นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

อายุ 50 ปี ควรตรวจลำไส้ใหญ่ ไม่ต้องรอให้มีอาการ


อายุ 50 ปี ควรตรวจลำไส้ใหญ่ ไม่ต้องรอให้มีอาการ

ไม่มีอาการผิดปกติ..ทำไมต้องตรวจ?
หลายท่านคงสงสัยในคำแนะนำดังกล่าวนี้  ทำไมต้องตรวจลำไส้ใหญ่ด้วย ในเมื่อไม่ได้มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด มีเพียงแค่อายุ 50 ปีเท่านั้นเอง เหตุผลเพราะปัจจุบันในบ้านเรา พบมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยพบเป็นอันดับที่ 2 ของมะเร็งที่พบได้ในผู้ชายและอันดับที่ 3 ของมะเร็งในผู้หญิง และทันทีที่ตรวจพบ พบว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งมีการลุกลามเข้าไปในต่อมน้ำเหลืองหรือกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ แล้ว นั่นคือเป็นระยะลุกลามแล้ว

ที่เป็นอย่างนั้นเพราะลำไส้ใหญ่ของเราอยู่ภายในร่างกาย  เราไม่ได้เห็นลำไส้ใหญ่ของเราตลอดเวลา  ก้อนเนื้อร้ายหรือมะเร็งจึงสามารถค่อย ๆ โตอยู่ได้ภายในลำไส้ใหญ่ของเราโดยที่เราไม่มีโอกาสรู้เลย  กว่าจะมีอาการก็ต่อเมื่อมะเร็งมีขนาดใหญ่พอสมควร ทำให้ถ่ายอุจจาระลำบาก หรือมีเลือดออกทางทวารหนัก   ซึ่งในขณะนั้นมะเร็งอาจจะมีการแพร่กระจายออกไปนอกลำไส้ใหญ่แล้วด้วย
แล้วเราควรทำอย่างไรดี  เพราะถ้ารอให้มีอาการผิดปกติ ก็มักจะเข้าสู่ระยะที่เป็นมากแล้ว  ซึ่งแน่นอน การรักษาก็ต้องยากขึ้นไปด้วย  ปัจจุบันจึงมีคำแนะนำให้ตรวจลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไปโดยที่ไม่ต้องรอให้มีอาการผิดปกติ   เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่ตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้บ่อยขึ้นตามสถิติ   แต่ถ้ามีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมีอาการผิดปกติ เช่น การขับถ่ายอุจจาระผิดปกติไป ท้องผูกสลับท้องเสีย มีเลือดออกทางทวารหนัก น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจจะต้องทำการตรวจก่อนหน้านั้น โดยที่ไม่ต้องรอจนอายุ 50 ปี

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ดีอย่างไร?
การตรวจลำไส้ใหญ่ที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบันคือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ข้อดีของการส่องกล้องลำไส้ใหญ่คือแพทย์สามารถเข้าไปตรวจดูภายในลำไส้ใหญ่ของเราได้โดยที่ไม่ต้องทำการผ่าตัด  เพียงสอดกล้องขนาดเท่านิ้วก้อยเข้าไปภายในลำไส้ใหญ่  ซึ่งสามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น  และในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติ  แพทย์สามารถใช้เครื่องมือทำการตัดเนื้องอกหรือมะเร็งระยะเริ่มต้นผ่านทางกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ได้เลย  บางครั้งสามารถตัดเนื้องอกออกก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งเสียอีก  จึงเป็นที่มาของคำแนะนำส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยที่ไม่ต้องรอให้มีอาการผิดปกติ

เมื่อไรควรตรวจลำไส้ใหญ่?

