|
ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน : ความน้ำเน่าของการเมืองไทย หดหู่ใจกับทุกเหตุการณ์
รีวิวหนังสือที่อ่านตามเกม RRR หรือ Rainy Read Rally ต่อ ... ใครที่สงสัยว่ามันคืออะไรคลิกที่ลิงก์ข้างล่างได้เลยค่ะ
- กระทู้เปิดตัว
- กระทู้ปัจจุบัน ((ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.))
เล่มนี้อ่านตามโจทย์
20-3. [ยาคูลท์] อ่านหนังสือที่ได้รางวัลซีไรต์ 3 เล่ม โดยสามเล่มนี้ต้องได้รางวัลห่างกันอย่างน้อยสองปี (ตอนโพสต์แจ้ง ช่วยบอกปีที่ได้รางวัลด้วย)
แต่ยังไม่ได้คะแนนค่ะ อ่าน ความสุขของกะทิ ไปแล้ว ยังต้องอ่านอีกหนึ่งเล่ม ^^"
เรื่อง : ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน เขียนโดย : วินทร์ เลียววาริณ
ขอบคุณรูปภาพจาก เว็บไซต์ของคุณวินทร์ นะคะ
ต่อไปเป็นข้อมูลจาก วิกิพีเดีย ซึ่งไอซ์คิดว่า ย่อได้ละเอียดดีมากๆ เลย จึงขอยกมาเก็บไว้ในบล็อกด้วย
ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน เป็นหนังสือของ วินทร์ เลียววาริณ วางจำหน่ายใน พ.ศ. 2537 และได้รางวัลซีไรต์ใน พ.ศ. 2540 ฉบับภาษาอังกฤษให้ชื่อว่า (Democracy, Shaken & Stirred) วางจำหน่าย พ.ศ. 2546 เป็นนิยายเชิงการเมืองไทย โดยดำเนินเรื่องตามการปฏิวัติในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬใน พ.ศ. 2535 ตัวละครหลักในเรื่องเป็นตัวละครสมมติ แต่มีการใช้บุคคลในประวัติศาสตร์มากมาย
หนังสือเรื่องนี้ เป็นการจำลองภาพในเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีความสำคัญในยุคต่างๆ นับตั้งแต่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย แม้จะไม่ใช้ประชาธิปไตยแบบเต็มใบจนถีงในช่วง หกสิบปีต่อมาที่มีการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยแต่ละขั้น โดยมีการถ่ายเทอำนาจจากบุคคลหนึ่งไปหาอีกกลุ่มบุคคลหนึ่ง โดยถ่ายทอดผ่านการดำเนินชีวิตของบุคคลสองคน ที่แตกต่างกันในด้านการใช้ชีวิตและแตกต่างกันในทางด้านอุดมการณ์ แต่ทั้งสองมีจุดมุ่งหมายปลายทางเพื่อการได้มาชึ่งความสงบสุขของบ้านเมือง สิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียนกัน และได้มาชึ่งการมีประชาธิปไตยที่เต็มใบ เปรียบเสมือนทางเดินเพื่อไปหาประชาธิปไตย แต่เดินเป็นแนวที่ขนานกันไปไม่สามารถจะใช้วิธีร่วมกันได้
เนื้อเรื่องโดยย่อ
*สปอยล์หมดเรื่อง
ฝนเทลงมาเหมือนทะเลคลั่งในคืนหนึ่งของเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2535 เช้าวันรุ่งขึ้น ที่มุมหนึ่งของสวนลุมพินี ชายชราสองคนนั่งด้วยกันบนม้านั่งตัวหนึ่งชายชราคนแรกร่างสูงใหญ่ ผมขาวแชมเทาทั่งศีรษะ ริ้วรอยบนใบหน้าแสดงถึงประสบการณ์ชีวิตที่โชกโชน สายตาคมกริบและเปี่ยมพลังแฝงแววเฉลียวฉลาดแม้จะอยู่วัยใกล้ฝังชายชราอีกคนหนึ่ง รูปร่างไล่เลี่ยกันกับคนแรก ปีกไหล่ทั่งสองหนาบึกบึน คล้ายกันต้องแบกภาระหนักมาตลอดชีวิต สายตาผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างมากมาย
