happy memories
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2564
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
7 มีนาคม 2564
 
All Blogs
 
เพลง "เดือนหงายที่ป่าซาง




รายการ "The Golden Song เวทีเพลงเพราะ" กลับมาอีกแล้วค่ะ ปีนี้เป็นปีที่ ๓ เริ่มออกอากาศได้พักใหญ่แล้ว อาทิตย์นี้ (๗ มี.ค.) แข่งรอบสาย C ปีนี้เชียร์หลายท่าน อย่างผู้ที่ผ่านเข้ารอบทั้ง ๔ ของอาทิตย์นี้ ร้องดีหมดทุกท่านเลย อีกท่านที่ชอบสุดมากกกคือ คุณหมอวิภู กำเนิดดี ท่านเป็นอาจารย์แพทย์แห่งภาควิชา เวชศาตร์ฟื้นฟู วิทยาลัยแพทย์พระมงกุฏฯ มียศเป็นนายพันเอกด้วย ตอนแรกก็คุ้นชื่อมาก ตอนหลังถึงได้รู้ว่าเป็นนักร้องยอดเยี่ยมของสยามกลการนี่เอง คุณหมอร้องเพลงได้เพราะจับจิต ใส่อารมณ์แบบจัดเต็มมาก เชียร์ให้ได้แชมป์ปีนี้ค่ะ

เคยอัพ บล็อก ชมรายการเวทีเพลงเพราะมาแล้ว หลังจากจบการประกวดปีที่สอง ช่องเวิร์คพอยท์ก็ทำรายการคล้ายกันออกมา ชื่อ "เพลงเอก Best Song Contest" ดูแล้วชอบแต่ไม่มากเท่าเวทีเพลงเพราะ แต่ที่ประทับใจมากไม่แพ้กันคือผู้ประกวด แต่ละท่านมีคุณภาพของเสียงร้องยอดเยี่ยม ออกเสียงอักขระชัดเจน มีหลายท่านที่ตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย การประกวดจบไปแล้ว แต่ยังติดใจเสียงของผู้ประกวดอยู่ มีอยู่สองท่านที่ชอบและเชียร์สุด ๆ คือ คุณธัช กิตติธัช แก้วอุทัย แชมป์คนแรกของรายการ และ คุณแฟร้ง นิยม หนุ่มใหญ่ชาวสวนมะพร้าว ถึงอายุจะเยอะแล้วแต่กำลังเสียงสุดยอด ถ้าเสียงไม่เจ๋งจริงคงไม่กล้าเลือกเพลงของ คุณชรินทร์ นันทนาคร มาร้อง อย่างเพลง "ท่าฉลอม" “สุดฟากฟ้า" และที่ชอบมาก ๆ คือเพลง "เดือนหงายที่ป่าซาง" ที่เอามาอัพบล็อกนี้แหละค่ะ เนื้อร้องและทำนองอันไพเราะเพราะพริ้งเป็นผลงานของ ครูสนิท ศ. คุณแฟร้งร้องเพลงนี้ได้สุดยอด ถึงจะใช้พลังเสียงเยอะแต่ก็ร้องได้นิ่งและนุ่มนวลมาก เรียกว่าใกล้เคียงต้นฉบับเลยค่ะ แถมเป็นคนมีอารมณ์ขันอีกต่างหาก

เสียดายที่หาข้อมูลและประวัติของคุณแฟร้งไม่ค่อยได้ เนื้อหาในบล็อกนี้เลยนำเรื่องราวของ ครูสนิท ศ. มาอัพ และตบท้ายด้วยข้อมูลรายการเพลงเอก อยากคุยถึงรายการยาวหน่อย แต่ข้อมูลของครูสนิท ศ.ค่อนข้างเยอะ ขอยกยอดไปคราวหน้าละกัน

