Night : บันทึกคืนวันอันโหดร้ายในค่ายนาซีของ Elie Wiesel เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 1986
อ่านเล่มนี้แล้วตอบโจทย์ HHR ข้อ...
20-3. [Clear Ice] อ่านหนังสือ 3 เล่ม 3 แนว: โดยเลือกจากหนังสือแนวแฟนตาซี/sci-fi, สืบสวนสอบสวน, อิงประวัติศาสตร์, โรแมนซ์, รักกุ๊กกิ๊ก, non-fiction
หนังสือเล่มนี้เป็น memoir หรือบันทึกเหตุการณ์จริงนะคะ ใช้ตอบโจทย์ non-fiction ค่ะ
หนังสือ : Night เขียนโดย : Elie Wiesel สนพ. : Bantam USA; 25th Anniversary edition จำนวนหน้า : 109 หน้า ภาษา : อังกฤษ (แปลจากภาษาฝรั่งเศส)
* หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์มานานแล้ว และได้รับการตีพิมพ์หลายครั้งมากค่ะ เล่มที่ไอซ์มีเป็นเล่มตามปกนี้ ซึ่งเป็นเล่มที่ตีพิมพ์ฉลองครบ 25 ปี
จากปกหลัง
Night - บันทึกเหตุการณ์น่าหวาดกลัวของค่ายนาซีที่เปลี่ยนเด็กหนุ่มชาวยิวให้กลายเป็นพยานที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานในการตายของครอบครัว...จุดจบของความไร้เดียงสา...และความตายของพระเจ้าในหัวใจ
เป็นหนังสือที่จับจิต เต็มไปด้วยพลัง และสร้างอารมณ์ร่วมได้ไม่ต่างจาก บันทึกของ แอน แฟรงค์
Night ปลุกความทรงจำอันน่าตื่นตระหนกของความชั่วร้าย และนำสาสน์ที่จะเตือนความจำไว้ว่า ความน่าหวาดกลัวเช่นนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก
เกี่ยวกับผู้เขียน
อีไล วีเซล (Elie Wiesel) เกิดที่เมือง Sighet ในทรานซิเวเนีย เขาถูกนำตัวไปจากบ้านสู่ค่ายนาซี ตั้งแต่ Auschwitz ไปจนถึง Buchenwald ความทรงจำของประสบการณ์อันเลวร้ายที่ไม่อาจลืมเลือนได้ถูกบันทึกไว้ใน Night ซึ่งได้กลายเป็นหนังสือขายดีทั่วโลก เขาเขียนหนังสือ 21 เล่ม และเป็นศาสตราจารย์สอนด้าน Humanity ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน และเป็นประธานของ Holocaust Memorial Council แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา
เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี ค.ศ. 1986 ด้วยค่ะ
....
หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกความทรงจำของอีไล วีเซล เด็กหนุ่มชาวยิวที่เกิดในประเทสฮังการีค่ะ เขาเป็นคนที่ใฝ่ศาสนาและเชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้า ครอบครัวของเขาประกอบไปด้วยพ่อ แม่ และน้องสาว ...
ก่อนจะอายุครบ 15 ปี มาตรการกำจัดชาวยิวก็เริ่มขึ้นอย่างที่เรารู้ๆ กัน เริ่มจำกัดสถานที่ที่ชาวยิวจะไปได้ ให้รวมกันอยู่ใน ghetto จำกัดอยู่สองแห่ง และไม่นานก็ถูกนำตัวไปสู่ค่ายของนาซี การเดินทางเริ่มต้นอย่างทรมานด้วยการเดินเท้า ต่อด้วยรถไฟที่อัดแน่นจนแทบไม่มีที่นั่ง
จุดหมายแรกคือ Birkenua ซึ่งเปรียบเสมือนด่านแรก หญิงและชายถูกแยกออกจากกัน และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่พ่อและเขาได้เห็นแม่และน้องสาว
ที่นั่น "การคัดเลือก" ((ภาษาอังกฤษใช้คำว่า selection ค่ะ จริงๆ แล้วควรจะแปลว่า "คัดทิ้ง" เสียมากกว่า T^T)) เกิดขึ้น ... อีไลอายุยังไม่ถึง 15 ปี ส่วนพ่ออายุ 50 กว่าแล้ว ทั้งสองได้รับคำแนะนำให้โกหกว่า อายุ 18 และ 40 ตามลำดับ ซึ่งเป็นวัยทำงาน เพราะคนที่ไม่สามารถทำงานได้ จะต้องถูกเผาทิ้ง ... อีไลได้เห็นเด็กทารกมากมายถูกเผา
ประโยคตรงนี้เศร้าและสิ้นหวังมากค่ะ
"...Never shall I forget that nocturnal silence which deprived me, for all eternity, of the desire to live. Never shall I forget the moments which murdered my God and my soul and turned my dream to dust. Never shall I forget these things, even if I am condemned to live as long as God himself. Never.
