A Thousand Splendid Suns : ชีวิตแสนเศร้าใต้เงาสงคราม - หนังสือที่สุดยอดอีกเล่ม
จากที่เล่าไปในบล็อกที่แล้วว่า อ่านเรื่องนี้ไปครึ่งเล่มแล้ววางก่อน เพราะอ่านไปอินไป ทั้งหดหู่ โมโห ลุ้น ... แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็น อยากอ่านต่อ เลยแอบเปิดดูตอนท้ายก่อนว่า จบดีไหม แล้วก็กลับมาอ่านต่อค่ะ หนังสือดีมากๆๆ อยากแนะนำจริงๆ
เล่มนี้เป็นนิยายเล่มที่สองของผู้เขียนเรื่อง The Kite Runner ค่ะ เล่มนั้นไอซ์ยังไม่ได้อ่านเลยทั้งๆ ที่อยากอ่านมาก เกือบจะซื้อมาแล้ว แต่บังเอิญคุยกับน้องชายที่อยู่อเมริกาก่อน รู้ว่าน้องชายมีแล้ว เลยไม่ซื้อค่ะ เพราะตอนนี้ที่บ้านมีหนังสือซ้ำกันเยอะมาก เนื่องจากตัวไอซ์ น้องชาย และน้องสาว เรียนอยู่กันคนละประเทศตลอด เลยซื้อหนังสือซ้ำกันบ่อยมาก หนังสือบางชุดเลยมีซ้ำกัน อย่าง Harry Potter หรือ LOTR มีสามชุด ^^" อ่านเล่มนี้แล้วอยากอ่าน The Kite Runner จริงๆ
เรื่อง : A Thousand Splendid Suns เขียนโดย : Khaled Hosseini
'One could not count the moons that shimmer on her roofs, Or the thousand splendid suns that hide behind her walls.'
เป็นบทกวีที่ Saib-e-Tabrizi ...กวีชาวเปอร์เซียเขียนเกี่ยวถึง Kabul ในศตวรรษที่ 17 ซึ่ง Khaled Hosseini นำมาเป็นชื่อหนังสือเล่มนี้ ซึ่งชื่อหนังสือสะดุดสตาและสะดุดใจไอซ์มากๆ เลยน
A Thousand Splendid Suns เป็นเรื่องราวที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงอัฟกานิสถานสองคนในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1959 จนถึงปี 2003 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อัฟกานิสถานมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากมาย เต็มไปด้วยสงคราม เป็นช่วงเวลาที่เศร้าหมองของประชาชนในประเทศอัฟกานิสถาน ผ่านสายตาของผู้หญิงสองคนที่มีพื้นฐานชีวิตแตกต่างกัน แต่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์เดียวกัน
หนังสือไม่ได้เน้นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์นะคะ แต่จะเน้นถึงชีวิตของผู้หญิงทั้งสอง Mariam และ Laila ที่ต้องอดทนกับสถานการณ์รอบตัว
....
