|
| 1 | 2 | 3 |
4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 |
11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 |
25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 |
|
|
|
|
|
|
|
อำลา...อาลัย (3)
รำลึกถึง ครูสง่า อารัมภีร ครั้งหนึ่งที่ได้ใกล้ชิด
ลงเรือเล่นฟองท่องท้องทะเล ดอกประดู่เห่ส่งครูเข้าประตูสวรรค์ ฟองคลื่นขาวราวไหมมาลัยกำนัล เป็นของขวัญครูเพลงบรรเลงรมย์
บรรเลงเพลง "สีชัง" อักครั้งหนึ่ง ส่งความรักความคิดถึงครูสร้างสม "สีชัง ชังแต่ชื่อ" บรรลือลม หวานพริ้วพรมพร่างเพราะเสนาะใจ
"สง่า อารัมภีร์" ครูคีตศิลป์ เกิดจากแดนดินสู่ฟ้าชลาลัย ฟ่องฟองคลื่นครวญคร่ำจำอาลัย จำใจช่มใจไปจากครู
ร้องกรองโดย สวรรณ พันธุ์ศรี สีชัง / เสาร์ที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๒ จากจุดประกายวรรณกรรม ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๒
การจากไปของปูชนียบุคคลด้านดนตรีย่อมนำมาซึ่งความโศกเศร้าแก่คนทั่วไป ไม่เฉพาะแต่วงการเพลงเพราะเป็นการสูญเสียบุคคลอันทรงค่ามหาศาล อันเปรียบได้กับอัญมณีทีส่องประายเจิดจ้าของเมืองไทย ในทางดนตรีแล้วยากที่จะหาใครทัดเทียม ครูสง่า อารัมภีร ผู้มีจิตวิญญาณของ"ครูเพลง" อันเต็มเปี่ยมด้วยความสามารถอันสูงส่งและด้วยคุณสมบัติอันเพียบพร้อมนานัปการได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) เมื่อปี ๒๕๓๑
คุณงามความดีของผู้ที่จากโลกนี้ไปวัดได้จากผู้ที่ไปร่วมงานศพว่ามีมากน้อยเพียงใด ความเคารพรักและอาลัยถึงผู้ที่อยู่ข้างหลังที่มีต่อครูสง่า อารัมภีร์ก็เช่นเดียวกัน เพราะผู้คนที่ไปร่วมงานศพซึ่งตั้งสวดอภิธรรมที่วัดมกุฏกษัตริย์ ศาลา ๘ นั้นคับคั่งจนไม่มีที่นั่ง หลายคนจับกลุ่มยืนออกันอยู่นอกศาลา บางคนนั่งอยู่ที่ขั้นบันใดพระอุโบสถหลังเล็กที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน
วันสุดท้ายคือวันที่ ๗ ของการสวดอภิธรรมนั้น สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกัน เมื่อสองสมาคมจับมือกันเป็นเจ้าภาพผู้คนยิ่งมากหน้า ทางฝ่ายสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยนั้นเท่าที่จำได้ก็มี เพ็ญศรี เคียงศิริ หรือ ราวดี นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ประยอม ซองทอง อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและวุฒิสมาชิก สุภัทร สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการอาวุโส นิตยสารสกุลไทย คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ หรือกุลทรัพย์ รุ่งฤดี ชมัยภร แสงกระจ่าง หรือ ไพลิน รุ้งรัตน์ เพ็ญแข วงศ์สง่า กฤษณา อโศกสิน ประสพโชต เย็นแข ทวีสุข ทองถาวร อำพล สุวรรณธาดา ฯลฯ
ด้านสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยมีผู้ไปร่วมงานได้แก่ มีศักดิ์ นาครัตน์ ชาลี อินทรวิจิตร วินัยพันธุรักษ์ อรสา อิสรางกูร ณ อยุธยา ละนักร้อง นักดนตรีอีกหลายต่อหลายคน นอกจากนี้ก็ยังมีสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสารและผู้สื่อข่าวสถานิวิทยุโทรทัศน์
แม้ว่าวันนั้นจะชุ่มฉ่ำด้วยสายฝนพรำ และเวลาล่วงไปจน ๒ ทุ่ม ผู้คนก็ยังไม่แยกย้ายกันกลับบ้าน ช่วงเวลาที่ผมอยู่ในบรรยากาศของงานสวดอภิธรรมศพนั่นเอง ทำให้ผมนึกอะไรขึ้นมาได้บางอย่าง ทั้ง ๆ ที่ผ่านมาเป็นเวลาราว ๕ ปีแล้วก็ตาม...
