นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

อาการปวดหัว.. น่ากลัวกว่าที่คิด

อาการปวดหัว.. น่ากลัวกว่าที่คิด
อยากรู้ใหม...ทำไมถึงปวดหัว? ปวดหัวตัวร้าย...ปล่อยไว้อาจอันตรายถึงชีวิต
ส่วนประกอบของศีรษะ
1. หนังศีรษะ
2. เนื้อเยื่อ
3. กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ
4. กะโหลกศีรษะ
5. เยื่อหุ้มสมอง
6. สมอง
7. อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับสมองและอาจมีส่วนในการปวดศีรษะได้แก่
- จมูก โพรงไซนัส
- นัยน์ตา
- ช่องหู
- ช่องปาก
- กระดูกต้นคอ
ประเภทของการปวดศีรษะมี 2 ประเภทหลักคือ
1. ไม่มีความผิดปกติร้ายแรง ได้แก่ ไมเกรน ภาวะทางจิตใจ ภาวะความตึงเครียดจากการทำงาน
โรคปวดศีรษะที่พบบ่อย
-ไมเกรน สาเหตุไม่ทราบแน่ชัด แต่หากภายในหนึ่งเดือนปวดมากกว่า 4 ครั้ง ควรพบแพทย์
- โรคปวดศีรษะแบบตึงเครียด สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนบางชนิด ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่อาจเป็นๆ หายๆ แบบเรื้อรัง
- โรคปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อและพังผืด สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากการตึงเครียดและตึงตัวของกล้ามเนื้อ ถ้าเป็นระยะแรกและมีอาการน้อยอาจจะหายได้เอง แต่ถ้าเป็นบ่อยครั้งและมีปัจจัยกระตุ้นก็จะเป็นเรื้อรังรักษายาก
2. มีความผิดปกติอย่างชัดเจน ได้แก่ อุบัติเหตุทางสมอง กล้ามเนื้อตึงตัว สาเหตุในสมอง สาเหตุนอกสมอง โรคทางกายอื่นๆ
โรคปวดศีรษะที่มีความอันตรายสูง
- อุบัติเหตุทางสมอง หลังประสบอุบัติเหตุถ้าไม่มีอาการครั้งแรกควรสังเกตุอาการภายใน 48 ชั่วโมง หรือในผู้สูงอายุควรสังเกตุอาการนานกว่านั้น ควรพบแพทย์ทันที
- เนื้องอกในสมอง
- ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง มักตรวจพบในเด็ก หรือผู้สูงอายุ ควรสังเกตุอาการเพื่อรีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
- ภาวะติดเชื้อในสมองจนเกิด ฝี หนอง ในสมอง ส่วนใหญ่มักเกิดจากการอักเสบติดเชื้อบริเวณใบหน้า เช่น ฟันผุ หูน้ำหนวก ไซนัส ควรพบแพทย์ทันที
สาเหตุของอาการปวดศีรษะ
1. กรณีการกระตุ้นระบบประสาทรับความรู้สึกในสมอง ได้แก่ ไซนัส เส้นเลือดในสมอง
2. กรณีการกระตุ้นระบบประสาทรับความรู้สึกนอกสมอง ได้แก่ หนังศีรษะ พังผืดและกล้ามเนื้อ เส้นเลือดแดงบริเวณศีรษะและคอ
3. กรณีที่เส้นประสาทถูกกระตุ้นจากก้านสมอง หรือ การเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทบางชนิดที่เกิดจาก สภาวะจิตใจ, อาหาร หรือสารเคมีบางประเภท
ลักษณะอาการที่ควรพบแพทย์โดยด่วน
1. ปวดศีรษะอย่างรุนแรง และเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน โดยไม่มีสัญญาณเตือน หรือมีการเพิ่มของความรุนแรงตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
