คำพิพากษาของมหาสมุทร (Invisible Waves) , คลื่นบาปที่นิ่งสงบ


ข้อมูล: Invisible Waves เป็นผลงานเรื่องที่ 5 ของผู้กำกับเป็นเอก รัตนเรือง ตัวหนังเป็นการร่วมทุนของ 5 ประเทศ หนังพูดภาษาอังกฤษตลอดทั้งเรื่อง มีโรงฉายทั้งแบบพากษ์ไทยและเสียงต้นฉบับ / หนังสือเกี่ยวกับหนังมีวางขายออกมาแล้วสองเล่มคือบทภาพยนตร์โดยปราบดาหยุ่นและเบื้อหลังการสร้างหนังเรื่องนี้


...จะเห็นได้ว่าแม้มีกฏหมายบ้านเมืองที่เข้มงวดกวดขัน ก็ใช่ว่าการทำความผิดจะหมดไปจากสังคม ยังมีคนไม่กลัวที่จะทำความผิดหากพบว่ามีโอกาสจะหนีพ้นเงื้อมมือกฎหมายไปได้ มันบ่งบอกว่า คุกภายนอกที่ขังคนมันไม่ได้มีอิทธิพลเท่าคุกในใจที่จะกักขังคนไม่ให้ทำผิด หากคนมี คุณธรรม(Superego) อยู่ในใจ มันก็จะเป็นเหมือนกรงที่คอยขังความอยากทำชั่ว โอกาสทำความผิดก็จะเกิดน้อยลง เพราะ หนึ่งในสองส่วนประกอบของ Superego นั้นคือ มโนธรรม(Conscience) ที่คอยพิพากษาการกระทำ ตัดสินถูก-ผิด ภายในตัวเราเอง ความเกรงกลัวต่อการทำผิดจึงเกิดขึ้น ในขณะที่ คนไร้ Superego ก็จะเป็นคนที่ทำผิดได้โดยไม่มีความรู้สึกผิดละอายใจไร้ความกลัว หากจะกลัวก็แค่กลัวถูกจับได้เท่านั้นเอง

...ตราบใดที่เรายังมี คุณธรรม ในใจ เมื่อใดที่เราทำผิด ความรู้สึกผิด(guilty)ย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเพียงแต่ว่ามันจะแสดงออกมาในรูปแบบใดเท่านั้นเอง

...คิโยชิ (อาซาโน่ ทาดาโนบุ) ทำผิดบาปด้วยการมีชู้กับเมียเจ้านาย คิโยชิ ทำบาปซ้ำซ้อนด้วยการฆ่าเธอตามคำสั่งเจ้านาย

...เจ้านายของคิโยชิ (ทูน หิรัญทรัพย์) ทำผิดบาปด้วยการบงการฆ่าเมียตัวเอง เขาทำบาปซ้ำซ้อนด้วยการบงการฆ่าคิโยชิอีกต่อหนึ่ง

... การเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลของ คิโยชิ มาเมืองไทย หวังว่าเรื่องราวทุกอย่างจะสงบลง ทุกสิ่งที่ทำไว้จะจางหายไป แต่มันกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะ การเดินทางครั้งนี้เขาทั้งถูกขัง เขาทั้งหลงทาง สิ่งแวดล้อมรอบตัวเขาเหมือนกับว่าจะคอยย้ำเตือนความผิดที่เขาทำไว้อยู่ตลอดเวลา มหาสมุทรที่นิ่งสงบเหมือนไม่เคยสนใจใครแต่เขาเองกลับรู้สึกว่าตัวเองถูกพิพากษาจากมหาสมุทรผืนใหญ่ ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร คำตอบอาจจะตอบได้จากฉากหนึ่งในเรื่อง

ช่วงเวลาหนึ่งบนเรือ คิโยชิ ติดอยู่ในห้องของตัวเองที่ถูกล็อคจากภายใน หรือนี่จะเป็นสภาพจิตใจของ คิโยชิ ที่ไม่ได้ถูกกฏหมายหรือปัจจัยภายนอกลงโทษ เขาสามารถหนีความผิดมาได้โดยราบรื่น เขาไม่ได้ถูกขังจากภายนอก(คุก) แต่ เขากลับถูกขังจากภายในนั่นคือ ความรู้สึกผิดบาป ของตัวเอง แม้คนเราจะหนีกฎหมายภายนอกไปได้ไกล แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีวันหนีพ้น คือ กรงขังในใจที่จะจองจำเราไปชั่วชีวิต

คนเราเมื่อมีความรู้สึกผิดเกิดขึ้นในใจ บางครั้งการแปลความหรือการรับรู้ก็ไม่ได้เป็นตาม ความจริง ที่เห็นหรือได้ยิน แต่มันสั่นคลอนตามจิตใต้สำนึกภายในตัว เช่น คนทำผิดเวลาเห็นคนมองก็แปลความไปว่าเขาอาจจะรู้ความผิดนั้นของตัวเอง ทั้งที่คนอื่นนั้นเขาไม่ได้รู้อะไรเลย (ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน ความรู้สึกผิดของคิโยชิมันก็แสดงออกมาพร้อมกับ อาการอาเจียนของพระเอก , ตัวอักษร redrum , ความรู้สึกจากมหาสมุทร , คำพูดของตัวละครอื่นๆที่เขาได้เห็นได้ยิน ฯลฯ)