1. อายุ 50 ปีขึ้นไป   โดยที่ไม่ต้องรอให้มีอาการผิดปกติ
2. มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่  ให้ทำการตรวจก่อนคนที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างน้อย 10 ปี  เช่นมีญาติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ตอนอายุ 55 ปี  เราก็ต้องทำการตรวจตอนอายุ 45 ปี
3. มีอาการผิดปกติที่สงสัยมะเร็งลำไส้ใหญ่  เช่น มีท้องผูกสลับท้องเสีย  ท้องผูกเฉียบพลันในผู้สูงอายุ  เลือดออกทางทวารหนัก  น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ  โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กโดยที่ไม่มีสาเหตุอื่นอธิบาย  


ข้อมูลสุขภาพโดย รพ.รามคำแหง
สายด่วนสุขภาพโทร 0-2743-9999
www.ram-hosp.co.th
www.facebook.com/ramhospital




 

Create Date : 26 กรกฎาคม 2556   
Last Update : 26 กรกฎาคม 2556 14:17:53 น.   
Counter : 1592 Pageviews.  


ผู้ป่วยหมอนรองกระดูกเบาใจได้แพทย์ใช้การส่องกล้องช่วยรักษา


ผู้ป่วยหมอนรองกระดูกเบาใจได้แพทย์ใช้การส่องกล้องช่วยรักษา

อาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์ผู้รักษาร่วมกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพส่งผลให้มองเห็นลักษณะ
ความเสียหายที่เกิดได้อย่างชัดเจนส่งผลให้การผ่าตัดรักษาเป็นไปอย่างแม่นยำ ตรงจุด และมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยลดความบอบช้ำของแผลผ่าตัดและผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บตัวมากเหมือนการผ่าตัดแบบดั้งเดิม

โรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกเคลื่อนมักเกิดจากหมอนรองกระดูกที่เสื่อมตามอายุซึ่งหากร่างกายเสื่อมสภาพหรือมีการใช้งานไม่ถูกต้องใช้งานมากเกินกว่าที่หมอนรองกระดูกสันหลังจะรับน้ำหนักได้ก็จะส่งผลให้หมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพโดยอาจเกิดการฉีกขาด แตก หรือเกิดการเคลื่อนตัวและหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาก็จะเข้าสู่ภาวะเหมือนผู้สูงอายุซึ่งหมอนรองกระดูกสันหลังจะเริ่มทรุดตัวช่องของเส้นประสาทที่วิ่งผ่านลงมาจะแคบลงจนไปกดทับเส้นประสาท หรือบางกรณีหมอนอาจแตกเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทส่งผลให้มีอาการปวดร้าวไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วยซึ่งเมื่อผู้ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนหรือแตกเข้ามาพบแพทย์แล้วแพทย์จะทำการตรวจอย่างละเอียดด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ อาทิเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง ( CTSCAN) เครื่องเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อหาตำแหน่งของหมอนรองกระดูกที่เสื่อมสภาพหลังจากนั้นจึงวางแผนการรักษาต่อไป

สำหรับการรักษาในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีการส่องกล้องผ่าตัดมารักษาหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทอย่างแพร่หลายซึ่งนอกจากจะทำให้แผลที่ได้มีขนาดเล็กแล้วการส่องกล้องเข้าไปในบริเวณที่หมอนรองกระดูกเกิดความเสียหายนั้นจะช่วยให้แพทย์

สามารถมองเห็นลักษณะภายในหมอนรองกระดูกได้อย่างชัดเจนทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์ผู้รักษาด้วยซึ่งแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญจะช่วยลดความบอบช้ำของแผลผ่าตัดได้มากส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพราะผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลงและระยะเวลาในการพักฟื้นก็สั้นลงด้วย

อย่างไรก็ตามการรักษาโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาทเป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุดังนั้น สิ่งที่ควรตระหนักคือการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และยกของให้ถูกวิธีซึ่งจะสามารถช่วยชะลอการเสื่อมของหมอนรองกระดูกได้อีกทางหนึ่งนั่นเอง


                                                           สายด่วนสุขภาพโทร  0-2743-9999
www.ram-hosp.co.th
www.facebook.com/ramhospital




 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2556   
Last Update : 15 กรกฎาคม 2556 10:39:34 น.   
Counter : 1599 Pageviews.  


