นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

โรคไตวายเรื้อรังจากเบาหวาน

การรักษาโรคเบาหวานในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพดีขึ้น ผู้ป่วยเบาหวานจึงมีชีวิตยืนยาวกว่าแต่ก่อน แต่ในขณะเดียวกันโรคแทรกซ้อนระยะท้ายจากเบาหวานก็พบได้บ่อยขึ้น ที่สำคัญได้แก่ โรคไตวายเรื้อรัง ปัจจุบันโรคไตวายระยะสุดท้ายในผู้ป่วยที่ต้องมาล้างไตประจำ เกิดจากโรคเบาหวานมากที่สุด
โรคเบาหวานจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไตวาย พบได้ประมาณ 35 - 40% ของผู้ป่วยเบาหวานที่พึ่งอินซูลิน และประมาณ 5%ของผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน มักพบในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมานานกว่า 15 - 20 ปี อย่างไรก็ตามไม่เกิดในผู้ป่วยเบาหวานทุกคน ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเป็นโรคไตวายเรื้อรังได้แก่ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เป็นระยะเวลานานๆ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และกรรมพันธุ์ ในขั้นแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการอะไร แต่ตรวจปัสสาวะจะพบว่ามีไข่ขาว ต่อมาอีกหลายปีจะเริ่มบวม และเมื่อไตเริ่มเสื่อมแล้ว การทำงานของไตจะลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งไตวายระยะสุดท้ายไม่สามารถหยุดยั้งได้ ผู้ป่วยจะมีอาการบวม ซึม ซีด เหนื่อย คลื่นไส้
ผู้ป่วยไตวายจากโรคเบาหวาน มักมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ของเบาหวานด้วย ที่สำคัญและพบบ่อยได้แก่ โรคหลอดเลือดแดง ทำให้เบาหวานขึ้นตา เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองตีบได้ มีความทุกข์ทรมานมาก แม้จะล้างไตอย่างดี คุณภาพชีวิตก็ไม่ดีนัก และมักมีชีวิตอยู่ได้สั้นกว่า ผู้ป่วยไตวายจากสาเหตุอื่น
โรคไตวายเรื้อรังจากเบาหวานไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่อุบัติการของโรคแทรกซ้อนนี้ สามารถลดลงได้ โดยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี และเมื่อไตเริ่มเสื่อมแล้ว เราสามารถชลอการเสื่อมของไตได้ โดยการลดอาหารพวกโปรตีน ควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยเฉพาะการใช้ยาพวก ACE inhibitor การป้องกันไตเสื่อมจึงมีความสำคัญมากและได้ผล ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง




 

Create Date : 16 มีนาคม 2554   
Last Update : 16 มีนาคม 2554 15:44:02 น.   
Counter : 1383 Pageviews.  


อ้วน (OBESITY)

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับความอ้วนด้วย
ความอ้วนหรือภาวะอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคต่างๆตามไปมากมาย เช่น

ผลต่อสุขภาพ มีการศึกษาจนมีหลักฐานแน่ชัดว่า ความอ้วนทำให้อัตรา การเกิดโรคในระบบต่างๆ มากขึ้น ได้แก่
1. ความดันโลหิตสูง

2. เบาหวาน หรือในคนไข้ที่เป็นเบาหวานอยู่แล้วความอ้วนจะทำให้เกิด ภาวะดื้อต่ออินซูลินฮอร์โมนได้ ข้อ (1.) และ (2.) เกี่ยวพันโดยตรงกับ อายุที่มากขึ้น และน้ำหนักตัวที่เพิ่ม ขึ้น

3. ภาวะเส้นเลือดแข็งตัว (ATHEROSCLEROSIS) อัตราเสี่ยงต่อการ เกิดโรคเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบจะสูงขึ้นทั้งในเพศชายและในเพศหญิงวัยกลางคน ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

4. โรคนิ่วในถุงน้ำดี และการที่มีไขมันแทรกในตับ

5. ระบบทางเดินหายใจ การทำงานของปอดจะลดลง บางครั้งถึงกับมีภาวะการหายใจลดลงทำให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในปอดในคนที่อ้วนมากๆ ทำให้เหนื่อยง่าย ง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา

6. โรคข้อเสื่อม และโรคข้ออักเสบเก๊าท์ จะมีอุบัติการณ์เพิ่มสูงมากในทั้ง 2เพศ

7. อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งบางอย่าง จะสูงขึ้น เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งของถุงน้ำดี และมะเร็งเยื่อบุมดลูก เป็นต้น

ผลต่อบุคคลิกภาพ ความสวยงาม และการยอมรับของสังคม คนที อ้วนมากๆ จะถูกมองว่ารับประทานเก่ง ไม่สนใจดูแลตัวเอง อาจถูกล้อ เลียนได้บ่อยทั้งหมดที่กล่าวมา พอจะเป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงไม่ควรปล่อยให้ตนเองมีภาวะอ้วนเกิดขึ้น

เมื่อไรถึงจะเรียกว่า อ้วน หรือมีภาวะอ้วน
ในปัจจุบัน เราใช้ BODY MASS INDEX (BMI) เป็นตัวบอกว่าบุคคลนั้นเกิดภาวะอ้วน จนกระทั่งจะทำให้เกิดโรคได้หรือยัง
วิธีการคำนวน BMI = น้ำหนักตัว (เป็นกิโลกรัม)/(ส่วนสูงเป็นเมตร)2
ค่าปกติของเพศหญิง BMI อยู่ระหว่าง 19 - 24
เพศชาย BMI อยู่ระหว่าง 20 - 25
(ลองคำนวนด้วยตัวเองดูสิครับ ว่าท่านเกิดภาวะอ้วนขึ้นหรือยัง)