2. ปวดศีรษะร่วมกับการชัก, มีไข้, ซึมลง หรือ มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
3. ปวดศีรษะเมื่อ ไอ จาม หรือมีการก้มตัว หรือ เบ่งอุจจาระ
4. ปวดศีรษะเรื้อรังเป็นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีช่วงหาย
5. ปวดศีรษะเรื้อรัง ที่มีอาการปวดข้างใดข้างหนึ่งตลอดไม่ย้ายตำแหน่ง
6. ปวดศีรษะเฉียบพลันในผู้ป่วยเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง หรือในผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด
7. ปวดศีรษะจากการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
8. กรณีที่เดิมเป็นไมเกรน รับประทานยาไม่ทุเลาภายใน 72 ชั่วโมง, มีอาการรุนแรงกว่าทุกครั้งที่เป็น หรือมีอาการแขนขาชา อ่อนแรง ตามัว อาเจียนมาก เดินเซร่วมด้วย
9. ปวดศีรษะที่เกิดร่วมกับอาการดังต่อไปนี้
- เดินเซคล้ายคนเมา วูบชาตามร่างกาย
- คัดจมูก น้ำมูกข้น ไอ เจ็บคอ
- ปวดกระบอกตา ตามัวลงอย่างรวดเร็ว
- ตาพร่ามัว คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- หูอื้อ ปวดในหูมาก การได้ยินลดลง
- ปวดตึงต้นคอ ชาหรือแขนขาอ่อนแรงลง
- พูดลำบาก พูดไม่ชัด ฟังไม่เป็นคำ
แนวทางการรักษา
จากประวัติโดยละเอียดจากผู้ป่วยและญาติ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อใช้เป็นแนวทางให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง
1. อายุที่เริ่มปวดศีรษะ ควรสังเกตว่าเริ่มปวดศีรษะมานานเท่าไร
2. ตำแหน่งที่ปวด บริเวณตำแหน่งที่ปวดจะช่วยให้วินิจฉัยได้ถูกต้องมากขึ้น
3. ลักษณะของอาการปวด เช่น แบบบีบรัด แบบตุบๆ เป็นต้น
4. เวลาที่เริ่มปวด เช่น หลังตื่นนอน หลังทำงานตอนบ่าย เป็นต้น
5. ระยะเวลาของอาการปวด เช่น ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ปวดระยะเวลาสั้นๆ ปวดเป็นๆหายๆ เป็นต้น
6. ความถี่ของการปวด ปวดทุกวันหรือไม่ ครั้งละกี่ชั่วโมง สัมพันธ์กับโรคอื่นหรือไม่
7. การดำเนินโรคของอาการปวด อาการรุนแรงมากขึ้นหรือไม่
8. อาการร่วม เช่น มีไข้สูง ตาพร่ามัว ชักเกร็งกระตุก เดินเซเสียการทรงตัว หรือแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก เป็นต้น
9. ปัจจัยที่กระตุ้นให้ปวด เช่น จากการใช้สายตานานๆ การอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ การอดนอน ความร้อนหรือแสงแดด เป็นต้น
10. ปัจจัยที่ทำให้หายปวด เช่น การพักผ่อนนอนหลับ การพักสายตา การรับประทานยา
11. ประวัติโรคทางกาย โรคทางระบบประสาท โรคทางจิตเวช
12. ประวัติการใช้ยาต่างๆ เช่น ยาที่รับประทานอยู่ขณะปวดศีรษะ หรือยารักษาโรคอื่นๆ ที่เป็นอยู่
การตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุประกอบการวินิจฉัย
1. การตรวจเลือด
2. การทำ X-Ray, CT Scan หรือ MRI สมอง
3. การเจาะน้ำไขสันหลัง
อาจไม่มีความจำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่ในดุจพินิจของแพทย์