...ตัวละครในเรื่องทุกคนล้วนแต่เคยทำผิดบาป มีเพียงหญิงสาวชื่อ น้อย พร้อมเด็กทารกชื่อ นิด ที่ คิโยชิ พบบนเรือ ทั้งสองดูเหมือนว่าจะเป็นสัญลักษณ์ความดีงามเพียงหนึ่งเดียวในเรื่องที่อยู่ท่ามกลางคนบาป ในตอนสุดท้ายการปรากฏตัวของน้อยและนิดเหมือนจะบอกเราว่า หากสังคมหรือตัวบุคคลยังคงมีความดีงาม(goodness)หลงเหลือย่อมสามารถที่จะหยุดยั้ง ถ่วงดุลย์ ความชั่วร้าย(evil)ได้เสมอ

...จากจุดเริ่มต้น หนังเปิดเรื่องได้น่าสนใจให้เราได้เห็น ปืนที่กำลังจ่อหน้าตัวละครหนึ่งซึ่งเราไม่รู้ว่าเป็นใคร เพียงแค่รู้ว่าชายที่ถูกจ่อปืนกำลังจะมีความสุขครั้งใหม่ในชีวิต เขากำลังจะแต่งงาน คำถามที่น่าขบคิดเกิดตามมาจากตัวละครในเรื่องว่า

ใครสมควรที่จะมีชีวิตต่อไปมากกว่ากัน ระหว่าง คนที่กำลังมีความสุข กับ วิญญาณเร่ร่อนไม่มีทางมีความสุขได้อีกต่อไป หากคนทั้งคู่ล้วนต่างเคยทำความผิดเหมือนกัน ?

...การมีชีวิตอยู่ต่อไปในสังคมของคนผิดที่กำลังมีความสุข อาจไม่ได้บอกว่า เขาสมควรมีชีวิตอยู่ต่อไปมากกว่า เพราะคุณค่าของการใช้ชีวิตของมนุษย์นั้นมีเท่าเทียมกันทุกคน และ คนทำผิดบาปก็ล้วนสมควรได้รับการลงโทษอย่างเท่าเทียม เพียงแต่ว่า การเลือกเดินหน้าเพื่อยุติความสุขในชีวิตของคนที่มีชนักบาปติดหลัง ด้วยการมอบตัว สารภาพผิด หรือ หยุดการทำความชั่วเพื่อเอาตัวรอด ไม่ได้หมายถึง คนๆนั้นมีคุณค่าเหมาะสมที่จะใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขน้อยกว่า แต่ มันเป็นการสำนึกและเป็นการได้ชำระความผิดบาปของตัวเอง

เพราะ คนทำผิดถึงจะหนีเงื้อมมือกฎหมายได้นานแค่ไหน แต่การแบกความผิดในใจนั้น มันก็เหมือนกรงขังที่ทำให้คนๆนั้นมิอาจมีความสุขใดๆต่อไปได้กับชีวิตที่เหลือ เพราะ มันคือ ชีวิตที่อยู่ด้วยความผิดบาปที่กัดกร่อนตลอดเวลา


...ชื่อ เป็นเอก อาจไม่ใช่ชื่อที่รับประกันความสนุกของหนังหากวัดกันที่รายรับในประเทศ แต่ในแง่ของคุณภาพ ชื่อ เป็นเอก เป็นชื่อที่สามารถประกันคุณภาพของหนังได้ว่า งานของเขาไม่ใช่งานที่ทำลวกๆหรือสุกเอาเผากิน สี่ผลงานของเขาที่ผ่านมา ( ฝันบ้าคาราโอเกะ , เรื่องตลก 69 , มนต์รักทรานซิสเตอร์ , Last Life in The Universe ) มีขึ้นๆลงๆ มีความขาดๆเกินๆ อยู่บ้าง แต่ ทุกงานล้วนเป็นการสร้างความแตกต่างและความแปลกใหม่ฉีกขนบจากหนังไทยรูปแบบเดิมๆที่สร้างมา มนต์รักทรานซิสเตอร์ เป็นหนังของเป็นเอกที่ผมชอบมากที่สุด เป็นหนังไทยที่มีความเป็นไทยในตัวสูงโดยไม่ต้องพยายามยัดเยียดความเป็นไทย ในขณะเดียวกันมันก็มีความเป็นสากลมากพอที่จะนำมันไปโชว์ชาติอื่นๆในฐานะหนังคุณภาพ

...ทันทีที่ Invisible Waves จบลง ผมตอบตัวเองได้ทันทีว่า นี่เป็นหนังของเป็นเอกที่ผมชอบน้อยที่สุด ในตอนแรกผมเข้าใจว่า ผมไม่ชอบบทของหนังนี้ที่เขียนโดย ปราบดา หยุ่น หนังเรื่องนี้มีบางอย่างที่ทำให้ผมเกือบจะชอบมากแต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่กีดกั้นนั้นคืออะไร จนเมื่อวานนี้ที่ผมไปซื้อหนังสือบทภาพยนตร์ของหนังเรื่องนี้มานั่งอ่านจนจบ ผมจึงพบว่า ที่ผมไม่ชอบไม่ใช่ตัวบทภาพยนตร์ แต่เป็นการถ่ายทอดบทภาพยนตร์ที่เป็นตัวอักษรมาเป็นภาพและเสียงบนจอ

