Group Blog
 
All Blogs
 

19 ปี 1 เดือน : จากศิลป์เยอรมันย้ายไปเรียนศิลป์ฝรั่งเศสในมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยยืนยันสิทธิ์ในการเข้าเรียนคณะศิลปศาสตร์ ยุโรป สาขาภาษาฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรียบร้อยแล้วครับ เย้ๆๆๆ
 

 


หลังกลับจากโครงการแลกเปลี่ยนที่ประเทศฝรั่งเศส น้องทัณฑ์ก็บอกเราว่าอยากจะเรียนภาษาฝรั่งเศสต่อ ซึ่งอันที่จริงแม่ก็เสียดายนิดหน่อยที่ลูกไม่เลือกภาษาเยอรมัน เพราะโปรไฟล์ของเขาก่อนที่จะไปแลกเปลี่ยนมันมาจากเยอรมันเป็นส่วนใหญ่ ทั้งได้เหรียญโอลิมปิก ทั้งเข้าร่วมกิจกรรมของเกอเธ่ ประกาศนียบัตรที่ได้มาก็เป็นของเยอรมันทั้งนั้น ซึ่งถ้าอยากเข้ามหาวิทยาลัยในสาขาฝรั่งเศสก็เหมือนตัวเองจะต้องไปต่อแถวใหม่

แม่ก็คุยกับเขาว่าตัดสินใจแน่แล้วนะ อยากเรียนจริงนะ แล้วก็บอกว่าเขาอาจจะเสียเปรียบเพื่อนๆ ที่เรียนฝรั่งเศสมาโดยตรงยังไงบ้าง เขาก็ยอมรับได้ทั้งหมดแล้วจะลองสู้ดู ซึ่งหลังจากลองสอบวัดระดับภาษาฝรั่งเศสแล้วก็มีความมั่นใจขึ้นมา

ซึ่งในที่สุดก็ทำสำเร็จค่ะ ผ่านตั้งแต่รอบ Portfolio เลย ดีใจกับลูกด้วยนะครับ ขอให้เป็นสี่ปีที่สนุกที่สุดเลยน้า ไฟว์ติ้งงงงงง...


 




 

Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2568    
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2568 14:56:22 น.
Counter : 363 Pageviews.  
(โหวต blog นี้) 

18 ปี 11 เดือน : สอบวัดระดับภาษาฝรั่งเศสระดับ B1 ผ่านแล้ว!!!

เยส!!! ในที่สุดก็สอบผ่านระดับ B1 ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว แถมเป็นการสอบวัดระดับภาษาฝรั่งเศสครั้งแรกของตัวเองด้วย สอบครั้งแรกก็ผ่านเลยด้วยคะแนน 72 เต็ม 100!!!
 



น้องทัณฑ์ดีใจมากเพราะเป็นภาษาที่สี่ของตัวเอง ตอนนี้ภาษาที่สอง (อังกฤษ) อยู่ระดับ C1 ภาษาที่สาม (เยอรมัน) เรียนอยู่ B1 ยังไม่ได้สอบวัดระดับ และภาษาที่สี่ (ฝรั่งเศส) อยู่ระดับ B1 ค่า

หลังกลับมาจากฝรั่งเศสป๊าก็จับสอบเลย เพราะอยากรู้ว่าที่เรียนไป 60 ชั่วโมงก่อนไปกับการไปใช้ชีวิตอยู่ที่โน่นอีก 10 เดือนจะได้ภาษาฝรั่งเศสอยู่ระดับไหนกันแน่ ทีนี้ป๊าก็เลิกสงสัยได้แล้วนะ อิอิ

เสียดายที่ใส่ในพอร์ตไม่ทัน รอให้มหาวิทยาลัยเรียกสัมภาษณ์ก่อนแล้วค่อยไปโม้เองแล้วกัน


ดีใจเสร็จแล้วขอเล่าต่อว่าหลังกลับมาจากฝรั่งเศสเกือบหกเดือน ซึ่งถือว่าเป็นช่วง Gap Year ของเขานั้น เกาทัณฑ์ทำอะไรไปแล้วบ้าง แม่ขอเล่านะคะว่าแทบจะไม่ว่างเลย

เริ่มจากไปเรียนขับรถ 18 ชั่วโมงกับโรงเรียนสอนขับรถยนต์ จนสอบผ่านและทำใบขับขี่เรียบร้อยในวัยสิบแปดปี งานนี้ป๊าบอกไม่สอนเองเดี๋ยวทะเลาะกัน

 

เรื่องขับรถจบไปก็ไปฝึกงานกับโรงแรมค่ะ ไปเป็นเด็กฝึกงานที่จบแค่มัธยมปลายแต่ดันพูดได้สี่ภาษา พี่ๆ ก็ใจดีสอนงานเยอะเลย งานหลักก็คือการรับโทรศัพท์ของแขกในเรื่องรูมเซอร์วิชต่างๆ ค่ะ ได้ใช้ภาษาจนสะใจ แต่ตารางงานค่อนข้างโหดสำหรับเด็ก พ่อกับแม่ก็เลยให้ทำไม่นานค่ะ พอได้เห็นเนื้องานและเข้าใจระบบเท่านั้น
 

ในระหว่างนั้นแม่ก็เคี่ยวเข็ญให้ทำพอร์ตไปด้วย เขามีเป้าหมายของตัวเองชัดเจนแล้วก็พุ่งชนอย่างเดียว
 

แล้วโปรแกรมเกือบสุดท้ายก็คือการเรียน ร.ด.ชั้นปีที่สองค่ะ ซึ่งรอบฝึกจบไปแล้ว เหลือเข้าค่ายต้นเดือน ก.พ. ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชอีก 3 วัน 2 คืน ตอนฝึกยิงปืนที่ภูเก็ตก็ได้รับรางวัลพลแม่นปืนด้วย เพราะยิง 10 นัดเข้าเป้า 9 นัดค่ะ
 

ท้ายสุดนี่สนุกมากเพราะไปช่วยเพื่อนขายของที่ระลึกบนถนนถลาง คุณเกาทัณฑ์บอกว่าจะได้ใช้ภาษา บางวันขายได้เงินเยอะ บางวันไม่ได้เลยก็ถือว่าได้ไปเม้าท์กับเพื่อนสนิทก็แล้วกัน เด็กๆ น่ารักกันดีค่ะ
 

เป็นเด็กที่สนุกสนานกับการใช้ภาษาจริงๆ มีงานแปลมาให้ทำเรื่อยๆ ด้วย เธอก็รับทำเพราะจะได้มีเงินเก็บ...เอ็นดู รักนะลูก ตอนนี้ก็รอประกาศผลรอบพอร์ตเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยค่ะ มาลุ้นไปด้วยกัน ^^




 

Create Date : 20 ธันวาคม 2567    
Last Update : 20 ธันวาคม 2567 18:48:59 น.
Counter : 584 Pageviews.  