ทั้งสองนั่งอยู่ด้วยกันอีกครั้งหนึ่งนับตั้งแต่เจอกันครั้งแรกเมื่อ 60 ปีก่อน
ชายคนแรกตามเนื้อเรื่อง เขาคือ เสือย้อยที่มีถิ่นอาศัยอยู่แถบเมืองเพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ผู้ที่เป็นโจรแต่มีแววตาที่ฉลาด ดูมีการศึกษาที่สูงที่ไม่เหมือนกับโจรทั่วไป ที่เป็นเช่นนี้เพราะชายผู้นี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า หลวงกฤษดาวินิจ บุคคลที่มีการศึกษาสูง และเป็นทหารที่มีความจงรักภัคดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ที่ต่อต้านการปฏิวัติที่ต้องการอำนาจของบุคคลเพียงบางกลุ่ม จนถูกบีบบังคับให้มาเป็นโจร
ชายชราอีกคนหนึ่งคือนายตำรวจที่มี ชื่อว่า ร.ต.ต ตุ้ย พันเข็ม นายตำรวจที่มีอุดมการณ์สูงรักประเทศยิ่งชีวิต ผู้มีบทบาทตั่งแต่นายตำรวจธรรมดาที่ปราบโจรที่มีชื่อต่างๆ จนเป็นที่เลืองลือจนได้รับฉายาว่า "จ่าตุ้ยปืนผี" จนถึงนายตำรวจที่มีบทบาทอย่างสูงทางการเมืองในยุค 60 ปีของการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ นายตำรวจที่เป็นคนสนิทของผู้นำประเทศที่มีอำนาจมหาศาลที่สุดในยุคหนึ่งของประเทศ
ทั้งสองเป็นทั้งเพื่อนและศัตรูกันทางด้านแนวคิด
ต่อจากนี้เป็นเรื่องที่กล่าวโดยย่อถึงเนื้อเรื่องที่เกิดขี้น พ.ศ. ต่าง ๆ
พ.ศ. 2476 ในยุคแรกเริ่มของการได้มาซึ่งประชาธิปไตย ร.ต.ต ตุ้ย พันเข็ม ขณะยังมียศเป็นจ่าสิบตำรวจได้รับรู้ที่มาของเสือย้อย โจรที่ฉลาดและเป็นอดีตทหารที่เข้าร่วมกับฝ่ายกบฏบวรเดช เขาได้ออกไล่ล่าเสือย้อยเพื่อจะจับกุมตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แต่สุดท้ายกลับได้เสือย้อยเป็นเพื่อนที่ต่างอุดมการณ์ เรื่องราวต่างๆ จึงเริ่มต้นขึ้น ณ จุดนี้
พ.ศ. 2482 เสือย้อยถูกจับกุมเพื่อเตรียมถูกประหารในคดีลอบสังหารจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดย ร.ต.ต.ตุ้ยเป็นผู้ควบคุมการประหารด้วยตนเอง แต่ด้วยที่เสือย้อยเป็นโจรที่มีการศึกษาสูงและมีบทบาททางการเมือง จึงสามารถรอดพ้นการถูกประหารมาได้
พ.ศ. 2483/2488 เป็นเรื่องราวของเสือย้อยในสองช่วงเวลา โดยช่วง พ.ศ. 2483 เสือย้อยถูกส่งตัวไปที่เกาะตะรุเตา เสือย้อยพยายามแหกคุกหนีออกมาจากเกาะตะรุเตา แต่โชคร้ายที่ผู้คุมคนหนึ่งเห็นตัวเข้า เสือย้อยคิดว่าตัวเองจะถูกผู้คุมยิงตายแล้ว แต่น่าแปลกที่ผู้คุมกลับปล่อยตัวเขาไป ส่วนช่วง พ.ศ. 2488 นั้นเป็นช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว เสือย้อยได้อาสาเป็นคนส่งความลับทางทหารให้กับคณะเสรีไทยแต่พลาดท่าถูกทหารญี่ปุ่นจับได้ เผอิญเวลานั้นญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร และทหารญี่ปุ่นกลุ่มที่จับเสือย้อยรู้จักยอมรับความพ่ายแพ้ ทำให้เสือย้อยรอดพ้นจากความตายมาได้
