จากดวงใจ

ภาพจาก 7-themes.com
 | |  | |
จากดวงใจ คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน
เพลงนี้จากดวงใจ
ล่องลอยไปตามสายลม
ปลอบทุกข์ปรนสุขให้ชื่นชม
กล่อมอารมณ์ให้ภิรมย์สำราญ
เพลงนี้จากดวงใจ
ล่องลอยไปทั่วทุกสถาน
ขับกล่อมน้อมโน้มวิญญาณ
ให้เบิกบานชั่วกาลเอย
| |  | |  |
ต้องขอบพระคุณเหล่าเพี่ ๆ น้อง ๆ และพื่อนบล็อกทุกท่านมากที่แวะมาร่วมฉลองวันเกิดด้วยคำอวยพรดี ๆ และมีคุณค่ามากในบล็อกที่แล้วนะคะ รู้สึกซาบซึ้งและประทับใจมาก พรดี ๆ ที่ให้อวยชัยให้พรมาก็ขอให้ย้อนกลับไปหาทุกท่านหลายร้อยหลายพันเท่าเลย ขอบคุณจริง ๆ ค่ะ  
วันหยุดสบาย ๆ หาเพลงเก่าเพราะ ๆ มาให้ฟัง เป็นเพลงของคุณขรินทร์ที่ประพันธ์โดย ครูแก้วและครูสมาน เพลงนี้สั้น ๆ มีเนื้อเพลงแค่ไม่กี่ประโยค ฟังเพลิน ๆ ดีค่ะ 
บล็อกคุณปอนล่าสุด ไม่ได้อัพซะหลายอาทิตย์ เอามารวมกันไว้ในบล็อกเดียวกันเลย มีทั้งหมด ๔ บท ฝังหัวใจไว้ในหุบเขานั้น
บล็อกเสพงานศิลป์ล่าสุด เสพงานศิลป์ ๒๔o


ภาพจาก 7-themes.com
'จากดวงใจ' ชรินทร์ นันทนาคร ครูแก้วแต่งให้รายการชรินทร์โชว์
"เพลงนี้จากดวงใจ ล่องลอยไปตามสายลม
ปลอบทุกข์ปรนสุขให้ชื่นชม
กล่อมอารมณ์ให้ภิรมย์สำราญ....."
เสียงเพลงนี้จะล่องลอยมาตามสายลมสมตามที่เนื้อเพลงพรรณนาเอาไว้ ทันทีที่เริ่มรายการ "ชรินทร์โชว์" อันโด่งดังของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม ในยุคนั้น นั่นหมายถึงในยุคที่ประเทศไทยของเรามีสถานีโทรทัศน์อยู่เพียงช่องเดียว

ตึกไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม ภาพจาก manager.co.th

จำนง รังสิกุล หัวหน้าสถานี้ผู้บุกเบิก ช่อง ๔ บางขุนพรหม ภาพจาก manager.co.th
สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม นับว่าเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้การบริหารของ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ ๑o พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๕ มีพิธีเปิดและแพร่สัญญาณเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๙๘ ซึ่งตรงกับวันชาติในสมัยนั้น โดยมี จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิด สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง ๔ นี้ ตั้งอยู่ที่วังบางขุนพรหม อันเป็นที่ทำการของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน อยู่จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗ จึงได้ย้ายห้องส่งโทรทัศน์ไปที่ถนนพระสุเมรุ แขวงบางลำพู และต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๙ จึงได้เปลี่ยนระบบการออกอากาศ จากภาพขาวดำเป็นภาพสี ทาง ช่อง ๙ อย่างสมบูรณ์ พร้อมกับได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง ๙ อ.ส.ม.ท. และ โมเดิร์นไนน์ทีวี ในปัจจุบัน

