การใช้ยาสำหรับประชาชน
การใช้ยาสำหรับประชาชน
หลักทั่วไปในการใช้ยาสำหรับประชาชน
1. ไม่ควรใช้ยาใดๆ โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
2. อ่านวิธีใช้ยาบนฉลากยาให้เข้าใจก่อนใช้ทุกครั้ง
3. ใช้ยาตามขนาด วิธี และกำหนดระยะเวลา ตามที่แพทย์สั่ง
4. ทุกครั้งก่อนเข้ารับการรักษา ควรแจ้งข้อมูลเหล่านี้แก่แพทย์ผู้ตรวจรักษาทราบเสมอ
4.1 ประวัติการแพ้ยา, หรืออาการไม่สบายเมื่อได้รับยาชนิดใด
4.2 โรคที่เคยเป็น หรือยังเป็นอยู่
4.3 ยาที่กำลังใช้อยู่ รวมถึงอาหารพิเศษใดๆ ที่กำลังรับประทานอยู่
4.4 การตั้งครรภ์ และการให้นมบุตร
4.5 กำลังจะเข้ารับการรักษาฟัน หรือผ่าตัด
5. หากมีอาการผิดปกติระหว่างใช้ยา เช่น มีผื่นคัน, แดง, หน้าบวม, คลื่นไส้, อาเจียน, ท้องเดิน, หรือหายใจลำบาก ควรกลับมาพบแพทย์ทันทีพร้อมกับนำยาที่ใช้นั้นมาด้วย และถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าเนื่องมาจากการแพ้ยาจริง ควรจำชื่อยานั้นไว้
6. ตู้เก็บยาควรเก็บในที่ซึ่งพ้นแสงสว่าง ความร้อน ความชื้น และต้องพ้นจากมือเด็กด้วย
7. ไม่ควรใช้ยาที่เสื่อมสภาพ เช่น เม็ดแตก บวม สี กลิ่น รสเปลี่ยน และไม่ใช้ยาที่หมดอายุแล้ว
8. ไม่ควรใช้ยาที่เหลือจากผู้อื่น แม้จะมีอาการคล้ายกัน
9. หากมีปัญหาใดๆ เกี่ยวกับยา ควรกลับมาปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
คำแนะนำพิเศษในการใช้ยา
1. “รับประทานทุกวันจนยาหมด” เพื่อให้การรักษาได้ผลดียาบางประเภทต้องรับประทานติดต่อกันเป็น ระยะเวลานาน หรือครบจำนวนที่แพทย์สั่ง แม้ว่าอาการของโรคจะทุเลาลง หรือไม่มีอาการแล้วก็ตามยารักษาโรคติดเชื้อ เช่น เพนนิซิลลิน วี เตตร้าซัยคลิน ถ้าหากรับประทานไม่ครบกำหนดเวลา จะทำให้การรักษาไม่ได้ผลและอาจเกิดการดื้อยาขึ้นได้ ยาพวกสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซโลน ซึ่งใช้รักษาโรคเรื้อรังบางชนิด ต้องรับประทานเป็นเวลานาน ผู้ป่วยหยุดยาเองไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะอาการของโรคอาจกำเริบหรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
2. “ก่อนอาหาร” อาหารอาจลดการดูดซึมหรือยับยั้ง ทำให้ยาบางชนิดออกฤทธิ์น้อยลง เช่น เพนนิซิลลิน จึงควรรับประทานก่อนอาหาร 1 ชม. หรือยาบางชนิด ที่ต้องการให้ออกฤทธิ์ก่อนอาหารเพื่อผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ดอมเพอริโดน, ซิซาไพรด์ ควรรับประทานก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง
3. “หลังอาหาร” โดยทั่วไปควรรับประทานยาหลังอาหารราว 15 นาที ยกเว้นถ้ามีคำสั่งให้รับประทานหลังอาหาร 2 ชม. หรือตามคำแนะนำอื่น
