นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

พังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ โรคยอดฮิตของคนทำงาน


พังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ โรคยอดฮิตของคนทำงาน

บริเวณข้อมือของเราจะมีช่องว่างอยู่จำกัดและเส้นประสาทเส้นใหญ่ก็จะอยู่ในบริเวณนั้น คนที่มีการใช้ข้อมือมากๆ อย่างคนทำงานออฟฟิต ที่ต้องใช้เม้าส์คลิกอยู่ท่าเดิมนานๆ พิมพ์คีย์บอร์ด หรือแม่บ้านที่ทำงานบ้านที่ใช้ข้อมือเยอะ ปัด กวาด เช็ด ถู ก็อาจจะทำให้เยื่อหุ้มเอ็นเกิดการอักเสบได้

เมื่อเยื่อหุ้มเอ็นอักเสบจากนั้นจะเกิดพังผืดไปกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ ก็จะทำให้เกิดอาการปวด ชาที่มือ มืออ่อนแรง ชานิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง และมีลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งก็คือจะไม่ชานิ้วก้อย

การรักษาในระยะแรกที่มีอาการปวดชาเล็กน้อย แพทย์อาจรักษาด้วยการทานยา ฉีดยาใส่ปลอกข้อมือ หรือลดการใช้ข้อมือให้น้อยลงแต่หากมีพังผืดกดทับเส้นประสาทมากๆ กล้ามเนื้อนูนๆ บริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือจะลีบฝ่อและหายไป มืออ่อนแรงหยิบจับสิ่งของไม่ได้ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

การผ่าตัดรักษาโรคนี้ใช้เทคนิคผ่าตัดแผลเล็กเพื่อขยายช่องเส้นประสาท เมื่อผ่าตัดแล้วสามารถกลับบ้านได้ ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล การดูแลตัวเองหลังผ่าตัด คือแผลผ่าตัดห้ามโดนน้ำ 7-10 วัน จากนั้นก็สามารถกลับไปใช้งานได้ตามปกติ ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.youtube.com/watch?v=g2vFrKTOc3Y




 

Create Date : 06 สิงหาคม 2564   
Last Update : 6 สิงหาคม 2564 10:41:14 น.   
Counter : 736 Pageviews.  


4 ระยะอาการ "นิ้วล็อค" ที่ต้องรักษา



4 ระยะอาการ "นิ้วล็อค" ที่ต้องรักษา

“นิ้วล็อค” ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่ใช้มือทำต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้ปลอกหุ้มเอ็นและเส้นเอ็นงอนิ้วมือเกิดการอักเสบทำให้เหยียดนิ้วออกได้ไม่เต็มที่

มักพบในผู้ที่ใช้งานนิ้วมือมากและนานในท่ากำมือ เช่น แม่บ้านที่ซักผ้าติดต่อกันนาน ช่างเย็บผ้า ช่างไม้ ช่างยนต์ คนที่ถือของหนักเป็นเวลานานคนที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ใช้คีย์บอร์ดพิมพ์งาน และยิ่งในคนรุ่นใหม่ที่ใช้มือถือ เล่นแท็บเล็ตกันเป็นเวลานานในแต่ละวัน ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการนิ้วล็อคได้สูง

📌 โดยอาการนิ้วล็อคจะมีหลายระยะ เริ่มตั้งแต่
1️. มีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณโคนนิ้วมือ
2. มีอาการสะดุดเวลากำหรือเหยียดนิ้วมือ แต่ยังสามารถเหยียดนิ้วได้เอง
3. กำมือแล้วไม่สามารถเหยียดนิ้วได้เอง ต้องใช้อีกมือมาช่วยง้างออก
4. ไม่สามารถกำมือได้สุด และอาจมีข้อนิ้วมืองอผิดรูปร่วมด้วย

สำหรับคนทั่วไปมักจะเป็นเพียงนิ้วเดียว แต่ในผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากอาการชาจากปลายประสาทอักเสบแล้ว อาการนิ้วล็อคยังพบได้มากกว่าคนทั่วไปอีกด้วย

ถึงแม้อาการนิ้วล็อคไม่ได้ส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็ทำให้เจ็บปวดและสร้างความไม่สะดวกในการใช้ชีวิตอยู่พอสมควร ในช่วงแรกอาจยังพอใช้มืออีกข้างช่วยคลายล็อคเองได้ แต่หากยิ่งปล่อยไว้นาน นิ้วอาจล็อคอยู่อย่างนั้น จนไม่สามารถคลายนิ้วได้