ต้องขอบคุณผู้ที่อยู่เบื้องหลังและเบื้องหน้าของทั้งสองรายการมาก ที่ร่วมด้วยช่วยกันทำให้เพลงลูกกรุงกลับมามีชีวิตชีวา และให้คนรุ่นใหม่ได้เสพความไพเราะของภาษาและท่วงทำนองเพลงที่ครูเพลงบรรจงร้อยเรียงออกมาด้วยหัวใจ และทำให้คนที่รักเพลงลูกกรุงอย่างเรามีความสุขทุกครั้งที่ได้ดูจริง ๆ ค่ะ

ยังไม่แน่ใจว่าบล็อกหน้าจะอัพได้เมื่อไหร่ เพราะต้องส่งคอมไปซ่อม ดีที่อาการไม่หนักเท่าไหร่ แต่ต้องรอน้องชายว่างก่อน อาจจะอัพบล็อกเพิ่มได้อีกสักบล็อก แต่ถ้าค้างบล็อกนี้ไว้นานก็ขออนุญาตลากิจไว้ล่วงหน้าเลยละกันค่า












เดือนหงายที่ป่าซาง
คำร้อง-ทำนอง สนิท.ศ


คืนใดเดือนหงาย คล้ายมนต์ต้องใจ
แลดูทางไหน ไร้ความรื่นรมย์
เหม่อมองสุดหมาย สายใจสุดสอย น้อยใจจำข่ม
ไม่อาจเสกสมในสิ่งหวังปอง


ดวงดาวพราวแสน แม้นลอยร่วงมา
ยังปองใจคว้า เดือนมาคู่ครอง
หากบุญไม่สม ขอชมอยู่พื้นดินยืนแลจ้อง
ส่งใจร่ำร้องทำนองเพลงวอน


*เดือน ขออย่าเลือนลับเลื่อนลา
ฉายส่องพา นิทรานอน
เพลงทิพย์บรรเลง ดับแรงร้อน
ฝันอาวรณ์ ใจผูกพัน


**เมืองแมนในฝัน นั้นคือป่าซาง
ยังคงอ้างว้าง ไร้นางแนบขวัญ
อยู่เดียวเปลี่ยวเหงา ขอเอาอกน้อย
ไว้คอยรักมั่น จวบนางในฝันนั้นมาพะนอ








"สนิท ศ. หรือ สนิท ศิริวิสูตร" เจ้าของตำนานรักเกี่ยวกับป่าซาง อาทิ ร่มฟ้าป่าซาง, เดือนหงายที่ป่าซาง, ป่าซางกลางใจ, แม่สาย, ไม่รักพี่แล้วจะรักใคร ฯลฯ เป็นครูเพลงชาวเชียงใหม่เหมือนกับ ครูพิมพ์ พวงนาค เกิดเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ที่ห้องแถวในตรอก “เล่งโจ๊ว” ใกล้ตลาดวโรรส อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ครอบครัวขายเครื่องสังฆภัณฑ์ในตลาดวโรรส บิดาชื่อ ไฮซิ่ว มารดาชื่อ คำนวล เริ่มต้นการศึกษาที่โรงเรียนจีนฮั่วเอง และโรงเรียนคำเที่ยงอนุสรณ์ ไปศึกษาต่อชั้นประถมปีที่ ๔ และชั้นมัธยมปีที่ ๑ ที่โรงเรียนปริ๊นส์รอแยลส์ ถึงชั้นมัธยมปีที่ ๒ และเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยรุ่นโตโจ ได้รับการยกเว้นให้ผ่านชั้น ม.๖ โดยไม่ต้องสอบเพราะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สองพอดี







เดิมนั้นอยากเรียนที่ โรงเรียนเพาะช่าง แต่ขาดคนสนับสนุนจึงไปเป็นครูสอนหนังสือที่ โรงเรียนบูรณศิลป์ ที่เชียงใหม่ แล้วเข้าทำงานที่ ธนาคารออมสิน สาขาจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโอกาสที่ได้เข้าสู่วงการเพลง เพราะธนาคารออมสินสาขานี้สนใจดนตรี ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการสาขาที่จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นสาขาแห่งแรกในภาคเหนือ




