happy memories
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2562
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728 
 
1 กุมภาพันธ์ 2562
 
All Blogs
 
นอร์แมน กิมเบล นักแต่งคำร้องที่เพราะราวบทกวี








มีใครชอบฟังเพลงสากลเก่า ๆ เหมือนเราบ้างคะ เก่าสมัยสักห้าสิบปีโน่น อย่างเพลง Canadian Sunset หรือ Killing Me Sofly With His Song และโดยเฉพาะเพลงโปรด I Will Wait For You ที่อยู่ในหนังเก่าเรื่อง "THE UMBRELLAS OF CHERBOURG" นึกอยากรู้จักคนที่แต่งเนื้อเพลงที่เพราะได้ใจพวกนี้ เมื่อต้นปีนี้ได้อ่านบทความของ คุณดำรัส โรจนพิเชฐ ในนสพ.X-cite ไทยโพสต์ที่เขียนถึง คุณลุงนอร์แมน กิมเบล ผู้ประพันธ์เนื้อร้องทั้งสองเพลงและอีกหลายเพลงที่เพิ่งได้ทราบว่าท่านเป็นผู้ประพันธ์ อ่านแล้วอยากอัพลงบล็อกแต่ติดตรงที่เนื้อหาค่อนข้างยาวมาก ลองไปค้นในเวบก็ไม่เจอ เลยต้องค่อย ๆ จิ้มดีดอยู่หลายวันกว่าจะเสร็จ คุณดำรัส เขียนถึงผลงานเพลงของคุณลุงแบบละเอียดมาก เราก็เลยใส่ลิงค์เพลงไว้ น่าจะเป็นบล็อกที่มีลิงค์เพลงเยะอที่สุดเท่าที่เคยอัพมา ท่านใดอยากฟังก็คลิกเปิดได้เลยค่ะ




ภาพจาก gettyimages.ca


ช่วงหกสิบปีที่ผ่านมา เพลงสากลจำนวนมากที่คำร้องฟังแล้วละเมียดละไม ถ้อยคำคล้องจอง ฟังแล้วเห็นภาพพจน์ ให้ความรู้สึกอ่อนไหว มักพบในบทเพลงอย่างเช่น CANADIAN SUNSET, I WILL WAIT FOR YOU รวมทั้ง KILLING ME SOFTLY ที่ นอร์แมน กิมเบล (NORMAN GIMBEL) แต่งคำร้องจากทำนองโดย ชาร์ลส์ ฟ็อกซ์ (CHARLES FOX) ทั้งสองทำงานร่วมกันเกือบ ๕๐ ปี เขียนเพลงร่วมกัน ๒๐๐ เพลง นอร์แมน กิมเบล เสียชีวิตด้วยโรคชรา ขณะอายุ ๙๑ ปี ที่บ้านพักในเมืองมอนติเชลโล แคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๐๑๘ ชาร์ลส์ ฟ็อกซ์ เขียนบทอาลัยบนหน้าโซเชียลเน็ตเวิร์กว่า

“คำร้องประโยคที่ นอร์แมน เขียนใช้ภาษาสวยงาม เห็นภาพพจน์และบ่งบอกถึงความรู้สึก นอร์แมน มักส่งคำร้องให้ผมอ่านก่อนที่ผมจะเขียนทำนอง บางครั้งเขาจะเขียนเป็นประโยคเดียวหรือสองสามประโยค เป็นการนำร่องสู่เนื้อหาในบทเพลง ผมอ่านแล้วมักเกิดแรงบันดาลใจ แล้วเราจะร่วมกันเขียนให้เสร็จเป็นบทเพลง ผมมีความเชื่อมั่นในตัวเขา นับถือความสามารถ เสียดายที่เขาไม่ได้อยู่กับเราในวันนี้”




(ซ้าย) นอร์แมน กิมเบล (ขวา) ชาร์ลส์ ฟ็อกซ์
ได้รับรางวัลแกรมมีจากผลงานเพลง “Killing Me Softly,” ในปี ๑๙๗๓
ภาพจาก nytimes.com