18 ปี 7 เดือน : หนุ่มฝรั่งเศสกลับมาแล้วค่าาาาา

จริงๆ น้องทัณฑ์กลับมาได้เกือบเดือนครึ่งแล้ว แต่แม่ยุ่งมากเพิ่งมีเวลาเขียน blog เนี่ยแหละ เลยขออนุญาตเล่าแบบรวบยอดเลยนะคะ ^^
 


น้องทัณฑ์ไปแลกเปลี่ยนในโครงการ AFS ที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา 10 เดือน และเพิ่งกลับมาก่อนโอลิมปิก 2024 ที่ปารีสกำลังจะเริ่มนี่เองตอนอากาศเริ่มจะร้อนมาก โชคดีที่ได้กลับมาเจอฝนที่บ้านก่อน
 

ก่อนไปเรียนน้องทัณฑ์กำลังเรียนอยู่ ม.6 เทอม 1 สายศิลป์ (อังกฤษ-เยอรมัน) แต่เลือกไปประเทศฝรั่งเศสเนื่องจากโควต้าของจังหวัดภูเก็ตไม่มีประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมันเลย ดังนั้นเด็กต้องเรียนพื้นฐานฝรั่งเศส 60 ชั่วโมงก่อนจะเดินทางไป แล้วเราแจ้งทางครอบครัวที่โน่นว่าต้องการให้ลูกได้เข้าโรงเรียนสายภาษาเพื่อต่อยอดความรู้ที่มีอยู่
 

ต้องขอบคุณคุณแม่ที่โน่นที่หาโรงเรียนให้เก่งมาก ถูกจริตเด็กที่สุด เป็นโรงเรียนรัฐที่มีมาตรฐานค่อนข้างดี แถมยังมีวิชาเลือกที่ตรงจริตเราด้วย นั่นคือได้เรียนการทำภาพยนตร์ด้วยค่ะ แต่งานนี้กว่าจะขอเข้าชมรมได้ก็ใช้เวลาเกือบเทอม ต้องมีการเขียนจดหมายแนะนำตัว พร้อมบอกรายละเอียดด้วยว่าทำไมสนใจการเรียนทำหนัง โชคดีอีกอย่างคือตอนอยู่ภูเก็ตน้องทัณฑ์มีผลงานหนังสั้นกับคลิปที่ชนะรางวัลอยู่ก็เลยเอาผลงานนั้นแหละแนะนำตัวไป ในที่สุดทางชมรมก็รับเข้าค่ะ เด็กก็มีโอกาสทำงานส่งก่อนกลับไทยด้วย
 

งานนี้ชวนเพื่อน AFS ทั้งเมืองลีลเป็นนักแสดงด้วย แถมยังมีกองถ่ายที่สองที่ประเทศไทยให้เพื่อนที่โรงเรียนช่วยทำอีก เด็กๆ สนุกสนานกันใหญ่

การไปแลกเปลี่ยนคราวนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมากๆ เพราะได้ภาษาที่สี่กลับมาแบบพูดเป็นไฟเลย แม่ทึ่งมาก พอชมเขา เขาก็บอกว่าเพราะน้องทัณฑ์พยายาม...ดีจัง เก่งมากครับลูก

 

ภาษาที่สามคือเยอรมันก็ได้ใช้ตลอด เพราะห้องเรียนของเขาให้เลือกเรียนภาษาที่สาม น้องทัณฑ์ก็เลยเลือกเยอรมันไป ปรากฎว่าไปเป็นเด็กท็อปห้องของที่โน่นอีก แม่ปลื้มมาก แสดงว่าคุณครูที่โรงเรียนสตรีภูเก็ตนี่เก่งจริงๆ เด็กเรียนแค่สองปีนิดๆ ก็เอาไปใช้จริงได้เลย แถมตอนไปทัศนศึกษากับโรงเรียนที่ประเทศเยอรมันสองครั้ง เด็กก็บอกว่าพูดกับคนเยอรมันได้ ฟังรู้เรื่องหมดเลย เก่งๆ
 

นอกจากนั้นยังได้เรียนปรัชญา-ประวัติศาสตร์-วรรณกรรมอังกฤษ-วรรณกรรมฝรั่งเศส ซึ่งเป็นวิชาที่ตัวเองไม่เคยเรียนมาก่อนเลย เพิ่งมาสารภาพกับแม่ว่าสองสัปดาห์แรกที่ไปอยู่นอนร้องไห้ทุกคืน เพราะฟังภาษาฝรั่งเศสยังไม่ค่อยรู้เรื่อง ต้องใช้เวลาถึงสองเดือนทุกอย่างจึงเริ่มเข้าที่เข้าทาง ฟังออก-พูดได้ เหลือแค่เขียนที่ผ่านไปครึ่งทางถึงเริ่มเชี่ยวชาญ ต้องขอบคุณอาจารย์ที่โรงเรียนที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้เลย 555 อาจารย์บอกเข้าใจว่าเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน แต่ก็ต้องเขียนการบ้านทุกวิชา เขียนผิดเขียนถูกก็เขียนมาจนกว่าอาจารย์จะเข้าใจ
 

พอปรับตัวกับโรงเรียนได้แล้วก็มีเรื่องจำเป็นให้ต้องเปลี่ยนโฮสต์ จากตอนแรกคิดว่าจะได้อยู่บ้านหลังเดิมจนครบกำหนด แต่ความจริงกลายเป็นมีโฮสต์ถึงสามหลัง แต่ก็โชคดีอีกเพราะแม่ๆ น่ารักกับลูกเราทุกบ้านเลย สบายใจไป ถือว่าเป็นการปรับตัวตามสถานการณ์ของเด็กที่เก่งมาก
 

เมืองที่น้องทัณฑ์ไปอยู่เป็นเมืองทางตอนเหนือของฝรั่งเศส อากาศค่อนข้างเย็น เด็กได้เห็นหิมะตกครั้งแรกก็ที่นี่ แต่แทบจะไม่มีคนไทยเลย จะมีก็อยู่ในร้านอาหารไทยประจำเมืองนั่นเอง เด็กได้ไปกินอาหารไทยบ่อยๆ
 

