Group Blog
 
<<
มีนาคม 2567
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
17 มีนาคม 2567
 
All Blogs
 

ใจเป็นตัววัดผล

               

             ใจเป็นตัววัดผลของการปฏิบัติ จะได้ผลมากน้อย อยู่ที่ใจนิ่งมากหรือนิ่งน้อย ถ้านิ่งมากก็ได้ผลมาก ถ้านิ่งน้อยก็ได้ผลน้อย ความจริงไม่มีอะไรที่ใจจะต้องตื่นเต้น ใจไปหลงเอง สิ่งต่างๆไม่มีความหมาย แต่ใจไปให้ความหมายเอง ว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ พอเปลี่ยนแปลงไป หรือสูญหายไป ใจก็หวั่นไหววุ่นวาย เพราะขาดธรรมะ แสงสว่าง ที่จะสอนใจให้รู้ทันความจริงทั้งหลายว่าเป็นไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์นี่แหละเป็นปัญญาทางพระพุทธศาสนา ไม่ต้องศึกษากว้างขวาง ศึกษาไตรลักษณ์นี้ก็พอ เวลามองอะไรให้มองว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์  ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเห็นได้อย่างปัจจุบันทันด่วน ใจก็จะไม่โลภไม่โกรธไม่หลง เพราะมีปัญญาคอยคุมไว้ จะสักแต่ว่า  ได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่เป็นสรรเสริญเป็นนินทา เห็นรูปก็สักแต่ว่ารูป ไม่เป็นมนุษย์เป็นเดรัจฉาน เป็นหญิงเป็นชาย แต่เป็นอาการ ๓๒ ผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกฯ เห็นว่าไม่เที่ยง เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เป็นอนัตตา การเห็นธาตุ ๔ เป็นการเห็นอนัตตา การเห็นความแก่ความเจ็บความตายเป็นการเห็นอนิจจัง การเห็นความทุกข์ที่ตามมากับการไปหลงยึดติด กับสิ่งที่เป็นอนิจจังและอนัตตา เป็นการเห็นทุกขัง
 
ถ้าเห็นธาตุขันธ์คือร่างกายเป็นตัวเราของเรา ไม่เห็นว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ แสดงว่าไม่เห็นอนัตตา ถ้าไม่เห็นว่าร่างกายจะต้องแก่จะต้องเจ็บจะต้องตายเป็นธรรมดา ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา เวลาจะตายก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะความหลงที่ไปยึดไปติดว่าเป็นตัวเราของเรา และตัณหาความอยาก ที่อยากให้อยู่ไปนานๆ ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เพราะไม่เห็นอนิจจัง ไม่เห็นอนัตตา นี่คือปัญญาทางพระพุทธศาสนา ต้องเจริญอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ ให้เจริญมรณานุสติทุกลมหายใจเข้าออก ถึงจะเป็นภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่ใช้ประโยชน์ได้ คือควบคุมจิตให้นิ่งเป็นปกติ ไม่หวั่นไหวไม่หวาดกลัว กับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ เช่นร่างกายเป็นต้น การพิจารณาอย่างต่อเนื่อง เป็นการเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงแต่ว่ารู้แล้วก็พอ รู้ว่าแก่รู้ว่าต้องเจ็บต้องตายแล้ว ก็บอกว่าพอแล้ว แต่พอไปเจอของจริง เจอเหตุการณ์ที่ท้าทายกับความตายใจก็หวั่นไหว อย่างนี้แสดงว่าไม่พอ ถ้าพอแล้วจะต้องเฉย จะไม่รู้สึกอะไร
 
ปัญญาทางศาสนาจึงต่างกับปัญญาทางโลก ปัญญาทางโลกส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บนความจำ เวลาเรียนหนังสือก่อนที่จะสอบ ก็ท่องจำเอาไว้ พอเข้าห้องสอบตอบคำถามต่างๆได้ก็ผ่าน พออีก ๖ เดือนถามว่าเรียนรู้อะไรมาบ้าง บางทีจำไม่ได้เลย เพราะเป็นเพียงความจำ ต้องเปิดตำราดูก่อน อย่างแพทย์นี้ เวลาเรียนจบมาใหม่ๆไปปฏิบัติไปรักษาโรค บางทีต้องเปิดหนังสือดู ถ้าไม่มีหมออาวุโสคอยให้คำแนะนำ เพราะยังขาดการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ถ้าได้ทำอย่างต่อเนื่อง เช่นตรวจคนไข้ทุกวัน พบโรคต่างๆอยู่ทุกวัน พอเห็นอาการก็รู้ว่าเป็นโรคอะไร ต้องใช้ยาอะไรรักษา ถ้าไปเจอโรคที่นานๆโผล่มาสักครั้งหนึ่ง ก็ต้องไปเปิดตำราดูวิธีรักษา เคยไปหาหมอตอนเป็นงูสวัด หมอเพิ่งจบมาใหม่ๆ ไม่รู้วิธีเพาะเชื้อเพื่อเอาไปตรวจ ต้องเปิดตำราดูก่อน ปัญญาทางโลกส่วนใหญ่เป็นความจำ จะเป็นความจริงเมื่อนำมาใช้ในการปฏิบัติ จะไม่เกี่ยวกับการรักษาใจให้สงบ ให้อยู่เป็นปกติสุข เป็นเพียงการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลภายนอกใจ เช่นรักษาร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับใจ เพราะรักษาแต่ร่างกาย
 
