นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

การตรวจเชื้อ Helicobacter Pylori

ตรวจโรคแผลในกระเพาะอาหารโดยไม่ต้องส่องกล้อง
ด้วยวิธีการเป่าลมหายใจและวัดหาระดับยูเรีย (Urea Breath Test)



ท่านเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่ ?

• ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำหรือมีเลือดออก

• มีอาการปวดท้องกลางดึก

• วิงเวียนศีรษะ อาเจียน น้ำหนักลด

• จุกเสียดแน่นหรือเจ็บท้อง

• หิวก็ปวด อิ่มก็ปวด



โรคแผลในกระเพาะอาหารกับเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter Pylori

สาเหตุของการเกิดโรคกระเพาะหรือโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือทางการแพทย์เรียกว่า โรคแผลเปปติค ( Peptic Ulcer) ซึ่งจะเกิดเป็นแผลที่บริเวณกระเพาะอาหารโดยตรง หรือเกิดเป็นแผลที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งอยู่ติดกับกระเพาะอาหาร 80 % ของผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะประสบปัญหาการเป็นๆ หายๆ สาเหตุที่สำคัญคือ มีการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง คือ เอช.ไพโลไร (H.Pylori : Helicobacter pylori) เชื้อเอช.ไพโลไรนี่เองที่ทำให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดมากกว่าปกติ จนทำลายผนังเยื่อบุกระเพาะอาหารและสำไส้จนทำให้เป็นแผลที่เกิดบนเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอันหนึ่งในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร



จะทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อ H.Pylori ?

• วิธีการตรวจแบบเดิม

การส่องกล้องเข้าไปในกระเพาะอาหารผ่านทางปากที่เรียกว่า Gastroscopy แล้วตัดเนื้อเยื่อบุกระเพาะมาตรวจหาเชื้อโดยเทคนิคต่างๆ

• วิธีการตรวจแบบใหม่

ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจวินิจฉัยเชื้อที่เรียกว่า Urea breat test C-14 หรือการตรวจโดยผ่านลมหายใจ ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวก และรวดเร็ว มีความแม่นยำสูง ปลอดภัย คนไข้ไม่ต้องเจ็บตัว



ตรวจอย่างไร ?

การด้วยวิธีนี้ไม่ยุ่งยาก โดยให้คนไข้กินยูเรียแคปซูล (Urea Capsule) มีลักษณะคล้ายยาเม็ด และรอประมาณ 20 นาที หากในกระเพาะอาหารของคนไข้มีเชื้อ เอช.ไพโลไร เชื้อนี้จะมีการผลิตเอนไซน์ ยูรีเอส ไปเปลี่ยนยูเรียให้เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซแอมโมเนีย โดยก๊าซจะถูกขับออกมาทางลมหายใจ



ทำไมต้องตรวจ ?

การตรวจยืนยันว่ามีเชื้อ เอช.ไพโลไร ในกระเพาะอาหารและลำไส้หรือไม่นั้น ช่วยให้แพทย์ใช้วางแผนในการรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อพบว่ามีการติดเชื้อเอช.ไพโลไร จริง แพทย์จะทำการกำจัดเชื้อ โอกาสที่จะกลับมาเป็นแผลในกระเพาะอาหารซ้ำอีกลดลงไปอย่างมาก และมีโอกาสหายขาดทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทุกข์ทรมาน และยังลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารอีกด้วย


//ram-hosp.co.th

//www.ram-hosp.co.th/main.htm

//www.ram-hosp.co.th/inform_gif7.htm




 

Create Date : 23 มิถุนายน 2554   
Last Update : 6 กรกฎาคม 2554 14:18:02 น.   
Counter : 2170 Pageviews.  


การติดเชื้อแบคทีเรียอี.โคไลชนิดรุนแรง โอ 104 (E.Coli O 104)

• เชื้ออี.โคไล โอ 104 มีการแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยแล้วหรือยัง
คำตอบ
จากการเฝ้าระวังโดย กระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลทั่วไป ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้ออี.โคไล โอ 104 ในประเทศไทยเลย


• ข้อมูลเบื้องต้นของเชื้อ อี.โคไล โอ 104
คำตอบ
เชื้ออี.โคไล โอ 104 ที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสีย มีอยู่ 6 สายพันธ์ โดยสายพันธ์ที่กำลังเป็นข่าวอยู่นี้ เป็นสายพันธ์ที่อยู่ในกลุ่มให้อันตราย โดยเชื้อดังกล่าวมีอยู่ในอาหารจำพวกผักสด โดยเฉพาะถั่วและถั่วงอก สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ จะมีอาการคล้ายคลึงกับผู้ป่วยที่อาหารเป็นพิษ คือ ท้องเสีย ถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ มีไข้ต่ำ คลื่นไส้อาเจียน ส่วนใหญ่อาการจะหายได้เอง แต่ประมาณร้อยละ 10 อาการจะรุนแรงขึ้น เช่น ถ่ายเป็นมูกหรือเป็นเลือด เกิดภาวะซีด และร้อยละ 3-5 จะมีอันตรายมากขึ้นคือ อาจเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน เม็ดเลือดแดงแตก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด

ทั้งนี้ สามารถแยกอาการของ 2 โรคนี้ ได้โดยการสังเกตเบื้องต้น เช่น ท้องเสียเกิน 3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ถ่ายไม่หยุด ถ่ายเป็นมูกเป็นเลือด และต้องสังเกตว่าผู้ป่วยมีการรับประทานอาหารที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมาบ้างหรือไม่ อาทิ ถั่วงอกดิบ ผักสด หรือผู้ป่วยมีการคลุกคลีกับผู้ป่วยหรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่เกิดการระบาดของเชื้อ ก็ควรต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจโดยละเอียดต่อไป


• การรักษาโรคที่ติดจากเชื้ออี.โคไล โอ 104
คำตอบ
การรักษาผู้ที่ติดเชื้ออี.โคไล โอ 104 จะใช้วิธีเดียวกับการรักษาผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ หรือท้องร่วง ทั่วไป โดยเป็นการรักษาตามอาการ แต่จะไม่ให้ยาเพื่อหยุดถ่ายท้อง เพราะอาจส่งผลให้เชื้อตกค้างอยู่ในร่างกาย แต่หากมีเหตุจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์


• วิธีป้องกันตัวจากการติดเชื้ออี.โคไล โอ 104
คำตอบ
วิธีป้องกันที่ดีที่สุขคืออิงจากการรณรงค์ของ กระทรวงสาธารณสุข “ กินร้อน-ช้อนกลาง-ล้างมือ” ถ้าทำได้ก็จะช่วยให้ห่างไกลจากการติดเชื้อนี้ได้ โดยควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุขเท่านั้น หรืออย่างน้อยก็ควรผ่านความร้อนที่ 70 องศาขึ้นไป ก็จะช่วยเป็นการฆ่าเชื้อดังกล่าวได้ ส่วนผู้ที่นิยมรับประทานผักสดในช่วงนี้ก็ควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะผักจำพวกถั่วและถั่วงอก และควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพราะโรคเหล่านี้ มักจะเกิดในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ


ในส่วนของวงการแพทย์ ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ร่วมกับโรงพยาบาลต่างๆ ใช้มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังเชื้ออี.โคไล โอ 104 เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดใน ประเทศไทยได้


ส่วน รพ.รามคำแหงเอง นอกจากดำเนินการตามมาตรการที่ กระทรวงสาธารณสุขให้ไว้แล้ว ทีมแพทย์และพยาบาลก็ยังมีการสังเกตอาการ และตรวจคัดกรองผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารอย่างละเอียดและใกล้ชิดอีกด้วย ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าเชื้ออี.โคไล โอ 104 ไม่น่าจะมีโอกาสแพร่ระบาดได้มากนัก และโดยข้อเท็จจริงแล้ว โรคดังกล่าวก็ไม่ได้มีความร้ายแรงมากนัก หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และอยู่ในการดูแลของแพทย์


ด้วยเหตุนี้ จึงขอเน้นย้ำและฝากเตือนว่าให้รับประทานอาหารปรุงสุข หลีกเลี่ยงการรับประทานผักสด สำหรับน้ำที่ใช้ในการล้างผักสด ก็ควรจะเป็นน้ำสะอาด ไม่ควรใช้น้ำคลอง น้ำบ่อ และหากมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว ฯลฯ ควรรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์และเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดจะดีกว่า



ศ.ดร.นพ. นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล
แพทย์ที่ปรึกษาด้านโรคติดเชื้อ รพ.รามคำแหง
//ram-hosp.co.th




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2554   
Last Update : 16 มิถุนายน 2554 10:16:34 น.   
Counter : 1386 Pageviews.  