นอกได้ไปเรียนก็ได้เที่ยวด้วย บางที่ครอบครัวพาไป บางที่เด็กเดินทางเอง ไปแบบเช้าเย็นกลับ เพราะเมืองลีลเป็นศูนย์กลางของรถไฟฟ้า ไปไหนก็สะดวก ได้ประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวในยุโรปคนเดียวตอนอายุ 17-18 ปีนี่มันก็เท่อยู่นะ คนพูดได้ 4 ภาษาเขาไม่มีความกลัวเลย แุถมโม้แม่กับพ่อด้วยว่าฟังประกาศในสถานีรถไฟรู้เรื่องหมดเลย เพราะเขาประกาศหลายภาษา สามในสี่ภาษาที่ประกาศเป็นภาษาที่น้องทัณฑ์พูดได้
 

คุ้มค่ามากสำหรับการตัดสินใจไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน สถานีต่อไปก็เข้ามหาวิทยาลัยสินะ ^^
 




 

Create Date : 12 สิงหาคม 2567    
Last Update : 12 สิงหาคม 2567 16:14:10 น.
Counter : 1122 Pageviews.  

บันทึกการเดินทางกว่าจะเป็นเด็ก AFS รุ่น 62

บันทึกการเดินทางอันยาวนานของคุณเกาทัณฑ์ กว่าจะเป็นเด็ก AFS รุ่น 62 จนถึงวันเดินทาง

เขียนโดย ป่าป๊า ^^

เราวางแผนให้เกาทัณฑ์สอบตอนขึ้น ม.5 เพราะตอนไปปีหน้าเค้าถอดเหล็กดัดฟันออกแล้ว ประมาณปลายมีนาก็ตามเพจ AFS ว่าเมื่อไหร่จะเริ่มให้สอบ ป๊าก็ซื้อข้อสอบเก่าจาก AFS ก็ฝึกทำข้อสอบไป ผลจากการทดสอบประมาณ 75% ซึ่งเคยไลน์ถามเจ้าหน้าที่ เค้าก็บอกว่าปกติ 50% ขึ้นก็มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์แล้ว (แต่ทาง AFS ไม่เคยประกาศผลเป็นคะแนนนะครับ จะประกาศเป็นรายชื่อคนที่ได้สิทธิ์) ต่อจากนี้เป็นไทมไลน์ครับ

18 เมษายน – 13 มิถุนายน 2565 AFS ประกาศรับสมัครสอบข้อเขียน ค่าสมัคร 200 บาท ในใบสมัครมีให้เลือกประเทศ 3 อันดับ แต่ไม่มีผลอะไรนะครับ เจ้าหน้าที่บอกว่าใช้ดูความต้องการเลือกของผู้เข้าสอบปีนั้นๆ

19 มิ.ย. วันสอบข้อเขียน ปีที่สอบยังสอบแบบออนไลน์อยู่ จำนวนข้อสอบ 50 ข้อกำหนดเวลาชั่วโมงครึ่ง ต้องมีอุปกรณ์สื่อสาร 2 ชิ้นอันนึงไว้ทำข้อสอบ อีกอันก็เปิดวิดิโอออนไลน์ให้เจ้าหน้าที่เห็น น้องทัณฑ์ทำไม่ถึงชั่วโมงก็บอกว่าได้แน่ๆ

23 มิ.ย. ประกาศผลการสอบข้อเขียน ก็ได้จริงอย่างเค้าโม้ไว้

23 มิ.ย. - 29 มิ.ย. กรอกใบสมัครสอบสัมภาษณ์ ต้องเตรียมเอกสารแล้วส่งตัวจริงให้ AFS เอกสารที่เตรียมจะมีรูปถ่าย + ผลการเรียนย้อนหลัง 4 เทอม (สอบตอน ม.5 ก็ใช้ ม.3 2 เทอม + ม.4 2 เทอม)

ตอนนี้แหละที่จะเลือกประเทศได้ และไม่ใช่อย่างที่ทุกคนคิด คือตอนสมัครมันเหมือนว่าเราจะเลือกประเทศอะไรก็ได้ แต่ในความเป็นจริงจะมีลิสต์ประเทศให้ในแต่ละโซน และกำหนดด้วยว่าจะรับแค่กี่คน อย่างในโซนเราคือจังหวัดภูเก็ตปีนั้นมีให้เลือก 10 ประเทศ ขั้นตอนของ AFS คือเราสามารถเลือกอันดับที่อยากไปในลิสต์ของจังหวัดได้ 3 อันดับ ถ้าไม่ได้จะติดสำรอง ก็มีสิทธิ์สละสิทธิ์เพื่อไปลุ้นประเทศอื่นของภาคใต้ด้วย และถ้าหลุดภาคก็ไปลุ้นประเทศต่อ หลังจากคุยกับเกาทัณฑ์แล้ว ในลิสต์ที่มีเค้าเลือกประเทศฝรั่งเศส เค้ามองว่าเป็นอีกภาษาที่อยากเรียนตอนขึ้นม.4 ก็ลังเลว่าจะเข้าห้องอะไรระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมัน และเราก็ลงในใบสัมภาษณ์และเลือกแค่ประเทศเดียวคือฝรั่งเศสด้วยความมั่นใจว่า ยังไงก็ได้แน่นอน

3 ก.ค.  วันสอบสัมภาษณ์ สอบสัมภาษณ์ที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย (ปีก่อนหน้าเป็นแบบออนไลน์) เค้าให้ใส่ชุดสุภาพคุณเกาทัณฑ์จัดชุดสูทสีน้ำเงินเพื่อความมั่นใจ ก่อนเข้าไปสอบเจอคุณครูแน่งน้อย เป็นครูที่เคยสอนตอนประถม (สอนทั้งลุงและอาด้วย) แกก็อวยพรให้โชคดี พอถึงเวลาพี่ๆ ก็มาต้อนเด็กๆ ไปขึ้นตึก ก็เป็นพี่ AFS รุ่นก่อนๆ มาช่วยกันสร้างบรรยากาศให้น้องไม่เครียดเกินไป คุณเกาทัณฑ์เป็นคนหลังๆ เลย ป๊ากับม๊าไปงานผู้ปกครองที่โรงเรียนสตรีกลับมาลูกชายก็ยังไม่เสร็จ รออยู่แป๊บนึงก็ลงมาด้วยความมั่นใจว่าได้แน่ๆ



 
18 ก.ค. ประกาศผลสอบคัดเลือก ก็ได้ตามคาด แล้วประกาศวันปฐมนิเทศที่ไบเทคบางนาวันที่ 23 ก.ค. ถ้าไม่ไปถือว่าสละสิทธิ์และต้องมาพร้อมผู้ปกครอง 1 คน ไปมากกว่านั้นจ่ายตังค์เพิ่ม

