นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
เบาหวาน......(เมื่อน้ำตาลเป็นพิษ)


อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อน มีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ โรคเบาหวานเกิดจากร่างกายขาดอินซูลินหรือบางที่ไม่ขาด แต่อินซูลินที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผลเต็มที่ ทำให้ร่างกายใช้น้ำตาลไม่ได้ตามปกติ ยังผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น นานๆ เข้าทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุให้พิการหรือเสียชีวิต
โดยปกติเมื่อเรากินอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลเข้าไป อาหารเหล่านี้จะถูกย่อยกลายเป็นโมเลกุลของน้ำตาลเล็กๆ แล้วจึงถูกดูดซึมจากลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดนำส่งเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงาน การใช้น้ำตาลให้เกิดพลังงานนี้ต้องอาศัยอินซูลิน เมื่อขาดอินซูลิน น้ำตาลในเลือดจึงสูงกว่าปกติ น้ำตาลในเลือดนั้นมีหลายชนิด สำหรับน้ำตาลในโรคเบาหวานเราจะหมายถึงน้ำตาลกลูโคสเท่านั้น

โรคเบาหวานที่พบบ่อยมี 2 ชนิด คือ
ชนิดที่ 1 ต้องพึ่งอินซูลิน มักพบในคนอายุน้อย เด็กและวัยรุ่น ในผู้ใหญ่พบได้บ้างต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลินทุกวัน ถ้าขาดยาอาจเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงถึงตายได้ เกิดจากเซลล์สร้างอินซูลินในตับอ่อนถูกทำลายด้วยสาเหตุที่ยังไม่ทราบแน่นอน ทำให้สร้างอินซูลินได้น้อย หรือไม่ได้เลย
ชนิดที่ 2 ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน เพราะตับอ่อนยังผลิตอินซูลินได้ในจำนวนที่อาจปกติ น้อยลง หรือมากขึ้น แต่อินซูลินที่มีอยู่นั้นไม่มีประสิทธิภาพดีเท่าที่ควร พบได้ในผู้ใหญ่ และคนอ้วน คนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปมีโอกาสเป็นเบาหวานมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ 2 นี้
สาเหตุของโรคเบาหวานยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่า กรรมพันธุ์ ความอ้วน การตั้งครรภ์ ความเครียด เป็นผู้สูงอายุ รวมทั้งโรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น เนื้องอกในต่อมหมวกไต และต่อมใต้สมอง เป็นปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญของการเกิดโรคนี้

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวาน
อาการกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะมากและบ่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด กินเก่งขึ้น ตาพร่ามัว เป็นอาการที่เกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง ถ้าสูงมากๆ อาจถึงกับซึมหรือหมดสติได้ ผู้ป่วยเบาหวานที่น้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก อาจไม่แสดงอาการเลยก็ได้ ฉะนั้นการตรวจสุขภาพจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเช่น คนอ้วน หญิงมีครรภ์ ผู้หญิงที่คลอดบุตรมีน้ำหนักแรกคลอดเกิน 4 กิโลกรัม และผู้มีญาติพี่น้อง (โดยสายเลือด) เป็นเบาหวาน คนปกติจะมีน้ำตาลในเลือดอยู่ในช่วง 70 - 115 มิลลิกรัม ต่อ เดซิลิตร น้ำตาลในเลือดต้องสูงเกิน 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จึงจะออกมาในปัสสาวะให้ตรวจพบได้ ดังนั้นการตรวจปัสสาวะอย่างเดียวเพื่อหาเบาหวานจึงไม่เพียงพอ ต้องใช้การตรวจเลือดดูระดับน้ำตาล
จะควบคุมเบาหวานได้อย่างไร รักษาให้หายได้ไหม
เบาหวานเป็นโรคเรื้องรังที่รักษาไม่หายขาดแต่ควบคุมได้ โดยการดูแลรักษาอย่างจริงจัง และต่อเนื่องตลอดชีวิต จุดประสงค์ของการรักษาเพื่อ
1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เพื่อป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ
2. ให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่อย่างปกติ หรือใกล้เคียงปกติสามารถประกอบภาระกิจต่างๆ ได้เหมือนคนทั่วไป

