
..ในตอนแรกผมมีความรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ไม่น่าดูเลยจาก
1.หนังตัวอย่างที่ทำออกมาดูเก่าๆซีดๆ ไม่มีอะไรดึงดูด + การมาแบบเงียบๆ และเสียงวิจารณ์ที่ไม่น่าติดตามดูเท่าไหร่นัก
2. Bruce Willis กับ บทที่ไม่แตกต่างจากที่ผ่านมาๆ เรียกได้ว่าหลับตาเล่นก็น่าจะทำได้ ในบทพระเอกผู้มีความทุกข์ระทมขมขื่นในใจ จากอดีตที่เลวร้าย ต้องมาเผชิญกับภาวะอันตรายเกินที่ตัวเองจะห้ามใจ
3.เนื้อเรื่องที่ดูแล้วมีส่วน ชวนให้คิดถึง Panic room อยู่ไม่น้อย ในแง่ของการติดอยู่ในบ้านนิรภัย
แต่ด้วยอารมณ์อยากดูหนัง ผมก็แกล้ง ๆ ลืม 3 ข้อนี้ไปเสีย

....เมื่อผมได้ไปดู พบว่าถึงแม้หลายอย่างจะเป็น
เหล้าเก่า(เนื้อเรื่อง/ Bruce Willis/ สไตล์ภาพและการเล่าเรื่อง) แต่ก็เป็น
เหล้าเก่าในขวดใหม่ที่ยังเร้าใจอยู่ไม่ใช่เล่น ต้องชมคนเขียนบท ที่เข้าใจสร้างความแตกต่างจากเหล้าเก่าๆที่ผ่านมา คือ
1.
สร้างสถานการณ์ในหนังเป็นสถานการณ์ซ้อนสถานการณ์ มีซับพล็อตซ้อนในพล็อตหลักอีกต่อหนึ่ง
ชั้นแรกการช่วยตัวประกันออกมาจากบ้าน
ชั้นสองคือช่วยตัวประกันลูกเมียให้พ้นจากอันตราย และเล่นสนุกกับชื่อหนังเองคือ Hostage เพราะในเรื่องมี 2 Hostage ที่เกิดขึ้นพร้อมๆกัน
จุดนี้เด่นนี้ยังช่วยกลบจุดอ่อนได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นBruce Willis ที่เป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งในหนังแบบไม่รู้ตัวคือ ถ้าเขามาอยู่ในหนังแอคชั่นสไตล์นี้เรื่องใดก็ตาม คนดูส่วนใหญ่มักยังคงติดภาพของจอห์น แมคเคล็นคนตายยาก(Die Hard)อยู่ และมันทำให้คนดูไม่ต้องลุ้นไปกับเขามากนัก เพราะเชื่อว่าตัวละครนี้จะต้องจัดการกับเหตุการณ์ได้ในท้ายที่สุด ยิ่งถ้าในเรื่องเป็นสถานการณ์ชั้นเดียว มันก็ดูไม่น่ามีอะไรหนักหนาสาหัสเกินฝีมือเขาจะรับได้ แถมคู่ปรับของพระเอกแทนที่จะเป็นผู้ร้ายยุคใหม่แบบอัจฉริยะมาดเฉียบ ดันเป็นสามวัยรุ่นใจร้อน มันทำให้คนดูในตอนแรกอาจรู้สึกว่ามันคงไม่สมน้ำสมเนื้อพระเอก DieHard ผู้ปราบมาร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำแบบพี่บรู๊ซของเราเท่าไหร่
แต่เมื่อหนังสร้างการ สองสถานการณ์ สองHostage นี้ขึ้นมันเพิ่มความยากให้กับโจทย์ และทำให้คนดูมีอารมณ์ลุ้นกับเอาใจช่วยไปด้วย
2.