ต่อไปจะเป็นรายละเอียดค่ะ
หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน
-1-
ส่วนแรกนี้จะเริ่มตั้งแต่ปี 1959 จนถึงปี 1978 ซึ่งจะบอกเล่าเรื่องราวของ Mariam ตั่งแต่เกิดจนอายุ 19 ปี
Mariam เป็นลูกสาวนอกสมรสของเศรษฐี พ่อของเธอเป็นคนร่ำรวยแต่แม่ของเธอเป็นสาวใช้ เมื่อเธอเกิด ครอบครัวของพ่อเห็นว่าเป็นเรื่องอื้อฉาว จึงส่งเธอกับแม่ไปอยู่ใน kolba...กระท่อมหลังเล็กๆ นอกเมือง Herat
Mariam เติบโตอย่างขาดแคลนและโหยหาความรักจากพ่อ เธอไม่ได้ไปโรงเรียน ยากจน และเมื่ออายุ 15 ก็ถูกจับแต่งงานกับ Rasheed...ชายขายรองเท้าที่อายุกว่าสี่สิบปีอย่างไม่เต็มใจ
Mariam จึงจำต้องย้ายไปอยู่ Kabul กับสามี
ในช่วง 19 ปีนี้ การเมืองในอัฟกานิสถานมีการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่กษัตริย์ King Zahir Shah ถูกลูกพี่ลูกน้อง Daoud Khan ที่เป็นนายกรัฐมนตรี overthrown หลังจากนั้นก็เกิดกบฏคอมมิวนิสต์ MiGi Democratic Republic of Afghanistan เป็นระบบศาสนาอิสลามและประชาธิปไตย ((ทำไมเป็นชื่อนี้ก็งงๆ เหมือนกันค่ะ แต่เป็นระบบคอมมิวนิสต์นะ อืม))
-2-
ในส่วนที่สองนี้เริ่มต้นที่ปี 1987 เมื่อ Laila อายุ 9 ปี
Laila แตกต่างจาก Mariam ... พ่อของเธอเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และใส่ใจการศึกษา สิ่งที่เขาเห็นว่าสำคัญที่สุดก็คือ การให้ลูกสาวของเขาไปโรงเรียน มีความรู้ เขาบอกกับเธอว่า ช่วงการปกครองแบบคอมมิวนิสต์เป็นช่วงเวลาทองของผู้หญิง เพราะมีความเท่าเทียมกับผู้ชาย
Laila มีความรัก เธอรัก Tariq...เพื่อนชายข้างบ้าน ทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทกัน
ช่วงนี้ชาวอัฟกานิสถานบางส่วนเป็นพวกหัวใหม่ ผู้หญิงบางคนไม่คลุมผม ผู้หญิงสามารถไปทำงาน และมีอิสระมากมาย สามารถมีความรักและเลือกคู่ชีวิตได้เอง
แต่ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่อัฟกานิสถานทำ jihad หรือสงครามศาสนากับรัสเซีย
ปี 1989 รัสเซียล่าถอย แต่ก็ยังคงส่งอาวุธให้ Najibullan ใน Kabul ... jihad ดำเนินไปจนถึงปี 1992 ยอมแพ้ และ...Mujahideen เคลื่อนทัพกลับเข้ามาใน Kabul
ตอนนี้แหละค่ะที่อัฟกานิสถานเละสนิท กลุ่ม Mujahideen แตกฝ่ายออกมารบกันเองเพื่อแย่งชิงอำนาจ กลายเป็นสงครามกลางเมืองที่ warlord แต่ละคนยกพวกออกมาสู้กัน Kabul กลายเป็นสนามรบ ศพเกลื่อนกลาด ประชาชนอพยพออกจากอัฟกานิสถาน เป้าหมายคือ ไปเริ่มต้นที่ปากีสถานก่อนหรือไม่ก็อิหร่าน