ความอ้วนมีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง
99% ของภาวะอ้วน ไม่ทราบสาเหตุ
1% ของภาวะอ้วน เกิดจากโรค เช่น โรคทางต่อมไร้ท่อบางอย่างหรือยาบางอย่างที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยารักษาโรคเบาหวาน ยาคุม กำเนิด ยารักษาโรคภูมิแพ้ ยาทางด้านจิตประสาท 99% ที่บอกว่าไม่ทราบสาเหตุนั้น แท้จริงแล้วคือหาสาเหตุที่แน่นอนหรือโรคทางด้านร่างกายไม่ได้ แต่อาจอธิบายได้จาก กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม จากการสังเกตและศึกษาพบว่า กรรมพันธุ์เรื่องอ้วนมีส่วนทำให้เกิดภาวะอ้วนได้ ส่วนสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นฐานทางด้านวัฒนธรรม นิสัยการบริโภคอาหาร หรือชนิดและปริมาณไขมันในอาหารที่ได้รับอยู่ประจำการดำรงชีวิตลักษณะของกิจกรรมในการดำรงชีวิตมีผลทำให้ เกิดภาวะอ้วนขึ้นได้

สรุปง่ายๆ ก็คือ ถ้าไม่มีโรคที่ทำให้เกิดภาวะอ้วนเกิดขึ้นแล้ว การที่คน เรา จะอ้วนได้ง่าย ก็เนื่องจากมีกรรมพันธุ์อยู่แล้ว หรือความไม่สมดุลกัน ระหว่าง พลังงานที่ได้รับเข้าไป กับพลังงานที่ใช้ ถ้าพลังงานที่ได้รับ (รับ ประทาน เข้าไป) มากกว่าพลังงานที่ใช้ (ในการทำงานและการออกกำลัง กาย) จะทำให้ พลังงานเหลือสะสมในรูปของไขมัน

การรักษาภาวะอ้วน
ต้องมีจิตสำนึกที่ดีว่าไม่ควรจะปล่อยให้มีความอ้วนเกิดขึ้นและมีความ ตั้งใจแน่วแน่ที่จะคอยคุมน้ำหนัก อย่าปล่อยตัวเองให้เป็นทาสของความ อยากอาหารพึงระลึกไว้เสมอกินเพื่ออยู่ เพื่อสุขภาพม่ใช่อยู่เพื่อกินไปเรื่อยๆ จนอาจจะเกิดโรคขึ้นได้ ควบคุมอาหาร หรือเปลี่ยนลักษณะของอาหารที่รับประทานไม่ใช่อดอาหารควรรับประทานที่มีเส้นใยมากๆ เช่น ผลไม้บางอย่าง ลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ไขมัน ปริมาณอาหารที่รับประทาน ก็ควรจะเหมาะสมกับพลังงานที่ใช้ อย่ารับประทานจุกจิก ถ้าอดไม่ได้ให้เลือกรับประทาน ผลไม้ที่มีเส้นใยมากๆ เช่น ฝรั่งหรือแอปเปิ้ล
ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ (ถ้าได้เริ่มต้นทำแล้ว ควรจะทำต่อไปเรื่อยๆ อย่าง น้อยประมาณ 15 นาที ถึง ครึ่งชั่วโมง ในแต่ละวัน)
การใช้ยาลดความอ้วน ควรปรึกษาแพทย์ และอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพราะยาทุกอย่างมีผลข้างเคียงได้

โรคบางอย่าง เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคข้อเสื่อมนั้น การลด น้ำหนักตัวลงมา จะทำให้โรคดีขึ้นหรือง่ายที่จะควบคุมด้วยยาปริมาณน้อย บางครั้งจึงจำเป็นที่จะต้องใช้ยาลดความอ้วน เพื่อเป็นการเริ่มต้นในการ ลด น้ำหนัก




 

Create Date : 14 มีนาคม 2554   
Last Update : 14 มีนาคม 2554 16:03:47 น.   
Counter : 1305 Pageviews.  


โรคตาจากเบาหวาน




โรคตาจากเบาหวาน เป็นภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง ที่อาจเกิดขึ้นในตาของผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน มาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งได้แก่
จอประสาทตาเสื่อม คือความเสียหายที่เกิดกับเส้นเลือดที่มาเลี้ยงจอประสาทตา
ต้อกระจก คืออาการที่เลนส์แก้วตาขุ่นฝ้าบังการมองเห็น
ต้อหิน คือ ภาวะที่ความดันในดวงตาสูงกว่าปกติจนเส้นประสาทตาทำงานด้อยลง
โดยที่ต้อกระจกและต้อหินอาจจะเกิดกับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานก็ได้
โรคตาจากเบาหวานที่พบได้บ่อยที่สุด?
จอประสาทตาเสื่อมเป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่สุด และเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของการสูญเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุ ภาวะดังกล่าวเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดทั่วร่างกาย อันเป็นผลจากการที่น้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติเป็นเวลานาน เส้นเลือดที่จอประสาทตาจะมีการบวมและเกิดรอยรั่ว พบจุดเลือดออกและไขมันสะสมในเนื้อจอประสาทตา ในบางกรณีก็พบว่ามีเส้นเลือดผิดปกติงอกขึ้นมาตามผิวของจอประสาทตา

ผู้ที่เป็นเบาหวานทุกคนมีโอกาสเกิดภาวะดังกล่าวได้ ผู้ที่เป็นเบาหวานมายิ่งนานก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้น
ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่เป็นเบาหวานมานานกว่า15ปี จะพบภาวะนี้ได้ โดยจะมีความรุนแรงแตกต่างกันไป
อาการของจอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน
โดยทั่วไปจะไม่พบอาการอะไรทางตาเลยในระยะแรกของการเป็นโรคเบาหวาน การมองเห็นอาจจะปกติจนกระทั่งสภาวะดังกล่าวเป็นมากแล้ว แม้กระนั้นก็ไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด
อาการตามัวอาจเกิดขึ้นได้ภายหลังเมื่อจอประสาทตาได้รับผลกระทบจากน้ำที่รั่วออกจากเส้นเลือดเกิดภาวะ ที่เรียกว่าจอประสาทตาบวม หากพบเส้นเลือดผิดปกติบนผิวจอประสาทตาก็อาจทำให้มีเลือดออกภายในตาได้ การมองเห็นก็จะลดลง อย่างไรก็ตามบางครั้งโรคก็ลุกลามไปมากโดยที่คนไข้ยังไม่มีอาการอะไรเลย

