จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า....
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า เกือบทุกคนคงเคยมีอาการอาการแน่นท้อง จุกยอดอก แน่นหน้าอก แน่นในลำคอ กันมาบ้างแล้วเป็นแน่หลายคนเคยมีประสบการณ์มาแล้วคนละหลายๆ ครั้ง แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า อาการเหล่านี้เป็นอาการผิดสำแดงของทางเดินอาหารอย่างปกติธรรมดา หรือมีสาเหตุมาจากโรคหัวใจขาดเลือดกันแน่ ก่อนอื่นถามตัวเองเสียก่อนว่า มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจขาดเลือดมากแค่ไหน อายุขึ้นเลขสี่หรือยัง หลายคนยังเชื่อสุภาษิตฝรั่งที่ว่า ชีวิตเริ่มต้นเมื่อวัย 40 ความจริงน่าจะเป็นชีวิตที่ต้องระวังสุขภาพอย่างมาก เริ่มต้นที่วัย 40 มากกว่า บุหรี่ คุณสูบบุหรี่หรือเปล่า ถ้าเคยสูบแต่เลิกแล้วก็ต้องถามต่อว่า เลิกมานานแค่ไหน และเมื่อตอนที่ยังสูบอยู่ สูบหนักแค่ไหน ไขมันในเลือด สูงหรือเปล่า เอาเป็นว่าเคยตรวจบ้างหรือเปล่าก่อนดีกว่า ถ้าเคยตรวจ ตรวจครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ และผลการตรวจเป็นอย่างไร คนที่มีไขมันในเลือดสูง มีความเสี่ยงกับการเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนที่มีไขมันในเลือดปกติ หรือต่ำหลายเท่า เพราะไขมันนั่นแหละคือตัวการสำคัญที่จะไปจับตามผนังหลอดเลือด และทำให้หลอดเลือดอุดตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ เบาหวาน น้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติ และเป็นเวลานานๆ โดยไม่มีการควบคุมให้ดีพอ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอ ไม่แข็งแรง และป็นสาเหตุของหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้ ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เพราะคนที่มีความดันโลหิตสูงใช่ว่าจะทำให้เลือดมีแรงดันที่จะไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดีกว่าคนที่ความดันโลหิตปกติ ตรงกันข้าม มันกลับทำให้หลอดเลือดเกิดการหดเกร็งตัว และทำให้หัวใจขาดเลือดได้อีกเหมือนกัน อาการสำคัญอีกอย่างหนึ่งของโรคหัวใจขาดเลือดก็คือ อาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย แม้เพียงเดินหรืองานที่เคยทำได้สบายๆ มาบัดนี้เพียงนิดหน่อยก็ดูเหมือนว่าจะเหนื่อยเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม.....................วิธีดีที่สุดที่จะบอกให้ได้แน่นอนว่า อาการต่างๆ ที่น่าสงสัยนั้นเป็นอาการของโรคหัวใจหรือเปล่าก็คือ การไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กให้แน่ ----------อย่าผัดวันประกันพรุ่ง ----------แล้วคุณหมอจะมีวิธีตรวจให้รู้ได้อย่างไร ว่าคุณเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า ----------แพทย์จะเริ่มจาก สอบถามประวัติอาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่พึงสงสัยรวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของคุณ ----------จากนั้นแพทย์ก็จะตรวจร่างกายทั่วไปทั้งตัว ทุกระบบของร่างกาย รวมทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด มีการฟังการเต้นของหัวใจ วัดความดันโลหิต -----------ตามด้วยการเอ็กซเรย์ทรวงอกและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ตามปกติ และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) ----------คราวนี้หากสงสัยการตรวจที่จะบอกได้แน่ก็คือการตรวจฉีดสี เพื่อดูเส้นเลือดหัวใจ หรือที่เรียกว่าการสวนหลอดเลือดหัวใจ
..ฟังถึงตอนนี้ชักน่ากลัว ลองมารู้ให้จริงกันซิว่า วิธีการตรวจความผิดปกติของหัวใจนั้น ทำกันอย่างไร