เครือ รพ.รามคำแหงประสานมือซีเมนส์นำเข้าอุปกรณ์แพทย์ไฮ-เทคยุคดิจิตัล



เครือรพ.รามคำแหงประสานมือซีเมนส์นำเข้าอุปกรณ์แพทย์ไฮ-เทคยุคดิจิตัล

นพ. ศิริพงศ์เหลืองวารินกุล กรรมการบริหาร รพ.รามคำแหง ได้รับเชิญไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่ก้าวล้ำนำยุคด้วยเทคโนโลยีทันสมัยหลายชนิดที่ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคด้วยความรวดเร็วแม่นยำของบริษัท ซีเมนส์ ที่ประเทศเยอรมนีเมื่อปลายเดือนก่อน โดยได้สรุปผลการเยี่ยมชมที่สร้างความประทับใจแก่ตนและคณะผู้ร่วมเดินทางซึ่งประกอบด้วยสื่อมวลชนผู้เกี่ยวข้องจากประเทศไทยกลุ่มหนึ่งเป็นอย่างมาก

ในการไปเยี่ยมชมกิจการที่ประเทศเยอรมนีครั้งนี้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทซีเมนส์ได้ให้การต้อนรับพร้อมกับจัดพิธีฉลองความสำเร็จและแสดงความยินดีกับโครงการความร่วมมือด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ระหว่างซีเมนส์ กับ เครือ รพ.รามคำแหงโดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันในการนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์รุ่นใหม่ประเภทต่างๆสำหรับติดตั้งใช้งานใน รพ.รามคำแหงรวมทั้ง รพ.เครือเดียวกัน คือ รพ.สุขุมวิทและรพ.สินแพทย์เพื่ออำนวยประโยชน์แก่แพทย์ทั้งในเชิงป้องกันและบำบัดรักษาที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพด้วยมาตรฐานสากลซึ่งหากคำนวณมูลค่ารวมของบรรดาอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ทั้งหมดแล้วจะมีจำนวนกว่า 250ล้านบาท แต่ด้วยข้อตกลงของโครงการฯ ได้ช่วยให้เครือรพ.รามคำแหงสามารถนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์ไฮ-เทค ยุคดิจิตัลเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในประเทศไทยด้วยวงเงินที่ต่ำกว่ามูลค่าเต็มถึง 50 ล้านบาท ที่มีส่วนอย่างมากสำหรับการเพิ่มศักยภาพของเครือรพ.รามคำแหงในการเป็นที่พึ่งที่สามารถสร้างความมั่นใจในด้านการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยในประเทศไทยได้อย่างเด่นชัด


สายด่วนสุขภาพโทร 0-2743-9999
www.ram-hosp.co.th
www.facebook.com/ramhospital




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2556   
Last Update : 12 กรกฎาคม 2556 13:32:00 น.   
Counter : 1435 Pageviews.  


การปฏิบัติตัว...หลังผ่าตัดตาเมื่อกลับบ้าน



การปฏิบัติตัว...หลังผ่าตัดตาเมื่อกลับบ้าน

1.ให้ญาติหรือผู้ดูแลเช็คตาข้างที่ผ่าตัดวันละ1 ครั้ง ตอนเช้าตามวิธีการเช็ดตาไม่ควรมีการกวาดบ้านหรือเปิดพัดลมเพราะฝุ่นละอองหรือเชื้อโรคอาจเข้าตาได้