จะตรวจพบภาวะนี้ได้อย่างไร?
ผู้ที่เป็นเบาหวานควรได้รับการตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง โดยทั่วไป จักษุแพทย์จะใช้ยาหยอดขยายม่านตา ร่วมด้วยเพื่อความสะดวกในการตรวจจอประสาทตาภายใน
จอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวานรักษาได้หรือไม่?
การรักษาภาวะนี้ ทำได้โดยการฉายแสงเลเซอร์ ไปยังจอประสาทตา เพื่อปิดรอยรั่วของเส้นเลือด ที่ทำให้จอประสาทตาบวม หรือหวังผลให้เส้นเลือดที่งอกผิดปกติหดเล็กลง
อย่างไรก็ตามการฉายแสงเลเซอร์ มักจะไม่ทำให้การมองเห็นที่เสียไปแล้วกลับดีขึ้นมากนัก โดยทั่วไป การใช้แสงเลเซอร์ จะช่วยผู้ป่วยเบาหวานไม่ให้สูญเสีย การมองเห็นรุนแรง ได้ประมาณ 60%ของผู้ป่วย ส่วนที่เหลืออาจต้องใช้การผ่าตัดร่วมด้วย

การฉายเลเซอร์ที่ตาเจ็บหรือไม่?
การรักษาโดยการฉายเลเซอร์เพื่อรักษาอาการเสื่อมจากเบาหวาน โดยทั่วไปจะรู้สึกเพียงเห็นแสงสว่างมากชั่วคราวไม่ทำให้เจ็บปวด ในผู้ป่วยบางรายที่ไวต่อความเจ็บปวดมากแพทย์ก็จะใช้ยาชาช่วยระงับความปวดได้ ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกทรมานแต่อย่างใด

อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะปกป้องเราจากจอประสาทตาเสื่อม ในโรคเบาหวาน?
การตรวจพบ และได้รับการดูแลในระยะแรกของโรค คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังนั้น ผู้ที่เป็นเบาหวาน นอกจากจะต้องควบคุมระดับน้ำตาล ตามคำแนะนำของอายุรแพทย์แล้ว ควรจะแน่ใจว่า ได้รับการตรวจจอประสาทตาอย่างน้อยปีละครั้ง
โรคตาจากเบาหวานอย่างอื่น พบได้บ่อยเพียงใด?
ผู้ที่เป็นเบาหวานจะมีโอกาสเกิดต้อกระจกและต้อหินได้ประมาณ2เท่าของคนปกติ และในกรณีของต้อกระจกมักเกิดเร็วกว่าคนทั่วไปด้วย




 

Create Date : 14 มีนาคม 2554   
Last Update : 14 มีนาคม 2554 10:08:11 น.   
Counter : 1374 Pageviews.  


การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน

การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน

เป็นที่ทราบกันดีว่า การออกกำลังกายมีประโยชน์สำหรับบุคคลทั่วไป และผู้ป่วยในหลายกลุ่มโรค แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การออกกำลังกายมีประโยชน์ในแง่ของการรักษาโรคได้ด้วย และยังสามารถป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ในกรณีของผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้อย่างชัดเจน

ก่อนอื่น ผู้ป่วยเบาหวานต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า สภาพร่างกายและความพร้อมด้านสุขภาพ โดยทั่วไปย่อมด้อยกว่าบุคคลทั่วไป ผลจากการวิจัยมากมายยืนยันความจริงข้อนี้ โดยพบว่า ทั้งชีพจร ความดันโลหิต อัตราการเผาผลาญออกซิเจน ความพร้อมของระบบหายใจ และระบบไหลเวียนล้วนต่ำกว่ามาตรฐาน ดังนั้น เราจึงควรตระหนักถึงความสำคัญ ของการออกกำลังกาย ในการใช้เป็นส่วนเสริมของการบำบัดรักษาผู้ป่วยเบาหวาน
ประโยชน์ของการออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดการสูญเสียทางสายตา มีโรคแทรกซ้อนทางหัวใจ ไต ระบบไหลเวียนโลหิต หรือ กระทั่งถึงแก่ความตาย และสาเหตุสำคัญก็คือ การที่ร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลิน ในการดึงเอาน้ำตาลในเลือดไปใช้ในเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกายได้

การออกกำลังกายมีส่วนช่วยเสริมในการบำบัดรักษาโรคเบาหวาน คือเป็นหนึ่งในสามส่วนของการรักษา ได้แก่ การควบคุมอาหาร การรักษาด้วยยา และการออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน ได้รับการวิจัยจนเป็นที่ยอมรับแล้วว่า สามารถช่วยเพิ่มการทำงานของอินซูลินที่มีอยู่ในร่างกายได้ ทำให้สามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือด เข้าไปใช้งานในเซลเนื้อเยื่อต่างๆ ได้
ตามปกติ ผู้ป่วยเบาหวานมักมีระดับไขมันในเลือดสูงด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ แต่การออกกำลังกายจะส่งผลโดยตรงต่อการลดระดับโคเลสเตอรอล และต่อการลดน้ำหนักตัวด้วย ดังนั้น การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวานจึงเกิดประโยชน์หลายทาง รวมทั้งการลดปัญหาแทรกซ้อนจากโรคหัวใจนี้ด้วย