การรักษาเบาหวานให้ได้ผลดี จะต้องประกอบด้วย
1. การควบคุมอาหาร
2. การออกกำลังกาย
3. การให้ความรู้เกี่ยวกับเบาหวาน แก่ผู้ป่วย และญาติผู้ดูแล
4. การใช้ยาลดน้ำตาล (อาจไม่จำเป็นในบางราย)

1. การควบคุมอาหาร
การควบคุมอาหารอย่างสม่ำเสมอ จำเป็นและสำคัญยิ่ง แม้ในผู้ป่วยเบาหวานที่รักษาด้วยยากินหรือยาฉีด ผู้ป่วยควรได้รับอาหารครบทุกหมู่ในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสม อาหารที่จำเป็นแก่ร่างกายได้แก่ ควร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เกลือแร่ และวิตามิน และใยอาหาร (Dietary fiber)
ปริมาณอาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องการนั้น ขึ้นอยู่กับวัย น้ำหนักตัว และกิจวัตรประจำวันของแต่ละคน เด็ก ผู้ใช้แรงงาน หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ต้องการอาหารมากขึ้น ผู้สุงอายุต้องการอาหารน้อยลง คนอ้วน ควรได้รับอาหารน้อยลงเพื่อลดน้ำหนัก
อาหารที่ให้พลังงาน คือ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน คาร์โบไฮเดรตและโปรตีน 1 กรัมให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ ไขมัน 1 กรัมให้พลังงานถึง 9 กิโลแคลอรี่ คนที่กินไขมันมากจึงอ้วนง่าย
โดยทั่วไปผู้ป่วยเบาหวานจะต้องการพลังงานอาหารวันละ 20-45 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัวมาตรฐาน (เป็นกิโลกรัม) พลังงานนี้ควรได้จากคาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 50-60 โปรตีนร้อยละ 15-20 และไขมันร้อยละไม่เกิน 30 ของพลังงานทั้งหมด โดยให้มีโคเลสเตอรอลไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม (โคเลสเตอรอลมีมากในไข่แดง เครื่องในสัตว์ ปลาหมึก และหอยนางรม) และมีใยอาหารวันละประมาณ 20-35 กรัม อาหารควรแบ่งให้ 3 มื้อ ในจำนวนใกล้เคียงกัน ผู้ป่วยชนิดพึ่งอินสุลินควรมีอาหารว่างมื้อบ่าย และบางคนต้องการมื้อว่างก่อนนอนด้วย
อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานควรงด ได้แก่ อาหารน้ำตาลทุกชนิด เช่น น้ำปลาหวาน ขนมหวานต่างๆ ของหวาน ของเชื่อม น้ำผึ้ง ผลไม้กระป๋อง และครื่องดื่มที่มีรสหวานจากน้ำตาล เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ นมปรุงแต่งรสหวาน อาหารเหล่านี้ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเร็ว
สำหรับเครื่องดื่ม เช่น ชา กาแฟ โอวัลติน ถ้าต้องการรสหวาน อาจใช้น้ำตาลเทียมแทนน้ำตาล ที่ใช้ได้ในเบาหวานนี้มี 2 ชนิด คือพวก Aspartame ที่มีขายชื่อ อีควลและไดเอ็ต อีกชนิดหนึ่งคือขัณฑสกร (Saccharin) น้ำตาลเทียมจะให้รสหวาน โดยให้พลังงานน้อย และไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง แต่ไม่ควรใช้มากเกินไป
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรหลีกเลี่ยง เพราะให้พลังงานสูง (แอลกอฮอล์ 1 กรัมให้พลังงาน 7 กิโลแคลอรี่) บางชนิดมีน้ำตาลสูง เช่น เบียร์ ไวน์ เหล้าหวาน นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์ขณะท้องว่าง อาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำได้ในผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาเบาหวานอยู่
ผลไม้กินได้ในปริมาณจำกัด เนื่องจากมีน้ำตาล หลีกเลี่ยงผลไม้หวานจัด เช่นทุเรียน น้อยหน่า อย่างไรก็ตามผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรงดผลไม้ เนื่องจากผลไม้มีวิตามิน และใยอาหารสูง
อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานกินได้ไม่จำกัด และควรกินให้มากคือผักใบเขียวทุกชนิด ซึ่งให้พลังงานต่ำ มีใยอาหารสูง แต่มีข้อควรระวังคือ อันตรายจากยาปราบศัตรูพืชที่อาจตกค้างอยู่ ควรล้างให้สะอาดก่อนทุกครั้ง

2. การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายสม่ำเสมอมีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง การทำงานของหัวใจดีขึ้น ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด ลดน้ำหนักเมื่อใช้ร่วมกับการควบคุมอาหาร ลดความเครียด และในผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยทำให้ลดน้ำตาลในเลือดและเพิ่มประสิทธิภาพของอินซูลิน
การออกกำลังกายอาจใช้การเดิน จ๊อกกิ้ง วิ่ง ขึ้นลงบันได ถีบจักรยาน กายบริหาร รำมวยจีน เล่นเทนนิส ว่ายน้ำ ผู้ป่วยควรเลือกให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกาย ควรทำสม่ำเสมอ ติดต่อกันอย่างน้อยวันละ 15 - 20 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งอย่างน้อย ในคนที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนควรเริ่มทีละน้อยแล้วค่อยๆ เพิ่ม

ข้อควรระวังในการออกกำลังกาย ในผู้ป่วยเบาหวาน
1. อาจเกิดอาการน้ำตาลต่ำ ระหว่างออกกำลังกาย และหลังออกกำลังกายแล้วหลายชั่วโมง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ใช้อินซูลิน และใช้ยาเม็ดรักษาเบาหวาน
2. อาจมีน้ำตาลสูงขึ้นมาก ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน ที่ควบคุมเบาหวานไม่ดี
3. อาจทำให้อาการของโรคแทรกซ้อนที่ตา และที่ไตเลวลง ถ้าหักโหม
4. ไม่ควรฉีดอินซูลินที่แขนและขา ก่อนการออกกำลัง จะทำให้เกิดอาการน้ำตาลต่ำได้ง่าย เพราะอินซูลินจะถูกดูดซึมได้เร็ว ในบริเวณแขนขา ที่ออกกำลัง
5. ควรกินอาหารเพิ่ม หรือลดอินซูลินลง ถ้าต้องการออกกำลังกายหนักๆ

3. การให้ความรู้เกี่ยวกับเบาหวานแก่ผู้ป่วย และญาติผู้ดูแล
ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนและญาติ ควรมีความรู้ในการปฏิบัติตน และดูแลตัวเองได้ถูกต้อง ควรให้ความร่วมมือกับแพทย์สม่ำเสมอจะให้ผลดีในการรักษาเบาหวาน

4. การใช้ยา
จะใช้ยาต่อเมื่อการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายไม่ได้ผล ยาที่ใช้มีทั้งยาเม็ด และยาฉีด คือ อินซูลิน
ยาเม็ดรับประทาน แบ่งเป็น

ก. กลุ่ม Sulfonylureas มีหลายชนิดออกฤทธิ์ โดยกระตุ้นอินซูลินจากตับอ่อน และเพิ่มประสิทธิภาพของอินซูลิน

ข. กลุ่ม Biguanides ที่ใช้ในเมืองไทย คือ Metformin ไม่มีฤทธิ์กระตุ้นอินซูลิน มักใช้ในคนอ้วน และใช้ร่วมกับกลุ่ม Sulfonylureas พบอาการข้างเคียงได้บ่อย เช่นคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องเสีย

ค. Acarbose เป็นยาที่ช่วยลดการดูดซึมของอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาลจากลำไส้ ทำให้ควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้น มักใช้ร่วมกับยา ในข้อ ก. พบอาการข้างเคียงบ่อยมากเช่น ท้องอืด มีลมมาก ผายลมบ่อย และท้องเสีย
ยาเม็ดรับประทานทั้งหมดนี้ ห้ามใช้ในผู้ป่วยตั้งครรภ์