((อาจจะมีสปอยล์นิดหน่อยนะคะ แต่ขอบอกว่า ถึงจะรู้สปอยล์ก่อนก็อ่านแบบวางไม่ลงค่ะ เพราะขนาดไอซ์แอบพลิกอ่านตอนหลังๆ ก่อน ยังติดหนึบทุกตัวอักษร))
ครอบครัวของ Tariq หนีออกไปก่อน แต่ครอบครัวของ Laila หนีไม่ทัน พ่อกับแม่ของเธอตาย เหลือเพียง Laila ใน Kabul
-3-
Laila อายุ 14 ปี พ่อแม่ตายไปแล้ว คนที่ช่วยเธอออกมาจากใต้ซากปรักหักพังคือ Rasheed สามีของ Mariam
Laila ที่ไม่มีใคร ไม่มีทางไป และยังได้รับข่าวว่า Tariq ตายไปแล้ว จึงจำใจยอมแต่งงานเป็นภรรยาคนที่สองของ Rasheed
ชีวิตของ Mariam และ Laila จึงมาบรรจบกันด้วยประการฉะนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลำบากมากๆ โดยเฉพาะ...สำหรับผู้หญิง สงครามกลางเมืองทำให้ Kabul อันตรายมากๆ ผู้หญิงจำเป็นต้องมีผู้ชายปกป้อง ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนเองได้ ความเข้มงวดตกลงมาที่ผู้หญิงทั้งหมด ผู้ชายทำอะไรไม่ผิด ทุบตีภรรยาได้
ผ่านไปจนถึงปี 1996 ... Taliban ก็เข้ามายึดครองอัฟกานิสถาน ยุคสมัยสงครามกลางเมืองจบลงและเป็นการเริ่มต้นการปกครองของ Taliban ซึ่งมีกฎหมายที่เข้มงวดมากๆ
อ่านแล้วถึงกับอึ้งค่ะ ขอยกตัวอย่างบางข้อสำหรับคนทั่วไปนะคะ
- ห้ามเต้นรำ - ห้ามร้องเพลง - ห้ามเล่นไพ่ ห้ามเล่นหมากรุก ห้ามเล่นการพนัน ห้ามเล่นว่าว - ห้ามเขียนหนังสือ ดูหนัง วาดภาพ
ต่อไปนี้เป็นบางข้อที่เพิ่มขึ้นมาสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ
- ผู้หญิงต้องอยู่บ้านตลอดเวลา ถ้าจะออกจากบ้านจะต้องมีญาติผู้ชายไปด้วย ถ้าไปตามลำพังจะถูกตี - ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน ก็ห้ามเปิดเผยใบหน้าของตัวเอง จะต้องสวม burqa ตลอดเวลา...ถ้าใครสงสัยว่าเป็นอย่างไร ก็ดูรูปข้างล่างเลยค่ะ
- ห้ามแต่งหน้า ห้ามสวมใส่เครื่องประดับ - ห้ามพูดขึ้นก่อนยกเว้นแต่จะมีคนพูดด้วย - ห้ามสบตาผู้ชาย - ห้ามหัวเราะในที่สาธารณะ - ห้ามไปโรงเรียน ห้ามไปทำงาน
ฯลฯ
เหอๆ อ่านแล้วถึงกับอึ้ง ... คือ ถ้าห้ามขนาดนี้นี่ ห้ามหายใจไปเลยดีไหม
ช่วงนี้เป็นช่วงที่อ่านแล้วเครียดมากๆ เลยจริงๆ ค่ะ อ่านไปโมโหไป หดหู่ด้วย ช่วงที่ Taliban ปกครองนี่โหดสุดๆ ยิ่งเป็นผู้หญิงยิ่งแย่ค่ะ ถูกตัดสิทธิไปหมด กระทั่งโรงพยาบาล ผู้หญิงก็จะถูกบังคับให้ไปเข้าโรงพยาบาลสำหรับผู้หญิง ซึ่ง...ไม่มีอะไรเลยค่ะ ไม่มีน้ำเกลือ ไม่มียา แทบจะว่างเปล่า
การผ่าตัดทำกันสดๆ แบบไม่มีการวางยา เพราะ...ไม่มียาสลบ
