นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

ตรวจตับ แบบไม่เจ็บ ด้วย Liver Scan แทนเจาะตรวจตับ

 

ตรวจตับ แบบไม่เจ็บ ด้วย Liver Scan แทนเจาะตรวจตับ

ตับฟื้นฟูได้ พักตับ ครบพรรษา 3 เดือน พิสูจน์กัน ตรวจตับ แบบไม่เจ็บ ด้วย Liver Scan แทนเจาะตรวจตับ

ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบัน เราสามารถตรวจสุขภาพตับได้ละเอียดมากขึ้น ด้วยอุปกรณ์ที่มีลักษณะเหมือนเครื่องอัลตร้าซาวด์ เข้ามาทดแทนการเจาะตรวจชิ้นเนื้อตับ ทำให้สามารถที่จะตรวจวัดปริมาณไขมันในตับและพังผืดในตับได้พร้อมกัน โดยที่ไม่ต้องมีความเสี่ยงจากการโดนเจาะตับ แล้วก็ไม่เจ็บตัว

ใครควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตับ

  • ผู้ป่วยที่มีภาวะตับอักเสบเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี หรือตับอักเสบซี
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีไขมันพอกตับอยู่แล้ว ควรมาตรวจเพื่อประเมินภาวการณ์เกิดพังผืดในตับ
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการมีไขมันพอกตับโดยไม่รู้ตัว เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรืออ้วนลงพุง
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

ภาวะไขมันพอกตับ เริ่มมีพังผืดในตับ หรือแม้แต่เป็นตับแข็งในระยะแรก ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่มีอาการอะไรเลย ซึ่งกว่าโรคจะดำเนินเข้าสู่ระยะตับแข็งที่มีอาการ อาจใช้เวลานาน 5-10 ปี ถ้าผู้ป่วยมีอาการเกิดขึ้น นั่นแปลว่าการทำงานของตับเสียไปมากแล้ว

อาการของโรคตับแข็ง เช่น มีอาการท้องบวมจากการที่มีน้ำในช่องท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง อาเจียนเป็นเลือด หรือแม้กระทั่งเป็นมะเร็งตับ ถ้าเกิดว่าผู้ป่วยมีอาการแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตภายใน 1-2 ปีแรกค่อนข้างสูง

จะดีกว่าไหมถ้าเราตรวจหากลุ่มเสี่ยง หรือคนที่ยังไม่มีอาการในระยะเริ่มแรก เพื่อเข้ารับการักษาที่เหมาะสมสามารถลดปริมาณไขมันในตับ หรือแม้แต่ลดการมีพังผืดในตับได้ เป็นการชะลอหรือป้องกันไม่ให้โรคดำเนินไปสู่ภาวะตับแข็งที่มีอาการ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตและป้องกันการเกิดมะเร็งตับได้
 




 

Create Date : 17 ตุลาคม 2565   
Last Update : 7 ธันวาคม 2565 13:58:00 น.   
Counter : 312 Pageviews.  


ออกกำลังกาย แต่ทำไม?.. น้ำหนักถึงไม่ลด


 


ออกกำลังกาย แต่ทำไม?.. น้ำหนักถึงไม่ลด

การมีสุขภาพที่ดี ส่วนหนึ่งก็มาจากการออกกำลังกายควบคู่กับการทานอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ ซึ่งคนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือมีรูปร่างอ้วนมักจะทำทั้ง 2 สิ่งนี้เพื่อให้มีรูปร่างที่ดีขึ้น แต่ก็มีบางคนที่น้ำหนักไม่ลดทั้งๆ ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นั่นอาจมาจากพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่เหมาะสมอยู่ก็ได้ทำไม? ออกกำลังกายแล้วน้ำหนักถึงไม่ลดมาดูกันครับ...
 


