นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

“โรคซึมเศร้า” เมื่อเข้าใจก็รักษาได้


“โรคซึมเศร้า” เมื่อเข้าใจก็รักษาได้
 


มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มีภาวะซึมเศร้า บางคนเป็นโดยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่ได้รับการรักษา ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ หรือในเด็กเองก็เกิดขึ้นได้การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้นจะเป็นคนอ่อนแอ คิดมาก เอาแต่ท้อแท้ สิ้นหวัง จริงๆ แล้วมันเป็นอาการของโรค หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคนี้ก็จะทุเลาหรือหายเป็นปกติได้
 


เช็คลิสต์ “โรคซึมเศร้า” มีองค์ประกอบ 5 อย่างดังนี้

* มีอาการเบื่อหน่ายท้อแท้ โดยเฉพาะกิจกรรมที่เคยทำแล้วรู้สึกชอบ แต่กลับเกิดความเบื่อหน่าย

ไม่อยากทำและเป็นอยู่อย่างนั้นแทบจะทุกวัน เบื่ออาหาร งานอดิเรกที่เคยชอบก็ไม่ชอบ

* นอนไม่หลับกระสับกระส่าย

* รู้สึกว่าตัวเองเหมือนไม่มีคุณค่า

* รู้สึกอยากทำร้ายตัวเองไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป

* รู้สึกว่าตัวเองอยากฆ่าตัวตาย

หากมีอาการเหล่านี้นานกว่า 2 สัปดาห์ก็บ่งชี้ว่ามีอาการของ “โรคซึมเศร้า” เข้าให้แล้วสามารถตรวจทางด้านจิตเวชได้โดยใช้ “การทดสอบทางจิตวิทยา” หรือ Psychological Testซึ่งเป็นแบบทดสอบมาตรฐานที่ใช้ในการประเมินพฤติกรรมของผู้ป่วยประกอบด้วยการทดสอบทางจิตเวช กับการทดสอบบุคลิกภาพครอบคลุมถึงการตรวจทางด้านจิตใจ ความคิด โดยอาศัยการซักประวัติผู้ป่วยเป็นหลักและทำการตรวจร่างกายหรือการตรวจ LAB เลือดเพื่อเอามาตัดโรคบางชนิดที่เป็นเหตุให้เกิดโรคซึมเศร้า เช่น การขาดวิตามินบี12 หรือมีไทรอยด์ผิดปกติ ขณะที่บางรายเป็นโรคมะเร็ง รวมทั้งโรคอื่นที่สร้างความเจ็บปวดทำให้เกิดภาวะโรคซึมเศร้าตามมา
 


โดยแนวทางการรักษาโรคซึมเศร้าที่เป็นมาตรฐาน ที่ใช้ในปัจจุบันประกอบด้วย

1. ทำจิตบำบัด โดยให้ผู้ป่วยได้พบ “นักจิตบำบัด” ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 20-30 ครั้ง เพื่อแกะปมที่ซ่อนอยู่ในจิตใจ ที่เกิดจากการทำงานของสมองลดลงในส่วนอารมณ์ที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า

2. รักษาด้วยยา ซึ่งให้แล้วอาจเห็นผลรวดเร็วแต่มีข้อเสีย คือบางรายกินยาแล้วอาจมีผลข้างเคียง เช่น มีอาการง่วง ใจสั่น ปากแห้ง คอแห้ง

3. ช๊อตไฟฟ้า หรือ ECT เป็นการใช้ไฟช๊อตเข้าไปที่สมอง เปรียบเทียบได้กับลักษณะของการปิด-เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยการ “รีสตาร์ท”

4. การรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ TMS หลักการคือใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นเซลล์ประสาทที่บริเวณเปลือกของสมองตรงตำแหน่งที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าอย่างต่อเนื่อง 2-3 สัปดาห์ๆ ละ 5 วันจึงจะเห็นผล
 


การรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ TMS (Transcranial Magnetic Stimulation) เป็นวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าสามารถใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลักการทำงานของเครื่อง TMS คือการส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเข้าไปกระตุ้นสมองบริเวณที่มีปัญหา เพื่อปรับสมดุลการทำงานของสมอง ช่วยลดอาการซึมเศร้าให้กลับมาปกติดีขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แพ้ยา หรือดื้อยาใช้เวลาในการทำประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง/ครั้ง โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร แต่ก็มีข้อควรระวังในผู้ป่วยบางราย เช่น