ตัวละครที่ดูมีเนื้อมีหนังทุกตัวและตัวละครก็ยังมีความขัดแย้งในกลุ่มตัวเอง ตอนแรกที่ผมคิดว่าตัวละครผู้ร้าย ดูไม่น่าจะสมน้ำสมเนื้อตัวพระเอกเท่าไหร่ แต่หนังกลับใช้ประโยชน์จากความเป็นวัยรุ่นของตัวร้ายได้ดี
ความคึกคะนอง ใจร้อน ไม่นิ่ง ของวัยรุ่น เมื่อมาอยู่ในตัวกลุ่มคนร้าย มันช่วยทำให้คนดูเดาได้ยากว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมาจากความใจร้อนของทั้งสามคน แถมในกลุ่มนี้ก็มีความขัดแย้งในตัวอีกชั้นหนึ่ง มีความแตกต่างระหว่างกันคือ
ตัวแทนแรงขับของความรุนแรง(Id)=
Marsตัวแทนของมโนธรรม(Superego) =
Kevin ตัวแทนของจิตที่อยู่ระหว่างความสับสนและขัดแย้ง(Ego) =
Dennis ถ้าได้ดู Panic room ก็จะพบว่าโครงสร้างของกลุ่มผู้ร้ายจะคล้ายๆกัน และเป็นโครงสร้างที่ทำให้หนังสามารถเล่นอะไรได้มากขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งนี้ ทั้งสามคนนี้รับผิดชอบบทบาทตัวเองได้ดีน่าเชื่อถือ โดยความเด่นอาจจะตกเป็นของ Mars ซึ่งมีอะไรให้เล่นมากกว่าคนอื่นๆในแง่การแสดงอารมณ์ แต่หากมองดูแล้วสองพี่น้องนั้นก็เล่นเป็นกันได้ดีเยี่ยมไม่แพ้กัน
โดยส่วนตัวผมชอบบทบาทของสองพี่น้องที่คนหนึ่งต้องสับสน ลังเลและแสดงเป็นมือสมัครเล่นกับอีกคนที่อึดอัดกับสภาวะการณ์ ยิ่งฉากสุดท้ายของพี่น้อง ทั้งคู่ก็แสดง เรียกความรู้สึกคนดูได้ไม่น้อย ในขณะที่ Marsเป็นตัวละครโรคจิตที่สร้างให้ดู จิตป่วย และ น่าสงสาร เป็นตัวละครที่นักแสดงเล่นได้ดี แต่ตัวบทเองนั้นไม่ดีเท่าไหร่นัก มันเคว้ง ไม่ชัดเจน คือมันออกมาเป็นโรคจิตลอยๆมากกว่า ถึงแม้ว่าจะพยายามใส่พื้นหลังมาก่อนก็ตาม
....หนังมีรูโหว่ในแง่ความไม่สมเหตุสมผลที่ค่อนข้างสะดุดความรู้สึกอยู่เป็นบางช่วง รวมทั้งการจบแบบชวนขัดใจเพราะไม่ยอมคลี่คลายปมที่วางไว้ในตอนแรกทั้งหมด แต่จุดอ่อนทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันแทบจะไม่ทันได้คิดถึงตอนที่ดู เพราะหนังสามารถกำกับความระทึกขวัญตื่นเต้นของคนดูไปพร้อมกับเวลาที่หนังฉายได้เป็นอย่างดี
ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่หนังถือว่าได้เปรียบ คือ การมีฉากเปิดเรื่องที่ดี เริ่มตั้งแต่แนะนำตัว Jeff Talley นักเจรจาต่อรองที่มาดค่อนข้างอวดดี มั่นใจเต็มเปี่ยมกับเหตุการณ์ ในฉากที่สร้างความกดดันและสมจริง หนังทำให้คนดูเชื่อว่าทุกเหตุการณ์ต่อไปนี้เกิดขึ้นได้ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งก็ตาม ทำให้คนดูพร้อมที่จะยอมให้หนังนำพาไปสำรวจเรื่องราวต่อไป อีกทั้งการกำกับภาพในสไตล์หนังแอคชั่นเก่าๆไม่ขายสไตล์ให้มากจนเกินไป เหมือนหนังแอคชั่นในปัจจุบันหลายต่อหลายเรื่อง ทำให้หนังมีบรรยากาศที่เคร่งขรึมกดดันร่วมไปด้วย
