คนกับงาน
ดร.คีรินท์ เมฆโหรา คณะกายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวประยุกต์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โรคสุดฮิตในกลุ่มคนที่ใช้ข้อมือ
นอกจากโรคเส้นประสาทที่ข้อมืออักเสบที่พบบ่อยในกลุ่มคนทำงานกับคอมพิวเตอร์ ที่ได้กล่าวถึงในฉบับที่ผ่านมาแล้ว ยังมีโรคเอ็นข้อมืออักเสบที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ใช้มือทำงานบ่อยๆ ซ้ำๆ และข้อมืออยู่ในท่าที่ไม่ถูกต้อง
โรคเอ็นข้อมืออักเสบที่พบได้บ่อยคือ เอ็นบริเวณข้อมือทางด้านหลังข้อมือทางฝั่งนิ้วโป้ง โรคนี้มีชื่อเรียกว่า de quervain's ซึ่งเรียกค่อนข้างยาก และสะกดยาก เนื่องจากเป็นภาษาฝรั่งเศส ดังมีรายละเอียดดังนี้
อาการและอาการแสดง
เนื่องจากกลุ่มโรคนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการอักเสบ ของเอ็นบริเวณข้อมือ ดังนั้นเมื่อใช้ข้อมือไปในทิศทางที่เอ็นมีการยืดตัวก็จะทำให้เจ็บ เช่นเดียวกันถ้าเคลื่อนไหว มาทางตรงกันข้าม ก็จะเป็นทิศทางที่กล้ามเนื้อทำงาน เมื่อกล้ามเนื้อทำงานหดตัว จะดึงเอ็นให้ตึงขึ้น ทำให้เกิดอาการเจ็บที่เอ็นได้เช่นกัน
อาการของเอ็นข้อมืออักเสบ
เจ็บเมื่อกระดกนิ้วโป้ง และเมื่อขยับนิ้วโป้งมาที่กลางฝ่ามือ
เจ็บเมื่อกดบริเวณเอ็น ใต้รอยต่อข้อมือ ถัดจากโคนนิ้วโป้งลงมา
มีการอักเสบของเอ็น หากคลำ อาจพบว่าร้อนกว่าบริเวณอื่น
กล้ามเนื้อที่ยึดต่อกับเอ็นนั้น อาจมีอาการเกร็ง แข็ง หรืออาจมีการอักเสบ
หากเป็นเรื้อรัง อาจส่งผลต่อระบบประสาท ซึ่งจะทำให้เส้นประสาทตึงตัว และเคลื่อนไหวระยางค์ส่วนบนและคอได้ไม่เต็มที่
สาเหตุ
เอ็นของกล้ามเนื้อบริเวณนี้จะยึดต่อไปถึงโคนนิ้วโป้ง ซึ่งเป็นนิ้วที่มีการใช้งานบ่อย ดังนั้น เอ็นบริเวณนี้จึงมีการสีไปมาค่อนข้างบ่อย ทำให้อาจเกิดการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ ของเอ็น การบาดเจ็บนี้อาจมีการสะสม ถ้ายังมีการใช้งานของเอ็นนี้อยู่ตลอดเวลา
งานเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคนี้ โดยเฉพาะ งานที่ใช้ข้อมือบ่อยๆ และมีแรงกระชากต่อข้อมือและเอ็นบริเวณข้อมือ เช่น การสับหมู การแล่เนื้อ การใช้ค้อนตอกตะปู หรืองานที่ข้อมืออยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสม เช่น การพิมพ์คอมพิวเตอร์ การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ ต่างๆ ที่ทำให้ข้อมือเอียงหรือบิดไปข้างใดข้างหนึ่งเป็นเวลานานๆ
สาเหตุอื่นๆ นอกจากงานแล้วยังมีโรคระบบกระดูก อื่นๆ เช่น รูมาตอยด์ ที่สามารถทำให้เกิดอาการอักเสบ ของเอ็นดังกล่าวได้
การตรวจร่างกาย
การตรวจร่างกายเพื่อหาความผิดปกติของการอักเสบของเอ็นบริเวณข้อมือทำได้ไม่ยาก โดยใช้นิ้วชี้ถึงนิ้วก้อยกำนิ้วโป้งไว้ หลังจากนั้นให้กดข้อมือลงโดยให้ข้อมือด้านนิ้วโป้งอยู่ส่วนบน ก็จะทำให้เอ็นส่วนที่มีการอักเสบมีการยืดตัว หากมีการอักเสบของเอ็นดังกล่าวก็จะเกิดอาการเจ็บ เช่นเดียวกันหากกระดกข้อมือขึ้น ในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับการยืด (ลักษณะคล้ายเวลาเด็กยกนิ้วโป้ง เพื่อบอกว่า โป้งแล้ว) จะสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บได้เช่นกัน
การป้องกันและการดูแลรักษาด้วยตนเอง
โรคเอ็นที่ข้อมืออักเสบนี้ เมื่อเป็นแล้ว อาการอย่างเบาสุดคือ รำคาญและทำงานได้ไม่เต็มที่ หรืออาการอย่างหนัก คือทำงานเบาๆ ไม่ได้ รวมถึงการทำกิจวัตรประจำวันเบาๆ เช่น กินข้าว การรักษาควรทำตั้งแต่เริ่มแรกเมื่อพบว่ามีอาการ ไม่ควรปล่อยให้มีการสะสมจนกระทั่งมีอาการอยู่ตลอดเวลา โดยใช้หลักการทางการยศาสตร์มาช่วยปรับปรุงงานให้เหมาะสม เพื่อกล้ามเนื้อและเอ็นทำงานลดลง ตัวอย่างดังเช่น
