Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2560
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
8 ตุลาคม 2560
 
All Blogs
 
O ปลายฝน .. O








ลาวม่านแก้ว - ขิม


O บริบทตรู่เช้า .. หมอก-ขาวมัว
ลมโรยตัว .. ลูบไล้ก็ไหวสั่น
แถบผ้าขาวป่ายริ้ว-ห่มผิวพรรณ-
พร้อมด้วยข้าวในขัน .. มุ่งมั่นรอ
O แล้วพิมพ์ภาพงดงาม .. แห่งยามเช้า-
ค่อยทอดเงาเคียงหมู่ท่านผู้ขอ
ศรัทธาของรูปนาม ก็งามพอ-
สืบสาน-ต่อเติมธรรม .. ลงย้ำใจ
O คำข้าว..ช่อดอกไม้..ถวายพระ
ตอบภาวะศรัทธา .. เพื่ออาศัย-
สำหรับน้อมจิตนำ .. พากย์ธรรมนัย-
กำหนดให้อัตตานั้นล้าตัว
O ข้าวหอมกรุ่นในขัน .. คด .. บรรจง-
ใส่บาตรสงฆ์เบื้องหน้าแต่ฟ้าหลัว
จวบแสงทองอำไพส่องไล่มัว
สุขก็ซ่านเอ่อทั่วทั้งหัวใจ
O หากเช้านี้ .. ผิดแผกจนแตกต่าง
ชั่วพระย่างพ้น .. พลัน-ที่สั่นไหว-
คืออกผู้-เบือนหน้าสบตาใคร-
แล้ว-เลศนัยเชิงชู้ .. ก็จู่โจม !
O ด้วยเช้านี้มีชายที่หมายรู้-
ว่า-งามผู้แสงรุ้งช่วยปรุงโฉม
นั้น .. ฤๅ-เพื่อรอช่วงแข่งดวงโคม-
ผ่านรอบโสมนัสช่วงกลางห้วงใจ ?
O ดู .. สายตาจับจองความผ่องแผ้ว
ก็ล้วนแววเอ็นดูจนรู้ได้
ดู .. สายตาจับจองความยองใย
ความอ่อนไหวอ่อนโยนก็โชนแวว !
O เมื่อมีรูป, มีใจ-หวั่นไหวอยู่
อารมณ์ผู้จับจ้องก็ผ่องแผ้ว
พร้อมริ้วลมโรยตัวอยู่ทั่วแนว
การจับจองรูปแก้ว .. ฤๅ-แล้วเลือน ?
O แต่เมื่อตาสบรูป .. การวูบไหว-
ของดวงใจ .. คือ-งามเจ้าลามเลื่อน-
ยอรูปองค์ .. ล้อมชาติเกินอาจเบือน-
สายตาเคลื่อนจากงาม .. แม้ยามเดียว !
O ตาสบรูป .. จิตวูบด้วยรูปนั้น
ตั้งแต่หันมองตอบ .. เฝ้าลอบเหลียว
ตาต้องรูปร่ำล้อ .. ดั่งขอเคียว-
เจ้าคล้องเกี่ยวเหนี่ยวใจ .. เอาไปครอง
O เช้านี้ .. จึงช่างแปลกจนแตกต่าง
ด้วยเรียวร่างงามที่ไม่มีสอง
ด้วยรูปพักตร์รูปเดียวเฝ้าเหลียวมอง
โลกทั้งผองก็เหมือนวาง .. ให้ย่างเท้า !
O ไร้ซึ่ง - ความเหงาเงียบให้เหยียบย่าง
สิ้นทั้งโลกผืนกว้าง .. เคยว่างเปล่า
มีแต่แววซ่อนยิ้ม, ความพริ้มเพรา-
ของรูปเงาเบื้องหน้า .. ให้ปรารมภ์ !
O พร้อม-ลมเอื่อยแผ่วผ่านอยู่นานเนิ่น,
แววขัดเขินเผยอยู่ .. สุดรู้ข่ม
สบ – สัมผัสหอมหวานอยู่นานนม-
ดวงใจที่จ่อมจมก็ .. สมยอม
O ช่อขาวเกสรปีบ .. รอบีบกลิ่น
ต้องลมรินโรยผ่าน .. รสหวานหอม-
ก็แฝงฝากลมร่ำให้ด่ำดอม-
รื่นรมย์ที่รายล้อม .. อย่างพร้อมเพรียง
O ยิ่งปีกผีเสื้องาม, ตาวามนัย-
แฝงฝากให้อาวรณ์ออดอ้อนเสียง
เฉกลวดลายปีกบาง .. ลอยร่างเพียง-
เพื่อเข้าเคียงหวานหอม .. แนบน้อมรส
O เมฆขาวเวิ้งฟ้าใส .. ลมไหวแว่ว
วันผ่องแผ้วบังเดือนให้เลือนบท
หญ้าต้องลมโลมสู่ .. ยอดคู้คด
ภู่จ่อจดหวานหอมไม่ยอมลา
O นกโผเกาะกิ่งพฤกษ์ .. เมื่อนึกย้อน
ถึงช่วงตอนใจละห้อยแต่คอยหา
ดื่มด่ำด้วยรูปฝัน .. แรงฉันทา-
ต่อเรียวร่าง .. อิริยา .. ท่วงท่าที
O ทอดตามองที่นี่และที่นั่น
รูปรอยฝัน .. แทรกฝ่าเรื้องราศี
กลางลมอุ่นโอบไล้, รอบไมตรี-
ก็ค่อยคลี่โอบรับไว้กับทรวง
O เมื่อลำดวนฟุ้งกลิ่นรวยรินสู่
หอมก็จู่จบแทนความแหนหวง
แรงอาวรณ์ซาบซึ้ง .. ใจหนึ่งดวง-
หวัง-ผ่านหอมหวานล่วง .. อีกดวงใจ
O ปีกนกยังคลี่กาง .. ร่อนกลางฟ้า
กลางแววตา, อาวรณ์ .. แสนอ่อนไหว-
ที่ละห้อยแหนหวง .. พร้อมห่วงใย-
แต่เพียงผู้เยาว์วัย .. อยู่ในยาม
O ลมร่ำสายโชยเฉื่อยคล้ายเหนื่อยอ่อน
เมื่อเสียงอ้อนออดชู้ .. สุดรู้ห้าม-
คอยกระซิบเร้ารุก .. คอยคุกคาม
หลังสบแววตางาม .. วาบวามนัย
O ปีกนกกางโล้ลม, อารมณ์ถวิล-
ก็หลั่งรินรอชู้ .. ร่วมสู่สมัย-
การจับจูงเกี่ยวร้อยทุกรอยใจ
กำหนดให้ .. ร่วมย่างเส้นทางเดียว !
.
.
การจับจูงเกี่ยวร้อยกับก้อยใคร
ถูกตราไว้ .. เกินเบี่ยงหลบเลี่ยงแล้ว !