ผมนึกถึงใบหน้าอันสงบนิ่งหากแฝงไว้ด้วยความเมตตาของผู้อาวุโสท่านหนึ่ง ซึ่งนั่งติดกับผนังห้องประชุมศูยน์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ ในวันนั้นสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้จัดเสวนางานรวมใจนักเขียนขึ้นเป็นครั้งแรก และมีการอภิปรายในหัวข้อ "นักเขียน...เขียนและอยู่อย่างไรในสังคมปัจจุบัน" รวมทั้งให้โอกาสนักเขียนทุกคนได้เปิดเผยความในใจด้วย งานในวันนั้นเต็มไปด้วยความคึกคักและเป็นกันเอง แม้ว่าชายสูงวัยผู้นั้นจะไม่มีส่วนร่วมอะไรนอกจากการนั่งฟัง แต่ผมสังเกตเห็นว่าให้ความสนใจฟังอยู่ตลอดเวลา
ผมจับสายตาอยู่ที่ร่างท้วมสมวัยเกือบตลอดเวลา หลังจากได้รู้ว่าคือ "ครูสง่า อารัมภีร" ซึ่งผมเคยได้ยินชื่อเสียงของท่านมาเป็นเวลานานมากแล้ว ตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กรุ่นๆ ไม่รู้จักหน้าค่าตาท่าน ได้ยินแต่เพลงที่ท่านแต่งให้นักร้องขับร้องนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเพลง ดวงใจ, น้ำตาแสงไต้, คุณจะงอนมากไปแล้ว และอีกหลายต่อหลายเพลงที่ส่งให้นักร้องในยุคนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังได้แก่ สุเทพ วงศ์กำแหง สวลี ผกาพันธ์ ชรินทร์ นันทนาคร จินตนา สุขสถิตย์ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ฯลฯ
การจัดงานในวันนั้นสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ ตอนพักเที่ยงอาหารการกินจึงมีให้พร้อมทุกอย่าง ทั้งของคาวและของหวาน ตลอดจนน้ำชากาแฟ ทุกคนกินกันอย่างเอร็ดอร่อยและอิ่มหนำสำราญ แต่ครูสง่า อารัมภีรนั่งกินข้าวเงียบๆอยู่เพียงลำพัง ผมจึงเข้าไปทำความรู้จักับท่านและยกจานผลไม้กับน้ำดื่มไปบริการท่าน ผมยังจำได้ว่าท่านกล่าวขอบใจผมเบา ๆ
ผมถามถึงสุขภาพและอายุของท่าน ท่านบอกว่าปีนี้อายุ ๗๒ ปี ตาขวาเสียเพราะเป็นต้อ ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าท่านจะผ่าตัดตาในเวลาอีกไม่นานนี่แหละ ผมคุยกับท่านถึงเพลงที่แต่งว่ามีที่มาอย่างไร ครูสง่า อารัมภีรจึงเล่าถึงเพลง "ดวงใจ" ห้ฟังว่า เบื้องหลังการแต่งเพลงนี้ได้มาโดยบังเอิญบนรถรางที่วังบูรพาเมื่อปลายปี ๒๕o๙
"มีหนุ่มสาวคู่หนึ่งทะเลาะกันแล้วก็หยิกกัน พอผู้หญิงลงจากรถราง ผู้ชายคนนั้นก็ชี้หน้าผู้หญิงพร้อมกับพูดว่า "ถึงยังไงฉันก็มีสิทธิ์รักเธอ" ผมเลยคิดเนื้อสองวรรคแรก ดวงใจ ทุกคนมีสิทธิ์จะรักกันได้ ถึงอยู่ห่างไกลก็ยังส่งใจไปถึง ตามด้วย melody เป็นโน๊ตจนจบแล้วไปแต่งเนื้อต่อที่บ้าน"
เพลงนี้โด่งดังไม่แพ้เพลงอื่นๆของครูสง่า อารัมภีร ขับร้องโดย สวลี ผกาพันธ์ นักร้องผู้มีเสียงหวานใส ขวัญใจคนฟังในยุคนั้น เพลงนี้ติดหูมากจนร้องกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง ผมมารู้ในภายหลังว่าเพลง "ดวงใจ" เป็นเพลงเอกในภาพยนตร์เรื่อง "เพชรตัดเพชร" ด้วย
ครูสง่า อารัมภีรคุยต่อว่า เพลงในสมัยก่อนจะแต่งเพื่อใช้ประกอบการแสดงละครเวทีเป็นส่วนใหญ่ เป็นยุคที่ละครเวทีเฟื่องฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง "น้ำตาแสงไต้" นั้นท่านแต่งได้เพราะความฝัน
"ฝันเห็นคนแต่งกายแบบโบราณนั่งดีดเปียโนอยู่ ตื่นขึ้นมายังจำทำนองได้ ไปดีดเปียโนนิ้วก็เลยพาไปเลย" เบื้องหลังความเป็นมาก่อนที่ครูสง่า อารัมภีรจะแต่งเพลง "น้ำตาแสงไต้" มีอยู่ว่า ตอนที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล หรือเสด็จพระองค์ใหญ่จะจัดแสดงเรื่อง "พันท้ายนรสิงห์" ขึ้นในปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๘ แต่ยังหาเพลงประกอบละครไม่ได้ จึงมีดำรัสให้ครูสง่า อารัมภีรเป็นคนแต่ง เพื่อให้ตัวเอกของเรื่องคือ พันท้ายนรสิงห์ร้องตอนรำพึงรำพันถึงนวลคู่ทุกข์คู่ยาก