การออกกำลังกายป้องกันโรคเบาหวานได้หรือไม่
ผลการศึกษาวารสารทางการแพทย์ของต่างประเทศพบว่า ผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคเบาหวานจากการตรวจเลือด เมื่อออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดอุบัติการของโรคเบาหวานลงได้เกือบครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ออกกำลังกาย
จึงกล่าวได้ว่า การออกกำลังกายที่ถูกต้องเหมาะสม ช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ เหตุผลสนับสนุนง่ายๆ ก็คือ การออกกำลังกายช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในเรื่องความอ้วน ท่านทราบหรือไม่ว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลินนั้นร้อยละ 80 มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ดังนั้นการออกกำลังกายเพื่อลดหรือป้องกันน้ำหนักตัวมากเกิน จึงช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้
ผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มใด ควรออกกำลังกาย
ผู้ป่วยเบาหวานแบ่งตามการรักษาได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่จำเป็นต้องฉีดอินซูลินกับกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน การออกกำลังกายสามารถทำได้ ในผู้ป่วยเบาหวานทั้งสองกลุ่ม
ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลินได้รับการสนับสนุนให้ออกกำลังกายมากที่สุด ทั้งนี้เพราะมีผลแทรกซ้อนจากการออกกำลังกายน้อยกว่า และได้ผลดีจากการออกกำลังกายมากกว่า เพราะสามารถกระตุ้นการทำงานของอินซูลินที่ยังมีอยู่พอสมควรในร่างกาย
ส่วนผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มที่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน การออกกำลังกายให้ประโยชน์ในการเพิ่มความพร้อมของระบบหายใจ และการไหลเวียนโลหิต ช่วยลดน้ำหนักตัว และช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหัวใจได้ แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มแผนการออกกำลังกายอย่างจริงจัง เพราะอาจต้องปรับลดขนาดยาอินซูลินที่จะฉีดก่อนการออกกำลังกาย และควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการออกกำลังกายและข้อควรระวังอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือดแล้ว

ควรออกกำลังกายแบบไหนจึงเหมาะสม
เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ป่วยเบาหวานจะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลที่บริเวณเท้า ดังนั้น การออกกำลังกายจึงควรเลือกประเภทที่ไม่มีผลต่อการบาดเจ็บที่เท้า เช่น การว่ายน้ำ และการปั่นจักรยาน
จากการวิจัยพบว่า เมื่อคนเราออกกำลังกายเป็นจังหวะอย่างต่อเนื่องนานเกินกว่า 30 นาที ร่างกายจึงจะกระตุ้นให้มีการนำเอาน้ำตาลในเลือด ไปใช้งานในเซลเนื้อเยื่อต่างๆ ดังนั้น การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน จึงควรออกกำลังนานเกินกว่า 30 นาที โดยควรมีช่วงของการอุ่นเครื่อง 10 นาที และช่วงของการเบาเครื่อง 10 นาที ด้วย
ช่วงของการออกกำลังที่เกินกว่า 30 นาที จะช่วยให้ร่างกายนำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลเนื้อเยื่อ
ช่วงของการอุ่นเครื่อง คือ ออกกำลังเป็นจังหวะช้าๆ ช่วยป้องกันการบาดเจ็บของเอ็นและไขข้อได้
ช่วงของการเบาเครื่อง คือ การผ่อนกำลังในการออกกำลังกายลง ช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหัวใจ ทั้งนี้เพราะหากหยุดออกกำลังกายในทันที เลือดที่กระจายอยู่ตามแขนขา เนื่องจากการขยายตัวของหลอดเลือดจากการออกกำลังกาย จะไหลเทกลับมาสู่หัวใจอย่างรวดเร็ว ทำให้หัวใจรับภาระการทำงานสูบฉีดเลือดมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ สังเกตได้จากการที่หัวใจเต้นแรงมาก เมื่อหยุดออกกำลังกายในทันทีทันใด
การออกกำลังกายอย่างมีจังหวะและสม่ำเสมอนั้น ถือเอาการใช้กำลังน้อย แต่ใช้ระยะเวลานานเป็นหลัก คือให้ออกแรงเพียงครึ่งหนึ่งของความสามารถสูงสุด เช่น หากออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานอยู่กับที่ ให้ออกกำลังกายด้วยความเร็วเพียงร้อยละ 50 ของความเร็วสูงสุดที่ปั่นได้

ข้อควรปฏิบัติ และข้อควรระวังในการออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
1. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดผลร่วมกับการปรับขนาดยาอินซูลิน และอาหารด้วย อย่างน้อย 3 ครั้งต่ออาทิตย์ ครั้งละ 45 นาทีขึ้นไป
2. ควรออกกำลังกายในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน
3. ระมัดระวังเป็นพิเศษกับเท้าของตนเอง โดยพยายามหลีกเลี่ยงกีฬา หรือการออกกำลังที่ก่อให้เกิดความเครียดของเท้า หรือทำให้เกิดการบาดเจ็บที่เท้าได้ง่ายๆ เช่น การวิ่ง และการกระโดด เป็นต้น
4. ตรวจสอบแผลขูดขีด ตุ่มพอง และการอักเสบติดเชื้อตามแขนขาอย่างสม่ำเสมอ
5. รองเท้าสำหรับนักกีฬาเป็นสิ่งสำคัญ ควรมีไว้
6. ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ
7. ควรพกคาร์โบไฮเดรทที่ออกฤทธิ์เร็ว เช่น น้ำตาลก้อน เพื่อเตรียมไว้แก้ไขปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำ
8. สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน จะต้องคำนึงถึงระยะเวลาในการออกกำลังกาย ปริมาณอินซูลินที่ฉีด และตำแหน่งของการฉีดด้วย อย่าฉีดอินซูลินลงในกล้ามเนื้อหลักที่ใช้ออกกำลัง ทั้งนี้เพราะจะทำให้เกิดดูดซึมอินซูลินอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งอาจช็อคได้

สรุป
การออกกำลังกายมีผลในการรักษาโรคเบาหวาน และเป็นหนึ่งในสามส่วนของการบำบัดรักษาโรคเบาหวาน (การควบคุมอาหาร การใช้ยา และการออกกำลังกาย) โดยช่วยกระตุ้นให้การทำงานของอินซูลินดีขึ้น และได้ผลดีกับผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน ช่วยลดปัญหาแทรกซ้อนโรคหัวใจ

นอกจากนี้ การออกกำลังกาย ยังได้ผลชัดเจนในการป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้
การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน เน้นที่การออกกำลังอย่างเป็นจังหวะและสม่ำเสมอนานเกินกว่า 30 นาทีด้วยแรงหรือความเร็วน้อยๆ คือเพียงครึ่งหนึ่งของที่ทำได้สูงสุด ควรมีช่วงอุ่นเครื่องและช่วงเบาเครื่องที่ยาวนานกว่าปกติด้วย

ข้อควรระวังที่สำคัญ คือ การบาดเจ็บที่เท้า และภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในระยะที่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน




 

Create Date : 11 มีนาคม 2554   
Last Update : 11 มีนาคม 2554 14:04:03 น.   
Counter : 1462 Pageviews.  