Create Date : 08 ตุลาคม 2560
Last Update : 17 มิถุนายน 2566 21:10:15 น. 12 comments
Counter : 4538 Pageviews.

 
สดายุ..

" การจับจูงเกี่ยวร้อยกับก้อยใคร
ถูกตราไว้ .. เกินเบี่ยงหลบเลี่ยงแล้ว !"

เล่นจบกลอนแบบนี้ ทั้ง กวาง บ่าง ชะนี เลยกระโดดหนี หมดเลยซิ !
สังเกตุหลายครั้งและดูเหมือนจะถามหลายครั้งแล้วด้วย ว่า ทำไมจึงมี..บทบิณฑบาต..มี"ผู้ขอ" และ "ผู้ให้ " เสมอหมายความว่าอะไรคะ


โดย: บุษบามินตรา IP: 212.47.252.101 วันที่: 13 ตุลาคม 2560 เวลา:18:15:15 น.  

 
มินตรา ..

ท่านผู้ขอ .. เราใช้เรียกพระสงฆ์ เป็นคำโบราณ
พระ .. คือ ผู้ขออาหารชาวบ้านดำรงชีพ โดยการแสดงธรรมเป็นเครื่องตอบแทนแลกเปลี่ยน
พระพุทธองค์จึงบัญญัติไว้ห้ามพระสงฆ์ปรุงอาหารกินเอง ..

