ท้องผูก ... บล็อกที่ 108

ท้ อ ง ผู ก
เขียนโดย ผศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ถาม ลักษณะอย่างไรจึงจะเรียกว่าอาการท้องผูก
ตอบ ท้องผูกเป็นปัญหาของอาการมากกว่าจะเรียกว่าเป็นโรค อาการท้องผูกหมายถึง ผู้ที่มีภาวะผิดปกติของการถ่ายอุจจาระ ซึ่งประกอบไปด้วยลักษณะที่สำคัญคือ จำนวนครั้งน้อยผิดปกติของการถ่ายอุจจาระ โดยทั่วไปน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยการถ่ายอุจจาระจะมีลักษณะเป็นก้อนที่แข็งขึ้นและมีขนาดเล็กลง จริงๆ แล้วความชุกของอาการท้องผูก เราจะพบได้ประมาณร้อยละ 5 - 20 และพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป ในกลุ่มที่พบบ่อยอีกกลุ่มก็คือ กลุ่มผู้สูงอายุ โดยอายุมากกว่า 60- 65 ปีขึ้นไป บางคนอาจจะมีความแตกต่างกันในเรื่องของเชื้อชาติอีกด้วย ซึ่งจะพบในกลุ่มคนผิวดำมากกว่าคนผิวขาว นอกจากนั้นปัจจัยแวดล้อมก็อาจจะมีผลต่อภาวะท้องผูกได้ด้วย เช่น ถิ่นที่อยู่อาศัย สภาพอากาศที่หนาวเย็น เป็นต้น
ถาม สาเหตุที่ทำให้ท้องผูกมีสาเหตุอื่นๆ อีกหรือไม่
ตอบ สาเหตุที่เราพบบ่อยๆ คือ
1. เรื่องของการปฏิบัติตัว มีคนจำนวนไม่น้อยที่ชอบรับประทานอาหารที่ไม่ค่อยมีกาก ไม่ชอบรับประทานผัก ดื่มน้ำน้อยมาก และไม่ชอบออกกำลังกาย
2. เรื่องของยา มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีสาเหตุมาจากการรับประทานยา โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เช่น ยาคลายเครียด ยาแก้โรคซึมเศร้า ยาแก้ความดันสูง ยาลดกรด เป็นต้น
3. มีภาวะบางภาวะที่ร่างกายมีโรคประจำอยู่แล้วจึงทำให้ท้องผูก เช่น โรคเบาหวาน โรคของระบบประสาท มีก้อนเนื้องอกเข้าไปอุดกั้นบริเวณลำไส้ทำให้ถ่ายอุจจาระไม่ออก หรือผู้ที่มีภาวะการเคลื่อนไหวของตัวลำไส้น้อยลง มีการทำงานของส่วนอุ้งเชิงกรานในการขับถ่ายอุจจาระผิดปกติ
ถาม ผู้สูงอายุมีภาวะท้องผูก เราถือเป็นอาการผิดปกติหรือไม่
ตอบ ในกลุ่มผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะท้องผูกสูงขึ้น ซึ่งมีสาเหตุ คือ
1. ผู้สูงอายุมักรับประทานอาหารน้อยลง บางคนรับประทานอาหารที่มีกากใยไม่ค่อยได้ เพราะฟันไม่แข็งแรง
2. ดื่มน้ำน้อยลง
3. ผู้สูงอายุมักจะมีภาวะของโรคอยู่หลายๆ โรคที่ทำให้มีโอกาสท้องผูกได้ง่าย เช่น โรคเบาหวาน
4. มีความรับรู้ความรู้สึกของตัวลำไส้น้อย ซึ่งเป็นไปตามอายุที่มากขึ้น นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังมีโอกาสเกิดโรคที่ไม่พึงปรารถนาได้หลายโรค เช่น โรคมะเร็ง โรคพาร์กินสัน หรือการทำงานของต่อมบางอย่างที่ผิดปกติไป ถือว่าอาจเป็นสาเหตุเสริม
ถาม การแก้ไขเบื้องต้นที่เหมาะสมและถูกต้อง
ตอบ เบื้องต้นให้ดูที่สาเหตุก่อนว่าเป็นมานานแล้วหรือยัง โดยทั่วๆ ไป ถ้าผู้ที่มีอาการท้องผูกนานแล้ว โอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งจะมีโอกาสน้อย ส่วนมากในกลุ่มผู้ที่เป็นมานาน มักจะเป็นอาการท้องผูกเรื้อรัง ส่วนในกลุ่มผู้ที่เพิ่งมีอาการ ให้ดูสาเหตุก่อนว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดอาการท้องผูก เช่น เรื่องยา นอกจากนี้อาจจะดูด้วยว่ามีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ปวดท้องมาก ถ่ายเป็นมูกเลือด น้ำหนักลดหรือไม่