23 ก.ค. ก่อนวันปฐมนิเทศ 1 วัน เราไปนอนที่ ibis ไบเทค 1 คืน โชคดีที่อายอดไม่มีบิน เลยมารับเราแล้วไปนอนกับเราด้วย ได้ใช้เวลาเฮฮากัน ibis ที่นี่ห้องเล็กตามมาตรฐาน แต่อาหารเช้าใช้ได้เลยเหมือนพวก dorm มากกว่าโรงแรม ได้เวลาก็เดินจาก ibis ไปอิมแพ็ค ไปถึงหน้างานผู้ปกครองกับเด็กเยอะมาก จะมีบูธที่เป็นตัวแทนประเทศต่างๆ คอยให้คำแนะนำและโปรโมตประเทศที่ตัวเองเคยไปมา เราไปเจอน้องสองคน น้องผู้ชายเพิ่งกลับมา ส่วนน้องผู้หญิงไปช่วงโควิดและต้องกลับมาก่อน แต่ก็เล่าประสบการณ์ให้ฟัง มีรูปถ่ายที่นู้นมาให้ดู บรรยากาศบิ้วความอยากไปสุด หลังจากนั้นก็มีรุ่นเก๋าๆ มาแนะนำชีวิต ความเป็นอยู่ การปรับตัว จบงานเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะส่ง email ของวันนี้ไปให้ผู้ปกครอง พร้อมคู่มือชำระเงิน
 
25 ก.ค. กลับมา 2 วันก็โดนทวงตังค์งวดแรก ตามคู่มือจะชำระ 3 งวด งวดแรก 50,000 ถ้าไม่ชำระถือว่าสละสิทธิ์ เพราะมีตัวสำรองจ่อคิวอีกเยอะ งวดต่อมามกราคม และงวดสุดท้ายเดือนมีนาคมก่อนเข้าค่าย

03 ส.ค. พาเด็กไปทำ passport อันเก่ายังไม่หมดอายุ แต่รูปเด็กมาก ไปทำใหม่ดีกว่า ที่ภูเก็ตสะดวกตรงที่ไปทำได้เลยที่เซ็นทรัล นัดคิวในเนตก่อนก็ดี หรือ walkin ก็ได้ คนไม่เยอะมาก

10 ส.ค. เริ่มนับหนึ่งของมหากาพย์เอกสาร เมื่อ email แจ้งวิธีการทำใบสมัครนานาชาติ พร้อมระบุให้ส่งภายในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565
จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

1. ในส่วนของเกาทัณฑ์ จะมีรูปหน้าปก รูปใหญ่ 2 รูป รูปทำกิจกรรม 12 รูป เข้าแข่งขัน กีฬาสี วาดรูป รด. มีอะไรก็คัดมาลง จากนั้นก็ข้อมูลตัวเอง ครอบครัว เมืองที่อาศัยอยู่ ต่อมาเป็นจดหมายที่เขียนถึงโฮส จดหมายจากพ่อแม่ถึงโฮส พวกแบบฟอร์มอนุญาต ทั้งหมดจะเป็นกรอกออนไลน์ หรือแนบไฟล์เข้าไปใน platform ของเค้า
2. อันนี้ส่วนโรงเรียน ผลการเรียน 5 เทอม จดหมายแนะนำจากอาจารย์ ส่วนนี้ให้ teacher Jocyl ครูที่สอนตอน ม.4 เขียนให้  แล้วก็แบบฟอร์มเกี่ยวกับโรงเรียน เรากรอกลงในฟอร์มแล้วให้ครูมาลัย ครูประจำชั้นลงนาม
3. แบบฟอร์มสุขภาพ+ฉีดวัคซีน อันนี้เรื่องใหญ่ คือกำหนดว่าเริ่มตรวจวันไหน (ห้ามก่อน ของน้องทัณฑ์ให้เริ่ม 20 ต.ค.) ต้องตรวจกับโรงพยาบาลและแพทย์ที่ AFS กำหนด ที่สำคัญคือต้องใช้วัคซีนเล่มสีชมพูด้วย และแต่ละประเทศจะกำหนดวัคซีนขั้นต่ำไม่เหมือนกัน ถ้าไม่มีต้องฉ๊ดใหม่หมด โชคดีของน้องทัณฑ์ คุณลุงเป็นหมอเด็กจัดการให้ตั้งแต่เกิดไม่มีอะไรต้องห่วง


ป๊าก็เริ่มเตรียมเอกสารของครอบครัวก่อน ทำลิสต์ที่จะต้องติดต่อโรงเรียนว่าจะไปหาใครบ้าง โชคดีที่ ม.5 เทอม2 เริ่มเรียนที่โรงเรียนทำให้ติดต่อครูง่ายหน่อย เอกสารภาษาอังกฤษทั้งหมด คุณเกาทัณฑ์เป็นคนรับผิดชอบแปลทั้งหมดเอง ประหยัดเงินได้เยอะ

ส่วนเรื่องตรวจร่างกาย เราไปตรวจวันที่ 22 ตุลา โทรไปนัดคุณหมอที่โรงพยาบาลกรุงเทพ คุณหมอเชี่ยวชาญการกรอกเอกสารมาก แล้วจับเกาทัณฑ์เทสต์วัณโรค 2 วันถัดไปก็เอาแขนไปให้หมอดู จากนั้นคุณหมอก็ออกหนังสือให้ ช่วงที่ทยอยได้เอกสารก็กรอกแล้วส่งไฟล์เข้าระบบไปก่อน จากนั้นพอครบก็กดส่งทีเดียว ประมาณวันที่ 10 พ.ย. เราก็ส่งได้ครบ
 


 
27 ส.ค. เนื่อจากเราต้องใช้หลักฐานการเรียนภาษาฝรั่งเศสด้วยอย่างน้อย 60 ชั่วโมง ถ้าเราเรียนห้องฝรั่งเศสก็ยื่นจดหมายจากโรงเรียนได้เลย แต่ถ้าไม่มีต้องเรียนสถาบันที่กระทรวงศึกษารองรับ ตอนแรกไปติดต่อที่สมาคมฝรั่งเศสสาขาภูเก็ตไว้ แต่ติดต่อยากมาก คอร์สก็ไม่มีให้เลือก เลยโทรไปที่กรุงเทพฯ เค้ามีเรียนเป็นกลุ่มออนไลน์ แบ่งเป็น A1.1-A1.2 48 ชั่วโมง และ A1.3-A1.4 อีก 48 ชั่วโมง เราก็ลงทั้งสองคอร์ส รวมก็ 2หมื่นกว่าบาท เรียนวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 9.00-12.30 น. คุณเกาทัณฑ์เริ่มเรียนวันที่ 27 ส.ค. จนปิด 2 คอร์ส วันที่ 11 ธ.ค. อาจารย์เจ้าของภาษาชื่อจูเลี่ยน เรียนพร้อมกับพี่ๆ ป้าๆ รวมประมาณ 6-8 คน