ถ้าร่างกายของหมอเองไม่สบาย จะมีผลกระทบกับใจของหมอ ใจจะมีความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์เพราะความเจ็บปวดของร่างกาย ทุกข์เพราะอยากจะให้หาย ทุกข์เพราะความกลัว กลัวว่าจะรักษาไม่หาย กลัวว่าจะต้องตาย เป็นผลกระทบทางจิตใจ วิชาความรู้ทางโลกจะไม่สามารถรักษาความทุกข์ทางใจได้ เป็นหมอยังกลัวตาย กลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย กลัวจะรักษาไม่หาย เพราะวิชาทางโลกไม่ได้ดูแลรักษาใจให้เป็นปกติสุข มีวิชาทางธรรมเท่านั้น ที่ดูแลรักษาใจโดยตรง ถ้าไม่ได้ศึกษาปฏิบัติธรรม ใจจะไม่มั่นคง จะอ่อนไหวตื่นเต้นหวาดกลัว ไปกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ใจไปสัมผัสรับรู้ มีญาติโยมที่ใส่บาตรคนหนึ่งทำใจไม่ได้ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เห็นคนถูกยิงตายหน้าตาก็ซึมเศร้า บ่นว่าทำไมต้องยิงกันต้องฆ่ากัน เพราะไม่มีธรรมะ ไม่มีปัญญาที่เห็นว่าเป็นเรื่องปกติของโลก มีความเจริญมีความเสื่อม มีความสงบมีความวุ่นวายสลับกันไป เป็นอย่างนี้ทุกยุคทุกสมัย ก่อนที่พระพุทธเจ้าทรงมาตรัสรู้สอนธรรมก็มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น สมัยพระพุทธกาลก็มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น สมัยพวกเราก็มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น หลังจากพวกเราจากโลกนี้ไปแล้ว ก็จะมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น เป็นปกติของโลก ถ้ามีปัญญาก็จะไม่รู้สึกอะไร จะรู้สึกเฉยๆ สักแต่ว่ารู้ ถ้าไม่มีปัญญาก็จะวิตกวุ่นวายใจทุกข์ใจ เพราะใจมีความอยากให้เหตุการณ์เป็นตามต้องการ พอไม่เป็นดังที่ใจต้องการก็วุ่นวายใจ ความไม่สบายอกไม่สบายใจ ความทุกข์ใจ ความกังวลใจ ความเดือดร้อนต่างๆของใจ เกิดจากการขาดปัญญาสมาธิและสติ เพราะต้องมีทั้ง ๓ ส่วนนี้
 
ปัญญาจะมีขึ้นมาเองโดยลำพังไม่ได้ ปัญญาต้องมีสมาธิสนับสนุน สมาธิก็ต้องมีสติสนับสนุน สติจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด เจริญสติเพื่อทำจิตให้สงบนิ่ง พอจิตออกมาจากความนิ่ง ก็ต้องมีปัญญาคอยรักษาความนิ่งต่อไป เพราะอยู่ในสมาธิทั้งวันทั้งคืนไม่ได้ เพราะชีวิตบังคับให้ออกมาทำมาหากิน หาปัจจัย ๔ ดูแลรักษาร่างกาย ในขณะที่ออกมาก็ต้องรับรู้กับเหตุการณ์ต่างๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกาย จึงต้องมีปัญญาคอยประกบอยู่ตลอดเวลา ต้องมีปัญญาคอยสอนใจ ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน เป็นการรวมตัวของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่สามารถไปควบคุมบังคับ ให้เป็นไปตามที่ใจต้องการเสมอไป บางเวลาก็บังคับได้ บางเวลาก็บังคับไม่ได้ ต้องยอมรับความจริง ถ้าบังคับได้ก็บังคับไป ถ้าบังคับไม่ได้ก็ต้องปล่อยเขาไป เช่นร่างกายบางเวลาเราก็บังคับได้ ให้หายใจได้ ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วยได้ แต่บางเวลาก็บังคับไม่ได้ บางเวลาก็เจ็บไข้ได้ป่วย บางเวลาก็หยุดหายใจ แต่ใจไม่ควรวุ่นวายไปกับเขา ถ้ามีปัญญาจะรู้ว่าเขาไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา รู้ว่าบังคับเขาไม่ได้ เขาจะเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับความจริง
 