โรคท้องร่วง..ง..ง

เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองร้อน อุณหภูมิเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง เชื้อโรคเหล่านี้จะเจริญเติบโตได้ตลอดปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อน อุณหภูมิที่เชื้อโรคจะเจริญเติบโตได้ดีมาก คือ ประมาณ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งเชื้อโรคจะแบ่งตัวได้เร็วจาก 10 เป็น 100 จาก 100 เป็น 1000 ได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที ดังนั้น อาหารทุกชนิดเมื่อวางทิ้งไว้นาน จึงมีโอกาสทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่ใช้มือจับโดยตรง หากผู้ประกอบอาหารไม่ระมัดระวังเป็นพิเศษ จะทำให้เชื้อที่มือปนเปื้อนลงไปในอาหารได้ เชื้อโรคที่มือนั้นมาจากที่ต่างๆได้มากมาย เช่น เมื่อเข้าห้องน้ำถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ แล้วไม่ได้ล้างมือด้วยสบู่หรือ ขณะประกอบอาหาร อาจคันจมูก คันตามผิวหนัง เมื่อเกาบริเวณที่คัน ก็จะทำให้เชื้อติดเล็บมาได้ นอกจากนี้ ตามพื้นหรือโต๊ะที่ไม่ได้ทำความสะอาดบ่อยๆ ก็อาจจะมีเชื้อเหล่านี้อยู่ เชื้อที่มือที่สำคัญมากอีกชนิดหนึ่ง คือ เชื้อที่อยู่ที่เล็บของผู้ประกอบอาหาร

ในกรณีที่นิ้วของผู้ประกอบอาหารอักเสบเป็นหนอง จะมีเชื้อจำนวนมากมาย เชื้อพวกนี้สามารถสร้างสารพิษได้ และสารพิษนี้ทนต่อความร้อน การเกิดพิษจะเกิดขึ้นเมื่อมีเชื้อร่วงหล่นลงไปในอาหาร แล้วตั้งอาหารทิ้งไว้สักพัก ก็จะมีสารพิษออกมา หลังจากนั้น แม้จะเอาไปผ่านความร้อนจนเดือด จนเชื้อตายหมดแล้ว แต่สารพิษก็จะยังคงอยู่และทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้
เชื้อโรคที่ทำให้เกิดท้องร่วงมีหลายชนิด การปนเปื้อนแตกต่างกัน ความรุนแรงของโรคแตกต่างกัน ที่พบบ่อยในเมืองไทย มีดังนี้

1.เชื้ออหิวาต์ ท่านคงจะคุ้นเคยกับชื่อนี้ดี เนื่องจากในอดีตเคยมีการระบาดของโรคท้องร่วงจากเชื้ออหิวาต์ เป็นครั้งคราว หลังสุด เมื่อปี พ.ศ. 2537 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตไปจำนวนหนึ่ง เชื้อนี้ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ คล้ายน้ำซาวข้าว ทำให้สูญเสียน้ำจนช็อคได้ การปนเปื้อนของเชื้อ มักจะมาทางน้ำที่ไม่สะอาด ดังนั้น หากต้มน้ำจนเดือด ก่อนดื่มทุกครั้งไป ก็จะปลอดภัยจากโรคอหิวาต์ ผัก ผลไม้ ที่รับประทานสดๆ ควรแช่ด่างทับทิม เพื่อฆ่าเชื้อ หากเป็นไปได้ ควรรับประทานผลไม้ที่ปอกเปลือกได้จึงจะปลอดภัย นอกจากนี้ ผู้ประกอบอาหารที่มีอาการท้องเสียก็ต้องระมัดระวัง ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนประกอบอาหารทุกครั้ง เมื่อมีอาการท้องเสีย ควรถ่ายอุจจาระลงในส้วมทุกครั้ง เพราะการถ่ายอุจจาระ เรี่ยราดทั่วไป อาจทำให้เชื้อถูกชะล้าง ไหลลงไปในแม่น้ำ ลำคลอง และแพร่ระบาดไปได้อย่างรวดเร็ว เมื่อมีผู้เจ็บป่วยด้วยเชื้อนี้ควรแจ้งกองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขทุกครั้ง เพื่อที่กองระบาดวิทยา จะได้ทำการตรวจหาที่มาของเชื้อและป้องกันไม่ให้มีการกระจายของเชื้อต่อไป

2.เชื้อที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ คือ เชื้อสแตฟฟีโลคอคคัส ซึ่งเป็นเชื้อที่อยู่ตามผิวหนัง รูจมูก และตุ่มหนองที่ผิวหนัง และขอบเล็บดังกล่าวแล้วข้างต้น ทำให้มีอาการอาเจียนมาก และท้องเสีย อาการมากน้อยขึ้นกับปริมาณพิษที่ได้รับเข้าไป การป้องกันทำได้โดย การล้างมือด้วยสบู่ก่อนประกอบอาหาร หากมือหรือเล็บเป็นหนอง ไม่ควรหยิบจับอาหารด้วยมือ แต่ควรใช้ช้อน ส้อม หรืออุปกรณ์อื่นๆ ช่วย ผู้บริโภคควรเลือกอาหารที่เดือดจากเตา มารับประทาน หากเป็นอาหารประเภทยำ และส้มตำซึ่งไม่ผ่านความร้อน จะมีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับเชื้อทุกชนิด
หากท่านซื้ออาหารมา และต้องการจะเก็บไว้ ควรต้มให้เดือดก่อน เพื่อฆ่าเชื้อที่ปนเปื้อนมา และหากจะเก็บไว้นาน ข้ามวันข้ามคืน ควรแช่ตู้เย็นไว้ เพื่อระงับการเจริญเติบโตของเชื้อที่อาจหลงเหลืออยู่ เนื่องจากเชื้อบางชนิดอาจจะแบ่งตัว และสร้างสารพิษในระหว่างนั้น