เพลง "น้ำตาแสงไต้" อันหวานเยือกเย็นและเศร้าจึงได้เกิดขึ้น หลังจากที่ครูสง่า อารัมภีรตื่นขึ้นมาจากความฝัน ซึ่งนอนหลับฟุบอยู่กับเปียโนในโรงละคร เรียกว่าตื่นขึ้นมาก็แต่งได้ในทันทีทันใด เป็นเรื่องที่อัศจรรย์มาก ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้นั่งแต่งอยู่หลายวันก็ไม่สำเร็จ ถือได้ว่าเพลง "น้ำตาแสงไต้" เป็นเพลงเกียรติยศในชีวิตของครูสง่า อารัมภีร เพราะเพลงนี้ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นครั้งแรกในชีวิตของท่าน ใครที่ได้ดูละครเรื่อง "พันท้ายนรสิงห์" พอถึงตอนที่พระเอกออกมาครวญเพลง "น้ำตาแสงไต้" ต่างก็น้ำตาไหลด้วยความซาบซึ้ง
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ เพลง "น้ำตาแสงไต้" สามารถเรียกคะแนนนิยมจากประชาชนได้อย่างท่วมท้น เพราะใช้ร้องประกอบการแสดงเรื่อง "พันท้ายนรสิงห์" ถึง ๒๘ รอบด้วยกัน
ครูสง่า อารัมภีรตอบรับด้วยรอยยิ้มเมื่อผมบอกว่า ผมจะเขียนถึงเบื้องหลังของเพลงต่าง ๆ โดยมีเพลงของท่านด้วย เพราะผมมีความประทับใจและซาบซึ้งในคุณค่าของเพลงเก่ามาก งดงามไปด้วยวรรณศิลป์ กว่าจะกลั่นกรองออกมาได้ต้องประดิดประดอยถ้อยคำด้วยความวิจิตรบรรจง ไม่ใช่สักแต่ว่าใช้คำเพียงดาด ๆ ขาดวรรณศิลป์เหมือนเพลงวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน
หลังจากผมแสดงความตั้งใจให้ทราบ ครูสง่า อารัมภีรก็ดึงนามบัตรออกมาจากกระเป๋าเงินให้ผม บอกว่าถ้ามีอะไรให้โทรไปคุยกับท่านได้ ผมดูที่นามบัตรจึงรู้ว่า นอกจากท่านจะได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว ท่านยังได้รับการยกย่องให้เป็นพ่อตัวอย่างเมื่อปี ๒๕๓๖ อีกด้วย
ความตั้งใจของผมในตอนนั้น ผมจะเปิดคอลัมน์เกี่ยวกับเบื้องหลังเพลงสมัยเก่าที่นิตยสาร สตรีสาร โดยสืบค้นถึงรากเหง้าและความเป็นมาของเพลงรุ่นลายครามเหล่านี้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะครูเพลง เรื่องนี้เป็นงานหนักมาก ต้องใช้เวลาและความอดทนมาก เพราะต้องตระเวนไปเคารพครูเพลงที่มีอยู่ในประเทศไทย เพื่อสอบถามถึงความเป็นมาของเพลงที่ท่านแต่ง ด้วยภาระการงานและส่วนตัวที่ต้องดูแลบิดามารดา จนแล้วจนรอดผมก็ไม่ได้ลงมือทำสักที จนกระทั่งนิตยสารสตรีสารปิดตัวลงอย่างน่าเสียดายในปี ๒๕๓๘
มีเรื่องน่าขันแต่ตลกไม่ออกที่ครูสง่า อารัมภีรเล่าให้ผมฟังคือ มีบริษัทสร้างละครโทรทัศน์โทรศัพท์ไปบอกว่า อยากให้แต่งเพลงละครให้ด้วย จะให้ค่าแต่งเพลงสองพันบาท เขาพูดอยากออกตัวว่าบริษัทให้ได้แค่นี้ (แต่ทั้งเนื้อร้องและทำนอง) ครูสง่า อารัมภีรตอบไปอย่างสุภาพว่า ถ้าให้ได้แค่นี้ก็ให้คนอื่นแต่งเถอะ
ผมฟังแล้วรู้สึกสังเวชใจ เขาพวกนั้นตีค่างานศิลปะระดับบรมครูที่เป็นศิลปินแห่งชาติเพียงเท่านี้เองหรือ ผลงานเพลงอันทรงคุณค่าของครูสง่า อารัมภีรประดุจเพชรเม็ดงามที่ต่ค่าไม่ได้ด้วยซ้ำ ท่านเป็นบรมครูสองพันเพลงที่เจียระไนแล้วจนแวววาวจนใคร ๆ ต่างก็ยกย่องว่าเป็น "ครูเพลง"
ครูสง่า อารัมภีรคุยกับผมได้สักพักท่านก็ขอตัวกลับ ท่านบอกว่าลูกเป็นห่วงไม่อยากให้มาเท่าไหร่ ผมเดินไปส่งท่าน เมื่อท่านบอกว่าขากลับต้องกลับเอง ตอนมาลูกมาส่ง ขณะที่เดินไปตามทางเดินที่ลาดด้วยกระเบื้องขัดมันเป็นทางยาว ผมพยายามเดินช้า ๆ ที่สุด ซึ่งปกติผมเป็นคนเดินเร็วเพราะท่านเดินต้วมเตี้ยมอย่างเชื่องช้าตามวัย เดินไปพลางคยุกันไปพลาง ผมรู้สึกภาคภูมิใจมากที่ได้มีโอกาสได้ใกล้ชิด "ครูเพลง" ครูสง่าอารัมภีร ซึ่งครั้งหนึ่งผมเคยได้ยินแต่เพลงของท่านและเห็นแต่ชื่อของท่านในหนังสือเพลง