2.ให้ญาติหรือผู้ดูแลหยอดตาให้ตามเวลาที่ระบุในฉลากยา

3.ขณะอาบน้ำให้ระวังไม่ให้น้ำเปียกตาห้ามเอาน้ำราดศีรษะให้อาบน้ำตั้งแต่ส่วนคอลงไป ไม่ลงอาบน้ำในคลองหรือว่ายน้ำในสระเพราะน้ำอาจเข้าตาที่ผ่าตัดหรือเปียกผ้าปิดตาได้เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์หลังผ่าตัด

4.ไม่ให้เอาน้ำล้างหน้าให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำบิดหมาด ๆ เช็ดทำความสะอาดใบหน้าเบา ๆ เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์หลังผ่าตัด

5.เมื่อกลับบ้านไปให้สระผมได้ไม่ควรสระผมเอง ควรนอนให้ผู้อื่นสระให้ แต่ต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าตาและสระเบา ๆไม่ให้กระเทือนตามาก เป็น เวลา 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด

6.ให้ครอบฝาครอบตาโดยเฉพาะเวลากลางคืน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่ตา หรือเผลอขยี้ตา

7.ระมัดระวังไม่ให้ฝุ่นละอองเข้าตาห้ามขยี้ตา หรือใช้ผ้าทุกชนิดเช็ดตาเพื่อป้องกันแผลแยกและติดเชื้อที่ตา

8.แปรงฟันได้ระวังไม่ให้มีคลื่นไส้ อาเจียน

9.ไม่ควรทำงานหนัก เช่น ขุดดินทำไร่ ทำนา ผ่าฟืน ยกของหนักหรือออกกำลังกายที่ออกแรงมาก ๆ เป็นเวลา 1 เดือน

10.รับประทานอาหารได้ตามปกติยกเว้น อาหารแข็ง เหนียวเคี้ยวยาก เช่น เนื้อแห้งและอาหารที่มีเครื่องเทศรสจัดเพราะจะทำให้จามหรือไอได้ ห้ามไอหรือจามแรงๆ(ถ้าจำเป็นพยายามไม่ปล่อยเต็มที่เพราะจะทำให้เกิดแผลแยกหรือความดันตาอาจสูงขึ้นได้)

11.มาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้งตามใบนัดเพื่อตรวจดูแผลผ่าตัดและตรวจดูว่ามีอาการผิดปกติในตาหรือไม่

12.ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่นปวดตามาก รับประมาณยาแก้ปวดแล้วยังไม่หายตามัวลงกว่าเดิมหรือมีไข้อาเจียนมีขี้ตามากควรรีบพบแพทย์ทันที

วิธีการเช็ดตา

เครื่องใช้(ที่ทางโรงพยาบาลจัดให้)

1.น้ำยาเช็ดตา 1 ขวด

2.สำลีสะอาด

3.ฝาครอบตาและผ้าปิด

4.พลาสเตอร์ยา

5.ยาหลอดตา

สิ่งที่ต้องเตรียมเพิ่มเติม

-ผ้าสะอาดเตรียมไว้สำหรับเช็ดมือ

-ภาชนะหรือถุงพลาสติกสำหรับทิ้งสำลีที่ใช้แล้ว

วิธีการ

1.เตรียมเครื่องใช้ดังกล่าวให้ครบถ้วนและยกมาวางใกล้ๆ ตัวผู้ป่วยตัดพลาสเตอร์เตรียมไว้

2.จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงายราบแก้ผ้าปิดตาเก่งทิ้ง (ถ้ามี)และนำฝาครอบตาอันเดิมไปทำความสะอาดตามวิธีการทำความสะอาด

3.ผู้ที่ทำการเช็ดตา ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดเช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาดที่เตรียมให้

4.หยิบสำลีประมาณ 4-6 ก้อนวางในอุ้งมือเทน้ำยาลงบนสำลีให้หมาดๆ

4.1หยิบสำลีก้อนที่ 1บีบให้เป็นก้อนแบน ๆ ขอบมน บอกให้ผู้ป่วยหลับตา แล้วเช็คหนังตาบนเบา ๆจากหัวตาไปหางตา