เพราะบทที่ผมอ่าน ช่องว่างระหว่างบรรทัดที่บรรยายเหตุการณ์นั้นใช้เวลาไม่นาน ตรงข้ามกับในหนังกว่าแต่ละเหตุการณ์ผ่านไปมันใช้เวลานานกว่า หากธีมหรือสิ่งที่หนังต้องการสื่อสารออกมาคือ ความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นในใจ หนังสือที่ไม่ได้เห็นภาพกลับทำให้ผมรู้สึกได้มากกว่า ในขณะที่หนังเดินหน้าสื่อสารประเด็นนี้มาชัดเจน แต่ผมกลับไม่รู้สึกคล้อยตามทั้งที่สิ่งแวดล้อมมากมายบ่งบอกว่าตัวละครกำลังเผชิญความรู้สึกผิด

...ตัวละครคิโยชิ ไม่ทำให้ผมเชื่อได้ว่า เขาเป็นตัวละครที่กำลังทุกข์ทรมานกับความรู้สึกผิดบาปมากมายที่อยู่รอบตัว ภาษาหนังที่ใช้ไม่ว่าจะเป็น ฉากที่เขาอาเจียนครั้งแล้วครั้งเล่าสลับกับภาพคนรักที่เขาฆ่า , ไดอะล็อคที่เปรียบเปรยว่ากำลังถูกมหาสมุทรพิพากษา , บทสนทนากับชายที่บาร์ , ตัวอักษร Redrum บนผนังที่สะท้อนออกมาเป็น murder (ไม่ชอบมุกนี้เพราะรู้สึกว่าซ้ำกับที่เคยเห็นมันมาแล้วใน The Shining หรือจะเป็นเพราะที่อ่านจากในหนังสือบทภาพยนตร์ ปราบดา หยุ่น เขียนไว้ว่า รายละเอียดในเรื่องนี้แอบแฝงการคารวะ แสตนลีย์ คูบริค อยู่) ฯลฯ ล้วนเป็นองค์ประกอบของความรู้สึกผิดที่รายล้อมตัวคิโยชิ แต่เมื่อพ้นองค์ประกอบเหล่านี้ ผมไม่รู้สึกเลยว่าคิโยชิคือคนที่จมอยู่กับความรู้สึกผิด แต่เหมือนคนเฉยๆที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างเรื่อยๆหลงทิศอยู่ผิดที่ผิดทางพร้อมรู้สึกผิดเป็นพักๆมากกว่า

ถึงจะเป็นหนังของคนละตระกูลแต่ The Machinist เป็นหนังที่พูดถึงความผิดบาปในใจตัวละครเช่นเดียวกัน The Machinist และ Invisible Waves มีความคล้ายคลึงกันตรงตัวละครเอกจากทั้งสองเรื่องต่างต้องแบกความรู้สึกผิด ความรู้สึกผิดที่ไม่ได้แสดงออกตรงๆแต่มาจากอาการทางกาย หรือ จากการแปลความสิ่งแวดล้อมที่หลอกหลอนในรูปแบบเกือบจะเหนือจริง(Surreal) เป็นสัญลักษณ์ของความรู้สึกผิดในใจ เช่น Christian Bale ใน The Machinist จะมีอาการนอนไม่หลับและน้ำหนักลด อาซาโน่ ทาดาโนบุ ใน Invisible Waves จะอาเจียนอยู่เป็นระยะๆ , ใน The Machinist เจอตัวอักษร Guilty ใน Invisible Waves เจอตัวอักษร Redrum ฯลฯ

ความต่างของสองเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า The Machinist สามารถทำให้ผมเชื่อว่าตัวละครนั้นทนทุกข์ทรมานจากการถูกกัดกร่อนจิตวิญญาณด้วยความรู้สึกผิด และ จากการรับรู้แปลความหมายรอบข้างไปตาม จิตใต้สำนึกแต่ตัวเอกใน Invisible Waves เมื่อหลุดจากฉากหรือเหตุการณ์ที่หนังบรรจงใส่ เขาไม่ได้ทำให้ผมคล้อยตามกับสิ่งที่หนังพยายามนำเสนอ การแสดงและแนวทางของหนังที่น้อยในเรื่องนี้ ต่างจากความรู้สึกที่ได้จาก Last Life in The Universe เพราะผลงานเรื่องก่อนของเป็นเอก เป็นการแสดงที่น้อยแต่ให้มาก ส่วนในเรื่องนี้ ความน้อยของมันทั้งจากตัวเนื้อหาของหนังและจากการแสดงของอาซาโน่ ทาดาโนบุ ให้อะไรออกมาน้อยตามไปด้วย

