happy memories
Group Blog
 
 
ธันวาคม 2548
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
22 ธันวาคม 2548
 
All Blogs
 

เพลงหวานแสนเศร้า "น้ำตาแสงไต้"





น้ำตาแสงไต้

นวลเจ้าพี่เอย
คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ
ถ้อยคำเหมือนจะชวน
ใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัย
น้ำตาอาบแก้ม
เพียงแซมเพชรไสว
แวววับจับหัวใจ
เคล้าแสงไต้งามจับตา

นวลแสงเพชร
เกล็ดแก้วอันล้ำต่า
คราเมื่อแสงไฟส่องมา
วับวาวชวนชื่นชม
น้ำตาแสงไต้
ดื่มใจพี่ร้าวระบม
ไม่อยากพรากขวัญภิรมย์
จำใจข่มใจไปจากนวล


เพลงหวานแสนเศร้าอันไพเราะที่ให้ความประทับใจตั้ง แต่แรกได้ยิน เพลงที่มีเบื้องหลังน่าอัศจรรย์ คุณบูรพา ทายาทของครูสง่า อารัมภีร เขียนถึงเพลงนี้ไว้ในหนังสือ "เบื้องหลังเพลงรัก" ไว้ดังนี้ค่ะ

พ่อเล่าว่า ก่อนจะแต่งเพลง "น้ำตาแสงไต้" ได้เมื่อปลายปีพ.ศ.๒๔๘๗นั้นได้เขียนเนื้อเพลงมาก่อนแล้ว ซึ่งเพลงแรกที่แต่งขึ้นในชีวิตก็คือ "บัวงาม" หรือ "บุปผาไทย" แต่งตอนที่น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯปีพ.ศ.๒๔๘๕ เวลาผ่านมานานตอนนี้จำเนื้อทำนองไม่ได้แล้ว เป็นการเขียนให้กับกองดุริยางค์ทหารอากาศ

ครั้งนั้นกองดุริยางค์ทหารอากาศมีนักประพันธ์ที่พ่อถือเป็นครู เป็นแบบอย่างในการแต่งเพลงคือ ครูโพธิ์ ศานติกุล(โพธิ์ดำ) และ ครูโพธิ์ ชูประดิษฐ์(โพธิ์ขาว) สำหรับคำร้องนั้นคือ เรืออากาศโททองอิน บุญยเสนา มีนามปากกาว่า "เวทางค์" พ่อชอบให้พวกลูกๆเรียกว่า "ลุงผี" (แต่ตัวพ่อเองเรียกว่า "พี่อิน" ไม่ยักเรียกว่า "พี่ผี") พ่อพูดเสมอว่า ลุงผีนี่เป็นเสมือนครูแห่งชีวิต คบหากันมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนสงครามเลิกเรื่อยมาจนพ่อมาอยู่กับคณะละครเวที "ศิวารมณ์" ส่วนลุงผีรับราชการทหาร แล้วต่อมาขอลาออกจากราชการมามีอาชีพเขียนหนังสือขายอย่างเดียว เคยแต่งละครให้คณะศิวารมณ์แสดงด้วยเรื่อง มณฑาทิพย์ ดำรงประเทศ และฟ้าประกาศิต ผมรู้ว่าพ่อกับลุงผีสนิทกันมากเพราะชอบบางอย่างเหมือนกัน นั่นคือตั้งวงเสวนาแกล้มสุราด้วยกันเป็นประจำ และลุงผีนี่เองที่เป็นพ่อสี่อให้พ่อ ชักนำทุกอย่างให้พ่อกับแม่ของผมได้มาอยู่กินด้วยกันตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๙o โน่น ผมจำได้ว่าตัวท่านนั้นมีรูปร่างผอม ๆ ดำ ๆ ตัวเล็ก ๆ หน้าเหลี่ยม คิ้วดกดำ เวลาพูดมีเสียงดัง ชอบออกท่าทางไปด้วย และที่ผมจำได้มาตลอดคือ ท่านชอบทำหน้าทำตาหลอกล้อเด็กที่อยู่ใกล้ ๆ ให้กลัวสมกับชื่อของตัวเองที่ว่า "ผี" นั่นแหละ

