นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

ระวังไขมันตัวร้ายในเลือด....ปล่อยให้สูงเกินขนาดเป็นได้เรื่อง !!!!

ระวังไขมันตัวร้ายในเลือด....ปล่อยให้สูงเกินขนาดเป็นได้เรื่อง*****อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจเตือนผู้ที่ชอบรับประทานอาหารไขมันสูง ก่อให้เกิดการสะสมของไขมันในเลือดปริมาณมาก จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้โดยไม่รู้ตัว พร้อมแนะวิธีการตรวจเลือดหาความผิดปกติ ยับยั้งเหตุร้ายก่อนจบลงด้วยการผ่าตัด
*****ภาวะไขมันในเลือดหรือโคเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งเป็นไขมันชนิดหนึ่งในร่างกายที่ได้มาจากการเผาผลาญอาหารประเภทไขมันและการสังเคราะห์ขึ้นมาเองของร่างกาย เพื่อใช้เป็นพลังงานสำรองในยามฉุกเฉิน ซึ่งโคเลสเตอรอลนี้จะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ แอลดีแอล โคเลสเตอรอล (LDL CHOLESTEROL) จัดเป็นไขมันตัวร้ายที่หากสะสมอยู่ในหลอดเลือดในปริมาณมากจะนำมาซึ่งหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตันตามมาได้ อีกชนิดหนึ่งคือ เอชดีแอล โคเลสเตอรอล (HDL CHOLESTEROL) เป็นไขมันที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้
******การเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงซึ่งเป็นผลจากที่ร่างกายมีการสะสมของไขมันประเภท LDL สูงกว่า ด้วยเหตุจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไขหรือตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำแล้ว ก็จะเป็นโอกาสให้เกิดการอุดตันของไขมันบริเวณหลอดเลือดหัวใจ และตามมาด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ในเวลาต่อมา
*****ขบวนการตรวจวินิจฉัยปัจจุบันค่อนข้างง่ายขึ้นเยอะครับ เพราะเดี๋ยวนี้เพียงแค่เช็คเลือดก็สามารถบอกได้แล้ว สมัยก่อนเราจะรู้จักโคเลสเตอรอลเป็นหลัก แต่ที่จริงแล้วจะมีทั้งเอชดีแอล ที่เรียกว่าไขมันดี กับแอลดีแอล โคเลสเตอรอลตัวสำคัญที่เราจะพูดถึงมากที่สุดนะครับ ซึ่งถ้าเกิดไขมันตัวนี้สูงเกิน 190 อย่านิ่งนอนใจ โดยเฉพาะใครที่มีประวัติครอบครัวมีโรคหัวใจอยู่ด้วยต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร็วครับ เพราะเราพบว่านี้คือหนึ่งในปัจจัย 4 ของโรคหัวใจที่จะนำมาซึ่งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้แม้อายุยังไม่เข้าเกณฑ์เสี่ยงก็มีสิทธิ์เป็นได้ ยังย้ำถึงการตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติของภาวะไขมันในเลือด
*****นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงผลดีของการหมั่นตรวจเช็คเลือดเป็นประจำ ซึ่งนอกจากจะสามารถหาความผิดปกติของไขมันในเลือดได้แล้วยังตรวจพบความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย อันจะช่วยให้ทำการควบคุมและรักษาในระยะเริ่มต้นได้ แต่ในรายที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดขึ้นแล้ว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ก็อาจพิจารณาแนะนำให้เข้ารับการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยัน เพื่อป้องกันการกลับมาตีบซ้ำ แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีสภาพหลอดเลือดหัวใจตีบสนิท ก็ยังสามารถรักษาได้โดยการใช้เทคนิคเครื่องหัวกรอเพชรความเร็วสูง (ROTABLATOR) เข้าช่วยสลายสิ่งอุดตันแข็งๆ ให้หมดไปก่อนการทำบอลลูน โดยไม่ต้องทำการผ่าตัดบายพาสเช่นในอดีต



ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลรามคำแหง
//www.ram-hosp.co.th




 

Create Date : 31 มีนาคม 2552   
Last Update : 31 มีนาคม 2552 10:14:49 น.   
Counter : 1399 Pageviews.  


อัจฉริยะสร้างได้ จริงหรือไม่ !

อัจฉริยะสร้างได้ จริงหรือไม่ !