พ.ศ. 2490 เกิดรัฐประหารล้มรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เสือย้อยหลีกเร้นตัวเองขึ้นไปค้าไม้ที่ภาคเหนือ เขาได้พบกับชายชาวบ้านป่าคนนึง ที่มีความเฉลียวฉลาด เด็ดเดี่ยว กล้าหาญไม่แพ้ตัวเขา พ.ศ. 2494 เกิดกบฎแมนฮัตตันขึ้น มีการจับตัวจอมพล ป. พิบูลสงครามไว้เป็นตัวประกันโดยกลุ่มทหารเรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ แต่ไม่สำเร็จ ผู้ที่ผิดหวังที่สุดในครั้งนี้คือเสือย้อยที่จะทำการปฏิวัติ แต่ช้ากว่าพวกกบฎแมนฮันตัน
พ.ศ. 2500 พ.ต.ต ตุ้ยในฐานะนายตำรวจคนสนิทของจอมพล ป. พาจอมพล ป. หนีไปที่ชายแดนเขมรหลังหมดอำนาจ จากการถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
พ.ศ. 2508 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยประกาศสงครามกับฝ่ายอำนาจรัฐ ตุ้ย พันเข็มได้เข้าร่วมงานศพผู้เสียชีวิตในการปราบปรามคอมมิวนิสต์รายหนึ่ง เขาได้หวนนึกถึงชีวิตของเพื่อนตำรวจคนหนึ่งซึ่งมาจากภาคอีสานด้วยกัน เพื่อนของเขาคนนี้เคยมีส่วนรวมในการก่อคดีสังหารโหด 4 อดีตรัฐมนตรีที่บางเขน คดีสังหารนายเตียง ศิริขันธ์และพรรคพวกรวม 5 คน ตามใบสั่งของอำนาจรัฐ และเป็นเพชฌฆาตประหารนักโทษตามมาตรา 17 ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สิ่งที่ตลกร้ายที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ ตุ้ยต้องมาทำหน้าอย่างเดียวกับเพื่อนของเขา โดยการจับกุมพ่อของเพื่อนตำรวจคนดังกล่าวไปประหารชีวิตด้วยข้อหามีความคิดเป็นคอมมิวนิสต์
พ.ศ. 2516 เป็นปีที่มีการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยหมู่นิสิตนักศึกษา ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจรคืออำนาจให้ประชาชน มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น หนึ่งในเหตุการณ์นั่นคือการเผาอาคารสถานที่ราชการแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในที่ประท้วง โดยฝีมือของลูกน้องนักการเมืองที่อำพรางว่าเป็นฝีมือของประชาชน ซึ่ง พล.ต.ต ตุ้ยต้องสืบหาความจริงเรื่องนี้
พ.ศ. 2519 พล.ต.ท ตุ้ยได้รับคำสั่งให้มาจับเสือย้อย ที่มีความเคลื่อนไหวว่าได้ปล้นรถบรรทุกนักโทษและได้ไปเข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิตส์ แต่เมื่อได้พบกันแล้วกลับพบความจริงว่า ลูกชายของเสือย้อยถูกจับ และเสือย้อยได้ฝากลูกชายไว้กับ พล.ต.ท ตุ้ยเพื่อให้กลับมาใช้ชิวิตในเมืองต่อไป ระหว่างเดินทางกลับ ลูกชายเสือย้อยถูกยิงเสียชีวิตเนื่องจากความเข้าใจผิดของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ
พ.ศ. 2523 รัฐบาลในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ออกนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ โดยเน้นการใช้การเมืองแทนที่การใช้กำลัง
พ.ศ. 2535 ปีที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทั้งเสือย้อยและ พล.ต.ต ตุ้ยย่างเข้าวัยชราแล้ว แต่ยังต้องข้องเกี่ยวกับการเมืองของนักการเมืองคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคลื่นลูกใหม่ที่มาแทนคลื่นลูกเก่า ทั้งสองคนต้องพิสูจน์ถึงคุณสมบัติของเสือที่ยังไว้ลายแม้จะแก่แล้วก็ตาม
.....
