โรคกลัวโรงเรียน
หน้าที่ของผู้ใหญ่เมื่อตื่นเช้า ก็ต้องไปทำงาน ส่วนหน้าที่ของเด็กตื่นเช้า ต้องไปโรงเรียน แต่มีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ปฏิเสธ ไม่ยอมไปโรงเรียน บางรายต่อสู้อย่างรุนแรง ถ้าบังคับให้ไป ถึงขนาดหัวแตกปากแตก ต้องไปเย็บแผลก่อนไปโรงเรียน เพราะดิ้นสู้จนหน้ากระแทกประตูรถ หรือบางคนพ่อแม่ต้องจ้างพี่ๆ วินมอเตอร์ไซค์ให้มาพาตัวไปตอนเช้า เพราะเด็กตัวอ้วนแรงมาก ลำพังพ่อแม่สู้ไม่ไหว หรือรุนแรงขนาดขู่ฆ่าตัวตายถ้าจะให้ไปโรงเรียน ปัญหาโรคกลัวโรงเรียนในเด็กคงจะไม่รุนแรง ถ้าพ่อแม่ได้ช่วยเหลือแก้ไขตั้งแต่เริ่มแสดงอาการ โรคกลัวโรงเรียนมักพบในเด็กวัยเรียน โดยเฉพาะช่วงวัยอนุบาลไปจนถึงวัยประถมต้น อาการไม่ยอมไปโรงเรียนนั้น จะมีเฉพาะช่วงเดินทางไปโรงเรียน หรือก่อนจะขึ้นรถไปโรงเรียน มักพบในเด็กที่พ่อแม่เป็นผู้ไปส่งเด็กที่โรงเรียน อาการพบได้ตั้งแต่ ปวดหัว, ปวดท้อง, ปวดขา หาสาเหตุไม่พบว่ามีความผิดปกติ บางคนมีอาการน่าตกใจ คือ หน้าซีด ใจสั่น อาเจียน หรือต่อสู้มากจนต้องใช้กำลังจับตัวไปส่งโรงเรียน อาการทั้งหมดนี้จะเป็นเฉพาะวันจันทร์ถึงวันศุกร์ และไม่พบอาการเลยในเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงปิดเทอม พบมากตอนเปิดเทอมใหม่ โดยเฉพาะช่วงเปิดเทอมอนุบาล 2, 3, ป.1 หรือ ป.5 เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนระดับชั้นเรียนอย่างมาก หรือช่วงที่มีวันหยุดต่อเนื่องกันหลายวัน และอาการจะหายไปอย่างรวดเร็วในตอนสาย ๆ ของเช้านั้น สามารถวิ่งเล่นทำกิจกรรมได้ปกติ
พบว่าเด็กที่เป็นโรคกลัวโรงเรียนจะมี 2 ประเภท คือ กลุ่มเด็กที่มีพื้นฐานขี้กังวล อารมณ์อ่อนไหวง่าย ไม่มั่นใจในตัวเอง ขี้กลัวในสถานะการณ์ไม่คุ้นเคย ไม่ชอบอยู่คนเดียว พ่อแม่มักมีปัญหาขัดแย้ง เด็กกลุ่มนี้ ปกติเป็นเด็กเรียบร้อย เรียนดี ก่อนมีอาการกลัวโรงเรียน อาจถูกเพื่อนขู่, แกล้ง, ทำให้อับอาย หรือถูกครูตำหนิ เช่น เด็กชายเรียนชั้น ป.2 ปกติ เรียนเก่ง ขยัน ร่าเริง ขี้กังวล วันหนึ่ง เด็กท้องเสียกลั้นอุจจาระไม่อยู่ เพื่อน ๆ ได้กลิ่น ล้อเลียน ทำให้เด็กไม่ยอมไปโรงเรียน พ่อแม่ไม่เข้าใจ ลงโทษเด็กด้วยการตี เด็กต่อสู้จนพ่อแม่อ่อนใจ ปล่อยเด็กไว้ที่บ้าน 1 เดือน ครูต้องให้เด็กตก แล้วไปสอบซ่อมภายหลัง เด็กเสียความมั่นใจไปมาก พ่อแม่กลุ่มนี้ มักเป็นคนขี้กังวลเกี่ยวกับตัวเด็กเช่นกัน หรือเลี้ยงดูด้วยท่าทีปกป้อง ช่วยเหลือมาก
อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นเด็กเรียนไม่ดีอยู่เดิม แล้วป่วยต้องหยุดโรงเรียนช่วงสั้น ๆ ทำให้วิชาการที่ไม่ดีอยู่เดิมตกต่ำมากขึ้น ตามเพื่อนไม่ทัน พัฒนาไปเป็นอาการไม่อยากไปโรงเรียนประกอบกับอยู่บ้านได้ดูทีวี, เล่นเกมตามใจ ซ้ำพ่อแม่ไม่เคี่ยวเข็ญยอมตามใจเด็ก การช่วยเหลือจึงควรกระทำตั้งแต่แรกพบอาการ ไม่ควรปล่อยไว้นาน พบว่าการแก้ไขตั้งแต่เล็กอย่างเอาจริงเอาจัง ช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวได้ดีกว่า กระทำตอนเด็กโต โดยมีขั้นตอนดังนี้
1.พ่อแม่เข้าใจอาการของเด็กว่าเป็นจากสภาพจิตใจ ไม่ใช่ความเจ็บป่วยทางร่างกาย 2. พ่อแม่ไม่ตำหนิลงโทษรุนแรง ขณะเดียวกันก็ไม่ตามใจ ยอมให้เด็กพักอยู่บ้าน 3.ในกรณีที่เด็กเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ควรให้ไปโรงเรียน แล้วไปพักที่ห้องพยาบาลแทนการนอนอยู่บ้าน 4.เตรียมเด็กกลับสู่โรงเรียน โดยจิตแพทย์เด็กจะประสานร่วมมือกับครูและครอบครัวเพื่อแก้ปัญหา 5.ช่วยเหลือให้เด็กได้มีพัฒนาการทางอารมณ์มั่นคงเผชิญปัญหาได้อย่างเหมาะสม มั่นใจ 6.ครูควรให้กำลังใจไม่ทำให้อับอาย 7. พ่อแม่เมื่อส่งเด็กที่โรงเรียนแล้วไม่ควรแสดงความกังวล ลังเลให้เด็กเห็น เด็กจะกังวลมากขึ้น 8.ในกรณีที่ครอบครัวมีปัญหาขัดแย้ง จำเป็นต้องไปรับการบำบัดร่วมด้วย เพื่อแก้ปัญหาที่สาเหตุ
โรคกลัวโรงเรียน พบได้ถึง 5 ใน 100 คน ถ้าอาการไม่มากนัก ครูทั่วไปมักให้คำแนะนำและจัดการได้ แต่ถ้าปัญหารุนแรงเด็กไม่ยอมไปโรงเรียนมากกว่า 1 สัปดาห์ ควรพามาพบจิตแพทย์เด็กโดยเร็ว ปัญหาจะคลี่คลายได้โดยง่าย อย่าอับอายถ้าต้องพาลูกพบจิตแพทย์เด็ก เพราะโรคกลัวโรงเรียนนี้มักพบในครอบครัวปกติทั่วไป การทิ้งปัญหาให้ผูกปมชัดเจน สร้างผลเสียต่อทั้งเด็กและครอบครัวในระยะยาว //ram-hosp.co.th
Create Date : 25 เมษายน 2554 |
Last Update : 25 เมษายน 2554 9:35:09 น. |
|
5 comments
|
Counter : 1651 Pageviews. |
|
 |
|
|