เดิม สนิท ศ. สนใจอยากเรียนต่อเพราะช่างแต่ไม่ได้รับการสนับสนุน จึงหันไปเป็นครูที่รร.บูรณศิลป์ (รร.ราษฎร์) ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของ จ.เชียงใหม่ สอนไม่นานก็ย้ายมาทำงานธนาคารออมสิน อยู่เรื่อยมาจนได้เป็นผู้จัดการ ประจำที่จ.ลำพูนซึ่งเป็นสาขาแรกที่เปิดในจ.ภาคเหนือ ต่อมาลาออกมาทำงานโรงพิมพ์พุทธนิคม เชียงใหม่ในตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารชาวพุทธ สนิท ศ. รักงานหนังสือพิมพ์มาก เป็นนักข่าวผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ชาวเหนือที่มี "สงัด บรรจงศิลป์" นักหนังสือพิมพ์ชื่อดังคนหนึ่งในยุคนั้นเป็นบรรณาธิการด้วย เคยเป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย และสยามนิกร ประจำจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นบรรณาธิการนิตยสารนิรามัยและเสียงเวฬุวัน และธรรมมาธิตสาร หนังสือพิมพ์ไทยเดิมรายวันข่าวเหนือ ที่มีสงัด บรรจงศิลป์ เป็นบก. เป็นต้น




ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ กลับเข้าไปทำงานที่ธนาคารออมสินอีกครั้ง และได้แต่งเพลงให้กับวงดนตรีธนาคารออมสินที่มี "ครูสมาน กาญจนะผลิน” เป็นหัวหน้าวง และ "เล็ก ชะอุ่มงาม" เป็นผู้อำนวยการเพลง




สำหรับทางด้านดนตรีนั้น ชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก ตามประวัติเล่าว่า เคยหนีห้องเรียนวิชาลูกคิดซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับการค้า  และแอบไปดูนักเรียนชั้นสูงกว่าเรียนวิชาดนตรี และมักแอบเข้าไปเล่นออร์แกนในห้องประชุมของโรงเรียน เริ่มแต่งบทกวีขณะเรียนมัธยมปีที่ ๓ ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ฝึกแต่งเพลงขณะเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๔ เพลงแรกชื่อ “ฟ้าจันทร์ฉันเธอ” เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ แต่งเพลงไว้ทั้งหมด ๖๒๗ เพลง ด้วยเป็นชาวเชียงใหม่เพลงในห้วงคำนึงของ สนิท ศ. จะมีจังหวะเพลงพื้นเมืองที่สะท้อนมาในผลงานที่มอบให้ ทัศนัย ชะอุ่มงาม ขับร้อง คือ “เพลงริมฝั่งปิง” และ “เพลงห้วยฝายหิน”




เพลงของ ครูสนิท ศ. ที่โด่งดังและมีชื่อเสียงมากมี ๒ เพลงคือ “เพลงวังบัวบาน” ขับร้องโดย มัณฑนา โมรากุล เมื่อแต่งเสร็จแล้วก็ส่งให้ พจน์ จารุวณิช หัวหน้าคณะจารุกนก เพื่อใช้ประกอบละครวิทยุ คุณพจน์ เห็นว่าเหมาะกับ มัณฑนา โมรากุล ขับร้อง ก็นำออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง และต่อมาได้บันทึกแผ่นเสียง จนถึงปัจจุบันมีผู้นำมาร้องหลายคน อีกเพลงคือ "ใครจะรักเธอเท่าฉัน" ขับร้องโดย วินัย จุลละบุษปะ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นเพลงในละครวิทยุคณะจารุกนกของ "ครูพจน์ จารุวณิช"







สนิท ศ. มีความปราณีตอย่างยิ่ง เมื่อสมัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๓ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ นิยมกวีนิพนธ์ของ สุนทรภู่ และ ศรีปราชญ์ เป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงความปราณีต ความลึกซึ้ง ดื่มด่ำในรจนาโวหาร และเรื่องราวตลอดคติธรรมต่าง ๆ เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ที่ติดตามผลงานประพันธ์เพลง