ในปัจจุบันความสนใจที่จะค้นหาศักยภาพของเด็กเพื่อสนับสนุนอย่างเหมาะสมได้รับความสนใจ
อย่างมาก โดยช่วงนี้ มีการพูดถึงทฤษฎีพหุปัญญา (ทฤษฎีความฉลาด หรือ ความสามารถที่หลากหลาย) หรือ Multiple Intelligence ของโฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ อย่างกว้างขวางที่จะนำมาเป็นแนวทางเพื่อค้นหาและพัฒนาศักยภาพของเด็ก ซึ่งเป็นทฤษฎีหนึ่งที่กล่าวถึงความสามารถอันหลากหลายด้านของมนุษย์ ดังนั้นจึงจะนำกล่าวถึงรายละเอียดของทฤษฎีพหุปัญญา ด้านต่างๆ ซึ่งมีดังนี้
1. ความฉลาดทางด้านภาษา (Linguistic intelligence) ความสามารถในการเข้าใจความหมายทางภาษา
การเรียนรู้ภาษา การพูดและการเขียน การใช้ภาษาถ่ายทอด สื่ออารมณ์ความรู้สึกให้คนอื่นเข้าใจได้ดี ให้ได้ผลตามเป้าหมาย เช่น กวี นักเขียน นักพูด
2. ความฉลาดทางด้านตรรกะ (Logical-mathematic intelligence) ความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์
และวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็คือเรื่องของเหตุผล คิดวิเคราะห์พิจารณาข้อสันนิษฐานและสมมติฐานต่าง ๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์
3. ความฉลาดทางด้านดนตรี (Musical intelligence) มีความสามารถในการรับรู้ทางการได้ยินที่
ละเอียดอ่อน เฉียบไว ทั้งเสียงสูงต่ำ ความถี่ จังหวะของเสียง รวมถึงความสามารถในการเข้าใจ สร้างสรรค์ และถ่ายทอดทางดนตรี หรือทางเสียง เช่น นักแต่งเพลง นักดนตรี
4. ความฉลาดทางด้านมิติสัมพันธ์(Spatial intelligence) ความสามารถในการคิดเป็นสามมิติ (กว้าง ไกล
และลึก) สามารถสร้างหรือถอดรหัส หรือแปลความ ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในรูปของงานขีดเขียน (งานกราฟฟิก)ได้สามารถสร้างภาพในจินตนาการ เปลี่ยนภาพหรือ ปรับภาพได้ นำมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน เช่น จิตรกร ประติมากร สถาปนิก ดีไซเนอร์
5. ความฉลาดทางด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย (Bodily-kinesthetic intelligence) ความสามารถในการ
ควบคุมกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว มีความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ มีทักษะต่างๆ ทางกายภาพสามารถเคลื่อนไหวร่างกาย รวมถึงการแสดงออกได้ดี เช่น นักเต้น นักกีฬา นักแสดง
6. ความฉลาดในการเป็นผู้นำ (Interpersonal intelligence) ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น มีปฏิสัมพันธ์
กับผู้อื่นได้ดี สามารถจูงใจผู้อื่น เช่น นักการเมือง ผู้นำทางศาสนา ครู นักการศึกษา นักขาย นักโฆษณา
7. ความฉลาดภายในตน (Intrapersonal intelligence) ความสามารถในการรู้จักตนเอง หรือความสามารถ
ในการสร้างและรับรู้ตนเองอย่างถูกต้อง และใช้ความรู้นี้ในการวางแผนและชี้นำชีวิตตนเอง เข้าใจความรู้สึกภายในของผู้คน เช่น นักเขียน ผู้ให้คำปรึกษา จิตแพทย์

นอกจากนี้โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ ยังได้แนะนำว่ามนุษย์เรามีความสามารถด้านอื่นๆอีก ดังเช่น
8. ความฉลาดทางด้านธรรมชาติ (Naturalist intelligence) ความสามารถในการสังเกตรูปแบบความ
เป็นอยู่ กำหนดและจัดหมวดหมู่ การเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ พืช สัตว์ ธรณีวิทยา สิ่งแวดล้อม เข้าใจระบบ/วงจรของธรรมชาติ อาชีพทางด้านนี้เช่น นักสัตววิทยา นักธรณีวิทยา
9. ความฉลาดในด้านจิตวิญญาณและการคิดใคร่ครวญ (Spiritual/Existential intelligence) ชอบคิด
สงสัยใคร่รู้ ตั้งคำถามกับตัวเองในเรื่องความเป็นไปของชีวิต ชีวิตหลังความตาย เรื่องเหนือจริง ผู้ที่มีความสามารถด้านนี้ เช่น อาคิมีดีส อริสโตเติล ขงจื้อ ไอน์สไตน์ โสเครติส
10.ความฉลาดทางคุณธรรม (Moral intelligence) เป็นความสามารถในการคิด พิเคราะห์เกี่ยวกับศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม มนุษยธรรม การเห็นและให้คุณค่าในการเป็นมนุษย์ ผู้ที่นับได้ว่ามีความฉลาดด้านนี้สูง อาทิ เช่น มหาตมะ คานธี แม่ชีเทเรซ่า พุทธทาสภิกขุ