เจตนาของการบวช คือ สละทางโลกเสียเพื่อฝึกฝนจิตใจตนเอง
การมาคอยกังวลเรื่องหุงหาอาหารจึงถือเป็นภาระ เป็นอุปสรรคต่อการบำเพ็ญพรต

ขอกิน วันละมื้อ ก็ควรพอเพียง
ขอมาได้เท่าไร ก็คลุกลงในบาตรรวมกัน แล้วค่อยกิน เพื่อทำลายรูป และรส เสีย
ให้เหลือแต่คุณค่าทางอาหารที่จะหล่อเลี้ยงรูปขันธ์เท่านั้น

นั่นคือจุดประสงค์ของการบวชเรียนในยุคพุทธกาล ..
อย่าเอามาเปรียบเทียบกับการบวชประเพณีของยุคปัจจุบันที่เป็นเพียงรูปแบบ พิธีกรรม
อันห่างไกลจากเจตนารมณ์ของพุทธะ

เพราะความเบี่ยงเบนนี้เกิดจาก การผสมผสานการตีความที่ผิดเพี้ยน ร่วมกับความเชื่อ
ถือผีของท้องถิ่นเดิม ที่ผสานกลมกลืนกันไป ..

ด้วยธรรมชาติของ ปัญญาระดับ C (เทียบกับเกรดนักเรียน) ที่มากที่สุด จึงจับได้แต่
เปลือกกระพี้ของพุทธธรรม ..

ขณะที่ปัญญาระดับ A-B ก็มีจำนวนน้อยเกินไป ที่แม้จะจับแก่นธรรมได้ ..
แต่การกระจายไปในวงกว้างกลับมีน้อยกว่าตามสัดส่วนโดยธรรมชาติ
ของกลุ่มคนที่ ปัญญาระดับ C จะมีมากที่สุดเสมอไป

A-B “พุทธิจริต”ในตนมีสัดส่วนสูงกว่าอย่างอื่น … บัวน้ำบน
C “ศรัทธาจริต”ในตนมีสัดส่วนสูงกว่าอย่างอื่น … บัวน้ำกลาง
D-F “โมหะจริต”ในตนมีสัดส่วนสูงกว่าอย่างอื่น … บัวน้ำล่าง

ยาวไปไหมครับ
5555




โดย: สดายุ... วันที่: 13 ตุลาคม 2560 เวลา:19:39:59 น.  

 
สดายุ..

ค่ะ แต่ยังลึกไม่พอที่ตอบคำถามว่า "ทำไมจึงมี..บทบิณฑบาต..มี"ผู้ขอ" และ "ผู้ให้" ได้นะ..

เวลามินตราเขียนอะไรนี่ ที่ยาวเพราะสาระมีมากจนตัดให้สั้นมิได้..
หากรีบรีบเขียนแล้วสั้น สดายุก็ไม่เข้าใจบอกว่ากระโดดไปกระโดดมา... เพราะฐานที่รู้ไม่เหมือนกัน


โดย: บุษบามินตรา IP: 212.47.252.101 วันที่: 14 ตุลาคม 2560 เวลา:10:08:38 น.  

 
มินตรา ..

ทำไมถึงมีบทบิณฑบาต ?
ก็เพราะเดินเรื่องขึ้นในยามตรู่เช้า ..
ยามตรู่เช้า จะมีอะไรได้นอกจากภาพการตักบาตร ... น้ำค้างบนใบหญ้า .. หมอกขาวขุ่น ?
ผมไม่เห็นเหตุผลของการถามนะ

เมื่อมีบทบิณฑบาต ก็ต้องมีพระ คือผู้ขอ .. และอุบาสก อุบาสิกา คือผู้ให้
ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย ..

สาวงามต้องเป็นผู้ให้เสมอ .. เพราะสาวงามเป็นพระคือผู้ขอไม่ได้
ส่วนหนุ่มมาดเท่ เป็นได้ทั้งพระที่ออกบวชเมื่ออายุครบ 21 และผู้ให้ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเส้นทาง
ที่มองสบตาสาวงามเป็นระยะ

มินตรา สงสัยตรงไหน ?





โดย: สดายุ... วันที่: 14 ตุลาคม 2560 เวลา:19:20:10 น.  