ภาพจาก thaigramophone.com

เพลงเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรรมของช่อง ๔ บางขุนพรหม โดยเฉพาะรายการ "เพลงแห่งความหลัง" ภาพจาก manager.co.th
ในช่วงแรกที่เริ่มแพร่ภาพออกอากาศ รัฐบาลไทยสมัยนั้นก็ได้ใช้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง ๔ นี่เองเป็นสื่อหลักของรัฐบาลในการถ่ายทอดการปราศรัยของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมทั้งการเผยแพร่ผลงานของรัฐบาล ถ่ายทอดการประชุมรัฐสภา ตลอดจนถ่ายทอดสดงานเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ในปี พ.ศ. ๒๕oo ต่อมากองทัพบก โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้สั่งการให้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗ ขาวดำ หรือปัจจุบันคือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕ ช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๕oo-๒๕o๑ ซึ่งต่อมารายการ "ชรินทร์โชว์" ก็ได้ย้ายมาออกอากาศ ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕ เรื่อยมาจนถึงช่วงสุดท้ายของรายการ

ภาพจาก thaifilm.com
เพลง "จากดวงใจ" เป็นเพลงที่ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล แต่งให้กับ ชรินทร์ นันทนาคร เพื่อนำไปใช้เป็นเพลงนำในรายการ "ชรินทร์โชว์" มาตั้งแต่ยุคแรกที่ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม โดยมี ครูสมาน กาญจนะผลิน เป็นผู้แต่งทำนอง เรียบเรียงเสียงประสานและบรรเลงโดยวงดนตรี คีตะวัฒน์ ซึ่งมี ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ มือกลอง และนักแต่งเพลงชื่อดังเป็นหัวหน้าวงดนตรี ซึ่งเป็นวงดนตรีที่บรรเลงอยู่ในรายการ "ชรินทร์โชว์" มาโดยตลอด

ครูแก้ว อัจฉริยกุล ภาพจาก บล็อกคุณก๋งแก่(หง่อมจริงๆ)

ภาพจาก thaifilm.com
สำหรับวงดนตรี "คีตวัฒน์" ต้องถือว่าเป็นหนึ่งในสามวงดนตรีวงใหญ่ที่นับว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในวงการดนตรีของไทยในยุคนั้น เพราะยุคนั้นเมืองไทยมีวงบิ๊กแบนด์ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมอยู่เพียง ๓ วง คือ วงสุนทราภรณ์ ของ ครูเอื้อ สุนทรสนาน, วงคีตวัฒน์ของ ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ และ วงกรรณเกษม ของ จำนรรจ์ กุณฑลจินดา เท่านั้นเพลง "จากดวงใจ" เป็นเพลงสองท่อน แต่เนื้อร้องเป็นคำกวีอันยิ่งใหญ่ที่สามารถสื่อความหมายให้เห็นภาพของรายการ "ชรินทร์โชว์" ว่าเป็นรายการที่ยิ่งใหญ่และงามสง่าน่าชื่นชม ถ่ายทอดความรู้สึกให้เห็นถึงความตั้งใจของผู้ผลิตรายการว่ามีความตั้งใจอย่างสูงที่จะให้เป็นรายการจรรโลงใจของผู้ชมทั้งประเทศ ด้วยคุณค่าของศิลปะและความรื่นเริงบันเทิงใจอย่างเต็มเปี่ยม

ภาพจาก thailanewspaper.com
"เพลงนี้จากดวงใจ
ล่องลอยไปทั่วทุกสถาน
ขับกล่อมน้อมโน้มวิญญาณ ให้เบิกบานชั่วกาลเอย....."
และแน่นอนว่าถ้อยคำและลีลาของเพลงที่สร้างขึ้นนั้น เป็นการเน้นรูปแบบลีลาและอารมณ์ของผู้ขับร้อง คือ ชรินทร์ นันทนาคร อย่างเจาะจงที่สุด รวมไปถึงการเรียบเรียงเสียงประสานดนตรี ที่วางรูปแบบไว้ให้เหมาะกับเป็นเพลงนำรายการโดยตรง จึงโดดเด่นในความยิ่งใหญ่อลังการมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของอินโทรดักชั่น จากนั้นจึงกรีดกรายอ่อนหวานและอ้อยอิ่งไปตามลีลาของผู้ร้องได้อย่างงดงาม ซึ่งถ้าหากจะนำมาบรรเลงในยุคนี้ก็จำเป็นต้องใช้วงดนตรีระดับบิ๊กแบนด์ และจำเป็นต้องใช้โน้ตเพลงตามต้นฉบับเดิมที่เรียบเรียงไว้ด้วย จึงจะสามารถรักษาอรรถรสของเพลงไว้ได้โดยสมบูรณ์หรือใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด

๓ สหายยอดขุนพลเพลง สุเทพ วงศ์กำแหง (นักร้อง) ไพบูลย์ฯ (นักดนตรี) ชาลี อินทรวิจิตร (นักแต่งเพลง) วันที่ ๑๖ ต.ค. ๒oo๓ ที่เบอร์แบงค์ ภาพจาก thailanewspaper.com
คอนเสิร์ต ขุนพลอักษร ละคร เพลง เนื่องในโอกาส ๑oo ปีชาตกาล "แก้วฟ้า" รัตนศิลปิน "ครูแก้ว อัจฉริยะกุล" ณ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนน พระรามที่ ๖ วันแรกคือวันเสาร์ที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เริ่มเวลา ๑๓.๓o น. จัดโดย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย บรรเลงโดยวงดนตรี กรมประชาสัมพันธ์ นักร้องจะมี สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ, วงจันทร์ ไพโรจน์, โฉมฉาย อรุณฉาน, นฤพนธ์ ดุริยะพันธ์, ศรีสุดา เริงใจ, อุไรวรรณ ทรงงาม, สุชาติ ชวางกูร และคณะนักร้องประสานเสียง วงสวนพลู อำนวยเพลงโดย ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล ศิลปินแห่งชาติ

ภาพจาก musicstation.kapook.com
วันที่สอง อาทิตย์ที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๓.๓o น. จัดโดย สมาคมนักร้องแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ บรรเลงโดยวงดนตรี "กาญจนะผลิน" โดย จิรวุฒิ กาญจนะผลิน นำโดยสามศิลปินแห่งชาติ สุเทพ วงศ์กำแหง, สวลี ผกาพันธุ์, ชรินทร์ นันทนาคร ร่วมด้วย วินัย พันธุรักษ์, ศักดา อิทธิชัย, อุมาพร บัวพึ่ง, ชรัมภ์ เทพชัย, จิตติมา เจือใจ, ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล และอีกหลาย ๆ ท่าน
เราอาจได้ฟังเพลง "จากดวงใจ" จากคอนเสิร์ตนี้ทั้งสองวันก็ได้ แต่อย่างน้อยก็ต้องมีหนึ่งวัน.
ข้อมูลจาก ryt9.com นสพ.ไทยโพสต์ ๒๔ พ.ค. ๒๕๕๘
บล็อกนี้อยู่ในหมวดแฟนคลับ
บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ ebaemi
Free TextEditor
Create Date : 12 ธันวาคม 2558 |
Last Update : 12 ธันวาคม 2558 20:07:20 น. |
|
22 comments
|
Counter : 3872 Pageviews. |
 |
|
|
ได้ยินเสียงเพลงเก่าๆ แล้วนึกถึงบรรยากาศสมัยก่อนนะคะ
ดูสบายๆ ชีวิตไม่เร่งรีบ ไม่มีอะไรมากมายเหมือนในปัจจุบัน
ปัจจุบันถึงไม่ค่อยมีคนฟังเพลงแนวนี้ นอกจากคนรุ่นเก่าๆนะคะ
ขอบคุณที่แวะไปทักทายค่ะ ไม่ได้อัพบล๊อกยาวเลยค่ะ
มีเวลาจะแวะมาทักทายอีกนะคะ