 

  • กินโปรตีนไม่เพียงพอ โปรตีนเป็นหนึ่งในสารอาหารที่ช่วยในการลดน้ำหนัก เนื่องจากการทานอาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมันไม่ติดหนัง ปลา หรือ พืชจำพวกถั่ว จะช่วยลดความอยากอาหาร นอกจากนี้ยังช่วยในการลดมวลไขมัน เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ส่งผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ช่วยให้น้ำหนักลดลงได้
     
  • ไม่ลดการกินอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารสำคัญของร่างกาย เพื่อใช้เป็นพลังงานในการทำกิจกรรมระหว่างวัน หากไม่จำกัดปริมาณการทานคาร์โบไฮเดรตที่มีน้ำตาลสูงก็อาจส่งผลให้น้ำหนักขึ้นได้ จึงควรเลือกทานคาร์โบไฮเดรตประเภทที่มีใยอาหารสูงและมีน้ำตาลน้อย เช่น ธัญพืชเต็มเมล็ด ข้าวไม่ขัดสี ผักและผลไม้ พืชตระกูลถั่ว เมล็ดพืช เพื่อช่วยในการควบคุมน้ำหนัก รวมถึงช่วยให้อิ่มได้นานขึ้นอีกด้วย
     
  • กินอาหารที่มีแคลอรี่มากเกินไป ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ต้องควบคุมปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับต่อวันให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย หากทานอาหารที่มีแคลอรี่สูงเกินไป ร่างกายจะไม่สามารถเผาผลาญได้หมด ยิ่งไปกว่านั้นคืออาจสะสมเป็นไขมัน ทำให้น้ำหนักขึ้นได้ โดยควรได้รับพลังงานไม่น้อยกว่า 1,600-1,800 แคลอรี่ และไม่เกิน 2,000 แคลอรี่ต่อวัน
     
  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม นมรสหวาน น้ำผลไม้ผสมน้ำตาล ฯลฯ ซึ่งการทานอาหารประเภทนี้เป็นสาเหตุของการทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นก่อนทานควรอ่านฉลากตรวจสอบปริมาณน้ำตาลเพื่อเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
     
  • ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางประเภทที่มีปริมาณแคลอรี่สูง เช่น เหล้าผลไม้ สุรากลั่น ไวน์ เบียร์ หากดื่มมากเกินไปอาจมีส่วนทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้
     
  • กินอาหารขยะ อาหารขยะหรือ Junk Food เป็นอาหารที่เต็มไปด้วยแป้ง น้ำตาล ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์และโซเดียม ในปริมาณมาก เช่น น้ำอัดลม ของหวาน อาหารทอด ขนมคบเคี้ยว ขนมปังกรอบ หากทานมากอาจส่งผลต่อการสะสมของไขมันและการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวได้
     
  • กินอาหารอย่างไม่มีสติ การทานอาหารอย่างมีสติมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก การทานแบบจดจ่อจะช่วยให้กินอาหาได้ช้าลง รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ดังนั้น จึงควรทานอาหารโดยไม่มีสิ่งรบกวน เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นเกมส์ ดูมือถือ และควรรทานอาหารให้ช้าลง เคี้ยวให้ละเอียดมากขึ้น เมื่อรู้สึกอิ่มให้ดื่มน้ำและหยุดทานทันที
     


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไม? ออกกำลังกายแล้วน้ำหนักถึงไม่ลดซะที ซึ่งใครที่มีพฤติกรรมเหล่านี้อยู่ แนะนำให้รีบเปลี่ยนตัวเองซะใหม่ เพื่อสุขภาพดีในอนาคต แถมยังช่วยให้รูปร่างของเราดูสมส่วนขึ้นอีกด้วยครับ 
 

 

สายด่วนสุขภาพโทร 0 2743 9999 ต่อ 2999
Line Official : https://lin.ee/dED0pj2




 

Create Date : 12 ตุลาคม 2565   
Last Update : 12 ตุลาคม 2565 14:04:33 น.   
Counter : 455 Pageviews.  


“กระดูกพรุน” หรือไม่ รู้ได้จากการ “ตรวจมวลกระดูก”

 


“กระดูกพรุน” หรือไม่ รู้ได้จากการ “ตรวจมวลกระดูก”

กระดูกพรุน คือภาวะที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลง ส่งผลให้กระดูกขาดความแข็งแรง กระดูกแตกหักได้ง่ายแม้เกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย อีกทั้งไม่มีอาการเตือนล่วงหน้าใดๆ จะรู้ตัวว่ากระดูกพรุนก็เมื่อกระดูกหักไปแล้ว และที่สำคัญกระดูกพรุนไม่ได้เป็นแค่โรคของผู้สูงอายุเท่านั้น เพราะอายุน้อยๆ ก็เป็นได้ ถ้าดูแลไม่ดี