พ่อบอกว่าปีนั้นละครศิวารมณ์กำลังซ้อมละครเรื่อง "พันท้ายนรสิงห์" อยู่ที่ศาลาเฉลิมกรุง มี สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ แสดงเป็นพระเอก สุพรรณ บูรณะพิมพ์ แสดงเป็นนางเอก มี ครูเนรมิต และ ครูมารุต เป็นผู้กำกับละคร ตอนนั้นพ่อเป็นนักเปียโนประจำคณะละครนี้ ต้องเล่นดนตรีให้นาฏศิลป์ซ้อมและต่อเพลงให้นักร้อง พ่อบอกว่าช่วงนั้นเล่นเปียโนจนเมื่อยนิ้วไปหมด จนเหลือเวลาอีก ๔-๕ วันก่อนละคร "พันท้ายนรสิงห์" จะแสดงจริง และทุกๆอย่างไม่ว่าจะเป็นการแสดง ตัวละคร ฉาก นาฏศิลป์ พร้อมที่จะแสดงได้แล้ว ขาดแต่เพลงเองของเรื่องคือ "น้ำตาแสงไต้" ทำนองยังไม่เสร็จ เพราะคณะศิวารมณ์สมัยนั้นมีผู้แต่งเพลงให้คือ คุณประกิจ วาทยากร และ ครูโพธิ์ ชูประดิษฐ์ แต่ทำนองเพลงที่ทั้งสองท่านส่งมายังไม่เป็นที่ถูกใจ เจ้าของเรื่องและผู้กำกับที่ต้องการให้เป็นเพลงที่มีสำเนียงไทยแท้ มีวิญญาณไปในทาง "หวานเย็นและเศร้า" ยิ่งใกล้วันแสดงเข้ามา ทำนอง "น้ำตาแสงไต้" ก็ยังไม่เสร็จ ทำให้เจ้าของเรื่อง ผู้กำกับและผู้ร่วมงานต่าง ๆ อึดอัดใจไปตาม ๆ กัน

พ่อเล่าว่า เย็นวันหนึ่งหลังจากเลิกซ้อมดนตรีแล้ว ลงมาด้านหน้าของศาลาเฉลิมกรุงก็ได้ยินเสียงเรียกชื่อตัวเอง คนที่เรียกก็ไม่ใช่ใคร "ลุงผี" นั่นเองยืนยิ้มอยู่ หลังจากทักทายปราศรัยกันแล้วก็ชวนกันไปที่ร้านโว่กี่ (เดี๋ยวนี้หายไปไหนแล้วก็ไม่รู้) เพื่อตั้งวงเสวนาแกล้มสุรากันให้ครึกครื้นอย่างที่เคยปฏิบัติมา สุรายี่ห้อ "แมวคู่" ที่สั่งมาครั้งแรกหมดไปแล้วหนึ่งขวดพร้อมกันแกล้มและโซดา "แมวคู่" ขวดที่สองก็ตามมาอยู่บนโต๊ะ การเสวนาเริ่มออกรสชาติ ลุงผีถามพ่อถึงกิจการของคณะศิวารมณ์ พ่อตอบว่า "ตอนนี้ทุกๆคนเป็นห่วงทำนองน้ำตาแสงไต้ เพราะผู้แต่งส่งมาให้ยังไม่เป็นที่พอใจของผู้กำกับและเจ้าของเรื่อง เพราะต้องการสำเนียงไทยแท้และมีวิญญาณเพลงทางหวานเย็นและเศร้า" ลุงผีบอกว่า "เพลงไทยนั้นมีเยอะแต่ที่หวานเย็นและเศร้านั้นมีน้อย แต่ที่อั้วชอบมีสองเพลงคือ "เขมรไทรโยค" และ "ลาวครวญ" เท่านั้น ไม่ทันขาดคำก็ร้องเพลง "เขมรไทรโยค" ให้ฟัง ร้องยังไม่ทันจบเพลงก็ขึ้นเพลง "ลาวครวญ" สลับกันไปอย่างนี้เรื่อยๆ ลุงผีร้องเสียงดังและทำท่าทางประกอบด้วย เป็นที่ฮือฮาของคนในร้านหลายๆโต๊ะ พอเห็นคนหัวเราะแกก็หยุดร้อง เมื่อแมวคู่ขวดที่สองหมดลงต่างคนต่างก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ลุงผีนั่งสามล้อไปทุ่งมหาเมฆ ส่วนพ่อกลับมาศาลาเฉลิมกรุง แล้วคืนนั้นก็นอนหลับอยู่ที่นั่น พ่อเล่าว่า ฝันเห็นคนสี่คน เป็นผู้หญิงหนึ่ง ผู้ชายสาม ผู้ชายคนแรกได้เล่นเปียโนเพลง "เขมรไทรโยค" ให้อีกสามคนฟัง เมื่อเพลงจบผู้หญิงก็เล่นเปียโนเพลง "ลาวครวญ" ให้ฟัง ต่อจากนั้นผู้ชายคนที่สองได้เล่นเปียโนโดยรวมเอาวิญญาณของ "เขมรไทรโยค" และ "ลาวครวญ" มาคลุกเคล้ากันจนเกิดเป็นเพลงใหม่ขึ้นมา มีความไพเราะมากอีกเพลงหนึ่ง สำหรับชายคนที่สามยืนฟังเพลงด้วยความพอใจ