//www.ram-hosp.co.th




 

Create Date : 06 กรกฎาคม 2552   
Last Update : 6 กรกฎาคม 2552 9:47:33 น.   
Counter : 3525 Pageviews.  


คุณเริ่มมีอาการโรคหัวใจแล้วหรือยัง

คุณเริ่มมีอาการโรคหัวใจแล้วหรือยัง ?
มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ตัวเองว่ากำลังเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจขาดเลือดเข้าให้แล้ว และมีคนอีกจำนวนมาก ที่หลงไปว่า อาการที่ตัวเองเป็นอยู่บ่อยๆ เป็นอาการของโรคที่ไม่ร้ายแรง เป็นเพราะมีกรดในกระเพาะมาก เป็นเพราะเพลียจากการหักโหมงาน แค่กินยาไล่ลม ช่วยย่อย หรือพองานมันซาลง ทุกอย่างก็จะดีไปเอง
ที่ไหนได้ แล้วทุกอย่างมันก็สายเกินแก้ไปเสียแล้ว ทิ้งให้ลูกเมียต้องร้องห่มร้องไห้กับการสูญเสีย ที่ควรจะป้องกันได้ …….. ……ถ้ารู้ตัวเสียแต่เนิ่นๆ
อาการเริ่มแรกของโรคหัวใจขาดเลือด ได้แก่ อาการเจ็บหน้าอกหรือเหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย อาการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จะมีลักษณะจุกแน่นกลางหน้าอก อาจจะร้าวไปที่ไหล่ซ้ายด้านในของแขนซ้าย คอ กราม ขากรรไกรหรือหลังได้
*** อาการเจ็บที่เกิดขึ้นนี้มักจะเป็นแบบกดทับ, จุกแน่น, แสบ, หรือเหมือนถูกบีบรัด มากกว่าเจ็บแบบถูกเข็มแทง, เจ็บแปลบๆ หรือชาๆ อาการเจ็บหน้าอกนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นช่วงกล้ามเนื้อหัวใจต้องการเลือดมาเลี้ยงมากกว่าปกติ เช่น ออกกำลังกาย เดินหรือวิ่งเร็วๆ เดินขึ้นที่สูงชันหรือขึ้นบันได หรือขณะเบ่งอุจจาระ เป็นต้น
*** ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการมากขึ้นภายหลังรับประทานอาหาร อิ่มใหม่ๆ , โดนอากาศเย็น, อาบน้ำเย็น หรืออยู่ในที่อากาศเบาบาง แต่ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการขณะพักอยู่เฉยๆ หรือแม้กระทั้งขณะนอนหลับก็ได้หรืออาจมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่คล้ายอาหารไม่ย่อย อาการเหล่านี้มักจะทุเลาลงหลังจากนั่ง หรือนอนพักสักครู่ บางที อาการจุกแน่นที่ว่านี้ก็เกิดขึ้นมาเฉยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นขึ้นมาประเดี๋ยวก็หายไปเอง แล้วก็เป็นขึ้นมาอีก นึกเอาเองว่าเป็นเพราะอาหารไม่ย่อย ลมในท้องมากเกินไป กรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป
หรือมีอาการอ่อนเพลียตอนบ่ายๆ เย็น หลังจากที่ตรากตรำงานมาทั้งวัน ถ้าหากเอะใจและไปพบแพทย์ตรวจดูเสียให้ละเอียด โรคในระยะนี้ยังสามารถควบคุมให้เป็นปกติได้ไม่ยากนัก เพราะกล้ามเนื้อหัวใจเพิ่งจะเริ่มมีปัญหาเพิ่งจะมีอาการได้รับเลือด ไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ยังไม่ถึงกับมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย
*** คราวนี้ถ้าหากละเลย ปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการดูแลรักษา อาการก็จะทวีความรุนแรงขึ้น ตามปริมาณ ของกล้ามเนื้อหัวใจที่เริ่มเสียหาย อาการเจ็บหน้าอกที่เคยเป็นๆ หายๆ ก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ในบางราย อาจมีอาการคงที่อยู่ หลายปีก็ได้ ที่น่ากลัวและอันตรายมากที่สุดคือ จะมีโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดแดงอุดตันทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือหัวใจวาย หัวใจหยุดเต้นไปเฉยๆ ทำให้เสียชีวิตได้โดยง่าย เมื่อคุณมาโรงพยาบาลแพทย์จะเริ่มจากสอบถามประวัติอาการ เจ็บป่วยต่างๆ ที่พึงสงสัยรวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของคุณ
*** จากนั้นแพทย์ก็จะตรวจร่างกายทั่วไปทั้งตัว ทุกระบบของร่างกาย รวมทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด มีการฟังการเต้นของหัวใจ วัดความดันโลหิต ตามด้วยการเอ็กซเรย์ทรวงอกและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ตามปกติ และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test)
การตรวจร่างกายในระยะนี้ จะพบความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจอย่างชัดเจน โดยการตรวจคลื่นหัวใจ หรือทำการเดินสายพานทดสอบ ที่เรียกว่าเอ็กเซอร์ไซส์ สเตรสส์ เทสต์ (exercise stress test) และหากสงสัยว่า หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจกำลังมีปัญหาแน่แล้วก็อาจจะจำเป็นต้องได้รับการสวนหลอดเลือดของหัวใจ และฉีดสีดูเส้นเลือดหัวใจ เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคหรือประกอบการพิจารณาวิธีการรักษาด้วย
*** ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันนี้นับเป็นภาวะที่อันตรายและต้องได้รับการรักษาอย่างรีบด่วนเพราะเราพบว่า ผู้ป่วยโรคนี้ร้อยละ 20 จะเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล และผู้ป่วยที่มาถึงโรงพยาบาลที่ได้รับการรักษาแล้วอีกร้อยละ 5-10 ก็ยังมีอัตราตายสูง โดยครึ่งหนึ่งของผู้โชคร้ายจะเสียชีวิตภายใน 1 – 2 ชั่วโมงแรก และประมาณกว่าร้อยละ 70 จะเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง
***** รู้อย่างนี้แล้วเริ่มสังเกตตัวเองเสียตั้งแต่วันนี้…………………… แต่ถ้าจะให้ดี ถ้าคุณคิดว่าเป็นคนหนึ่งที่มีปัจจัยเสี่ยง ควรไปพบแพทย์ให้ตรวจเช็กร่างกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง จะไม่ดีกว่าหรือ *****