ดังนั้นใครที่ไม่แน่ใจว่าตอนนี้กระดูกกำลังสุ่มเสี่ยงที่จะพรุนหรือยังแข็งแรงดี การตรวจคัดกรองภาวะกระดูกพรุนจะช่วยให้รู้ทันความเสี่ยง สามารถป้องกันหรือรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และลดอาการแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้

การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก (Bone Densitometry) เป็นวิธีการตรวจที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะช่วยให้ทราบว่าสุขภาพของกระดูกมีความแข็งแรงระดับใด และมีภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ โดยการใช้รังสี X-ray พลังงานต่ำสะท้อนภาพเนื้อเยื่อกระดูก ทราบผลการตรวจอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัย

ใครบ้าง?.. ควรตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก

  • ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน, ประจำเดือนหมดก่อนอายุ 45 ปี หรือถูกตัดรังไข่ทั้งสองข้าง
  • ผู้ชายอายุยังไม่ถึง 50 ปี ที่มีภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย
  • มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่ต้องทานยาต่อเนื่องนาน เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต โรครูมาตอยด์ ฯลฯ
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • ไม่ค่อยโดนแดด ทำให้ขาดวิตามินดี
  • น้ำหนักตัวน้อยจากการขาดอาหาร โดยเฉพาะแคลเซียมและวิตามินดี
  • สูบบุหรี่, ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นประจำ

หากตรวจแล้วพบว่ามีความเสี่ยง แพทย์จะให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองและทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ นอกจากนี้การเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่อายุยังน้อยก็สำคัญไม่แพ้กัน ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงยาที่ทำลายกระดูก ออกกำลังกายและรับแสงแดดเป็นประจำ

** ไลฟ์สไตล์ของคนปัจจุบันอาจทำให้ได้รับวิตามินดีจากแสงแดดได้ไม่เพียงพอ (วิตามินดีช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม) จึงควรต้องตรวจเช็คและรับวิตามินดีเสริมโดยแพทย์เพิ่มเติมด้วย…

“วิตามินดี” ดีอย่างไร? คลิกอ่าน >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/289




 

Create Date : 10 ตุลาคม 2565   
Last Update : 10 ตุลาคม 2565 11:00:30 น.   
Counter : 370 Pageviews.  


แค่อ้วนลงพุง หรือเป็นเพราะคุณมี “เนื้องอกรังไข่”


 

แค่อ้วนลงพุง หรือเป็นเพราะคุณมี “เนื้องอกรังไข่”

"เนื้องอกรังไข่" เป็นอีกหนึ่งโรคที่คุณผู้หญิงควรต้องรู้จักและเฝ้าสังเกตให้มาก เพราะมันสามารถพบเจอได้ในทุกวัย และถ้าปล่อยไว้ให้มันเติบโตโดยไม่รู้ตัว อาจส่งผลกระทบกับการทำงานของร่างกายและไม่แน่ว่า เจ้าเนื้องอกนั้นอาจกลายร่างเป็นมะเร็งได้ในที่สุด
 


ซึ่งเนื้องอกสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งชนิดเนื้องอกธรรมดา มีทั้งที่เป็นถุงน้ำหรือซีสต์ในรังไข่ และเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งรังไข่ โดยอาจมีสัญญาณเตือนจากอาการผิดปกติได้เช่น

  • ปวดท้องประจำเดือน
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ
  • ปกติปัสสาวะบ่อย (อาจเกิดจากที่ก้อนกดทับกระเพาะปัสสาวะ)
  • ท้องผูก หรือถ่ายลำบาก (อาจเกิดจากที่ก้อนกดทับลำไส้ใหญ่และอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ)
  • บางคนอาจมีท้องโตผิดปกติ
     


โดยขนาดของก้อนเนื้องอกมีโอกาสใหญ่ขึ้นจนทำให้หน้าท้องของเราเหมือนคนท้อง หรือคนอ้วนได้ ดังนั้นถ้าเรามีพุงออก พุงยื่น อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจว่าตัวเองอ้วน แต่ให้ลองทดสอบด้วยวิธีดังนี้