ลอรี ลิเบอร์แมน และ นอร์แมน กิมเบล
ภาพจาก gettyimages.ca


นอร์แมน กิมเบล เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๑๙๗๒ ที่ย่านบรู๊คลิน นิวยอร์ค คุณพ่อมอร์ริส กิมเบล เปิดภัตตาคาร ส่วนแม่มีเชื้อสายยิวอพยพมาจากออสเตรีย หลังจากจบชั้นมัธยมปลาย นอร์แมน กิมเบล เรียนด้านวรรณคดีอังกฤษที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียจนจบหลักสูตรปริญญาตรี ขณะอยู่ที่นั่นเขาเริ่มสนใจดนตรีและการแต่งเพลง งานแรกเป็นเพลงประจำสำนักผู้พิมพ์ลิขสิทธิ์เพลงของ เดวิด บลูม ซึ่งมีสัญญาอยู่กับบริษัทเอ็ดวิน เอช มอร์ริส เพลงแรกที่เขาแต่งได้แก่เพลง RICICHET (๑๙๕๓) จากทำนองที่เขียนโดย แลร์รี โคลแมน กับ โจ คาร์ตัน ในปี ๑๙๕๓ กลายเป็นเพลงฮิตของ เทเรซา บรูว์เออร์ จากนั้นในปี ๑๙๕๔ เขียนคำร้องเพลง “A WHALE OF A TALE” ซึ่ง เค์ร์ค ดักลาส ขับร้องในหนัง “ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์” โชคเริ่มเข้าข้างเขาเมื่อเพลง “SWAY” ที่เขาเขียนคำร้องจากทำนองโดย พาโบล เบลทรัน รูล์ว (PABLO BELTRAN RULZ) กลายเป็นเพลงฮิตของ ดีน มาร์ติน และ บ๊อบบี โรเดล ปี ๑๙๕๖ นอร์แมน กิมเบล เขียนคำร้องเพลง CANADIAN SUNSET จากทำนองโดย เอ็ดดี เฮย์วูด แอนดี วิลเลียมส์ นำไปขับร้อง




ภาพจาก songhall.org





พาโบล เบลทรัน รูล์ว (PABLO BELTRAN RULZ)
ภาพจาก youtube.com


แฟรก์ เลสเซอร์ (FRANK LOESSER) นักเขียนเพลงสแตนดาร์ดและเพลงสำหรับละครบรอดเวย์ สนิทสนมกับ นอร์แมน กิมเบล พอสมควร นอร์แมนมาช่วยงานเขียนให้กับ แฟรงก์ เลสเซอร์ อยู่สามปี จนแน่ใจว่าฝีมือเข้าขั้นจะเขียนบทเพลงละครบรอดเวย์ได้ เขาจึงแนะนำให้ นอร์แมน กิมเบล รู้จักกับนักแต่งเพลง มูส ชาร์แลป (MOOSE CHARLAP) ซึ่งมอบหมายให้เขาเขียนคำร้องละครบรอดเวย์สองเรื่อง ได้แก่ WHOOP-UP กับ THE CONQUERING HERO แต่ทั้งสองเรื่องไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้




(ซ้าย) มูส ชาร์แลป (ขวา) แฟรก์ เลสเซอร์
ภาพจาก foundagrave.com และ sarasotamagazine.com





ภาพจาก gettyimages.ca


ปี ๑๙๖๑ เพลงบรรเลง CHARIOT ที่สองนักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศส ได้แก่ FRANK POURCEL และ PAUL MAURIAT เขียนและอัดแผ่นเสียงกลายเป็นเพลงฮิตในยุโรป อาร์เธอร์ แอลท์แมน นักเรียบเรียงเสียงประสานเห็นแนวโน้มเมื่อใส่เนื้อร้องจะเป็นเพลงฮิตแน่นอน จึงมอบหมายให้ นอร์แมน กิมเบล เขียนคำร้องภาษาอังกฤษ ตั้งชื่อเพลงใหม่ว่า I WILL FOLLOW HIM กลายเป็นเพลงฮิตของ เพตูลา คลาค และ THE PEGGY MARCH