24 พ.ย. มีอีเมล์แจ้งให้แก้ไขข้อความบางอันที่แทนสรรพนามผิด ชื่อผิด

28 พ.ย. ระบบใบสมัครก็แจ้งกลับมาเอกสารเรียบร้อย

13 ธ.ค. ส่งหลักฐานการเรียนภาษาฝรั่งเศสให้ AFS

15 ธ.ค. มี  email จาก AFS ให้แก้ไขข้อความจดหมาย คือตอนแรกก็บอกให้เราใส่ลักษณะของลูกทุกอย่าง แต่พอส่งจริงบอกว่าขอตัดเรื่อง introvert กับปรับแก้อย่างอื่นนิดๆ หน่อยๆ เค้ากลัวว่าจะหาโฮสยาก

21 ธ.ค. มี email มาอีกรอบ ขอเพิ่มจดหมายแนะนำจากครู พร้อมข้อความเพิ่มจากนักเรียน และผู้ปกครอง Teacher Enow คนที่เทรนตอนไปแข่ง Impromptu Speech เป็นคนเขียนให้

06 ม.ค. ถึงกำหนดจ่ายเงินสมทบงวด 2 อีก 100,000 บาท

11 ม.ค. เจ้าหน้าที่โทรหาครูมาลัยให้เขียนจดหมายแนะนำจากครูประจำชั้นเพิ่มอีก 1 ฉบับ คุณเกาทัณฑ์ก็ร่างให้หมดแล้วให้ครูมาลัยเซ็น

23 ม.ค. แจ้งวันเข้าค่าย 30 มี.ค. - 2 เม.ย. ที่สุพรรณบุรี

07 ก.พ. แจ้งให้ทำคลิปแนะนำตัว อันนี้น่าจะเฉพาะฝรั่งเศส เพราะเจ้าหน้าที่แจ้งว่าทางนู้นขอคลิปแนะนำตัวสั้นๆ คุณเกาทัณฑ์ก็จัดทั้งเล่นเปียโน ตีกลอง ร้องเพลง ดีดกีตาร์

10 มี.ค. ก่อนเข้าค่ายก็ถึงกำหนดชำระเงินงวดสุดท้าย หลังจากนั้นเค้าก็ส่งโปรแกรมเข้าค่ายมาให้

30 มี.ค. วันเข้าค่าย 4 วัน 3 คืน วันแรกจะมีประชุมผู้ปกครองด้วย ส่วนเด็กๆ ก็แยกย้ายขึ้นรถบัสไปสุพรรณบุรี ส่วนที่ประชุมก็จะคุยเรื่องโฮส การแลกเงิน และวีซ่า เข้าใจว่าใบสมัครที่เราทำส่งไปจะเริ่มถึงมือศูนย์ฝรั่งเศสช่วงนี้ครับ (รอเด็กจ่ายตังค์เข้าค่ายก่อน) ดังนั้นหลังจากเข้าค่าย ก็เริ่มมีคนได้โฮสแล้ว

 
10 เม.ย. มี email แจ้งเตรียมวีซ่า โดยกำหนดส่งภายในวันที่ 17 พ.ค. เป็นอีกหนึ่งมหากาพย์เตรียมเอกสาร พาสปอร์ตตัวจริง ใบฉีดวัคซีนภาษาอังกฤษ (คุณลุงออกให้) หนังสือรับรองฐานะทางการเงิน (แต่ละประเทศไม่เหมือนกันของฝรั่งเศส 1 แสนก็โอเคแล้ว) หนังสืออนุญาตให้เข้าร่วม AFS จากโรงเรียน หนังสือรับรองความประพฤติ หนังสือรับรองผลการเรียนปีล่าสุด และเทอมที่กำลังเรียนอยู่ มีเอกสาร 3 อย่างที่ต้องเอาไปแปลแล้วไปรับรองที่กงสุล คือหนังสือยินยอมให้ไปต่างประเทศ สูติบัตร และทะเบียนสมรส ตัวหนังสือยินยอมต้องไปอำเภอให้ปลัดเซ็นรับรองก่อน โชคดีที่ภูเก็ตมีศูนย์รับรองเอกสารของกระทรวงต่างประเทศ เตรียมกันประมาณเดือนนึง เอกสารก็ครบ ที่ช้าคือต้องรอโรงเรียนเปิดถึงจะไปขอเอกสารได้

20 พ.ค. AFS เชิญเข้าร่วมออนไลน์มีลิงก์ให้เข้าฟังจะมีหลายโมดูลให้เรียนไปเรื่อยๆ จริงๆ แล้วคือสิ่งที่เด็กไปสัมมนามาแหละก็เหมือนทบทวนอีกที

07 มิ.ย. AFS ส่งหนังสือลาพักร้อน รด. เราเอาไปให้ครูทวิชชัย ปรากฏว่ายื่นขอลาได้เลย ไม่ต้องใช้หนังสือ เหมือนแค่ดรอปไว้ก่อน

17 มิ.ย. เชิญเข้าร่วมสัมมนาออนไลน์ ผ่าน zoom กับ AFS ทั่วโลก ให้เด็กจับกลุ่มกัน ซึ่งแต่ละไทม์โซนมันไม่เท่ากัน บางประเทศดึกมาก ทำกิจกรรมแบบหลับคาจอก็มี

15 มิ.ย. AFS ส่งหนังสือลาพักเรียน เริ่มวันที่ 25 ส.ค. 66 - 14 ก.ค. 67

05 ก.ค. email แจ้งเชิญไปทำ visa พร้อมเตรียมเอกสารอีกชุด ชุดสุดท้ายแล้วครับ statement ย้อนหลัง 3 เดือนของผู้ปกครอง ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส สูติบัตรตัวจริง ใบรับรองเรียนฝรั่งเศส