 
คืองี้นะคะ
ปกติเวลาอ่านกลอนนี่จะไม่เห็นมีกวีผู้ใดนำทางธรรมมาปนกับทางโลกน่ะค่ะ..
คือบวชไปแล้ว ในช่วงนั้นต้องตัดอกตัดใจไปเลยจะมาวอกแวกทางโลกได้ยังไง..ที่เห็นก็มีแต่ ....
"สมัยที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ทรงผนวชอยู่วัดระฆังโฆษิตาราม ทรงโปรดที่จะพายเรือออกบิณฑบาต เมื่อได้มาทรงรับบาตรที่บ้านของเจ๊สัวบุญมี ทอดพระเนตรเห็นท่านเอมออกมานั่งหัวกระไดคอยตักบาตรพระก็ทรงโปรด แวะเวียนมารับบาตรอยู่ทุกเช้า วันหนึ่งทรงเจตนาปิดผาบาตรงับมือ ท่านเอมตกใจ ปล่อยมือจนทัพพีร่วงหล่นลงน้ำพอได้สติก็ลุกขึ้นวิ่งหายขึ้นไปบนเรือน บ่ายวันนั้นเอง ปรากฏมีขบวนข้าราชการเชิญเครื่องสู่ขวัญและทัพพีทองลงยามาใช้คืนให้ถึงที่บ้าน เจ๊สัวบุญมีจึงได้ทราบว่าพระภิกษุหนุ่มผู้นั้นคือพระองค์ใด และเฝ้าถนอมบุตรสาวไว้รอองค์เจ้าของทัพพีที่พระราชทานมา"

นี่เป็นเรื่องที่สมัยสาวสาว มินตราชอบใส่บาตร แล้ว ป๋าสั่งห้าม แม่จึงเล่าเรื่องนี้ให้ฟังน่ะ 555


โดย: บุษบามินตรา IP: 212.47.252.101 วันที่: 14 ตุลาคม 2560 เวลา:20:10:39 น.  

 
มินตรา ..

ผมเป็นเพียงคนเขียนกลอน .. มิใช่กวี
เพิ่งมาลองเขียนเอาตอนราวๆปี 2545 นี่เอง ..
ก่อนมี bloggang ก็เขียนเล่นเรื่อยเปื่อยใน ถนนนักเขียนของพันทิป
ก่อนมาพันทิป ก็เขียนที่ ThaiPoem สมัยที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงจนจำไม่ได้แบบเดี๋ยวนี้

ชายผู้โกนผมบวชเรียน 98% ยังไม่ใช่ผู้สละโลกตามความหมายครั้งพุทธกาล ..
เป็นเพียงผู้ดำเนินชีวิตไปตามกรอบจารีตที่ทำสืบต่อกันมาเท่านั้นเอง

และกวี ที่มินตราพูดถึงทั้งหลาย ก็เป็นเพียงชีวิตในกรอบแห่งจารีตเหล่านี้เหมือนกัน
นักเขียนไทยจึงยากที่จะไปได้ไกลถึงระดับ โนเบิล วรรณกรรม เพราะหัวในกรอบนี่แหละ
555

โบราณในบางเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาก็สวยงาม ยิ่งในบริบทของความสัมพันธ์หนุ่มสาว




โดย: สดายุ... วันที่: 15 ตุลาคม 2560 เวลา:9:54:57 น.  

 
ดายุ..

"ชีวิตในกรอบแห่งจารีต"นั้น มีผู้"ทดลองวิทยายุทธ์" มาทุกรุ่นทุกคน จะมากจะน้อยก็เถอะ
ที่มินตราชอบใส่บาตรมิใช่เพราะใจบุญสุนทาน
แต่การนั่งพับเพียบเรียบร้อย เช็ดใบตอง ตัดใบตอง ห่ออาหารในใบตอง
กลัดด้วยไม้กลัดก้านมะพร้าว ที่ต้องเหลาเอง
แล้วเวลาใส่ของลงบาตรต้องค่อยค่อยวางมิให้มือไปกระทบบาตร
เหมือนได้"เล่นขายของ" ตรงนี้ต่างหากที่สนุก 555

มิได้ตื่นเช้ามาด้วย"น้ำ ค้าง"บนใบหญ้า .. หมอก"ขาวขุ่น"
หรือต้องให้พระท่านตอบกลับมาว่า.."จีวรสีดำหายากนะโยม..."
แบบสมัยเหลืองแดงที่"ไม่โบราณ" เช่นวันนี้

" บริบทของความสัมพันธ์หนุ่มสาว" ไม่ว่าในไทย(ตะวันออก) หรือ เยอรมัน (ตะวันตก)
ยังไม่ผิดแผกแตกต่างไปจากกัน ขึ้นอยู่กับ"ตัวเราเอง"ว่า "ไปสัมพันธ์"กับสังคมไหน..
พ่อแม่ยังรักยังถนอมลูกสาวตน และ"วางใจ"ให้กับ"ผู้ที่จะรักจะถนอมต่อไป" เท่านั้น...