//www.ram-hosp.co.th




 

Create Date : 29 มิถุนายน 2552   
Last Update : 29 มิถุนายน 2552 13:23:13 น.   
Counter : 1361 Pageviews.  


ภัยเงียบ…โรคหัวใจในผู้เป็นเบาหวาน

ภัยเงียบ…โรคหัวใจในผู้เป็นเบาหวาน
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเมื่อก่อนอาจจะเป็นเรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ในทุกวันนี้เกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรโลกรวมทั้งในประเทศไทยด้วย แต่ทราบหรือไม่ว่า โรคนี้มีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยเบาหวานเป็นอย่างมากเป็นภาวะแทรกซ้อน ที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมานาน และมีการควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดีพอ ทำให้เกิดความเสื่อมของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย เห็นได้จากสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ ในผู้ป่วยเบาหวานเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นอัตราการตายที่สูงกว่าผู้ที่ไม่เป็นเบาหวานถึง 7 เท่า
ทำไมต้องป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหัวใจจากเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีความผิดปกติของหลอดเลือดเร็วกว่าคนปกติทั่วไป รอยโรคเหล่านี้ (plaque) อาจจะมีการปริซึ่งจะเหนี่ยวนำทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดอย่างเฉียบพลันทำให้มีการตายของกล้ามเนื้อตามมา และนอกจากนั้นอัตราการเสียชีวิตก็เกิดขึ้นมากกว่า ถ้าเกิดขึ้นในผู้ป่วยเบาหวานการรักษาได้ผลดีน้อยกว่าคนทั่วไป การป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจย่อมดีกว่า การปล่อยให้เกิดโรคแล้วค่อยทำการรักษา อาการโรคหลอดเลือดหัวใจ ในผู้ป่วยเบาหวานแตกต่างจากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอื่นๆ หรือไม่ ?
… อาการเจ็บหน้าอกของโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ที่เป็นเบาหวานมักไม่ชัดเจนหรือไม่มี เนื่องจากมักมีปัญหาปลายประสาท รับความรู้สึกเสื่อมสภาพร่วมด้วย ทำให้วินิจฉัยโรคได้ยากกว่าปกติ อาการอื่นที่ทำให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคหัวใจ ได้แก่ อาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ อาการแน่น อึดอัด บริเวณกลางหน้าอก หน้าอกข้างซ้าย หรือลิ้นปี่ คล้ายอาการจุกเสียด อาหารไม่ย่อย อาการปวดร้าวที่ท้องแขนด้านใน หน้ามืด วิงเวียน เหงื่อออก ตัวเย็น ใจสั่น จะเป็นลม หรือหมดสติ
ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ?
… มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจขณะที่มีอายุน้อยกว่าคนทั่วไป และ มีความรุนแรงมากกว่าคนทั่วไปจะมีอัตราการเสียชีวิต และภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าคนทั่วไป เมื่อเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ มากกว่าคนทั่วไป 2- 4 เท่า มีโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ในผู้ป่วยหญิงมากกว่าชาย มักจะมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ความดัน ไขมันสูง ทำให้มีอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจสูงขึ้น
ทำไม..ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้มากกว่า หรือรุนแรงกว่าคนทั่วไป หรือคนที่เป็นโรคอื่น ?
... ระดับน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดความเสื่อมของผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ภาวะเบาหวานทำให้มีสารบางชนิดเพิ่มสูงขึ้น ในสารต่างๆ ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงเสื่อมได้เพิ่มขึ้น
*** ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 คือ อาจจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน และมักจะมีปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคความดันโหิตสูง และมีโรคอ้วน การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ระดับอินซูลินในเลือดสูง ส่งผลทำให้หลอดเลือดมีโครงสร้าง และหน้าที่ผิดปกติไปหลอดเลือดต่างๆ ที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดอักเสบมีโอกาสปริแตกทำให้มีลิ่มเลือดอุดตันอย่างเฉียบพลันได้
อาการอาจมีหลายอย่างเกิดขึ้นเวลาใดก็ได้ อาจมีภายหลังจากที่รับประทานอาหารในปริมาณมาก ตื่นนอนตอนเช้า อากาศเย็น หลังออกกำลังกาย ขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ (ในรายที่ท้องผูก) เป็นต้น อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องรีบพบแพทย์
ควรป้องกันและรักษาโรคแทรกซ้อนทางหลอดเลือดหัวใจจากเบาหวานอย่างไร ?
ภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ป้องกันได้ในผู้ป่วยเบาหวาน ต้องพยายามควบคุมเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมากที่สุด ได้แก่ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ และการแก้ไขภาวะผิดปกติที่พบร่วมกับโรคเบาหวาน เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ความอ้วน และอื่นๆ หรือในรายที่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดขึ้นแล้ว การดูแลตนเอง การรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ การไปพบแพทย์ตามนัดมีความสำคัญ
…. การป้องกันไม่ให้เกิดโรคย่อมดีกว่าการปล่อยให้เกิดโรคแล้วค่อยทำการรักษา
ผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องพยายามดูแลตนเองด้วยการควบคุมเบาหวานให้ดี เพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนโดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในผู้ป่วยเบาหวานด้วย


//www.ram-hosp.co.th




 

Create Date : 29 มิถุนายน 2552   
Last Update : 29 มิถุนายน 2552 10:35:58 น.   
Counter : 1326 Pageviews.  