...จังหวะการเล่าเรื่องของหนังเรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมไม่คล้อยตาม ผมเองไม่ใช่คนที่ปฏิเสธหนังที่เนิบช้า หากความเนิบช้านั้นมีส่วนช่วยตอบโจทย์ของหนังเช่น ความเนิบช้าใน Hotel มันทำให้คนดูคล้อยตามบรรยากาศไม่น่าไว้วางใจและความสยองขวัญพรั่นพรึ่ง , ความเนิบช้าใน April Snow ทำให้ความรู้สึกเจ็บปวดของตัวละครถูกถ่ายทอดออกมาดียิ่งขึ้น , ความเนิบช้าแบบใน Last Life in The Universe ไปด้วยกันได้กับตัวหนังที่เงียบเหงาอ้างว้าง แต่ ความเนิบช้าใน Invisible Waves หลายครั้งหลายฉาก ไม่ทำให้ผมรู้สึกคล้อยตาม ความรู้สึกผิด ความแค้น รักซ้อนซ่อนเงื่อนเพื่อนทรยศอย่างที่หนังฟิล์มนัวร์ทั่วไปพึงจะมี ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงทำให้คนดูบางส่วนอาจสมาธิหลุดออกไปด้วยความเนือยเพราะตามหนังไปได้ไม่ถึงที่สุด และทำให้ไม่ได้สารที่ผู้สร้างตั้งใจจะสื่อสารออกมา

... จังหวะความนิ่งเนิบของหนังที่ผมชอบ คือ ฉากแรก และ ฉากการฆ่าทั้งสองครั้ง ที่ความนิ่งของหนังส่งเสริมบรรยากาศความไม่น่าไว้วางใจในสถานการณ์ให้เกิดขึ้น ทำให้คนดูนั่งลุ้นว่าตัวละครจะยิงหรือไม่ยิง , ตัวละครที่เรารู้ทั้งรู้ว่าจะต้องตาย จะตายเมื่อไหร่และอย่างไร ฯลฯ ยิ่งการใช้มุมกล้องที่จงใจถ่ายอย่างปิดๆซ่อนๆ ถ่ายไม่เห็นทั้งตัว ชวนให้เราต้องดูอย่างอึดอัดและลุ้นว่า เสียงปืนจะดังขึ้นในตอนไหน

… อีกฉากในหนังที่ผมชอบมากคือ ฉากตอนท้ายที่คิโยชิกลับมาหา Boss ของเขาในห้องพัก ในฉากนี้หนังเล่าและพูดออกมาให้คนดูรับรู้ชนิดที่ว่าน้อยแต่มากจริง องค์ประกอบในฉากนี้ไม่ว่าจะเป็น บทสนทนา การโต้ตอบของตัวละคร การเปลี่ยนตำแหน่งของภาพด้วยการถ่ายจากด้านนอกในฉากที่ซ้ำกับฉากเปิดตัว ฯลฯ มันทำให้ช่วงเวลานี้น่าทึ่งชวนติดตามเป็นอย่างมากว่าเรื่องราวจะลงเอยเช่นไร เป็นลีลาการถ่ายทอดความเป็น”เป็นเอก”ที่มีอารมณ์ขันเจ็บๆ ออกมาอย่างนุ่มนวล

งานโดยรวมเรียกได้ว่าประณีตเป็นอย่างยิ่ง ในด้านของงานสร้าง การกำกับแสงและ การถ่ายภาพโดย คริสโตเฟอร์ ดอยล์ ที่ยังคงคุณภาพเหมือนงานเก่าๆที่เราเคยได้เห็น การถ่ายภาพสายตาคนดูผ่านกล้องจะเหมือนการแอบมอง แอบดู ตัวคิโยชิอยู่เป็นพักๆ ท้าทายความอดทนของคนที่ไม่คุ้นเคยเป็นอันมาก อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นเป็นพัฒนาการมากขึ้นจากหนังเรื่องก่อนๆของเป็นเอก คือ หนังมีความโดดหรือความล้นเกิน น้อยกว่าทุกเรื่องที่ผ่านมา แม้ว่าช่วงขึ้นกรุงเทพ ตัวละครจะเริ่ม พูด กันมากขึ้น แต่โทนของหนังก็ยังสม่ำเสมอคงเส้นคงวา

...นักแสดงที่เด่นที่สุดในเรื่องสำหรับผมคือ คุณทูน หิรัญทรัพย์ ที่ประชันฝีมือกับ อาซาโน่ ทาดาโนบุ ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ แถมเขายังข่มนักแสดงที่เสน่ห์ล้นเหลืออย่างอาซาโน่ได้ในบางฉากเสียด้วยซ้ำ เจิ้งจือเหว่ย หรือ อีริค ซาง ที่มารับบทพระจีนดูมีบทบาทน้อยจนน่าใจหายไม่คุ้มกับฝีมือการแสดงของเขา และ บทของ คัง แฮ จอง ก็ดูขาดมิติและขาดความน่าสนใจ น่าเสียดายที่เธอออกมาหลายครั้งแต่ทุกครั้งก็ดูบทของเธอแบนราบเสียเกลือเกิน ตรงข้ามกับ บทเล็กๆอย่าง Lizard ที่ออกมาไม่มากก็ดึงดูดคนดูในเสน่ห์ของบทนี้ได้เสมอ

