happy memories
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2564
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
12 พฤศจิกายน 2564
 
All Blogs
 
เพลง "บ้านเกิดเมืองนอน ๒๕๖๔"








บ้านเกิดเมืองนอน ๒๕๖๔ เวอร์ชั่นบรรเลงด้วยซอหัวม้า



ได้ฤกษ์เม้าธ์ถึงเพลง "บ้านเกิดเมืองนอน" ที่นำมาร้องใหม่ซะที ทุกวันนี้ก็ยังฮัมเพลงนี้อยู่ตลอด น่าจะเป็นเพลงปลุกใจ (สำนึก) เพลงแรกที่นำมาทำใหม่แล้วถูกใจทั้งคอเพลงรุ่นเก่าและใหม่ ซึ่งไม่แปลกใจเพราะนอกจากจะเป็นผลงานประพันธ์ชั้นเยี่ยมของครูเพลงคู่บุญ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล และ ครูเอื้อ สุนทรสนาน แล้ว (ทั้งสองท่านประพันธ์เพลงคู่กันนับพันเพลงจนได้รับสมญานามว่า “ทำนองเอื้อ-เนื้อแก้ว” และ “แก้วเนื้อ-เอื้อทำนอง”) ยังเอาใจคอเพลงด้วยทำนองหลากหลาย ทั้งร็อก แจ๊ส ป็อบ และ เปียโน

มีเพลงให้ฟังครบทั้งสี่เวอร์ชั่น แต่แปะเพลงที่หัวบล็อกด้วยเพลงบรรเลงด้วยซอหัวม้า ​"หม่าโถวฉิน​” (马头琴) เครื่องดนตรีในวัฒนธรรมมองโกเลีย เพิ่งจะเจอคลิปนี้ บรรเลงได้เพราะมาก ๆ เสียดายที่ในคลิปไม่บอกรายละเอียดว่านักดนตรีเป็นใคร



จากใจไทยคนหนึ่ง
ฝากความถึงทีม " บ้านเกิดเมืองนอน ๒๕๖๔ "

๐ งดงามในความรู้สึก
ปลุกสํานึกรักรากเหง้ารักเสาหลัก
เติมไทยให้เต็มไทยวิไลลักษณ์
ร่วมพิทักษ์บ้านเมืองให้เรืองรอง

๐ สี่โปรดิวเซอร์ สี่เวอร์ชั่น
สิบแปดศิลปินคัดสรรค์เสียงร่วมร้อง
ผสานเสียงถ้อยคําและทํานอง
บวกอีกสองนักแสดงผลึกพลัง

๐ ROCK VERSION หนักแน่นเป็นแม่นมาด
ชโยชาติงดงามด้วยความหวัง
กระแทกจิต กระแทกใจ เมื่อได้ฟัง
ชูกําปั้นปลูกฝังสามัคคี

๐ POP JAZZ VERSION นั้นดูพลิ้ว
ร่วมดีดนิ้วในทํานองกับน้อง-พี่
ความน่ารักและเท่ เสน่ห์พี
ตรึงฤดีทุกสดับประทับใจ

๐ POP ROCK VERSION นั้นเข้มขลัง
เปล่งพลังความจริงอย่างยิ่งใหญ่
ปลุกสํานึกดํารงเผ่าพงศ์ไทย
รักษาไว้เอกลักษณ์นครา

๐ PIANO VERSION นั้นละเมียด
ประกาศเกียรติไทยธรรมสุดลํ้าค่า
ผสานยุคเก่า-ใหม่ อําไพพา
สร้างศรัทธารักบ้านเกิดเมืองนอน

๐ เผยหัวใจไทยแท้ไม่แปรผัน
สี่เวอร์ชั่นแกร่งยิ่งกว่าสิงขร
ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ฉัตรบวร
ยอมให้ใครสั่นคลอนไม่มีทาง

๐ ในนามประชาไทยใจดวงหนึ่ง
สุดซาบซึ้งทุกเวอร์ชั่นที่สรรค์สร้าง
ขอแทนใจด้วยถ้อยพจน์หยดนํ้าค้าง
จรดวางนบนอบมาขอบคุณ