4.2หยิบสำลีก้อนที่2บีบเป็นก้อนแบนๆขอบมนเช็คขอบตาล่างขณะหลับตา แล้วดูว่าสะอาดหรือยัง

4.3หยิบสำลีก้อนที่3เช็ดบริเวณมุมหัวตาให้สะอาดจากหัวคิ้วข้างสันจมูก

4.4สำลีก้อนที่4ใช้สำหรับหลังหยอดตาแล้ว ซับยาที่ล้นตาออกมาขณะเช็ดตาไม่ให้เช็ดย้อนไปย้อนมาถ้ามียาหยอดให้หยอดตาก่อนปิดตา ตามวิธีการหยอดตา

5.ให้ผู้ป่วยหลับตาแล้วเอาผ้าปิดตาปิดบนตาของผู้ป่วยปิดพลาสเตอร์ปิดฝาครอบตา และปิดฝาพลาสเตอร์อีกครั้ง

สำลีเช็ดจากหัวคิ้วลงข้างสันจมูก

หมายเหตุ : 4.1-4.2หากไม่สะอาดให้เช็คซ้ำอีกครั้ง

วิธีการหยอดตาและป้ายตา

1.ล้างมือให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาด

2.ให้ผู้ป่วยนั่งแหงนหน้าขึ้นหรือนอนหงายราบ

3.ใช้นิ้ววางบนโหนกแก้มแล้วดึงหนังตาล่างลงมาให้ผู้ป่วยเหลือบตาขึ้นบนแล้วหยอดตาลงกระพุ้งตาล่างไม่ให้โดนตาดำและระวังให้ปลายหลอดอยู่ห่างจากลูกตาประมาณ 1 นิ้ว อย่าให้ปลายหลอดทิ่มตา

4.ให้ผู้ป่วยหลับตาเบาๆไม่ให้บีบตาแรง แล้วใช้สำลีซับน้ำยาที่ล้นออกมา

5.ถ้าจำเป็นใช้ยา 2 ชนิด ในเวลาเดียวกันควรเว้นระยะเวลาห่างจากการหยอดตาประมาณ 5-10นาทีป้องกันยาอาจไปทำลายฤทธิ์กันเองและล้นตาออกมา

6.ในกรณีที่ใช้ยาหยอดตาและยาป้ายตาในเวลาเดียวกันให้หยอดตาก่อนแล้วเว้นช่วงไว้ประมาณ5-10 นาที จึงตามด้วยยาป้ายตา

7.การป้ายตาโดยดึงหน้าตาล่างลงป้ายยาลงกระพุ้งตาจากด้านหัวตาไปหางตาประมาณครึ่งเวนติเมตรระวังไม่ให้ปลายหลอดยาถูกตาแล้วให้ผู้ป่วยหลับตา

8.ยาหยอดตาชนิดน้ำยาแขวนตะกอน(ชนิดขุ่น)ซึ่งเห็นเป็นสีขาวควรเขย่าทุกครั้งก่อนหยอดตา

วิธีทำความสะอาดฝาครอบตาครอบทำความสะอาดทุกวัน

นำฝาครอบตาที่แกะออกมาล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่หรือผงซักฟอกล้างด้วย

น้ำสะอาดทิ้งไว้ให้แห้งและเก็บไว้ในภาชนะที่สะอาดเตรียมไว้สำหรับเช็ดตาใน
วันถัดไป



ข้อมูลสุขภาพโดย โรงพยาบาลรามคำแหง
สายด่วนสุขภาพโทร 0-2743-9999
www.ram-hosp.co.th
www.facebook.com/ramhospital




 

Create Date : 10 กรกฎาคม 2556   
Last Update : 10 กรกฎาคม 2556 13:45:06 น.   
Counter : 1811 Pageviews.  


ไหลตาย-หัวใจตายเฉียบพลันมัจจุราชเงียบที่ไม่ควรมองข้าม !