• ผู้ที่มีอาการชักมาก่อน

• ผู้ที่มีโลหะฝังอยู่ในสมอง

• ผู้ที่ฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ในร่างกาย เช่น เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น

หลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยวิธีกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กแล้วส่วนใหญ่จะดีขึ้น แต่ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้ ซึ่งวิธีป้องกันต้องอาศัยหลักการปฏิบัติตัว 3 อย่างประกอบกันคือ “Bio-Psycho-Social” โดย Bioมีความหมายครอบคลุมเรื่อง “อาหารและการนอน” ซึ่งไม่ควรอดทั้ง 2 อย่าง และต้อง “ออกกำลังกาย” เป็นกิจวัตรประจำวันด้วยส่วน “Psycho-Social” หมายความถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีส่วนต่อการปรับเปลี่ยน ที่สำคัญที่สุดคือผู้ป่วยต้องเข้ารับการทำจิตบำบัดร่วมด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีกส่วนการทานยาซึมเศร้าส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้ทานคู่ไปด้วยโดยไม่แนะนำให้หยุดยา และควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชควบคู่กันไป ถ้าแพทย์ประเมินว่าดีขึ้นแล้วก็อาจลดยาลงได้ หรือเมื่อได้ทำ TMS แล้วจะลดยาได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
 


เทคโนโลยี TMS จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาโรคซึมเศร้าที่มีความปลอดภัยไม่มีผลข้างเคียงในการรักษา แต่จำเป็นต้องได้รับการประเมินและวางแผนการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด อ่านข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/803

 




 

Create Date : 04 พฤศจิกายน 2564   
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2564 11:22:56 น.   
Counter : 703 Pageviews.  


ปวดท้อง "ไส้ติ่งอักเสบ" อาการเป็นยังไงนะ!!



 

ปวดท้อง "ไส้ติ่งอักเสบ" อาการเป็นยังไงนะ!!

ไส้ติ่งอักเสบ เป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบทำการรักษา เพราะถ้าปล่อยไว้ไส้ติ่งอาจแตกและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาการอักเสบของไส้ติ่ง มักเริ่มจากมีอาการปวดท้อง ตามมาด้วยอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ หลายคนเมื่อมีอาการปวดท้องก็มักจะกังวลว่ามีสาเหตุมาจากไส้ติ่งอักเสบรึป่าวว!!... ซึ่งก็อาจไม่ใช่เสมอไป

วิธีสังเกตว่าอาการปวดท้องที่เป็นนั้นใช่ไส้ติ่งอักเสบหรือไม่? ให้สังเกตตามนี้

  • ระยะแรกมักมีอาการปวดท้องรอบๆ สะดือก่อนและอาจมีการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หรือมีอาการท้องเสียตามมาได้
     
  • ต่อมาอาการปวดท้องจะย้ายมาที่บริเวณท้องน้อยด้านขวาล่างซึ่งเป็นตำแหน่งของไส้ติ่ง (แต่บางคนก็อาจปวดตำแหน่งอื่นได้)
     
  • จากนั้นอาการปวดจะเพิ่มมากขึ้น จนไม่สามารถขยับตัว ไอจาม หรือหายใจลึกๆ ได้เลยเพราะจะรู้สึกรู้ปวดมากบางคนอาจมีไข้ร่วมด้วย

ใครที่มีอาการดังที่กล่าวมาก็เป็นไปได้สูงที่จะเป็นไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน และถ้าไม่รีบรักษาไส้ติ่งอาจแตกทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ส่งผลให้ติดเชื้อในกระแสเลือดจนเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้เมื่อไส้ติ่งแตกกลายเป็นหนอง ก็อาจทำให้เกิดพังผืดรัดลำไส้ เกิดภาวะแทรกซ้อนกลายเป็นโรคลำไส้อุดตันตามมาได้อีกด้วย

ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวก็ให้รีบไปพบแพทย์ โดยแพทย์สามารถวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบได้ด้วยประวัติอาการปวดท้อง ตรวจร่างกาย แต่ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้องเพิ่มเติม ไส้ติ่งอักเสบรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออก ซึ่งวิธีที่นิยมใช้คือการผ่าตัดผ่านกล้อง เพราะแพทย์สามารถมองเห็นไส้ติ่งและอวัยวะภายในช่องท้องได้ชัดเจน แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก คนไข้เจ็บตัวน้อยและฟื้นตัวได้เร็วนั่นเอง

** แต่ก็อย่าลืมนะครับว่ายังมีโรคอื่นๆ ที่นำมาด้วยอาการปวดท้องเหมือนกันที่อาจเป็นอันตรายได้ ทางที่ดีหากมีอาการปวดท้องรุนแรง หรือไม่รุนแรง หรือปวดท้องเรื้อรังเป็นๆ หาย ก็ควรไปพบแพทย์ตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสมดีที่สุดครับ




 

Create Date : 03 พฤศจิกายน 2564   
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2564 13:47:32 น.   
Counter : 948 Pageviews.  