“ทุกครั้งที่แต่งเพลง มีความปรารถนาให้ทุกคนเห็นภาพที่ปรากฎอยู่ในฉาก ตามสภาพความเป็นจริงที่ผมมองเห็น อยากให้ผู้ฟังได้ชื่นชอบและเหตุการณ์เรื่องราวที่ผมพรรณนา อยากให้ผู้ฟังมีมโนธรรมที่สูงส่งตามมโนธรรมที่ผมได้แทรกไว้ อยากให้ผู้ฟังได้รับรสดื่มด่ำท่วงทำนองที่ผมเรียบเรียงจากรสนิยม จากความรู้สึกต่าง ๆ ที่ผมเจาะจงใส่ไว้ในบทเพลง”




จากข้อความที่ สนิท ศ. ได้เขียนไว้ แสดงให้เห็นว่าเพลงวังบัวบานนั้นได้ถ่ายทอดสิ่งที่งดงามจากมหาเวสสันดรชาดก ปรับออกมาเป็นบทร้องเพลงไทยสากล บรรยายให้เห็นภาพของบัวบาน นางเอกของเรื่องที่กระโดดน้ำตาย เพราะพลาดรักจากชายที่ตนรัก

ในด้านของความรัก ผู้ประพันธ์เพลงส่วนใหญ่มักจะประพันธ์เพลงอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับผู้หญิงที่ตนรัก สนิท ศ. เล่าว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้พบผู้หญิงที่รัก และในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ก็ได้สลัดรักไป จากนั้น ๑ ปี ก็ได้แต่งเพลงเพื่อระรึกถึงเธอ คือ “เพลงอันเป็นที่รักแห่งดวงใจ” ขับร้องโดย ทัศนัย ชะอุ่มงาม




ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้พบกับละครของประเทศเวียดนามที่มาตระเวนแสดงในจังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้แต่งเพลงขึ้นทั้งบทร้องและทำนองให้กับคณะละคร ทั้งหมด ๒๔ เพลง และมีความรักกับดาราละครคนหนึ่ง และเมื่อจะจากกัน ก็ได้ประพันธ์คำร้องและทำนอง “เพลงม่านชีวิต” ขับร้องโดย ทัศนัย ชะอุ่มงาม เพื่อปลอบประโลมใจดาราละครคนนั้น และปลอบใจตัวเองที่ต้องแยกจากกัน เหมือนมีบ้านแล้วมีม่านบังชีวิตอยู่ และจะคอยจนกว่าท้องฟ้าจะแจ่มใส เมื่อเมฆม่านกระจายไปแล้วเผื่อจะได้พบกันอีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้บอกว่าจะได้พบกันอีกหรือไม่

“เพลงห่วงอาวรณ์” ขับร้องโดย ทัศนัย ชะอุ่มงาม ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย สนิท ศ. แต่งให้กับเพื่อนที่เป็นทหารออกจากค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ ไปรับราชการที่อื่น







นักประพันธ์เพลงจะนำปรัชญาชีวิตมาเขียนเป็นผลงาน เช่นเดียวกับ สนิท ศ. ที่ได้นำปรัชญาชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย ร้าย ดี ซึ่งแรงบันดาลใจนี้เกิดขึ้นจากคณะละครชาวเวียดนามเดินทางไปถึงจังหวัดพิจิตร และเกิดอุบัติเหตุเรือล่ม สูญเสียทรัพย์สิน และชีวิตนางเอกละคร และชาวคณะอีกหลายคน ทำให้ สนิท ศ. รู้สึกสะเทือนใจกับบรรดาเพื่อนศิลปินที่จากไป จึงได้แต่งเพลงชื่อ “เพลงโชคมนุษย์” ขับร้องโดย ทัศนัย ชะอุ่มงาม