เบาหวาน......(เมื่อน้ำตาลเป็นพิษ)


อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อน มีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ โรคเบาหวานเกิดจากร่างกายขาดอินซูลินหรือบางที่ไม่ขาด แต่อินซูลินที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผลเต็มที่ ทำให้ร่างกายใช้น้ำตาลไม่ได้ตามปกติ ยังผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น นานๆ เข้าทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุให้พิการหรือเสียชีวิต
โดยปกติเมื่อเรากินอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลเข้าไป อาหารเหล่านี้จะถูกย่อยกลายเป็นโมเลกุลของน้ำตาลเล็กๆ แล้วจึงถูกดูดซึมจากลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดนำส่งเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงาน การใช้น้ำตาลให้เกิดพลังงานนี้ต้องอาศัยอินซูลิน เมื่อขาดอินซูลิน น้ำตาลในเลือดจึงสูงกว่าปกติ น้ำตาลในเลือดนั้นมีหลายชนิด สำหรับน้ำตาลในโรคเบาหวานเราจะหมายถึงน้ำตาลกลูโคสเท่านั้น

โรคเบาหวานที่พบบ่อยมี 2 ชนิด คือ
ชนิดที่ 1 ต้องพึ่งอินซูลิน มักพบในคนอายุน้อย เด็กและวัยรุ่น ในผู้ใหญ่พบได้บ้างต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลินทุกวัน ถ้าขาดยาอาจเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงถึงตายได้ เกิดจากเซลล์สร้างอินซูลินในตับอ่อนถูกทำลายด้วยสาเหตุที่ยังไม่ทราบแน่นอน ทำให้สร้างอินซูลินได้น้อย หรือไม่ได้เลย
ชนิดที่ 2 ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน เพราะตับอ่อนยังผลิตอินซูลินได้ในจำนวนที่อาจปกติ น้อยลง หรือมากขึ้น แต่อินซูลินที่มีอยู่นั้นไม่มีประสิทธิภาพดีเท่าที่ควร พบได้ในผู้ใหญ่ และคนอ้วน คนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปมีโอกาสเป็นเบาหวานมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ 2 นี้
สาเหตุของโรคเบาหวานยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่า กรรมพันธุ์ ความอ้วน การตั้งครรภ์ ความเครียด เป็นผู้สูงอายุ รวมทั้งโรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น เนื้องอกในต่อมหมวกไต และต่อมใต้สมอง เป็นปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญของการเกิดโรคนี้

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวาน
อาการกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะมากและบ่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด กินเก่งขึ้น ตาพร่ามัว เป็นอาการที่เกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง ถ้าสูงมากๆ อาจถึงกับซึมหรือหมดสติได้ ผู้ป่วยเบาหวานที่น้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก อาจไม่แสดงอาการเลยก็ได้ ฉะนั้นการตรวจสุขภาพจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเช่น คนอ้วน หญิงมีครรภ์ ผู้หญิงที่คลอดบุตรมีน้ำหนักแรกคลอดเกิน 4 กิโลกรัม และผู้มีญาติพี่น้อง (โดยสายเลือด) เป็นเบาหวาน คนปกติจะมีน้ำตาลในเลือดอยู่ในช่วง 70 - 115 มิลลิกรัม ต่อ เดซิลิตร น้ำตาลในเลือดต้องสูงเกิน 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จึงจะออกมาในปัสสาวะให้ตรวจพบได้ ดังนั้นการตรวจปัสสาวะอย่างเดียวเพื่อหาเบาหวานจึงไม่เพียงพอ ต้องใช้การตรวจเลือดดูระดับน้ำตาล
จะควบคุมเบาหวานได้อย่างไร รักษาให้หายได้ไหม
เบาหวานเป็นโรคเรื้องรังที่รักษาไม่หายขาดแต่ควบคุมได้ โดยการดูแลรักษาอย่างจริงจัง และต่อเนื่องตลอดชีวิต จุดประสงค์ของการรักษาเพื่อ
1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เพื่อป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ
2. ให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่อย่างปกติ หรือใกล้เคียงปกติสามารถประกอบภาระกิจต่างๆ ได้เหมือนคนทั่วไป

การรักษาเบาหวานให้ได้ผลดี จะต้องประกอบด้วย
1. การควบคุมอาหาร
2. การออกกำลังกาย
3. การให้ความรู้เกี่ยวกับเบาหวาน แก่ผู้ป่วย และญาติผู้ดูแล
4. การใช้ยาลดน้ำตาล (อาจไม่จำเป็นในบางราย)

