อุบัติเหตุทางตา
ปัจจุบันนี้ โรคภัยไข้เจ็บของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี มากขึ้นโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้เครื่องยนต์ เครื่องจักร และเครื่องไฟฟ้ามาเป็นส่วนสำคัญในการผลิตสินค้าต่างๆมากขึ้น การเดินทางที่รวดเร็วขึ้น สิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษมากขึ้น เหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อสุขภาพของเรา ทั้งทางตรง และทางอ้อม ตาเป็นเรื่องหนึ่งที่ได้รับผลเช่นเดียวกัน ทำให้ในปัจจุบันอัตราในการสูญเสีย ดวงตาจากอุบัติเหตุสูงมากขึ้น การปฐมพยาบาลหรือการปฏิบัติหลังได้รับอุบัติเหตุทางตาเป็นทางหนึ่งที่อาจช่วยลดความรุนแรง ให้น้อยลงได้ และสามารถป้องกันการสูญเสียดวงตาได้ บทความนี้จะเป็นการแนะนำวิธีการปฐมพยาบาบาลที่ถูกต้อง เมื่อท่านได้รับอุบัติเหตุทางตาจากสาเหตุต่างๆ เพื่อถนอมรักษาดวงตาอันมีค่าของท่านไว้
ลูกตาโดยธรรมชาติแล้ว ร่างกายมีโครงสร้างและกลไกในการป้องกันลูกตา จากอุบัติเหตุอย่างยอดเยี่ยมอยู่แล้ว ดังนี้
1. ลูกตาถูกหุ้มด้วย เนื้อเยื่อพวกไขมัน พังผืด และกล้ามเนื้อตา ซึ่งทำหน้าที่รองรับแรงยืดหยุ่นเวลามีแรงกระทบต่อลูกตา 2. กล้ามเนื้อตา ทำหน้าที่กลอกตาไปมาในทิศทางต่างๆ เพื่อหลบอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับตาได้ 3. ลูกตาฝังอยู่ในเบ้าตา ที่ล้อมรอบด้วยโพรงกระดูกที่แข็งแรง ยกเว้นทางเปิดด้านหน้าลูกตา ทำให้ช่วยลดแรงกระแทกจากอุบัติเหตุ 4. ด้านหน้าลูกตา มีคิ้ว หนังตา ขนตา ทำหน้าที่ป้องกันอุบัติเหตุ โดยตรงจากด้านหน้า เช่น หนังตาปิดเมื่อเจอฝุ่น หรือสารเคมี 5. ในลูกตามีน้ำตา ซึ่งชะล้าง ฝุ่น สิ่งสกปรก หรือสารเคมี ออกจากลูกตา
อันตรายจากอุบัติเหตุทางตา อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับตา จะมีผลรุนแรงต่อลูกตามากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ 1. ชนิดของอุบัติเหตุ อุบัติเหตุ โดยตรงจากของมีคม จะร้ายแรงกว่าอุบัติเหตุจากแรงกระแทก สารเคมีที่เป็นด่างจะมีความร้ายแรงมากกว่ากรด 2. ความรุนแรงของอุบัติเหตุ ถ้าแรงที่กระทบต่อตามีมากอาจทำให้ลูกตาแตกได้ 3. อวัยวะส่วนที่ได้รับอุบัติเหตุ ถ้าได้รับบาดเจ็บบริเวณรอบตา เช่น เปลือกตา กล้ามเนื้อตา เยื่อตา อาจไม่มีผลต่อสมรรถภาพในการมองเห็น แต่ถ้าได้รับบาดเจ็บภายในลูกตา เช่น จอประสาทตาจะมีโอกาสที่จะสูญเสียการมองเห็น 4. การปฐมพยาบาล ถ้าได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้องและรวดเร็วเช่น สารเคมีเข้าตา แล้วรีบล้างออกด้วยน้ำทันที ก็จะช่วยลดความรุนแรงได้ 5. โรคแทรกซ้อนที่เกิดหลังอุบัติเหตุ เช่น การติดเชื้อซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้สูญเสียดวงตา เช่น เศษเหล็กฝังในกระจกตาดำ ถ้าใช้เข็มไม่สะอาดเขี่ยออกอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ และลุกลามไปทั้งลูกตา ซึ่งอาจทำให้ต้องควักลูกตาออก เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคลุกลามไปที่สมองและเส้นเลือด เป็นต้น