ร้อยกรองโดย เพลงผ้า ปรพากย์
๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๔
จาก เพจชโลธร ควรหาเวช



ooiooi


บ้านเกิดเมืองนอน
เนื้อร้อง ครูเอื้อ สุนทรสนาน
ทำนอง ครูแก้ว อัจฉริยะกุล



บ้านเมืองเรารุ่งรืองเพราะอยู่หมู่เหล่า
พวกเราล้วนพงศ์เผ่าศิวิไลซ์
เพราะฉะนั้นชวนกันยินดี
เปรมปรีดีใจเรียกตนว่าไทย
แดนดินผืนใหญ่มิใช่ทาสเขา

ก่อนนี้มีเขตแดนนับว่ากว้างใหญ่
ได้ไว้พลีเลือดเนื้อแลกเอา รบ ๆ ๆ ไม่หวั่นใคร
มอบความเป็นไทยให้พวกเรา
แต่ครั้งนานกาลเก่า
ชาติเราเขาเรียกชาติไทย

บ้านเมืองควรประเทืองไว้ดั่งแต่ก่อน
แน่นอนเนื้อและเลือดพลีไป
เพราะฉะนั้นเราควรยินดี
มีความภูมิใจแดนดินถิ่นไทย
รวบรวมไว้ได้แสนจะยากเข็ญ

ยากแค้นเคยกู้แดนไว้อย่างบากบั่น
ก่อนนั้นเคยแตกสานซ่านเซ็น
แม้กระนั้นยังร่วมใจ
ช่วยกันรวมไทยให้ร่มเย็น
บัดนี้ไทยดีเด่น ร่มเย็นสมสุขเรื่อยมา

อยู่กินบนแผ่นดินท้องถิ่นกว้างใหญ่
ชาติไทยนั้นเคยใหญ่ในบูรพา
ทุก ๆ เช้าเราดูธงไทยใจจงปรีดา
ว่าไทยอยู่มาด้วยความผาสุข ถาวรสดใส

บัดนี้ไทยเจริญวิสุทธ์ผุดผ่อง
พี่น้องจงแซ่ซ้องชาติไทย
รักกันไว้ให้มั่นคง เชิดธงไตรรงค์ให้เด่นไกล
ชาติเชื้อเรายิ่งใหญ่
ชาติไทยบ้านเกิดเมืองนอน


ooiooi










“บ้านเกิดเมืองนอน” ๒๕๖๔ เพลง “ปลุกใจ” แห่งยุคสมัย
เขียนโดย ซูม


ผมอ่านเจอข่าวเล็ก ๆ ข่าวหนึ่งตั้งแต่สัปดาห์ก่อนโน้นว่า มีการนำเพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” ซึ่งเป็นเพลงปลุกใจที่ผมเคยได้ยินได้ฟังอยู่บ่อย ๆ สมัยเป็นเด็กมาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ ในท่วงทำนองเพลงร็อก และได้มีการเผยแพร่ในยูทูบแล้วเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ที่ผ่านมา




ประสาคนรุ่นเก่าที่ผ่านยุคผ่านสมัยของเพลงปลุกใจมาหลายต่อหลายเพลง รวมทั้งเพลงนี้ด้วยจึงตั้งใจจะหาโอกาสเข้าไปฟังสักครั้ง ว่าจะเหมือนหรือต่าง หรือให้อารมณ์แก่ผมเหมือนที่เคยฟังในยุคก่อน ๆ หรือไม่?




จำได้ว่า เพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” เป็นเพลงของวงดนตรีสุนทราภรณ์...แต่งเนื้อร้องโดย “ครูแก้ว” แก้ว อัจฉริยกุล ให้ทำนองโดย “ครูเอื้อ” เอื้อ สุนทรสนาน เป็นเพลงชนะการประกวดการแต่งเพลงปลุกใจ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ (หลังจากผมเกิด ๔ ปี)