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือที่เรียกว่า EKG เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจ โดยจะมีรูปแบบของคลื่นไฟฟ้าอัตรา และจังหวะการเต้นของหัวใจอาจเปลี่ยนแปลงไปตามความผิดปกติของหัวใจ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจถือว่าเป็นการตรวจที่ง่าย และสะดวก ผู้รับการตรวจจะไม่เจ็บจากการตรวจ การตรวจทำได้โดยการวัดคลื่นไฟฟ้าของหัวใจผ่านทางเอาสื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่วางไว้ตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ บริเวณหน้าอก แขน และขา แล้วบันทึกกราฟแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจนั้นลงบนกระดาษ ขั้นตอนการตรวจนี้ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที แต่บางที เราก็อาจจะไม่พบสิ่งผิดปกติในคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจบางชนิดได้ในการตรวจตามธรรมดา เนื่องจากถ้าหากหัวใจไม่ได้ทำงานหนักขึ้นการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจจะยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งอาจต้องใช้การทดสอบ สมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายต่อไป การบันทึกคลื่นไฟฟ้าชนิดติดตัว (Holter monitor) ในผู้ป่วยบางรายที่มารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แล้วไม่พบความผิดปกติในขณะนั้น แต่ผู้ป่วยอาจจะยังมีอาการที่น่าสงสัย ว่าหัวใจอาจมีความผิดปกติ แพทย์อาจจะแนะนำให้ใช้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดติดตัว ซึ่งผู้รับการตรวจจะต้อง นำเครื่องมือนี้พกติดตัวตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ทราบว่ากิจกรรมต่าง ๆ ใน 24 ชั่วโมง ของผู้รับการตรวจมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และเมื่อครบตามกำหนดเวลาจึงนำเทปที่บันทึกไว้มาแปรผล โดยเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล ที่ได้ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ต่อไป วิธีนี้จะทำให้สามารถบันทึกคลื่นหัวใจของผู้ที่มารับการตรวจในช่วงเวลาต่างๆ กัน ในขณะที่มีกิจกรรมต่างๆ ตลอดวัน การตรวจสมรรถภาพหัวใจ (Exercise Stress Test) เป็นการตรวจสมรรถภาพของหัวใจโดยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เดินบนสายพานเลื่อน หรือปั่นจักรยาน เพื่อทดสอบว่าเมื่อหัวใจมีความต้องการในการใช้ออกซิเจนจากเลือดเพิ่มมากขึ้นในขณะที่ออกกำลังกาย และจะเกิดภาวะ การขาดเลือดขึ้นหรือไม่ เนื่องจากหากผู้ป่วยมีภาวะของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันอยู่ก็จะทำให้มีเลือด ไปเลียงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอเมื่อต้องออกกำลังกาย และจะมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงไป บางราย จะเกิดอาการเจ็บจุกแน่นหน้าอก และอาจเป็นอันตรายได้หากผู้ป่วยไม่ได้ทราบมาก่อนว่าเกิดจากโรคหัวใจ การตรวจเริ่มต้นด้วยการให้เดินบนสายพานโดยเริ่มจากช้าๆ แล้วเร่งความเร็วขึ้นจนได้ข้อมูลเพียงพอในการวินิจฉัย ใช้เวลาทด สอบประมาณ 30 นาที และควรงดอาหารก่อนการทดสอบประมาณ 1 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันอาการจุกเสียด เวลาเดิน สวมเสื้อผ้า และรองเท้าที่สบายๆ การตรวจความผิดปกติของหลอดเลือดขนาดใหญ่ด้วยเครื่อง ABI ตรวจความผิดปกติของหลอดเลือดขนาดใหญ่ ช่วยบ่งชี้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอัมพาต อัมพฤกษ์ ซึ่งเมื่อพบความผิดปกติสามารถพิจารณาให้ยาเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงรวมทั้งการบริการตรวจดัชนีการแข็งตัวของหลอดเลือด โดยใช้เครื่องวัด ABI (Ankle-Brachial Index) ซึ่งเป็นการวัดความผิดปกติของ หลอดเลือดด้วยการวัดแรงดันโลหิตตรงส่วนปลายขา เทียบสัดส่วนกับแรงดันโลหิตที่แขนข้างเดียวกัน ซึ่งเป็นการ บ่งชี้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอัมพาต อัมพฤกษ์ได้ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) การตรวจหัวใจภายนอก โดยใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ช่วยในการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง จะ ทำให้เห็นการเคลื่อนและการบีบตัวของหัวใจว่าปกติดีหรือไม่ ความเร็ว และความดันเลือดเป็นอย่างไร ตลอดจนตรวจดูความพิการของหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ และโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 2030 นาที ทำให้ทราบถึงรูปร่างของหัวใจ ความหนาของผนังหัวใจผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับลิ้นหัวใจ สามารถดูการเคลื่อนไหวของผนังหัวใจเปรียบเทียบกัน ทั้งขณะที่พักหรือนอนเฉยๆ กับขณะที่มีการออกกำลังกาย การตรวจวิธีนี้สามารถดูได้จากจอแสดงผล และบันทึกเก็บไว้เป็นรูปภาพได้เพื่อการตรวจสอบต่อไป ในอนาคตบางคนเรียกการตรวจวิธีนี้ว่า ตรวจเอ็กโคหัวใจ การตรวจด้วยเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยใช้ในการตรวจ และแสดงภาพอวัยวะต่าง ๆ ได้ใกล้เคียงกับอวัยวะจริงมากที่สุด เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคมีความไวและความจำเพาะในการวินิจฉัยโรคโดยการส่งผ่านคลื่นความถี่วิทยุไปยังผู้ป่วย อยู่ในอุโมงค์สนามแม่เหล็กแรงสูง ซึ่งไม่มีการใช้รังสีเอ๊กซ์ (X-Ray) หรือสารทึบรังสีประเภทไอโอดีนในการตรวจ MRI จะบอกความสามารถในการบีบตัวของหัวใจ และสามารถใช้ดูเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจว่าอุดตันหรือไม่ การตรวจนี้ไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนเข้ารับการตรวจ สำหรับผู้ป่วยที่ให้ความร่วมมือในการนอนนิ่ง ๆ ได้ดี นานประมาณ 30 90 นาที โดยขณะนอนตรวจต้องนอนนิ่ง ๆ และหายใจเป็นจังหวะตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ ไม่เจ็บปวดขณะตรวจ การสวนตรวจหัวใจ (Coronary angiogram) แพทย์จะทำการตรวจหรือการฉีดสีโดยการใช้สายสวนขนาดเล็กผ่าศูนย์กลาง 2 มม. ใส่เข้าไปตามหลอดเลือดแดง อาจจะใส่จากบริเวณขาหนีบข้อพับแขนหรือข้อมือ ไปจนถึงจุดที่เป็นรูเปิดของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจทั้งซ้ายและขวา จากนั้นแพทย์จะใช้สารละลายทึบรังสีเอ็กซ์เรย์หรือที่เรียก สี ฉีดเข้าทางสายสวนนั้นไปที่หลอดเลือดโคโรนารี่ (ซึ่งก็คือเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ) เพื่อตรวจสอบดูว่ามีการตีบแคบหรือตันของหลอดเลือดหรือไม่ ความรุนแรงมาก น้อย ขนาดไหน และที่ตำแหน่งใดบ้าง เกิดขึ้นที่เส้นเลือดกี่เส้น ล้วนเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30 นาที 1 ชั่วโมง ตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ 64 Slice เพื่อตรวจพยาธิสภาพของหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ต้องใส่สายสวนผ่านหลอดเลือดแดง เพื่อใช้ในการวินิจฉัยหลอดเลือดหัวใจ อีกทั้งสามารถตรวจหาปริมาณแคลเซียมหรือหินปูนที่เกาะตามผนังหลอดเลือดหัวใจ และสามารถตรวจการทำงาน ของกล้ามเนื้อหัวใจ ลักษณะทางกายภาพของหัวใจ และเยื่อหุ้มหัวใจภาพที่ได้จะถูกประมวลผลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่มีประสิทธิภาพชัดเจนและแม่นยำ ใช้เวลาตรวจเพียง 15-30 นาที ผู้รับการตรวจสามารถกลับบ้านได้ทันทีเมื่อทำการตรวจเสร็จ
ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลรามคำแหง //www.ram-hosp.co.th
Create Date : 27 มีนาคม 2552 |
Last Update : 27 มีนาคม 2552 10:15:24 น. |
|
2 comments
|
Counter : 1658 Pageviews. |
|
 |
|
|
โดย: หมี IP: 127.0.0.1, 202.5.87.131, 202.5.95.205 วันที่: 8 กันยายน 2552 เวลา:14:59:06 น. |
|
|
|