรษะ หน้าอก คอ บริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม และหายเองได้ก่อน 1 ปี

ผื่นผดร้อน (Miliaria) ผื่นมักเป็นตุ่มน้ำใสๆ เล็กๆ หรือตุ่มแดงเล็กๆ เห่อขึ้นเมื่ออากาศร้อนและจะดีขึ้นเมื่ออากาศเย็น

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) พบได้ประมาณ 10% ในเด็ก และมักมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เริ่มพบในช่วงอายุ 2 -3 เดือน ผื่นจะมีลักษณะเฉพาะคือ แดง คันมาก เป็นๆ หายๆ เกิดในตำแหน่งเฉพาะ เช่น แก้ม ข้อพับ แขนขา ซอกคอ ไม่ค่อยพบบริเวณผ้าอ้อมหรือรักแร้ ถ้าในเด็กเล็กๆ มักจะสัมพันธ์กับเรื่องแพ้อาหาร

เนื่องจากผื่นในเด็กมีหลากหลาย และบางทีลูกของเราก็อาจเป็นผื่นหลายชนิดปนกันอยู่ ดังนั้นการหมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติจึงเป็นสิ่งสำคัญ

หากลูกน้อยมีผื่นเป็นๆ หายๆ และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบพาไปพบแพทย์เฉพาะทาง โดยแพทย์จะพิจารณาลักษณะของผื่นที่เกิดขึ้นตามบริเวณต่างๆ และซักประวัติอย่างละเอียด เพื่อทำการแยกโรคที่ถูกต้องและรับการรักษาที่เหมาะสม ติดตามอาการและรับคำแนะนำการดูแลผิวของลูกอย่างถูกวิธี เพื่อจะได้หายจากโรคเร็วที่สุด




 

Create Date : 20 ธันวาคม 2564   
Last Update : 20 ธันวาคม 2564 10:08:58 น.   
Counter : 566 Pageviews.  


โรคซึมเศร้า.. ทำไม? ถึงน่ากลัว!



โรคซึมเศร้า.. ทำไม? ถึงน่ากลัว!

ช่วงนี้รามักจะเห็นข่าวเรื่องการเสียชีวิตจากโรคซึมเศร้ากันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดก็ถือเป็นข่าวเศร้าอีกข่าวหนึ่งของคนวงการบันเทิงกับการจากไปของนักร้องชื่อดังท่านหนึ่ง ที่เสียชีวิตด้วยโรคซึมเศร้า...

มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มีภาวะซึมเศร้า บางคนเป็นโดยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่ได้รับการรักษา การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้นจะเป็นคนอ่อนแอ คิดมาก เอาแต่ท้อแท้ ซึมเศร้า จริงๆ แล้วมันเป็นอาการของโรค หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคนี้ก็จะทุเลาหรือหายเป็นปกติได้

โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสมองในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประกอบไปด้วยพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม การใช้ยาบางชนิด การใช้ชีวิตหรือแม้แต่ความเครียดก็มีส่วนทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ (ความเครียดนั้นส่งผลเสียทั้งร่างกายและจิตใจ เมื่อเริ่มรู้สึกว่ามีอาการเครียด ลองฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดความเครียด ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ สามารถทำได้ด้วยตนเองคลิกเลย >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1683)

การส่งสัญญาณเตือนเท่ากับการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือของผู้ที่มีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าครอบครัว หรือคนใกล้ชิด ต้องคอยสังเกตสัญญาณเตือนให้ดีหากพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้ เช่น มีอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง แยกตัว นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ หรือโพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เมื่อพบเห็นให้รีบเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือพร้อมรับฟังปัญหาและให้กำลังใจ

5 สัญญาณ ในโซเชียลที่หากเราสังเกตเห็นเพื่อนหรือ คนใกล้ชิด โพสต์ ข้อความทำนองนี้ ให้ระวังไว้ เพราะมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสูง

1. สั่งเสีย เช่น ขอบคุณ ขอโทษ ลาก่อน

2. โพสต์ความตาย หรือ เขียน ทำนองว่า ไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว

3. โพสต์ความเจ็บปวด ทรมาน

4. โพสต์ความรู้สึกผิด หมดหวังในชีวิต

5. โพสต์เป็นภาระผู้อื่น หรือ รู้สึกไร้ค่า

ส่วนการตรวจและรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แพทย์จะเริ่มจากการสอบถามอาการ ผลกระทบที่เกิดขึ้น และระดับความรุนแรง ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน โรคประจำตัว ยาที่กินอยู่ รวมถึงประวัติครอบครัว โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะประเมินร่วมกับบุคลิกภาพที่สังเกตได้ รวมกับการทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา เพื่อนำผลมาประเมินว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในแนวทางใด เช่น การรักษาด้วยยา การใช้จิตบำบัด

นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการรักษาด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ TMS ที่เป็นอีกหนี่งทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยใช้หลักการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเฉพาะส่วน ทำให้เซลล์สมองกลับมาฟื้นฟูทำงานได้ เป็นการรักษาที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย ซึ่งจะต้องทำติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป จึงจะเห็นผลการรักษาที่ชัดเจน.. TMS ทางเลือกใหม่รักษาโรคซึมเศร้าและแบบประเมินภาวะซึมเศร้าคลิกอ่านข้อมูล >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/803

การดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคซึมเศร้านั้น อันดับแรกเราต้องดูแลสุขภาพให้ดี ด้วยการออกกำลังกาย พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง

ด้านจิตใจฝึกให้เป็นคนคิดบวก มองโลกในแง่ดีไม่คิดร้ายกับใคร มองเห็นคุณค่าในตัวเอง หางานอดิเรกทำหรือเป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคมเมื่อมีโอกาส รู้ว่าใครรักและเป็นห่วงก็ให้อยู่ใกล้คนๆ นั้น และควรหาเวลาออกไปทำกิจกรรมที่สนุกสนาน ไม่เคร่งเครียดหรือทำงานหนักเกินไป ไม่ควรดูข่าวที่ทำให้จิตใจหดหู่มากไป หรือหากมีการใช้ยาเพื่อรักษาโรคใดๆ อยู่ไม่ควรหยุดยาเอง โดยเฉพาะถ้ารักษาโรคด้านจิตเวชอยู่ควรกินยาตามแพทย์สั่ง ห้ามหยุดยาเองเด็ดขาด...




 

Create Date : 11 ธันวาคม 2564   
Last Update : 11 ธันวาคม 2564 11:49:23 น.   
Counter : 705 Pageviews.  


สังเกตอาการ MIS-C หลังเด็กหายป่วยโควิด-19



สังเกตอาการ MIS-C หลังเด็กหายป่วยโควิด-19

สังเกตอาการ MIS-C หลังเด็กหายป่วยโควิด-19 ถ้ารับการตรวจสุขภาพและฟื้นฟูร่างกายเร็ว ก็สามารถรักษาให้หายได้

ภาวะลองโควิด (Long COVID) คืออาการที่ตามมาหลังหายป่วยจากโควิด-19 ถ้าเกิดในเด็กเราเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า MIS-C หรือ Multisystem Inflammatory Syndrome in Children เด็กที่เกิดอาการ MIS-C ส่วนใหญ่จะเป็นหลังติดเชื้อโควิด-19 ระยะหนึ่ง หรือเริ่มหาย หรือหายแล้ว

ซึ่งเมื่อร่างกายติดเชื้อโควิด-19 ระบบภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นให้ต่อสู้กับเชื้อโรค แต่บางครั้งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอาจมีความสับสน แทนที่จะทำลายเชื้อโรคอย่างเดียว ก็ไปมีปฏิกิริยากับเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ในร่างกายด้วย ทำให้เกิดการอักเสบหลายระบบพร้อมกัน

โดย MIS-C สามารถเกิดได้หมดในทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบประสาท ระบบผิวหนัง เนื่องจากเป็นการอักเสบในอวัยวะหลายระบบ จึงอาจมีอาการแสดงจากหลายระบบร่วมกัน เช่น ปวดท้อง ตาแดง อาเจียน ท้องเสีย แน่นหน้าอก ปวดหัว เหนื่อยง่าย มีไข้ บางคนมีผื่น ความดันเลือดต่ำ ขึ้นอยู่กับว่าระบบใดเกิดการอักเสบ

ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ถ้าลูกหลานเคยเป็นโควิด-19 แล้วหลังจากนั้น 2-4 สัปดาห์ หากเด็กมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูงเกิน 24 ชั่วโมง ตาแดง ถ่ายเหลว ปวดหัวมาก แน่นหน้าอก ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นอาการ MIS-C ให้รีบพาเด็กไปพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการอย่างละเอียดและรับการรักษาที่เหมาะสม เด็กส่วนใหญ่ที่มีอาการ MIS-C จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือหากอาการรุนแรงอาจต้องเข้ารับการรักษาในหออภิบาลผู้ป่วยเด็กวิกฤติ หรือ ไอซียูเด็ก (PICU)

** MIS-C ถ้าทราบเร็วก็สามารถรักษาให้หาย และลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้... อ่านข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1660

โปรแกรมตรวจเช็คและฟื้นฟูสุขภาพหลังติดเชื้อ โควิด-19 สำหรับเด็กที่มีอายุ 1-13 ปี คลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/readpackage/31




 

Create Date : 10 ธันวาคม 2564   
Last Update : 10 ธันวาคม 2564 14:05:08 น.   
Counter : 633 Pageviews.  