พ่อถูกคนทำความสะอาดปลุกขึ้นมาในเช้าวันรุ่งขึ้น รีบกลับบ้านไปเพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าและจะกลับมาซ้อมดนตรีใหม่ แต่พอถึงบ้านก็เกิดอาการแฮงค์โอเวอร์ ต้องนอนต่ออีกจนเกือบเที่ยง ตื่นมาอีกทีพอหายสร่างจากฤทธิ์ "แมวคู่" ก็ตรงไปศาลาเฉลิมกรุง เมื่อไปถึงก็ถูกต่อว่าเป็นการใหญ่ เพราะไปทำงานสายและใครๆเขาก็รออยู่ เมื่อซ้อมดนตรีให้นาฏศิลป์และละครจนเลิกแล้ว ตอนนั้นเป็นเวลาบ่ายสามโมง มีคนเหลืออยู่สี่คนคือ ครูเนรมิต ครูมารุต สุรสิทธิ์ และพ่อ ครูเนรมิตบ่นเรื่องทำนองเพลง "น้ำตาแสงไต้" จะไม่ทันวันแสดงละครเพราะเหลือเวลาน้อยเต็มที แล้วตอนนั้นเองพ่อหันไปดีดเปียโนทำนองเพลงขึ้นเพลงหนึ่ง ก็คือเพลงที่ได้ยินมาจากเมื่อคืนที่นอนหลับนั่นเอง ครูเนรมิตถามว่า "สง่า นั่นเล่นเพลงอะไร" พ่อถามว่า "เพราะ...หรือครับ" ครูเนรมิตพยักหน้า และเมื่อพ่อดีดเปียโนจนจบเพลงทั้งครูเนรมิตและครูมารุตก็พูดว่า "นี่แหละ น้ำตาแสงไต้" พ่อรีบจดโน้ตเป็นการใหญ่และประพันธ์คำร้องกันเดี๋ยวนั้น ครูมารุตขึ้น "นวลเจ้าพี่เอย" ครูเนรมิตต่อว่า "คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ" พอจบประโยคแรก สุรสิทธิ์ก็ร้องเกลาทันที ร่วมกันสร้างเพลงไม่ถึง ๒o นาทีก็สำเร็จ พ่อบอกว่าเมื่อละคร "พันท้ายนรสิงห์" แสดงมาถึงฉากสุดท้ายและทำนองเพลง "น้ำตาแสงไต้" ดังขึ้น คนที่เข้ามาดูละครร้องไห้กันทั้งโรงเลย สำหรับ "ลุงผี" เมื่อพ่อแต่งเพลงสำเร็จสามารถเกิดในวงการเพลงได้แล้ว มักจะพาพ่อไปเจอใครต่อใครทั้งละครต่างคณะหรือพวกนักเขียนสมัยนั้น แล้วจะแนะนำว่า "นี่แหละ...สง่า...คนแต่งเพลงน้ำตาแสงไต้...น้องชายอั้ว" อยู่เสมอ

ผู้ขับร้องเพลง "น้ำตาแสงไต้" คนแรกคือ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ แต่ไม่มีการบันทึกเสียง ต่อมามี ฉลอง สิมะเสถียร, กำธร สุวรรณปิยะศิริ, ชรินทร์ นันทนาคร, ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา นำไปขับร้อง พร้อมกับได้บันทึกเสียงไว้ด้วย ครั้งที่ศาลาเฉลิมไทยได้นำละคร "พันท้ายนรสิงห์" แสดงเป็นเรื่องสุดท้ายก่อนที่โรงจะถูกทุบทิ้งเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๓๒ ศรันยู วงศ์กระจ่าง ก็ได้ร้องเพลงนี้ด้วยเช่นกัน

คุณไพวรินทร์ขาวงาม เขียนถึงเพลงนี้เพื่อไว้อาลัยครูสง่า อารัมภีร์ ในคอลัมน์ "จากคอนโดมีเนียมชานกรุง" วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๒

น้ำตาแสงไต้

ระหว่างนี้บทเพลงหลายๆเพลงของ "ครูแจ๋ว" คงจะได้ขับขานวิญญาณภาษาอย่างยิ่งใหญ๋อีกครั้ง อันเป็นการไว้อาลัยแก่การจากไปของผู้ที่ประพันธ์มันขึ้นมา