โรคที่มาพร้อมกับ ความอ้วน

โรคที่มาพร้อมกับ ความอ้วน
- ความดันโลหิตสูง
เมื่อไขมันสะสมมากขึ้น หัวใจต้องส่งเลือดออกไปเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆมากขึ้น จนเกิดอาการความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน
เมื่อมีไขมันมากขึ้น อินซูลินจะทำงานด้อยลง
- โรคหัวใจโต
หัวใจต้องส่งเลือดไปเลี้ยงยังส่วนที่มีไขมันที่สะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ทำให้หัวใจมีขนาดใหญ่ขึ้น
- ไขมันในเลือดสูง
เมื่อคอเลสเตอรอลหรือไขมันชนิดเป็นกลางเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวง่าย
- โรคเก๊าท์ อาการ URATEMIA
กินมากไปดื่มมากไป ทำให้กรดยูริกในเลือดสูง
- หลอดเลือดแข็งตัว
โรคที่เกิดง่ายที่สุดสำหรับคนอ้วนคือ โรคที่เกิดจากอาการหลอดเลือดแข็งตัว
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
ไขมันในเส้นเลือดทำให้หลอดเลือดหัวใจแข็งตัว จนตีบอุดตันในที่สุด
- โรคหลอดเลือดสมอง
ไขมันในเส้นเลือดทำให้หลอดเลือดสมองแข็งตัว จนมีอาการเลือดออกในสมองเป็นต้น
- ไขมันในตับ
กินมากเกินไปดื่มมากเกินไป ทำให้ไขมันชนิดเป็นกลางสะสมอยู่ในตับ
- นิ่ว
น้ำดีแข็งตัวเป็นก้อนนิ่ว คนอ้วนหรือผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงมักเป็นกันมาก
- หลอดอาหารอักเสบ
ไขมันหน้าท้องกดกระเพาะทำให้ภายในมีแรงดันสูงขึ้นน้ำย่อยจึงไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหาร
- นอนกรน
กลุ่มอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ขณะนอนหลับเกิดจากไขมันที่จับตัวอยู่ในหลอดลม ทำให้ภายในตีบลงและเกิดแรงดัน
- ไขข้อเสื่อม
เกิดจากข้อต้องรับน้ำหนักตัวมากจนเกิดอาการปวดหรือจนกระทั่งข้อเปลี่ยนรูปผิดปกติ
- ปวดบั้นเอว
เกิดจากบั้นเอวต้องแบกรับน้ำหนักตัวมากจนปวด
- ฮอร์โมนเพศผิดปกติ
มีไขมันมากทำให้ฮอร์โมนเพศไม่สมดุล


ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลรามคำแหง
//www.ram-hosp.co.th




 

Create Date : 04 มิถุนายน 2552   
Last Update : 4 มิถุนายน 2552 11:08:26 น.   
Counter : 1263 Pageviews.  


วิธีฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด

วิธีฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด
แนวทางในการออกกำลังกายหลังจากออกจากโรงพยาบาล