"มะเร็งลำไส้เล็ก" ตรวจได้ด้วยกล้องแคปซูล


"มะเร็งลำไส้เล็ก" ตรวจได้ด้วยกล้องแคปซูล

ลำไส้เล็กเป็นอวัยวะที่ยาวที่สุดของคนเรา ยาวได้ถึง 6-10 เมตร เริ่มต้นตั้งแต่ปลายสุดของกระเพาะอาหารไปจนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนต้น เห็นยาวๆ แบบนี้ ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งได้เหมือนกันแม้จะพบได้ไม่บ่อย แต่ก็อันตรายไม่ใช่เล่นเลยนะครับ...

สาเหตุของการเกิดมะเร็งลำไส้เล็กยังไม่ทราบแน่ชัด ส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับการบริโภคเนื้อสัตว์และอาหารไขมันสูง ดื่มแอลกอฮอล์ การอักเสบระคายเคืองเรื้อรังหรือเป็นแผลเรื้อรังบริเวณลำไส้เล็กและคนที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้เล็ก ซึ่งอาการแสดงที่พบได้บ่อย เช่น ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระดำ หรือถ่ายเป็นเลือด มีไข้ น้ำหนักลด คลื่นไส้ อาเจียน มีภาวะลำไส้อุดตันหรืออาจคลำเจอก้อนได้ในท้อง

การวินิจฉัยโรคนอกจากการซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไปแล้ว การตรวจเม็ดเลือดแดงแฝงในอุจจาระ ถ้าผลตรวจเป็นบวกก็ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นมะเร็งเสมอไป เพราะอาจแค่มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร ส่วนการเอกซเรย์กลืนแป้ง การส่องกล้องดูลำไส้เล็กร่วมกับอัลตราซาวด์ในการวินิจฉัยก็ยังมีข้อจำกัด อย่างที่บอกไปแล้วว่าลำไส้เล็กยาวขนาดไหน การวินิจฉัยโดยใช้กล้องส่องไม่ว่าจะเข้าทางปากหรือทางทวารหนักก็ไม่สามารถเข้าไปสำรวจดูลำไส้เล็กได้ทั้งหมดอยู่ดี

ปัจจุบันจึงมีการใช้กล้องแคปซูลที่มีระบบบันทึกภาพมาใช้ โดยให้คนไข้กลืน “กล้องแคปซูล”เข้าไปทางปาก กล้องจะเคลื่อนที่ไปตามส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะลำไส้เล็ก ซึ่งเป็นส่วนที่ตรวจได้ยากที่สุด จากนั้นกล้องแคปซูลนี้จะออกมาพร้อมกับการถ่ายอุจจาระ ซึ่งไม่ทำให้เกิดอันตรายใดๆ โดยภาพภายในทางเดินอาหารจะถูกบันทึกไว้ในเครื่อง ที่เชื่อมต่อจากภายนอก โดยสามารถบันทึกภาพได้ 2 ภาพต่อวินาที และเก็บภาพได้ถึง 50,000 ภาพ ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากกว่าวิธีอื่นๆ

การรักษามะเร็งลำไส้เล็กส่วนใหญ่แล้วมักเริ่มต้นด้วยการตัดเอาลำไส้เล็กส่วนที่เป็นมะเร็งออก จะตัดมากตัดน้อยก็ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ส่วนจะต้องให้ยาเคมีบำบัด หรือฉายแสง ร่วมด้วยหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็ง

ตรวจมะเร็งลำไล้เล็ก...ด้วยกล้องแคปซูล อ่านข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/258




 

Create Date : 02 พฤศจิกายน 2564   
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2564 10:44:23 น.   
Counter : 1106 Pageviews.  