  • นอนราบลงกับพื้น แล้วสังเกตดูหน้าท้องถ้าท้องหรือพุงยังป่องอยู่ นั่นอาจผิดปกติแล้วล่ะ
     
  • เวลาที่ปวดปัสสาวะ น้ำปัสสาวะจะดันก้อนเนื้องอกให้ลอยสูงติดหน้าท้อง ทำให้รู้สึกว่าแน่นท้อง ถ้ารู้สึกว่าแน่นท้องมากผิดปกติ ให้ลองคลำตรงจุดที่ป่องดู ถ้าเป็นก้อนๆ ต้องรีบไปปรึกษาหมอแล้ว

เนื้องอกรังไข่อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวหลายคนไม่ใส่ใจเพราะคิดว่าแต่งงานมีลูกแล้วก็รอดไป แต่จริงๆ แล้วก็มีสิทธิ์เป็นได้เหมือนกัน แค่น้อยกว่าคนโสดเท่านั้นเอง
 

ดังนั้นเราจึงต้องหมั่นสังเกตร่างกายตัวเองสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติหรือสงสัยว่าจะเกิดโรค ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านสูติ-นรีเวช เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม... แค่จับๆ คลำๆ หาก้อนเนื้อดูทุกวันคงไม่ลำบากเกินไปจริงไหมครับสาวๆๆ...


“เนื้องอกรังไข่”อ่านข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/669





 

Create Date : 07 ตุลาคม 2565   
Last Update : 7 ตุลาคม 2565 10:48:01 น.   
Counter : 853 Pageviews.  


อายุน้อยก็เป็นได้ Check List คุณเสี่ยง “ข้อเข่าเสื่อม” หรือไม่?

 


อายุน้อยก็เป็นได้ Check List คุณเสี่ยง “ข้อเข่าเสื่อม” หรือไม่?

ข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากการที่กระดูกอ่อนผิวข้อต่อของเข่าสึกกร่อนและถูกทำลายลง จากการใช้งานมาเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปวดข้อเข่าในผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตามโรคนี้ไม่ได้เกิดในผู้สูงวัยเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย หากมีการใช้งานข้อเข่าไม่ถูกต้องหรือใช้งานหนักมากเกินไป เพราะเข่าถือเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้รองรับน้ำหนักตัว ทั้งการยืน การเดิน การวิ่งนอกจากนี้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคข้อเรื้อรังอย่างเช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ ผู้ที่เคยเกิดอุบัติเหตุที่ข้อเข่า หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะก็สามารถเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมตั้งแต่อายุยังไม่มากได้เช่นเดียวกัน

คุณเสี่ยง “ข้อเข่าเสื่อม” หรือไม่?... มาดูกัน!

  • อายุ 40 ปีขึ้นไป
  • น้ำหนักตัวมาก (ค่า BMI > 25)
  • ทำงานที่ต้องเดินตลอดเวลา
  • เข่ายืด ฝืด หรืองอลำบาก
  • มีเสียงกร๊อบแกร๊บที่เข่าขณะเคลื่อนไหว
  • ปวดเจ็บแปลบๆ ที่ข้อเข่า เวลาเดินหรือลงบันได
  • ปวดข้อเข่าขณะลุกนั่ง
  • ขาโกง งอผิดรูป เดินโยกตัว

** ใครที่มีอาการเกิน 3 ข้อขึ้นไป คุณอาจเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม**

ลองสังเกตตัวเองหรือคนใกล้ตัวดูนะครับว่า มีอาการต่างๆ เหล่านี้หรือไม่ หากมีอาการเสี่ยงข้อเข่าเสื่อม ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคกระดูกและข้อ เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะข้อเข่าเป็นอวัยวะสำคัญที่รองรับการทรงตัว หากปล่อยทิ้งไว้จนข้อเข่าเสื่อมรุนแรงอาจทำให้เดินไม่ได้และมีความเจ็บปวดรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

"โรคข้อเข่าเสื่อม" และ "การดูแลตัวเองเมื่อเป็นข้อเข่าเสื่อม" อ่านข้อมูลเพิ่มเติม https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/281




 

Create Date : 05 ตุลาคม 2565   
Last Update : 5 ตุลาคม 2565 10:35:25 น.   
Counter : 475 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com