การใช้แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ จะมีผลต่อการเอียงของข้อมือมาก โดยข้อมือจะเอียงไปทางนิ้วก้อยเพื่อให้นิ้วทุกนิ้วสามารถวางบนแป้นพิมพ์ได้ มีผลทำให้ข้อมือด้านนิ้วโป้งถูกยืดอยู่ตลอดเวลา การแก้ไขสามารถ ทำได้โดยใช้แป้นพิมพ์ที่แยกตัวจากกันได้ ทำให้ไม่ต้องเอียงข้อมือ
สำหรับผู้ที่ต้องใช้เครื่องมือต่างๆ หากจำเป็นต้องใช้บ่อยก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้เครื่องมือที่ออกแบบ มาโดยเฉพาะ เพื่อลดแรงกระชาก เช่น ค้อนที่ใช้ตอกตะปูที่เราพบใช้กันอยู่ทั่วไป จะเห็นว่าด้ามค้อนมีลักษณะตรง เมื่อทำการตอกตะปูจะเกิดแรงกระชากที่ข้อมือทุกครั้ง หากออกแบบค้อนใหม่ให้เป็นดังรูปค้อนขวามือที่ด้ามค้อนมีลักษณะโค้งงอ แม้ว่าการใช้งานไม่คล่องเนื่องจาก ความไม่คุ้นเคย แต่ลักษณะด้ามค้อนแบบนี้สามารถลดแรงกระชากที่ข้อมือได้เป็นอย่างดี เพราะขณะที่ตอกเมื่อหัวค้อนโดนตะปู ข้อมือจะไม่อยู่ในลักษณะที่งอมากนัก
อุปกรณ์อื่นๆ เช่น มีดและคีม ขณะที่เราใช้งานในลักษณะทิ่มไปข้างหน้าจะมีผลต่อการยืดของเอ็นข้อมือ ดังนั้น มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ใช้มีดหรือคีมบ่อยๆ ให้ใช้ คีมหรือมีดในลักษณะที่ด้ามโค้งงอคล้ายด้ามปืน เพราะ สามารถกันการเอียงงอของข้อมือได้ ทำให้เอ็นข้อมือไม่ยืดเกินไปขณะที่ทำงาน
การดูแลรักษา
การรักษาโรคเอ็นอักเสบควรทำแต่เนิ่นๆ โดยใช้หลักการรักษาการบาดเจ็บทั่วไป คือตรวจดูการอักเสบ โดยคลำบริเวณที่เจ็บว่าร้อนกว่า หรือบวมกว่าบริเวณอื่นหรือไม่ ถ้าใช่ แสดงว่ามีการอักเสบอยู่ ให้ใช้การประคบเย็นบ่อยๆ ตามด้วยการขยับเบาๆ ยืดเอ็นเล็กน้อย ในทิศทางเหมือนการตรวจ และกระดกข้อมือเฉียงไปทางนิ้วโป้งโดยให้รู้สึกแค่แตะอาการเจ็บเล็กน้อย ประมาณ ๑๐-๒๐ ครั้ง ไม่ทำรุนแรงและติดต่อกันจำนวน มากเกินไป ทำน้อยๆ เมื่อมีเวลาว่าง และสำคัญคือต้องมีการพักการใช้งาน หรือลดการใช้งานลง
บางคนอาจใส่อุปกรณ์รัดข้อมือ ช่วยป้องกันการขยับหรือเอียงข้อมือ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์และสามารถ ช่วยลดการบาดเจ็บซ้ำได้ ข้อสำคัญคือ ควรระมัดระวังอย่าใช้งานหนัก เพราะการใส่อุปกรณ์รัดข้อมืออาจทำ ให้รู้สึกว่าไม่เจ็บและสามารถทำงานได้ ทำให้เกิดความประมาท ไม่ยอมพักหรือลดการทำงาน ทำให้มีการบาดเจ็บซ้ำๆ จนอาการของโรครุนแรงขึ้น รักษาด้วยตนเองไม่ได้ จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัด และต้องเร่งด่วนในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงงาน และอุปกรณ์การทำงาน
ให้ใจหายใจ สุขภาพ วิธีลดความอ้วน การดูแลสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย สุขภาพผู้หญิง สุขภาพผู้ชาย สุขภาพจิต โรคและการป้องกัน สมุนไพรไทย ผู้หญิง ศัลยกรรม ความสวยความงาม แม่ตั้งครรภ์ สุขภาพแม่ตั้งครรภ์ พัฒนาการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ อาหารสำหรับแม่ตั้งครรภ์ โรคขณะตั้งครรภ์ การคลอด หลังคลอด การออกกำลังกาย ทารกแรกเกิด สุขภาพทารกแรกเกิด ผิวทารกแรกเกิด การพัฒนาการของเด็กแรกเกิด การดูแลทารกแรกเกิด โรคและวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารสำหรับทารก เด็กโต สุขภาพเด็ก ผิวเด็ก การพัฒนาการเด็ก การดูแลเด็ก โรคและวัคซีนเด็ก อาหารสำหรับเด็ก การเล่นและการเรียนรู้ ครอบครัว ชีวิตครอบครัว ปัญหาภายในครอบครัว ความเชื่อ คนโบราณ