3.เชื้อบิด มี 2 ชนิด คือ บิดมีตัวซึ่งตรวจพบได้โดยการใช้กล้องจุลทัศน์ และบิดไม่มีตัว ตรวจโดยวิธีการ เพราะเชื้อ เชื้อบิดทั้ง 2 ชนิด ทำให้ถ่ายเป็นมูกปนเลือด หรือถ่ายเป็นน้ำได้ สำหรับเชื้อบิดมีตัวอาจทำให้เกิดแผลใหญ่ในลำไส้ ซึ่งจะทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสดๆ ได้ เชื้อทั้ง 2 ชนิด อาจปนเปื้อนมากับอาหาร โดยติดจากมือของผู้ประกอบอาหาร หรือร่วงหล่นอยู่ตามพื้น ก็อาจได้รับเชื้อนี้เข้าไปได้ การป้องกันคือ การล้างมือ เมื่อออกจากห้องส้วมทุกครั้ง ทำความสะอาดพื้นและของเล่นที่หล่นอยู่ตามพื้นบ่อยๆ และล้างมือเด็กให้สะอาดบ่อยๆ

4.เชื้อ อีโคไล เชื้อนี้ทำให้เกิดอาการท้องเสียบ่อยที่สุด ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้ถ่ายอุจจาระเหลว หรือเป็นน้ำ แต่อาการมักไม่รุนแรง เพราะทั้งเด็ก และผู้ใหญ่มักมีภูมิต้นทานอยู่บ้างแล้ว เนื่องจาก ได้รับเชื้อนี้เข้าไปทีละน้อยอยู่เรื่อยๆ เชื้อนี้มักปนเปื้อนมากับอาหาร น้ำ หรือ มือของผู้ประกอบอาหาร ปกติเชื้อเหล่านี้อาจพบในอุจจาระได้อยู่แล้วแม้จะไม่มีอาการอะไร การป้องกันจึงคล้ายกับเชื้ออื่นๆ คือ ล้างมือให้สะอาด เมื่อออกจากห้องน้ำ หรือก่อนการประกอบอาหาร และก่อนรับประทานอาหาร และเลือกรับประทานอาหารที่ผ่านความร้อนจนสุกแล้ว

5.เชื้อซาลโมเนลล่า เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียเรื้อรัง, สำหรับบางคนเชื้ออาจอยู่ในตัวได้นานเป็นปี ทำให้มีอาการท้องเสียเป็นครั้งคราว แต่ในเด็กเล็กอาจทำให้ทำให้ท้องร่วงเรื้อรังจนผอมโซได้ นอกจากนี้ ในเด็กทารกและคนแก่ เชื้อนี้อาจไชทะลุผนังลำไส้เข้าไปสู่อวัยวะภายในต่างๆ ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะภายในเช่น ข้อ, ปอด และสมอง การป้องกัน คือ การรับประทานอาหารที่ผ่านความร้อนจนสุก หรือน้ำต้มสุก เช่นกัน

นอกจากเชื้อที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อแบคทีเรีย แล้วยังมีเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียในเด็กเล็ก แต่มักเป็นในฤดูหนาว
ดังนั้น ท่านผู้อ่าน จึงควรเลือกรับประทานอาหารที่ผ่านความร้อนจนสุก น้ำต้มสุก ล้างมือหลังจากออกจากห้องน้ำ ก่อนประกอบอาหาร และก่อนรับประทานอาหาร หากจำเป็นต้องรับประทานอาหารประเภทยำ ควรล้างอาหารที่นำมาประกอบให้สะอาด และใส่มะนาว กระเทียม หัวหอม มากๆ และควรรับประทานกระเทียม หรือหัวหอมเข้าไปด้วย เพราะมะนาว กระเทียม และหัวหอม มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ได้บางส่วนด้วย


//www.ram-hosp.co.th/books/vara17.htm




 

Create Date : 10 มิถุนายน 2554   
Last Update : 10 มิถุนายน 2554 13:47:41 น.   
Counter : 1425 Pageviews.  