👉 ดังนั้นหากเริ่มมีอาการเจ็บฝ่ามือหรือเวลาเคลื่อนไหวแล้วรู้สึกนิ้วสะดุด ไม่ว่ามากน้อยแค่ไหน แนะนำให้มาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิฉัยรับการรักษาที่เหมาะสมถ้ายังมีอาการไม่มากอาจเพียงแค่พักการใช้งานมือที่มีอาการนิ้วล็อค แช่น้ำอุ่นทานยาใช้ความร้อนประคบ เพื่อลดการอักเสบ ลดบวม ลดปวด หรือทำกายภาพบำบัด ออกกำลังกายเหยียดนิ้วใช้อุปกรณ์ดามนิ้วมือ

แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นอาจรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่เป็นการรักษาแบบชั่วคราวและมีข้อจำกัดคือไม่ควรฉีดยาเกิน 2-3 ครั้ง ต่อ 1 นิ้วที่เป็น หากนิ้วล็อคติดรุนแรงหรือพังผืดหนามากฉีดยาไม่ได้ผล อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดโดยใช้วิธีการ“สะกิดนิ้วล็อค” ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องมือพิเศษ สอดเข็มเข้าไปบริเวณโคนนิ้วที่มีอาการ และใช้ปลายเข็มสะกิดปลอกหุ้มเอ็นนิ้ว ตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่รัดเส้นเอ็นให้ขาดออกจากกันเหมือนการผ่าตัดปกติใช้เวลาไม่นานทิ้งแค่รอยผ่าตัดเล็กๆ เท่านั้น โดยที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล




 

Create Date : 03 สิงหาคม 2564   
Last Update : 3 สิงหาคม 2564 10:17:12 น.   
Counter : 1176 Pageviews.  


สังเกตยังไง? ว่ากระดูกสันหลังคดหรือไม่



สังเกตยังไง? ว่ากระดูกสันหลังคดหรือไม่

โรคกระดูกสันหลังคด เป็นความผิดปกติของกระดูกสันหลังที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กหรือวัยรุ่น ปกติกระดูกสันหลังของคนเราจะเป็นแนวเส้นตรง แต่หากกระดูกสันหลังคดจะทำให้กระดูกสันหลังไม่อยู่ในแนวตรง หรือโค้งบิดเป็นตัว S หรือ C

อาการและความรุนแรงของกระดูกสันหลังคดอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน สามารถสังเกตได้ดังนี้

☑️ สะโพกหรือหัวไหล่ 2 ข้างไม่เท่ากัน
☑️ แผ่นหลังหรือหน้าอกนูนไม่เท่ากัน
☑️ มองเห็นกระดูกสันหลังคดงอชัดเจน
☑️ ลำตัวเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง

กระดูกสันหลังคดนอกจากเป็นปัญหาด้านบุคลิกภาพแล้ว ยังทำให้มีอาการอาการปวดหลังชา เจ็บซี่โครงไปจนถึงกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรืออาจรุนแรงจนส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและปอด ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่เกิดอาการเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก หายใจติดขัดซึ่งถ้าปล่อยไว้ไม่รักษาแต่เนิ่นๆ กระดูกสันหลังก็จะคดมากขึ้นๆ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

กระดูกสันหลังคดพบได้ในเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ สาเหตุการเกิดส่วนใหญ่ไม่ทราบแน่ชัดนอกจากจะเป็นความผิดปกติแต่กำเนิดแล้ว ยังอาจเกิดจากการบาดเจ็บหรือมีโรคของกระดูกสันหลัง อย่างเช่น วัณโรคหรือเนื้องอก ที่อาจทำให้เกิดกระดูกหลังคดได้เช่นกัน

ใครที่สงสัยหรือสังเกตเห็นความผิดปกติว่ามีภาวะกระดูกสันหลังคด ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางโรคกระดูก เพราะหากวินิจฉัยตรวจพบได้เร็วและรับการรักษาอย่างถูกต้องก็จะช่วยลดความพิการและความเสียหายต่อร่างกายได้อย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กหากปล่อยไว้ จะเสียทั้งบุคลิกภาพ สุขภาพ และจิตใจ

การรักษา หากคดไม่มากอาจใส่เสื้อประคองเพื่อป้องกันไม่ให้คดมากขึ้น แต่หากคดมากและจำเป็นต้องผ่าตัดจริงๆ ปัจจุบันก็มีนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยแพทย์ให้ผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย การได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จะทำให้เราได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและหายเป็นปกติได้




 

Create Date : 02 สิงหาคม 2564   
Last Update : 2 สิงหาคม 2564 11:24:11 น.   
Counter : 1269 Pageviews.  