และนอกจากการแบ่งความสามารถของมนุษย์ออกเป็นด้านต่างๆ ตามทฤษฎีของโฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ แล้วนั้น ยังมีการจำแนกความสามารถด้านต่างๆ ของมนุษย์อีกหลายแบบ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรจะเห็นได้ว่าปัจจัยที่จะทำให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่ด้วยความสามารถทางสติปัญญาดีเท่านั้น จะต้องประกอบด้วยปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย เช่นความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถอันหลากหลายด้านของมนุษย์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งเราแต่ละคนอาจจะมีความถนัดด้านหนึ่งแต่ไม่ถนัดอีกด้านหนึ่งหรืออาจมีอัจฉริยภาพหลายๆ ด้านพร้อมกัน ถึงแม้ว่าความฉลาดหรือสติปัญญาเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ก็สามารถยืดหยุ่นและพัฒนาได้ ขึ้นอยู่กับ โอกาสและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทักษะทุกๆ ด้านสามารถพัฒนาฝึกฝนเพิ่มเติมได้ โดยหากเราพบว่าด้านใดเป็นด้านที่เราถนัดเราก็สามารถพัฒนาไปใช้ในการประกอบอาชีพได้ เนื่องจากหากได้ทำในสิ่งที่ถนัดก็จะทำได้ดีและมีแนวโน้มที่จะมีความสุขกับการทำงาน และโอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะสูงกว่าผู้อื่นเช่นกัน ส่วนด้านที่ไม่เคยถนัด หรือยังทำได้ไม่ดีนักหากมีโอกาสฝึกฝนทำกิจกรรมด้านนั้นก็สามารถที่จะพัฒนาขึ้นได้ และสมองก็จะมีโอกาสพัฒนาได้อย่างรอบด้าน ดังนั้นการค้นหาว่าเด็กมีความถนัดในด้านใดหรือไม่ก็จะมีประโยชน์ในการสนับสนุนและส่งเสริมเด็กได้อย่างถูกทิศทาง เขาจะมีความสุขในสิ่งที่ทำและเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น


ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลรามคำแหง
//www.ram-hosp.co.th




 

Create Date : 31 มีนาคม 2552   
Last Update : 31 มีนาคม 2552 10:11:44 น.   
Counter : 1260 Pageviews.  


จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า....