*** ให้เริ่มออกกำลังกายหลังจากคุณได้ออกจากโรงพยาบาล คุณควรจับชีพจรของคุณก่อนการออกกำลังกาย และในขณะที่คุณออกกำลังกาย ถ้าชีพจรของคุณสูงเกินกว่า 25-30 ครั้ง/นาที จากชีพจรในขณะพัก หรือในขณะที่คุณออกกำลังกาย คุณไม่สามารถที่จะพูดกับคนข้างเคียงได้เพราะคุณต้องหยุดหายใจ ดังนี้ คุณควรที่จะลดระดับความหนักของการออกกำลังกาย ควรที่จะออกกำลังกายให้เบาลง
*** ก่อนที่จะออกกำลังกายทุกครั้งคุณควรที่จะทำการอบอุ่นร่างกายก่อนประมาณ 5-10 นาที เพื่อที่จะลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ จากการออกกำลังกาย
*** คุณสามารถที่จะออกกำลังกายได้ ทุกเวลาที่คุณคิดว่าทำได้หรือมีเวลา และเพื่อไม่ให้คุณรู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลีย คุณควรแบ่งเวลาให้ถูกต้อง ควรที่จะมีเวลาพักหลังทำกิจกรรมต่างๆ เสร็จแล้ว พยายามอย่าออกกำลังกายข้างนอก ในขณะที่อากาศร้อน และชื้นมากเกินไปอย่างเช่น ในช่วงกลางวัน ถ้าเป็นไปได้ควรที่จะออกกำลังในช่วงเช้า หรือว่าช่วงเย็นเพราะอากาศช่วงนี้ไม่ร้อนจัดก่อนที่จะออกกำลังกายในที่ที่มีอากาศร้อนคุณควรที่จะค่อยๆ ปรับตัวให้เข้ากับอากาศนั้นก่อน อย่าออกไปในที่มีอากาศร้อน เป็นเวลาอันยาวนานและควรดื่มน้ำทุกๆ 15 นาที เพื่อป้องกันภาวะ Dehydration หรือปริมาณน้ำในร่างกายต่ำ
*** ถ้าจะออกกำลังกายหลังอาหาร คุณควรที่จะรอสักหนึ่งชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหารแล้ว แล้วค่อยออกกำลังกาย (อาจจะต้องรอนานกว่าหนึ่งชั่วโมง ถ้าอาหารที่คุณทานจำพวกเนื้อสัตว์เป็นส่วนมาก)
*** ควรที่จะออกกำลังกายในแบบที่ไม่ทำให้คุณหอบหรือหายใจไม่ทัน ถ้าคุณออกกำลังกายแล้วมีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก หรืออ่อนเพลียมาก คุณควรที่จะหยุดการออกกำลังกาย และพักจนกว่าอาการนั้นจะหายไป แล้วค่อยกลับมาออกกำลังกายใหม่
… พยายามหลีกเลี่ยงการเดินขึ้นเนินในช่วง 2 สัปดาห์แรก และ ถ้าเป็นไปได้ควรจะเดินกับญาติหรือเพื่อนๆ ถ้าต้องการที่จะออกกำลังกาย โดยการใช้ Treadmill (เดินสายพาน) หรือ Bicycle (จักรยาน) คุณก็ควรที่จะทำตาม แนวทางที่กำหนดไว้เพื่อความปลอดภัย และก็เช่นกัน คุณควรที่จะเพิ่มปริมาณความหนัก และเวลาตามความเหมาะสม ที่คุณจะสามารถทำได้
*** ข้อควรปฏิบัติในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายที่บ้านหลังจากการผ่าตัดทรวงอกหรือหัวใจ
ใน 4 - 6 สัปดาห์หลังจากการผ่าตัด คุณจะค่อยๆ รู้สึกแข็งแรงขึ้นและมีกำลังมากขึ้น และการที่คุณมีสมรรถภาพเพิ่มมากขึ้นนั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น
- อายุของคุณ
- ปริมาณกิจกรรมที่คุณทำอยู่ก่อนที่จะได้รับการผ่าตัดหรือรักษาโรคหัวใจ
- โรคแทรกซ้อนอื่นหรือโรคประจำตัวที่คุณมีอยู่
- ความคิดของคุณ
- ความตั้งใจของคุณ
- ปริมาณกิจกรรมหรือ/ และการออกกำลังกายของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคุณควรที่จะเพิ่มปริมาณกิจกรรมของคุณตามความเหมาะสมของร่างกาย