ร่างกายนี้ไม่ใช่ร่างกายแรกที่เราได้มาและจะสูญเสียไป เราเคยได้ร่างกายมานับไม่ถ้วนแล้ว ถ้าเป็นเงินก็เป็นมหาเศรษฐีแล้ว เป็นร้อยล้านพันล้าน ทำไมจะเสียร่างกายนี้ไปไม่ได้ ทำไมต้องวุ่นวายใจ เพราะไม่เคยสอนใจให้ปล่อยวาง ไม่สอนความจริงของร่างกาย ว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เพื่อเตรียมรับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ถ้าพร้อมแล้วก็จะไม่เป็นปัญหา จะเห็นร่างกายเป็นเหมือนร่างกายของคนอื่น ร่างกายของคนอื่นเป็นอย่างไร ร่างกายนี้ก็เป็นเหมือนกัน มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน มีความแก่ความเจ็บความตายเหมือนกัน จะต้องกลับไปสู่ดินน้ำลมไฟเหมือนกัน ถ้าเห็นคนอื่นตายได้ ทำไมจะเห็นร่างกายเราตายไม่ได้ มันก็เหมือนกัน ถ้าเห็นว่าเหมือนกันก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม ของคนอื่นหรือของเรามันก็เหมือนกัน เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ นี่คือปัญญาที่ต้องสอนใจเสมอเวลาที่ไม่ได้อยู่ในสมาธิ แต่ต้องเข้าสมาธิสลับกับการออกมา เพราะการเข้าไปในสมาธิเป็นการพักผ่อน เหมือนกับร่างกาย ต้องมีเวลาพักผ่อนหลับนอน พอตื่นขึ้นมามีกำลังวังชาก็ไปทำงานต่อ พอเมื่อยล้าก็กลับมาพักผ่อน กลับมาบ้าน มารับประทานอาหาร อาบน้ำอาบท่าหลับนอน เพื่อจะได้ออกไปทำงานต่อในวันรุ่งขึ้น จิตก็ต้องเข้าไปในสมาธิเพื่อพักจิต เสริมกำลังให้กับจิต พอจิตพักเต็มที่มีกำลังแล้วก็ออกมา ก็ต้องควบคุมจิตให้คิดอยู่ในกรอบของไตรลักษณ์เสมอ
 
คิดเรื่องอะไรก็ต้องมีไตรลักษณ์เข้าไปเป็นส่วนผสมเสมอ เหมือนกับการปรุงอาหาร ไม่ว่าอาหารชนิดใดก็ต้องมีเกลือมีน้ำปลาเสมอ ถ้าไม่อย่างนั้นจะมีรสชาติที่จืดชืด ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าขาดปัญญาขาดไตรลักษณ์ ก็จะไม่เป็นปกติสุข จะมีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความเครียด มีแต่ความกังวล มีแต่ความหวาดกลัวตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้เราสามารถกำจัดได้ ด้วยเกลือของไตรลักษณ์นี่เอง ใส่เกลืออนิจจังเข้าไปนิด ใส่ทุกข์ใส่อนัตตาเข้าไปหน่อย ทำอะไรก็คิดว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา งานที่ทำอยู่ทุกวันนี้เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา จะไม่ทำไปตลอด จะต้องหยุดทำ จะหยุดช้าหรือหยุดเร็วเท่านั้นเอง ความสัมพันธ์กับใครก็เหมือนกัน ไม่เป็นความสัมพันธ์ที่ถาวร ต้องมีวันจบ คิดอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ กับสิ่งต่างๆที่ใจไปสัมผัสรับรู้ จะได้ไม่มีอุปาทาน จะรับรู้เฉยๆ แล้วก็ปฏิบัติไปตามเหตุตามผล ต้องปฏิบัติอย่างไรก็ปฏิบัติไป เช่นร่างกายต้องดูแลรักษาก็ดูแลรักษาไป แต่ไม่เดือดร้อนกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย รู้อยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ จะต้องจบอย่างนี้ แต่เราไม่ดูที่ตอนจบกัน เราไม่ชอบ กิเลสไม่ชอบตอนจบ ก็เลยต้องมีความกังวล มีความเครียดตลอดเวลา อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ให้เจริญมรณานุสติ ทรงสอนให้ดูตอนจบของชีวิต ว่ามีวันสิ้นสุด จะได้เตรียมใจรับกับเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น ถ้าไม่ดูตอนจบ ก็จะถูกอำนาจของความหลง สร้างความอยากให้อยู่ไปนานๆ อยากให้ดีไปเรื่อยๆ อยากจะให้เจริญอย่างเดียว ไม่อยากให้เสื่อม ทั้งๆที่เป็นไปไม่ได้ มีเจริญก็ต้องมีเสื่อมเป็นธรรมดา ถ้าเตรียมตัวรับกับสภาพที่จะต้องเกิดขึ้น ก็จะไม่หลงกับการเจริญ จะเตรียมรับกับความเสื่อม ใจจะได้ไม่ทุกข์กับการเสื่อมของสิ่งต่างๆ
 