เราแค่ท้องเสียง่ายหรือเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD)


เราแค่ท้องเสียง่ายหรือเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD)

ปวดท้อง ท้องเสียบ่อย ดูเหมือนจะเป็นอาการเกิดขึ้นได้ทั่วไป เราจึงไม่ได้เอะใจอะไรเวลามีอาการ คิดว่าตัวเองแค่เป็นคนท้องเสียง่ายก็เท่านั้น.. แต่ไม่อยากให้ชะล่าใจไปเพราะ หากคุณมีอาการท้องเสียบ่อย แทบทุกวัน หรือแทบจะทุกอาทิตย์ ท้องเสียแบบที่หาสาเหตุไม่ได้ คุณอาจกำลังเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังอยู่ก็ได้นะครับ

ลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ IBD (Inflammatory Bowel Disease) เป็นโรคที่มีการอักเสบบริเวณทางเดินอาหาร สามารถเกิดได้ทั้งในลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก พบได้ทุกช่วงวัยแต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอายุ 20-40 ปี และมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกิดจากปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้น เช่น ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ พันธุกรรม (ถ้าคนในครอบครัวมีประวัติเป็นลำไส้อักเสบ จะทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 20%) ความเครียด หรือทานอาหารที่กระตุ้นให้เกิดโรค เช่น นม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์

อันตรายของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง นอกจากอาการท้องเสียที่รบกวนการใช้ชีวิตแล้ว การถ่ายบ่อยๆ ยังทำให้สูญเสียน้ำ สารอาหาร โปรตีน ของเหลวต่างๆ รวมถึงเลือดด้วย ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะเลือดจาง หรือถ้ารุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้การอักเสบของลำไส้นานๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมะเร็งทวารหนักได้อีกด้วย

ดังนั้น ใครมีอาการท้องเสียบ่อย อุจจาระมีเลือดปน ปวดเกร็งช่องท้อง อ่อนเพลีย น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุหรือสงสัยว่าตัวเองกำลังเสี่ยงเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินอาหารและตับ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกวิธี

และเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ให้เริ่มต้นจากอาหารที่ทาน เลือกทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ ไม่ค้างคืน หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารรสจัด รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดี พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และดูแลการขับถ่ายให้เป็นปกติอยู่เสมอ




 

Create Date : 27 ตุลาคม 2564   
Last Update : 27 ตุลาคม 2564 11:30:55 น.   
Counter : 937 Pageviews.  


​​​​​​​H. pylori ตัวการทำให้เกิดแผลและมะเร็งในกระเพาะอาหาร


H. pylori ตัวการทำให้เกิดแผลและมะเร็งในกระเพาะอาหาร

เชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori หรือ H.pylori คือเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร ผู้ติดเชื้อส่วนมากจะเกิดภาวะกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังแต่ไม่แสดงอาการ และมีความเสี่ยงที่จะพัฒนาเป็นแผลในกระเพาะอาหารสูงถึง 10-20 % และผู้ที่ติดเชื้อนี้ยังมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารถึง 3 %

เพราะเมื่อเชื้อ H. pylori เข้าสู่ร่างกายจะทำให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดออกมามากกว่าปกติ และไปทำลายผนังเยื่อบุกระเพาะอาหารและสำไส้ส่วนต้นจนเป็นเแผล เมื่อเป็นแผลเรื้อรังบ่อยๆ เข้า เนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นแผลก็อาจกลายพันธุ์เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในที่สุด

เชื้อ H. pylori สามารถติดต่อกันได้ง่ายๆ จากการนำเชื้อเข้าปากโดยไม่รู้ตัว ผ่านการทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าสู่ร่างกาย โดยผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการ แต่บางคนอาจมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นได้ เช่น ปวดหรือแสบร้อนที่ท้องส่วนบน ท้องอืด จุกเสียด คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการที่บ่งบอกว่าอาจมีแผลในกระเพาะอาหาร เช่น อุจจาระเป็นเลือด หรืออุจจาระสีดำเหนียวมีกลิ่นเหม็น โลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ควรไปพบแพทย์ตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

ปัจจุบันมีวิธีการตรวจวินิจฉัยหาเชื้อ H. pylori ที่เรียกว่า Urea breat test C-14 หรือการตรวจโดยผ่านลมหายใจ เป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย มีความแม่นยำสูง คนไข้ไม่ต้องเจ็บตัว ขั้นตอนการตรวจก็ไม่ยุ่งยากใช้เวลาแค่เพียง 20 นาทีก็ทราบผลแล้ว อ่านข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/105




 

Create Date : 25 ตุลาคม 2564   
Last Update : 25 ตุลาคม 2564 10:32:55 น.   
Counter : 959 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com