FRANK POURCEL
ภาพจาก youtube.com





PAUL MAURIAT
ภาพจาก youtube.com


ปี ๑๙๖๓ ลู เลวี (LOU LEVEY) เจ้าของสำนักงาน ผู้พิมพ์ลิขสิทธิ์เพลงแนะนำให้เขารู้จักทีมงานนักแต่งเพลง นักดนตรีชาวบราซิลเลียนที่เดินทางมาเชื่อมความสัมพันธ์ในอเมริกา เพลงส่วนใหญ่เป็นเพลงภาษาโปรตุเกส จังหวะบอสซาโนวา ฮิตในบราซิล หลายคนอยากให้ใส่เนื้อร้องภาษาอังกฤษ จึงให้ นอร์แมน กิมเบล เขียนคำร้อง หลายเพลงกลายเป็นเพลงฮิต อย่างเช่น HOW INSENSITIVE (INSENSATEZ), MEDITATION (MEDITACAO), GOODBYE SADNESS (TRISTEZA), WATER TO DRINK (AGUA DE BERBER) ทั้งหมดแต่งโดย ทอม โจบิน และที่กลายเป็นเพลงสแตนดาร์ดบอสซาโนวาที่ดังไปทั่วโลกจนทุกวันนี้ ได้แก่เพลง THE GIRL FROM IPANEMA / TALL AND TAN AND YOUNG AND LOVELY/

เพลง SWEET HAPPY LIFE มาจาก SAMBA DE ORFEU ทำนองโดย หลุยส์ บอนฟา

เพลง ARRASTAO ทำนองโดย EDU LOBO นอร์แมน กิมเบล เขียนคำร้องภาษาอังกฤษ ตั้งชื่อใหม่ว่า FOR ME กลายเป็นเพลงฮิตของ SERGIO MEDES & BRASIL’66




ภาพจาก gettyimages.ca




ภาพจาก gettyimages.ca


ปี ๑๙๖๔ ภาพยนตร์กึ่งโอเปรา ไม่มีบทพูดชื่อ THE UMBRELLAS OF CHERBOURG ที่ มิชเชล เลอกรังด์ เขียนทำนองเพลง จาค เดมี ผู้กำกับเขียนคำร้องฝรั่งเศส กลายเป็นเพลงและหนังฮิตในยุโรป มีอยู่สองเพลงที่เขาเขียนเนื้อร้องภาษาอังกฤษ ได้แก่ WATCH WHAT HAPPENS และ I WILL WAIT FOR YOU เพียงแค่ฟังประโยคแรกก็รู้สึกสะเทือนใจแล้ว เพลงถ่ายทอดเรื่องราวการลาจากและการรอคอยของหนุ่มสาวสองคนในเมืองท่าเชอร์บูรก์ ที่พบกันในร้านขายร่ม


…IF IT TAKES FOREVER, I WILL WAIT FOR YOU

FOR A THOUSAND SUMMERS, I WILL WAIT FOR YOU…






ภาพยนตร์เรื่อง “THE UMBRELLAS OF CHERBOURG”
ภาพจาก criterion.com, rottentomatoes.com, raremeat.blog, homecinemachoice.com





ภาพจาก gettyimages.ca


เดือนตุลาคม ๑๙๖๗ นอร์แมน กิมเบล ย้ายมาอยู่ลอส แองเจลิส ที่นี่เขามีโอกาสร่วมงานกับนักแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์หลายคน อาทิ ลาโล ชิฟริน (LALO SCHIFRIN) เมื่อเขียนดนตรีประกอบเรื่อง THE FOX นอร์แมน กิมเบล เขียนคำร้องเพลง THAT NIGHT ซึ่งมาจาก MAIN THEME ในเรื่อง กลายเป็นเพลงฮิตของนักร้องหลายคนอย่าง โทนี เบนเนตต์