การพิจารณาไตรลักษณ์นี้ ถ้าจิตไม่สงบจะพิจารณายาก เพราะจะมีกิเลสออกมาต่อต้าน กิเลสไม่ชอบคิดถึงความเสื่อมความตาย พอคิดแล้วจะหดหู่ท้อแท้ ไม่มีกำลังใจจะทำอะไร จะพิจารณาไตรลักษณ์ได้ ใจต้องสงบตั้งมั่นก่อน คนบางคนไม่ได้ปฏิบัติธรรมในชาตินี้ แต่จิตมีความตั้งมั่นมาตั้งแต่ชาติก่อน พอได้อ่านหนังสือธรรมะ ได้ศึกษาเรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็ยินดีที่อยากจะเอาความรู้นี้มาสอนใจ ไม่กลัวความตาย แสดงว่าใจมีสมาธิ มีกำลังพอที่จะไม่ให้กิเลส สร้างความหวาดกลัวท้อแท้เศร้าสร้อยหงอยเหงา ถ้าไม่มีสมาธิพอได้ยินได้ฟังเรื่องความตาย เรื่องความสูญเสียนี้ ใจจะหดหู่เศร้าหมอง เพราะไม่มีสมาธิป้องกันไม่ให้อารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ยังไม่สามารถเจริญมรณานุสติได้ ต้องเจริญสมาธิก่อน เจริญสติก่อน ต้องควบคุมใจ ไม่ให้คิดเรื่อยเปื่อย ให้ใจอยู่ภายใต้คำสั่งของเรา ถ้าใจจะคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ต้องบังคับไม่ให้คิด ให้คิดในเรื่องที่จะทำให้ใจสงบ เช่นบริกรรมพุทโธๆไป หรือสวดมนต์ไป สวดอรหังสัมมา สวากขาโต สุปฏิปันโนไป ในขณะที่ทำกิจต่างๆ ให้คิดเรื่องธรรมะหรือสวดมนต์ไปภายในใจ ดีกว่ากังวลกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่เกิดประโยชน์อะไร มีแต่จะทำให้กิเลสมีกำลังมากขึ้น ต้องบังคับไม่ให้คิดเรื่องต่างๆ ที่จะทำให้จิตว้าวุ่นขุ่นมัว ให้คิดในทางธรรมะ พุทโธก็ได้ สวดมนต์ก็ได้ อาการ ๓๒ ก็ได้ ท่องไปก่อน ร่างกายมีอะไรบ้าง มีผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกฯ ขึ้นอยู่กับกำลังของสมาธิ ถ้ายังพิจารณาไม่ได้ก็อย่าเพิ่งพิจารณา บริกรรมพุทโธไปก่อน หรือสวดมนต์ไปภายในใจก่อน เหมือนท่องสูตรคูณ ท่องไปเรื่อยๆ ถ้าใจท่องบทสวดมนต์ ก็จะไม่ไปคิดเรื่องอื่น ใจก็จะสงบตั้งมั่นและรวมลงเป็นหนึ่งได้
 
เวลาไม่ได้ทำอะไรก็หามุมสงบ นั่งขัดสมาธิตั้งตัวให้ตรงบริกรรมพุทโธๆไป หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออกไป ถ้ามีสติก็จะอยู่กับลมหายใจอยู่กับพุทโธอย่างต่อเนื่อง แล้วก็จะรวมลงเข้าสู่ความสงบ เป็นเอกัคตารมณ์ สักแต่ว่ารู้ การรวมนี้รวมได้ ๒ ลักษณะคือ รวมแบบฮวบฮาบเหมือนตกหลุมตกบ่อ ร่างกายหายไปแล้วก็นิ่งสบาย เบาอกเบาใจ ไม่รับรู้กับเรื่องอะไรทั้งนั้น หรือจะเป็นแบบที่ค่อยๆสงบลงไปทีละเล็กทีละน้อย เหมือนรถที่ค่อยๆชะลอตัวลงแล้วหยุดไปในที่สุด สงบนิ่งแต่ร่างกายไม่หาย เสียงอะไรต่างๆก็ยังได้ยิน แต่ใจไม่สนใจ ใจรับรู้แต่ไม่มีอารมณ์กับเสียงที่ได้ยิน หรือกับอาการของร่างกาย จะเจ็บตรงนั้นหรือจะปวดตรงนี้ ก็รู้ว่าเจ็บรู้ว่าปวด แต่ไม่รบกวนใจ อย่างนี้ก็เป็นการรวมเหมือนกัน เวลารวมก็ควรให้รวมไปนานๆเท่าที่จะรวมได้ บางคนมีจริตที่ผาดโผน พอสงบแล้วไม่นิ่งไม่อยู่กับที่ จะออกไปรับรู้เรื่องต่างๆ เหมือนกับฝัน ไปที่นั่นไปที่นี่ ไปเห็นสิ่งนั้นเห็นสิ่งนี้ ตอนต้นนี้อย่าปล่อยให้ไป ควรดึงกลับมาที่ฐานของความสงบ สักแต่ว่ารู้ ถ้าออกไปรับรู้แล้วจิตจะไม่ได้พักผ่อน เหมือนกับไม่ได้ทำสมาธิ พอออกจากสมาธิกิเลสจะออกมาทำงานทันที ไม่สามารถเจริญปัญญาได้ เพราะจะถูกกิเลสฉุดลากความคิดไปในทางกิเลส ไปคิดทางโลภทางโกรธทางหลง ทางลาภยศสรรเสริญสุข
 
