นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

"ผู้ป่วยเบาหวาน" กับการดูแลตัวเอง ช่วง COVID-19 ระบาด


"ผู้ป่วยเบาหวาน" กับการดูแลตัวเอง ช่วง COVID-19 ระบาด

"โรคเบาหวาน" เป็นหนึ่งในโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนง่ายที่สุด ยิ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ป่วยเบาหวานจึงจำเป็นต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุด เพราะผู้ป่วยเบาหวานจะมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนปกติ อีกทั้งเชื้อไวรัสจะเจริญเติบโตได้ดีในภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เมื่อติดเชื้อโควิด-19 จึงทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการรุนแรงกว่าคนอื่นๆ หรือมีโอกาสที่จะเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน

👉 ดังนั้นการป้องกันและระมัดระวังตัวเองไม่ให้ติดเชื้อจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ สามารถทำได้ด้วยการเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ สวมใส่หน้ากากอนามัย ไม่ใช้ของใช้ร่วมกับคนอื่น ไม่ไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือที่มีคนอยู่เยอะๆ เลี่ยงการเดินทางด้วยรถโดยสารที่แออัด นอกจากนี้การเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน

☑️ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทาน
☑️ หมั่นตรวจเช็คและตั้งใจควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีขึ้น
☑️ หากมีอาการไข้สูง ไอ จาม หรือหายใจลำบากมีเสมหะ ควรรีบไปพบแพทย์
☑️ ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพราะการติดเชื้อทุกชนิดสามารถเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดและทำให้ร่างกายขาดน้ำได้
☑️ เช็คดูว่ายารักษาเบาหวานที่ทานประจำมีเพียงพอหรือไม่ หากต้องกักตัวอยู่บ้าน 2-3 สัปดาห์
☑️ สำรองอาหารประเภทน้ำตาลให้เพียงพอ สำหรับแก้ไขภาวะน้ำตาลต่ำได้ทันที
☑️ ถ้าอยู่บ้านคนเดียว ควรมีเบอร์ติดต่อคนที่ไว้ใจและมั่นใจได้ว่าจะช่วยเหลือคุณได้หากจำเป็น หรือเบอร์โรงพยาบาลที่รักษาอยู่ประจำ

** ที่สำคัญที่สุด คือผู้ป่วยเบาหวานต้องไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามการรักษา ทานยา ปฎิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด รวมถึงปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อขอรับคำแนะนำในการเข้ารับการฉีดวัคซีนโควีด-19




 

Create Date : 17 สิงหาคม 2564   
Last Update : 17 สิงหาคม 2564 11:22:47 น.   
Counter : 883 Pageviews.  


ไข้หวัดใหญ่กับคนไข้เบาหวาน อันตรายมากกว่าที่คิด

 

ทำไม? ผู้ป่วยเบาหวาน เป็นไข้หวัดใหญ่ถึงเสี่ยงเสียชีวิตได้

เหตุผลที่ทำให้ ผู้ป่วยเบาหวานเมื่อเป็นไข้หวัดมีโอกาสเสียชีวิตสูง นั่นก็เพราะเมื่อน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ก็จะเริ่มเข้าไปรบกวนการทำงานของเม็ดเลือดขาว ทำให้ความสามารถในการกำจัดเชื้อโรคของเม็ดเลือดขาวลดลง ส่งผลให้ ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไป และเมื่อเชื้อเริ่มลุกลาม ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนอย่างเช่น ปอดบวม หูอักเสบ ก็ยิ่งมีมากขึ้น จึงทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

องค์การอนามัยโลกและราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงได้แนะนำให้ ผู้ป่วยเบาหวานฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากไข้หวัดใหญ่

โดยประโยชน์ของวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีมากกว่าที่เราคิดเยอะเลยนะครับ เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้แล้ว ยังช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดการนอนโรงพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาและลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยเบาหวานลงได้อย่างมาก...

โรงพยาบาลรามคำแหงให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ชนิด 4 สายพันธุ์ ราคา 990 บาท ** รวมค่าแพทย์ ค่าบริการโรงพยาบาล และค่าเวชภัณฑ์แล้ว ราคานี้สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 13 ปี ขึ้นไป

ในช่วงนี้ที่สภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน และมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หมออยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างผู้ป่วยเบาหวาน อ่านข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/162




 

Create Date : 16 สิงหาคม 2564   
Last Update : 16 สิงหาคม 2564 10:46:21 น.   
Counter : 623 Pageviews.  