Bruce Willis ในหลายต่อหลายฉากก็อาจไม่มีอะไรที่ดูต่างไปจากหนังเรื่องเก่าๆของเขา แต่ความเก๋าที่สั่งสมมากับการแสดงบทลักษณะนี้ที่น่าจะเชี่ยวชาญแล้ว ทำให้หลายฉากที่เขาเล่นมีพัฒนาการทำได้ดีกว่าเรื่องเดิมๆ เช่น ฉากถูกจับบนรถและฉากช่วยครอบครัวในตอนท้าย
สิ่งที่ชอบ
1. opening title
.คลาสสิค+เก๋มาก ทำให้คนดูคาดหวังได้ทันทีว่า หนังเรื่องนี้น่าจะมีอะไรดีไม่น้อยทีเดียว
2.สไตล์ภาพ..ด้วยหนังที่พยายามไม่ทำตัวให้โฉบเฉี่ยวทันสมัย แต่เป็นสไตล์ภาพและการกำกับภาพแบบใช้ลูกเล่นเก่าๆทำให้อารมณ์ของหนังมันเกิดร่วมไปในทิศทางเดียวกันกับเนื้อหา
3.สถานการณ์...ฉลาดในการวางสถานการณ์ที่ซ้อนทับกัน โยงเข้าหากัน และทำให้คนดูเดาไม่ได้ว่าจะหาทางออกได้อย่างไร
4.ตัวละคร
.....เป็นเรื่องที่หนังใช้ประโยชน์จากตัวละครทุกตัวค่อนข้างคุ้ม ดูมีเนื้อมีหนังไม่ใช่สักแต่ใส่ๆมาเพื่อให้อยู่ในหนัง ทั้งสามหนุ่มเลือดเดือดและสองพี่น้องในบ้านที่สอดรับบทกันในบ้านสร้างความกดดันได้ดี
5.ฉากเปิดเรื่อง...หนังเรื่องนี้คือตัวอย่างที่ดีของการเริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง นอกจากการมี Opening title ที่กิ๊บเก๋ มีฉากเปิดเรื่องที่กดดันคนดู เหนือความคาดหมายและทำได้ถึงมาตรฐาน มันทำให้คนดูอยากที่จะตามหนังต่อไปและมีความเชื่อถือไปล่วงหน้าแล้วว่า หนังต้องมีอะไรดีรอคอยอยู่ข้างหน้า
(นอกเรื่อง:ผมชอบภาพลักษณ์ Bruce Willis ในฉากเปิดตัว มันดูแตกต่างจากตัวเขาทั่วๆไป ดูแล้วเป็น Jeff Talley มากกว่าเป็น Bruce Willis พอคุณพี่โกนหัวโกนหนวดโกนเครามันก็กลายมาเป็น Bruce Willisผีเห็นผี กลับมาทันที
)6.การกำกับภาพและหลายฉากที่แปลกตา....การจับภาพในหลายฉาก เป็นมุมที่แปลกตากว่าหนังเรื่องที่ผ่านๆมา และบางฉากก็เป็นความแตกต่างจากหนังแอคชั่นแนวเดียวกันที่คนดูไม่เคยเห็นมาก่อนสร้างความกดดันให้กับคนดูได้ดี (เช่น ฉากกระเสือกกระสนไปที่รถของตำรวจสาว)
สิ่งที่ไม่ชอบ