เพราะฉะนั้นเวลาทำสมาธิต้องให้นิ่ง ถึงแม้จะเป็นธรรมชาติของจิตที่จะไปรับรู้เรื่องต่างๆ ก็ต้องระงับไว้ก่อนในระยะแรกนี้ ระยะที่เริ่มปฏิบัตินี้ต้องการพักจิต ต้องการให้จิตนิ่ง ให้มีความแน่นหนามั่นคง ไม่หวั่นไหวไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา เพื่อจะได้นำจิตที่มีความหนักแน่นนี้มาพิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา เพื่อจะได้ปล่อยวางเพื่อจะได้หลุดพ้น จากอำนาจของความโลภความโกรธความหลง พอจิตหลุดพ้นจากเรื่องต่างๆของกิเลสตัณหาได้แล้ว ถ้าอยากออกไปเที่ยวตามธรรมชาติของจิตก็ออกไปได้ อยากจะไปสวรรค์ อยากจะไปสัมผัสรับรู้ กับกายทิพย์ชนิดต่างๆก็ไปได้ เพราะทำงานเสร็จแล้ว เรียนหนังสือจบแล้ว ไม่ต้องทำงานแล้ว จะไปเที่ยวทั้งวันทั้งคืนก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะกิจที่ต้องทำคือการชำระความโลภความโกรธความหลง ได้ทำสำเร็จลุล่วงไปแล้ว จะทำอะไรก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เหมือนนักเรียนนักศึกษาที่ต้องไปเรียนหนังสือก่อน ยังหนีเที่ยวไม่ได้ ถ้าหนีเที่ยวแล้วจะเรียนไม่จบ นักภาวนาก็เช่นเดียวกัน ถ้าเข้าสมาธิแล้วหนีเที่ยว ออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ก็เหมือนหนีโรงเรียน จะไม่มีทางที่จะเจริญปัญญาได้
 
ถ้าไม่มีปัญญาก็จะไม่สามารถตัดกิเลสได้ ไม่สามารถทำนิโรธให้แจ้งได้ คือการดับทุกข์ ต้องมีปัญญา เพราะปัญญาเป็นมรรค มรรคเจริญให้มาก เจริญเพื่ออะไร เจริญเพื่อละสมุทัย ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ พอละสมุทัยได้ด้วยมรรคแล้ว นิโรธก็จะปรากฏขึ้นมา ทุกข์ก็จะดับไป ทุกข์กับนิโรธนี้เป็นเหมือนเหรียญ ๒ ด้าน ถ้าทุกข์อยู่ด้านบนนิโรธก็อยู่ด้านล่าง ถ้าทุกข์ปรากฏขึ้นนิโรธก็ปรากฏไม่ได้ ถ้านิโรธปรากฏขึ้นทุกข์ก็ปรากฏไม่ได้ เหมือนหัวก้อย ถ้าเหรียญหงายด้านหัวขึ้นมา ด้านก้อยก็หงายขึ้นมาไม่ได้ เพราะต้องอยู่ด้านล่าง ทุกข์กับนิโรธเป็นเหมือนหัวก้อย เป็นคนละด้านกัน ส่วนสมุทัยกับมรรคก็เช่นเดียวกัน เป็นเหรียญคนละด้าน ถ้าไม่มีมรรคไม่มีไตรลักษณ์ ก็จะเกิดสมุทัยเกิดตัณหาต่างๆขึ้นมา เกิดความวิตกเกิดความเครียดเกิดความกังวลขึ้นมา เพราะความอยากต่างๆจะทำให้เกิดความเครียดขึ้นมา เกิดความทุกข์ขึ้นมา อยากจะให้บ้านเมืองสงบ อยากจะให้บ้านเมืองปลอดภัย พอไม่สงบไม่ปลอดภัยก็เกิดความเครียดขึ้นมา ถ้ามีมรรคมีปัญญาว่าเป็นไตรลักษณ์ มีความสงบสลับกับความไม่สงบ เจริญสลับกับเสื่อม ไม่มีอะไรไม่เสื่อม ถ้ามีการเจริญก็ต้องมีการเสื่อม ถ้าไม่อยากจะเสื่อมก็ไม่ต้องเจริญ ถ้าไม่อยากตายก็ไม่ต้องเกิด นี่คือการทำงานของอริยสัจ ๔ ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค อยู่ที่การเจริญปัญญาเจริญมรรค การเจริญปัญญาก็ต้องเจริญสมาธิก่อน ต้องเจริญสติก่อนถึงจะได้สมาธิ พอได้สมาธิก็มาเจริญปัญญา พอเจริญปัญญาแล้วก็ต้องกลับเข้ามาพักในสมาธิ เหมือนเวลาใช้มีด ถ้าใช้ไปมากๆก็จะทื่อ ต้องหยุดลับมีดก่อน คนที่ใช้มีดก็ต้องพัก รับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หลับนอนก่อน พอมีกำลังแล้ว ลับมีดให้คมแล้ว ก็กลับมาใช้มีดต่อ
 