ภาพจาก famousdude.com และ morrisonhotelgallery.com


ปี ๑๙๖๙ ภาพยนตร์เรี่อง POPI เรื่องราวของพ่อหม้ายลูกติดสองชาวเปอร์โตริกัน ซึ่งอพยพมาอยู่อเมริกา ประสบกับปัญหาเพื่อนบ้านชาวคิวบาในละแวกเดียวกัน โดมินิก ฟรอนเทียร์ (DOMONIC FRONTIERE) เขียนดนตรีประกอบ นอร์แมน กิมเบล เขียนคำร้องเพลง POPI จาก MAIN THEME







ภาพจาก gettyimages.ca


ปี ๑๙๗๐ เมื่อเจ้าของสวนสนุก SID & MARTI KROFFT มีโครงการจะสร้างหนังแฟนตาซีแนวผจญภัยเรื่อง PUFNSTUFF เขาให้ ชาร์ลส์ ฟ็อกซ์ (CHARLES FOX) เขียนดนตรีประกอบ แต่ในเรื่องมีเพลงร้อง จากคำแนะนำของ รอน แอนตัน (RON ANTON) ผู้บริหารสำนักพิมพ์ลิขสิทธิ์เพลง BMI รอนแนะนำ นอร์แมน กิมเบล ให้รู้จักกับ ชาร์ลส์ ฟ็อกซ์ เพราะเชื่อในฝีมือและความสามารถ ทั้งสองเริ่มเขียนเพลงด้วยกัน ประเดิมด้วยเพลงไตเติลหนัง PUFNSTUFF มอบให้ แจ็ก ไวล์ด ขับร้อง และจากเรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทั้งสองทำงานร่วมกันเรื่อยมาเกือบ ๕๐ ปี ด้วยผลงานเพลง ๒๐๐ เพลง ที่โดดเด่นกลายเป็นตำนาน ได้แก่ KILLING ME SOFTLY WITH HIS SONG




ภาพจาก allaboutmovies.com.au


ที่มาของเพลงเกิดขึ้นในปี ๑๙๗๑ ช่วงนั้น ชาร์ลส์ ฟ็อกซ์ กับ นอร์แมน กิมเบล เกิดไปสนิทสนมกับ ลอรี ลิเบอร์แมน นักร้องสาวซึ่งร้องเพลงตามร้านเหล้ามีระดับ ส่วนตัวลอรี ลิเบอร์แมน เป็นคนชอบเขียบทโคลงกลอน คืนหนึ่งเธอไปดูคอนเสิร์ต ดอน แมคลีน แล้วเกิดติดใจ ซาบซึ้งกับเพลง EMPTY CHAIRที่เขาขับร้อง เธอถ่ายทอดความรู้สึกออกมาเป็นบทกลอน นำไปให้ นอร์แมน กิมเบล อ่าน เมื่ออ่านจบก็เรียบเรียงใหม่เป็นเพลง นำไปให้ ชาร์ลส์ ฟ็อกซ์ เขียนทำนอง กลายมาเป็นKILLING ME SOFTLY WITH HIS SONG ลอรี ลิเบอร์แมน ไปอัดเสียงออกอัลบั้มแต่ไม่ได้รับความสนใจ ปี ๑๙๗๒ ขณะที่ โรเบอร์ตา แฟล็ก นั่งอยู่บนเครื่องบินโดยสารอเมริกัน แอร์ไลนส์ เธอได้ยินเพลงนี้ดังจากระบบเสียงตามสายบนเครื่องบิน (IN-FLIGHT AUDIO PROGRAM) เธอชอบใจมาก จึงติดต่อกลับไปที่ ชาร์ลส์ ฟ็อกซ์ และ นอร์แมน กิมเบล ขอลิขสิทธิ์นำไปเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ แล้วนำไปอัดเสียงออกมากลายเป็นเพลงฮิตอันดับ ๑ ในอเมริกา อันดับ ๖ ในอังกฤษ อีกทั้งได้รับรางวัลแกรมมีด้วย