ไอซ์เป็นคนชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์/อิงประวัติศาสตร์ แต่...บอกตามตรงว่า ไอซ์ไม่ชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์/อิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประเทศไทย เพราะ...ในความรู้สึกแล้ว มันใกล้ตัวมากเกินไป สร้างความเจ็บปวดขณะอ่านได้มากเกินไป
"ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน" จึงถูกซื้อมา "ดอง" ไว้หลายปี หยิบมาพลิกๆ ดูหลายครั้ง แต่ก็วางไปเสียทุกครั้ง ถ้าไม่มีโครงการ RRR ก็ไม่รู้ว่าจะหยิบขึ้นมาอ่านเมื่อไหร่
"ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน" เป็นนิยายเรื่องแรกของคุณวินทร์ และเป็นนิยายที่ทำให้เขาได้รับรางวัลซีไรท์เป็นครั้งแรกด้วย โดยเขียนอิงประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2475 จนถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 ก่อนสมัยท่านนายกอานันท์ ปันยารชุน
วิธีการเล่าเรื่องของผู้เขียนทำโดย มีตัวละครเด่นสองตัว คือ "ตุ้ย พันเข็ม" และ "เสือย้อย หรือ หลวงกฤษดาวินิจ" ซึ่งตัวละครสองตัวนี้แทน "อุดมการณ์ - การปฏิบัติ" ที่แตกต่างกันสองขั้ว
ตุ้ย - นายตำรวจ ซึ่ง "อยู่ฝ่ายถูก" ตลอด ((ฝ่ายถูกคือฝ่ายชนะ ฮา)) เสือย้อย / หลวงกฤษดาวินิจ - อยู่ฝ่ายตรงข้าม เรียกว่าเป็นนักประท้วง / รัฐประหาร เกือบทุกยุค
ตัวละครสมมติสองตัวนี้โลดแล่นและเล่าเรื่องในช่วงการเมืองที่ผกผันของประเทศไทย เชื่อมโยงบุคคลที่มีจริงในประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นเข้าด้วยกัน
การเล่าเรื่องจะกระโดดข้ามผ่านช่วงเวลา เล่าเฉพาะช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเกิดขึ้น
เทคนิควิธีการดำเนินเรื่องอีกอย่างที่ไอซ์ชอบก็คือ การเริ่มต้นแต่ละบทด้วย ภาพข่าว ตามด้วย quote ที่น่าสนใจ ((ส่วนใหญ่เป็นแนวธรรมะ จากหนังสือของท่าน พุทธทาสภิกขุ)) แล้วจึงเข้าเรื่องในแต่ละช่วงเวลา
ถ้าถามว่าชอบเทคนิค วิธีเล่าเรื่องและผูกเรื่องหรือไม่ ไอซ์ตอบได้เลยว่า ชอบ ... มันทำให้คนอ่านรู้สึกและใกล้ชิดกับ "ความจริง" ที่เกิดขึ้น
แต่...นี่แหละคือสาเหตุที่ทำให้อ่านแล้วรู้สึกหดหู่ใจ
เรื่องทั้งหมดเน้นไปที่ประวัติศาสตร์การเมือง การเปลี่ยนขั้วอำนาจจากขั้วหนึ่งไปสู่ขั้วหนึ่ง ใครปฏิวัติโค่นล้มใคร ใครเป็นใหญ่ในช่วงไหน ใครหมดอำนาจต้องหนีไป ใครมีอำนาจขึ้นมา ฯลฯ