พอปัญญาใช้ไปเรื่อยๆ พิจารณาไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดอาการเมื่อยล้าขึ้นมาหรือทื่อขึ้นมา จะไม่สามารถตัดกิเลสได้ จะไม่สามารถปลงได้ ก็ต้องหยุดพักแล้วกลับเข้าไปพักในสมาธิ พอมีกำลังแล้วก็ออกมาพิจารณาใหม่ ปัญหาที่ยังตัดไม่ได้ก็จะตัดได้ พอหมดปัญหานี้แล้วก็ไปแก้ปัญหาใหม่ต่อ ปัญหาที่ใจไปวุ่นวายไปเกี่ยวข้องด้วย ต้องตามไปตัดให้หมด ตอนต้นก็จะตัดภายนอกก่อน ตัดปัญหาทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ บุคคลหรือวัตถุต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ พอตัดได้หมดแล้วก็เข้ามาตัดส่วนที่ใกล้ใจ ก็คือขันธ์ ๕ เริ่มต้นที่ร่างกาย พิจารณาความแก่ความเจ็บความตายของร่างกาย พิจารณาอสุภะความไม่สวยไม่งาม พิจารณาปฏิกูลความสกปรกของร่างกาย เพื่อจะได้ตัดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ตัดกามราคะ พอตัดได้แล้วก็เข้ามาตัดเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ พิจารณาให้เห็นว่าเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เป็นเพียงสภาวธรรมที่เกิดดับเกิดดับภายในใจ เช่นความคิดของเรา พอคิดปั๊บก็หายไป เหมือนกับโยนหินลงไปในน้ำ น้ำก็กระเพื่อม สักครู่ก็นิ่ง พอโยนก้อนใหม่ก็กระเพื่อมขึ้นมาใหม่ ความคิดของเราก็เป็นอย่างนี้ พอคิดขึ้นมาจิตก็กระเพื่อมขึ้นมา แล้วก็หายไป เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็จะเป็นอย่างนี้ จะเกิดดับเกิดดับเหมือนแสงหิ่งห้อย
 
ถ้ารู้ทันก็จะไม่หลงตาม ก็จะไม่เป็นปัญหาอะไร รู้ว่าเป็นเพียงความคิด เป็นเพียงสภาวธรรมที่เกิดดับเกิดดับ รู้ว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่มีสาระความหมายอะไร เราไปให้ความหมายเอง แล้วไปหลงติดอยู่กับความหมายนั้น คิดว่านั่นดีคิดว่านี่ดีเป็นต้น คิดว่านั่นเป็นเราเป็นของเรา ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นตามที่เราคิด แต่เราไปหลงยึดติดความคิด เช่นคิดว่าร่างกายเป็นเราเป็นของเรา เวทนาเป็นเราเป็นของเรา ความจริงเป็นเพียงสภาวธรรมที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ถ้าปล่อยวางได้ก็จะไม่รบกวนเรา จะมีอาการเจ็บอย่างไรก็จะไม่รบกวนใจ เพราะใจไม่ได้ไปเจ็บด้วย ใจไม่ได้ไปให้ความหมายว่าดีหรือไม่ดี ถ้าไม่ได้ให้ความหมายว่าดีหรือไม่ดี ก็จะไม่เกิดความอยากให้อยู่หรือไป จะอยู่ก็อยู่ไป จะไปก็ไป ถ้าให้ความหมายว่าดี เวลาหายไปก็เสียใจ พอสุขเวทนาหมดไปก็รู้สึกว้าเหว่เศร้าสร้อยหงอยเหงา พอทุกขเวทนาเกิดขึ้น ก็เกิดความรังเกียจ เกิดความกลัวขึ้นมา เพราะไปให้ความหมายว่าดีหรือไม่ดี สุขหรือไม่สุข ทุกข์หรือไม่ทุกข์ ความจริงมันไม่ได้ว่ามันสุขหรือมันทุกข์ มันก็เป็นของมันอย่างนี้ เหมือนเสียงที่เราได้ยิน มันก็เป็นเสียงอย่างนี้ ถ้าไม่ได้ไปให้ความหมายก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ถ้าไปให้ความหมายว่าเป็นเสียงสรรเสริญ ก็ยิ้มแย้มดีอกดีใจ ถ้าไปให้ความหมายว่านินทา ก็จะไม่สบายใจ
 