ในโลกอินเตอร์เนตนั้น ใครใคร่จะนึกคิดเป็นอะไรก็ได้ตามแต่ใจตน
เรา จะซนเกเรทะเลาะตบตีกับใครก็ได้
ตรงนี้ล่ะที่สนุก..
มิใช่สังคมที่เราจะเลือกมาเป็นเพื่อนในชีวิตจริงของเราได้ !..

เช่น ที่สดายุยกมาว่า พระบวชแค่พรรษาเดียว ยังแยกทางโลกทางธรรมไม่แตกหัก
ใน"สังคมของมินตรา" ทั้งไทยและเยอรมัน
เราต้องฝึกหัดที่จะ"สำรวม".. ทําใจให้แน่วแน่, ทำใจให้สงบ
..........
กวี คือ ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการประพันธ์บทกลอน จําแนกเป็น ๔ คือ
๑. จินตกวี แต่งโดยความคิด
๒. สุตกวี แต่งโดยได้ฟังมา
๓. อรรถกวี แต่งตามความจริง
๔. ปฏิภาณกวี แต่งกลอนสด. (ป.). (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน)

เมื่อสดายุสามารถเขียนถ้อยร้อยความจนเป็น..โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ..
ตาม " กรอบแห่งจารีต" ได้ ย่อมเรียกว่า..กวี.. ได้ ส่วน"ฝีมือ"ขนาดไหนค่อยว่ากันอีกครั้ง
.............
การ"แกล้งล้อเล่น" จนใครตกใจนั้น ผู้ที่มีจิตใจงดงาม อ่อนโยนย่อมรู้สึกเสียใจ
"การรับขวัญ" ยังเป็นธรรมเนียมที่น่ารักทั้งไทยและฝรั่ง อยู่

เจ้าฟ้าจุฑามณี เป็น ผู้"รักสนุก" ชอบ"ทดลองวิทยายุทธ์" ใน"กรอบแห่งจารีต" เสมอ
ท่านและเจ้าจอมมารดาเอม มีพระองค์เจ้า องค์แรก ก็ทรงนามว่า "จอร์จ วอชิงตัน"
ตามชื่ออดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนแรก
นึกภาพ"ผู้ใหญ่"สมัยนั้นออกไหม 555
ร้อนถึง รัชกาลที่๔ ต้องตั้งพระนามให้"ตามขนบธรรมเนียมราชประเพณี"เป็น
พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร
ท่านมี เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็น"พ่อทูนหัว"( God father)

เจ้าฟ้าจุฑามณี ยังมี พระองค์เจ้าเฉิดโฉมในเจ้าจอมมารดาสีดา
ที่ทรงรักษา "กรอบแห่งจารีต" จน "ยาขอบ"ต้องวางเรื่องผู้ชนะสิบทิศ ใหม่
“—พ่อยาขอบช่วยฉันหน่อยได้ไหม นึกว่าเหมือนหลานช่วยย่าให้ตายด้วยมีความสุขว่าลูกหลานไม่ได้ทำผิด หรือพอจะทำผิด ฉันเตือน เขาก็ยกให้ไม่ทำ เอ้าใครผิดใครถูกไม่ต้องพูดกัน เอาแต่เพียงพ่อเปลี่ยนตามฉัน นึกว่าทำบุญให้คนแก่ตายสบายใจได้ไหม—”

"ตะละแม่กุสุมา"ก็เลยไม่ได้เข้าพิธีอภิเษกคู่กับ"ตะละแม่จันทรา"ในเรื่องผู้ชนะสิบทิศ

เรื่องเหล่านี้ เป็น"ความรู้" ที่ คุณครูสมัย"โบราณ" ท่านเล่าสอนประกอบวรรณคดีที่เราเรียนมาตั้งแต่ในโรงเรียน
..........
ฉะนั้น นัก"สหพันธนารัฐ" อย่าง สุดา รังกุพันธุ์
ที่ว่า ได้..เหรียญทองปริญญาตรี..จากธรรมศาสตร์
กลับไม่มีความรู้คำว่า"ชาติวงศ์" คือ เรื่องเกี่ยวกับกำเนิดของเชื้อชาติ ( genealogy)
หรือ"ธรรมาภิบาล" ( Good Governance) คือ การปกครอง การบริหาร การจัดการการควบคุมดูแล กิจการต่างต่าง ให้เป็นไปในครรลองครองธรรม ...