สิ่งที่ชอบ

1.ทูน หิรัญทรัพย์ … ออกไม่กี่ฉาก แต่เด่นเป็นอย่างยิ่ง การประกบคู่กับอาซาโน่แสดงให้เห็นพลังดาราที่ไม่ด้อยไปกว่าใครของทูนเลย การแสดงออกน้อยแต่ให้มากของเขา ให้ความรู้สึกถึงกิเลส ความชั่วร้าย อำนาจ ได้ชัดเจน สำเนียงอังกฤษของเขาในเรื่องคล่องมากมีส่วนทำให้คนดูเชื่อถือตัวละครนี้ได้มากขึ้น

2. ธีมและประเด็นของหนัง. … เป็นหนังไทยในไม่กี่เรื่องที่สอดแทรกสัญลักษณ์ สิ่งที่เป็นนามธรรมให้คนดูได้ขบคิด เสียดายที่ สารที่สื่อออกมานี้ อาจจะมีผู้รับได้น้อยราย เพราะมันกลืนหายไปกับคลื่นของความเนิบช้าของตัวหนัง หนังมีอะไรให้กลับมาขบคิดและประเด็นที่หนังนำเสนอก็ชัดเจน มีเป้าหมาย ไม่กระจายนอกลู่นอกทาง

สิ่งที่ไม่ชอบ

1.จังหวะอารมณ์ของหนังเรื่องนี้ ... ความช้า เนิบนาบ ในหลายฉาก ไม่ช่วยให้เข้าใจตัวละครได้มากขึ้นแต่กลับทำให้รู้สึกเนือยและนิ่งแทน มันมีความนิ่งที่ดีไม่ใช่นิ่งแบบไม่มีศิลปะ แต่ ผมรู้สึกว่ามันไม่เข้ากับการเอามาใช้เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาและประเด็นที่หนังต้องการนำเสนอ

2.การถ่ายทอดความรู้สึกผิดบาปของตัวละคร ... ดังที่กล่าวไว้ว่า ตัวละคร ในเรื่อง ไม่ทำให้ผมเชื่อได้ว่า เขารู้สึกผิด ทั้งที่ ความรู้สึกผิด เป็นธีมหลักของเรื่อง ความรู้สึกผิดทั้งหลายในหนังมาจากองค์ประกอบภายนอกตัวละครแทน หนังให้ความสนใจกับ สภาพจิตใจที่รู้สึกผิดของตัวละคร น้อยเกินไป ร่วมกับ สีหน้าตายและการแสดงออกที่น้อยของอาซาโน่

สรุป …. ใครไม่ชอบหนังราบเรียบเนิบช้าไม่ชอบแน่นอน ใครรู้สึกทรมานกับการดู Last Life in The Universe ก็น่าจะผิดหวัง แต่หากใครคุ้นเคยกับจังหวะเนิบนาบของหนังแล้ว Invisible Waves เป็นหนังไทยที่ชวนให้ลิ้มลองเพราะมันมีอะไรดีๆอยู่ไม่น้อย สำหรับผม ค่อนข้างผิดหวังกับหนังเรื่องนี้ ด้วยความคาดหวังก่อนดู คิดถึงหนังของเป็นเอกที่ให้อารมณ์อย่างมนต์รักทรานซิสเตอร์มากกว่า แต่ก็แปลกใจ ที่หลายฉากหลายตอนของหนังมันก็ยังคงวนเวียนป้วนเปี้ยนอยู่ในหัว คิดว่าตัวเองจะชอบมากกว่านี้ ถ้าหากหนังจะเร่งจังหวะความเร็วและลดความอ้อยอิ่งลงรวมไปถึงการยอมเล่าและส่งสารมาให้มากกว่าที่มีอยู่


ติดตามบทความใหม่ๆ หรือ บทความน่าสนใจ หรือ เริ่มต้นอ่านBlogนี้มีข้อสงสัย คลิกไปเริ่มต้นที่ --> หน้าแรก


รวบรวมรายชื่อหนังเรื่องเก่าๆที่เคยเขียนไว้แล้วที่ ---> ห้องเก็บหนัง




ขอคิดค่าบริการต่อการอ่าน 1 หน้าในอัตราเพียง

ความเห็น
ของคุณมีประโยชน์กับผู้อ่านคนถัดมา คำทักทายของคุณเป็นกำลังใจให้ผู้เขียน คำติชมหรือคำแนะนำของคุณจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพัฒนาหากคุณเข้ามาอ่านครั้งถัดไป


Create Date : 07 มีนาคม 2549
Last Update : 7 มีนาคม 2549 10:02:20 น.
Counter : 5082 Pageviews.

18 comments
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
พบเจอภาพอะไร? ส่วนหนึ่งของภาพน่าสนใจจึงตัดมาใช้ คุกกี้คามุอิ
(1 ม.ค. 2567 03:56:23 น.)
อุ้มสีมาทำบุญ ๙ วัด ในวันขึ้นปีใหม่ที่จ.อุบลราชธานี อุ้มสี
(3 ม.ค. 2567 19:10:02 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
  
แห่ะๆ โชคดีที่มาอ่าน กำลังคิดว่าจะไปดู แบบว่าคิดว่าตัวเองคงหลับแน่ๆ ... ถ้ามันเนิบๆ นาบๆ ....
โดย: ออนลี้ วันที่: 7 มีนาคม 2549 เวลา:3:17:42 น.
  