อินซูลิน
ต้องใช้ฉีดเท่านั้น เนื่องจากอินซูลินถูกทำลายโดยน้ำย่อยในกะเพาะอาหาร ได้มีผู้พยายามค้นคว้าหาวิธีการให้อินซูลินด้วย วิธีอื่นเช่น พ่นทางจมูก และกินทางปาก พบว่าให้ผลไม่ดีนัก และยังอยู่ในขั้นทดลองใช้
อินซูลินมีทั้งที่ได้จากสัตว์ คือ หมู และวัว (pork & beef insulin) และอินซูลินที่มีโครงสร้างเหมือนของคน (Human insulin) ปัจจุบันนิยมใช้อินซูลินที่เหมือนของคนมากกว่า อินซูลินยังแบ่งออกเป็นหลายชนิดตามระยะเวลาที่ออกฤทธิ์คือ
1. ชนิดออกฤทธิ์ระยะสั้น มีฤทธิ์นานประมาณ 5 - 7 ชั่วโมง ลักษณะเป็นน้ำใส ใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดและใต้ผิวหนัง เริ่มออกฤทธิ์ 1 ชั่วโมง หลังฉีด
2. ชนิดออกฤทธิ์ระยะปานกลาง อยู่ได้นาน 18 - 24 ชั่วโมง เริ่มออกฤทธิ์ 2 - 4 ชั่วโมงหลังฉีด มีฤทธิ์สูงสุด 6 - 12 ชั่วโมง
3. ชนิดออกฤทธิ์ระยะยาว อยู่ได้นานประมาณ 36 ชั่วโมง
4. ชนิดผสม มีทั้งอินซูลินออกฤทธิ์ระยะปานกลาง และระยะสั้นผสมอยู่ในขวด หรือหลอดเดียวกัน ในอัตราส่วน 90 : 10 , 80 : 20 , 70 : 30 , 60 : 40 , 50 : 50 สะดวกสำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ทั้งอินซูลินออกฤทธิ์ปานกลาง และระยะสั้นฉีด ในครั้งเดียวกัน อินซูลินชนิดที่ 2 , 3 และ 4 นี้ จะมีลักษณะขุ่นต้องผสมให้เข้ากันดีก่อนฉีด ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ห้ามฉีดเข้าหลอดเลือด
ความเข้มข้นของอินซูลิน = 100 ยูนิตต่อ 1 มิลลิลิตรบรรจุมาในขวด 10 มิลลิลิตร หรือหลอด 1.5 และ 3 มิลลิลิตร สำหรับใช้ฉีดจากปากกา ควรเก็บอินซูลินไว้ในตู้เย็นนอกช่องแช่แข็ง เนื่องจากอินซูลินมีฤทธิ์อยู่ได้ไม่นานจึงต้องใช้ฉีดทุกวัน จะฉีดบ้าง หยุดบ้างไม่ได้ ผู้ป่วยบางคนต้องฉีดถึงวันละหลายครั้ง การฉีดอินซูลินอาจใช้กระบอกยาฉีด หรือใช้ฉีดจากปากกา ข้อดีของปากกาคือ ไม่ต้องดูดยาเอง และพกพาได้สะดวก ควรเปลี่ยนที่ฉีดอินซูลินทุกวัน ไม่ควรฉีดซ้ำๆ ที่เดิมจะทำให้การดูดซึมยาไม่ดีเท่าที่ควร และมีปฏิกิริยาที่ผิวหนังได้ หน้าท้อง ต้นแขน หน้าขา และสะโพกเป็นที่สำหรับฉีดอินซูลิน พบว่ายาดูดซึมได้ดีที่สุดทางหน้าท้อง (และเจ็บน้อยกว่าด้วย)
เนื่องจากเบาหวานเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด จึงต้องมีการพยายามค้นคว้าวิจัยต่อไป เพื่อหาวิธีการและตัวยาใหม่ๆ ที่ดีกว่า รวมทั้งการทดลองปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งคือตับอ่อน และเซลล์ที่สร้างอินซูลินจากตับอ่อน ในอนาคตเราคงมีวิธีรักษาเบาหวานให้ได้ผลดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

การติดตามผลการรักษา
ผู้ป่วยเบาหวานควรติดตามดูผลการควบคุมน้ำตาลว่าได้ผลดีเพียงใด โดยอาจใช้การตรวจน้ำตาลในเลือด การตรวจปริมาณฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1C เป็น Glycosylated hemoglobin) และ ฟรุคโตซามีน (Fructo samin เป็น Glycosylated protein) และการตรวจน้ำตาลในปัสสาวะ

