Group Blog
 
<<
กันยายน 2559
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
14 กันยายน 2559
 
All Blogs
 
O คำนึง .. O








Ernesto Cortazar - El Dia Que Me Quieras



O โปรยปรายลงลูบหล้า .. วรรษาสมัย-
ฝ่าพุ่มใบกิ่งก้านดอกมาลย์หอม
ละอองรื่นรดริน .. ให้ยินยอม-
แยกกลีบน้อมเกสร .. ออดอ้อนน้ำ
O คำนึงกลางฝุ่นฝนที่หล่นร่วง
เย็นจากสรวงโลมสิ้นแผ่นดินต่ำ
รูปจริต, งดงามแห่งนามธรรม-
คล้ายแอบออลมร่ำ .. ช่วยรำเพย
O เกลื่อนหยาดเม็ดเกล็ดแก้วเห็นแวววับ
เหมือนเนตรพรับพริ้มชม้อย ที่ค่อยเผย-
อิริยาละเมียดละมุนให้คุ้นเคย-
เข้าชิดเชยอารมณ์ .. ให้สมยอม
O ฝุ่นฝนปรอย ลอยฟ่อง, เนตรมอง-หลบ
เหนี่ยวชาติภพพ้องพานด้วยหวานหอม
ภู่เมื่อต้องคันธะรส .. ฤาอดออม-
การแนบน้อมมธุรสเป็นบทเดียว !
O จึง-รูปนาม, จักษุ .. บรรลุรู้-
นัย-สื่อสู่ .. ตื่นตอบ, การลอบเหลียว
ค่อยเปลี่ยนนัยแฝงเร้น .. จนเป็นเกลียว-
ฟั่นยึดเหนี่ยวรัดพันคู่กันไป
O จึง-รูปนาม, จักขุ .. ทำนุเหตุ
กอปรเอาเลศเพทนาขึ้นอาศัย
กลางลมร่ำรื่นหา, แรงอาลัย-
ค่อยค่อยไหววาบวับให้รับรอง
O แม้นฝุ่นฝนเหน็บหนาวยังพราวพร่าง
หากความอ้างว้างเหมือนจะเลือนล่อง
เมื่อนามธรรม, เบญจขันธ์เริ่มครรลอง-
การพร่ำพร้องครวญคะนึงจดถึงกัน
O ความอบอุ่นละมุนนั้นย่อมครันครบ
หลังชาติภพเลื่อนรอบ .. ลงครอบขวัญ
หรือฝุ่นฝนล้อมเห่ จากเทวัญ-
ใช้มนต์บัญชาการด้วยมารยา
O เหมือน-บัดนั้นจนบัดนี้ ณ ที่ใจ-
ถูกสาปให้เฝ้าคอยละห้อยหา
เพื่ออ่อนหวานลึกซึ้งได้ตรึงตรา-
ด้วยรูปลักษณ์แววตาเกินฝ่าแล้ว
O เม็ดฝนยังหล่นสายรำบายโบก
ลมแห่งโลกเลื่อนริ้วยังพลิ้วแผ่ว
เมื่อทั้งรูปทั้งนามยังวามแวว
งามผ่องแผ้วไปทั่ว-เนื้อหัวใจ
O ชวาลวชิระเลื้อยแสงเฟื้อยฟาด
เมื่อภพชาติดาลรูปขึ้นวูบไหว
รับรู้ในชั่ววูบว่ารูปใคร-
โถมลงในจินตนาให้อาวรณ์
O วาบวับแสงบนฟ้า, แววตานั่น-
คล้ายไหวสั่น .. ถ่ายทอด ความออดอ้อน
ลมยังแผ่ว .. ยังพลิ้วเป็นริ้วตอน
เมื่อสุดถอนเพทนา .. ที่บ่าลง
O วาบวับแสงบนฟ้า, ทีท่านั้น-
เยี่ยงเผ่าพันธุ์แห่งยูงผู้สูงส่ง
สุวภาพขาบเขียวแห่งเรียวรงค์-
เพียงนัยบ่งบอกแล้ว .. ด้วยแววตา
O ระยิบเอยดาวพร่าง .. ที่กลางฝน
เหมือนเผยรอยลิ่วหล่น .. ให้ค้นหา
ดาวสองดวงช่วงอยู่ไม่รู้ลา
ท่ามกลางราตรีหนาวที่เร้ารุม
O น้ำหล่นเม็ดกลางพลบ, เสียงกบร้อง-
ราวแซ่ซ้องค่ำคืน .. อันชื่น-ชุ่ม
พร้อมแววตาตื่นตอบ .. ผ่าน-ครอบคลุม-
เพรียกรอบสุมนัสรู้ .. เข้าจู่โจม
O ดูเอาเถิด .. รูปนามผู้ทรามสวาท-
เหนี่ยวภพชาติจบจูบด้วยรูปโฉม
กี่จักขุวิญญาณเมื่อผ่านโลม
อาจหยุดโสมนัสช่วง .. กลางห้วงใจ ?
O หรือเพื่อมาบรรจบด้วยภพชาติ
ตามคำภาษสัตย์ปวงเคยบวงไหว้
จึงเลื่อนล้อมรอยร่างทุกย่างไป
เฝ้าแต่คอยอาลัย .. อยู่ไม่วาง
O หรือคำมั่นสัญญาแต่ครานั้น
จักสำทับลงมั่น..เกินกั้นขวาง-
ให้ความเหงาโดดเดี่ยวในเที่ยวทาง-
หลีกลี้ห่างรูปเงา .. ทุกก้าวเดิน
O จึงพารูปนามฝันมาผันร่าง
ย่ำรอยทางปฏิพัทธ์ .. อย่างขัดเขิน
จนเมื่อสบความคำ .. ก็จำเริญ-
การหยอกเอินอาลัยที่ในทรวง
O วิชชุแล่นเลื่อนสาย .. ที่ปลายฟ้า
แววในตา .. รูปเอยหรือเคยล่วง-
ลับเช่นฟ้าครวญคร่ำ .. เมื่อคำบวง-
นั้นคอยหน่วงเหนี่ยวคำ .. ลงนำทาง
O หรือคำบนบอกสรวง .. เคยบวงเซ่น
คอยบีบคั้นบีบเค้นไม่เว้นว่าง
ให้แต่คอยละห้อยเห็นไม่เว้นวาง
ขอรูปคราญเคียงข้างอย่าห่างเลย
O ฝนร้างหยาดสิ้นหยดไปหมดฟ้า
ลมผ่านมาเย็นเยียบ, แววเรียบเฉย-
ของนัยน์ตาหวงชู้ .. ก็รู้เชย-
ชม .. รูปนามยั่วเย้ยอย่างเคยตัว
O เผยรูปนามบรรจบด้วยภพชาติ
ยอสวาดิโหมระลอกขึ้นหยอกยั่ว
แล้วหัวใจใครกัน .. ที่สั่นรัว-
กับเพียงชั่วครู่ยาม .. วาบหวามนั้น
O รู้หรือไม่ใครกัน .. เจ้าขวัญน้อย
ที่ต้องคอยอาลัย .. คอยไหวหวั่น
ทุกพจน์พากย์ความคำ .. ร้อยรำพัน-
เพื่อครองขวัญเจ้าไว้ .. อยู่ในมือ !