แต่เวอร์ชันที่ผมได้ยินได้ฟังอย่างคุ้นเคย ขับร้องโดย ๔ นักร้องดัง รุ่น พ.ศ. ๒๕๐๐ ต้น ๆ หรือ ๕๐ กว่าปีที่แล้ว ได้แก่ ศรีสุดา รัชตะวรรณ, วรนุช อารีย์, มาริษา อมาตยกุล และ บุษยา รังสี




ผมเพิ่งจะมีโอกาสเข้าไปฟังและชมในยูทูบเมื่อวันหยุด เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ ๙ เมื่อ ๑๓ ตุลาคมที่ผ่านมานี่เองครับ




เขาตั้งชื่อเสียใหม่ว่า “บ้านเกิดเมืองนอน 2564 ROCK FULL VERSION” ขับร้องโดยศิลปินร็อกชื่อดังที่ทุกวันนี้ก็ยังร้องเพลงอยู่--รวมทั้งหมด ๖ คนด้วยกัน




เริ่มจาก แมว จีระศักดิ์, อี๊ด วงฟลาย, อู๋ ธรรพ์ณธร, สน เดอะสตาร์, ตี๋ วิวิศน์ และ ตุ้ย เกียรติกมล หรือตุ้ย AF ครบ ๖ พอดิบพอดี




ผมฟังหนแรกจบปุ๊บรีบคลิกกลับไปเปิดฟังใหม่หนสองทันที เพราะรู้สึก “มันส์” ในอารมณ์อย่างบอกไม่ถูก แม้เสียงสไตล์ร็อกที่แตกต่างไปจากเสียงร้องที่ผมเคยฟังจาก ๔ สุภาพสตรีของวงสุนทราภรณ์โดยสิ้นเชิง แต่ก็เต็มไปด้วยความเร่งเร้า และชวนให้รักบ้านเกิดเมืองนอนได้ไม่แพ้เพลงดั้งเดิม




ที่สำคัญ การถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ โดยใช้ภาพจริงของบ้านเราในยุคปัจจุบันเป็นฉาก ไม่ว่าจะเป็นตึกสูงระฟ้าของ กทม., ทางด่วน, รถไฟฟ้า, และป้ายโฆษณาต่าง ๆ ฯลฯ ล้วนโผล่ออกมาสลับกับใบหน้าและลีลาของนักร้องทั้ง ๖ ที่ตะเบ็งเสียงอย่างเต็มที่--ได้อย่างลงตัวมาก

บางช่วงบางตอนเราจะเห็นภาพคุณ แมว จีระศักดิ์ หรือคุณ สน เดอะสตาร์ ขึ้นไปยืนร้องอยู่ในป้ายโฆษณา ตามหลังคาตึกต่าง ๆ เหมือนที่เราเห็นตามจอยักษ์ริมถนนในทุกวันนี้ ยอดวิววันที่ผมเปิดดูรวม ๔๖๙,๙๖๗ วิวนั้น น่าจะมาจากการกดเพื่อชมและฟังซํ้าแล้วซํ้าเล่าของผมไม่ตํ่ากว่า ๑๒ ครั้งเห็นจะได้




ในวันเดียวกันนั้นเองก็มีการปล่อยเวอร์ชัน ๒ ในชุดที่เรียกว่า POP JAZZ FULL VERSION ออกมาอีก ๑ ชุด ขับร้องโดยศิลปินแจ๊สรุ่นกลางเช่นกัน ได้แก่ ปุ๊ อัญชลี, ปั่น ไพบูลย์เกียรติ, ป้อม ออโต้บาห์น, แอน นันทนา, แอน ธิติมา และ มัม ลาโคนิก




ขออนุญาตเรียกชื่อตามที่ขึ้นอยู่ในเอ็มวีก็แล้วกันนะครับ...เป็นชื่อเรียกย่อ ๆ สำหรับดารานักร้อง นักแสดงยุคนี้ ซึ่งพอฟังปุ๊บแฟน ๆ ก็รู้เลยว่าเป็นใคร




มีรายงานว่ายังจะมีเวอร์ชัน ๓ หรือเวอร์ชันสุดท้ายของชุดนี้ออกมาอีกครับจะเป็นชุดของศิลปิน “ป๊อป” ตุ๊ก วิยะดา, เอ๋ นรินทร, บิลลี่ โอแกน, หมอก้อง, ซานิ และ นายคอมเมเดี้ยน