ถาม ส่วนใหญ่เราจะพบว่ามักจะใช้ยาระบาย ถือว่าเป็นการแก้ไขที่ถูกต้องหรือไม่
ตอบ การใช้ยาถ่ายหรือยาระบายในช่วยสั้นๆ ถือว่าไม่เป็นไร สามารถใช้ได้ แต่ไม่ควรใช้ในระยะยาว ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุจะเหมาะสมกว่า
ถาม วิธีการรักษาในปัจจุบันสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะท้องผูกเรื้อรัง
ตอบ แพทย์จะทำการซักประวัติ ถ้าในรายที่แพทย์คิดว่ามีอาการผิดปกติของตัวลำไส้ใหญ่ หรือยังบอกไม่ได้ชัดเจน แพทย์อาจจะมีการเจาะเลือด หรือแนะนำให้มีการตรวจเพิ่มเติมพิเศษ เช่น การสวนแป้ง การใช้กล้องส่องทางทวาร ตรวจการทำงานของตัวลำไส้ใหญ่
ในรายที่ไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน การรักษาจะประกอบไปด้วย
1. ให้ปรับปรุงอุปนิสัย เช่น รับประทานอาหารที่มีกากมากขึ้น ดื่มน้ำ 6- 8 แก้ว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารบางชนิด เช่น ดื่มน้ำลูกพรุน
2. ให้รับประทานยาระบายบางชนิดที่มีความปลอดภัย ซึ่งจะต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์
3. การผ่าตัด ในกรณีที่พบว่ามีการเคลื่อนไหวของตัวลำไส้ใหญ่ที่ช้ามาก อาจจะต้องตัดลำไส้ออก
ถาม มีภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยหรือไม่
ตอบ ปัญหาใหญ่ก็คือ จะรู้สึกรำคาญ อึดอัดในช่องท้อง ท้องอืด เบื่ออาหาร ปวดท้อง ทำให้รับประทานอาหารได้น้อย บางรายอุจจาระที่ถ่ายไม่ออกหลายๆ วันจะไปอุดตันจนไม่สามารถถ่ายออก บางครั้งถ้าลำไส้อุดตัน อาจจะมีอาการท้องเสียตามมาด้วย ในบางราย (พบน้อย) อาจจะทำให้มีอาการลำไส้โป่งพองมาก มีโอกาสแตกทะลุ นอกจากนั้นอาจทำให้มีการสูญเสียเกลือแร่และน้ำ
ถาม วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องผูกควรทำอย่างไร
ตอบ ประการสำคัญก็คือ เรื่องของอุปนิสัยการรับประทานอาหารและการดื่มน้ำจะต้องเปลี่ยนแปลง การรับประทานอาหารที่มีกากมากขึ้น ทานผัก-ผลไม้ พยายามดื่มน้ำ ออกกำลังกายให้มากขึ้น นอกจากนี้จะต้องดูสาเหตุเสริมว่า อะไรเป็นสาเหตุเสริมที่ทำให้เกิดอาการท้องผูก ก็ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุเหล่านั้น และที่สำคัญควรตรวจเช็คสุขภาพประจำปี.


ทำอย่างไรไม่ให้ท้องผูก
ข้อมูลจาก เว็บ health.kapook.com
1. ดื่มน้ำให้ได้วันละประมาณ 1-2 ลิตร - ถ้าไม่มีโรคหัวใจ โรคของหลอดเลือด โรคไต
2. เข้าห้องน้ำทันทีเมื่อรู้สึกปวดถ่าย ไม่ควรรอหรือทนอั้นไว้ เพราะยิ่งรอไว้นาน ยิ่งเพิ่มอาการท้องผูก และควรฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา
3. ควรขยับเขยื้อนร่างกาย ออกกำลังกายเสมอๆ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ถ้ามีอาการปวดข้อ อาจลองทำกายบริหารในสระว่ายน้ำ
4. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกากใยอาหารน้อย เช่น ไอศกรีม ชีส หรือเนยแข็ง หลีกเลี่ยงชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะปัสสาวะบ่อย ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ
5. รับประทานอาหารที่มีกากใยอาหาร เริ่มแรก 20-30 กรัมต่อวัน เพราะกากใยอาหารจะทำให้เนื้ออุจจาระอุ้มน้ำมากขึ้น แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณของกากใยอาหารในทุก ๆ สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายปรับตัว จะได้ไม่เกิดอาการท้องอืดแน่น
6. หลีกเลี่ยงการใช้ยาระบาย หรือการสวนทวาร บ่อยๆ เพราะไม่ใช่วิธีการรักษาให้หายขาด การใช้ยาระบายนานๆ ทำให้ร่างกายลืมหน้าที่ของตนเอง
หากปฏิบัติข้อ 1-6 แล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้อง
Tip ... กากใยอาหาร จะพบในผัก เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักโขม จะพบในผลไม้ เช่น ส้ม มะละกอ และผลไม้ที่กินได้ทั้งเปลือก ควรทานผัก-ผลไม้ ให้ได้ 4-5 ส่วนต่อวัน และควรทานเมล็ดธัญพืช ถั่ว ลูกพรุน ข้าวกล้อง โฮลวีต ฯลฯ โดยเฉพาะลูกพรุนนั้น เป็นผลไม้ที่มีไฟเบอร์มากเป็นพิเศษ.


ขอขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต
สวัสดีค่ะ
จาก พรไม้หอม
หากท่านใดประสงค์จะโหวตให้บล็อกนี้ ขอความกรุณาโหวตในสาขาสุขภาพ ขอบคุณค่ะ
Create Date : 01 กันยายน 2556 |
Last Update : 1 กันยายน 2556 18:30:30 น. |
|
34 comments
|
Counter : 2578 Pageviews. |
 |
|
ของอ้อมแอ้มไม่มีวันท้องผูกเด็ดขาดค่ะ..
เพราะถ่ายทุกวัน วันละหลายรอบ..
ทานผักและผลไม้ทุกวันค่ะ..
ช่วงนี้ฝนตก รักษาสุขภาพด้วยนะค่ะ