นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

วัยทำงานก็เสี่ยงเป็น "อัลไซเมอร์" ได้

 

วัยทำงานก็เสี่ยงเป็น "อัลไซเมอร์" ได้

ช่วงนี้ใครที่ชอบหลงๆ ลืมๆ อย่างเช่น ลืมว่าเซฟงานไว้ที่ไหน ลืมกุญแจบ้าน ลืมว่าออกจากบ้านมาแล้วปิดไฟหรือยัง เมื่อตะกี๊ได้สแกนนิ้วเข้างานหรือเปล่า หากคุณลืมอยู่บ่อยครั้ง หรือต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าต้องทำอะไร ทำไปแล้วหรือยัง นั่นอาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกอาการโรค “อัลไซเมอร์” อยู่ก็ได้

ส่วนมากเราจะคิดว่าโรคอัลไซเมอร์เป็นเรื่องไกลตัวจะเกิดเฉพาะคนสูงอายุเท่านั้น แต่จากสถิติของผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ เกือบครึ่งเป็นคนวัยทำงาน...

🔹โรคนี้เกิดจากเซลล์ประสาทในสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับความจำ เส้นเลือดที่นำอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองค่อยๆ เสื่อมลง ทำให้เซลล์สมองตายไปทีละน้อยๆ ปริมาณของสารที่ทำหน้าที่ส่งผ่านคลื่นสมองลดลง ทำให้ความจำค่อยๆ เสื่อม ขาดความคิดอ่าน การรับรู้เหตุผล และในที่สุดถึงขั้นไม่รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

สาเหตุที่คนในวัยทำงานเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ ก็เพราะพฤติกรรมบ้างาน มักนั่งทำงานอยู่กับที่เป็นเวลานานและมีความเครียด มีโรคประจำตัว เบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิตสูง และกว่าครึ่งเป็นโรคอ้วน ซึ่งนี้ล้วนเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ทั้งสิ้น...งั้นมาลองสำรวจดูว่าคุณมีอาการเข้าข่ายอัลไซเมอร์หรือป่าว เช่น

* ความจำมีปัญหา หลงๆ ลืมๆ
* มีปัญหาเรื่องตัวเลขและการคำนวณ
* มักจะคิดคำพูดไม่ออก จนต้องใช้ภาษามือ
* วางของผิดที่ผิดทางแล้วจำไม่ได้
* มีปัญหาเรื่องการวางแผน เช่น การเดินทางหรือใส่เสื้อผ้า
* สับสนเรื่องเวลา สถานที่

📌 ดังนั้นหากสำรวจตัวเองแล้วพบว่ามีอาการตามที่กล่าวมาหลายข้อหรือสงสัยว่าอาจเป็นอัลไซเมอร์ ก็ควรรีบไปพบแพทย์ด้านระบบประสาทเพื่อตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดและรักษาอย่างทันท่วงทีตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงรับคำแนะนำวิธีการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง ก็จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอนครับ...




 

Create Date : 18 พฤษภาคม 2564   
Last Update : 18 พฤษภาคม 2564 10:05:58 น.   
Counter : 745 Pageviews.  


จำเป็นต้องใส่ “หน้ากากสองชั้น” เพื่อป้องกันโควิด-19 หรือไม่?



😷 จำเป็นต้องใส่ “หน้ากากสองชั้น” เพื่อป้องกันโควิด-19 หรือไม่?