ติดโควิด-19 หลังฉีดวัคซีน เกิดขึ้นได้จริงหรือ?

 

ติดโควิด-19 หลังฉีดวัคซีน เกิดขึ้นได้จริงหรือ?


อยากทำความเข้าใจกันก่อนว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็เพื่อวัตถุประสงค์ 3 อย่าง ได้แก่ เพื่อลดอัตราป่วยและตาย (ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง) เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ (ฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์) และเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (ฉีดวัคซีนให้จังหวัดท่องเที่ยว) 


แต่สำหรับคนทั่วไปแล้วน่าจะมีความคาดหวังต่อการได้รับวัคซีน 3 ข้อ คือ

* ป้องกันการติดเชื้อ เมื่อฉีดวัคซีนแล้วคาดหวังว่าจะไม่ติดเชื้อ

* ลดความรุนแรงของโรค ถ้าป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ 100 % ก็ผ่อนหนักให้เป็นเบา ป้องกันอาการรุนแรงจนต้องนอนห้องไอซียู หรือถึงขั้นเสียชีวิต

* สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบแล้ว สำหรับคนส่วนน้อย เช่น ผู้ที่มีอายุไม่ถึงเกณฑ์ได้รับวัคซีนหรือมีข้อห้ามในการฉีด ก็จะได้รับการปกป้องไปด้วย
 


สำหรับวัคซีนส่วนใหญ่ที่ใช้ฉีดในบ้านเราตอนนี้มีอยู่ 2 ชนิด คือ Sinovacและ AstraZeneca สำหรับวัคซีน AstraZeneca มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 76% แต่ป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ 100% ขณะที่ผลทดลองทางคลินิกของวัคซีน Sinovac นั้น แตกต่างกันไปตามผลการทดลองของแต่ละประเทศดังนั้นการ “ติดโควิด-19 หลังฉีดวัคซีน” จึงสามารถเกิดขึ้นได้

การติดโควิด-19 หลังฉีดวัคซีน อาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นการติดเชื้อจากวัคซีนที่ฉีด แต่ความจริงเราไม่สามารถติดเชื้อจากวัคซีนที่ฉีดได้ เพราะเชื้อโควิด-19 ติดต่อผ่านสารคัดหลัง ผ่านทางเดินใจ ไม่ใช้การฉีดเข้ากล้ามเนื้อและวัคซีนที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ไม่มีเชื้อโควิด-19 ที่มีชีวิตเป็นส่วนประกอบยกตัวอย่าง

Sinovac เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย คือผลิตจากไวรัสที่เพาะเลี้ยงขึ้นมา แต่ทำให้ตายแล้วกลายเป็นชิ้นส่วนของไวรัส

 AstraZeneca เป็นวัคซีนชนิดเวกเตอร์ไวรัส (Viral Vector) คือ ตัดต่อสารพันธุกรรมบางส่วน ให้กับไวรัสอะดีโนที่ก่อโรคในลิงชิมแปนซี เพื่อเป็นพาหนะนำเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย จากนั้นร่างกายจะถอดรหัสออกมาเป็นโปรตีนหนาม (Spike Protein) ของไวรัสขึ้นมาแสดงที่ผิวเซลล์

เมื่อเม็ดเลือดขาวมาพบชิ้นส่วนของไวรัส (วัคซีน Sinovac) หรือโปรตีนหนาม (วัคซีน AstraZeneca) ก็จะเข้าไปจับกิน แล้วขยายผลการจับกุมต่อให้กับเม็ดเลือดขาวอีก 2 ชนิดในที่สุดจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันออกมาต้านไวรัส และสร้างเม็ดเลือดขาวที่จดจำเชื้อโควิด-19 ได้ แต่กระบวนการเหล่านี้ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หรืออาจมากกว่านั้นแล้วแต่ชนิดของวัคซีนที่ฉีดเข้าไป

 


ดังนั้นการติดเชื้อ “หลังฉีดวัคซีน” มีความเป็นไปได้สูง หากผู้ป่วยได้รับเชื้อมาก่อนที่จะฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนไปแล้วยังไม่ครบ 2 สัปดาห์ การติดเชื้อในช่วงนี้ร่างกายจะยังไม่มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน จึงทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ โดยภูมิคุ้มกันจะเริ่มขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรก นอกจากนี้วัคซีนส่วนใหญ่จะต้องฉีดเข็มที่ 2 เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันก่อนถึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ดีขึ้น การฉีดวัคซีนเปรียบเสมือนคู่ซ้อมเลียนแบบการติดเชื้อในธรรมชาติ แต่ใช้เชื้อที่ตายแล้ว หรือหนามโปรตีนของไวรัสกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน เมื่อฉีดเข็มที่ 2 กระบวนการทั้งหมดก็จะเริ่มต้นอีกครั้ง แต่เม็ดเลือดขาวที่จดจำไวรัสได้ก็จะเริ่มทำงานทันที ทำให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วขึ้น หากเป็นการติดเชื้อจริงจึงสามารถป้องกันอาการรุนแรงได้