4. “หลังอาหารทันที” “พร้อมอาหาร” ยาที่มักทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร อาจคลื่นไส้อาเจียนได้ จึงควรรับประทานยาทันทีที่รับประทานอาหาร แล้วหรือพร้อมอาหารเพื่อลดปัญหาดังกล่าว ได้แก่ ยาแอสไพริน เพรดนิโซโลน ฯลฯ
5. “เฉพาะเวลามีอาการ....” ยาที่ใช้บรรเทาอาการต่างๆ เช่น ยาลดไข้ แก้ปวด แก้ท้องเสีย แพทย์อาจสั่งให้รับประทานเป็นช่วงๆ เช่น ทุก 4 ชม. เฉพาะเวลามีอาการ เมื่ออาการทุเลาลงจึงหยุดยาได้
6. “ควรดื่มน้ำตามมากๆ” ยาพวกซัลฟาซึ่งละลายได้น้อย อาจตกตะกอนในไต หรือยาถ่ายที่ทำให้อุจจาระเกาะตัวเป็นก้อน หรือยาถ่ายที่ทำให้อุจจาระนิ่ม ควรดื่มน้ำตามมากๆ
7. “เคี้ยวยาให้ละลายก่อนกลืน” ยาลดกรดชนิดเม็ดหรือยาบางชนิดต้องเคี้ยวก่อน เพื่อให้ยากระจายได้ทั่วกระเพาะอาหาร และออกฤทธิ์ดีขึ้น
8. “ห้ามเคี้ยว” ยาที่เคลือบแบบพิเศษไม่ต้องการให้แตกตัวที่กระเพาะอาหาร หรือเพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ต้องกลืนทั้งเม็ด
9. “รับประทานยานี้แล้วห้ามดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์” ยาพวกสงบระงับประสาท ยานอนหลับ ยาแก้ปวด และยากดประสาทต่างๆ ตลอดจนยาแก้แพ้ จะเสริมฤทธิ์แอลกอฮอล์ ทำให้เกิดอันตรายได้
10. “อย่ารับประทานยานี้ร่วมกับยาลดกรด, นม หรือยาบำรุงที่ผสมเกลือแร่” ยาบางชนิด เช่น เตตร้าชัยคลิน เมื่อรับประทานร่วมกับ นม ยาลดกรด หรือ ยาบำรุงที่มีส่วนผสมเกลือแร่ จะมีผลต่อการดูดซึมยาอาจทำ ให้ผลการรักษาของยานั้นๆลดลง
11. “รับประทานยานี้แล้วอาจง่วงนอน ควรระวังเมื่อขับรถ หรือใช้เครื่องจักร” ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ และยาอื่นๆ ที่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วงนอน หรือมึนงง ผู้ใช้ควรระวังในการขับรถ หรือใช้เครื่องจักร
12. “รับประทานยานี้แล้วปัสสาวะอาจมีสีแดง” ยาพวกไรแฟมพิซิน ทำให้ปัสสาวะเป็นสีแดง ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเลือดไม่ต้องตกใจเพราะเป็นสีจากยา
13 “เก็บในตู้เย็น” โดยทั่วไปหมายถึง การเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ควรเก็บในตู้เย็น (แต่ไม่ต้องใส่ช่องทำน้ำแข็ง) หรือเก็บในกระติกน้ำแข็งตลอดเวลา เช่น ยาอินซูลิน, วัคซีน
ข้อมูลจาก
การใช้ยาสำหรับประชาชน รพ.จุฬาลงการณ์ สภากาชาดไทย
Create Date : 03 สิงหาคม 2554 |
Last Update : 3 สิงหาคม 2554 3:42:18 น. |
|
3 comments
|
Counter : 1667 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: ข้ามขอบฟ้า วันที่: 3 สิงหาคม 2554 เวลา:5:30:55 น. |
|
|
|
โดย: new pek วันที่: 3 สิงหาคม 2554 เวลา:5:35:21 น. |
|
|
|
|
|
|
|
ขอบคุณค่ะพี่น้อย