คิดต่างกัน นี่เป็นหนังที่ชอบที่สุดของคุณเป็นเอก
เขียนถึงหนังสือและความคิดเห็นต่อหนังไว้ที่บล็อก
ข้างล่านี้นี้เป็นคอมเม้นท์ของตัวเองที่ไปตอบ I will see you in the next life ไว้ที่บล็อกของเขา
ก็อปมาไว้ที่นี่ด้วย
(คอมเม้นท์นี้มีสปอยล์ อย่างรุนแรง
ใครยังไม่ดู กรุณาข้ามไปได้เลย )

อย่างที่บอกไว้ในบล็อก
ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พี่ชอบมากที่สุดของคุณป็นเอก
ดูเสร็จ โทรฯไปบอกผู้กำกับด้วย

ปรกติ พี่ดูหนังคุณเป็นเอกแล้วจะลุ้นทุกครั้ง
ว่าขอให้ชอบ ขอให้ชอบ

บางทีมันมีบางมุมที่พี่ไม่เก็ทอารมณ์ในหนัง
อย่างเรื่องรักน้อยนิดมหาศาล
พี่ก็ไม่เก็ทอารมณ์เหงาแบบนั้น

แต่เรื่องนี้พี่เก็ทเกือบทุกฉาก
พี่ว่าประโยค ที่ว่า "ใครควรจะมีชีวิตอยู่กันมากกว่าระหว่าง คนที่มีความสุขกับวิญญานที่เร่ร่อน " มันตอบทุกอย่างเลยนะ ตอบว่าทำไมคิโยจิ ถึงเลือกเดินเข้าหาความตาย

อีกอย่างการฆ่าคนอื่น (เซโกะ ) ความผิดบาป นั้นมันติดอยู่ในใจเขาตลอด รวมทั้ง อาการ พิพากษา จากคลื่นที่มองไม่เห็นอีก มันตามหลอนเขาตลอด

พี่ว่า ในที่สุด คิโยจิก็ เลือกที่จะพิพากษาตัวเอง เพื่อ "หลุดพ้น" จากคำพิพากษาของสิ่งอื่น

คราวนี้เขาไม่วิ่งหนีความตายแล้ว
เขาเดินเข้าหามันเลย

จำคำพูดที่ลิซาร์ดพูดได้ไหม ผมอิจฉาคุณ นะที่รู้ว่าจุดจบจะเป็นเช่นไร คิโยจิ เคลียร์กระจ่าง ว่าตัวเองจะทำอย่างไรกับชีวิตตัวเองต่อไป
ดูสีหน้าเขาสิ (ฉากใกล้จบ ) แถมยังกินไอติมไปด้วย (ชอบจริงๆ )

ชอบหลายๆ ฉากของเรื่องนี้ มัน นุ่มนวล นิ่งเนียน ไม่มีอะไรเกินเลย ตัดทอนทุกอย่าง ปรกติหนังคุณเป็นเอกชอบเพิ่มเติม แต่อันนี้กลับ "ตัดออก" ซึ่งพี่ชอบมากกกกกกกกกก

ส่วนประเด็นเรื่อง ไม่มีจุดพีค พี่เห็นว่าอย่างนี้
เอาเข้าจริงเราอาจชินกับเรื่องที่ค่อยๆ พาเราไป แล้วพีค ต่อมาก็คลี่คลาย คนดูอมยิ้ม กลับบ้าน ทุกอย่างลงตัว จบ
แต่เป็นเอกคงไม่ทำอย่างนั้น ไม่เดินตามขนบแบบนั้น

พี่เก็ทอารมณ์แบบนี้ เร่ร่อนๆ ไม่มีที่ยึด (ตอนนี้พยายามยึดงานการของตัวเองไว้อยู่ ) ไม่มีศรัทธาต่ออะไรเท่าใดนัก
อารมณ์ลอยๆ แบบนี้พี่เก็ทมาก

ชอบฉาก ไม่มีทางออก ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร (ตอนอยู่บนเรือ) ของคิโยจิ
อาซาโน่ นี่เป็นอย่างไรหนอ แค่นั่งเฉยๆ พี่แกก็ส่งอารมณ์แล้วน่ะ เป็นนักแสดงระดับขั้นเทพจริงๆ
(กรี๊ดๆ ฉากใส่กางเกงในตัวเดียวของเฮียแกด้วย )

หนังสือ "อย่างน้อยที่สุด" เป็นเอกบอกไว้ตอนหนึ่งว่า

"ประเด็นหนังของผมไม่ใช่เรื่องที่จะมาเปลี่ยนแปลงมนุษย์หรือปรัชญายิ่งใหญ่ เป็นเรื่องเล็กๆ ที่ผมมีปัญหา มีคำถาม ไม่ใชหนังส่งเสริมให้คนทำความดี ผมไม่มีเชื้อเพลิงแบบนั้น คงทำไม่ได้ ไม่มีความสนใจด้วย เวลาทำหนังผมหวังแค่ให้คนที่มาดูหนังแล้วอยากทำอย่างอื่นต่อ มีผลอย่างอื่น เช่น ดูจบแล้วกลับไปนั่งเฉยๆ กินกาแฟ ดูดบุหรี่ หรือคิดถึงใครสักคน ผมถือว่าประสบความสำเร็จ "

สำหรับพี่เรื่องนี้คุณเป็นเอกประสบความสำเร็จมากกกกกกกกกกกกก
โดย: grappa วันที่: 7 มีนาคม 2549 เวลา:6:48:58 น.
  