ทั้ง ๓ เวอร์ชัน เป็นผลงานของโปรดิวเซอร์มือแพลทินัมของบ้านเราทั้งสิ้น ได้แก่ ดี้ นิติพงษ์, เพชร มาร์, ครูเต๋า ภราดร, และ สวัสดีมีชัย คนรุ่นเก่าอย่างเรา ๆ ฟังแล้วอาจรู้สึกแปร่ง ๆ อยู่บ้าง แต่แผล็บเดียวก็ปรับตัวได้...ฟังแล้วจะรู้สึก “อิน” ตามทันที




สำหรับ “คนรุ่นใหม่” ก็อยากให้เปิดใจ และลองไปเปิดฟังกันดูบ้าง ผมเชื่อครับว่า...จะรู้สึกรัก “บ้านเกิดเมืองนอน” หรือแผ่นดินไทยของเราผืนนี้ มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม




ปล.ฝากให้ลองเปิดเวอร์ชันของ กรมประชาสัมพันธ์ ด้วยนะครับ... นำลงยูทูบเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๐๒๑ ก็ถือว่าเป็น “บ้านเกิดเมืองนอน ๒๕๖๔” เหมือนกัน ขับร้องหมู่ และบรรเลงด้วยวงดนตรีวงใหญ่มีดนตรีไทยมาร่วมผสมผสานด้วย...โดยเฉพาะ เสียงระนาดเอก ไพเราะเหลือเกิน

ยอดวิวเพิ่งจะแค่ ๑๘,๕๓๓ เอง ช่วยเข้าไปกดไลค์กดแชร์ เพิ่มยอดวิวกันหน่อยครับ.


ข้อมูลจาก
thairath.co.th










และเวอร์ชั่นสุดท้ายบรรเลงด้วยเปียโนหวาน ๆ คุณดี้เรียบเรียงเสียงประสานได้เพราะมาก มีคำบรรยายประกอบโพสที่เขียนได้เพราะไม่แพ้กัน

เรื่องเล่าเมื่อเยาว์วัย...

หอมกรุ่นกลิ่นขนมตาลจากเตาร้อน ๆ ควันโขมง สีเหลืองทองนุ่มนวลชวนลิ้มลอง โรยมะพร้าวขูด รสชาติหวานมัน หอมกลิ่นตาลละมุนละไม ได้ลิ้มรสคราใดให้หวนคิดถึงถิ่นฐาน ขนม อาหารสารพัดรสมือแม่ ที่ได้มาจากคุณยาย ใครได้ชิมเป็นติดใจไปทุกครา
.
สายลมอ่อนพัดโชยเอื่อยเย็นสบาย เคล้าแสงทองสดใสของแดดยามเช้า เสียงไก่ขันเจื้อยแจ้ว เจ้านกน้อยแสนซนร้องเซ็งแซ่พากันบินออกจากรัง ยินเสียงระฆังบอกเวลา ๗ นาฬิกา ได้เวลาแม่นำดอกกล้วยไม้สีม่วงสดไปขายที่หน้าวัดเป็นประจำทุกเช้า เป็นภาพที่เราเห็นชินตามาตั้งแต่เยาว์วัย สุดแสนรักวิถีไทย ความเรียบง่ายที่แสนสุขใจมาช้านาน





มิวสิควิดีโอเพลงนี้ถ่ายภาพออกมางามได้ใจมากกกก ตัดต่อเยี่ยม เลือกสถานที่ถ่ายทำได้สวยมาก ไม่คิดว่าจะมีเกือบยี่สิบแห่ง ในเพจบ้านเกิดเมืองนอน 2564 เฉลยไว้เรียบร้อยค่ะ

