happy memories
Group Blog
 
 
ธันวาคม 2548
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
21 ธันวาคม 2548
 
All Blogs
 
อำลา...อาลัย (1)





สง่า สงบระงับด้วย ใจงาม
อา พาธยิ่งพยัคฆ์ยาม ป่วยไข้
รัม บาญโรคคุกคาม สงบสกัด
ภีร ภาพพ่อผู้ให้ โลกนี้สรรเสริญ

ลางท่านอาจเรียกท่านว่า ลุงแจ๋ว
หมายถึงพี่ชายของพ่อ
แต่ลางท่านเรียก ตาแจ๋ว
หมายถึงบิดาของแม่
ไม่มีใครในแผ่นดินนี้ ไม่รู้จัก สง่า อารัมภีร์
ผู้เกิดมาจรรโลงโลกด้วยเสียงเพลง เสียงดนตรีและท่วงทำนองเสนาเพราะพริ้ง
เพลงที่ไม่มีพิษ ดนตรที่ไม่มีภัย เสนาะทำนองอันพราวเพริศ
กวีผู้สง่างามด้วยความยิ่งใหญ่ ด้วยคำ ๗ คำ
จำใจข่มใจไปจากนวล...

มติชน ทั้งระบบเหมือนจอมปลวกน้อย ๆ ริมทาง ท่ามกลางแผ่นฟ้า แผ่นดินแห่งห้วงวรรณศิลป์อันไพศาล
บางเวลา ริมทางรื่นร่มรมเยศ บรรเทิงเริงรมย์ก็บรรเลงตามลีลา
ลุงแจ๋วนั่งอยู่ตรงนั้นตลอดงาน
ด้วยรอยยิ้ม ด้วยความรู้ ด้วยความรักและเมตตา
หลายคนตะเบ็งเนื้อเพลงผิด ทำนองพลั้ง
ลุงแจ๋วแก้ให้
หลายคนห่างไกลอารมณ์เพลง
ลุงแจ๋วเติมเมตตากับความรัก
ลุงแจ๋วหรือตาแจ๋ว ไม่เคยนินทาว่าร้ายใครในโลกนี้
บางทีเมรัยรสสำลักล้น บางคนทะลึ่งและทะเล้นจ์
เผลอเรียกตาแจ๋วว่า คุณลุง สะหงี่ อารัมพา
ลุงแจ๋วยิ้มบริสุทธิ์ เอื้อมมือมาโอบ กระซิบเบา ๆ
...ให้ลุงหอมแก้มที

ชีวิตมีรายรับมหึมาคือการเกิด
รายจ่ายของมันคือความป่วยไข้
ก่อนถึงรายจ่ายก้อนสุดท้ายคือความตาย
จอมปลวกน้อยริมทางได้รับทราบด้วยความเจ็บปวด
ลุงแจ๋วสูญเสียอวัยวะบางส่วนเพื่อรักษาชีวิต
บรรณาธิการใหญ่ศิลปวัฒนธรรม นิวัติ กองเพียร รับเป็นผู้ประสานสารทุกข์สุขดิบด้วยเดิมพันหมดหน้าตัก เท่าไหร่เท่ากัน ถึงไหนถึงกันขอลุงแจ๋วคืนมา
คำตอบคือ ขอบใจ ไม่รบกวนอะไรใครทั้งสิ้น
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับเป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์แล้ว
โอ้...อาพาธยิ่งยามพยัคฆ์ ป่วยไข้

ความตายเป็นรายจ่ายก้อนสุดท้ายของการเกิดมามีชีวิตก็จริง
แต่มันก็เป็นบำเหน็จก้อนใหญ่ก้อนสุดท้ายของชีวิตด้วย
หลับอยู่ในความรักและความชื่น ชั่ววันและคืนเช่นนี้
กลิ่นดอกไม้รัญจวน ยังอบอวลยวนยี สุดที่จะพรรณนา
วิมานน้อยลอยริมฝั่ง...
ความรักและความสดชื่นจงเป็นของลุงแจ๋วนิรันดร
วันที่ลุงแจ๋วจากไป
ขาวจำปี จำปาเหลืองอ่อน ระดะซ้อนแทรกใบสะพรั่งปลายยอดเต็มต้น ทุกช่อช้อยค้อมคารวะ
ร้อยจำปีสีขาวเคล้าจำปา
ลูกประจงจัดมาบูชาครู...