แวะมาอ่าน review หนังดี ๆ ครับ
โดย: 90210 วันที่: 7 มีนาคม 2549 เวลา:7:18:27 น.
  
คิดและรู้สึกคล้ายกันมากค่ะ

เพียงแต่หนังของเป็นเอกที่เราชอบที่สุดกลับเป็น เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล (ก่อนหน้าหนังเรื่องนี้เรารู้สึกว่าเป็นเอกเป็นคนที่สร้างหนังที่มีพัฒนาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เรายังไม่ได้อ่านหนังสือนะ แต่คิดว่าน่าจะชอบหนังสือมากกว่าเหมือนกัน

เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้อ่านเรื่องรักน้อยนิดฯ หลังดูหนัง เรารู้สึกว่ามันไม่ต่างกันมากเท่าไหร่เลย คือความละเอียดอ่อนและความเป็นคุ่นมันชัดเจนมากๆ (ซึ่งต่างจากหนังรักของเป็นเอกก่อนหน้านี้อย่างมนต์รักฯ ที่ความละเอียดอ่อนในความรักไม่ได้เป็นอย่างเรื่องรักน้อยนิดฯ เลย)


แต่พอดูหนังเรื่องนี้ ความเป็นคุ่นมันน้อยลงน่ะ


ซึ่งจริงๆ ความเป็นคุ่น เราว่าเหมาะกับดอยล์ด้วยแหละ



เขียนรีวิวไว้ที่บล็อกด้วยค่ะ ว่างๆ เรียนเชิญ
โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 7 มีนาคม 2549 เวลา:11:00:57 น.
  
ผมเฉย ๆ กับหนังเรื่องนี้ครับ ทุกอย่างเขียนไว้ในบล็อกอีกเช่นกันครับ

ป.ล. ผมคิดว่าเป็นหนังไทยไม่กี่เรื่องที่เดินเรื่องได้คง concept และ theme ไว้อย่างชัดเจน ไม่หลุดไม่เบี่ยงเบน
โดย: I will see U in the next life. วันที่: 7 มีนาคม 2549 เวลา:12:33:36 น.
  
ผมยอมรับตรงๆ ครับ
ว่าชื่อ "เป็นเอก" ก็เป็นชื่อที่กระตุ้นต่อมอยาก
และก็เป็นชื่อที่ "ไม่กล้าไปนั่งดู ถ้าไม่พร้อม"
ผมมองหาความสนุกจากหนังครับ
ถ้าดูหนังแล้วรู้สึกเบื่อ
ก็ไม่น่าดูหรอกครับ

Image hosting by Photobucket

เรื่องนี้รอแผ่นครับ
โดย: Marvellous Boy วันที่: 7 มีนาคม 2549 เวลา:12:45:14 น.
  
หลังจากที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว รู้สึกว่าเป็นหนังของผู้กำกับเป็นเอกที่ดูแล้วเข้าใจได้ไม่ยาก เข้าใจได้ง่ายกว่าเรื่อง Last Life in the Universe เลยเป็นเหตุให้ชอบหนังเรื่องนี้มากกว่าเรื่องอื่นๆของผู้กำกับคนนี้ครับ

มีอยู่ตอนนึงที่ยังสงสัยและไม่ค่อยแน่ใจหลังจากดูหนังเรื่องนี้แล้ว ว่าพระเอกได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ช่วงที่ถูกไล่ล่าถูกยิง จนกลายเป็นวิญญาณจริงๆหรือเปล่า หรือยังไม่เสียชีวิตหลังจากถูกยิง แต่เดินขากะเผลกๆครับ
โดย: Tempting Heart วันที่: 8 มีนาคม 2549 เวลา:5:52:59 น.
  
สวัสดีค่ะ


มาบอกว่าจะรออ่านรีวิว Constant Gardener นะคะ


ดีขึ้นบ้างแล้วค่ะ แต่ยังไม่ถึงที่สุด เพราะยังเดินไปไม่ถึงทางออก
โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 8 มีนาคม 2549 เวลา:8:43:20 น.
  