จึงต้องดูให้เห็นว่าเป็นเพียงสภาวธรรม ที่เกิดดับเกิดดับภายในใจ อย่าไปให้ความหมาย พิจารณาเพื่อปล่อยวาง ขณะที่พิจารณาก็เป็นเหมือนทำการบ้าน เวลาไปเจอของจริง เวลาไปเจอใครด่าเรา จะได้รู้ว่ามีปัญญาทันหรือไม่ ถ้ามีปัญญาทันก็คิดว่าเป็นเพียงสภาวธรรม เกิดดับเกิดดับ ก็จะไม่เดือดร้อน เวลาเกิดเวทนา อยู่ที่ว่าไปให้สัญญาความหมายอย่างไร ถ้าไปว่าดีก็จะดีใจ ถ้าไปว่าไม่ดีก็จะเสียใจ ถ้าไม่ไปว่าดีหรือไม่ดีก็จะเฉยๆ เป็นสิ่งที่เราต้องสอนใจ ว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่มีความหมายอะไร เราไปให้ความหมายเอง ต้องลบล้างความหมายทั้งหมดให้หมดไป เพราะเป็นสมมุติ สรรเสริญนินทาเรามากน้อยเพียงไร ก็ไม่ได้ทำให้ใจดีขึ้นหรือเลวลง เล็กลงหรือใหญ่ขึ้นแต่อย่างใด ใจก็ยังเท่าเดิม ถ้าฉลาดจะรับได้ทั้ง ๒ อย่าง จะไม่กระทบใจ ใจจะเป็นปกติ เพราะมีมรรคควบคุมไว้ ไม่ให้เกิดสมุทัย ไม่ให้ยินดียินร้าย สมุทัยก็คือความยินดียินร้ายนี่เอง ภวตัณหา วิภวตัณหา ภวตัณหาคือความยินดี วิภวตัณหาคือความยินร้าย ต้องใช้ปัญญากำจัดคือความยินดียินร้ายต่างๆ อย่าไปเห็นว่าดีหรือไม่ดี ให้เห็นว่าสักแต่ว่าเท่านั้น แล้วใจจะเป็นปกติ ไม่วุ่นวายไปกับเรื่องราวต่างๆ นี่คือปัญญาที่เราจะต้องเจริญ จากส่วนหยาบเข้ามาสู่ส่วนละเอียด
 
ภายนอกเป็นส่วนหยาบ เช่นรูปเสียงกลิ่นรส รูปร่างหน้าตาของคน ต้องตัดไปก่อน แล้วก็เข้ามาส่วนภายในที่ละเอียด คือเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ แล้วก็เข้าไปภายในจิตซึ่งเป็นขั้นที่ละเอียดที่สุด เป็นเหมือนกำแพงที่จะต้องเจาะทะลุไปทีละกำแพง ข้ามขั้นตอนไม่ได้ มี ๓ กำแพง กำแพงนอกมี ๑ กำแพงในมี ๒ คือนามขันธ์และจิต กำแพงนอกคือรูปเสียงกลิ่นรสและร่างกาย กำแพงในคือนามขันธ์และจิต จิตยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะยังมีสมมุติ มีความสำคัญมั่นหมาย ว่าสภาวะอย่างนี้ดี สภาวะอย่างนี้ไม่ดี นี่คือสุขนี่คือทุกข์ ต้องพิจารณาว่าเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นแล้วดับไป อย่าไปยึดไปติด อย่าไปอยาก อย่าไปยินดียินร้าย พอปล่อยวางแล้วก็จะไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ ถ้ารู้ทันแล้วก็จะไม่สร้างสภาวะเหล่านี้ขึ้นมา จะไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ มีแต่ใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ทั้งหมดนี้ต้องใช้ปัญญาเป็นตัวจัดการ ส่วนสมาธิเป็นตัวสนับสนุน สติเป็นตัวผลักดัน ที่จะทำให้เกิดสมาธิและเกิดปัญญา ดังนั้นในชีวิตประจำวันเราต้องเจริญสติอยู่ตลอดเวลา ควบคุมใจอยู่ตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้ใจคิดไปเรื่อยเปื่อย ต้องดึงให้ตั้งมั่น ให้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้คิดเรื่องที่จะทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆ ให้คิดแต่เรื่องที่ทำให้จิตสงบ คิดธรรมะ คิดพุทโธๆ คิดบทสวดมนต์ ถ้ามีสมาธิมากก็คิดเรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตา แล้วใจจะไม่วุ่นวายไม่ทุกข์กับเรื่องราวต่างๆ นี่ก็คือหน้าที่ของเรา งานของเรา เป็นทั้งการบ้านและเป็นทั้งการเข้าห้องสอบ เป็นการบ้านก็คือเวลาที่เราพิจารณาเตรียมรับเหตุการณ์ เป็นการเข้าห้องสอบเวลาไปเจอของจริง จะได้รู้ว่าสอบผ่านหรือไม่ผ่าน
 