Create Date : 14 กันยายน 2559
Last Update : 14 เมษายน 2566 11:21:41 น. 9 comments
Counter : 3817 Pageviews.

 
สดายุ...

"O หรือคำมั่นสัญญาแต่ครานั้น
จักสำทับลงมั่น..เกินกั้นขวาง-
ให้ความเหงาโดดเดี่ยวในเที่ยวทาง-
หลีกลี้ห่างรูปเงา .. ทุกก้าวเดิน
O จึงพารูปนามฝันมาผันร่าง
ย่ำรอยทางปฏิพัทธ์ .. อย่างขัดเขิน
จนเมื่อสบความคำ .. ก็จำเริญ-
การหยอกเอินอาลัยที่ในทรวง "

บทนี้ เป็นเสมือนภาพถ่ายเหตุการณ์ นะ สดายุ
คงมีใครเกรงใครจะรู้สึกว่าถูกทิ้งขว้างอยู่คนเดียว
โดยไร้ทิศทาง กระมัง .." จึงพารูปนามฝันมาผันร่าง"

เป็นบทกลอนที่บันทึกภาพจริง ใช่ไหมคะ


โดย: บุษบามินตรา IP: 188.165.240.145 วันที่: 16 กันยายน 2559 เวลา:13:14:29 น.  