ทั้งเล่มเป็นอย่างนี้ อ่านแล้วมีแต่คำถามเกิดขึ้นในใจว่า "แล้วประเทศไทยได้อะไร"
เนื้อเรื่องที่เป็นประวัติศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ถึง พ.ศ. 2535 "ทันสมัย" จนรู้สึกเศร้า ... ประเทศไทยใน พ.ศ. 2552 ที่เราอยู่กันตอนนี้ ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นกว่าปี พ.ศ. 2475 สักเท่าไหร่
นามสกุลที่ของบุคคลที่มีบทบาทในหนังสือ หลายนามสกุลเป็นนามสกุลที่คุ้นเคยตามข่าวหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน
หลายๆ คำ เป็นคำที่ยังได้ยินอยู่
"การเปลี่ยนถ่ายอำนาจไปอยู่ในมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง"
"การปกครองด้วยระบบ อำนาจนิยมและธุรกิจนิยม"
"คณะกู้ชาติ"
ตัวละครต่างๆ ก็เช่นกัน อ่านไปก็เห็นหน้าคนในปัจจุบันลอยมา สันดานและการกระทำต่างๆ ของคนมันไม่หนีกันจริงๆ
หน้าสุดท้ายของนิยาย ปิดฉากลงด้วยย่อหน้าหนึ่งซึ่งเป็นการคาดไว้ล่วงหน้าของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้
"การเมืองไทยกำลังแปรโฉมเข้าสู่อีกยุค ยุคของนักธุรกิจนานาชาติ ใครน่ากลัวกว่ากัน นักธุรกิจที่เข้าสู่การเมืองเพื่อประโยชน์ขององค์กรของตน หรือ นักการเมืองที่ใช้การเมืองเป็นฐานทำธุรกิจ"
เอิ๊ก
และประโยคที่ไอซ์ชอบมากในเรื่อง และเห็นด้วย 100% เป็นคำพูดของ "เสือย้อย" ในบทแรกเลย
"การเปลี่ยนแปลงการปกครองควรเกิดขึ้นเมื่อคนส่วนใหญ่พร้อมแล้วสำหรับระบอบใหม่นี้ การเปลี่ยนแปลงรีบร้อนแบบนี้ทำให้ประชาธิปไตยต้องตกอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียว แล้วมันต่างจากระบบเดิมตรงไหน? คือแทนที่อำนาจจะตกอยู่ในมือกษัตริย์ กลับตกเป็นของทหารเผด็จการไม่กี่คน จำคำของผมเอาไว้ให้ดี อีกยี่สิบปีประชาธิปไตยสยามก็ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ เพราะมันเริ่มต้นไม่ดีอย่างนี้"
ตอนนี้เลยกลายเป็นคำพูดติดปากไอซ์มากๆ เลย "อะไรที่เริ่มต้นไม่ดี ไม่มีทางดำเนินไปได้ด้วยดี และไม่มีจุดจบที่ดี" ฮา
คำถามอีกคำถามที่เกิดขึ้นในใจเมื่ออ่านเรื่องนี้จบก็คือ ในหนึ่งชีวิตของไอซ์ จะต้องเห็นเหตุการณ์ "รัฐประหาร" "นองเลือด" "คนไทยฆ่ากันเอง" อีกกี่ครั้ง เฮ้อ