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าหน้ากากอนามัยปกติสามารถป้องกันเชื้อไวรัสจากละอองฝอยน้ำลายของผู้ที่ติดเชื้อได้มากถึง 95% แต่ต้องสวมใส่อย่างถูกวิธี โดยให้ขอบหน้ากากแนบสนิทกับใบหน้าลดช่องว่างให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะบริเวณข้างแก้มและจมูก เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกัน โดยไม่จำเป็นต้องสวมทับสองชั้น แต่หากสวมหน้ากากอนามัยไม่ถูกวิธี หรือมีช่องว่างระหว่างหน้ากากกับใบหน้า จะทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อลดลงเหลือเพียง 41.3% เท่านั้น

แต่หากจำเป็นต้องอยู่ในสถานที่แออัดนาน เช่น รถตู้โดยสาร หรืออยู่ในที่ที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้อย่างน้อย 1 เมตร หรืออยู่ในที่ที่มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับผู้เสี่ยงสูง การสวมหน้ากากสองชั้นจึงจะเป็นทางเลือก แต่ย้ำว่าต้องสวมใส่ให้ถูกวิธี โดยให้สวมหน้ากากอนามัยไว้ชั้นแรก แล้วสวมทับด้วยหน้ากากผ้า จะช่วยเพิ่มความกระชับสามารถกรองเชื้อโรคได้มากขึ้น และให้ตรวจสอบว่าหายใจได้สะดวกหรือไม่

❌ ทั้งนี้การสวมหน้ากากแบบผิดประเภท เช่น สวมหน้ากากอนามัยซ้อนกัน 2 ชั้น, สวมหน้ากาก N95 ก่อนแล้วสวมทับด้วยหน้ากากอื่นๆ หรือสวมหน้ากากผ้าก่อนแล้วสวมทับด้วยหน้ากากอนามัย นอกจากจะไม่ช่วยเรื่องประสิทธิภาพการป้องกันแล้ว ยังอาจส่งผลให้ผู้สวมใส่อึดอัด หายใจไม่ออก และอาจเป็นลมได้

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข




 

Create Date : 14 พฤษภาคม 2564   
Last Update : 18 พฤษภาคม 2564 10:06:34 น.   
Counter : 682 Pageviews.  


“นอนกรน-หยุดหายใจในเด็ก” มีผลต่อพัฒนาการอาจถึงเสียชีวิต !!


“นอนกรน-หยุดหายใจในเด็ก” มีผลต่อพัฒนาการอาจถึงเสียชีวิต !!

ลูกนอนกรนแบบไหนที่ต้องพาไปพบแพทย์ ?

คุณพ่อคุณแม่ อาจเคยได้ยินเสียงกรนของลูกในยามค่ำคืน แต่อาจไม่เคยรู้เลยว่าลูกมีโรคซึ่งทำให้เกิด “ภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น” จนทำให้ถึงกับหยุดหายใจและพอหยุดหายใจก็จะเกิดภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรัง ที่ส่งผลให้ลูกน้อยมีโรคตามมาได้หลายอย่าง...!!

สาเหตุที่เจอบ่อยที่สุดเกิดจากต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โต ซึ่งทางเดินหายใจส่วนบนของเด็กจะมีขนาดเล็ก ในขณะที่ต่อมเหล่านี้ถ้าโตขึ้นมันก็จะไปขวางทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้หยุดหายใจแล้วก็ขาดออกซิเจน

สาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ก็คือ โรคทางด้านภูมิแพ้ทางจมูก, ไซนัสอักเสบ, มีความผิดปกติของจมูก เช่น ผนังจมูกคด ซึ่งมักจะเกิดร่วมกับเยื่อบุจมูกบวมโต โดยช่วงอายุที่พบได้บ่อยที่สุดจะอยู่ที่ 2-8 ขวบ เพราะในช่วงที่ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนจะเป็นจังหวะที่ทำให้เกิดการอักเสบทำให้ต่อมน้ำเหลืองในช่องคอโตขึ้น หรือเด็กอาจจะมีลักษณะของโครงสร้างกะโหลกศีรษะและใบหน้าผิดปกติ, เด็กเป็นโรคอ้วนหรือโรคความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มดาวน์ซินโดรม