โดยขรรค์ชัย บุนปาน จากคอลัมน์ "เบาบ้าง หนักบ้าง"
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๒




ครั้งหนึ่งแห่งความทรงจำของ "ครูแจ๋ว" สง่า อารัมภีร์

"แม้ตัวจะจากไปแต่ใจยังคิดถึง"

นี่คือคำกล่าวของบุคคลที่ได้ใกล้ชิดกับเขา ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร์ ผู้เขียนก็เช่นกัน เคยได้พบได้พูดคุยกับครูแจ๋ว แม้ไม่มากแต่ก็มีความรู้สึกชื่นชอบในตัวท่าน ครูแจ๋วมีเสน่ห์ในตัวเองไม่เฉพาะผู้เขียน บุคคลหลายวัยทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องจนมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ถ้าได้อยู่ใกล้ชิดท่านจะรู้สึกชื่นชอบในตัวท่าน ท่านไม่ใช่เป็นคนช่างพูด ทุกครั้งที่เห็นท่านจะเห็นท่างเงียบ คอยรับฟังการสนทนาของคนอื่น ใครถามอะไรก็ตอบเป็นประโยคๆไป บุคลิกนี้ผู้เขียนเคยสงสัยว่าเป็นบุคลิกประจำตัวของท่านมาตั้งแต่หนุ่ม ๆ หรือ จนกระทั่งไปพบคำตอบจากหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ แก้ว อัจฉริยะกุล(แก้วฟ้า) ที่แก้วฟ้าได้ถามครูแจ๋วว่าเปลี่ยนแปลงไปมาก ดื่มเหล้าแล้วไม่คุยเลย คำตอบของครูแจ๋วก็คือ สังคมปัจจุบันมันวุ่นวายเหลือกำลังจนปรับตัวไม่ทัน ผมจึงนิ่งเฉยเสีย ทำใจให้สงบ เอาอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา ใครจะ...(ถ่ายหนัก) จะ...(ถ่ายเบา)ทิ้งลงลำน้ำก็ทนได้ ผู้เขียนจึงทราบว่าทำไมครูแจ๋วจึงพูดน้อย

มีหลายเรื่องในชีวิตครูแจ๋วที่น่าสนใจ ครูแจ๋วนี้เป็นเสมือนสื่อกลางของเพื่อนฝูงมาตั้งแต่ครั้งยังหนุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดเพื่อน ๆ ก็จะนึกถึงเขาเสมอ อย่างเมื่อครั้งหนึ่งสมัยหนุ่ม ๆ คอเหล้าที่ประกอบไปด้วย ครูดาบ มงคล จันทนบุปผา, แก้ว อัจฉรยะกุล, ส. อาสนจินดา และสง่า อารัมภีร์ ทุกท่านดื่มเหล้ากันจนได้ที่ เที่ยงคืนกว่า ครูแจ๋วนั่งรถสามล้อถีบกลับก่อน ต่อมาก็ป๋า ส. เหลือแต่แก้วฟ้ากับครูดาบ ทั้งคู่ดันนึกอยากจะแสดงละครก็เลยจะเอาแบบอย่างหนังเรื่อง เพื่อนยาก ที่มี โทนี่ เคอร์ติส กับ ซิดนี่ย์ ปอยเตียร์ แสดงนำ โดยการเอากุญแจมือที่ครูดาบเตรียมมาใส่ข้อมือแก้วฟ้าและข้อมือตนเอง แรกๆก็สนุกดีแต่พอนึกขึ้นได้ว่าไม่มีกุญแจไขก็เริ่มหน้าเสียกัน นึกได้ว่าก็ไปโรงพักให้ตำรวจเอาออกให้ พอไปโรงพักตำรวจดันไม่รู้จักคนทั้งคู่ และคิดว่าทั้งคู่คือผู้ร้ายหนีตำรวจมาเลยจับเข้าห้องขัง ทั้งสองนึกถึงครูแจ๋วในทันทีพร้อมกัน จึงให้คนบนโรงพักติดต่อครูแจ๋วให้ แล้วก็เป็นจริง พอครูแจ๋วมาถึงรู้จักกับตำรวจที่เป็นเพื่อนให้ช่วยเคลียให้ เรื่องจึงจบ นี่คือส่วนหนึ่งในชีวิตครูแจ๋ว