เข้ามาบล็อกนี้จาก กระทู้ในห้องเฉลิมไทยค่ะ ^^ จะบอกว่าเป็นอีกคนนึงที่ชอบหนังเรื่องนี้ มันดูเรื่อยๆแต่ว่า ดึงสายตาไว้ตลอดเลยค่ะ กำลังคิดอยู่ว่าเสาร์นี้จะไปดูอีกสักหนึ่งรอบ เพราะว่ารอบแรกที่ไปดู เราไม่นึกว่าจะเป็นพากย์ไทยน่ะ ก็เลย ตกใจนิดหน่อยในช่วงแรกๆ แต่ก็นั่งดูจนจบอยู่ดี
โดย: strawberry pie IP: 58.10.250.96 วันที่: 9 มีนาคม 2549 เวลา:23:35:33 น.
  
ยังไม่ได้ดูเลยค่ะ
เด๋วไปดูแล้วแวะมาอีกทีนะคะ
โดย: นมัสเต IP: 203.107.201.197 วันที่: 11 มีนาคม 2549 เวลา:20:25:18 น.
  
หนังน่าเบื่อ เดินเรื่องช้ามากๆ แต่ปราณีตในทุกรายละเอียด
โดย: scarry shutter IP: 203.121.150.135 วันที่: 12 มีนาคม 2549 เวลา:17:30:42 น.
  
แวะมาอ่านครับ อยากบอกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ผมคิดตรงกับคุณเลยครับ
โดย: captainfakenature วันที่: 13 มีนาคม 2549 เวลา:1:43:25 น.
  
แจ่มเลยครับ
รู้สึกจะต้องดูหลายรอบแน่ๆหนังเรื่องนี้
โดย: hdr. IP: 203.188.58.162 วันที่: 19 มีนาคม 2549 เวลา:1:10:26 น.
  
ปราบดา ซ่อนเรื่องลึกๆไว้ในบท ครอบคลุมทั้งเรื่อง สมุทร ชีวิต มนุษย์ สงครามและศาสนา แต่เป็นไปในแนวทางสากล ดูเอาเถอะจะอธิบายต่อคำพิพากษาว่ายังไง เสียดายว่ามีคีย์เวิอร์ดน้อยไปหน่อย คงจะไม่มีเวลารวบรวมข้อมูล

องค์ประกอบอื่นๆที่น่าสนใจและควรมี

ทูน หิรัญทรัพย์เป็นลูกครึ่งออสเตรเลียคาทอลิก สถาบันศิลปภาพยนตร์FBIวังทองหลาง การฟื้นฟูและการปิดสวิทช์ของเซโรโทนิน พระเจ้าส่งเขามาเล่นหนังเรื่องนี้จริงๆ
อาซาโน่ ทาดาโนบุ เป็นชาวญี่ปุ่น
นรินทร พากษ์ไทย

แรงงานกะเหรี่ยงอพยพจากชายแดนไทย-พม่าในภูเก็ต
แท่นขุดเจาะน้ำมันร้าง
เรือดำน้ำสำรวจวิทยาศาสตร์ทางทะเล
การสั่นไหวของตึกใหญ่ในไต้หวัน
การฉลองเทศกาลคริสต์มาสแบบคาทอลิก
วารสาร NG
การเข้าร่วมทุนของอิตาลีทำให้หนังนุ่มนวลลงกว่าที่คิด

ถ้ามีเวลาจะไปหาแผ่นมาดูมั่ง
โดย: jackkth IP: 58.136.74.30 วันที่: 20 มีนาคม 2549 เวลา:0:33:20 น.
  
เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เข้ามาอ่านเพราะเป็นเรื่องที่อยากดูแต่คงไม่มีโอกาสได้ดูในระยะเวลาอันใกล้นี้แน่นอนค่ะ (ยกเว้นว่าที่เซี่ยงไฮ้จะเอาเข้ามาฉายนะ แต่ถ้าจะยาก)

ที่อยากดูเพราะผกก.นี่แหล่ะค่ะ แต่อ่านคำวิจารณ์แล้วแอบลังเลนิดหน่อย

ป.ล. โดยส่วนตัวชอบ Last life ค่อนข้างมากเลยค่ะ
โดย: ลิปดา-พิลิปดา วันที่: 21 มีนาคม 2549 เวลา:17:01:31 น.
  
ชอบนางเอกสวยลึกล้ำ

ชอบฉากในรถ ปะทะคารมกัน ของพระเอก กะ Lizard ในตอนแรกที่จะพาพระเอกไปเก็บ เหมือนจะเปิดเผยทุ่งอย่างให้กระจ่างแจ้ง

ตอนท้ายช่วยย้ำให้รู้สึกว่า หนังโรแมนติกมาก
ทั้งที่ไม่มีฉากโรแมนซ์เลย
พร้อมเพิ่มบทจบเป็นปรัชญาเล็กๆ

พร้อมสรรพ...
โดย: โอ IP: 221.128.108.145 วันที่: 27 มีนาคม 2549 เวลา:22:30:52 น.
  
ผม ดูแล้วงงนะครับ
โดย: maette2000 IP: 124.121.67.98 วันที่: 30 มิถุนายน 2550 เวลา:22:40:01 น.
  
ชอบ last life มากกว่าเหมือนกันคับ
โดย: lkunl IP: 144.5.59.109 วันที่: 1 กรกฎาคม 2550 เวลา:14:40:17 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Aorta.BlogGang.com

"ผมอยู่ข้างหลังคุณ"
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]

บทความทั้งหมด