ไหลตาย-หัวใจตายเฉียบพลันมัจจุราชเงียบที่ไม่ควรมองข้าม!

ผู้ป่วย...มักมีอาการหัวใจเต้นรัวเร็วจนล้มเหลวและหยุดเต้นในที่สุดหากไม่ได้รับการช่วยชีวิตภายใน 4 นาทีผู้ป่วยจะต้องจากโลกไปก่อนวัยอันควรแพทย์แนะอาการหัวใจตายเฉียบพลันมักเกิดในผู้ป่วยโรคหัวใจดังนั้นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงจึงควรเข้ารับการตรวจให้รู้แต่เนิ่นๆเพราะปัจจุบันมีวิธีป้องกันไม่ให้หัวใจตายได้ "

นพ. บัญชา ศันสนีย์วิทยกุลที่ปรึกษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ รพ.รามคำแหงเปิดเผยว่าภาวะหัวใจตายเฉียบพลันถือเป็นภัยเงียบที่ควรต้องใส่ใจอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นภาวะที่มักไม่มีสัญญาณเตือนก่อนดังเช่นโรคอื่นๆผู้ป่วยที่เผชิญสถานการณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่จึงต้องสูญเสียชีวิตไปโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจตายเฉียบพลันมักมีอาการหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติจนหัวใจล้มเหลวและหยุดเต้นในที่สุดอาทิผู้ป่วยโรคไหลตายซึ่งหัวใจหยุดเต้นโดยไม่รู้ตัวขณะที่เจ้าตัวนอนหลับซึ่งภาวะดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้ป่วยทุกเพศทุกวัยและมักเกิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจหรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจซึ่งหากเกิดอาการหัวใจตายเฉียบพลันแล้วผู้ใกล้ชิดจะมีเวลาในการกู้ชีพเพียง 4 นาทีด้วยวิธีปั๊มหัวใจและปฐมพยาบาลเบื้องต้นซึ่งเมื่อผู้ป่วยกลับมาหายใจได้ใกล้เคียงกับปกติแล้วจะต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที

สำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจตายเฉียบพลันนั้นปัจจุบันสามารถทำได้โดยการฝังอุปกรณ์บางชนิดเข้าไปใต้ผิวหนังช่วงหน้าอกซ้ายและเชื่อมสายไฟไปต่อเข้ากับหัวใจซึ่งเมื่อใดที่หัวใจเกิดอาการเต้นเร็วกว่าปกติอุปกรณ์ดังกล่าวก็จะส่งกระแสไฟเข้าสู่หัวใจทำให้กลับมาเต้นเป็นปกติเหมือนเดิมก่อนที่จะเต้นผิดจังหวะมากจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ


อย่างไรก็ตามผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างมากเพราะหากเกิดอาการขึ้นแล้วจะต้องได้รับการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธีภายในเวลา
4 นาทีเท่านั้นทางที่ดีแล้วผู้ที่ป่วยด้วยโรคหัวใจหรือมีอาการเข้าข่ายว่าจะมีความผิดปกติด้านหัวใจจึงควรต้องเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดส่วนผู้ใกล้ชิดก็ต้องเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับภาวะหัวใจตายและสูญเสียชีวิตอย่างน่าเสียดายนพ.บัญชากล่าวในที่สุด


สายด่วนสุขภาพ0-2743-9999




 

Create Date : 19 มิถุนายน 2556   
Last Update : 19 มิถุนายน 2556 15:43:46 น.   
Counter : 1593 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  111  112  113  114  115  116  117  118  119  120  121  122  123  124  125  126  127  128  129  130  131  132  133  134  135  136  137  138  139  140  141  142  143  144  145  146  147  148  149  150  151  152  153  154  155  156  157  158  159  160  161  162  163  164  165  166  167  168  169  170  171  172  173  174  175  176  177  178  179  180  181  182  183  184  185  186  187  188  189  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com