๑. วัดพระศรีสรรเพชญ์ จ.อยุธยา
๒. วัดพระราม จ.อยุธยา
๓. วัดมหาธาตุ จ.อยุธยา
๔. วัดปราสาทนครหลวง จ.อยุธยา
๕. วัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง
๖. วัดม่วงพระใหญ่ จ.อ่างทอง
๗. พระบรมมหาราชวัง -วัดพระแก้ว
๘. ถนนหน้ากระทรวงกลาโหม
๙. พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
๑๐. มิวเซียมสยาม
๑๑. สามย่านมิตรทาวน์
๑๒. กระทรวงกลาโหม และ ถนนหน้าวัดพระแก้ว
๑๓. Sala Arun Hotel Bangkok
๑๔. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
๑๕. วัดกลางตลาดพลู
๑๖. วัดปากน้ำภาษีเจริญ




ส่วนตัวแล้ว ชอบทำนองแจ๊ส และ เปียโนที่สุด ฟังแจ๊สแล้วติดหูเลย คงเพราะใกล้เคียงกับต้นฉบับ ทั้งดนตรีและเสียงร้องเพราะและลงตัว ฟังเพลินจนอดขยับขาตามไม่ได้ ส่วนแบบเปียโน ตอนแรกก็นึกไม่ออกว่าเพลงจะออกมาเป็นยังไง แต่ก็ตั้งตารอดูและฟังแบบใจจดใจจ่อ รู้เลยว่าต้องไม่ผิดหวังแน่ ๆ เพราะพี่ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค เป็นคนทำเพลงนี้ แล้วยังได้ คุณนก สินจัย มาเล่นเอ็มวีให้ด้วย ส่วนคนที่เล่นเป็นลูกสาวชื่อ นัดดาภรณ์ นิวาตวงศ์ ก็น่ารักดี เป็นลูกสาวของคุณขวัญฤดี กลมกล่อม (เห็นชื่อของคุณขวัญฤดีแล้วต้องนึกถึงละครเรื่อง “รัตนาวดี” ที่เธอแสดงเป็นนางเอกละครเรื่องแรกและเราชอบเรื่องนี้มาก ๆ) แล้วก็ไม่ผิดจากที่คิดไว้เลย วันที่ได้ดูเอ็มวีครั้งแรกขนลุกเลยค่ะ ประทับใจทั้งเสียงเพราะของ คุณธีรนัยน์ ณ หนองคาย และการถ่ายทอดความหมายของเพลงในเอ็มวี คุณธีรนัยน์ร้องแบบช้า ๆ แต่กินลึกในความรู้สึกแบบทรงพลังมาก




นอกจาก คุณซูม จะเขียนถึงเพลงโดยรวมแล้ว ยังพูดถึงเวอร์ชันเปียโนเป็นการเฉพาะด้วย นำบางส่วนที่ท่านเขียนมาให้อ่านกันค่ะ

ผมติดตามครูน้ำมนต์มาตั้งแต่เธอร้องประจำอยู่กับวงดุริยางค์กองทัพเรือ ต่อมาก็วงออเคสตรา BSO และ ฯลฯ อยู่มาวันหนึ่งก็มีเพื่อนๆ ธรรมศาสตร์ส่งเพลงประจำมหาวิทยาลัยชุดใหม่ ๆ มาให้หนึ่งชุด ซึ่งมีคุณน้ำมนต์เป็นผู้ร้องเพลง “โดมในดวงใจ” เป็นเพลงแรกของชุดนี้

ใครที่เคยเรียนธรรมศาสตร์เมื่อ ๕๐-๖๐ ปีที่แล้ว คงจะจดจำได้ดีว่า นักร้องที่ร้องเพลง “โดมในดวงใจ” ได้อย่างเข้าถึงหัวใจชาวเหลืองแดงมากที่สุด ก็คือ คุณ “บุษยา รังสี” แห่ง วงสุนทราภรณ์ ซึ่งเป็นนักศึกษา ธรรมศาสตร์ ควบคู่ไปกับการเป็นนักร้อง




เวลา บุษยา รังสี ร้อง เธอจะใส่จิตวิญญาณของชาวธรรมศาสตร์ลงไปในเพลงด้วย...จนทำให้เพลง “โดมในดวงใจ” ในเวอร์ชันของเธออยู่ในความทรงจำของศิษย์เก่าธรรมศาสตร์รุ่นโน้นมาจนถึงวันนี้