น้ำไขสันหลังคั่งในโพรงสมอง

อะไรคือโพรงสมอง
อะไรคือน้ำไขสันหลัง

สมองของคนเราไม่ใช่เป็นแค่ก้อนเนื้อก้อนไขมันตันๆ สักก้อน หากแต่มันจะมีโพรงอยู่ตรงกลาง เรา
เรียกมันว่า "โพรงสมอง” ส่วนน้ำไขสันหลัง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Cerebrospinal fluid ก็คือน้ำที่สร้างขึ้นในโพรงสมอง แล้วไหลเวียนหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังของเรา อยู่ทั้งในโพรงสมอง และห่อหุ้มทั้งสมองและไขสันหลังของเราไว้ หน้าที่หลักของมันก็คือนำอาหารไปเลี้ยงสมอง และรับเอาของเสียจากสมองไปทิ้ง นอกจากนั้นยังทำตัวเป็นฉนวนลดแรงกระแทกต่อสมองที่อาจจะเกิดขึ้นเวลาที่หัวหรือหลังของเราถูกกระทบกระแทกอีกอย่างหนึ่งด้วย
ร่างกายสร้างน้ำไขสันหลังขึ้นมาโดยสกัดออกมาจากเลือดแดง โดยหลอดเลือดแดงชนิดพิเศษภายในโพรงสมอง และไหลเวียนไปตามโพรงต่างๆ ในสมอง แล้วไหลออกมาอยู่ใต้เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง จากนั้นก็จะดูดซึมกลับเข้าหลอดเลือดดำใหญ่ที่ผิวสมอง น้ำไขสันหลังถูกสร้างขึ้นวันละประมาณ 500 ซีซี แต่ความจุของโพรงสมองของคนปกติทั่วไปมีแค่ประมาณ 70-80 ซีซี บวกกับช่องใต้เยื่อหุ้มสมองลำไขสันหลังอีก รวมๆ กันก็มีที่ให้น้ำไขสันหลังอยู่ได้ไม่เกิน 150-200 ซีซีเป็นอย่างมาก

การสร้างและการดูดซึมกลับของน้ำไขสันหลังต้องอยู่ในสมดุล เพราะฉะนั้น หากมีอะไรเป็นสาเหตุให้มีการสร้างน้ำไขสันหลังมากขึ้นกว่าปกติมากๆ จนดูดซึมกลับไม่ทัน หรือการดูดซึมกลับมีประสิทธิภาพลดน้อยลง หรือแม้แต่การไหลเวียนของน้ำไขสันหลังจากในโพรงสมองไปยังใต้เยื่อหุ้มสมองและผิวสมอง ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดน้ำไขสันหลังคั่งในโพรงสมองได้ทั้งสิ้น
โรคหรือภาวะผิดปกติที่พบบ่อย และทำให้น้ำไขสันหลังในโพรงสมองมีหลากหลาย อาทิเช่น เนื้องอกของหลอดเลือดส่วนที่ทำหน้าที่สร้างน้ำไขสันหลัง ทำให้น้ำไขสันหลังผลิตออกมามากกว่าปกติ หรือเนื้องอกในโพรงสมองหรือเนื้อสมองที่ไปเบียดทำให้น้ำไขสันหลังไหลเวียนได้ไม่ดี หรือโพรงสมองตีบตัน ทั้งจากการตีบตันแต่กำเนิด หรือมีซีสต์ มีพยาธิ มีก้อนเลือด ก้อนเนื้อไปอุดตันตามโพรงสมองและเส้นทางไหลเวียนของน้ำไขสันหลัง เป็นต้น
ถ้าเกิดในเด็กที่กระหม่อมยังไม่ปิด หรือตะเข็บกะโหลกยังไม่สมานสนิท กะโหลกก็ยังจะพอขยายได้ แต่นานเข้าก็จะทำให้เนื้อสมองบางลงๆ หัวก็จะโตขึ้นๆ กลายเป็นเด็กหัวบาตร หรือหัวแตงโมอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ แต่ถ้าเกิดในเด็กโต วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ กระหม่อมปิดแล้ว ตะเข็บกะโหลกก็สมานสนิทแล้ว กะโหลกขยายไม่ได้อีกแล้ว ก็จะมีอาการปวดหัว ชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้ เพราะความดันในกะโหลกศีรษะหรือความดันของน้ำไขสันหลังที่เพิ่มสูงขึ้นจากการคั่งของน้ำไขสันหลังนั่นเอง ซึ่งต้องการการรักษาช่วยเหลือให้ทันท่วงที