 


มินตรา ..
ภาพเกือบเหมือนจริงแล้วครับ .. อิๆๆ

อย่างไรเสียทั้งรูป ทั้งจริตวัยสาวเป็นสิ่งที่ยากต่อต้านครับ
ธรรมชาตินี่ออกแบบออกมาได้อย่างไร้เทียมทาน ..

O จึง-รูปนาม, จักษุ .. บรรลุรู้-
นัย-สื่อสู่ .. ตื่นตอบ, การลอบเหลียว
ค่อยเปลี่ยนนัยแฝงเร้น .. จนเป็นเกลียว-
ฟั่นยึดเหนี่ยวรัดพันคู่กันไป


โดย: สดายุ... วันที่: 16 กันยายน 2559 เวลา:18:33:03 น.  

 
สดายุ...

" O แม้นฝุ่นฝนเหน็บหนาวยังพราวพร่าง
หากความอ้างว้างเหมือนจะเลือนล่อง
เมื่อนามธรรม, เบญจขันธ์เริ่มครรลอง-
การพร่ำพร้องครวญคะนึงจดถึงกัน "

ทำไมสดายุไม่ใช้ คำว่า "จรด" แทน"จด" ล่ะ
น่าจะเป็น :
"การพร่ำพร้องครวญคะนึง..จรด..ถึงกัน "


โดย: บุษบามินตรา IP: 188.165.201.164 วันที่: 17 กันยายน 2559 เวลา:2:59:08 น.  

 


มินตรา

จด ๑ ก. จ่อให้ถึงกัน, ถึง, จนถึง; แตะ.
จดจ้อง, จด ๆ จ้อง ๆ ก. ตั้งท่าจะทําแล้วไม่ลงมือทําเพราะไม่แน่ใจ.
จด ๒ ก. กําหนด, หมายไว้, เขียนไว้.

=====================

จรด[จะหฺรด] (โบ; แบบ) ก. จด, ถึง, จ่อให้ถึง.
จรดพระกรรไกรกรรบิด, จรดพระกรรไตรกรรบิด (ราชา) ก. ใช้
กรรไตรและมีดโกนขริบและโกนผมเล็กน้อย เป็นการเริ่มใน
พระราชพิธีโสกันต์และเกศากันต์.
จรดพระนังคัล ก. จดไถลงดินเพื่อไถนาในพระราชพิธีจรด
พระนังคัลแรกนาขวัญ.


โดย: สดายุ... วันที่: 17 กันยายน 2559 เวลา:8:30:07 น.  

 
สดายุ..
ไปอ่านจาก พจนานุกรมแปล ไทย-อังกฤษ NECTEC's Lexitron Dictionary คำว่า "จรด "
แปลว่าv.] reach
[syn.] จด,ถึง
[prep.] till
[syn.] ถึง,จนถึง,จนกระทั่ง
ตัวอย่างประโยค
เรานั่งเรือจากฝั่งสงขลาไปสู่เกาะยอแล้วข้ามท้องทะเลไปจรดฝั่งหัวเขาแดง
หมายเหตุ
จ่อให้ถึง

ในภาษาอังกฤษ จะระบุไว้ชัดเจน ว่า "จรด "แปลว่าv.] reach หรือ [prep.] till จ่อให้ถึง
และ "จด" [v.] write [syn.] กำหนด,หมายไว้,เขียนไว้,บันทึก,คัดลอก
ความไม่ชัดเจนน่าจะมาจาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
....................
ในทฤษฎีภาษาศาสตร์(Linguistics) ท่านว่า ภาษา"มีชีวิต"จะขยับตัวและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ไม่อยู่นิ่ง จะไหวตัวตามผู้ใช้ภาษา นั้นนั้น