เมื่อผมได้ฟังคุณธีรนัยน์ร้องเพลง “โดมในดวงใจ” ล่าสุด ก็เกิดความรู้สึกคล้าย ๆ ที่ฟัง “บุษยา” ขึ้นมาทันที

ผมมาทราบตอนหลังว่า “ธีรนัยน์ ณ หนองคาย” ก็เรียนและจบจาก ธรรมศาสตร์ เช่นกัน มิน่าล่ะถึงได้ร้องได้อย่างประทับใจน้องๆ บุษยา รังสี ของรุ่นผมอย่างไรอย่างนั้น

ด้วยความที่เป็นแฟนคลับตัวจริงเสียงจริงของคุณนํ้ามนต์ และแอบชอบเสียงร้องและเพลง “โดมในดวงใจ” ที่เธอร้องมาก่อนนี่เอง...พอมาฟังเธอร้อง “บ้านเกิดเมืองนอน” ในเวอร์ชันเปียโน ควบคู่ไปกับได้เห็นภาพคุณนก สินจัย ในวิดีโอประกอบเพลงที่ว่า

จึงเป็นไปได้ที่ผมจะลืมตัว จนเกิดความซาบซึ้งมากเป็นพิเศษ และเห็นด้วยกับเพื่อนที่บอกว่าฟังแล้วน้ำตาไหลทุกประการ





และยังมีข้อเขียนของ คุณนัยนา นาควัชระ ที่บรรยายความรู้สึกเหมือนเข้าไปนั่งในใจเราเลยค่ะ ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว ก็อปข้อความมาให้อ่านกันเลยดีกว่า


จากอยุธยา ถึง “บ้านเกิดเมืองนอน”
และถึงคุณธีรนัยน์ ณ หนองคาย


ปกติฉันไม่ใช่คนที่เขียนอะไรยาว ๆ แต่วันนี้จะขอเขียน
ไม่บ่อยนักที่ความเห็นด้านศิลปะและดนตรีของฉันจะขัดแย้งกับความเห็นของคุณอาผู้เป็นนักวิจารณ์ดนตรี
แต่วันนี้หลังจากที่ได้ฟังเพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” ที่คุณธีรนัยน์ ณ หนองคายร้อง ฉันอุทานกับตัวเองว่า
“นี่เลย! นี่แหละความหมายที่แท้จริงของเพลงนี้”
นี่คือเพลงบ้านเกิดเมืองนอนแบบที่ฉันร้องอยู่ในใจมาโดยตลอด
ใคร ๆ รวมทั้งคุณอาของฉัน มองว่าเพลงนี้คือ “เพลงปลุกใจ”
มันอาจจะเป็นเช่นนั้นจริง ในสมัยที่วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์เฟื่องฟู
แต่สำหรับยุคนี้...ตรงกันข้าม ฉันมองว่ามันน่าจะเป็นเพลง “ปลุกสำนึก” มากกว่า
ฉันคิดว่าการตีความเพลงนี้ว่าเป็นเพลงปลุกใจ และพยายามร้องกันในลีลาต่าง ๆ ที่คิดว่าจะสร้างความ “ฮึกเหิม” ให้คนรุ่นใหม่...มันอาจจะเป็นความบันเทิง แต่มันคงไม่ได้ผลอย่างที่ท่านผู้แต่งต้องการ เพราะมันกินใจไม่พอ
หลายปีมาแล้วฉันเคยได้รับการว่าจ้างให้เขียนบทละครเอนิเมชั่นสำหรับเด็ก เรื่อง “กรุงศรีอยุธยา”
ก่อนลงมือเขียน ฉันอ่านประวัติศาสตร์สมัยกรุงแตกครั้งที่สอง และขอให้ผู้ว่าจ้างเช่าเรือพาฉันนั่งรอบเกาะอยุธยา ไปดูจุดที่แม่น้ำแคบที่สุด ตรงที่นักรบพม่าข้ามน้ำมาสุมไฟเผากำแพงเมือง
พอกลับกรุงเทพฯ เผอิญได้ไปพักที่คอนโดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่มองดูแม่น้ำจากตึกสูง ลมพัดปะทะหน้าจากทิศเหนือ แล้วเพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” ก็ดังขึ้นในหัว...ช้า ๆ...แผ่วเบา... บาดลึก และเจ็บปวด
ราวกับมีใครที่อยุธยาตามมากระซิบข้างหูฉัน...