ซึ่งสองคำนี้ ในสากลโลกนำมาใช้ใหม่ เป็นคำในศตวรรษที่ 21ในความหมายใหม่
..วิวัฒนาการทางภาษา..ในแต่ละศตวรรษ

แม้นแต่ในสาขาภาษาศาสตร์ที่เธอเรียนมา กลับไม่รู้ว่า
Noam Chomsky (* 7. Dezember 1928)มีอิทธิพลต่อ "โครงสร้างทางภาษา"อย่างไร
อ้างตนว่าเก่งคอมพิวเตอร์ โดยไม่เรียนรู้ว่า
Noam Chomsky กำหนดโครงสร้างภาษา( grammar structure)ให้นักคอมพิวเตอร์!
นี่รู้จักเธอผ่านคลิปของเธอเอง

ที่ยกตัวอย่างคนคนนี้ขึ้นมาเพราะ สดายุ พูดถึง "กรอบแห่งจารีต" และ"โบราณ"
เพื่อให้เปรียบเทียบกับ "หัวก้าวหน้าทันสมัย" (โดยขาดความรู้รากฐาน) น่ะค่ะ


โดย: บูษบามินตรา IP: 212.47.252.101 วันที่: 15 ตุลาคม 2560 เวลา:14:58:06 น.  

 
มินตรา ..
ยืดยาวมากความ ..
สยามนี่ไม่ได้มีอะไรเชิงคุณค่าพอจะจับยึดสืบทอดอะไรนักหนาหรอก ..
เรื่อง ชาติวงศ์ นี่ เลิกคุยได้เลย .. ไม่มีราคาสำหรับผม
ยังเป็นชาติด้อยพัฒนา ยากจน และไปไม่พ้นจากอันดับแย่ๆ ในแทบทุกเรื่องที่เป็นเรื่องดี

ผมเป็นคนไม่ให้ “ราคา” กับเรื่องโวหารสร้างภาพ เรื่องภาพลักษณ์ ..
ฝรั่งเขาตีแผ่ GDP เปรียบเทียบกันทุกปี .. เอาตรงนั้นครับ พิจารณา
ไม่สนใจศาสตร์ ทฤษฎีใดทั้งสิ้น ..

GDP .. รายได้ตัวคนต่อปีเฉลี่ยทั้งชาติ
การศึกษาของคนในชาติที่ถูกประเมินในระดับต่างๆ ในวาระต่างๆ
การกระจายรายได้ทั่วถึงแค่ไหน
อาชญากรรม
ยาเสพติด
ค้ามนุษย์
ค้าประเวณี
อาวุธเถื่อน
คอรัปชั่น เทียบกับทั้งโลก เป็นอย่างไร
กระบวนการยุติธรรมเชื่อถือได้แค่ไหน การบังคับใช้กฎหมายเท่าเทียมกันกับทุกคนไหม

ชาติใดที่มีพัฒนาการมาได้เพียง .. ประเทศด้อยพัฒนา ในศักราช 2017
อย่าพยายามลาก ดึง สร้าง วาทกรรม เพื่อให้ดูดีเลย
ชาติที่พัฒนาแล้วเหมือนอยู่หมู่บ้านจัดสรร จะดูชาติที่ยังอยู่ในสลัม ด้วยสายตาอย่างไร ?
ยกย่อง ?
ทึ่งในความสามารถของผู้ปกครอง ?

ลี กวน ยู ครับ .. ที่คู่ควรแก่การยกย่อง
ตายก็เรียบง่าย ไม่ต้องเอิกเกริกสิ้นเปลือง





โดย: สดายุ... วันที่: 16 ตุลาคม 2560 เวลา:6:57:17 น.  

 

เรื่องดีๆ


โดย: สดายุ... วันที่: 16 ตุลาคม 2560 เวลา:7:54:24 น.  

 

สดายุ..