เช่นคำว่า"ไพเราะ" กับคำว่า"เพราะ" ก็กำลังต่อสู้กันที่ยังไม่สรุปชัดเจน
มินตราฟังเพลงก็จะใช้คำว่า"เพลงไพเราะ " "เพราะ"(because) ทำนองดนตรี และ ความหมายของคำ
แต่สังคมจะใช้คำว่า "เพลงเพราะ" ในความหมายว่า "เพลงไพเราะ "
.........................
ในกรณี จรด กับ จด ก็เช่นกัน ความไม่รู้และไม่แตกฉานการใช้ภาษา จึงมีผลออกมาว่า "ฟ้า ..จรด..ทราย" กลายเป็น "จด"
แถมยังมีบันทึกยืนยันอย่างเป็นทางการใน"สถาพรบุ๊คส์"ว่า “ปลูกข้าวเต็มพื้นที่ไปจนจดปราสาทที่ว่า” นั้น ถูกต้อง
โดยอ้างอิง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พศ.2554 !
เมื่อก่อนภาษาไทยจะอ้าง รากคำมาจาก บาลีสันสกฤต ต่อจากนี้ไป คงต้องอ้างความหมาย ( Semantics) จากภาษาอังกฤษเพราะมีนักวิชาการที่ ทำงานอย่างมี ความรู้แตกฉาน จึงมีความชัดเจนที่อธิบายได้

น่าห่วงภาษาไทยนัก อีกหน่อยคงจะใช้ภาษา เช่นเดียวกับชาวลาวใช้ "ปฎิวัติ" จะกลายเป็น "ปะติวัด"
เมื่อถึงจุดนั้น เราจะหารากคำ ที่มาที่ไปของภาษามาจากไหน



โดย: บุษบามินตรา IP: 188.165.201.164 วันที่: 17 กันยายน 2559 เวลา:13:06:12 น.  

 



มินตรา ..
ที่มาของคำเป็นทางบาลีสันสกฤต เขมรสำหรับไทย

มีคำไทยแท้ก็เกิดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมกันไปมาในถิ่นนี้แหละ

การเขียนกลอนแปดนั้นมันมีคำครึ่งที่ช่วยให้จังหวะสะบัดสะบิ้งขึ้น แต่หากซ้ำซ้อนกันหลายตัวในวรรคเดียวกันจะทำให้การอ่านสะดุด

วรรคที่ว่าผมมี"คะนึง"ไปแล้วตัวหนึ่ง การใช้จรด จึงออกจะเยิ่นเย้อในจังหวะกลอน

ส่วนคำลาว ผมสังเกตุมานาน เขาไม่มีบาลีสันสกฤตปน สวรรค์ เขาเขียน สะหวัน ซึ่งเป็นเสียงอ่านจริงๆ

ภาษาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ สมัย ร 5 ไม่มีไม้ไต่คู้จริงไหม ยังเขียน "เปน" แทน "เป็น"

ยิ่งภาษายุคอยุธยา ผมว่าเด็กสมัยนี้อ่านไม่เข้าใจนะครับ


โดย: สดายุ... วันที่: 17 กันยายน 2559 เวลา:18:54:30 น.  

 
สดายุ...

อักษรลาวนั้นวิวัฒนาการมาจากอักษรลาวโบราณสมัยเชียงดง-เชียงทอง ราวรัชสมัยพระเจ้าฟ้างุ่มหรือพระเจ้าสามแสนไทก็ว่าได้ โดยการวิวัฒนาการของอักษรลาวนั้นเริ่มจากการเกิดอักษรชนิดหนึ่งที่มีเชื่อเรียกว่าอักษรฝักขาม (ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ได้รับวิวัฒนาการมาจากอักษรลาวในสมัยล้านช้าง และปรากฏหลักฐานการวิวัฒนาการในเอกสารตราตั้ง (ลายจุ้ม-ดวงจุ้ม) ของกษัตริย์ลาวในสมัยต่างๆ ทั้งหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ จากนั้นจึงวิวัฒนาการต่อไปเป็นอักษรไทยน้อย และอักษรลาวตามลำดับ

ระบบการเขียนภาษาลาว มีวิวัฒนาการ 3 แบบดังนี้ คือ
-แบบของท่านมหาสิลา วีระวงส์ หรือแบบพุทธบัณฑิตสภาจันทบุรี
-แบบของท่านสมจีน ป. งิน
-แบบของท่านพูมี วงวิจิด

อักษรธรรมลาว หรือ อักษรธรรมล้านช้าง
( แบบพุทธบัณฑิตสภาจันทบุรี)
เป็นอักษรที่มีวิวัฒนาการร่วมกับอักษรมอญ และอักษรธรรมล้านนา ใช้ในการเขียนคัมภีร์ทางพุทธศาสนาในสมัยโบราณ
อักขรวีธีของอักษรลาวแบบนี้สะกดตามเค้าเดิมของภาษาอย่างเคร่งครัด มีการใช้ตัวสะกดตัวการันต์ เพื่อให้รู้ต้นเค้าของคำว่าเป็นคำภาษาลาวเดิมหรือคำภาษาต่างประเทศ เช่น คำภาษาบาลี-สันสกฤต ซึ่งคล้ายกับระบบการเขียนภาษาไทยในปัจจุบัน (วีคิพีเดีย)
...................