สำหรับใครที่ฉีดวัคซีนครบแล้วก็ยังคงต้องปฎิบัติตัวเหมือนเดิม ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือบ่อยๆ เพราะยังสามารถติดเชื้อจากผู้อื่นและแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้




 

Create Date : 13 สิงหาคม 2564   
Last Update : 13 สิงหาคม 2564 10:35:43 น.   
Counter : 675 Pageviews.  


ทำไมต้องตรวจหาภูมิต้านทานต่อเชื้อ SARS-COV2 ?


🔎 ทำไมต้องตรวจหาภูมิต้านทานต่อเชื้อ SARS-COV2 ?

แม้ว่าการ #ตรวจระดับภูมิต้านทานต่อเชื้อ SARS-COV2 จะไม่ใช่การบอกถึงประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันทั้งหมดของร่างกายต่อการติดเชื้อที่ทำให้ก่อโรค COVID-19 แต่ก็เป็นส่วนสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรคลงได้

😷 เมื่อร่างกายได้รับเชื้อหรือได้รับการกระตุ้นด้วยวัคซีนเม็ดเลือดขาวชนิด T lymphocyte จะมีหน้าที่ในการกระตุ้นและสั่งการเม็ดเลือดขาวชนิด B lymphocyte ให้สร้างภูมิต้านทานเฉพาะต่อเชื้อ SARS-COV2 ขึ้นมา นั่นคือ Anti spike protein IgG ซึ่งเป็นภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของไวรัส และกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ เข้าทำลายไวรัสอย่างตรงจุดและเหมาะสม #ระดับของภูมิคุ้มกันที่สูงพอจะช่วยยับยั้งการรุกรานของไวรัสได้ทันท่วงที ช่วยลดและป้องกันการติดเชื้อ หรือหากติดเชื้อก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคลงไปได้มาก

ตามธรรมชาติหลังการติดเชื้อหรือรับวัคซีน ระดับภูมิคุ้มกันจะค่อยๆ ลดลงตามเวลา ในทางการแพทย์จะมี #ระดับที่ต้องยับยั้งเชื้อได้อย่างน้อย 50% ในการทดสอบ จึงจะถือว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้ ซึ่งภูมิคุ้มกันตั้งต้นที่มีระดับสูงการลดลงของภูมิคุ้มกันไปจนถึงระดับดังกล่าว จะใช้เวลานานกว่าผู้ที่มีภูมิตั้งต้นในระดับต่ำ ทำให้ระยะเวลาที่สามารถป้องกันได้นั้นมีระยะเวลาที่นานกว่า

และแม้ว่าเชื้อกลายพันธุ์จะมีความจำเพาะต่อภูมิต้านทานต่อวัคซีนลดลง แต่ภูมิต้านทานในระดับสูงก็ยังมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อกลายพันธุ์ได้ดีในระดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับภูมิที่มีระดับต่ำกว่า

แม้ว่าภูมิคุ้มกันจะลดลงไปตามระยะเวลา แต่เม็ดเลือดขาวในร่างกายจะมีความจำในการสร้างภูมิขึ้นมาใหม่ เมื่อมีการติดเชื้อหรือได้รับการกระตุ้นด้วยวัคซีน แต่จะต้องใช้ระยะเวลาหลายวันถึงจะมีระดับของภูมิคุ้มกันที่สูงพอ

จึงอธิบายได้ว่า #ผู้ที่ฉีดวัคซีนไปนานแล้วอาจจะยังติดเชื้อได้แต่ก็จะไม่แสดงอาการรุนแรง เพราะมีภูมิที่ร่างกายสร้างขึ้นมาต่อสู้กับไวรัสได้ในภายหลังนั่นเอง...

ตรวจหาระดับภูมิต้านทานต่อเชื้อ SARS-COV2 ราคา 1,200 บาท

📖 รายละเอียดการตรวจคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/905




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2564   
Last Update : 11 สิงหาคม 2564 13:25:24 น.   
Counter : 754 Pageviews.  