...ไม่มีวันที่ผมจะลืมยามราตรีอันเงียบงันซึ่งช่วงชิงความตั้งใจที่จะมีชีวิตไปตลอดกาล ไม่มีวันที่ผมจะลืมช่วงเวลาที่สังหารพระผู้เป็นเจ้าและวิญญาณของผม และเปลี่ยนความฝันให้กลายเป็นฝุ่นผง ไม่มีวันที่ผมจะลืมสิ่งเหล่านี้ ถึงแม้ว่าผมจะถูกสาปให้มีชีวิตยืนยาวเท่ากับพระผู้เป็นเจ้า ไม่มีวัน"
และนั่นก็เป็นแค่จุดเริ่มต้นของความหวาดหวั่นและโหดร้าย หลังจากนั้นเขาและพ่อก็ถูกส่งไป Auschwitz ต่อด้วย Buna และ Buchenward ทุกอย่างเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ ความอดอยากหิวโหย งานหนัก ถูกทุบตี ... นอกจากนั้นยังจะต้องหวาดผวากับการถูกคัดออก ซึ่งก็คือ ถูกนำไปฆ่าเพราะหมดประโยชน์ที่จะทำงานได้อีก
สภาพแวดล้อมเปลี่ยน "มนุษย์" ให้กลายเป็นแค่ "ร่าง" หรือไม่ก็แค่ "กระเพาะที่หิวโหย" ...
ความเป็นคนทุกอย่างถูกลอกออกเหลือเพียงแต่สัญชาติญาณเอาตัวรอด ลูกฆ่าพ่อได้เพียงเพราะต้องการช่วงชิงขนมปังแค่คำเดียว
เรื่องจบลงเมื่อรถถังคันแรกของอเมริกาได้ปรากฎขึ้นที่ Buchenward ... ขณะนั้นอีไลอายุ 16 ปี และเพิ่งสูญเสียพ่อและเหตุผลที่ต้องการมีชีวิตอยู่ไปเรียบร้อยแล้ว
....
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มบางๆ ที่ไอซ์ใช้เวลาอ่านนานมากเมื่อเทียบกับจำนวนหน้าหนังสือ ... อ่านด้วยความอึดอัด เศร้าหมอง หดหู่ และสิ้นหวังมากๆ ค่ะ ถ้อยคำที่ปรากฎอยู่ในหนังสือสั้นๆ ตรงไปตรงมา และกินใจมากๆ อ่านแล้วรู้สึกมีส่วนร่วมไปกับการต่อสู้ของอีไลไปด้วย
หนังสือเล่มนี้ได้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ "บันทึกของแอน แฟรงค์" บ่อยๆ ส่วนตัวไอซ์ที่อ่านแล้วทั้งสองเล่มมันเป็นความเหมือนที่แตกต่างมากๆ ค่ะ ถึงจะเป็นบันทึกจากสายตาของเด็กวัยรุ่น แต่...ขณะที่บันทึกของแอนเต็มไปด้วยความหวังและความฝัน รวมทั้งความพยายามที่จะมองโลกในแง่ดี แต่...บันทึกของอีไลเต็มไปด้วยความจริงตรงๆ อย่างไม่มีบิดเบือน และความสิ้นหวังต่อพระผู้เป็นเจ้า
ไอซ์อ่านจบแล้วเข้าใจได้ว่า ทำไม Night ถึงเป็นหนังสือขายดี มันเป็นหนังสือที่ดีมากๆ ค่ะ แต่...ถ้าจะให้อ่านอีกรอบคงไม่ไหว บีบคั้นจิตใจเหลือเกิน TT^TT
หลังจากที่อีไลได้รับการช่วยเหลือออกมาจากค่ายนาซี เขาก็ย้ายไปฝรั่งเศส อยู่จนใช้ภาษาฝรั่งเศสได้ดี ((หนังสือเล่มนี้ก็เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสนะคะ)) เขาอยู่ที่นั่น ทำอาชีพนักข่าวอยู่เป็นสิบปี ก่อนจะเดินทางไปอิสราเอล ((ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งเขาอยากไปตั้งแต่เด็ก เพราะเป็นสถานที่ที่มีชาวยิวอยู่)) และสุดท้ายก็ลหลักปักฐานที่สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ในนิวยอร์กค่ะ
** ภาพจาก wiki
การ "คัดเลือก" ชาวยิวที่มาจากฮังการีที่ Auschwitz-Birkenau ช่วงเดือนพ.ค./มิ.ย. ในปี 1944 ถ้าถูกส่งไปทางซ้ายคือจะถูกนำไปใช้เป็นแรงงานทาส ถ้าถูกส่งไปทางขวาจะต้องถูกส่งไปห้องแก็ส
ภาพของวีเซลที่ Buchenwald แถวที่สอง คนที่เจ็ดจากทางซ้าย วันที่ 16 เม.ย. 1945
ภาพของอีไล วีเซลสมัยยังเป็นเด็กหนุ่ม
ภาพของอีไล วีเซลเมื่อปี 2008 และ 2009
สามารถอ่านประวัติของ Elie Wiesel เพิ่มเติมได้ที่ //en.wikipedia.org/wiki/Elie_Wiesel
สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่อง Night เพิ่มเติมได้ที่ //en.wikipedia.org/wiki/Night_(book)
ดู Index รายชื่อหนังสืออื่นๆ ที่ไอซ์ได้รีวิวไปแล้วตามลิงก์ข้างล่างค่ะ
- หนังสือภาษาอังกฤษ Index Bookshelf : English Books
- หนังสือแปล Index Bookshelf : Translated Books
- หนังสือภาษาไทย Index Bookshelf : Thai Books
Create Date : 24 เมษายน 2553 |
|
6 comments |
Last Update : 8 พฤษภาคม 2553 10:24:24 น. |
Counter : 8587 Pageviews. |
|
|
|