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า
เกือบทุกคนคงเคยมีอาการอาการแน่นท้อง จุกยอดอก แน่นหน้าอก แน่นในลำคอ กันมาบ้างแล้วเป็นแน่หลายคนเคยมีประสบการณ์มาแล้วคนละหลายๆ ครั้ง
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า อาการเหล่านี้เป็นอาการผิดสำแดงของทางเดินอาหารอย่างปกติธรรมดา หรือมีสาเหตุมาจากโรคหัวใจขาดเลือดกันแน่
ก่อนอื่นถามตัวเองเสียก่อนว่า มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจขาดเลือดมากแค่ไหน
อายุขึ้นเลขสี่หรือยัง หลายคนยังเชื่อสุภาษิตฝรั่งที่ว่า ชีวิตเริ่มต้นเมื่อวัย 40 ความจริงน่าจะเป็นชีวิตที่ต้องระวังสุขภาพอย่างมาก เริ่มต้นที่วัย 40 มากกว่า
บุหรี่ คุณสูบบุหรี่หรือเปล่า ถ้าเคยสูบแต่เลิกแล้วก็ต้องถามต่อว่า เลิกมานานแค่ไหน และเมื่อตอนที่ยังสูบอยู่ สูบหนักแค่ไหน
ไขมันในเลือด สูงหรือเปล่า เอาเป็นว่าเคยตรวจบ้างหรือเปล่าก่อนดีกว่า
ถ้าเคยตรวจ ตรวจครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ และผลการตรวจเป็นอย่างไร
คนที่มีไขมันในเลือดสูง มีความเสี่ยงกับการเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนที่มีไขมันในเลือดปกติ หรือต่ำหลายเท่า เพราะไขมันนั่นแหละคือตัวการสำคัญที่จะไปจับตามผนังหลอดเลือด และทำให้หลอดเลือดอุดตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ
เบาหวาน น้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติ และเป็นเวลานานๆ โดยไม่มีการควบคุมให้ดีพอ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอ ไม่แข็งแรง และป็นสาเหตุของหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้
ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เพราะคนที่มีความดันโลหิตสูงใช่ว่าจะทำให้เลือดมีแรงดันที่จะไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดีกว่าคนที่ความดันโลหิตปกติ ตรงกันข้าม มันกลับทำให้หลอดเลือดเกิดการหดเกร็งตัว และทำให้หัวใจขาดเลือดได้อีกเหมือนกัน
อาการสำคัญอีกอย่างหนึ่งของโรคหัวใจขาดเลือดก็คือ อาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย แม้เพียงเดินหรืองานที่เคยทำได้สบายๆ มาบัดนี้เพียงนิดหน่อยก็ดูเหมือนว่าจะเหนื่อยเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม.....................วิธีดีที่สุดที่จะบอกให้ได้แน่นอนว่า อาการต่างๆ ที่น่าสงสัยนั้นเป็นอาการของโรคหัวใจหรือเปล่าก็คือ การไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กให้แน่
----------อย่าผัดวันประกันพรุ่ง
----------แล้วคุณหมอจะมีวิธีตรวจให้รู้ได้อย่างไร ว่าคุณเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า
----------แพทย์จะเริ่มจาก สอบถามประวัติอาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่พึงสงสัยรวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของคุณ
----------จากนั้นแพทย์ก็จะตรวจร่างกายทั่วไปทั้งตัว ทุกระบบของร่างกาย รวมทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด มีการฟังการเต้นของหัวใจ วัดความดันโลหิต
-----------ตามด้วยการเอ็กซเรย์ทรวงอกและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ตามปกติ และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test)
----------คราวนี้หากสงสัยการตรวจที่จะบอกได้แน่ก็คือการตรวจฉีดสี เพื่อดูเส้นเลือดหัวใจ หรือที่เรียกว่าการสวนหลอดเลือดหัวใจ
………..ฟังถึงตอนนี้ชักน่ากลัว ลองมารู้ให้จริงกันซิว่า วิธีการตรวจความผิดปกติของหัวใจนั้น ทำกันอย่างไร…………
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram)
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือที่เรียกว่า “ EKG ” เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจ โดยจะมีรูปแบบของคลื่นไฟฟ้าอัตรา และจังหวะการเต้นของหัวใจอาจเปลี่ยนแปลงไปตามความผิดปกติของหัวใจ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจถือว่าเป็นการตรวจที่ง่าย และสะดวก ผู้รับการตรวจจะไม่เจ็บจากการตรวจ
การตรวจทำได้โดยการวัดคลื่นไฟฟ้าของหัวใจผ่านทางเอาสื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่วางไว้ตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ บริเวณหน้าอก แขน และขา แล้วบันทึกกราฟแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจนั้นลงบนกระดาษ ขั้นตอนการตรวจนี้ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที
แต่บางที เราก็อาจจะไม่พบสิ่งผิดปกติในคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจบางชนิดได้ในการตรวจตามธรรมดา เนื่องจากถ้าหากหัวใจไม่ได้ทำงานหนักขึ้นการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจจะยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งอาจต้องใช้การทดสอบ สมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายต่อไป
การบันทึกคลื่นไฟฟ้าชนิดติดตัว (Holter monitor)
ในผู้ป่วยบางรายที่มารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แล้วไม่พบความผิดปกติในขณะนั้น แต่ผู้ป่วยอาจจะยังมีอาการที่น่าสงสัย ว่าหัวใจอาจมีความผิดปกติ แพทย์อาจจะแนะนำให้ใช้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดติดตัว ซึ่งผู้รับการตรวจจะต้อง นำเครื่องมือนี้พกติดตัวตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ทราบว่ากิจกรรมต่าง ๆ ใน 24 ชั่วโมง ของผู้รับการตรวจมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และเมื่อครบตามกำหนดเวลาจึงนำเทปที่บันทึกไว้มาแปรผล โดยเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล ที่ได้ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ต่อไป วิธีนี้จะทำให้สามารถบันทึกคลื่นหัวใจของผู้ที่มารับการตรวจในช่วงเวลาต่างๆ กัน ในขณะที่มีกิจกรรมต่างๆ ตลอดวัน