“เพลงยอดสน” ขับร้องโดย มัณฑนา โมรากุล ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย สนิท ศ. “เพลงยอดสน” ในจังหวะสโลว์ ฟอกซ์ทรอท (Slow Foxtrot) เมื่อส่งมาจากเชียงใหม่ พจน์ จารุวณิช ก็บันทึกเสียง โดยให้ มัณฑนา โมรากุล เป็นผู้ขับร้อง ธงชัย ฉัตรานนท์ ผู้อนุรักษ์เพลงยอดสน บันทึกไว้ว่า สนิท ศ. เป็นนักประพันธ์เพลงชาวเชียงใหม่ ส่งเพลงมาให้ พจน์ จารุวณิช หัวหน้าคณะจารุกนก เพื่อให้ มัณฑนา โมรากุล ร้องอัดเสียง หลังออกอากาศก็ได้รับความนิยมในเวลารวดเร็ว ต่อมามีผู้นำเพลงนี้มาร้องใหม่ เปลี่ยนจังหวะไป ทำให้ท่วงทำนองไม่น่าฟังอย่างเดิม




“เพลงดอกบัว” ขับร้องโดย ทัศนัย ชะอุ่มงาม ในสมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม พ.ศ. ๒๔๙๑ นิยมเรียกผู้หญิงว่า ดอกไม้ของชาติ และดอกบัวถือเป็นดอกไม้ประจำชาติ ผู้หญิงจึงควรจะงามเหมือนดอกบัว สนิท ศ. จึงได้แต่งเพลงดอกบัวขึ้นมา นำไปขับร้องประกวดถ้วยทองคำของ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ได้รับรางวัลชนะเลิศฝ่ายหญิง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงอย่างมากให้กับ ทัศนัย ชะอุ่มงาม







นอกจากจะเป็นผู้ผลักดันและสร้างชื่อเสียงให้กับ มัณฑนา โมรากุล, วรนุช อารีย์ และศรีสุดา รัชตะวรรณ แล้ว ละครคณะจารุกนก ของ พจน์ จารุวณิช ยังมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับนักร้องนักดนตรีของกรมโฆษณาการทุกคน โดยเฉพาะ "ครูเอื้อ สุนทรสนาน" หัวหน้าวงของวงดนตรีกรมโฆษณาการ หรือวงดนตรีสุนทราภรณ์ ในฐานะเพื่อนนักเรียนเก่าที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตาราม และได้ร่วมกันทำงานละครและเพลงอย่างใกล้ชิด เพลงที่คณะจารุกนกแต่งไว้บางเพลงนั้น วงดนตรีสุนทราภรณ์ นำเอามาเล่นจนคนฟังแยกไม่ออก ว่าเป็นเพลงของใคร เช่นเพลง หนึ่งน้องนางเดียว เป็นต้น




ครูสนิท ศ. ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ครูเอื้อ สุนทรสนาน เขียนไว้ในหนังสือ ในงานฌาปนกิจศพ นายพจน์ จารุวณิช เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๐๙ ว่า

“...ข้าพเจ้ากับคุณพจน์ เคยเรียนร่วมกันมาตั้งแต่ชั้น ป.๑ จนกระทั่งต่างก็จบจากโรงเรียนวัดระฆังโฆสิตต่อมาได้ร่วมงานทางด้านละครเพลง จนคณะละครของคุณพจน์สลายตัวไป คุณพจน์ เป็นผู้ที่ใฝ่ใจรักในการเขียนเพลงอย่างดี และเขียนได้ดีจริง ๆ และได้เคยเขียนร่วมกันมา ซึ่งข้าพเจ้ายังนับถืออยู่ทุกวันนี้...”