1.ความไม่สมเหตุสมผล...เช่น การเข้าบ้าน (ที่สุดยอดของนิรภัย) อย่างง่ายดายเหลือเชื่อของสามหนุ่ม,ตอนก่อนจบ ที่ใช้ความผิดปกติทางจิตใจของ Mars มาคลี่คลายเหตุการณ์ลงแบบง่ายๆ, การที่ Mars จัดการ FBIอย่างง่ายๆ ฯลฯ ซึ่งความไม่สมเหตผลนี้เอง มันคอยดึงคนดูหลุดจากความสนใจออกมาจากหนังได้แต่ก็ไม่มากจนเกินไป จริงๆแล้วผมคิดว่าความไม่สมเหตุสมผลนั้นถึงแม้จะมากมายหรือรุนแรง แต่ถ้าไปอยู่ในหนังอย่าง DieHardคนดูยังพอรับได้ เพราะคนดูรู้สึกแต่แรกทั้งจากโฆษณาหรือเนื้อหนังมาก่อนแล้วว่า มันจะเป็นหนังที่พร้อมจะโม้กันสนุกเต็มที่ ตรงข้ามกับหนังแอคชั่นหรือทริลเลอร์ที่เน้นความสมจริงอย่างThe Interpreter หรือเรื่องนี้ ที่เมื่อมีความไม่สมจริงอยู่ อาจไม่ใช่รูโหว่ที่ใหญ่มากแต่มันก็สะดุดความรู้สึกและหยิบมาพูดถึงได้ง่ายๆเพราะมันขัดกับความรู้สึกของคนดู
2.การคลี่คลายที่มักง่าย....การออกจากบ้านนิรภัยโดยอาศัยบางจุดจากตัวละคร ผมรู้สึกว่ามันมักง่ายเกินไป อย่างที่บอกว่าบท Mars มันดูโรคจิตลอยๆเคว้งๆ มันยิ่งฉายความไม่สมเหตุสมผลมากขึ้น
3.ตอนจบที่คั่งค้าง....การจงใจเปิดเผยให้เห็นอะไรบางอย่างในตัวชายโม่งดำ, แผนการณ์ที่ซับซ้อน, ผู้บงการที่ไม่น่าธรรมดากับ FBI ฯลฯ แต่พอถึงตอนจบหนังกลับละทิ้งเรื่องราวเหล่านี้ไปเฉยๆ ผมรู้สึกว่านี่ไม่ใช่หนังอาร์ตที่จบแบบให้คนดูกลับไปขบคิดต่อ มันเป็นหนังที่ควรจะเคลียร์เรื่องราวให้เสร็จสิ้นมากกว่า มันเหมือนกับว่าผู้กำกับวาดโครงที่ใหญ่เกินไปในตอนแรก แล้วไม่สามารถที่จะหาทางจบมันได้ในเวลาที่กำหนดจึงตัดจบแบบง่ายๆเหลือเกิน
สรุป....คุ้มค่าเงินกับ100บาทในโรงลิโด้รอบ20.20น.เป็นอย่างยิ่ง เป็นอารมณ์แอคชั่นระทึกขวัญที่หายไปนาน กับการกลับมาที่ทำได้ถึงในเรื่องของความสนุกและอารมณ์ลุ้นระทึก (ผมชอบในส่วนของอารมณ์ความสนุกกดดันในหนังเรื่องนี้มากกว่าในบ้านนิรภัยที่เหมือนกันอย่าง Panic room) ข้อบกพร่องที่หนังมีสามารถถูกลืมไปได้ระหว่างดูด้วยความกดดันชวนติดตามเพราะคุณจะเริ่มรู้สึกพบสิ่งเหล่านั้นเมื่อหนังจบแล้ว หนังมีความรุนแรงสูงไม่เหมาะกับเด็กๆ
ปล...โอ้Kaiser chiefs แจ่มมากๆคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง
ความเห็นของคุณมีประโยชน์กับผู้อ่านคนถัดมา คำทักทายของคุณเป็นกำลังใจให้ผู้เขียน คำติชมหรือคำแนะนำของคุณจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพัฒนาหากคุณเข้ามาอ่านครั้งถัดไป
ติดตามบทความใหม่ๆ หรือ บทความน่าสนใจ หรือ เริ่มต้นอ่านBlogนี้มีข้อสงสัย คลิกไปเริ่มต้นที่ --> หน้าแรก
รวบรวมรายชื่อหนังเรื่องเก่าๆที่เคยเขียนไว้แล้วที่ ---> ห้องเก็บหนัง