1. การควบคุมอาหาร
การควบคุมอาหารอย่างสม่ำเสมอ จำเป็นและสำคัญยิ่ง แม้ในผู้ป่วยเบาหวานที่รักษาด้วยยากินหรือยาฉีด ผู้ป่วยควรได้รับอาหารครบทุกหมู่ในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสม อาหารที่จำเป็นแก่ร่างกายได้แก่ ควร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เกลือแร่ และวิตามิน และใยอาหาร (Dietary fiber)
ปริมาณอาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องการนั้น ขึ้นอยู่กับวัย น้ำหนักตัว และกิจวัตรประจำวันของแต่ละคน เด็ก ผู้ใช้แรงงาน หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ต้องการอาหารมากขึ้น ผู้สุงอายุต้องการอาหารน้อยลง คนอ้วน ควรได้รับอาหารน้อยลงเพื่อลดน้ำหนัก
อาหารที่ให้พลังงาน คือ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน คาร์โบไฮเดรตและโปรตีน 1 กรัมให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ ไขมัน 1 กรัมให้พลังงานถึง 9 กิโลแคลอรี่ คนที่กินไขมันมากจึงอ้วนง่าย
โดยทั่วไปผู้ป่วยเบาหวานจะต้องการพลังงานอาหารวันละ 20-45 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัวมาตรฐาน (เป็นกิโลกรัม) พลังงานนี้ควรได้จากคาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 50-60 โปรตีนร้อยละ 15-20 และไขมันร้อยละไม่เกิน 30 ของพลังงานทั้งหมด โดยให้มีโคเลสเตอรอลไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม (โคเลสเตอรอลมีมากในไข่แดง เครื่องในสัตว์ ปลาหมึก และหอยนางรม) และมีใยอาหารวันละประมาณ 20-35 กรัม อาหารควรแบ่งให้ 3 มื้อ ในจำนวนใกล้เคียงกัน ผู้ป่วยชนิดพึ่งอินสุลินควรมีอาหารว่างมื้อบ่าย และบางคนต้องการมื้อว่างก่อนนอนด้วย
อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานควรงด ได้แก่ อาหารน้ำตาลทุกชนิด เช่น น้ำปลาหวาน ขนมหวานต่างๆ ของหวาน ของเชื่อม น้ำผึ้ง ผลไม้กระป๋อง และครื่องดื่มที่มีรสหวานจากน้ำตาล เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ นมปรุงแต่งรสหวาน อาหารเหล่านี้ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเร็ว
สำหรับเครื่องดื่ม เช่น ชา กาแฟ โอวัลติน ถ้าต้องการรสหวาน อาจใช้น้ำตาลเทียมแทนน้ำตาล ที่ใช้ได้ในเบาหวานนี้มี 2 ชนิด คือพวก Aspartame ที่มีขายชื่อ อีควลและไดเอ็ต อีกชนิดหนึ่งคือขัณฑสกร (Saccharin) น้ำตาลเทียมจะให้รสหวาน โดยให้พลังงานน้อย และไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง แต่ไม่ควรใช้มากเกินไป
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรหลีกเลี่ยง เพราะให้พลังงานสูง (แอลกอฮอล์ 1 กรัมให้พลังงาน 7 กิโลแคลอรี่) บางชนิดมีน้ำตาลสูง เช่น เบียร์ ไวน์ เหล้าหวาน นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์ขณะท้องว่าง อาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำได้ในผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาเบาหวานอยู่
ผลไม้กินได้ในปริมาณจำกัด เนื่องจากมีน้ำตาล หลีกเลี่ยงผลไม้หวานจัด เช่นทุเรียน น้อยหน่า อย่างไรก็ตามผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรงดผลไม้ เนื่องจากผลไม้มีวิตามิน และใยอาหารสูง
อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานกินได้ไม่จำกัด และควรกินให้มากคือผักใบเขียวทุกชนิด ซึ่งให้พลังงานต่ำ มีใยอาหารสูง แต่มีข้อควรระวังคือ อันตรายจากยาปราบศัตรูพืชที่อาจตกค้างอยู่ ควรล้างให้สะอาดก่อนทุกครั้ง

2. การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายสม่ำเสมอมีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง การทำงานของหัวใจดีขึ้น ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด ลดน้ำหนักเมื่อใช้ร่วมกับการควบคุมอาหาร ลดความเครียด และในผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยทำให้ลดน้ำตาลในเลือดและเพิ่มประสิทธิภาพของอินซูลิน
การออกกำลังกายอาจใช้การเดิน จ๊อกกิ้ง วิ่ง ขึ้นลงบันได ถีบจักรยาน กายบริหาร รำมวยจีน เล่นเทนนิส ว่ายน้ำ ผู้ป่วยควรเลือกให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกาย ควรทำสม่ำเสมอ ติดต่อกันอย่างน้อยวันละ 15 - 20 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งอย่างน้อย ในคนที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนควรเริ่มทีละน้อยแล้วค่อยๆ เพิ่ม

ข้อควรระวังในการออกกำลังกาย ในผู้ป่วยเบาหวาน
1. อาจเกิดอาการน้ำตาลต่ำ ระหว่างออกกำลังกาย และหลังออกกำลังกายแล้วหลายชั่วโมง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ใช้อินซูลิน และใช้ยาเม็ดรักษาเบาหวาน
2. อาจมีน้ำตาลสูงขึ้นมาก ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน ที่ควบคุมเบาหวานไม่ดี
3. อาจทำให้อาการของโรคแทรกซ้อนที่ตา และที่ไตเลวลง ถ้าหักโหม
4. ไม่ควรฉีดอินซูลินที่แขนและขา ก่อนการออกกำลัง จะทำให้เกิดอาการน้ำตาลต่ำได้ง่าย เพราะอินซูลินจะถูกดูดซึมได้เร็ว ในบริเวณแขนขา ที่ออกกำลัง
5. ควรกินอาหารเพิ่ม หรือลดอินซูลินลง ถ้าต้องการออกกำลังกายหนักๆ

3. การให้ความรู้เกี่ยวกับเบาหวานแก่ผู้ป่วย และญาติผู้ดูแล
ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนและญาติ ควรมีความรู้ในการปฏิบัติตน และดูแลตัวเองได้ถูกต้อง ควรให้ความร่วมมือกับแพทย์สม่ำเสมอจะให้ผลดีในการรักษาเบาหวาน

4. การใช้ยา
จะใช้ยาต่อเมื่อการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายไม่ได้ผล ยาที่ใช้มีทั้งยาเม็ด และยาฉีด คือ อินซูลิน
ยาเม็ดรับประทาน แบ่งเป็น

ก. กลุ่ม Sulfonylureas มีหลายชนิดออกฤทธิ์ โดยกระตุ้นอินซูลินจากตับอ่อน และเพิ่มประสิทธิภาพของอินซูลิน