12 ก.ค. ขึ้นกรุงเทพอีกรอบเพื่อไปยื่นวีซ่าที่ศูนย์วีซ่าแถวสาทร ทางเข้าเจ้าหน้าที่จองคิวไว้สำหรับ AFS น่าจะประมาณ 20 คน ปรากฎว่าที่เตรียมไปใช้แค่ statement ที่เหลือก็ใช้อันที่เคยยื่นไปแล้ว แต่เอาไปเกินก็ดีกว่าขาด รอคิวนานพอสมควร ระหว่างนั้นผู้ปกครองเค้าก็คุยกันเรื่องโฮส เราซึ่งยังไม่ได้ก็ลุ้นต่อไป ปรากฎว่าระหว่างรอขึ้นเครื่องกลับภูเก็ตก็มีอีเมลแจ้งว่าได้โฮสแล้ว อยู่เมืองเล็กๆ ชื่อเมือง Mouvaux เป็นส่วนหนึ่งของ Lille เราก็เขียนอีเมล์แนะนำตัวสั้นๆ แสดงความขอบคุณที่ทางโฮสสรับลูกเราไปดูแล หลังจากนั้นก็โต้ตอบอีเมล์กัน

21 ก.ค. AFS ได้วีซ่าแล้วให้ตรวจสอบชื่อสกุลอีกครั้ง แล้วยืนยันไป

22 ก.ค. แจ้งให้ซื้อตั๋วเดินทาง ไป-กลับ โดยกำหนดวันเดินทางวันที่ 1 ก.ย. กลับวันที่ 30 มิ.ย. โดยเค้ากำหนดสายการบินให้เลือก 3 เจ้า และมีเอเย่นต์ให้เลือกจะใช้ของเค้าหรือไม่ก็ได้ แต่พอได้ e-ticket ต้องส่งหลักฐานให้ AFS ป๊าก็ส่ง email ถามราคาทุกเจ้า จนได้เจ้าที่พอใจก็จ่ายตังค์ ได้ตั๋วส่งไปให้ทางAFS

03 ส.ค. แจ้งรายชื่อรอบการเดินทางว่าใครบ้างที่จะเดินทางพร้อมกันวันที่ 1 ก.ค.

21 ส.ค. ประชุมผู้ปกครองออนไลน์ นัดเวลาที่จะเจอกัน ไฟลท์คุณเกาทัณฑ์มีเพื่อนไปด้วย 6 คน เจอกันตอน 23.30 ไฟลท์ออก 2.50

ระหว่างนี้เด็กก็เตรียมตัว ลองทำกับข้าวง่ายๆ เช็คสภาพการเดินทาง อากาศ ชอปปิ้งทั้งของใช้ ของฝาก เตรียมพร้อมจะเดินทางแล้วครับ ก่อนอื่นต้องทำสีผมก่อน อยากทำมาก


31 ส.ค. เดินทางไปกรุงเทพ อายอดมารับ กินข้าวสองมื้อ เจออาต่ายด้วย หลังจากนั้นกลับโรงแรม ตอนกลางคืนก็ไปส่งครับ โชคดีคราวนี้มีคุณครูร่วมเดินทางไปด้วย ตามไปจนถึงฝรั่งเศสแล้วปล่อยให้เด็กไปกับเจ้าหน้าที่ที่นู้น


อีก 10 เดือนเจอกันครับ




 

Create Date : 05 กันยายน 2566    
Last Update : 5 กันยายน 2566 13:59:57 น.
Counter : 2000 Pageviews.  

17 ปี 6 เดือนกับการสอบเก็บคะแนน TU-GET และ CU-TEP

แม่เขียน blog นี้ในตอนที่ลูกได้โฮสต์แฟมิลี่และกำหนดวันเดินทางเพื่อไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนเรียบร้อยแล้วค่ะ ^^

 



แต่เนื้อหาของ blog จะเกี่ยวข้องกับการเตรียมสอบเก็บคะแนนภาษาอังกฤษเพื่อยื่นรอบพอร์ตเข้ามหาวิทยาลัย และเนื่องจากน้องทัณฑ์ต้องไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศฝรั่งเศส 1 ปี คะแนนนี้จึงจะเก็บไว้ก่อนค่ะ (คะแนนสอบมีอายุ 2 ปี) แล้วจะนำไปยื่นในช่วงปลายปี 2567 ถึงต้นปี 2568

เรามาเริ่มจากการสอบ TU-GET ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กันก่อนนะคะ หากลองค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตจะพบกำหนดการสอบและรายละเอียดต่างๆ เพียงแค่คีย์คำว่า TU-GET แล้วน้องทัณฑ์ก็เลือกสอบแบบออนไลน์ โดยใช้เวลาสอบประมาณสามชั่วโมง ซึ่งเกาทัณฑ์เตรียมความพร้อมโดยการอ่านหนังสือเล่มนี้เพียงเล่มเดียวค่ะ แล้วเขาก็บอกว่าข้อสอบที่ออกค่อนข้างเหมือนในหนังสือเล่มนี้เลย คือเป็นไปแนวทางเดียวกัน


 


ในหนังสือจะมีข้อสอบ 6 ชุด ชุดละ 90 ข้อ แต่การสอบจริงจะมีข้อสอบ 100 ข้อ คิดเป็น 1,000 คะแนนนะคะ ในแต่ละชุดจะมีพาร์ทโครงสร้าง, พาร์ทคำศัพท์ และพาร์ทการอ่าน ซึ่งตรงกับการแบ่งหัวข้อการสอบจริงคือ Structure 250 คะแนน, Vocabulary 250 คะแนน และ Reading 500 คะแนน

ตอนซ้อมทำข้อสอบในหนังสือเกาทัณฑ์ทำพาร์ทการอ่านและโครงสร้างได้ดีมากๆ ส่วนพาร์ทคำศัพท์ได้คะแนนน้อยกว่าสองพาร์ทแรก เขาบอกว่าของธรรมศาสตร์คำศัพท์ยากมาก บางคำไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต แม่ก็ปลอบใจว่าไม่เป็นไร เอาคะแนนอีกสองพาร์ทที่เหลือมาช่วยน่าจะผ่านได้ ตอนนั่งทำข้อสอบแม่ก็ต้องนั่งเฝ้าใกล้ๆ ด้วยนะ เหมือนแม่โดนทำโทษอะ อยากบังคับให้ทำก็ต้องมานั่งเป็นเพื่อนลูกด้วย ฮึ...