คราวนี้มาดูภาวะน้ำไขสันหลังคั่งในโพรงสมองที่เกิดในผู้สูงอายุกันบ้าง ว่ามันเป็นอย่างไร จะเหมือนๆ กับที่เล่าให้ฟังมาแล้วหรือไม่ เกิดจากอะไร และจะแก้ไขได้อย่างไร
ภาวะน้ำไขสันหลังคั่งในโพรงสมองในผู้สูงอายุ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการคั่งของน้ำไขสันหลังแบบค่อยเป็นค่อยไป จะเรียกว่าแบบเรื้อรังก็ได้ เกิดขึ้นตามสัจธรรมของพุทธศาสนา หรือความเสื่อมแห่งสังขาร คือเกิดจากการไหลเวียนของน้ำไขสันหลังที่เลวลง ไม่ถึงกับอุดตัน แต่ไหลได้ไม่คล่องเหมือนเดิม ประกอบกับตัวกรองน้ำไขสันหลังกลับเข้าเลือดดำที่หลอดเลือดดำตรงผิวสมองก็ทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม อาจจะเพราะใช้งานมานาน มีตะกรันตะกอนมาอุดตัน หรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งแม้การสร้างน้ำไขสันหลังจะไม่เปลี่ยนไปสักเท่าไหร่ แต่ก็สามารถทำให้น้ำไขสันหลังคั่งค้างสะสมอยู่ในโพรงสมองได้ วันละเล็กวันละน้อย จะว่าไปอาจจะคั่งค้างเพียงแค่วันละไม่ถึงซีซีด้วยซ้ำไป แต่นานเข้าๆ เป็นปี เป็นหลายๆ ปี มันก็คั่งจนทำให้โพรงสมองขยายโตขึ้นที่ละน้อยจนเบียดเนื้อสมองได้ในที่สุด เป็นเพราะภาวะน้ำไขสันหลังคั่งในโพรงสมองชนิดที่เกิดในผู้สูงอายุนี้เกิดอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป จึงทำให้ร่างกายทนการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไปนี้ได้นานกว่าการคั่งของน้ำไขสันหลังในกรณีอื่นๆ อย่างไรก็ดี เมื่อถึงจุดหนึ่งอาการผิดปกติก็ย่อมปรากฏให้เห็น
เปล่าเลย อาการของภาวะน้ำไขสันหลังคั่งในโพรงสมองที่สำคัญไม่ใช่ปวดหัว แต่เป็นการทำงานของสมองที่เปลี่ยนไป ความจำที่แย่ลง การเดินที่ผิดปกติ เดินลำบาก หรือเดินไม่ได้ดี ล้มบ่อย มีอาการเกร็ง อาการสั่นของแขนขา คล้ายคนเป็นโรคพาร์กินสัน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่คล้ายคนที่ต่อมลูกหมากโต ก็เพราะการที่มันมีอาการคล้ายโรคอื่นๆ หลายอย่างแบบนี้นี่เองที่ทำให้บางครั้งภาวะน้ำไขสันหลังคั่งในโพรงสมองถูกละเลย ถูกมองข้ามไป การวินิจฉัยในสมัยนี้ทำได้ไม่ยาก ตั้งแต่การตรวจที่ไม่เจ็บตัว เช่น การใช้เครื่องตรวจสมองด้วยสัญญาณแม่เหล็ก (MRI brain scan) ตรวจดูขนาดของโพงสมอง ตรวจวัดการไหลเวียนของน้ำไขสันหลัง วัดความเร็วการไหลของน้ำไขสันหลังในโพรงสมอง ไปจนถึงการตรวจที่ต้องเจ็บตัวสักหน่อย แต่ให้การยืนยันการวินิจฉัยที่แน่นอน เช่น การเจาะไขสันหลังเพื่อวัดความดันน้ำไขสันหลังโดยตรง เอาน้ำไขสันหลังออกมาตรวจ และลองระบายน้ำไขสันหลังทิ้งสัก 40-80 ซีซี หากความดันน้ำไขสันหลังสูงกว่าปกติและเมื่อระบายน้ำไขสันหลังออกเสียบ้าง อาการต่างๆ ก็ดีขึ้น เช่น เดินดีขึ้น ไม่เซไม่ล้มง่าย สั่นน้อยลง เกร็งน้อยลง อย่างนี้ก็เชื่อขนมกินได้เลยว่าเกิดภาวะน้ำไขสันหลังคั่งในโพรงสมองแล้วแน่นอน
สำหรับการรักษาสมัยนี้ไม่ยากเลย เพียงแค่เปลี่ยนทางเดินของน้ำไขสันหลังจากที่มันจะต้องไปดูดซึมกลับที่ผิวสมองเพียงที่เดียว ให้ไปดูดซึมกลับโดยเยื่อบุช่องท้องอีกแรงหนึ่งเท่านี้ก็เรียบร้อย
หลังการรักษาที่ถูกต้อง คนไข้จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตที่เป็นปกติได้อีกนาน หลายรายที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสัน สามารถลดยาที่กินลงได้มาก และมีอีกจำนวนหนึ่งที่อาจจะหยุดยาไปได้เลย อย่างไรก็ดี ต้องเข้าใจไว้ด้วยว่าภาวะนี้คือภาวะที่เกิดขึ้นตามสัจธรรมแห่งสังขารที่เป็นอนิจจัง เพียงแต่ทำอย่างไรจะช่วยให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขกับลูกหลาน เป็นกำลังใจ เป็นที่เคารพให้ลูกหลาน ดูแลท่านให้สมกับที่ท่านได้เลี้ยงดูเรามา มีบุญคุณกับเราอย่างชนิดที่ไม่สามารถทดแทนได้หมด ไม่ว่าจะเกิดอีกกี่ชาติก็ตามที่สำคัญ สักวันหนึ่งเมื่อเราสูงวัย เราก็มิอาจหนีสัจธรรมนี้ไปได้เช่นกัน.