ข. กลุ่ม Biguanides ที่ใช้ในเมืองไทย คือ Metformin ไม่มีฤทธิ์กระตุ้นอินซูลิน มักใช้ในคนอ้วน และใช้ร่วมกับกลุ่ม Sulfonylureas พบอาการข้างเคียงได้บ่อย เช่นคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องเสีย

ค. Acarbose เป็นยาที่ช่วยลดการดูดซึมของอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาลจากลำไส้ ทำให้ควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้น มักใช้ร่วมกับยา ในข้อ ก. พบอาการข้างเคียงบ่อยมากเช่น ท้องอืด มีลมมาก ผายลมบ่อย และท้องเสีย
ยาเม็ดรับประทานทั้งหมดนี้ ห้ามใช้ในผู้ป่วยตั้งครรภ์

อินซูลิน
ต้องใช้ฉีดเท่านั้น เนื่องจากอินซูลินถูกทำลายโดยน้ำย่อยในกะเพาะอาหาร ได้มีผู้พยายามค้นคว้าหาวิธีการให้อินซูลินด้วย วิธีอื่นเช่น พ่นทางจมูก และกินทางปาก พบว่าให้ผลไม่ดีนัก และยังอยู่ในขั้นทดลองใช้
อินซูลินมีทั้งที่ได้จากสัตว์ คือ หมู และวัว (pork & beef insulin) และอินซูลินที่มีโครงสร้างเหมือนของคน (Human insulin) ปัจจุบันนิยมใช้อินซูลินที่เหมือนของคนมากกว่า อินซูลินยังแบ่งออกเป็นหลายชนิดตามระยะเวลาที่ออกฤทธิ์คือ
1. ชนิดออกฤทธิ์ระยะสั้น มีฤทธิ์นานประมาณ 5 - 7 ชั่วโมง ลักษณะเป็นน้ำใส ใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดและใต้ผิวหนัง เริ่มออกฤทธิ์ 1 ชั่วโมง หลังฉีด
2. ชนิดออกฤทธิ์ระยะปานกลาง อยู่ได้นาน 18 - 24 ชั่วโมง เริ่มออกฤทธิ์ 2 - 4 ชั่วโมงหลังฉีด มีฤทธิ์สูงสุด 6 - 12 ชั่วโมง
3. ชนิดออกฤทธิ์ระยะยาว อยู่ได้นานประมาณ 36 ชั่วโมง
4. ชนิดผสม มีทั้งอินซูลินออกฤทธิ์ระยะปานกลาง และระยะสั้นผสมอยู่ในขวด หรือหลอดเดียวกัน ในอัตราส่วน 90 : 10 , 80 : 20 , 70 : 30 , 60 : 40 , 50 : 50 สะดวกสำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ทั้งอินซูลินออกฤทธิ์ปานกลาง และระยะสั้นฉีด ในครั้งเดียวกัน อินซูลินชนิดที่ 2 , 3 และ 4 นี้ จะมีลักษณะขุ่นต้องผสมให้เข้ากันดีก่อนฉีด ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ห้ามฉีดเข้าหลอดเลือด
ความเข้มข้นของอินซูลิน = 100 ยูนิตต่อ 1 มิลลิลิตรบรรจุมาในขวด 10 มิลลิลิตร หรือหลอด 1.5 และ 3 มิลลิลิตร สำหรับใช้ฉีดจากปากกา ควรเก็บอินซูลินไว้ในตู้เย็นนอกช่องแช่แข็ง เนื่องจากอินซูลินมีฤทธิ์อยู่ได้ไม่นานจึงต้องใช้ฉีดทุกวัน จะฉีดบ้าง หยุดบ้างไม่ได้ ผู้ป่วยบางคนต้องฉีดถึงวันละหลายครั้ง การฉีดอินซูลินอาจใช้กระบอกยาฉีด หรือใช้ฉีดจากปากกา ข้อดีของปากกาคือ ไม่ต้องดูดยาเอง และพกพาได้สะดวก ควรเปลี่ยนที่ฉีดอินซูลินทุกวัน ไม่ควรฉีดซ้ำๆ ที่เดิมจะทำให้การดูดซึมยาไม่ดีเท่าที่ควร และมีปฏิกิริยาที่ผิวหนังได้ หน้าท้อง ต้นแขน หน้าขา และสะโพกเป็นที่สำหรับฉีดอินซูลิน พบว่ายาดูดซึมได้ดีที่สุดทางหน้าท้อง (และเจ็บน้อยกว่าด้วย)
เนื่องจากเบาหวานเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด จึงต้องมีการพยายามค้นคว้าวิจัยต่อไป เพื่อหาวิธีการและตัวยาใหม่ๆ ที่ดีกว่า รวมทั้งการทดลองปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งคือตับอ่อน และเซลล์ที่สร้างอินซูลินจากตับอ่อน ในอนาคตเราคงมีวิธีรักษาเบาหวานให้ได้ผลดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

การติดตามผลการรักษา
ผู้ป่วยเบาหวานควรติดตามดูผลการควบคุมน้ำตาลว่าได้ผลดีเพียงใด โดยอาจใช้การตรวจน้ำตาลในเลือด การตรวจปริมาณฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1C เป็น Glycosylated hemoglobin) และ ฟรุคโตซามีน (Fructo samin เป็น Glycosylated protein) และการตรวจน้ำตาลในปัสสาวะ

1. การตรวจน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดี อาจตรวจน้ำตาลในเลือดเดือนละครั้ง แต่ผู้ป่วยเบาหวานที่ยังควบคุมไม่ได้ หรือผู้ป่วยตั้งครรภ์ อาจจะต้องตรวจน้ำตาลในเลือดทุกวัน หรือวันละหลายครั้ง ผู้ป่วยอาจตรวจเองที่บ้านได้ โดยใช้เครื่องมือขนาดเล็กพกพาได้ ใช้เลือดที่เจาะจากปลายนิ้วหยดลงบนแผ่นอาบน้ำยาเข้าเครื่องตรวจ อ่านออกมาเป็นตัวเลข เครื่องมือนี้มีหลายแบบ และผลิตจากหลายบริษัท ราคาก็ต่างๆ กัน การตรวจชนิดนี้สิ้นเปลืองพอสมควร