ไปอ่านมาเรื่องอักษรลาวและภาษาลาวมา จึงได้นึกออกว่าตนเองนี่โง่สนิทใจแถมยังมีความหยิ่งยะโส ใน"ความเป็นไทย"ติดมาใน"สายเลือดไทย"มาก ที่ไปคิดว่าคนลาวเขียนภาษาแบบไทย

ก็ทราบนะคะว่ามีอักษรลาว แต่ จิตใต้สำนึกกลับคิดไปเองและไปคิดว่า ภาษาไทยที่คนลาวเขียน ตาม"ภาษาอ่าน" (phonetic)ว่า"ปะติวัด" นั้น เป็นการเขียนแบบไม่รู้ "รากคำ" ( นิรุกติศาสตร์ = philology การเรียนรู้ถึงภูมิหลัง และการใช้ในปัจจุบัน ของการสื่อสารของมนุษย์)

ความจริงท่านเขียนเป็นภาษาไทยเพียงเพื่อให้เราอ่านออกได้ ทั้งทั้งที่ปกติท่านก็ใช้ภาษาลาวเขียนอยู่

ละอายใจนะที่ มีความรู้สึกเช่นนี้
ทั้งทั้งที่ก็ชอบคนลาวนะ ที่ใสสะอาด จิตใจงดงาม

ยกวีคิพีเดียมา เพื่อจะเรียนให้ทราบว่า ภาษาลาวน่ะ มีภาษาบาลีสันสกฤษเป็นต้นฉบับอยู่ แถมยัง เคร่งครัดกับ การใช้ บาลีสันสกฤต มากกว่าการใช้บาลีสันสกฤตในภาษาไทยมาก
เรา"ไทยน้อย"ยังไปใช้ภาษาที่ลาวใช้ทางพุทธศาสนา
ขอโทษ คนลาวนะคะ
"เราอ้ายพี่อ้ายน้องกันเนอะ"
(อดมิได้ที่จะเย้าคนลาวเล่นตามคำที่คนลาวชอบนับญาติ ดีใจที่เห็นคนไทย)





โดย: บุษบามินตรา IP: 188.165.201.164 วันที่: 18 กันยายน 2559 เวลา:12:56:33 น.  

 
สดายุ..

"วรรคที่ว่าผมมี"คะนึง"ไปแล้วตัวหนึ่ง การใช้จรด จึงออกจะเยิ่นเย้อในจังหวะกลอน"

"สิทธิสภาพนอกอาณาเขต" (extraterritorial right)!ของ กวี


โดย: บุษบามินตรา IP: 188.165.240.145 วันที่: 18 กันยายน 2559 เวลา:13:06:11 น.  

 


มินตรา ..
ขอบคุณสำหรับความรู้ทางภาษาศาสตร์ที่วิศวกรอย่างผม
งูๆปลาๆเต็มที ..

ภาษาลาวที่เขียนเป็นไทยอ่านง่ายครับ ตามตัวหนังสือเลย ไม่มี ษ ศ ให้คนงง

สีสะหวาด ก็เขียนกันแบบนี้เลย อ่านง่าย เขียนไม่มีผิด .. สมกับยุกสะหมัย ดีนะครับ -- 55

ที่จริงตัวหนังสือทางล้านนา ล้านช้างนี่สวยมากในสายตาผม เสียดายที่ล้านนามีเหล่าชายชาญที่อ่อนแอไปหน่อยจึงต้องตกอยู่ใต้อำนาจพม่าบ้าง อยุธยาบ้าง เรื่อยมา ไม่เหมือนทางล้านช้าง ทั้งๆที่พลเมืองมากกว่า



โดย: สดายุ... วันที่: 18 กันยายน 2559 เวลา:17:29:40 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.