ยามรักษาการณ์ที่ยืนอยู่ใกล้ ๆ บริเวณทางออกยิ้มบานให้ครูสง่า อารัมภีร เมื่อเห็นท่านเดินมาก็รีบไปเรียกรถแท็กซี่ให้ ครู่เดียวรถแท็กซี่ก็วิ่งมาจอดเทียบใกล้ ๆ ก่อนที่ครูสง่า อารัมภีร์จะเดินไปขึ้นรถแท็กซี่ ท่านยัดเงินใส่มือยามคนนั้นเป็นน้ำใจ ผมมองตามจึงรู้ว่าเป็นใบละ ๕o บาท ผมรีบทักท้วงเบา ๆ ว่า เยอะเกินไปครับ ท่านตอบสั้น ๆ ว่า "ช่างเถอะ ให้เขา" เมื่อยามรักษาการณ์คนนี้ได้เงินยิ่งยิ้มบานกว่าเดิม ผมยืนส่งท่านด้วยสายตาจนกระทั่งท่านก้าวขึ้นรถแท็กซี่ และรถก็วิ่งออกไปจากศูยน์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยจนลับสายตา
ผมพบกับครูสง่า อารัมภีรอีกประมาณ ๒ - ๓ ครั้งหรือกว่านั้นในงานของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ผมเดินเข้าไปไหว้ท่านทุกครั้งแม้ท่านจะจำผมไม่ได้ก็ตาม เพราะท่านสูงวัยแล้วอีกอย่างนาน ๆ จะเจอท่าน ท่านจะนั่งฟังอยู่ด้านหลังสุดของห้องอย่างสงบนิ่ง เหมือนครั้งที่ผมเจอท่านครั้งแรกที่ศูยน์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ในงานวันนักเขียนปีหนึ่ง ผมเข้าไปไหว้ครูสง่า อารัมภีรเหมือนเคย ท่านทำหน้าฉงนเช่นเดิม เมื่อผมแนะนำตัวและท้าวความหลัง เป็นธรรมดาที่ท่านจำไม่ได้เพราะนาน ๆ จะเจอกันสักครั้งและไม่ได้คลุกคลีใกล้ชิดกับท่านด้วย ท่านให้คนไปซื้อเบียร์กระป๋องเย็นเจี๊ยบมาเป็นโหล แล้วดื่มอย่างมีความสุข ยังชวนใคร ๆ รวมทั้งผมดื่มด้วย
ผมนึกถึงความใจดี มีเมตตาของท่านเมื่อครั้งที่ท่านยัดเงินใบละ ๕o บาทให้ยามรักษาการณ์ของศูยน์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย พลางมองถุงพลาสติกใส่เบียร์กระป๋องที่วางอยู่บนโต๊ะซึ่งท่านให้ซื้อมาเลี้ยง ทำให้เข้าใจยิ่งขึ้นว่าท่านเป็นคนมีน้ำใจเผื่อแผ่ต่อคนอื่น ๆ แม้กระทั่งกับผู้ที่ด้อยกว่า ไม่ถือตัว แต่ผมรู้สึกกระดากที่จะดื่มเบียร์กับท่าน เพราะในความรู้สึกของผมนั้นท่านเป็น "ครูเพลง" ที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ผมจะร่วมวงกับท่านได้จึงขอตัวไปนั่งที่อื่น
ผมพบกับครูสง่า อารัมภีรอีกหลายครั้งที่สมาคมนักเขียนฯในราวปลายปี ๒๕๔๑ ถึงต้นปี ๒๕๔๒ คราวนี้ท่านไปกับลูกชายของท่านคือ คุณบูรพา อารัมภีรและว่าที่สะใภ้ คุณญาดา อรุณเวช ก่อนที่จะเป็นญาดา อารัมภีรเมื่อ ๓ เดือนก่อนเห็นจะได้ หลังจากนั้นก็ได้ข่าวว่าท่านล้มป่วยจนกระทั่ง...
ท้องฟ้าในคืนแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ ของวันพฤหัสบดีที่ ๑o มิถุนายน ๒๕๔๒ มืดมิดขับบรรยากาศในงานสวดอภิธรรมศพให้ยิ่งดูหม่นเศร้า ราวกับจะไว้อาลัยต่อการจากไปของครูสง่า อารัมภีร แม้จะเป็นเวลา ๒ ทุ่มกว่าแล้ว แต่ผู้คนยังคงอยู่ในงานศพเนืองแน่นจนร้อนอ้าว กระทั่งเวลาประมาณ ๓ ทุ่มเมื่อมีการเคลื่อนย้ายโลงศพไปบรรจุที่ศาลาเก็บศพ ผู้คนส่วนหนึ่งจึงเดินตามไป อีกส่วนหนึ่งต่างทยอยกลับ ขณะที่สายฝนเริ่มโปรยละลิ่วลงมาพอชุ่มฉ่ำ
ศาลาเก็บศพคับแคบเกินกว่าที่จะจุคนได้ทั้งหมด ผู้คนกลุ่มหนึ่งจึงยืนออจุกกันที่ประตู แต่ผมพยายามมุดเข้าไปข้างในจนได้เพื่อซึมซับภาพทุกอย่าง เพื่ออยู่ใกล้ชิดครูสง่า อารัมภีรเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากพระสงฆ์ทำพิธีสวดเสร็จ ทุกคนต่างพากันเข้าไปวางดอกไม้จันทน์ และเคารพศพด้วยจิตอธิษฐานต่ออีกว่า ขอให้ผมมีโอกาสมีชื่อเสียงบ้าง ไม่ขอและไม่หวังว่าจะต้องโด่งดังเป็นพลุ
ผมทั้งเบียดและทั้งมุดเข้าไปถ่ายรูปตรงที่บรรจุศพครูสง่า อารัมภีรจนสำเร็จ เพื่อเก็บภาพนี้ไว้เป็นอนุสรณ์และประทับแน่นในความทรงจำ ศพของท่านบรรจะชั้นบน ข หมายเลข ๒ เมื่อเก็บไว้ครบ ๑oo วัน จะมีการพระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติของครูเพลงระดับศิลปินแห่งชาติ