สง่า อารัมภีรผู้ล่วงลับในวันเฉียดแปดสิบ ลองคิดดู...มากกว่าอายุสองเท่าของผมเสียอีก คนที่มีอายุยืนยาวขนาดนี้และมีผลงานเพลงมากมายนับพันๆนั้น จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เพลงของครูย่อมเข้าสู่หูใส่ใจของผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย

เอาแค่เพลง "น้ำตาแสงไต้" ซึ่งว่ากันว่า เป็นเพลงที่มอบความสำเร็จครั้งสำคัญให้แก่ผู้ประพันธ์ในวัยเพียงยี่สิบสี่ เดี๋ยวนี้ไปไหนมาไหนก็ยังมักได้ยินคนครวญเพลงนี้

ผมมีช่างตัวผมประจำตัวคนหนึ่ง ชื่อ "ลมหวล" ความจริงทรงผมของผมนั้นตัดง่ายมาก แค่ถาก ๆให้เตียนเข้าไว้ก็ใช้ได้ แต่ที่ชอบช่างตัดผมคนนี้เพราะแกอายุเจ็ดสิบกว่าแล้วยังแข็งแรก ความจำดี ชอบเล่าเรื่องราวในอดีตให้ฟัง แกผ่านเกษาโลมาของบุคคลมาแล้วหลายอาชีพ ทั้งนักการเมือง นักแสดง นักหนังสือพิมพ์ นักธุรกิจ ฯลฯ แกจึงย้อนอดีตให้ผมฟังเป็นฉาก ๆ ว่าได้เคยไปดูละคร "พันท้ายนรสิงห์" ที่ศาลาเฉลิมไทยและประทับใจเพลง "น้ำตาแสงไต้" ตั้งแต่ยังหนุ่ม แถมว่าเนื้อเพลงให้ฟังอีกด้วย ตอนแกหนุ่ม...ตอนครูแจ๋วประพันธ์เพลงนี้...ผมไม่รู้ยังเป็นธุลีล่องอยู่แถวไหน?...

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง "การกล่อมเกลาทางสังคม" ผ่านผู้คน ผลงาน และความฝังใจในแต่ละยุคสมัย

คนที่ชอบร้องเพลง แต่งเพลงในปัจจุบัน จะมากจะน้อยก็ย่อมถูกกล่อมเกลาจากผลงานของคนรุ่นก่อน ไม่น่าจะมีใครเกิดขึ้นมาลอยๆจากอากาศธาตุ

จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม วัฒนธรรมการเผยแพร่เพลง วัฒนธรรมการเผยแพร่หนังสือ วัฒนธรรมการเผยแพร่ภาพยนตร์ก็อยู่รายรอบตัวเรา และอาจมีผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของเราไม่มากก็น้อยเมื่อโตขึ้น

ผมสนใจเรื่องช่วงวัยและยุคสมัย ว่ากันว่าคนเราจะมีช่วงวัยและยุคสมัยสำคัญของเขาข่วงหนึ่ง เป็นช่วงวัยที่จะชอบและฝังใจกับอะไรอย่างลึกซึ้ง จิตใจยังไม่ถูกระบบความคิดเชิงเหตุผลรบกวนมากนัก ซึ่งก็น่าจะเป็นช่วงวัยเยาว์จนถึงวัยรุ่นหนุ่มสาว

เคยเคลิ้มฝันกับการ์ตูนบางเล่ม เคยคล้อยใจกับหนังไทยบางเรื่อง เคนเคลื่อนอารมณ์กับเพลงบางเพลง แต่เมื่อพ้นช่วงวัยและยุคสมัยมา รสชาติแบบเดิมก็เปลี่ยนไป

กระนั้นก็ตาม เราอาจจำมันได้เป็นอย่างดี เป็นชีวิตพิเศษในความทรงจำ เหมือนคอหนังไทยยุคก่อนยังจำ มิตร ชัยบัญชา และเพชรา เยาวราษฏร์ได้ แม้ปัจจุบันเขาจะหันไปดูโรเบิร์ต เดอ นีโร หรืออัล ปาชิโนแล้วก็เถอะ

พูดถึงครูแจ๋ว พูดถึงช่างตัดผมอาวุโสเคยมีประสบการณ์กับเพลง "น้ำตาแสงไต้" พูดถึงช่วงวัยของการอ่านหนังสือดูหนังฟังเพลงแล้ว ผมอยากจะพูดถึงผู้อาวุโสอีกท่านหนึ่ง