สรุปว่า อ่านจบแล้วก็ชอบนะคะ แต่คงไม่อ่านซ้ำแล้ว ((ถ้าไม่จำเป็นจะต้องใช้ข้อมูล ฮา)) สำนวนดี การเรียบเรียงเข้าใจง่าย ... แอบคิดว่าในส่วนของ "นิยาย" ก็ "น้ำเน่า" ไปหน่อยตรงที่ว่า ตุ้ยกับเสือย้อยมันจะบังเอิญมาเจอกันทุกครั้งที่มีเหตุสิน่า แต่ก็นะ...นิยายค่ะ ถ้าไม่บังเอิญมาเจอกัน แล้วเรื่องจะดำเนินไปได้ยังไง
ไอซ์ว่า "ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน" เป็นหนังสือที่เหมาะกับการเป็นหนังสือนอกเวลาหรือหนังสือเรียนสำหรับนักเรียนในโรงเรียนเป็นอย่างยิ่ง คุณวินทร์ "ย่อย" ประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างเป็นกลางออกมาได้กระชับและอ่านง่ายเหมาะสำหรับคนไทยทุกคนค่ะ ^^
Create Date : 24 กรกฎาคม 2552 |
Last Update : 24 กรกฎาคม 2552 18:18:28 น. |
|
10 comments
|
Counter : 14335 Pageviews. |
|
|
|
โดย: ยาคูลท์ IP: 58.9.142.154 วันที่: 24 กรกฎาคม 2552 เวลา:19:46:16 น. |
|
|
|
โดย: ทินา IP: 129.11.167.162, 129.11.76.229 วันที่: 24 กรกฎาคม 2552 เวลา:21:27:53 น. |
|
|
|
โดย: aorp วันที่: 25 กรกฎาคม 2552 เวลา:0:11:56 น. |
|
|
|
โดย: thezircon IP: 125.24.237.48 วันที่: 25 กรกฎาคม 2552 เวลา:10:35:50 น. |
|
|
|
โดย: นัทธ์ วันที่: 26 กรกฎาคม 2552 เวลา:17:41:30 น. |
|
|
|
โดย: MIKIkaa วันที่: 11 สิงหาคม 2552 เวลา:23:03:02 น. |
|
|
|
โดย: ณัฐพงษ์ IP: 124.157.191.4 วันที่: 14 มกราคม 2553 เวลา:17:53:12 น. |
|
|
|
โดย: Clear Ice วันที่: 8 พฤษภาคม 2553 เวลา:16:12:00 น. |
|
|
|
โดย: ผ่านมา IP: 125.25.166.213 วันที่: 23 ธันวาคม 2556 เวลา:21:22:52 น. |
|
|
|
โดย: มันเศร้าค่ะการเมืองไทยทุกวันนี้ไม่เคยคิดว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมันเป็นการปกครองด้วยระบบสมบูรณรณามากกว่าเพราะการจะพูดหรือแสดงความคิดเห็นใดๆิอกมาจะต้องถูกห้ามปิดปากปชช.ำไม่ให้แสดงอะไรเลยยิ่งกม.มาตรา112.ด้วยแล้วห้ามแตะต้องมันอะไรนักหนา โกงกิน คอรัปชั่นสุดอุบาทว์อำนาจอยู่กับคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมปล่อยให้ประเทศเดินหน้าถ้าใครชนะเลือกตั้งมันก็จะเอาเรื่องล้มเจ้ามาเป็นข้อสร้างเรื่องล้มล้างพรรคนั้นๆและเสียงของปชช.คนเรามันไม่มีความเห็นใจคนในชาติที่ลำบาก IP: 171.97.109.120 วันที่: 18 กรกฎาคม 2566 เวลา:3:43:18 น. |
|
|
|
|
|
|
|
โจทย์ซีไรต์เนี่ย ถ้าเปลี่ยนเล่มได้ พี่คงไม่เอาเล่มนี้นะ
อ่านแล้วเครียด T_T
แต่ดันหาหนังสือไม่ค่อยเจอเลย