 

 


ออกตัวก่อนนะคะว่าเกาทัณฑ์ไปสอบแบบไม่ได้ลงติวกับใครหรือที่ไหนเลย คือเขาค่อนข้างมั่นใจในภาษาอังกฤษของตัวเอง เมื่อลองทำข้อสอบจากเล่มนี้แล้วปรากฏว่าผลที่ได้ออกมาประมาณ 80% แม่กับพ่อก็เลยให้ลองสอบจริงดูเลย

วันสอบก็สอบออนไลน์ที่บ้านผ่านจอคอมพิวเตอร์ ทางมหาวิทยาลัยให้เปิดกล้องตอนสอบไปด้วย น้องทัณฑ์ใช้เวลาสอบประมาณชั่วโมงครึ่งก็ออกมาแล้วบอกแม่ว่าเหมือนกับที่ทดลองทำในคู่มือ ก็คือพาร์ทคำศัพท์ทำไม่ค่อยได้เหมือนเคย 555

รอผลอยู่สองสามวันก็ได้ผลสอบออกมาแล้วค่ะ เย้...เก็บไว้ยื่นพอร์ตได้เลย ผลเป็นไปตามคาด พาร์ทที่ได้เยอะก็คือพาร์ทที่เขาถนัด ส่วนคำศัพท์ก็ตามนั้น 555 แต่ถามเด็กแล้วว่าพอใจไหม เขาบอกพอใจก็คงไม่สอบซ้ำแล้วค่ะ เก็บคะแนนนี้ไว้เลย


 


แม่ก็เสียรางวัลเป็นอาหารญี่ปุ่นหนึ่งมื้อ โอเค้...ได้เลยคนเก่ง ^^
 


สถานีต่อไป CU-TEP...CU-TEP

พอเห็นคะแนน TU-GET แล้วใจมันมาอะ ใจพ่อกับแม่นะ 555 ก็เลยคิดว่าไฟกำลังแรงแบบนี้น่าจะให้สอบของจุฬาฯ ไปเลย จะได้เสร็จทุกอย่างก่อนไปฝรั่งเศส แล้วค่อยกลับมาสอบ SAT กับ B1 ภาษาเยอรมัน พ่อถามเด็กว่าเอาด้วยไหม อยากสอบเลยไหม เด็กก็สู้ บอกว่าสอบเลยป๊าจะได้จบๆ จากนั้นพ่อก็เลยหาข้อมูลการสอบ CU ต่อเลย

มีความแตกต่างในเรื่องการสอบเล็กน้อย เพราะ CU ต้องขึ้นไปสอบที่มหาวิทยาลัย ไม่มีสอบออนไลน์เหมือน TU เอาล่ะสิ ทีนี้ก็ต้องหาตั๋วเครื่องบินกับคนดูแล เพราะพ่อกับแม่อยากให้เขาลองเดินทางคนเดียวดูบ้าง พ่อเช็คตารางการบินของอาแล้วว่าว่างตรงวันที่เด็กสอบก็เลยตกลงจองวันสอบกับตั๋วเครื่องบินเพื่อส่งเด็กขึ้นไปให้อาดูแลต่อ

จากนั้นก็มาเตรียมตัวสอบกันเหมือนเดิม เนื่องจากเราพอใจกับคู่มือเล่มก่อนหน้า คราวนี้ของ CU-TEP เราก็เลยเลือกคู่มือของเจ้าเดิมค่ะ

 


เตรียมความพร้อมด้วยคู่มือเล่มเดียวเหมือนเดิม ให้เด็กทยอยทำหลังกลับมาจากโรงเรียน ซึ่งในคู่มือจะมีสามพาร์ทค่ะ คือพาร์ทฟัง (อันนี้ไม่เหมือน TU) 30 ข้อ, พาร์ทการอ่าน (Passage) 60 ข้อ และพาร์ทการเขียน (หาคำผิดในรูปประโยค-Error Identification) อีก 30 ข้อ รวมเป็น 120 ข้อ 120 คะแนน และเนื่องจากตอนที่เขียน blog นี้น้องทัณฑ์ยังไม่ได้เข้าห้องสอบ แม่เลยจะอธิบายตามคู่มือที่เด็กได้ทดลองทำไปก่อนนะคะ

พาร์ทการฟังมี 30 ข้อ น้องทัณฑ์บอกว่าฟังง่ายกว่าการสอบ CEFR ในคู่มือนี้จะมีการให้ดาวน์โหลดข้อสอบการฟังมาลองทำเลยค่ะ ส่วนพาร์ทที่สองมี 60 ข้อคือการอ่านบทความ จะมีทั้งขนาดสั้น ขนาดกลาง และขนาดยาววววว อันที่ง่ายเด็กกวาดคะแนนเต็ม แต่อันไหนที่ยากก็มีผิดบ้างเหมือนกัน เกาทัณฑ์บอกว่าข้อสอบที่เยอะและคำถามละเอียดทำให้ต้องตั้งสมาธิในการอ่านและทำเป็นอย่างมาก ถ้าหลุดก็คือผิดเลย บางอันที่เจอคำศัพท์ยากๆ ก็เดาเอาเหมือนกันค่ะ พาร์ทที่สองนี้น้องทัณฑ์บอกยากสุด

และพาร์ทสุดท้ายงานถนัดของคุณเกาทัณฑ์ Error 30 ข้อค่ะ อันนี้โครงสร้างประโยคและวัดความแม่นยำของ Tense อยากให้ตั้งสมาธิดีๆ น่าจะเก็บคะแนนเต็มได้ แต่อย่างว่าคุณเกาทัณฑ์อะนะ ทำข้อสอบไปเบื่อไปก็ไม่รู้ว่าจะได้เท่าไร รอชมผลการสอบค่ะ

 


แล้วในระหว่างที่รอจะขึ้นกรุงเทพฯ ไปสอบ CU-TEP น้านนนนน ทาง AFS ก็ติดต่อมาให้เกาทัณฑ์ขึึ้นไปทำวีซ่าค่ะ แฮ่ กำหนดการก่อนสอบแค่สองวัน ดังนั้นเราเลยต้องขึ้นลงกรุงเทพฯ กันสองรอบ

รอบไปทำวีซ่าพ่อกับแม่ต้องไปด้วย

 




แต่รอบไปสอบ CU-TEP ต้องไปคนเดียว สู้ๆ นะ ขอให้ทำคะแนนให้ดีตามที่ได้ตั้งใจไว้ค่ะ ^^
 


********

มาอัพเดต blog หลังจากที่ไปสอบและคะแนน CU-TEP ออกเรียบร้อยแล้วค่ะ ^^

จากที่เล่าให้ฟังว่าน้องทัณฑ์ต้องเดินทางขึ้นกรุงเทพฯ คนเดียวเป็นครั้งแรก (แต่มีอารอรับอยู่ที่โน่น) เพื่อไปสอบ CU-TEP การเดินทางคนเดียวก็ประสบความสำเร็จเรียบร้อยดีค่ะ มั่นใจว่าเดินทางคนเดียวได้แล้ววววว