วิธีสังเกตว่าลูกนอนกรนหรือไม่?
อาการของโรคนอนกรนแล้วหยุดหายใจในเด็ก ส่วนใหญ่เวลาเด็กนอนหลับเขาจะนอนกระสับกระส่ายไปมาหาท่าที่ทำให้หลับสบาย เด็กบางคนจะหายใจทางปากทำให้เด็กตื่นขึ้นมาแล้วปากคอแห้ง ถ้านอนกรนแบบยาวเรื้อรังแบบนี้ไปเรื่อยๆ ลักษณะใบหน้าของเขาจะผิดรูป เพราะหายใจทางปากตลอดเวลาส่งผลให้ใบหน้าแหลม ฟันยื่น และบางคนอาจปัสสาวะรดที่นอน โดยเด็กอาจจะมีความผิดปกติในด้านการเจริญเติบโต เพราะโกรทฮอร์โมนหลั่งขณะหลับจึงส่งผลได้หลายแบบ เช่น เด็กอาจซนผิดปกติ, ตัวเล็กกว่าเพื่อน หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นเรื้อรังไปเรื่อยๆ เด็กก็อาจจะมีปัญหาขาดสารอาหาร, การเรียนแย่ลง และมีผลทางด้านหัวใจและความดันโลหิตผิดปกติตามมาได้

ลูกนอนกรนต้องทำอย่างไร?
คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองควรเฝ้าดูตอนที่เด็กนอนหลับ เพื่อจะได้สังเกตว่าหลับแล้วเขาหยุดหายใจหรือไม่ เขานอนกระสับกระส่ายหรือไม่ หรือหยุดหายใจจนปากเขียวหรือไม่ หรืออาจมีการหายใจทางปากตลอดเวลาจนใบหน้าผิดรูป หรือเด็กบางคนอาจจะมีลักษณะปัสสาวะรดที่นอนบ่อย หรือเด็กก็อาจตัวเล็ก อีกอย่างคือเวลาไปโรงเรียนแล้วคุณครูแจ้งมาว่าซนผิดปกติ, มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือการเรียนแย่ลง ก็ต้องเก็บข้อมูลมาให้ครบ เพื่อจะได้เป็นข้อมูลให้คุณหมอวินิจฉัย เพราะส่วนใหญ่แล้วจะซักประวัติจากพ่อแม่ก่อนที่จะให้ชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูง และประเมินภาวะโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวน้อยผิดปกติ

ลูกนอนกรน รักษาอย่างไร?
แพทย์ด้านคอหูจมูกจะทำการตรวจช่องคอ ดูต่อมทอนซิล ต่อมอะดีนอยด์ รวมทั้งตรวจจมูกว่ามีโครงร่างผิดปกติหรือไม่ โดยอาจจะต้องเอกซเรย์เพื่อประเมินภาวะที่อาจมีต่อมอะดีนอยด์มาขวางทางเดินหายใจ ซึ่งถ้าพบว่าเป็นแบบนั้น ก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอาออกทั้ง 2 ต่อม ซึ่งจะได้ผลการรักษาที่ดีประมาณ 78 - 100%

ส่วนถ้าเด็กมีโรคอื่นร่วมด้วยเช่น “ภูมิแพ้” ก็อาจรักษาโดยใช้ยาพ่นจมูกประมาณ 3 เดือน ให้ยาที่จะช่วยในเรื่องของการกรน พวกยารักษาโรคภูมิแพ้กลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านลิวโคไตรอีน (antileukotrienes) อีกวิธีคือรักษาภาวะอักเสบติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนควบคู่ไปพร้อมกับรักษาโรคนอนกรน จึงจะทำให้ภาวะนอนกรนหยุดหายใจดีขึ้น 

โรคนอนกรนแล้วหยุดหายใจในเด็กเป็นโรคที่ใช่ว่าจะหายยาก เพียงแต่ต้องอาศัยความสังเกตของพ่อแม่แล้วก็รักษาให้หายได้เพื่อไม่ให้เกิดภาวะนอนกรนแล้วหยุดหายใจ ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการของเด็กและส่งผลถึงอนาคตที่ไม่ใช่แค่เพียงในแง่การเรียนเท่านั้น แต่อาจไปถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน ถ้าไม่รีบรักษา




 

Create Date : 12 พฤษภาคม 2564   
Last Update : 12 พฤษภาคม 2564 11:41:12 น.   
Counter : 561 Pageviews.  