ภาพจาก telegraph.co.uk และ artsmeme.com


หลังจากประสบความสำเร็จในบทเพลงดังกล่าว ชาร์ลส์ ฟ็อกซ์ กับ นอร์แมน กิมเบล ร่วมกันแต่งเพลงออกมามากมาย ทั้งเพลงจากภาพยนตร์และโทรทัศน์ เพลงจากภาพยนตร์อย่างเช่น RICHARD WINDOW ใช้ประกอบในเรื่อง THE OTHER SIDE OF THE MOUNTAIN (1975) เพลง READY TO TAKE A CHANCE AGAIN (1978) ขับร้องโดย แบร์รี แมนนิโลว ใช้ประกอบในเรื่อง FOUL PLAY ซึ่งเพลงนี้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลตุ๊กตาทอง แต่กว่าจะได้รางวัลตุ๊กตาทองตัวแรกในประเภทเพลงต้นฉบับประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมก็ปาเข้าในปี ๑๙๘๐ กับเพลง IT GOES LIKE IT GOES ทำนองโดย เดวิด ไชร์ (DAVID SHIRE) ใช้ประกอบในภาพยนตร์เรื่อง NORMA RAE




จากซ้ายไปขวา โอลิเวีย นิวตัน จอห์น, เดวิด ไชร์, นอร์แมน กิมเบล, ยีน เคลลี
ภาพจาก gettyimages.ca





ภาพจาก gettyimages.ca




ส่วนเพลงจากภาพยนตร์โทรทัศน์ที่สร้างชื่อให้ นอร์แมน กิมเบล มีมากมาย อาทิ HAPPY DAYS, LAVERNE & SHIRLEY, LIFESTYLE OR RICH AND FAMOUA, ANGIE, Wonder Woman และ THE PAPER CHASE ส่วนเพลงในหนังแอนิเมชั่นที่เขาเรียนร่วมกับ เมลลิซา แมนเชสเตอร์ ได้แก่เรื่อง LADY AND THE TRAMP ที่ออกมาในรูปแบบดีวีดี ปี ๑๙๖๔ นอร์แมน กิมเบล ได้รับเกียรติจารึกชื่อที่สถาบัน SONG WRITER HALL OF FAME และในปีเดียวกันนี้ที่เพลง ONLY LOVE เขียนคำร้องจากทำนองดนตรีที่เขียนโดย VLADIMIR COSMA ใช้ประกอบหนังทีวีเรื่องยาว MISTRAL’S DAUGHTER กลายเป็นเพลงฮิตของ นานา มูสคูรี

ระยะหลังงานเขียนคำร้องอาจมีไม่มากเหมือนเก่า อีกทั้งเขาประสบปัญหาสุขภาพ หยุดพักผ่อนอยู่กับบ้าน จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคชราขณะนอนหลับอยู่ที่บ้านเมื่อปลายปี ๒๐๑๘ ขณะอายุ ๙๑ ปี











ข้อมูลจากนสพ. Exite ไทยโพสต์ ๖-๑๒ ม.ค. ๒๕๖๒








บีจีจากคุณญามี่

Free TextEditor





Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2562
Last Update : 24 ตุลาคม 2566 16:41:06 น. 0 comments
Counter : 4113 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณก้นกะลา, คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณกะว่าก๋า, คุณtoor36, คุณภาวิดา คนบ้านป่า, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณ**mp5**, คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณสองแผ่นดิน, คุณmariabamboo, คุณSweet_pills, คุณALDI, คุณล้งเล้งลัลล้า, คุณJinnyTent, คุณkae+aoe, คุณผีเสื้อยิปซี, คุณเกศสุริยง, คุณหอมกร, คุณเรียวรุ้ง, คุณmcayenne94, คุณชีริว, คุณอาจารย์สุวิมล, คุณสาวไกด์ใจซื่อ


haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 164 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.