//ram-hosp.co.th/specialtyclinic_su1.html




 

Create Date : 06 มิถุนายน 2554   
Last Update : 7 มิถุนายน 2554 10:58:39 น.   
Counter : 1563 Pageviews.  


กลุ่มอาการดาวน์(Down Syndrome)


กลุ่มอาการดาวน์คืออะไร?
กลุ่มอาการดาวน์หมายถึง โรคกรรมพันธุ์ชนิดหนึ่งที่เกิดเนื่องจากมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง ในคนปกติจะมี 46 โครโมโซม แต่คนที่เป็นโรคดังกล่าวมี 47 โครโมโซม ถือเป็นความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดได้กับคนทุกเชื้อชาติ ทุกระดับของสังคมและสามารถเกิดได้กับทุกๆ คน

เด็กเป็นกลุ่มอาการดาวน์จะมีลักษณะอย่างไรบ้าง?
แพทย์มักจะให้การวินิจฉัยเด็กที่เป็นกลุ่มอาการดาวน์ได้แต่แรกคลอด เนื่องจากเด็กจะมีลักษณะที่เฉพาะเช่น ลักษณะของตาที่เฉียงขึ้นบน, ดั้งจมูกแบน, ตาห่าง, มือเท้าสั้น, กล้ามเนื้อที่อ่อนแรง และมักจะมีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดร่วมด้วย เป็นต้น ซึ่งสามารถยืนยันการวินิจฉัยได้โดยการส่งตรวจโครโมโซม เด็กที่เป็นโรคดังกล่าวจะมีสติปัญญาอ่อน ซึ่งความรุนแรงจะมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละคน

กลุ่มอาการดาวน์เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ส่วนใหญ่ (95%) เกิดจากการที่โครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง ทำให้เด็กกลุ่มอาการดาวน์มีจำนวนโครโมโซมทั้งหมดเท่ากับ 47 โครโมโซม แทนที่จะเป็น 46 โครโมโซม สาเหตุส่วนน้อยเกิดจากการเคลื่อนย้ายที่ผิดปกติของโครโมโซมที่ 21 โดยไปเกาะติดกับโครโมโซมตัวอื่นๆ ทำให้มีส่วนของโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา


ทำไมลูกจึงเกิดเป็นกลุ่มอาการดาวน์
นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามค้นหาสาเหตุที่ว่าทำไมโครโมโซมจึงไม่ยอมแยกออกจากกัน พบว่าอายุของมารดาที่มากขึ้นเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดเด็กที่เป็นโรคดังกล่าว ในผู้หญิงทุกคนหลังจากที่คลอดออกมาแล้ว จะมีจำนวนของไข่ในรังไข่คงที่ ซึ่งไข่เหล่านี้จะไม่เจริญเติบโตต่อไป จนกว่าจะได้รับการผสมจากเชื้ออสุจิซึ่งเป็นไปได้ว่า ไข่ที่อายุมากจะทำให้การแยกตัวของโครโมโซมผิดปกติไป แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่เกิดจากการไม่แยกตัวของโครโมโซมคู่ที่ 21 ของเชื้ออสุจิ
โรคนี้จะพบได้บ่อยในคุณแม่ที่อายุมาก แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยกลุ่มอาการดาวน์ ก่อนคลอดโดยการเจาะถุงน้ำคร่ำเพื่อนำน้ำคร่ำไปตรวจโครโมโซม ซึ่งปัจจุบันแนะนำให้ตรวจในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป

โอกาสที่จะเกิดซ้ำในท้องต่อไปมีมากน้อยเพียงใด?
พ่อแม่มักจะกังวลว่า โอกาสที่จะเกิดซ้ำในท้องถัดไปมีมากน้อยเพียงใด หลังจากที่มีลูกเป็นกลุ่มอาการดาวน์แล้ว คำตอบขึ้นอยู่กับว่าสาเหตุของโรคดังกล่าวเป็นชนิดใด ถ้าสาเหตุเกิดจากโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง โดยทั่วไปโอกาสเกิดซ้ำประมาณ 1% แต่ถ้าเกิดจากการเคลื่อนย้ายที่ผิดปกติโดยโครโมโซมคู่ที่ 21 ไปเกาะติดกับโครโมโซมตัวอื่น ซึ่งมักจะถ่ายทอดมาจากพ่อหรือแม่ โอกาสที่จะเกิดซ้ำจะสูงขึ้นมาก การที่จะทราบว่าเป็นกลุ่มอาการดาวน์ชนิดใด ต้องส่งตรวจโครโมโซม ซึ่งนักพันธุศาสตร์สามารถให้คำปรึกษาแนะนำที่เหมาะสมแก่พ่อ-แม่ได้