อย่ารอจนสาย 80% กลุ่มเสี่ยง "หลอดเลือดสมอง" ป้องกันได้

 

อย่ารอจนสาย 80% กลุ่มเสี่ยง "หลอดเลือดสมอง" ป้องกันได้

โรคหลอดเลือดสมอง ถือเป็นภาวะความผิดปกติทางสมองที่ก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรง และอาจอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งมีสถิติระบุว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจ

แต่เราสามารถรู้ทันความผิดปกตินี้ได้ด้วยการตรวจอัลตร้าซาวด์หลอดเลือด Carotid Duplex Ultrasounds ซึ่งเป็นการตรวจหลอดเลือดใหญ่ที่คอ ที่ไปเลี้ยงสมองส่วนหน้าและหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนหลังด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อดูการไหลเวียนของเลือดและดูว่ามีคราบหินปูน มีไขมัน เกาะอยู่ภายในหลอดเลือดหรือไม่ เพราะหากคราบต่างๆ เหล่านี้เกาะอยู่สะสมไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดการหนาตัวมากขึ้น ทำให้หลอดเลือดที่ขึ้นไปเลี้ยงสมองเกิดการตีบหรืออุดตัน เลือดไหลเวียนไม่สะดวก

การตรวจ Carotid Duplex Ultrasounds เป็นการตรวจที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งยังมีความรวดเร็วและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการตรวจด้วยวิธีอื่น ผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บตัวและช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจนและวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพทันท่วงที

ดังนั้นแนะนำให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างเช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ตรวจอัลตร้าซาวด์หลอดเลือด Carotid Duplex Ultrasounds เป็นประจำทุกปีเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมองที่อาจเกิดขึ้นได้...

โรคหลอดเลือดสมองสาเหตุอัมพฤกษ์ อัมพาต อ่านข้อมูลเพิ่มเติม https://ram-hosp.co.th/news_detail/222




 

Create Date : 10 พฤษภาคม 2564   
Last Update : 10 พฤษภาคม 2564 10:59:57 น.   
Counter : 701 Pageviews.  


7 สัญญาณเตือน อาการเบาหวานถามหา


 
 

7 สัญญาณเตือน อาการเบาหวานถามหา

โรคเบาหวานเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ และอาจเป็นโรคที่ใกล้ตัวสำหรับใครหลายๆ คน เพราะปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

แล้วจะรู้ได้อย่างไร? ว่าเรามีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ลองสังเกตอาการของตัวเองดูนะครับว่า มีอาการแปลกๆ แบบนี้กันบ้างหรือเปล่า...

  • หิวน้ำบ่อย กระหายน้ำมากกว่าปกติ
  • เบื่ออาหาร ทานได้น้อยลงกว่าปกติ
  • น้ำหนักลดโดยไม่รู้สาเหตุ
  • ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน
  • รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลียไม่มีแรง
  • ชาตามปลายมือ ปลายเท้า
  • เป็นแผลแล้วหายช้ากว่าปกติ

ถ้ามีอาการแปลกๆ แบบนี้แล้วหล่ะก็! เราอาจจะกำลังเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานก็ได้นะครับ แนะนำให้รีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจให้แน่ใจว่าเราเป็นโรคเบาหวานหรือเปล่าจะดีที่สุดครับ เพื่อจะได้รับการรักษาที่ถูกวิธีต่อไปนั่นเอง




 

Create Date : 06 พฤษภาคม 2564   
Last Update : 6 พฤษภาคม 2564 16:27:24 น.   
Counter : 610 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com