ไปถึงสนามบินทั้งชุดนักเรียน เพราะเพิ่งสอบมิดเทอมที่โรงเรียนเสร็จตอนเช้า ก่อนเที่ยงก็ไปรับแล้วพาไปส่งขึ้นเครื่องเลย คุณชายก็เลยไปเจออายอดทั้งชุดนักเรียน อาพาไปเลี้ยงอิ่มหมีพีมันกันไป


 

 

แม่ให้เงินไปแค่ 80 บาทเองนะ ทำไมกินของได้เยอะแยะ

 

 

อายอดน่ารัก พอรู้ว่าหลานจะสอบที่จุฬาฯ ก็พาไปนอนที่โรงแรมใกล้สถานที่สอบเลย เพราะต้องเข้าห้องสอบก่อน 8.30 น. ตอนเช้ากินอาหารเช้าที่โรงแรมเสร็จก็พาไปส่งถึงอาคารสอบ แถมนั่งรอจนสอบเสร็จด้วย

ตอนเช้าระหว่างรอเข้าห้องสอบเด็กก็ส่งข้อความมาเล่าบรรยากาศให้แม่ฟังว่า ผู้เข้าสอบเป็นผู้ใหญ่เยอะกว่านักเรียน แล้วคนที่มาสอบเยอะมากกกกก คงหวั่นๆ เหมือนกันแหละ ><"


 


เราอยู่ที่ภูเก็ตก็รอลุ้นไปด้วย ส่วนอายอดเดินหาของให้หลานกิน กะว่าหลังสอบเสร็จจะให้กินที่โรงอาหารเลย เพราะต้องไปส่งหลานกลับภูเก็ตทันที เวลาผ่านไปเร็วมาก น้องทัณฑ์ออกมาจากห้องพร้อมกับบอกทุกคนว่า ข้อสอบยากมากกกกกกก ยากกว่าหนังสือที่แม่ให้ลองทำ เอาล่ะสิ...

ไม่เป็นไร กินก่อนค่อยว่ากัน

 


 


เกาทัณฑ์บอกแม่ว่าพาร์ท Reading ที่เป็นบทความยากกว่าของ TU ส่วนพาร์ทฟังน่าจะผิดนิดหน่อย แล้วพาร์ทสุดท้าย Writing ที่เป็นโครงสร้างประโยคยากกว่าที่ลองทำในหนังสือมากกกกก เอาล่ะวุ้ย...ก็ลองมาคำนวณคะแนนคร่าวๆ กัน ตัวเขาเองบอกว่าน่าจะได้ 80 พ่อบอก 90 น่าจะได้นะ ส่วนแม่ตอนแรกคิดไว้ว่าเกิน 100 มานิดๆ เพราะเทียบจากแบบทดสอบที่ลองทำ 5 ปีแล้วเขาได้เกิน 100 หมดทุกปี

แต่พอทำข้อสอบจริงออกมาแล้วเจ้าตัวบอกว่ายาก เลยรอลุ้นอย่างเดียวค่ะทีนี้...

เราก็รอมา 10 วันด้วยใจเต้นตุ้มๆ ต่อมๆ ในที่สุด...

 

 

92!!! Yessssss!!! ป๊าเดาถูกกกกกกก...

 

 

คะแนนในแต่ละพาร์ทก็เป็นไปตามความถนัดที่คาดไว้ แสดงว่า Writing ยากจริง เพราะเป็นพาร์ทที่น้องทัณฑ์ถนัดที่สุด ตอนลองทำข้อสอบคือได้เต็มค่ะ ><" ส่วน Reading ที่เจ้าตัวกลัวก็ถือว่าไม่เลวนะ ดีทีเดียวแหละ ทุกคนในบ้านดีใจกันมากแต่เจ้าตัวไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร จะเอารางวัลอย่างเดียวเลย 555

แต่ผลที่ออกมาทั้ง TU-GET ทั้ง CU-TEP มันช่วยยืนยันความคิดของแม่ว่าภาษาอังกฤษเรียนควบคู่กับภาษาไทยไปได้ตั้งแต่เล็ก นี่คือผลของการเรียนภาษาอังกฤษกับครูฝรั่งตั้งแต่ 5 ขวบ พอมอต้นก็เข้า International Program ก่อนออกมาเข้าสายศิลป์อังกฤษ-เยอรมันตอนมอปลาย น้องทัณฑ์เป็นเด็กที่พร้อมจะเรียนรู้ภาษาที่สาม (เยอรมัน) และสี่ (ฝรั่งเศส) มาก โดยเอาภาษาอังกฤษนี่แหละเป็นพื้นฐานในการเปรียบเทียบและเรียนรู้ต่อยอด ตอนมอห้าก็จำเป็นต้องเพิ่มภาษาฝรั่งเศสเข้าไปอีกเพื่อนำไปใช้ชีวิตเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่โน่น ขอบคุณนะที่ช่วยพ่อกับแม่ประหยัดค่าติว รักกกกกกลูกกกกกกก

เสร็จสิ้นการสอบเก็บคะแนนเข้ามหาวิทยาลัยไว้เท่านี้ก่อน ด่านต่อไปคือประเทศฝรั่งเศสค่าาาาา ^^




 

Create Date : 14 กรกฎาคม 2566    
Last Update : 25 กรกฎาคม 2566 10:59:09 น.
Counter : 1450 Pageviews.  

1  2  3  4  

tiara
Location :
ภูเก็ต Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 399 คน [?]




blog นี้ตั้งใจทำขึ้นเพราะต้องการให้ความรู้เรื่องการทำขนมอบเป็นวิทยาทานแก่คนทั่วไป ส่วนเรื่องลูกเป็นพื้นที่สำหรับเก็บบันทึกไว้ให้เกาทัณฑ์ และจะมีโฆษณางานเขียนของ tiara อีกเล็กน้อย หากสิ่งใดเป็นประโยชน์ในการนำไปปรับใช้ก็ยินดีที่จะแบ่งปันค่ะ

ปล. tiara ไม่ได้เปิดสอนคลาสชงกาแฟสดและทำเบเกอรี่แต่อย่างใด ความรู้มีอยู่ใน blog สามารถเรียนฟรีได้เลยค่ะ ^^
ผลงานของ tiara

...เรื่องยาว...

...เรื่องสั้น...

"จอมยุทธ์ผู้ตามหาหงส์ขาว"
"Don't read my mind!"
"ลิลลี่สีขาวกับสาวน้อยของผม"
"หนุ่มรับเหมากับสาวแบรนด์เนม"
New Comments
Friends' blogs
[Add tiara's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.