การตรวจสมรรถภาพหัวใจ (Exercise Stress Test)
เป็นการตรวจสมรรถภาพของหัวใจโดยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เดินบนสายพานเลื่อน หรือปั่นจักรยาน เพื่อทดสอบว่าเมื่อหัวใจมีความต้องการในการใช้ออกซิเจนจากเลือดเพิ่มมากขึ้นในขณะที่ออกกำลังกาย และจะเกิดภาวะ การขาดเลือดขึ้นหรือไม่ เนื่องจากหากผู้ป่วยมีภาวะของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันอยู่ก็จะทำให้มีเลือด ไปเลียงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอเมื่อต้องออกกำลังกาย และจะมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงไป บางราย จะเกิดอาการเจ็บจุกแน่นหน้าอก และอาจเป็นอันตรายได้หากผู้ป่วยไม่ได้ทราบมาก่อนว่าเกิดจากโรคหัวใจ
การตรวจเริ่มต้นด้วยการให้เดินบนสายพานโดยเริ่มจากช้าๆ แล้วเร่งความเร็วขึ้นจนได้ข้อมูลเพียงพอในการวินิจฉัย ใช้เวลาทด สอบประมาณ 30 นาที และควรงดอาหารก่อนการทดสอบประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันอาการจุกเสียด เวลาเดิน สวมเสื้อผ้า และรองเท้าที่สบายๆ
การตรวจความผิดปกติของหลอดเลือดขนาดใหญ่ด้วยเครื่อง ABI
ตรวจความผิดปกติของหลอดเลือดขนาดใหญ่ ช่วยบ่งชี้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอัมพาต อัมพฤกษ์ ซึ่งเมื่อพบความผิดปกติสามารถพิจารณาให้ยาเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงรวมทั้งการบริการตรวจดัชนีการแข็งตัวของหลอดเลือด โดยใช้เครื่องวัด ABI (Ankle-Brachial Index) ซึ่งเป็นการวัดความผิดปกติของ หลอดเลือดด้วยการวัดแรงดันโลหิตตรงส่วนปลายขา เทียบสัดส่วนกับแรงดันโลหิตที่แขนข้างเดียวกัน ซึ่งเป็นการ บ่งชี้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอัมพาต อัมพฤกษ์ได้
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography)
การตรวจหัวใจภายนอก โดยใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ช่วยในการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง จะ ทำให้เห็นการเคลื่อนและการบีบตัวของหัวใจว่าปกติดีหรือไม่ ความเร็ว และความดันเลือดเป็นอย่างไร ตลอดจนตรวจดูความพิการของหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ และโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 20–30 นาที ทำให้ทราบถึงรูปร่างของหัวใจ ความหนาของผนังหัวใจผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับลิ้นหัวใจ สามารถดูการเคลื่อนไหวของผนังหัวใจเปรียบเทียบกัน ทั้งขณะที่พักหรือนอนเฉยๆ กับขณะที่มีการออกกำลังกาย การตรวจวิธีนี้สามารถดูได้จากจอแสดงผล และบันทึกเก็บไว้เป็นรูปภาพได้เพื่อการตรวจสอบต่อไป ในอนาคตบางคนเรียกการตรวจวิธีนี้ว่า “ตรวจเอ็กโคหัวใจ”
การตรวจด้วยเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging)
เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยใช้ในการตรวจ และแสดงภาพอวัยวะต่าง ๆ ได้ใกล้เคียงกับอวัยวะจริงมากที่สุด เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคมีความไวและความจำเพาะในการวินิจฉัยโรคโดยการส่งผ่านคลื่นความถี่วิทยุไปยังผู้ป่วย อยู่ในอุโมงค์สนามแม่เหล็กแรงสูง ซึ่งไม่มีการใช้รังสีเอ๊กซ์ (X-Ray) หรือสารทึบรังสีประเภทไอโอดีนในการตรวจ MRI จะบอกความสามารถในการบีบตัวของหัวใจ และสามารถใช้ดูเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจว่าอุดตันหรือไม่ การตรวจนี้ไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนเข้ารับการตรวจ สำหรับผู้ป่วยที่ให้ความร่วมมือในการนอนนิ่ง ๆ ได้ดี นานประมาณ 30 – 90 นาที โดยขณะนอนตรวจต้องนอนนิ่ง ๆ และหายใจเป็นจังหวะตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ ไม่เจ็บปวดขณะตรวจ
การสวนตรวจหัวใจ (Coronary angiogram)
แพทย์จะทำการตรวจหรือการฉีดสีโดยการใช้สายสวนขนาดเล็กผ่าศูนย์กลาง 2 มม. ใส่เข้าไปตามหลอดเลือดแดง อาจจะใส่จากบริเวณขาหนีบข้อพับแขนหรือข้อมือ ไปจนถึงจุดที่เป็นรูเปิดของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจทั้งซ้ายและขวา จากนั้นแพทย์จะใช้สารละลายทึบรังสีเอ็กซ์เรย์หรือที่เรียก “สี” ฉีดเข้าทางสายสวนนั้นไปที่หลอดเลือดโคโรนารี่ (ซึ่งก็คือเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ) เพื่อตรวจสอบดูว่ามีการตีบแคบหรือตันของหลอดเลือดหรือไม่ ความรุนแรงมาก น้อย ขนาดไหน และที่ตำแหน่งใดบ้าง เกิดขึ้นที่เส้นเลือดกี่เส้น ล้วนเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง
ตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ 64 Slice
เพื่อตรวจพยาธิสภาพของหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ต้องใส่สายสวนผ่านหลอดเลือดแดง เพื่อใช้ในการวินิจฉัยหลอดเลือดหัวใจ อีกทั้งสามารถตรวจหาปริมาณแคลเซียมหรือหินปูนที่เกาะตามผนังหลอดเลือดหัวใจ และสามารถตรวจการทำงาน ของกล้ามเนื้อหัวใจ ลักษณะทางกายภาพของหัวใจ และเยื่อหุ้มหัวใจภาพที่ได้จะถูกประมวลผลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่มีประสิทธิภาพชัดเจนและแม่นยำ ใช้เวลาตรวจเพียง 15-30 นาที ผู้รับการตรวจสามารถกลับบ้านได้ทันทีเมื่อทำการตรวจเสร็จ


ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลรามคำแหง
//www.ram-hosp.co.th




 

Create Date : 27 มีนาคม 2552   
Last Update : 27 มีนาคม 2552 10:15:24 น.   
Counter : 1500 Pageviews.  


คุณเริ่มมีการโรคหัวใจแล้วหรือยัง ?

คุณเริ่มมีการโรคหัวใจแล้วหรือยัง
มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ตัวเองว่ากำลังเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจขาดเลือดเข้าให้แล้ว และมีคนอีกจำนวนมาก ที่หลงไปว่า อาการที่ตัวเองเป็นอยู่บ่อยๆ เป็นอาการของโรคที่ไม่ร้ายแรง เป็นเพราะมีกรดในกระเพาะมาก เป็นเพราะเพลียจากการหักโหมงาน แค่กินยาไล่ลม ช่วยย่อย หรือพองานมันซาลง ทุกอย่างก็จะดีไปเอง
ที่ไหนได้ แล้วทุกอย่างมันก็สายเกินแก้ไปเสียแล้ว ทิ้งให้ลูกเมียต้องร้องห่มร้องไห้กับการสูญเสีย ที่ควรจะป้องกันได้ …….. ……ถ้ารู้ตัวเสียแต่เนิ่นๆ
อาการเริ่มแรกของโรคหัวใจขาดเลือด ได้แก่ อาการเจ็บหน้าอกหรือเหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย อาการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จะมีลักษณะจุกแน่นกลางหน้าอก อาจจะร้าวไปที่ไหล่ซ้ายด้านในของแขนซ้าย คอ กราม ขากรรไกรหรือหลังได้
อาการเจ็บที่เกิดขึ้นนี้มักจะเป็นแบบกดทับ, จุกแน่น, แสบ, หรือเหมือนถูกบีบรัด มากกว่าเจ็บแบบถูกเข็มแทง, เจ็บแปลบๆ หรือชาๆ อาการเจ็บหน้าอกนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นช่วงกล้ามเนื้อหัวใจต้องการเลือดมาเลี้ยงมากกว่าปกติ เช่น ออกกำลังกาย เดินหรือวิ่งเร็วๆ เดินขึ้นที่สูงชันหรือขึ้นบันได หรือขณะเบ่งอุจจาระ เป็นต้น ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการมากขึ้นภายหลังรับประทานอาหาร อิ่มใหม่ๆ , โดนอากาศเย็น, อาบน้ำเย็น หรืออยู่ในที่อากาศเบาบาง แต่ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการขณะพักอยู่เฉยๆ หรือแม้กระทั้งขณะนอนหลับก็ได้หรืออาจมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่คล้ายอาหารไม่ย่อย อาการเหล่านี้มักจะทุเลาลงหลังจากนั่ง หรือนอนพักสักครู่ บางที อาการจุกแน่นที่ว่านี้ก็เกิดขึ้นมาเฉยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นขึ้นมาประเดี๋ยวก็หายไปเอง แล้วก็เป็นขึ้นมาอีก นึกเอาเองว่าเป็นเพราะอาหารไม่ย่อย ลมในท้องมากเกินไป กรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป
หรือมีอาการอ่อนเพลียตอนบ่ายๆ เย็น หลังจากที่ตรากตรำงานมาทั้งวัน ถ้าหากเอะใจและไปพบแพทย์ตรวจดูเสียให้ละเอียด โรคในระยะนี้ยังสามารถควบคุมให้เป็นปกติได้ไม่ยากนัก เพราะกล้ามเนื้อหัวใจเพิ่งจะเริ่มมีปัญหาเพิ่งจะมีอาการได้รับเลือด ไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ยังไม่ถึงกับมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย
คราวนี้ถ้าหากละเลย ปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการดูแลรักษา อาการก็จะทวีความรุนแรงขึ้น ตามปริมาณ ของกล้ามเนื้อหัวใจที่เริ่มเสียหาย อาการเจ็บหน้าอกที่เคยเป็นๆ หายๆ ก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ในบางราย อาจมีอาการคงที่อยู่ หลายปีก็ได้ ที่น่ากลัวและอันตรายมากที่สุดคือ จะมีโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดแดงอุดตันทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือหัวใจวาย หัวใจหยุดเต้นไปเฉยๆ ทำให้เสียชีวิตได้โดยง่าย เมื่อคุณมาโรงพยาบาลแพทย์จะเริ่มจากสอบถามประวัติอาการ เจ็บป่วยต่างๆ ที่พึงสงสัยรวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของคุณ
จากนั้นแพทย์ก็จะตรวจร่างกายทั่วไปทั้งตัว ทุกระบบของร่างกาย รวมทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด มีการฟังการเต้นของหัวใจ วัดความดันโลหิต ตามด้วยการเอ็กซเรย์ทรวงอกและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ตามปกติ และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test)
การตรวจร่างกายในระยะนี้ จะพบความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจอย่างชัดเจน โดยการตรวจคลื่นหัวใจ หรือทำการเดินสายพานทดสอบ ที่เรียกว่าเอ็กเซอร์ไซส์ สเตรสส์ เทสต์ (exercise stress test) และหากสงสัยว่า หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจกำลังมีปัญหาแน่แล้วก็อาจจะจำเป็นต้องได้รับการสวนหลอดเลือดของหัวใจ และฉีดสีดูเส้นเลือดหัวใจ เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคหรือประกอบการพิจารณาวิธีการรักษาด้วย
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันนี้นับเป็นภาวะที่อันตรายและต้องได้รับการรักษาอย่างรีบด่วนเพราะเราพบว่า ผู้ป่วยโรคนี้ร้อยละ 20 จะเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล และผู้ป่วยที่มาถึงโรงพยาบาลที่ได้รับการรักษาแล้วอีกร้อยละ 5-10 ก็ยังมีอัตราตายสูง โดยครึ่งหนึ่งของผู้โชคร้ายจะเสียชีวิตภายใน 1 – 2 ชั่วโมงแรก และประมาณกว่าร้อยละ 70 จะเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง
รู้อย่างนี้แล้วเริ่มสังเกตตัวเองเสียตั้งแต่วันนี้…………………… แต่ถ้าจะให้ดี ถ้าคุณคิดว่าเป็นคนหนึ่งที่มีปัจจัยเสี่ยง
ควรไปพบแพทย์ให้ตรวจเช็กร่างกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง จะไม่ดีกว่าหรือ

ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลรามคำแหง
//www.ram-hosp.co.th




 

Create Date : 26 มีนาคม 2552   
Last Update : 26 มีนาคม 2552 14:50:21 น.   
Counter : 1332 Pageviews.  