พยายามทำไป อย่าหยุด อย่าท้อแท้ อย่ายอมแพ้ ช้าบ้างเร็วบ้าง อยู่ที่ความขยัน ถ้าขยันมากก็เร็ว ขยันน้อยก็ช้า ถ้าฉลาดก็ง่าย ถ้าไม่ฉลาดก็ยาก ถ้าไม่ฉลาดก็ต้องสร้างความฉลาดให้เกิดขึ้น ฟังธรรมให้มาก เข้าหาผู้รู้ให้มาก นำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาสอนใจอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวก็ฉลาด คนเราไม่โง่ไปตลอด ฉลาดได้ ไม่อย่างนั้นจะไม่มีพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ปรากฏขึ้นมา เพราะท่านก็ไม่ได้ฉลาดมาตั้งแต่เกิด ท่านก็โง่เหมือนพวกเรา แต่ท่านใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา สอนใจตลอดเวลา จึงเกิดความฉลาดขึ้นมา ไม่สุดวิสัยสำหรับพวกเรา ถ้าไม่ปิดกั้นตัวเองด้วยความเกียจคร้าน หรือด้วยความคิดผิด ว่าไม่มีวาสนา ไม่มีความสามารถ ถ้าคิดอย่างนี้ก็ปิดประตูกั้นตัวเอง ถ้าคิดว่าพระพุทธเจ้ากับเราไม่ต่างกัน ใจของเรากับใจของพระพุทธเจ้าในสมัยที่ท่านยังไม่เป็นพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน เป็นใจที่พร้อมจะเป็นพระอรหันต์เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เป็นเหมือนเมล็ดข้าว ทุกเมล็ดเหมือนกันหมด อยู่ที่ว่าจะเอาลงไปปลูกในดินหรือไม่เท่านั้นเอง ถ้าปลูกก็ต้องเจริญงอกงามขึ้นมา พยายามทำกันต่อไป เพียรให้มากขึ้น พอเพียรมากๆแล้วผลจะตามมาเอง

 

 
......................................................



ขอขอบคุณที่มาจาก : 
 เว็บ พระธรรมเทศนา

 




 

Create Date : 17 มีนาคม 2567
11 comments
Last Update : 17 มีนาคม 2567 7:43:19 น.
Counter : 156 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณmultiple, คุณปัญญา Dh, คุณหอมกร, คุณSleepless Sea, คุณปรศุราม, คุณสองแผ่นดิน, คุณhaiku, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณดอยสะเก็ด, คุณกะว่าก๋า, คุณอาจารย์สุวิมล, คุณtoor36

 

สาธุค่ะ

 

โดย: ฟ้าใสวันใหม่ 17 มีนาคม 2567 8:57:10 น.  

 

สติ สมาธิ ปัญญา

ต้องมีครบนะครับ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ได้ไม่งั้นชีวิตเรา ก็จะพบแต่ความทุกข์
ทั้งกายและใจ เลยนะครับ

 

โดย: multiple 17 มีนาคม 2567 13:05:46 น.  

 

❤ ประโยชน์บางประการของศาสนาอิสลาม 💙

💙 ประตูสู่สรวงสวรรค์ชั่วนิจนิรันดร

❤ การช่วยให้พ้นจากขุมนรก

💙 ความเกษมสำราญและความสันติภายในอย่างแท้จริง

❤ การให้อภัยต่อบาปที่ผ่านมาทั้งปวง

💙 สิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในศาสนาอิสลาม

❤ านภาพของสตรีในศาสนาอิสลามเป็นอย่างไร?

💙 ครอบครัวในศาสนาอิสลาม

❤ ชาวมุสลิมปฏิบัติต่อผู้สูงอายุอย่างไร?

💙 ชาวมุสลิมมีความเชื่อเกี่ยวกับพระเยซูอย่างไร?


https://justpaste.it/b790p

 

โดย: ศาสนาอิสลาม IP: 172.96.161.170 17 มีนาคม 2567 14:20:53 น.  

 

สวัสดีครับ

 

โดย: ปัญญา Dh 17 มีนาคม 2567 14:48:38 น.  

 

อนุโมทนาบุญวันพระจ้า
องค์นี้คล้ายหลวงพ่อโสธรเลย

 

โดย: หอมกร 17 มีนาคม 2567 16:49:03 น.  

 

สาธุ

 

โดย: สองแผ่นดิน 17 มีนาคม 2567 21:31:06 น.  

 

ไตรลักษณ์
เป็นหัวข้อธรรมที่สำคัญ
และควรเรียนรู้จริงๆครับ

 

โดย: กะว่าก๋า 18 มีนาคม 2567 15:07:36 น.  

 

สวัสดี จ้ะ น้องเอ็ม
"ใจเป็นตัววัดผลของการปฏิบัติ " ครูชอบ
ประโยคนี้ จัง เป็นเรื่องจริง จ้ะ ถ้าใจเรานิ่ง สงบ
ไม่วอกแวก ย่อมจะนำไปสู่ธรรมะได้สำเร็จแน่
โหวดหมวด ข้อคิดและธรรมะ





























 

โดย: อาจารย์สุวิมล 18 มีนาคม 2567 19:46:52 น.  

 

อนุโมทนาบุญด้วย

 

โดย: โลกคู่ขนาน (สมาชิกหมายเลข 7115969 ) 18 มีนาคม 2567 21:25:10 น.  

 

ผมมองว่าปัญญาทางศาสนาเหมือนมันอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว เพียงแค่รอให้เราไปค้นพบมันก็เท่านั้น ผมรู้สึกแบบนั้นนะ

 

โดย: คุณต่อ (toor36 ) 18 มีนาคม 2567 22:06:05 น.  

 

อรุณสวัสดิ์ครับ

 

โดย: กะว่าก๋า 19 มีนาคม 2567 5:25:52 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


**mp5**
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 88 คน [?]




สวัสดีครับ

ขอส่งความสุขให้กับทุกคน




New Comments
Friends' blogs
[Add **mp5**'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.