การปฐมพยาบาลผู้ประสบอุบัติเหตุทางตา
อุบัติเหตุจากของมีคม หรือการกระแทก ให้สังเกตว่า ผู้บาดเจ็บลืมตาได้หรือไม่ ถ้าลืมตาไม่ได้ อย่าพยายามเปิดตาคนไข้ เพราะถ้าคนไข้เคืองตา ถ้าพยายามเปิดตา จะทำให้ความดันในลูกตาเพิ่มขึ้น จะเป็นอันตราย ให้รีบนำส่งจักษุแพทย์ ห้ามบีบตา เพราะจะทำให้รอยแผล หรือรอยฉีกขาดเพิ่มมากขึ้น ถ้าผู้ป่วยลืมตาได้ ให้ใส่ยาปฏิชีวนะสำหรับตา แล้วปิดด้วยผ้ากอซ รีบนำส่งจักษุแพทย์
สิ่งแปลกปลอม ฝุ่นหรือเศษเหล็กเข้าตา ให้ล้างตาหรือลืมตาในน้ำสะอาด เศษฝุ่นหรือเศษเหล็กอาจหลุดไปเอง ถ้าล้างตาแล้วยังมีอาการเคืองตาไม่ดีขึ้น ให้พบจักษุแพทย์ ห้ามเขี่ยเศษฝุ่นหรือเศษเหล็กเอง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งหากควบคุมการติดเชื้อในภายหลังไม่ได้ อาจเป็นผลให้ต้องสูญเสียดวงตาได้
สารเคมี เมื่อสารเคมีที่เป็นกรด ด่าง หรือเกลือ เข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดให้มากที่สุดและนานที่สุด อย่างน้อย 2 ลิตร ห้ามใช้น้ำยาที่เป็นกรด หรือด่าง หรือสารเคมีใด ๆ ล้างตา บางคนเข้าใจผิด คิดว่า ถ้ากรดเข้าตาควรล้างด้วยน้ำยาที่เป็นด่าง ในทางตรงกันข้าม ผลจากปฏิกิริยาเคมีอาจได้สารเคมีที่เป็นสารอันใหม่ ซึ่งอาจจะรุนแรงกว่าสารเคมีเก่าที่เข้าตาเมื่อล้างตาแล้ว ให้รีบพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจสอบความรุนแรงของอวัยวะที่ถูกทำลาย โดยเฉพาะสารด่าง เพราะสารด่างสามารถเซาะกินเนื้อเยื่อตาต่อไป ในขณะที่สารกรดหรือเกลือ ถ้าล้างตาออกหมดแล้ว จะหยุดทำลายเนื้อเยื่อ
ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ล้างตาด้วยน้ำสะอาดให้มากที่สุดและนานที่สุด เพื่อล้างเศษสิ่งแปลกปลอม และเนื้อเยื่อที่ถูกเผาเป็นรอยไหม้ออกไป นอกจากนี้ยังช่วยลดอุณหภูมิในตาลงด้วย หลังจากนั้นให้รีบพบจักษุแพทย์ เพื่อการรักษาต่อไป แสงอุลตร้าไวโอเล็ต จากเชื่อมโลหะ อุปกรณ์ไฟฟ้า และแสงแดด แสงอุลตร้าไวโอเลต (UV) สามารถทำให้เซลผิวหน้าของตาดำทำให้เกิดแผลถลอกได้อาการ หลังจากโดนแสงประมาณ 4-6 ชั่วโมงจะเริ่มมีอาการเคืองตา ปวดตามาก น้ำตาไหล เหมือนมีอะไรอยู่ในลูกตา การรักษา หลับตาทั้ง 2 ข้าง ไม่ควรกลอกตา แล้วรีบพบจักษุแพทย์ แผลถลอกจะดีขึ้นเองภายใน 24-48 ชั่วโมง กรณีที่จ้องแสงอาทิตย์โดยตรง อาจทำให้มีรอยไหม้ที่จอประสาทตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นได้จึงควรป้องกันโดยสวมแว่นกันแดด แว่นกันแสงเชื่อมโลหะซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก
Create Date : 17 มีนาคม 2554 |
Last Update : 17 มีนาคม 2554 13:20:22 น. |
|
4 comments
|
Counter : 1591 Pageviews. |
|
 |
|
|