.
...เนื้อและเลือดพลีไป
...รวบรวมไว้ได้แสนจะยากเข็ญ
ยากแค้นเคยกู้แดนไว้อย่างบากบั่น...
ก่อนนั้นเคยแตกสานซ่านเซ็น....ฯลฯ


เย็นวันนั้นหลังจากที่กลับมาจากกรุงเก่า ....ฉันไม่คิดว่าจะได้มายืนน้ำตาไหลอยู่เหนือแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อเพลงนี้แผ่วมาอย่างที่ไม่ได้ตั้งตัว
สำหรับฉัน มันเศร้า กินใจ บีบคั้น และทำให้ต้องก้มลงกราบผืนแผ่นดินและบรรพบุรุษ
ด้วยสำนึกในพระคุณ และละอายที่ตนไม่ได้ทำประโยชน์ให้บ้านเกิดเมืองนอนได้แม้เพียงเศษเสี้ยวของพวกท่าน
ขอขอบคุณ คุณธีรนัยน์ ณ หนองคาย ที่ตีความเพลงนี้ได้ไพเราะบาดลึก
ดิฉันหวังว่าการตีความของคุณจะมีส่วนปลุกสำนึกกตัญญูขึ้นในใจของชนชาติไทยรุ่นหลัง ที่ยังไม่เคยผ่าน “สงครามกู้บ้านเกิดเมืองนอน” ที่เป็น “ของจริง”

นัยนา นาควัชระ
๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๔
จาก เพจนัยนา นาควัชระ














บ้านเกิดเมืองนอน ๒๕๖๔ - EP1 Rock full version








บ้านเกิดเมืองนอน ๒๕๖๔ - EP2 Jazz full version








บ้านเกิดเมืองนอน ๒๕๖๔ - EP.3 POP ROCK FULL VERSION








บ้านเกิดเมืองนอน 2564 - EP.4 FINAL EPISODE - PIANO FULL VERSION







ภาพและข้อมูลจาก
เพจบ้านเกิดเมืองนอน 2564



ช่วงนี้ไม่ค่อยมีเวลา ขออนุญาตลากิจยาวหน่อย คิดว่าเดือนหน้าคงจะกลับมาอัพบล็อกได้
อากาศเย็นลงแล้ว แถมโควิดก็ยังไม่ไปไหน เพื่อน ๆ ดูแลสุขภาพด้วยนะคะ





บีจีจากเวบ wallcoo ไลน์จากคุณญามี่
กรอบจากคุณ ebaemi และคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor





Create Date : 12 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2564 23:31:49 น. 0 comments
Counter : 4367 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณกะว่าก๋า, คุณมาช้ายังดีกว่าไม่มา, คุณกิ่งฟ้า, คุณเริงฤดีนะ, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณปรศุราม, คุณnewyorknurse, คุณตะลีกีปัส, คุณหอมกร, คุณmariabamboo, คุณtuk-tuk@korat, คุณบาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน, คุณทนายอ้วน, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณSertPhoto, คุณอุ้มสี, คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณThe Kop Civil, คุณนกสีเทา, คุณภาวิดา คนบ้านป่า, คุณเนินน้ำ, คุณmcayenne94, คุณแมวเซาผู้น่าสงสาร, คุณชีริว, คุณlovereason, คุณInsignia_Museum, คุณสองแผ่นดิน, คุณmultiple, คุณnonnoiGiwGiw, คุณดาวริมทะเล, คุณทูน่าค่ะ, คุณ**mp5**, คุณkae+aoe, คุณkatoy, คุณจันทราน็อคเทิร์น, คุณกาบริเอล, คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณtoor36, คุณจอมใจจอมมโน, คุณzionzany, คุณคนเคยผ่านมหาสมุทร, คุณอาจารย์สุวิมล


BlogGang Popular Award#20


 
haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 164 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.