2. การตรวจ HbA1C และ Fructosamine ต้องตรวจในห้องปฏิบัติการเท่านั้น HbA1C เป็นน้ำตาลที่จับกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง Fructosamine เป็นน้ำตาลที่จับกับโปรตีนในเลือด ค่า HbA1C บอกถึงการควบคุมน้ำตาลในช่วง 4 - 6 สัปดาห์ ก่อนการตรวจ ส่วนค่า Fructosamine บอกถึงระดับน้ำตาลในช่วง 7 - 10 วัน ก่อนตรวจ

3. การตรวจน้ำตาลในปัสสาวะ อาจใช้ยาเม็ดสำหรับตรวจหรือใช้แผ่นทดสอบน้ำตาล ตรวจก่อนมื้ออาหาร และก่อนนอน วิธีนี้ใช้ไม่ได้ในคนที่ไตเสื่อม มีข้อเสียคือ บอกระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ และน้ำตาลในเลือดจะต้องสูงพอสมควร คือเกิน 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จึงจะตรวจพบได้ ใช้บอกได้คร่าวๆ เท่านั้น

โรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน
โรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานได้แก่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอย่างมาก ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และโรคแทรกซ้อนเรื้อรังต่างๆ
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอย่างมาก (ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 500 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิต) มักเกิดกับผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมากและควบคุมน้ำตาลไม่ดี โดยเฉพาะในคนไข้ที่ต้องใช้อินซูลินแล้วขาดยา อาจเกิดในคนที่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าเป็นเบาหวานก็ได้ จะมีอาการอ่อนเพลีย กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะมาก คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หายใจหอบ ซึม เลอะเลือน และหมดสติในที่สุด ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนในโรงพยาบาล มิฉะนั้นอาจเสียชีวิตได้
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ พบได้บ่อยและอาจรุนแรงจนเสียชีวิต เกิดกับผู้ป่วยที่รักษาด้วยยากิน หรือ ยาฉีดสาเหตุจากการใช้ยามากเกินไป หรือใช้ยาเท่าเดิมแต่อดอาหาร หรือออกกำลังกายมากเกินไป จะมีอาการ หิว หงุดหงิด ปวดศีรษะ ตาลาย ใจสั่น มือสั่น เหงื่อแตก ชาตามปาก อ่อนเพลีย หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ตัวเย็น สับสน (ไม่จำเป็นต้องมีอาการครบหมดทุกอย่าง) ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอาจเป็นลมหมดสติหรือชักได้ ถ้าเป็นตอนกลางคืนขณะหลับจะฝันร้าย และปวดศีรษะในตอนเช้า อาการน้ำตาลต่ำนี้อาจเป็นอยู่นานหลายวันขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ใช้
วิธีรักษา เมื่อเริ่มมีอาการ ให้ดื่มน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ 1/2 แก้ว หรือกินน้ำตาล อมลูกกวาด จากนั้นให้ปรึกษาแพทย์ที่รักษาเพราะอาจต้องปรับยาที่ใช้อยู่ประจำ ถ้าผู้ป่วยหมดสติให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ป้องกันได้โดยการกินอาหารให้เป็นเวลา กินอาหารเพิ่มก่อนการออกกำลังกายที่หนักๆ หรือนานๆ กินของว่างหรือดื่มนมรองท้องไปก่อนถ้าต้องเลื่อนเวลาอาหารออกไป

โรคแทรกซ้อนเรื้อรัง
พบในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานหลายปี และควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี น้ำตาลที่สูงอยู่นานๆ นี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะระบบหลอดเลือด การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป เหมือนเป็นอันตรายแอบแฝง กว่าจะรู้ตัวเมื่อเกิดอาการก็สายเกินไป ยากจะรักษาให้กลับคืนเป็นปกติได้ โรคแทรกซ้อนเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยต้องการพิการ หรือเสียชีวิต สิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่ารักษาพยาบาลเป็นอันมาก
ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรได้ตระหนักถึงอันตรายแอบแฝงต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ การดูแลตนเองที่ดี และการปฏิบัติตัวถูกต้องเท่านั้นที่จะช่วยป้องกันอันตรายเหล่านี้ได้
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
1. ควบคุมอาหารสม่ำเสมอ
2. ออกกำลังกาย ตามความเหมาะสมกับสภาวะร่างกาย
3. ใช้ยาสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ
4. ศึกษาหาความรู้ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน และวิธีปฏิบัติตัว
5. พบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด เพื่อวัดผลการควบคุมน้ำตาล และตรวจหาโรคแทรกซ้อน
6. ตรวจน้ำตาลในเลือด หรือในปัสสาวะบ่อยๆ โดยเฉพาะในรายที่ควบคุมน้ำตาลไม่ดี
7. พกน้ำตาล ทอฟฟี่ หรือลูกกวาดติดตัวเสมอ และใช้ทันทีเมื่อมีอาการน่าสงสัยว่าน้ำตาลต่ำ
8. หมั่นตรวจเท้าทุกวัน ห้ามสวมรองเท้าคับ
9. ปรึกษาแพทย์เมื่อ มีอาการเจ็บไข้ มีอาการน้ำตาลต่ำ มีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น มีบาดแผล หรือแผลที่เท้า และเมื่อตั้งครรภ์




 

Create Date : 10 มีนาคม 2554   
Last Update : 10 มีนาคม 2554 13:27:17 น.   
Counter : 1721 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  111  112  113  114  115  116  117  118  119  120  121  122  123  124  125  126  127  128  129  130  131  132  133  134  135  136  137  138  139  140  141  142  143  144  145  146  147  148  149  150  151  152  153  154  155  156  157  158  159  160  161  162  163  164  165  166  167  168  169  170  171  172  173  174  175  176  177  178  179  180  181  182  183  184  185  186  187  188  189  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com