ทุกวันนี้วงดนตรีจารุกนก ยังคงมีผลงานการการบรรเลงอย่างต่อเนื่อง ทุกวันเสาร์สัปดาห์ที่สองของเดือน ที่ห้องสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี โดยมี "ครูจรี บุลประเสริฐ" เป็นหัวหน้าควบคุมวงและมี "คุณโศภดาต์ เกตุผึ้ง" เป็นผู้จัดการวง (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๘) ซึ่งเป็นการแสดงที่เปิดให้ชมฟรี















รายการประกวดเพลงลูกกรุง “เพลงเอก” Best Song Contest ฉายทางช่องเวิร์คพอยท์ (๒๓) ในวันเสาร์ เวลาหลังข่าวภาคค่ำ คณะกรรมการมี ๔ ท่านคือ ก้อง สหรัถ สังคปรีชา, แหม่ม พัชริดา วัฒนา, รัดเกล้า อามระดิษ และ โต๋ ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร ได้พิธีกรมากความสามารถอย่าง “ซี ศิวัฒน์” มาร่วมสร้างสีสันในรายการ




กติกาการแข่งขันแบ่งเป็น ๔ รอบ คือ รอบเปิดม่าน, รอบออร์เครสตรา, รอบสำแดงโชว์, และรอบชิงชนะเลิศ ในรอบเปิดม่าน ผู้เข้าประกวดจะยืนขับร้องเพลงที่เตรียมมาข้างหลังม่าน ขณะที่ร้องอยู่ ม่านจะค่อย ๆ เลื่อนลงมา ถ้าม่านหยุดถึงพื้นคือหมดเวลาร้อง วงจะหยุดบรรเลง และตกรอบ แต่ถ้ากรรมการท่านใดท่านหนึ่ง หรือทั้งสามท่าน กดปุ่มเปิดม่านที่อยู่ตรงหน้ากรรมการ ม่านจะเปิดขึ้นทันที และมีโอกาสได้ร้องเพลงต่อจนจบเพลง และเมื่อร้องจบ กรรมการจะลงมติตัดสิน ผู้ที่ได้ ๓ ผ่าน จะได้เข้ารอบต่อไป




รายการจบไปแล้ว การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศออกอากาศเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ การแข่งขันรอบนี้มีผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศทั้งหมด ๕ คน เป็นการแข่งขันร้องเพลงลูกกรุง สุนทราภรณ์ และบทเพลงอมตะ ในชื่อธีม “บ้านเรา” แชมป์คนแรกคือ กิตติธัช แก้วอุทัย (ธัช) ศิษย์เก่าหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดย ธัช ขับร้องเพลง “พรานทะเล” และ “วอลซ์นาวี” จนประสบความสำเร็จสามารถพิชิตใจกรรมการทั้ง ๔ ท่าน ได้เป็นแชมป์คนแรกของรายการ





 


คลิกอ่านข้อมูลและชมคลิปรายการได้ที่นี่ค่ะ
เพจเพลงเอก
youtube.com


ข้อมูลจาก
dusit.ac.th
mgronline.com
workpoint.co.th
komchadluek.net
sirindhornmusiclibrary.li.mahidol.ac.th






บีจีจากเวบ wallcoo กรอบจากคุณ ebaemi ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor




Create Date : 07 มีนาคม 2564
Last Update : 23 มีนาคม 2567 15:48:02 น. 0 comments
Counter : 5313 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณทนายอ้วน, คุณสองแผ่นดิน, คุณเริงฤดีนะ, คุณชีริว, คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณSleepless Sea, คุณหอมกร, คุณSweet_pills, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณkae+aoe, คุณtoor36, คุณปรศุราม, คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณกะว่าก๋า, คุณSai Eeuu, คุณแมวเซาผู้น่าสงสาร, คุณkatoy, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณกาบริเอล, คุณThe Kop Civil, คุณnonnoiGiwGiw, คุณtuk-tuk@korat, คุณnewyorknurse, คุณเนินน้ำ, คุณmultiple, คุณ**mp5**, คุณมาช้ายังดีกว่าไม่มา, คุณสมาชิกหมายเลข 6055490, คุณอาจารย์สุวิมล, คุณRinsa Yoyolive, คุณทุเรียนกวน ป่วนรัก, คุณภาวิดา คนบ้านป่า, คุณจันทราน็อคเทิร์น, คุณบาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน, คุณสันตะวาใบข้าว, คุณschnuggy, คุณInsignia_Museum, คุณmariabamboo, คุณดอยสะเก็ด


BlogGang Popular Award#20


 
haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 164 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.