ขอเชิญร่วมบริจาคโลหิต สู้วิกฤติ COVID-19 ครั้งที่ 32

 

ขอเชิญร่วมบริจาคโลหิต สู้วิกฤติ COVID-19 ครั้งที่ 32

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ยังคงประสบภาวะวิกฤติโลหิตไม่เพียงพออย่างต่อเนื่อง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทยประสบปัญหาขาดแคลนเลือดทุกกรุ๊ปถึงขั้นวิกฤติ เพราะจำนวนการใช้เลือดในแต่ละวันยังคงมีมากเท่าเดิม แต่ในขณะที่มีผู้มาบริจาคเลือดน้อยลง หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้ คุณก็เป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ได้ มาเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นกันเถอะ

โรงพยาบาลรามคำแหงร่วมกับสภากาชาดไทย ขอเชิญร่วมบริจาคโลหิต สู้วิกฤติ COVID-19 ครั้งที่ 32 วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 เวลา 09.00-15.00 น. (พักเที่ยง 12.00-13.00 น.) ณ ห้องประชุมอาคาร 3 ชั้น 10 โรงพยาบาลรามคำแหง

โดยโลหิตทุกยูนิตที่ได้รับบริจาคจากท่าน สภากาชาดไทย จะนำไปใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทั่วประเทศ โรงพยาบาลรามคำแหงขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการรับบริจาคเลือดนอกพื้นที่ให้กับสภากาชาดไทย

โรงพยาบาลรามคำแหงมีมาตราการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลระดับสูงสุด ท่านไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย... เพียงเตรียมร่างกายให้พร้อมแล้วมาบริจาคเลือดกันนะครับ

คำแนะนำการเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1000




 

Create Date : 26 กรกฎาคม 2564   
Last Update : 26 กรกฎาคม 2564 10:48:05 น.   
Counter : 656 Pageviews.  


นอนกรนสัญญาณอันตราย!.. อาจหยุดหายใจขณะหลับ


นอนกรนสัญญาณอันตราย!.. อาจหยุดหายใจขณะหลับ

ส่วนใหญ่เรามักจะเข้าใจว่าการนอนกรนเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะคุณผู้ชายที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาไปซะแล้วแต่รู้ไหมครับว่า? การนอนกรนบางครั้งก็อันตรายกว่าที่เราคิดอีกนะครับ

นอนกรน เกิดจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนที่ตีบแคบลงขณะที่เรานอนหลับสนิท ซึ่งในขณะนอนหลับนอกจากอาการกรนแล้วยังพบว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจเกิดขึ้นร่วมด้วย ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติของการหายใจ คือมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ขณะนอนหลับ จึงทำให้คุณภาพการนอนไม่ดี การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง กลายเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพ เช่น ร่างกายอ่อนเพลีย สมาธิและความจำไม่ดี การเผาผลาญด้อยประสิทธิภาพลง อาจทำให้เกิดโรคอ้วนและเบาหวานได้ รวมไปถึงการเกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับสมองและหลอดเลือดหัวใจ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง และยังอาจทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้อีกด้วย

ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นมีหลายประการด้วยกัน เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะ มีอาการของโรคภูมิแพ้บริเวณจมูก สันจมูกเบี้ยวหรือคด รูปหน้าหรือคางผิดปกติ ต่อมทอนซิลโต การรับประทานยาที่ทำให้ง่วง และผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่เป็นประจำ

การรักษาโรคนอนกรนมีหลายวิธีด้วยกันครับ ขึ้นอยู่กับสาเหตุผิดปกติที่ตรวจพบและความรุนแรง แบ่งเป็นการรักษาทางยา เช่น การรักษาภาวะภูมิแพ้ การปรับพฤติกรรม เช่น การปรับท่านอน ลดน้ำหนักตัว, ไปจนถึงการรักษาด้วยเครื่องมือพิเศษ เช่น การใช้พลังจากคลื่นวิทยุกระชับเนื้อเยื่ออ่อนภายในช่องปากและคอที่หย่อนตัว หรือการผ่าตัดรักษา 

นอกจากนี้ปัจจุบันยังมี Application ( SnoreLab ) ที่ช่วยตรวจจับและบันทึกการกรนของเราในเบื้องต้น ก่อนจะมาพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ช่วยวินิจฉัยและทำการตรวจเพิ่มเติมที่ละเอียดขึ้น เช่น การทำ sleep test นั่นเองครับ 




 

Create Date : 24 กรกฎาคม 2564   
Last Update : 24 กรกฎาคม 2564 11:32:25 น.   
Counter : 898 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com