- กิจกรรมที่ห้ามทำหลังจากการผ่าตัดทรวงอก (หัวใจ) ใน 4 สัปดาห์แรกคือ
*** ยกของหนักเกินกว่า 4.5 กิโลกรัม (10 ปอนด์)
*** ขับรถด้วยตนเอง
*** สิ่งที่ต้องดึง ดัน ผลัก
*** กิจกรรมที่ทำได้หลังจากการผ่าตัดทรวงอก (หัวใจ) คือ
….. ขึ้นบันได (นอกจากว่าแพทย์สั่งห้าม)
….. สระผม อาบน้ำ
….. นั่งในรถ
….. ไปซื้อของ
….. ไปทานข้าวข้างนอก
….. ทำงานบ้านที่เบาๆ อยู่ในบ้าน
….. พบปะสังสรรค์กับญาติ เพื่อนๆ
*** สิ่งที่จะทำให้คุณฟื้นตัวเร็วขึ้น คือ การเดิน และการจะทำให้คุณรู้สึกสดชื่นขึ้น การเดินช่วยทำให้ร่างกายคุณดีขึ้นดังนี้
*** การเดินช่วยให้กล้ามเนื้อที่ขาสูบฉีดเลือดไปให้หัวใจมากขึ้นทำให้การไหลเวียนของเลือดทั้งร่างกายดีขึ้น และทำให้แผลนั้นหายเร็วขึ้น คุณจะมีความรู้สึกที่ดีขึ้น
ข้อควรระวังและปฏิบัติหลังจากได้รับการผ่าตัดทรวงอก (หัวใจ)
- พยายามหายใจเข้าออกให้ถูกวิธี เช่น ในขณะที่ยกแขนขึ้นให้หายใจเข้า และเวลาเอาแขนลงให้หายใจออก ห้ามกลั้นหายใจ
- ในขณะที่ต้องยกแขนขึ้นเพื่อที่จะหวีผม หรือสระผม ควรระวังแผลที่หน้าอก กรุณาอย่าทำกิจกรรมพวกนี้เร็วจนเกินไป
- อย่า และหรือ ห้าม ยกของที่หนักกว่า 4.5 กิโลกรัม (10 ปอนด์) ในช่วง 4 สัปดาห์แรก หลังจากการผ่าตัด
- คุณไม่ควรที่จะดึง ผลัก หรือ ดันด้วยแขนโดยเฉพาะในเวลาที่จะต้องลุกขึ้นจากเก้าอี้ หรือที่นอน
- คุณควรที่จะให้คนข้างเคียงช่วยคุณในขณะที่จะลุกขึ้น หรือในขณะที่จะลุกขึ้นจากที่นอน คุณควรที่จะพลิกตัว แล้วใช้ศอกดันแล้วค่อยๆ ลุกจากที่นอน
- หากจำเป็นคุณควรใช้ไม้เท้า หรืออุปกรณ์ที่จะช่วยคุณเดินได้ด้วยดีมาช่วยในการเดิน ถ้าคุณรู้สึกว่าการทรงตัวของคุณยังไม่ดีเท่าที่ควร
- คุณควรที่จะเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจจะทำให้หัวใจของคุณแข็งแรงขึ้น ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการที่จะเป็นโรคแทรกซ้อน ช่วยให้คุณฟื้นตัวเร็วขึ้นเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายของคุณให้ดีขึ้น และสิ่งสำคัญการฟื้นฟูหัวใจจะช่วยลดภาวะที่คุณจะกลับมาเป็นโรคหัวใจอีก


ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลรามคำแหง
//www.ram-hosp.co.th




 

Create Date : 04 มิถุนายน 2552   
Last Update : 4 มิถุนายน 2552 10:59:28 น.   
Counter : 1387 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  111  112  113  114  115  116  117  118  119  120  121  122  123  124  125  126  127  128  129  130  131  132  133  134  135  136  137  138  139  140  141  142  143  144  145  146  147  148  149  150  151  152  153  154  155  156  157  158  159  160  161  162  163  164  165  166  167  168  169  170  171  172  173  174  175  176  177  178  179  180  181  182  183  184  185  186  187  188  189  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com