อย่าให้ลูกขาดวิตามิน D ถ้าต้องการให้เด็กสุขภาพดีจากภายใน



อย่าให้ลูกขาดวิตามิน D ถ้าต้องการให้เด็กสุขภาพดีจากภายใน

อย่าให้ลูกขาดวิตามินดี ถ้าต้องการให้เด็กสุขภาพดีจากภายใน เพราะวิตามินดีมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็ก

วิตามินดี (Vitamin D) เป็นหนึ่งในสารอาหารที่จำเป็นมากสำหรับเด็ก โดยแหล่งวิตามินดีที่พบได้ง่ายที่สุดก็คือ “ แสงแดดอ่อนๆ ในยามเช้า ” ควรให้เด็กทำกิจกรรมที่ได้รับแสงแดดอย่างน้อย 15 นาที จำนวน 2-4 ครั้ง/สัปดาห์ ช่วงเวลาที่ไม่ร้อนจนเกินไป เช่น เวลาเช้า 6.00 - 8.00 น. หากเด็กขาดวิตามินดี ย่อมส่งผลต่อสุขภาพที่ไม่ดีนัก เพราะวิตามินดีมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ยับยั้งการสลายของกระดูก

ที่สำคัญ วิตามินดี ยังเป็นฮอร์โมนประเภทหนึ่ง ที่มีส่วนช่วยในการสร้างและควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน กระตุ้นการผลิตอินซูลิน ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเซลล์ และยังมีส่วนช่วยให้ร่างกายสามารถป้องกันการติดเชื้อ และการเกิดโรคบางโรคได้

เด็กที่ขาดวิตามินดี จะส่งผลต่อกระดูกและกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อน (rickets) อาจพบภาวะกระหม่อมปิดช้า กระโหลกนิ่ม ฟันขึ้นช้า ฝันผุง่าย กระดูกข้อมือ แขนขา ผิดรูป ตัวเตี้ยไม่สมส่วน ในเด็กเล็กอาจมีพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ล่าช้า เด็กโตอาจมีอาการปวดกระดูกและกล้ามเนื้อ

การขาดวิตามินดียังส่งผลต่อระบบอื่นๆ เช่น ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนได้ง่าย และภูมิแพ้ต่างๆ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 น้ำตาลในเลือดสูง และกลุ่มอาการเมตาบอลิก (โรคอ้วนลงพุง) ถ้าขาดวิตามินดีรุนแรงอาจมีอาการของแคลเซียมในเลือดต่ำได้ เช่น ชักเกร็ง เป็นตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง หยุดหายใจ หรือกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมได้

จะเห็นได้ว่าวิตามินดีเป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพกระดูกและพัฒนาการโดยรวมของเด็ก เด็กทุกคนจึงควรได้รับวิตามินดีในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ แข็งแรงสมวัยและห่างไกลจากโรคต่างๆ นอกจากแสงแดดอ่อนๆ ในยามเช้าแล้ว ยังมีอาหารหลายอย่างที่อุดมไปด้วยวิตามินดี เช่น เนื้อสัตว์ ตับ ไข่แดง นมและผลิตภัณฑ์จากนม น้ำมันตับปลา ปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า

หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยในการเลือกอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดีให้ลูก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ หรือหากสังเกตเห็นสัญญาณของการขาดวิตามินดีในเด็ก ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันทีเพื่อจะได้รับการแก้ไขได้ทันเวลา




 

Create Date : 09 ธันวาคม 2564   
Last Update : 9 ธันวาคม 2564 10:53:12 น.   
Counter : 875 Pageviews.  


ดื่มแอลกอฮอล์ช่วยคลายหนาว... ได้จริงหรือ?




ดื่มแอลกอฮอล์ช่วยคลายหนาว... ได้จริงหรือ?
 


ตอบเลยว่าไม่จริง!.

ความเชื่อเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงอากาศหนาวจะช่วยให้ร่างกายของเราอบอุ่นได้นั้น เป็นเรื่องที่ถูกบอกกันมาปากต่อปากซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดแถมยังส่งผลร้ายต่อร่างกายอีกด้วย เพราะการที่เราดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ช่วยทำให้ร่างกายของเราอบอุ่นและคลายหนาวเย็นได้แต่ประการใด แต่การดื่มแอลกอฮอล์ ยิ่งจะทำให้เราสูญเสียความร้อน
 


เพราะว่าเวลาที่เราดื่มแอลกอฮอล์ หลอดเลือดฝอยที่อยู่ในภายใต้ผิวหนังจะเกิดการขยายตัวอย่างมากเพื่อให้ความร้อนในร่างกายถูกระบายออกมาได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เมื่อความร้อนในร่างกายถูกขับออกมามากเท่าไร ก็ย่อมจะทำให้อุณหภูมิในร่างกายของเราต่ำลงมากกว่าปกติ ยิ่งเราดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้อุณหภูมิในร่างกายต่ำลงมาก เมื่อเราหลับร่างกายที่โดนความเย็นมากๆ ก็อาจจะทำให้เราเสียชีวิตได้

นอกจากนี้อากาศที่หนาวเย็นยังส่งผลให้หัวใจของเราเต้นผิดปกติ อีกทั้งร่างกายของเรามีความจำเป็นที่จะต้องใช้ออกซิเจนมากยิ่งขึ้นด้วย จึงทำให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจหรือมีโรคประจำตัวต่างๆ ต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี เตรียมยาที่ต้องทานให้พร้อมและรักษาร่างกายให้อบอุ่นมากขึ้น
 


การดูแลตัวเองในช่วงหน้าหนาวนั้นแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ สวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ หรือเสื้อกันหนาว เพื่อให้ร่างกายของเราอบอุ่น ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ 




 

Create Date : 03 ธันวาคม 2564   
Last Update : 3 ธันวาคม 2564 13:25:05 น.   
Counter : 416 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com