หลายๆคนอาจเรียก สุรพล โทนวณิก ว่า ครูสุรพล แต่ในความผูกพันช่วงวัยหนึ่ง ผมเคยเรียกแกว่า "พี่น้อย" (วันก่อนเห็นแกทางโทรทัศน์ในงานศพครูแจ๋ว)

ครูแจ๋วก็ดี ช่างตัดผมชื่อลมหวลก็ดี พี่น้อยก็ดี อายุอานามคงไม่ห่างกันนัก เรียกว่าเกิดมารว่มยุคสมัยก็ได้กระมัง ทุกคนล้วนอยู่ในฐานะที่ผมจะเรียกว่า "ลุง" ได้ แต่กลับไม่ได้เรียกตามหลักเกณฑ์ ด้วยรู้สึกว่า แต่ละคนต่างดูกระชุ่มกระชวยมีชีวิตชีวาวัยเยาว์

ผมไม่สนิทกับครูแจ๋ว เคยมีรุ่นพี่บางคนแนะนำให้ผมไหว้ด้วยความเคารพ สิ่งหนึ่งที่พบเห็นประทับใจก็คือ ครูเป็นนักร้อง ชอบสมาคมพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ๆอันหลากหลาย

ทำให้นึกเชื่อมโยงถึงช่างตัดผมชื่อลมหวล และนักแต่งเพลงชื่อสุรพล ทั้งนี้ เพียงอยากตั้งข้อสังเกตถึงชีวิตของคนรุ่นเลขหก เลขเจ็ด หรือเลขแปดอะไรก็ตาม ทั้งยังพบเห็นว่ามีสุขภาพใจแข็งแรง มีความคิดอ่านที่ไม่ล้าสมัย คิดว่าส่วนหนึ่งน่าจะเพราะ เขาไม่กักขังตัวเองไว้กับคนรุ่นเดียวหรือกลุ่มเดียว

สมัยผมมีโอกาสทำงานร่วมกับพี่น้อย หลังเลิกงานแกจะปรานีพวกเราหนุ่ม ๆ ด้วยการชวนไปกินอาหารอีสานข้างถนน ใครจะเชื่อว่าคนระดับแกยังชอบเคี้ยวเนื้อย่าง หรือกระทั่งเคี้ยวเม็ดมะขาม (แกบอกว่า การเคี้ยวเม็ดมะขามเป็นสูตรบริหารฟันให้แข็งแรง)

แกเป็นคนมีอารมณ์ขัน เป็นกันเอง ความจำดี เรื่องบางเรื่องทำเอาขำกลิ้งหลายตลบ ผมชอบเพลงแกหลายเพลงเหมือนที่ชอบเพลงครูแจ๋ว บางเพลงเข้าสู่หูสู่ใจโดยไม่รู้ตัว พี่น้อยจะชอบสอบถามความเป็นไปของคนหนุ่ม ชอบอ่านหนังสือที่เด็กวัยรุ่นเขียน ตรงนี้กระมังเป็นโอกาสให้แกยังแต่งเพลงได้ แม้จะอยู่ในวัยร่วงโรย

จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ผมว่าผมได้อะไรไม่น้อยจากความเป็นครูแจ๋ว จากความเป็นพี่น้อย หรือแม้จากความเป็นช่างต่างผมชื่อลมหวล บุคคลล้วนมีแสงสว่างในตัวเอง ผู้มีแสงมากก็แบ่งแก่ผู้มีแสงน้อย แสงจากการใช้ชีวิต แสงจากงานเลี้ยงใจอย่างศิลปะเพลง แสงจากงานเลี้ยงชีพอย่างการตัดผม ล้วนเป็น "แสงไต้" ในสังคมที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน

ในที่นี้ ผมขอละคำเศร้าโศก ขอเขียนคารวะคนรุ่นก่อนด้วยความชื่นใจ ทั้งต่อผู้ที่จากไปและยังอยู่ เชื่อมั่นว่าในความเป็นตัวของตัวเองของใครต่อใครนั้น แต่ละคนย่อมผ่านการกล่อมเกลาทางสังคมด้วย คนต่อคน รุ่นต่อรุ่น มีความหมายของมันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม แม้แต่คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคารพผู้อาวุโสเลย ก็ยังพึงมีพีงได้จากบทความนี้

ยกเว้นคนมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นมาลอย ๆ แบบฉับพลัน จากอากาศธาตุ


บีจีจากคุณยายกุ๊กไก่

Free TextEditor





 

Create Date : 22 ธันวาคม 2548
0 comments
Last Update : 29 กุมภาพันธ์ 2555 22:06:33 น.
Counter : 7689 Pageviews.


haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.