สงสัยจริงๆ เลยว่า ถ้าเป็นลูกสาวของพวก Taliban นี่ จะทำยังไง ถูกปฏิบัติแบบนี้จริงๆ หรือ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่สงสารกันบ้างหรือยังไง ((เข้ามาแก้ค่ะ ตอนแรกบอกว่า ถ้าเป็น แม่ พี่สาว น้องสาว แต่ถ้าจำไม่ผิด พวก Taliban นี่รวมกลุ่มมาจากเด็กกำพร้าหรือไงเนี่ยอะค่ะ ก็ไม่มีแม่สินะ เหอๆ)) จิตใจทำด้วยอะไรก็ไม่รู้ เฮ่อ
อ่านแล้วรู้สึกโชคดีมากๆ ที่ไม่ได้เกิดเป็นผู้หญิงอัฟกานิสถาน
Mariam และ Laila ถูกกดขี่มากๆ ค่ะ งือ
-4-
ช่วงนี้เป็นช่วงท้ายๆ แล้วค่ะ Taliban ล่มสลาย และอัฟกานิสถานก็เริ่มต้นสร้างประเทศกันใหม่
สปอยล์แหลก
Mariam ฆ่า Rasheed ที่ชอบทุบตีพวกตน และกำลังจะฆ่า Laila เพราะ Tariq กลับมา ((เขาจ้างคนไปหลอก Laila ว่า Tariq ตายแล้ว เพื่อหลอกให้เธอแต่งงานกับเขา)) และรู้ความจริงว่า Aziza...ลูกสาวคนแรกของ Laila แท้จริงแล้วเป็นลูกของ Tariq
Mariam ถูกตัดสินประหารชีวิต ... Mariam Tariq และเด็กๆ ... Aziza และ Zaimal อพยพไปปากีสถาน
เมื่อ Taliban ถูกทำลาย ทั้งหมดก็กลับมาที่ Kabul เพราะต้องการช่วยสร้างประเทศขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
ถือว่าจบดีสำหรับไอซ์นะคะ ... ตอนอ่านถึงกลางๆ เรื่องนี้ นึกในใจว่า ถ้าจบไม่แฮปปี้จะโกรธคนเขียนจริงๆ ด้วย รันทดเสียขนาดนั้น ขอจบดีๆ หน่อยเถอะ ไม่งั้นหัวใจคนอ่านรับไม่ไหวแน่ๆ
....
บอกได้คำเดียวว่าหนังสือเล่มนี้สุดยอดจริงๆ ค่ะ ไม่แปลกใจเลยที่ได้รับคำชมมากมาย ภาษาเรียบง่ายแต่ลื่นไหลและเห็นภาพได้ชัดเจน ตัวละครมีมิติ อ่านแล้วอินไปกับตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความเศร้า ความเจ็บปวด ความเจ็บแค้น ... หลายๆ ตอนอ่านแล้วบีบหัวใจจนน้ำตาคลอ
พอดีว่าเมื่อเดือน เม.ย. ได้ไปอิหร่าน อ่านบางช่วงแล้วก็ยิ่งอินนะคะ ตัวละครบางตัวพูดภาษา Farsi ((ชายแดนของสองประเทศติดกันค่ะ)) มีการพูดถึงกวี Hafez ที่ไอซ์ได้ไปเยี่ยมชมสุสานของท่านที่อิหร่านด้วย
สรุปว่าแนะนำค่ะ แนะนำจริงๆ ... อ่านแล้ววางแทบไม่ลงเลย ติดตามทุกตัวอักษร อ่านจบในสองวันค่ะ
ก็ไม่รู้ว่าเล่มนี้มีการแปลแล้วหรือยัง หรือว่าจะมีการแปลหรือเปล่า แต่เล่ม The Kite Runner เล่มแรกของนักเขียนคนเดียวกันนี้ก็ได้รับการแปลแล้วนะคะ ผู้แปลก็ไม่ใช่ใครที่ไหน พี่นัฐ ... ผาด พาสิกรณ์ ลูกชายของคุณลุงพนมเทียนนั่นเองค่ะ ก็หวังว่าเล่มนี้จะได้รับการแปลนะคะ
ช่วงนี้ดูเหมือนว่าไอซ์จะอ่านหนังสือเร็วมาก เป็นเพราะเซ็งๆ น่ะค่ะ ไม่ค่อยอยากพูดคุยอะไรเท่าไหร่ ถ้ามีเวลาว่างให้ฟุ้งซ่านก็อ่านแต่หนังสือ ^^"
Create Date : 27 พฤษภาคม 2551 |
|
10 comments |
Last Update : 28 พฤษภาคม 2551 7:35:39 น. |
Counter : 8570 Pageviews. |
|
|
|