คำแนะนำท่านอนสำหรับผู้ที่มีอาการไอและหายใจลำบาก

 

ถ้ารอเตียงนาน มีคำแนะนำท่านอนสำหรับผู้ที่มีอาการไอและหายใจลำบาก

อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าผู้ป่วยโควิด-19 จะมีปัญหาในเรื่องระบบการหายใจ ทำให้ปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้แบบเต็มที่ เวลาหายใจเลยรู้สึกเหนื่อย ซึ่งผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) หรือกำลังรอเตียงโรงพยาบาล ควรเรียนรู้ท่านอนคว่ำที่จะช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้นเอาไว้ด้วย

“ท่านอนคว่ำ”ถือเป็นท่ามาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยโควิดท่าหนึ่งเลยก็ว่าได้ เนื่องจากการนอนหงายจะทำให้การหายใจทำได้ลำบากมากขึ้นเนื่องจากปอดส่วนใหญ่ของเรานั้นจะค่อนไปทางด้านหลังสักหน่อย แถมหัวใจก็ยังอยู่ด้านหน้าปอดอีก ดังนั้น ถ้าเรานอนหงายหัวใจและน้ำหนักตัวก็จะมากดทับปอดทำให้ปอดแฟบลง ซึ่งถ้าเป็นในภาวะปกติก็ไม่มีปัญหา แต่กรณีที่ปอดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพแล้วมาเจออะไรกดทับเข้าไปก็ยิ่งทำให้หายใจยากขึ้นไปอีก ดังนั้นการนอนคว่ำแบบนี้ แม้จะไม่ค่อยถนัดแต่ก็ช่วยลดแรงกดทับทำให้หายใจได้คล่องขึ้น

โดยวิธีนอนง่ายๆ เลยก็คือหาหมอนมารองตรงอกแล้วก็นอนคว่ำหน้าลงไปเลย ถ้าชอบสูงหน่อยก็เพิ่มหมอนเอา ส่วนจะเอียงหน้าซ้ายหรือขวาก็จัดได้ตามสะดวกแต่บางคนที่ไม่สามารถนอนคว่ำได้เนื่องจากข้อจำกัดของร่างกายเช่น อ้วนมากๆ หรือกำลังตั้งครรภ์อยู่ กรณีนี้ให้เปลี่ยนจากนอนคว่ำ เป็นนอนตะแคงกึ่งคว่ำแทนคือแทนที่จะนอนตะแคงแบบตรงๆ ก็ให้เอียงตัวโน้มมาทางด้านหน้าสักหน่อยให้คล้ายการนอนคว่ำ อาจไม่ดีเท่านอนคว่ำไปเลย แต่ก็ช่วยเรื่องการหายใจได้เช่นกัน ส่วนถ้าเมื่อยก็แค่สลับด้านเอาเท่านั้น

** กรณีที่อายุครรภ์มากๆ ล่ะก็ถ้าเป็นไปได้ อยากให้นอนตะแคงแล้วเอาด้านซ้ายลง เพื่อไม่ให้น้ำหนักของมดลูกไปกดทับเส้นเลือดใหญ่ แถวๆนั้นมีอยู่หนึ่งเส้นที่ทำหน้าที่นำเลือดที่ใช้แล้วจากขาหรือช่องท้องของเรากลับเข้าสู่ปอด ซึ่งถ้าไปทับนานๆ อาจทำให้เกิดลิ่มเลือดได้

คำแนะนำท่านอนสำหรับผู้ที่มีอาการไอและหายใจลำบาก

* ไม่ควรนอนหงายเป็นเวลานาน การเปลี่ยนท่า “นอนคว่ำ” บ้างจะช่วยให้อากาศเข้าไปปอดได้ดีขึ้น

อาการเหนื่อยอาจลดลงบ้าง

* นอนคว่ำควรหาหมอนหนุน ไม่คว่ำหน้า ให้ตะแคงหน้า เพื่อเปิดทางเดินหายใจ

 

ท่าที่1 นอนคว่ำ แต่ใบหน้าตะแคง นาน 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง

 

ท่าที่2 นอนตะแคงขวา 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง

 

ท่าที่ 3 นั่ง 2 ชั่วโมง 

 

ท่าที่ 4 นอนตะแคงซ้าย 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง 

 

ท่าที่ 5 กลับมานอนคว่ำ แล้วเปลี่ยนท่าทางไปเรื่อยๆ 




 

Create Date : 09 สิงหาคม 2564   
Last Update : 9 สิงหาคม 2564 11:26:21 น.   
Counter : 923 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com