หลังจากวางดอกไม้จันทน์และเคารพจนครบทุกคนแล้ว เมื่อเดินออกไปนอกศาลาสายฝนก็หลั่งรินลงมาแรงกว่าเดิม ราวกับจะร่ำไห้และแสดงความอาลับต่อร่างที่ดับสังขารของครูสง่า อารัมภีร
เมื่อผมค้นคว้าเพื่อเขียนเรื่องนี้ ทำให้ผมทราบว่าเพลงที่โด่งดังอีกหลายเพลงซึ่งได้ยินกันจนติดหูนั้น ล้วนเป็นฝีมือการแต่งของครูสง่า อารัมภีรทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพลง ทาษเทวี สไบแพร เธออยู่ไหน ฯลฯ แม้ว่าบางเพลงท่านจะแต่งแต่ทำนองก็ไพเราะกลมกลืนกับเนื้อเพลง เช่น เพลงหนึ่งในร้อย ซึ่งแต่งคำร้องโดยแก้วฟ้า ฟังดนตรีเถิดชื่นใจ อันเป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ คืนหนึ่ง แต่งคำร้องโดย พระองค์เจ้าภาณุพันธโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงเรือนแพอันแสนจะไพเราะ ที่ ด้วยภาษาอันงดงามนั้น ท่อนสุดท้ายของเพลงซึ่งปกติของเพลงทั่วไปทำนองจะเหมือนกับท่อนแรก แต่เพลงเรือนแพกลับมีทำนองต่างออกไป ผมได้ยินนักแต่งเพลงรุ่นเก่าเขาเรียกกันว่าท่อน "เลี้ยว" คือตรงท่อนจบที่ร้องว่าครูชาลี อินทรวิจิตร เป็นผู้แต่งคำร้อง ด้วยภาษาอันงดงามนั้น ท่อนสุดท้ายของเพลงซึ่งปกติของเพลงทั่วไปทำนองจะเหมือนกับท่อนแรก แต่เพลงเรือนแพกลับมีทำนองต่างออกไป ผมได้ยินนักแต่งเพลงรุ่นเก่าเขาเรียกกันว่าท่อน "เลี้ยว" คือตรงท่อนจบที่ร้องว่าถึง
"วิมานน้อยลอยริมฝั่ง ถึงอ้างว้างเหลือใจรำพัน หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน ชีวิตกลางน้ำสุขสันต์... โอ้สวรรค์ในเรือนแพ"
นอกจากครูสง่า อารัมภีรจะแต่งเพลงไทยสากลให้นักร้องหลายคนมีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว บางคนอาจจะไม่รู้เลยว่า ท่านยังสามารถแต่งเพลงให้วงดนตรีวัยรุ่นเมื่อเกือบ ๓o ปีก่อน ซึ่งสมัยนี้เรียกว่า เพลงสตริง มีชื่อเสียงโด่งดังทะลุฟ้าเมืองไทยมาแล้ว จนเป็นตำนานกล่าวขานถึงวงดนตรีวงนี้กระทั่งปัจจุบันก็คือ วงดิอิมพอสสิเบิ้ล
ครูสง่า อารัมภีรทั้งแต่งเองคนเดียวและแต่งร่วมกับครูเพลงท่านอื่น ๆ ที่เคยร่วมงานกันมา ได้แก่ ครูชาลี อินทรวิจิตร, ครูสุรพล โทนะวณิก, ครูพยงค์ มุกดา ฯลฯ แต่ไม่ใช่แต่งชนิกดสุกเอาเผากินแบบ "พาณิชย์ศิลป์" โดยใช้ถ้อยคำที่ไม่มีวรรณศิลป์เหมือนนักแต่งเพลงสมัยนี้ ครูสง่าอารัมภีร์ยังคงประณีตในการใช้คำและงามปลั่งด้วยวรรณศิลป์ ทำนองก็ไพเราะถูกใจทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเพลง ทะเลไม่เคยหลับ เจ้าพระยา ล่องวารี ค่าของรัก ฯลฯ
ครูสง่า อารัมภีรสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการแต่งเพลงทั้งเนื้อร้องและทำนอง ให้เข้ากับผู้คนและยุคสมัยได้อย่างกลมกลืน ทำให้วงดิอิมพอสสิเบิ้ลเรียกได้ว่าฟังได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ถึงตรงนี้ผมนึกถึงถ้อยคำของครูสง่า อารัมภีรซึ่งผมคัดลอกมาจากนิตยสารสารคดีปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๘ ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๓๒ ที่เขียนเอาไว้ว่า "กาลเวลาทำให้ศิลปะต้องปรับตัว ศิลปะมันขึ้นกับกาลเวลาและสิ่งแวดล้อม"
หากการปรับตัวในงานเพลงของครูสง่า อารัมภีร เป็นการปรับตัวอย่างมีศิลปะและมีชั้นเชิงสมกับเป็นฝีมือของบรมครู ไม่ใช่เพื่อ "พาณิชย์ศิลป์" ป็นใหญ่ สามารถทำให้คนทุกกลุ่มยอมรับได้อย่างเต็มใจและเต็มภาคภูมิ โดยไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดหรือถูกกรอกหูให้ยอมรับ
ผมรู้สึกสะเทือนใจอยู่ลึก ๆ เมื่อรู้ว่าเพลงของวงดิอิมพอสสิเบิ้ลสองเพลงที่เป็นเพลงโปรดของผม ซึ่งผมเล่นกีตาร์อยู่เป็นประจำนั้น เป็นฝีมือการแต่งทั้งคำร้องและทำนองของครูสง่า อารัมภีร์ นั่นก็คือ ลำนำเพลงรัก และเพลงยอดเยาวมาลย์ ทั้งสองเพลงนี้ไพเราะมากเหลือเกินในความรูสึกของผม