1. การตรวจน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดี อาจตรวจน้ำตาลในเลือดเดือนละครั้ง แต่ผู้ป่วยเบาหวานที่ยังควบคุมไม่ได้ หรือผู้ป่วยตั้งครรภ์ อาจจะต้องตรวจน้ำตาลในเลือดทุกวัน หรือวันละหลายครั้ง ผู้ป่วยอาจตรวจเองที่บ้านได้ โดยใช้เครื่องมือขนาดเล็กพกพาได้ ใช้เลือดที่เจาะจากปลายนิ้วหยดลงบนแผ่นอาบน้ำยาเข้าเครื่องตรวจ อ่านออกมาเป็นตัวเลข เครื่องมือนี้มีหลายแบบ และผลิตจากหลายบริษัท ราคาก็ต่างๆ กัน การตรวจชนิดนี้สิ้นเปลืองพอสมควร

2. การตรวจ HbA1C และ Fructosamine ต้องตรวจในห้องปฏิบัติการเท่านั้น HbA1C เป็นน้ำตาลที่จับกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง Fructosamine เป็นน้ำตาลที่จับกับโปรตีนในเลือด ค่า HbA1C บอกถึงการควบคุมน้ำตาลในช่วง 4 - 6 สัปดาห์ ก่อนการตรวจ ส่วนค่า Fructosamine บอกถึงระดับน้ำตาลในช่วง 7 - 10 วัน ก่อนตรวจ

3. การตรวจน้ำตาลในปัสสาวะ อาจใช้ยาเม็ดสำหรับตรวจหรือใช้แผ่นทดสอบน้ำตาล ตรวจก่อนมื้ออาหาร และก่อนนอน วิธีนี้ใช้ไม่ได้ในคนที่ไตเสื่อม มีข้อเสียคือ บอกระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ และน้ำตาลในเลือดจะต้องสูงพอสมควร คือเกิน 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จึงจะตรวจพบได้ ใช้บอกได้คร่าวๆ เท่านั้น

โรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน
โรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานได้แก่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอย่างมาก ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และโรคแทรกซ้อนเรื้อรังต่างๆ
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอย่างมาก (ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 500 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิต) มักเกิดกับผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมากและควบคุมน้ำตาลไม่ดี โดยเฉพาะในคนไข้ที่ต้องใช้อินซูลินแล้วขาดยา อาจเกิดในคนที่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าเป็นเบาหวานก็ได้ จะมีอาการอ่อนเพลีย กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะมาก คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หายใจหอบ ซึม เลอะเลือน และหมดสติในที่สุด ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนในโรงพยาบาล มิฉะนั้นอาจเสียชีวิตได้
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ พบได้บ่อยและอาจรุนแรงจนเสียชีวิต เกิดกับผู้ป่วยที่รักษาด้วยยากิน หรือ ยาฉีดสาเหตุจากการใช้ยามากเกินไป หรือใช้ยาเท่าเดิมแต่อดอาหาร หรือออกกำลังกายมากเกินไป จะมีอาการ หิว หงุดหงิด ปวดศีรษะ ตาลาย ใจสั่น มือสั่น เหงื่อแตก ชาตามปาก อ่อนเพลีย หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ตัวเย็น สับสน (ไม่จำเป็นต้องมีอาการครบหมดทุกอย่าง) ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอาจเป็นลมหมดสติหรือชักได้ ถ้าเป็นตอนกลางคืนขณะหลับจะฝันร้าย และปวดศีรษะในตอนเช้า อาการน้ำตาลต่ำนี้อาจเป็นอยู่นานหลายวันขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ใช้
วิธีรักษา เมื่อเริ่มมีอาการ ให้ดื่มน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ 1/2 แก้ว หรือกินน้ำตาล อมลูกกวาด จากนั้นให้ปรึกษาแพทย์ที่รักษาเพราะอาจต้องปรับยาที่ใช้อยู่ประจำ ถ้าผู้ป่วยหมดสติให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ป้องกันได้โดยการกินอาหารให้เป็นเวลา กินอาหารเพิ่มก่อนการออกกำลังกายที่หนักๆ หรือนานๆ กินของว่างหรือดื่มนมรองท้องไปก่อนถ้าต้องเลื่อนเวลาอาหารออกไป