จิตใจกับโรคหัวใจ … ความโยงที่เกี่ยวเนื่อง

จิตใจกับโรคหัวใจ … ความโยงที่เกี่ยวเนื่อง
…. หลายคนคงจะเคยทราบว่า จิตใจมีผลต่อโรคทางกายมากมาย อย่างที่เขากล่าวไว้ว่า “ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ” ซึ่งโรคหัวใจก็ดูเหมือนจะเป็นโรคทางกายอีกโรคหนึ่ง ที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากจิตใจเช่นเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเป็นโรคนี้แล้ว กลับมีผลส่งย้อนมาสู่จิตใจอีกด้วย จึงเป็นเสมือนปฏิกิริยาสะท้อนที่เกิดขึ้นระหว่างจิตใจกับโรคหัวใจ ฉะนั้นผมในฐานะของจิตแพทย์ ขอหยิบยกเรื่องราวในส่วนนี้มานำเสนอให้ทราบว่า จิตใจกับโรคหัวใจนั้น มีส่วนสัมพันธ์โยงใยกันอย่างไร ครับ
*** ก่อนอื่นผมขอให้คุณลองสังเกตคนใกล้ชิด หรือคนที่คุณรู้จักที่ป่วยเป็นโรคหัวใจสักนิดว่า สภาพจิตใจ และบุคลิกภาพเดิมก่อนที่เขาจะป่วย และหลังจากป่วยแล้ว เขาเป็นเช่นไร เพราะสิ่งที่ผมจะกล่าวต่อไปนั้น เป็นเรื่องราว ความสัมพันธ์ของจิตใจกับโรคหัวใจ ซึ่งจะทำให้คุณได้มองเห็น และเข้าใจผู้ป่วยโรคหัวใจมากยิ่งขึ้น โดยผมได้แยกรายละเอียดออกเป็น 2 ประเด็นหลัก ดังนี้
*** ประเด็นแรก พื้นฐานด้านจิตใจ และบุคลิกภาพที่ส่งผลให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจพบว่าโรคหัวใจแต่ละประเภท จะมีความเกี่ยวเนื่องกับพื้นฐานทางด้านจิตใจ แต่เดิม และบุคลิกภาพของผู้ป่วยแต่ละคน แตกต่างกันไป อาทิเช่น
โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตัน จะพบมากในคนที่มีบุคลิกภาพกร้าวร้าว ย้ำคิด ย้ำทำ ละเอียดละออ ขาดความอดทน อารมณ์ไม่แน่นอน และโกรธง่ายเมื่อมีความเครียด หรือเรียกอีกอย่างก็คือ พวกที่ชอบสร้างความเครียดให้กับตนเอง
โรคความดันโลหิตสูง มักจะเกิดกับคนที่ชอบแสดงอารมณ์ออกมาอย่างรุนแรง โดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ จะมีอารมณ์ที่มากกว่า การโกรธทั่วๆ ไป อย่างเช่น กรี๊ดร้อง หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ พวกโมโหร้ายนั่นเอง โรคหัวใจล้มเหลวจะเกิดขึ้นได้บ่อย ในบุคคลที่มักได้รับความกดดันจากสภาพภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สังคม ครอบครัว การทำงาน ฯลฯ จนเกิดเป็นความเครียด หรือแม้แต่ในคนที่มีปมขัดแย้งในจิตใจ อันเนื่องมาจากปัญหาในอดีต ซึ่งทำให้เกิดความทุกข์ คุกรุ่นอยู่ภายในใจ เกิดเป็นความเครียดสะสมไว้เป็นเวลานาน จนในที่สุดจึงแสดงออกมาเป็นอาการของโรค
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกี่ยวข้องกับเรื่องของความกดดันจากภายนอก เช่น เรื่องที่น่าตื่นเต้น ตกใจ น่ากลัว หรือปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ดังจะเห็นได้ชัดในกรณีที่เราตกใจ ก็จะรู้สึกใจสั่น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ นอกจากนั้น การที่เป็นคนโกรธง่าย หายช้า หรือที่ว่าไม่รู้จักให้อภัย เจ้าคิดเจ้าแค้น ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ป่วยเป็นโรคหัวใจประเภทนี้ได้
จะเห็นได้ว่าพื้นฐานทางด้านจิตใจ และบุคลิกภาพหลายๆ อย่าง ล้วนแล้วแต่มีส่วนส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจ โดยมักจะก่อให้เกิดความเครียด และค่อยๆ สะสม พัฒนาไปจนมีผลต่อหลอดเลือด และป่วยเป็นโรคหัวใจในที่สุด ฉะนั้น หากคุณต้องการที่จะลดความเสี่ยงของการป่วยเป็นโรคหัวใจลง ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความเครียด หรือถ้าเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องรีบจัดการกับความเครียดนั้นให้หมดไปโดยเร็วที่สุด ไม่ว่าจะด้วยวิธีการนั่งสมาธิ ฝึกจิตใจให้สงบ ผ่อนคลายจิตใจ ปรับจิตใจตนเอง ออกกำลังกาย หางานอดิเรกทำ รวมทั้งการเข้าพบจิตแพทย์ เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีการใช้ยา หรือจิตบำบัด