ผมเล่นเพลงลำนำเพลงรักและร้องไปด้วยตั้งแต่สมัยวัยรุ่น จนกระทั่ง ๒o กว่าปีให้หลังผมก็ยังทั้งเล่นและร้องโดยไม่รู้กระดากว่าพ้นวัย ทั้ง ๆ ที่มีการโซโล (solo) กีต้าร์ และมีจังหวะกระแทกกระทั้นแบบวงสตริงสมัยนี้ แต่เพลงนี้ยังคงงดงามอยู่ในใจผมเช่นเดียวกับเพลงยอดเยาวมาลย์ ซึ่งเกลากีต้าร์ดังกรุ๊งกริ๊งเสียงใส ๆ ฟังดูคล้ายเสียงน้ำตกที่ดังแผ่วอยู่ไกล ๆ กล่อมอารมณ์ให้เคลิบเคลิ้มตาม โดยเฉพาะในที่เงียบสงัด ใครได้ฟังจะตกอยู่ในภวังค์โดยไม่รู้ตัว ดังที่ผมเคยเกลากีต้าร์เพลงยอดเยาว์มาลย์เปล่า ๆ สมัยเมื่อวัยรุ่น ให้เพื่อน ๆ ต้องเงี่ยหูฟังมาแล้ว แต่ผมช่างโง่เขลาสิ้นดีที่ตลอดเวลาเกือบ ๓o ปีที่ผ่านมากลับไม่รู้เลยว่า สองเพลงนี้ครูสง่า อารัมภีรเป็นคนแต่ง
ผมเพิ่งรู้ว่าความจริงผมใกล้ชิดครูสง่า อารัมภีรมาก่อนหน้านี้เป็นเวลานานแล้ว ด้วยมนต์ขลังในบทเพลงของท่านที่ผมชื่นชอบและหลงใหล
ขอให้ดวงวิญญาณของครูสง่า อารัมภีรได้โปรดรับรู้ด้วยว่า ผลงานของท่านจะยังคงใกล้ชิดและสถิตในใจผมด้วยความงดงามตลอดไป ดังที่เคยเป็นมาอย่างไม่เสื่อมคลาย และยังคงกังวานอยู่ในใจของใครต่อใครอีกหลายคน
โดยยูร กมลรัตน์ จากหนังสือวัฒนธรรมไทย
ดนตรีบรรเลงสั่งลา...ครูแจ๋ว - สง่า อารัมภีร
วันที่ฟ้าร้องไห้ ครูสง่า อารัมภีร หรือ ครูแจ๋ว ทอดร่างนอนอย่างสงบ ปล่อยให้เวลาของโลกหมุนเวียนเปลี่ยนโมงยามไปตามวิถีแห่งธรรมชาติ...ลูกศิษย์ลูกหาและผู้คนมากมาย หลั่งไหลจากทั่วสารทิศ เพื่อมาคารวะดวงวิญญาณของสุภาพบุรุษนักประพันธ์ผู้นี้ ผู้ที่เป็นนักดนตรี - นักแต่งทำนองและเนื้อร้องที่มีผลงานกว่า ๒,ooo เพลง บรรเลงทั่วไทยและทั่วโลกมาเกือบ ๕ ทศวรรษ ผลงานมากมายที่กลายเป็นเพลงอมตะตราบเท่าทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาแสงไต้, หนึ่งในร้อย, เรือนแพ, ทหารเสือพระนเรศวร ฯลฯ
เป็นนักคิดนักเขียน หลากนามปากกา อาทิ มหาเมฆ, อัญชลี ณ เวียงฟ้า, แจ๋ว วรจักร ประจำหนังสือพิมพ์ยุคก่อน อาทิ พิมพ์ไทย, ดาราไทย, สยามสมัย, เสียงปวงชน, ฟ้าเมืองไทย, ไทยโทรทัศน์, ฟ้าเมืองทอง, ถนนดนตรี ฯลฯ
เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) พ.ศ. ๒๕๓๑
เป็นพ่อตัวอย่างของประเทศปี ๒๕๓๘ และเป็นพ่อตัวจริงของลูก ๔ คน
เป็นคนที่มีคติประจำใจตลอดมา ชีวิตคือ "มีแต่ความรัก และอภัยให้แก่ผู้อื่น"
เป็นผู้มีตำนานความรักที่บริสุทธิ์ สะอาด มั่นคงจวบจนวินาทีสุดท้ายแห่งชีวิต
ฯลฯ
เติบโตมาพร้อมเสียงเพลง
ครูแจ๋วเกิดที่ตำบลบางขุนพรหมเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๔๖๔ เป็นหนึ่งในพี่น้อง ๗ คนของครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน โดยฝ่ายพ่อสมบุญ มีอาชีพทำดอกไม้ไฟ และแม่ชื่อพิศ เป็นชาวนา ต่อมาพ่อแม่ได้ยกให้เป็นลูกบุญธรรมของนาวาอากาศเอก ชุณสวัสดิ์ทิฆัมพร และนางพิศวง (หรือทรงสอางค์) ทิฆัมพร ทั้งยังมีการเปลี่ยนดวงชะตามาเป็นคนเกิดวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๖๖ โดยเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตครูแจ๋วดีขึ้น
ครูแจ๋วเติบโตมาพร้อม ๆ กับเสียงดนตรีที่เป็นเพื่อนในวัยเด็ก ซึ่งครั้งหนึ่งครูแจ๋วเคยให้สัมภาษณ์ว่า "ตั้งแต่จำความได้ ครูก็ผูกพันอยู่กับเสียงดนตรีแล้ว เพราะสมัยเด็กครูอยู่บ้านแถวบางขุนพรหม ซึ่งละแวกนั้นเต็มไปด้วยนักดนตรีมากมาย เราได้ยินได้ฟังบ่อยๆเข้าก็รู้สึกสนใจ และตอนนั้นครูชอบฟังเพลงของพรานบูรพ์ ซึ่งเป็นเพลงประกอบการแสดงละคร ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ฝังใจให้คิดอยากจะแต่งเพลงประกอบละครขึ้นมาบ้าง"
