ยาที่จำเป็นสำหรับการเดินทางช่วงสงกรานต์ ... บล็อกที่ 84

ยาที่จำเป็นสำหรับการเดินทางช่วงสงกรานต์
ข้อมูลจาก เว็บ siamhealthstation.blogspot.com
นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ใกล้จะถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว และในช่วงเทศกาลดังกล่าวจะมีวันหยุดยาว ดังนั้นการเตรียมยาในระหว่างเดินทางไม่ว่าจะเดินทางในประเทศ หรือต่างประเทศ ที่สำคัญที่สุดอันดับต้น คือ การเตรียมยาในส่วนของผู้สูงอายุ ที่ส่วนใหญ่จะมีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว
ยาของผู้สูงอายุ จะมียาที่ต้องกินเป็นประจำ ต้องเตรียมยาในปริมาณเท่ากับวันที่เดินทางหรือสำรองเพิ่ม 3-5 วัน และควรจะติดชื่อยาไปด้วย เพราะหากยาสูญหาย จะได้สามารถซื้อยาตัวเดิมหรือเข้าโรงพยาบาล แจ้งแพทย์ได้ว่า เดิมใช้ยาอะไร
ส่วนยารายการอื่นๆ จะเป็นยาพื้นฐานสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน อาทิ พาราเซตามอล - ลดไข้ ทั้งชนิดเม็ดและน้ำเชื่อม ยาแก้แพ้ - ซึ่งสามารถลดน้ำมูก และใช้แก้คันได้ด้วย ยาลดกรดชนิดน้ำ ซึ่งออกฤทธิ์ได้ดีกว่าชนิดเม็ด ผงเกลือแร่ ผงถ่าน กรณีท้องเสีย ยาแก้เมารถ ยาแก้ปวดเมื่อย และอุปกรณ์ทำแผล
สำหรับการกินยาในขณะที่ขับรถนั้น ต้องศึกษาก่อนว่า ยาที่กินมียาตัวใดที่กินแล้วทำให้ง่วงนอน ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทยาลดน้ำมูก ยาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ยาในกลุ่มแก้ปวดไมเกรน หรือยาคลายกังวลบางชนิด ยาพวกนี้จะทำให้ง่วงนอน ความสามารถในการรับรู้เสียไป ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ในกรณีที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ ควรปรับเวลาเพื่อพักผ่อนหลังทานยา สัก 1 2 ชั่วโมง แล้วจึงขับรถต่อไป
นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล กล่าวต่อว่า ในช่วงดังกล่าวอาจจะมีโรคที่เกิดขึ้นบ่อย ได้แก่ ไข้หวัด เนื่องจากอุณหภูมิในร่างกายเปลี่ยนแปลงฉับพลัน จากอากาศร้อน จากร่างกายที่เปียกน้ำ พักผ่อนน้อย รวมถึงการอยู่ในที่ชุมชน ก็มีโอกาสติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่ายที่สุด และอีกโรค ก็คือ ท้องเสีย ซึ่งต้องเตรียมยาและสำรองเพิ่มสำหรับหลายคน
ส่วนผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ห้ามลืมยาบำรุงที่คุณหมอให้กิน โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีปัญหารกเกาะต่ำ ซึ่งอาจจะมีปัญหาได้โดยเฉพาะการเดินทางที่กระทบกระเทือน ต้องระวังมาก หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยง และถ้าหากมีอาการฉับพลันขึ้นมา ให้เลือกใช้เฉพาะยาพาราเซตามอลเท่านั้น เพื่อลดไข้แก้ปวด หรือใช้คลอเฟนนิรามีนได้เพื่อลดน้ำมูก สำคัญที่สุด ควรมีเบอร์โทรศัพท์ของแพทย์หรือพยาบาลที่ฝากครรภ์ไปด้วย ถ้าหากมีปัญหา จะได้โทรปรึกษาหรือหากมีเหตุสุดวิสัยจริงๆ ให้เข้าพบแพทย์ที่สถานพยาบาลในพื้นที่นั้นๆ ทันที
นอกจากนี้ ยังมีโรคระหว่างการเดินทางกลับ เช่น โรคกระเพาะอาหาร เพราะว่าคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร อาการจะกำเริบขึ้นมาได้ เนื่องจากการทานอาหารไม่ตรงเวลา และพักผ่อนน้อย อีกโรคหนึ่งที่จะพบมากสำหรับผู้หญิง ก็คือ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เนื่องจากระหว่างการเดินทางในช่วงสงกรานต์ รถติด ห้องน้ำเข้าไม่ได้ ไม่สะดวก อั้นไว้ สุดท้ายแล้วก็เกิดการติดเชื้อและการอักเสบขึ้น รวมทั้งผู้ที่ไปเที่ยวป่าหรือน้ำตก ต้องระวังในเรื่องของไข้เลือดออก หรือมาลาเรีย ถ้ามีไข้ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและบำบัดรักษา ไม่ควรสรุปเองว่า อาจเป็นไข้ กินยาพารา หรือกลับมาบ้านรอดูอาการ ซึ่งอาจจะไม่ทันการณ์ ส่งผลถึงแก่ชีวิตได้.





สวัสดีค่ะ
จาก พรไม้หอม
หากท่านใดประสงค์จะโหวตให้บล็อกนี้ ขอความกรุณาโหวตในสาขาสุขภาพ ขอบคุณค่ะ
Create Date : 12 เมษายน 2556 |
Last Update : 12 เมษายน 2556 16:35:17 น. |
|
43 comments
|
Counter : 3819 Pageviews. |
 |
|
|
แวะมาเจิมก่อน
เย็นนี้มาโหวดค่ะ