แพทย์สามารถให้การตรวจวินิจฉัยก่อนคลอดได้หรือไม่?
กลุ่มอาการดาวน์สามารถให้การวินิจฉัย ก่อนคลอดได้โดยวิธีต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.การตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์ ที่นิยมทำกันคือการเจาะถุงน้ำคร่ำ เพื่อนำไปตรวจโครโมโซมปกติ จะทำในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 16-18 สัปดาห์ ซึ่งในน้ำคร่ำ จะมีเซลล์ของทารก ปนอยู่ด้วย ทำให้สามารถนำไปเพาะเลี้ยง และตรวจดูโครโมโซมต่อไป โดยทั่วไปจะทราบผลการตรวจโครโมโซม ภายในเวลา 2 สัปดาห์

2.การตรวจโดยใช้เครื่องตรวจเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) ซึ่งอาจตรวจพบความผิดปกติของหัวใจหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ แต่จะวินิจฉัยให้ได้แน่นอนต้องตรวจโครโมโซมยืนยัน

3.การตรวจเลือดมารดา เพื่อดูว่า ทารกในครรภ์เป็นกลุ่มอาการดาวน์หรือไม่ เป็นเพียงวิธีทดสอบว่า ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงที่จะเป็นมากน้อยเพียงใด ถ้าจะให้ทราบแน่นอนต้องตรวจโครโมโซม


อนาคตของเด็กกลุ่มอาการดาวน์จะเป็นอย่างไร?
พ่อแม่มักจะต้องการรู้ว่า ลูกของตนจะมีความสามารถเรียนรู้ได้มากน้อยแค่ไหน เขาสามารถจะอ่านออกเขียนได้ไหม จะเข้าโรงเรียนได้ไหม ซึ่งคำตอบของคำถามเหล่านี้ จะแตกต่างกันในเด็กแต่ละคน ซึ่งจะคล้ายกับในเด็กปกติทั่วไป ที่ความสามารถของแต่ละคนจะแตกต่างกันมาก
ในสมัยก่อนจะพบว่า เด็กกลุ่มอาการดาวน์มักจะอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กปัญญาอ่อน ซึ่งเด็กเหล่านี้จะช่วยเหลือตัวเองได้น้อยมาก, ไม่พูด, ไม่สามารถสื่อความหมายได้ แต่ปัจจุบันจะพบว่า เด็กกลุ่มอาการดาวน์บางคนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไปเรียนหนังสือได้ มีงานทำและมีความสุขเช่นคนทั่วไป ปัจจัยสำคัญก็คือ การที่พ่อ-แม่ได้รับคำชี้แนะที่ถูกต้องจากนักพันธุศาสตร์ ซึ่งสามารถให้คำแนะนำได้ว่า เด็กดังกล่าวจะมีปัญหาอะไรได้บ้าง และจะให้การแก้ไขหรือป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ตั้งแต่ก่อนเริ่มเกิดปัญหา ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการได้เต็มความสามารถที่แต่ละคนมีอยู่ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทั้งความฉลาดและทักษะทางสังคมของเด็กจะมีสูงสุด เมื่อเขาเหล่านั้นถูกเลี้ยงดูในครอบครัวที่อบอุ่นและให้การสนับสนุนเด็กอย่างเต็มที่นั่นเอง
ในกรณีที่คุณพ่อ คุณแม่ มีลูกที่เป็นโรคนี้ การกระตุ้นพัฒนาการแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้พัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กดีขึ้น ในปัจจุบัน นอกจากจะมีโรงเรียนการศึกษาพิเศษสำหรับเด็ก ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาแล้ว ยังมีโรงเรียนอีกหลายแห่ง ที่มีชั้นเรียนพิเศษให้เด็กเหล่านี้เรียนร่วมกับเด็กปกติได้


//ram-hosp.co.th




 

Create Date : 03 มิถุนายน 2554   
Last Update : 3 มิถุนายน 2554 10:35:07 น.   
Counter : 1522 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  111  112  113  114  115  116  117  118  119  120  121  122  123  124  125  126  127  128  129  130  131  132  133  134  135  136  137  138  139  140  141  142  143  144  145  146  147  148  149  150  151  152  153  154  155  156  157  158  159  160  161  162  163  164  165  166  167  168  169  170  171  172  173  174  175  176  177  178  179  180  181  182  183  184  185  186  187  188  189  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com