ทางด้านการเรียนของครูแจ๋วอยู่ในเกณฑ์ดีมาก รักการอ่านหนังสือมาตั้งแต่อายุ ๑o ขวบ ชอบอ่านนวนิยาย รักบทประพันธ์ประเภทกาพย์ห่อโคลงเป็นพิเศษ แต่เรียนจบแค่ชั้นมัธยมปีที่ ๓ จากนั้นก็เริ่มฝึกงานแก้เครื่องยนต์ที่หมวดการบินน้อยที่ ๔ จังหวัดลพบุรี
เมื่อครอบครัวย้ายกลับมาประจำกองทัพอากาศ กรุงเทพฯ ครูแจ๋วได้เรียนดนตรีอย่างจริงจังกับครูคนแรกในชีวิตคือ เรืออากาศโทโพธิ์ ศานติกุล (โพธิ์ดำ) ต่อมาได้เป็นศิษย์ครูโพธิ์ ชูประดิษฐ์(โพธิ์ขาว) นอกจากนี้ยังได้รับใช้ใกล้ชิดพระเจนดุริยางค์ ผู้แต่งทำนองเพลงประกอบ และขุนวิจิตรมาตราผู้แต่งเนื้อร้องเพลงประกอบภาพยนตร์
อมตะกับเพลง "น้ำตาแสงไต้"
ช่วงที่พ่อแม่บุญธรรมได้ก่อตั้งคณะละครศิวารมณ์ขึ้นในปี ๒๔๘๗ และแสดงประจำที่ศาลาเฉลิมกรุง ครูแจ๋วจึงได้เป็นนักดนตรี นักแต่งเพลงประจำคณะ โดยเฉพาะเพลง "น้ำตาแสงไต้" ในละครเรื่องพันท้ายนรสิงห์
แต่เพลงน้ำตาแสงไต้ไม่ใช่เพลงแรกที่ครูแจ๋วแต่ง แต่เป็นเพลงแรกที่ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ กลายเป็นเพลงอมตะจนทุกวันนี้ เพลงแรกที่แต่งคือเพลง "บัวงาม" แต่งในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๔๘๕ "แต่งเพลงแรกๆยังไม่ได้ค่าจ้างเท่าไหร่หรอก เพราะเป็นงานของราชการ จนเมื่อครูลาออกจากทหารอากาศ แล้วมาเป็นนักแต่งเพลงประจำคณะละครศิวารมย์ แต่งเพลงประกอบละครเวทีแล้วนั่นแหละจึงได้ค่าจ้างกับเขา จำได้ว่าแต่งเพลงประกอบละครเวทีครั้งแรกครูได้ค่าจ้างมาหนึ่งชั่ง...โอ้โฮ! มากทีเดียวนะ เพราะสมัยนั้นทองคำบาทละ ๔o บาทเท่านั้นเอง เงินชั่งที่ใช้มายังไม่หมด"
ชื่อเสียงจาก "น้ำตาแสงไต้" ส่งผลให้ครูแจ๋วเนื้อหอมในแวดวงคณะละคร มีการติดต่อขอให้แต่งเพลงกับหลายคณะ นับจำนวนเพลงที่ผลิตในยุคนั้นไม่น้อยกว่า ๒๕o เพลง
"สมัยก่อนพอนักร้องเขาจะร้องเพลงของครูอัดเสียง เขาก็จะโทรมาบอก ผมจะอัดเพลงของครูนะ เราก็จะฝากให้นักร้องช่วยเบิกเงินค่าลิขสิทธิ์เพลงให้เราด้วย แต่ส่วนมากไม่ค่อยได้เพราะเขามักจะหนีเรา (หัวเราะ) ไม่ค่อยยอมจ่าย แต่สมัยนี้ เวลาที่ห้างเทปจะนำเพลงครูไปอัดใหม่ เขาจะโทรมาบอกแล้วก็ส่งธนาณัติมาให้ ปีก่อนได้เพลงละห้าพันบาท มาปีนี้เพิ่มให้เพลงละหมื่นซึ่งครูก็พอใจแล้ว ส่วนเขาจะเอาเพลงเราไปอัดขายได้มากมายกี่แสนกี่ล้านมันก็เรื่องของเขา เราไม่ค่อยมานั่งคิดในจุดนี้" ครูแจ๋วให้สัมภาษณ์ในหนังสือ "คอนเสิร์ตเชิดชูครูเพลง สง่า อารัมภีร" เมื่อปี ๒๕๓๘"
"เท่าที่ผ่านมาครูมีรายได้จากการแต่งเพลงนี่แหละที่นำมาเลี้ยงดูครอบครัวและลูก ๆ สี่คน จนกระทั่งเขาเติบโตและมีงานการทำกันหมดแล้ว...เราได้มาเท่าไหร่เราก็ใช้เท่านั้น ไม่ได้ฟุ่มเฟือยอะไรมันก็พออยู่รอด
ความรักของครูแจ๋ว
ชีวิตรักของ "ครูแจ๋ว" บางครั้งก็เศร้าแสนเศร้า แต่งบางคราวก็สุขสดชื่น หรือนี่เป็นที่มาของบทเพลงรักอมตะหลายต่อหลายเพลง ในบทบันทึก (สาธารณะ) ที่ครูแจ๋วเขียนถึง "นางในดวงใจของข้าพเจ้ามีอยู่ ๓ คนด้วยกัน" ณ วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๘ เวลา ๑๘.๓o น. คงพอจะฉายภาพความรักของศิลปินผู้นี้ได้บ้าง
คนแรกเป็นศิษย์เรียนเปียโน แต่ต่อมามีนายทหารนักบินมาโฉบเธอเอาไป สร้างความเสียใจให้ครูอย่างสุดซึ้ง แต่อกหักครั้งนี้ ครูแจ๋วได้ตั้งปฏิญาณไว้ว่าจะต้องเป็นนักแต่งเพลงที่โด่งดังให้ได้
คนที่สองเป็นนางเอกคณะละครศิวารมย์ ซึ่งต่อมาได้แต่งงานกับนักแสดงด้วยกัน ความร้าวรอนจากความรักทำให้เพื่อนอย่าง ชาลี อินทรวิจิตร มองเห็นศักยภาพการเป็นนักแต่งเพลงของเพื่อนอย่างเต็มเปี่ยม
"ตรงนี้มั้งที่ทำให้เพลงของสง่า อารัมภีรมีมนต์ขลัง แม้หัวใจสลายฉีกขาดเป็นเสี่ยง ๆ เพลงทุกเพลงก็มีตัวโน้ตแห่งน้ำตา ไม่ว่าจะเป็น แม้แต่ทะเลยังระทม รักข้ามขอบฟ้า เสียสละรัก เมื่อคืนนี้ พี่ยังรักเธอไม่คลาย...