ไม่แค่นี้ แม้แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ยังอยากจะเป็นมิตรกับครูแจ๋ว อย่างเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้ คือเรื่องที่มาแห่งเพลง น้ำตาแสงไต้ ในหนังและละคร พันท้ายนรสิงห์ เรื่องนี้เกิดเมื่อราวเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๘ ตอนนั้น คณะศิวารมณ์กำลังเตรียมที่จะทำละครเรื่อง พันท้ายนรสิงห์ โดยมีโปรแกรมจะแสดงในวันที่ ๑o พฤศจิกายน ๒๔๘๘ ที่ศาลาเฉลิมกรุง มีการซ้อมกันตั้งแต่เช้าถึงเย็น ครูเนรมิต กับ ครูมารุต ช่วยกันกำกับบท สรสิทธิ์ สัตยวงศ เล่นเป็น พันท้ายนรสิงห์ จอก ดอกจันทร เล่นเป็น พระเจ้าเสือ ผู้รับหน้าที่แต่งเพลงให้กับ คณะศิวารมย์ ตอนนั้นคือ ประกิจ วาทยกร และ โพธิ์ ชูประดิษฐ์ เวลานั้นแจ๋วยังเป็นเพียงนักดนตรีใหม่อยู่ อีก ๕ วันจะเปิดการแสดง เพลงในละครที่สำคัญคือเพลงน้ำตาแสงไต้ ยังทำทำนองไม่เสร็จ นักแต่งเพลงทั้งสองท่านแต่งมาก็ใช้ไม่ได้ ทุกคนในคณะเครียดมากในเวลานั้น พ้นไปอีกวัน เย็นวันต่อมาครูแจ๋วได้พบกับ ทองอิน บุณยเสน ก็ไปนั่งดื่มเหล้าจนได้ที่ก็เมาหลับที่ชั้นใต้ดินของศาลาเฉลิมกรุง ครูแจ๋วฝันไปว่าที่โรงเล็กของเฉลิมกรุงอันเป็นที่ตั้งของเปียโน มีชาย ๓ หญิง ๑ แต่งกายด้วยชุดโบราณ แม้ว่าครูแจ๋วจะเดินไปใกล้เปียโนก็ไม่มีใครเห็น ทุกท่านจะขมักเขม้นในการซ้อม มีการนำเอาเพลงเขมรไทรโยคมาบรรเลง ต่อด้วยเพลงลาวครวญ แล้วก็ได้มีการเอาเพลงทั้งสองมารวมกัน ทั้งหวานเย็นและเศร้าสร้อย ครูแจ๋วมาสะดุ้งตื่นเอาตอนเช้า ถูกทีมงานบ่นเอาว่าทุกคนกำลังกลุ้มกับเพลงน้ำตาแสงไต้อยู่ พอบ่าย ๓ โมง เหลือ ครูแจ๋ว ครูเนรมิต ครูมารุต สุรสิทธิ์ และครูแจ๋ว ทุกคนกำลังกลุ้มเพราะเหลืออีก ๓ วัน ครูแจ๋วไม่รู้จะทำอะไรก็เลยเล่นเปียโน แต่ไม่ทราบว่ามนต์อันใดที่ทำให้นิ้วของครูแจ๋วเล่นเพลงในฝันนั้นออกมา ครูเนรมิต เป็นคนแรกที่ถามว่าเล่นเพลงอะไร และ ครูมารุต ก็ตอบว่า นี่แหละเพลงน้ำตาแสงไต้ และเริ่มทำการจดโน้ต ครูมารุต ขึ้น "นวลเจ้าพี่เอย..." ครูเนรมิต ต่อ..."คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ..." จนกระทั่งได้เป็นเพลง "น้ำตาแสงไต้" นี่คือที่มาของเพลงที่เกิดจากวิญญาณโดยแท้จริง เรื่องราวนี้ได้ข้อมูลมาจากหนังสือหนังสืองานศพครูแจ๋ว คิดดูขนาดวิญญาณยังอยากเป็นเพื่อนครูแจ๋ว ที่ผู้เขียนเขียนถึงเพราะคิดถึงครู ยังมีอีกหลายเรื่องที่ครูเคยเล่าให้ฟัง ถ้ามีโอกาสจะนำมาเสนอให้ผู้อ่านอีกวันหน้า

โดย ชัยโรจน์ บ่อเหม จากคอลัมน์ "บันเทิงเรื่องอดีต" หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ





รำลึกถึงครูสง่า อารัมภีร์ ปูชนียบุคคลวงการเพลงไทย


ค่ำคืนที่ฝนพร่างพรม กลับจากงานสวดอภิธรรมศพบำเพ็ญกุศล ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร์ ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม นั่งอยู่ในห้อง ปิดไฟมืดสนิท จุดเทียน แสงนวลริบหรี่ น้ำตาเทียนย้อยลงทีละหยดเหมือนคร่ำครวญ เพ่งมองแผ่นซีดีงานบรรเลงเดี่ยวไวโอลินของครูแนบ โสตถิพันธุ์ ตั้งโปรแกรมเปิดเพลง "น้ำตาแสงไต้" ให้หมุนเวียนซ้ำ ๆ ศิลปะการประพันธ์ดนตรีอันเพียบพร้อมสุดยอดในแง่ความงาม พลิ้ว เศร้า ล้วงโหยลึก ถวิลหาในอารมณ์คนฟังอย่างถึงก้นบึ้ง บรรเลงผ่านเสียงไวโอลินและเสียงเปียโน คลอประสานกังวาน ช่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ

น้ำตาฟ้าเหมือนจะราดรดลงสู่หัวใจของคนที่รักสุนทรียะของบทเพลงที่ไพเราะ ตราตรึงอยู่ในหัวใจคนไทยมาตลอดระยะเวลาเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร์ ได้เสียชีวิตลงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และนำศพบรรจุเก็บไว้ ๑oo วัน เพื่อรอพระราชทานเพลิงในช่วงเดือนกันยายนปีนี้

วันเวลาที่ล่วงเลย อายุขัยที่มากขึ้น เป็นธรรมดาแห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่หนีไม่พ้น

ผลงานที่รังสรรค์แต่งแต้มท่วงทำนองลีลาดนตรีอันละเมียดละไม แผ่วหวานก็ยังจำหลักจารึกไม่มีวันสิ้นเสียง ขับกล่อมโสตประสาทของคนฟังให้เคลิบเคลิ้มอยู่ในภวังค์สุขตราบชั่วกาลนาน ถึงตัวตายแต่ผลงานที่ทรงคุณค่ายังคงอยู่ ไม่มีวันหายไปหรือสูญสิ้น

"เรือนแพ" คือบทเพลงอีกชิ้นที่อยู่ในชั้นงานชั้นเยี่ยม (มาสเตอร์พีซ) ที่ยังก้องกังวานอยู่ทุกยุคสมัย ถึงแม่น้ำจะบอบช้ำถูกทำร้ายจนช้ำชอกหม่นหมอง เมื่อได้ฟังเพลงนี้ก็ได้กลิ่น ตกอยู่ในห้วงจินตทัศน์ของความสดชื่น แม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน ตำนานความรักของหนุ่มสาวในยุคที่แม่พระคงคายังแย้มยิ้มไม่บึ้งตึง โชยพลิ้วด้วยสายลมเย็นพัดพาหัวใจให้รื่นรมย์

ก็ยังเสียดายอยู่ไม่หายที่ครูแจ๋วมีโครงการจะแต่งเพลงเกี่ยวกับแม่น้ำทั่วเมืองไทยมารวบรวมเป็นอัลบั้ม โดยใช้คนเขียนเนื้อเพลงซึ่งเป็นเพื่อนซี้ร่วมยุค สุรพล โทณะวิณิก กับ ครูชาลี อินทรวิจิตร แต่เขียนเสร็จแค่เพลงเดียวคือ "แม่น้ำลพบุรี" ก็ไม่ได้สานต่อความฝันให้จบ ไม่เช่นนั้น คนไทยคงมีอัลบั้มที่เยี่ยมยอดเปี่ยมอรรถรสทางดนตรีขึ้นมาอีกหนึ่งชิ้น

คุณูปการที่ครูแจ๋วทำมาตลอดชีวิตได้สร้างความสุข รอยยิ้มแก่คนฟังเพลงมาทุกยุคทุกสมัย งานเพลงที่เป็นอมตะนับร้อย ๆ บทเพลงจากจำนวนกว่าสองพันเพลง ที่คนไทยสามารถร้องตามได้อย่างสบาย หากไม่นับเป็นปูชนียบุคคลก็ดูกระไรอยู่ แค่ศิลปินแห่งชาติยังน้อยไป

เพราะอะไร? สิ่งหนึ่งซึ่งคิดว่ายังค้างคาใจครูแจ๋วอยู่จนกระทั่งวันตาย หรือสืบทอดสู่ทายาทลูกหลาน คือลิขสิทธิ์งานเพลงชั้นยอดที่อยู่ในมือบริษัทแผ่นเสียงแห่งหนึ่งมาสิบกว่าปีแล้ว โดยการเซ็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ถึงขณะนี้การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ยังมีอยู่ไม่สิ้นสุด โดยที่ครูแจ๋วและทายาทได้รับส่วนแบ่งแค่ ๕o % การดูแลลิขสิทธิ์ในทำนองนี้เปรียบเสมือนการทำนาบนหลังคน เคยมีการขอซื้อลิขสิทธิ์เพลงกลับคืน แต่ถูกโก่งราคาให้สูงลิบ จากราคาเดิมที่ขายไป ๑,ooo,ooo บาทเป็นสิบ ๆ เท่าจนต้องถอยกลับ

มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมเรายกย่องเชิดชูคนๆหนึ่งด้วยเห็นในความดีความงาม และงานชั้นยอดที่เขาได้ถ่ายทอดรังสรรค์สู่โลกใบนี้ แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นอีกอย่าง ปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ ทางสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) และกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็นิ่งเฉย เป็นได้เพียงเสือกระดาษนั่งมองเหตุการณ์ที่บังเกิดอย่างเยือกเย็น ปล่อยให้มันเป็นไป

ลองกลับไปอ่านคอลัมน์ "พ่อกับเพลง" ที่ บูรพา อารัมภีร์ เขียนถึงการแต่งเพลงของพ่อในแต่ละเพลงที่เขาได้สมัผัส และพ่อเล่าให้ฟังในนิตยสารสกุลไทย เพลงที่แต่งขึ้นมาแต่ละเพลงมันกลั่นมาจากประสบการณ์ วิญญาณ เลือดเนื้อและน้ำตา

เพราะฉะนั้น ลิขสิทธิ์เพลงต้องกลับมาเป็นของครูสง่า อารัมภีร์และทายาท เพื่อความชอบธรรมแห่งความเป็นมนุษย์ ต้องสำเหนียกกันเสียทีกับการทำอะไรที่ไร้ยางอาย แล้วให้สังคมดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามสำหรับบริษัทเพลงที่เอาเปรียบศิลปินทั้งหลาย

โดย พอล เฮง จากคอลัมน์ "อันดนตรีมีคุณ" ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน





ผมรื้อตู้หนังสือเพื่อค้นหาหนังสือเล่มหนึ่งมาอ่านดูอีกครั้ง หนังสือเล่มนั้นคือ "รวมเพลงเอกของ สง่า อารัมภีร์" ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาสน์ เมื่อปี ๒๕๑๑ สมัยที่สำนักพิมพ์ยังตั้งอยู่ที่เวิ้งนครเขษม และราคาหนังสือในตอนนั้นก็เพียง ๓๕ บาทเท่านั้นเอง

ผมซื้อหนังสือเล่มนี้ที่ร้านแบกะดินแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในค่ำคืนหนึ่ง จำได้ว่ากำลังจะไปขึ้นรถกลับบ้าน แต่พอดีเห็นมีร้านหนังสืออยู่ที่นั่นจึงถือโอกาสแวะดู และบังเอิญเหลือเกินที่เห็นหนังสือเล่มนี้วางอยู่ จึงควักเงินซื้ออย่างทันทีทันใดแต่ก็จำไม่ได้แล้วว่าซื้อมาเท่าไหร่

ในหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะรวบรวมบทเพลงที่ครูแจ๋วแต่งคำร้องและทำนองไว้มากมายหลายเพลงแล้ว บางเพลงยังมีโน๊ตเพลงอีกด้วย โดยบทเพลงเหล่านั้นจะแบ่งหมวดตามที่นักร้องแต่ละคนที่นำไปร้อง ซึ่งเท่าที่ดูแล้ว ก็ล้วนแล้วแต่เป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น สุเทพ วงศ์กำแหง, ชรินทร์ นันทนาคร, จินตนา สุขสถิตย์, ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา, รวงทอง ทองลั่นทม, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, ธานินทร์ อินทรเทพ, นริศ อารีย์, ชาญ เย็นแข...และในจำนวนนี้ก็ยังมีนักแสดงบางคนด้วย เช่น พิศมัย วิไลศักดิ์, สุพรรณ บูรณพิมพ์, สุริสิทธิ์ สัตยวงศ์...ซึ่งมีเพลงเป็นจำนวนมากที่กลายเป็นเพลงอมตะ และยังเป็นที่ชื่นชอบของนักฟังเพลงมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับเพลง "น้ำตาแสงไต้" นั้น ครูแจ๋วเขียนเอาไว้ว่า...เราประพันธ์คำร้องกันเดี๋ยวนั้น ในราว ๑o นาทีเท่านั้นเอง สุดท้ายเพลงก็ทันละครแสดง

และนี่คือความยิ่งใหญ่ของ "สง่า อารัมภีร์" ผู้สร้างสรรค์เสียงเพลงให้กับแผ่นดิน

โดยนิรันดร์ศักดิ์ บุญจันทร์ จากบทบรรณาธิการหนังสือจุดประกายวรรณกรรม


บีจีจากคุณยายกุ๊กไก่ ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor





Create Date : 21 ธันวาคม 2548
Last Update : 29 กุมภาพันธ์ 2555 21:52:59 น. 0 comments
Counter : 4180 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.