โรคแทรกซ้อนเรื้อรัง
พบในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานหลายปี และควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี น้ำตาลที่สูงอยู่นานๆ นี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะระบบหลอดเลือด การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป เหมือนเป็นอันตรายแอบแฝง กว่าจะรู้ตัวเมื่อเกิดอาการก็สายเกินไป ยากจะรักษาให้กลับคืนเป็นปกติได้ โรคแทรกซ้อนเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยต้องการพิการ หรือเสียชีวิต สิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่ารักษาพยาบาลเป็นอันมาก
ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรได้ตระหนักถึงอันตรายแอบแฝงต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ การดูแลตนเองที่ดี และการปฏิบัติตัวถูกต้องเท่านั้นที่จะช่วยป้องกันอันตรายเหล่านี้ได้
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
1. ควบคุมอาหารสม่ำเสมอ
2. ออกกำลังกาย ตามความเหมาะสมกับสภาวะร่างกาย
3. ใช้ยาสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ
4. ศึกษาหาความรู้ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน และวิธีปฏิบัติตัว
5. พบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด เพื่อวัดผลการควบคุมน้ำตาล และตรวจหาโรคแทรกซ้อน
6. ตรวจน้ำตาลในเลือด หรือในปัสสาวะบ่อยๆ โดยเฉพาะในรายที่ควบคุมน้ำตาลไม่ดี
7. พกน้ำตาล ทอฟฟี่ หรือลูกกวาดติดตัวเสมอ และใช้ทันทีเมื่อมีอาการน่าสงสัยว่าน้ำตาลต่ำ
8. หมั่นตรวจเท้าทุกวัน ห้ามสวมรองเท้าคับ
9. ปรึกษาแพทย์เมื่อ มีอาการเจ็บไข้ มีอาการน้ำตาลต่ำ มีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น มีบาดแผล หรือแผลที่เท้า และเมื่อตั้งครรภ์




Create Date : 10 มีนาคม 2554
Last Update : 10 มีนาคม 2554 13:27:17 น. 2 comments
Counter : 1709 Pageviews.  
 
 
 
 
เป็นเบาหวานตอนอายุน้อยไม่รู้ว่าจะมีโอกาสหายหรือเปล่า ถ้าใครมียาสมุนไพรดีบอกบ้างนะคะ ทุกวันนี้ต้องฉีดยาอินซูลิน
อยู่ทุกวัน อยากหายค่ะ ติดต่อ 089-9840451

ขอบคุณมากค่ะ
 
 

โดย: ส้ม IP: 49.228.42.209 วันที่: 29 มิถุนายน 2554 เวลา:22:04:47 น.  

 
 
 
สวัสดีนะจ้ะ เราแวะมาเยี่ยมนะจ้ะ ^____^ สักคิ้ว 6 มิติ ลบรอยสักคิ้วด้วยเลเซอร์ ลบรอยสักคิ้ว Eyebrow Tattoo Removal เพ้นท์คิ้วลายเส้น เพ้นท์คิ้ว 3 มิติ
ให้ใจหายใจ สุขภาพ วิธีลดความอ้วน การดูแลสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย สุขภาพผู้หญิง สุขภาพผู้ชาย สุขภาพจิต โรคและการป้องกัน สมุนไพรไทย ขิง น้ำมันมะพร้าว ผู้หญิง ศัลยกรรม ความสวยความงาม แม่ตั้งครรภ์ สุขภาพแม่ตั้งครรภ์ พัฒนาการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ อาหารสำหรับแม่ตั้งครรภ์ โรคขณะตั้งครรภ์ การคลอด หลังคลอด การออกกำลังกาย ทารกแรกเกิด สุขภาพทารกแรกเกิด ผิวทารกแรกเกิด การพัฒนาการของเด็กแรกเกิด การดูแลทารกแรกเกิด โรคและวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารสำหรับทารก เด็กโต สุขภาพเด็ก ผิวเด็ก การพัฒนาการเด็ก การดูแลเด็ก โรคและวัคซีนเด็ก อาหารสำหรับเด็ก การเล่นและการเรียนรู้ ครอบครัว ชีวิตครอบครัว ปัญหาภายในครอบครัว ความเชื่อ คนโบราณ
 
 

โดย: สมาชิกหมายเลข 3762148 วันที่: 24 มีนาคม 2560 เวลา:16:07:14 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com