ก็ยังแฝงความวิปโยคไว้ในเพลงเกือบจะทุกเพลง นั่นแหละเสน่ห์ของเพลงล่ะ ที่ใคร ๆ ก็ค้นหาไม่พบ แต่แจ๋ว หรือสง่า อารัมภีร์พบมันแล้วกอดมันเหมือนเพื่อนสนิท เหมือนท้องฟ้ากอดขุนเขา"
คนรักคนท้ายสุดและสุดท้ายคือ วิภา ชาติบุตร์ มีชื่อเล่นๆว่า "อู๊ด" เป็นหญิงสาวที่ครูแจ๋วได้แต่งเพลง "รักคนที่เขารักเราดีกว่า" และเป็นคู่ชีวิตคนเดียวมาตลอดชั่วชีวิตของครู... "ขอมีลูก ๑๖ คนได้ไหม จะตั้งชื่อให้เป็นทิศเลยว่า อุดร อุตลีสาน อิสาน ปุริมิสาน บูรพา ปุริอาคเนย์ อาคเนย์ ทักษิณอาคเนย์ อุดร พายัพ ปัจฉิมพายัพ ฯลฯ วิภาหัวเราะตอบว่า "ถ้าช่วยกันท้องก็จะเลี้ยงให้ทั้ง ๑๖ คน
ดังนั้น เมื่ออยู่กินเพราะเข้าหาแบบโบราณก็มีลูกได้ ๔ คน ในปี ๒๔๙๒ ชื่อพัทยา ปี ๒๔๙๔ ชื่ออาคเนย์ ปี๒๔๙๖ชื่อบูรพา และปี ๒๔๙๘ ชื่อพายัพ
...เราอยู่กันอย่างมัธยัสถ์ ไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งกันเลยครับ ไม่มีเรื่องก็ไม่พูดกัน มองตากันก็รู้ ได้เงินมาผมแบ่งเป็นสี่ส่วน ให้อู๊ดไว้ ๓ ส่วน ซื้อข้าวปลาอาหาร ๑ เครื่องแต่งตัว หนังสือเรียนของลูกๆ ๑ ค่าเจ็บไข้ได้ป่วย ๑ ซึ่งพวกเราไม่ค่อยได้เจ็บไข้ได้ป่วย เก็บติดตัวไว้ซื้อเหล้าอาหารแกล้มแต่ไม่ค่อยได้จ่าย เพราะนายห้างกมล สุโกศล และพี่บุญวงศ์ อมาตยกุลและแม่ทัพกฤษณ์ สีวะรา ท่านสั้งคนเก็บเงินให้เข้าบัญชีของท่าน ท่านว่า "เลี้ยงได้แจ๋วน้องชาย มันไม่สิ้นเปลืองเท่าไหร่หรอกเว้ย"
ท่านจากไปแล้วผมยังทำบุญไปให้ท่านเสมอ ๆ และทำบุญให้คนรักที่จากไปโลกอื่นด้วย อยู่กันในโลกนี้หากันกันเองก็แล้วกันครับผม...
นั่นเป็นบันทึกแห่งความรักก่อนการจากไปของครูแจ๋วเพียง ๕ ปี...เวลานี้ในวันวัยที่ ๗๘ ปี กับมรสุมโรคร้ายรุมเร้า "ครูแจ๋ว" ได้สละร่างสิ้นแล้ว คงฝากผลงานอันมีค่ามหาศาลไว้กับแผ่นดิน พร้อมกับเมล็ดพันธุ์แห่งความรัก ความศรัทธาต่อเพื่อนมนุษย์ไว้ตราบนานเท่านาน...
โดยนันทพร ไวศยะสุวรรณ์ จากหนังสือเนชั่นสุดสัปดาห์
บีจีจากคุณยายกุ๊กไก่ ไลน์จากคุณญามี่
Free TextEditor
Create Date : 22 ธันวาคม 2548 |
Last Update : 29 กุมภาพันธ์ 2555 22:03:58 น. |
|
6 comments
|
Counter : 3806 Pageviews. |
|
|
|
โดย: haiku วันที่: 22 ธันวาคม 2548 เวลา:20:12:38 น. |
|
|
|
โดย: juckjuck006 IP: 125.27.66.179 วันที่: 23 พฤศจิกายน 2550 เวลา:13:06:11 น. |
|
|
|
โดย: haiku วันที่: 23 พฤศจิกายน 2550 เวลา:23:14:11 น. |
|
|
|
โดย: haiku วันที่: 6 ธันวาคม 2550 เวลา:21:15:07 น. |
|
|
|
โดย: haiku วันที่: 16 ธันวาคม 2550 เวลา:16:49:10 น. |
|
|
|
|
|
|
|
อย่างน้อยท่านก็ได้ฝากผลงานดีๆ ไว้ให้กับโลก
ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาใช้ชีวิตบนโลกนี้
ภาวนาให้ท่านไปสู่สุขคตินะคะ