ที่หยอดคำว่า "ชาติวงศ์"( genealogy)
และ "ธรรมาภิบาล" ( Good Governance) ไป
ก็เพื่อจะดูว่า "ขบวนการรับรู้"( Cognitive processes) ทางความคิดของสดายุ เป็นเช่นไร

อึ้งไปเลย เมื่อตอบว่า...
"ผมเป็นคนไม่ให้ “ราคา” กับเรื่องโวหารสร้างภาพ เรื่องภาพลักษณ์ ..
ฝรั่งเขาตีแผ่ GDP เปรียบเทียบกันทุกปี .. เอาตรงนั้นครับ พิจารณา
ไม่สนใจศาสตร์ ทฤษฎีใดทั้งสิ้น .."
................

ในปี 1950 มีการปฎิวัติทางวิชาการการรับรู้( cognitive revolution) จนเกิดวิชา "วิทยาศาสตร์การรับรู้"(cognitive sciences) ซึ่ง ศึกษาขบวนการทางจิตและระบบสมองของมนุษย์ว่า ระบบการคิดของมนุษย์เป็นอย่างไร

นอม( Noam Chomsky) ได้ออกเอกสารชื่อ "พฤติกรรมทางการพูด"(Verbal Behavior) ในปี 1959
ระบุว่า ระบบ"การรับรู้"(cognition)ในสมองและ ร่างกาย ของมนุษย์ มิใช่เป็นเรื่อง "นามธรรม"(abstract) ทางจิต ที่ศึกษาเป็น"รูปธรรม"(objective) ไม่ได้

มนุษย์"รับรู้" ด้วยการสร้าง "อุปมาอุปไมย"(metaphor)
ซึ่งมิใช่เพียงกวี เท่านั้นที่ใช้คำ "อุปมาอุปไมย"(metaphor)

แล้ว"ระบบการรับรู้"โดยธรรมชาติ
(Cognitive processes)ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ (หรือสัตว์)ทุกคน จะใช้ "ความรู้เดิมที่เรามีอยู่"( existing knowledge) ไปส่งต่อขยายความการเรียนรู้สิ่งใหม่ (generate new knowledge)

มนุษย์ "คิดและให้เหตุผล"ตาม" สภาพเงื่อนไข"ที่พวกเขาเผชิญอยู่(environment) แล้วจึงตัดสินใจ "ทำ หรือ"ไม่ทำ"สิ่งใด ซึ่ง เป็นไปตาม" จิตสำนึก"
แต่เกือบทั้งหมดของการให้เหตุผลหรือการแสดงเหตุผลเป็นเรื่องของ “จิตไร้สำนึก”เพราะระบบไม่ได้แยกแยะ
ฉะนั้น"ระบบภาษา" จึงขึ้นอยู่กับ"ระบบความคิด"ตาม"สิ่งแวดล้อมที่ตนเป็นอยู่" (environment)

นักปรัชญา และผู้สอนศาสนา จึงต้องมี การฝึกฝนเพื่อยกระดับ"จิตไร้สำนึก"มาสู่"จิตสำนึก"
เพราะ นั่นอาจเป็นหนทางที่จะหยุดยั้งความหายนะของมนุษยชาติ
..........................
คำว่า genealogyในภาษาวิชาการนั้น คือการศึกษา "ครอบครัว"(families) และร่องรอย"สาย" (lineages )ที่แตกออกมา รวมถึง"ประวัติ"( history)ความเป็นไป..ซึ่งไม่เกี่ยวกับ "ชาติ"(Nation)ตามที่เข้าใจ ไม่งั้นจะไม่มีคำว่า

Genealogy software ซึ่ง เป็นระบบเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ (computer software) บันทึกข้อมูล,วางระบบจัดระเบียบ และกระจาย"ข้อมูลที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกัน" ( genealogical data.)


โดย: บุษบามินตรา IP: 212.47.252.101 วันที่: 17 ตุลาคม 2560 เวลา:22:13:42 น.  

 
มินตรา ..
Copy & paste คคห.8


โดย: สดายุ... วันที่: 18 ตุลาคม 2560 เวลา:9:19:51 น.  

 
คุณสดายุค่ะ

นี่เลยปลายฝนมาค่อนข้างนาน...เข้าต้นหนาวแล้วค่ะ
บ้านทิพย์ลมหนาวโยกมาหลายรอบแล้วนะคะ
เตรียมเสื้อผ้าคลุมร่างกายให้อบอุ่นรับหนาวกันเถอะค่ะ อิๆๆ


โดย: ทิพย์ IP: 49.48.245.38 วันที่: 11 พฤศจิกายน 2560 เวลา:12:05:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.