*** ประเด็นที่สอง ปฏิกิริยาทางด้านจิตใจของผู้ที่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคหัวใจพบว่า เมื่อผู้ป่วยทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคหัวใจ มักจะมีปฏิกิริยาทางด้านจิตใจ ต่อการป่วย ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผมจะขอกล่าวถึงเฉพาะปฏิกิริยาที่สร้างปัญหาให้แก่ผู้ดูแล และแพทย์ รวมทั้งมีผลทำลายสุขภาพของตัวผู้ป่วยเองให้เสื่อมโทรมลงครับ
** ความกลัว…ผู้ป่วยบางคนจะกลัวมาก กลัวจนไม่กล้าทำอะไรที่เคยทำได้ คอยแต่มุ่งรักษาสุขภาพตัวเอง และคอยเรียกร้องให้คนช่วยเหลือตลอดเวลา จนญาติผู้ดูแลเบื่อหน่าย และเครียดมากในการเฝ้าปรนนิบัติดูแล เพราะผู้ป่วยจะทำตัวเหมือนเด็กแบเบาะที่ต้องการการดูแล เอาใจ อย่างมาก วิตกกังวล ผู้ป่วยจะสับสนกับการป่วยของตน ระหว่างมีความหวัง กับสิ้นหวัง โดยจะแสดงออกเป็นความวิตกกังวล ถามซ้ำๆ เพื่อย้ำความแน่ใจ ซึ่งทำให้ผู้ดูแล รวมทั้งแพทย์เหนื่อยในการตอบคำถามเดิมๆ จนเปลี่ยนเป็นความรำคาญ และกลายเป็นความห่างเหิน ไม่อยากสนใจผู้ป่วยอีก ผู้ป่วยก็จะยิ่งวิตกกังวลมากขึ้น และสร้างความรำคาญมากขึ้น ซึ่งในที่สุดหากผู้ป่วยมีอาการทรุดลงจริงๆ อาจจะไม่ได้รับการตรวจพบก็ได้
** การปฏิเสธ เป็นการที่ผู้ป่วยใช้กลไกทางจิตอย่างหนึ่งด้วยการไม่ยอมรับกับความจริง ซึ่งพบมากในผู้ป่วยที่เคยแข็งแรงดี ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมาตลอด ทำให้ผู้ป่วยยอมรับไม่ได้ว่าตนเองป่วย และจะปฏิบัติตนไม่เหมือนผู้ที่ป่วย จึงไม่ยอมกินยา ไม่ยอมปรับกิจวัตรของตน รวมทั้งไม่ยอมมาพบแพทย์ตามนัด ยิ่งทำให้อาการของโรคทรุดหนักลง สร้างความหนักใจให้แก่ญาติผู้ดูแล และแพทย์ผู้รักษาเพิ่มมากขึ้น
** ซึมเศร้า ท้อแท้ เมื่อผู้ป่วยทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคหัวใจ จะเกิดความรู้สึกสิ้นหวัง ในชีวิต คิดว่าชีวิตจบสิ้นแล้ว ทำให้แสดงออก ในลักษณะของความซึมเศร้า หรือพยายามฆ่าตัวตายโดยทางอ้อม คือปฏิเสธการรักษาทั้งหมด เพื่อจะได้จากไปเร็วๆ กรณีนี้ญาติอาจเข้าใจว่า ผู้ป่วยปฏิเสธการรักษา แต่จริงๆ แล้วผู้ป่วยเสียใจอย่างรุนแรง และต้องการ การปลอบประโลม และความเข้าใจ อย่างมากจากญาติ หรือคนใกล้ชิด ครับ
*** การที่เราได้ทราบถึงปฏิกิริยาทางด้านจิตใจเหล่านี้ของผู้ป่วยโรคหัวใจ คงจะพอทำให้คุณเข้าใจ และให้การดูแล ประคับประคองจิตใจ ของพวกเขาได้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้อาการทรุดหนักลงไป หรือรักษาให้หายเร็วยิ่งขึ้น และตัวคุณเองก็จะอยู่กับพวกเขาได้อย่างมีความสุข ไม่เครียดจนป่วยตามเขาไปอีกคนครับ
*** มาถึงตรงนี้คุณคงจะพอเข้าใจ แล้วนะครับว่า จิตใจกับโรคหัวใจนั้น มีส่วนโยงใยเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร แล้วคราวนี้คุณก็จะได้เริ่ม สังเกตคนรอบๆ ข้างคุณ และโดยเฉพาะตัวคุณเอง ว่ามีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจหรือไม่ จะได้หาทางป้องกันไว้ก่อน หรือถ้าเป็นแล้วก็ดูแลรักษาให้ถูกต้อง ไม่ต้องสร้างความหนักใจตามมาภายหลังครับ


ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลรามคำแหง
//www.ram-hosp.co.th




 

Create Date : 26 มีนาคม 2552   
Last Update : 26 มีนาคม 2552 14:48:39 น.   
Counter : 1380 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  111  112  113  114  115  116  117  118  119  120  121  122  123  124  125  126  127  128  129  130  131  132  133  134  135  136  137  138  139  140  141  142  143  144  145  146  147  148  149  150  151  152  153  154  155  156  157  158  159  160  161  162  163  164  165  166  167  168  169  170  171  172  173  174  175  176  177  178  179  180  181  182  183  184  185  186  187  188  189  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com