กินตามหลักอายุรเวท ...บล็อกที่ 275

กิ น ต า ม ห ลั ก อ า ยุ ร เ ว ท

เราทุกคนคงเคยผ่านประสบการณ์ ท้องอืด จุกเสียดแน่นเฟ้อ อาหารไม่ย่อย กันมาบ้างไม่มากก็น้อย เราเองก็พูดถึงเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ แต่ส่วนใหญ่มักพูดถึงในมุมมองของการแพทย์แผนจีน ที่อธิบายถึงผลเสียต่อการย่อยไม่ได้ ที่เป็นสาเหตุให้เส้นลมปราณติดขัด จนมีอาการไม่พึงประสงค์ตามมามากมาย
คราวนี้ เราจะพูดถึงผลเสียของอาการอาหารไม่ย่อยในทางอายุรเวทกันบ้าง พร้อมทั้งแนะนำแนวทางการแก้ไข วิธีกินดีแบบอายุรเวทในเบื้องต้น ให้เข้าใจและปฏิบัติตามได้ง่ายๆ ไม่ต้องพึ่งหมอพึ่งยาอะไรให้มากความ
โดยรวมๆ แล้ว หลักการกินดีในแนวทางอายุรเวท ก็ใกล้เคียงสอดคล้องกับแนวทางการแพทย์ทั้งแผนจีน และแผนไทยอยู่มาก โดยอธิบายว่า ในการย่อยอาหารทุกมื้อของเรานั้น จะให้เป็นไปโดยสมบูรณ์ ร่างกายได้รับสารอาหารเต็มที่ จำเป็นจะต้องมีไฟย่อย (Agni) ที่สมบูรณ์ คือ พอประมาณ ไม่มากหรือน้อยเกินไป
หากมีไฟย่อยมากเกินไป เราจะกลายเป็นคนกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน ผอมแห้ง ผิวกร้านเกรียม ไม่มีน้ำมีนวล แต่หากไฟย่อยมีน้อยเกินไป ก่อให้เกิดขยะตกต้างในร่างกาย (Ama) มาก เราก็จะอ้วนง่าย มีกลิ่นตัว กลิ่นปาก กลิ่นลมหายใจ และมีสุขภาพอ่อนแอ
เมื่อเรามีไฟย่อยที่สมบูรณ์ การย่อยอาหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ร่างกายจะสามารถแปลงสารอาหารเป็นพลังงานละเอียด หรือเรียกว่า ojas (หมายถึงพลังงานชั้นเลิศที่ไหลเวียนหล่อเลี้ยงไปทั่วร่างกาย ซึ่งกลั่นกรองมาจากอาหารที่ผ่านกระบวนการย่อยที่มีประสิทธิภาพ) เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อร่างกาย รวมถึงสภาวะทางจิตใจและอารมณ์ด้วย
การช่วยแบ่งเบาภาระของร่างกายในการย่อยอาหาร และช่วยให้การย่อยอาหารมีประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับชาวอินเดีย เจ้าของหลักการแพทย์แบบอายุรเวท ก็คือ การทานอาหารประเภทที่เรียกว่า สตวะ (sattva)

การแพทย์อายุรเวทจำแนกประเภทของอาหารที่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษต่อร่างกายไว้ 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่
- สตวะ คืออาหารที่กินแล้วเสริมสร้างพลังชีวิต ได้แก่ อาหารที่สามารถกินได้ทันที แม้จะยังไม่ได้นำไปปรุงเป็นอาหาร หรืออาหารที่ปรุงอย่างธรรมชาติ เช่น ผักสด ผลไม้ ธัญพืชต่างๆ รวมทั้งน้ำมันดีที่สกัดด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น น้ำมันมะกอกหีบเย็น เป็นต้น
- รชัช คือ อาหารที่ทานแล้วทำให้การไหลเวียนของพลังงานในร่างกายเกิดความสับสน กระตุ้นให้ร่างกายเกิดภาวะไม่สมดุล ตื่นตัวมากเกินไป หรือที่ชาวอินเดียกล่าวว่า เป็นอาหารประเภทที่กระตุ้นกิเลสตัณหา ได้แก่ อาหารทอด อาหารเมือกมันสูง อาหารรสจัดจ้านเกินพอดี และอาหารที่มีสารกระตุ้นต่างๆ อย่างเนื้อสัตว์ นมสัตว์ที่ได้รับฮอรโมน เป็นต้น
- ตมัส คือ อาหารที่ทานแล้วทำให้ร่างกายอ่อนล้า หมดพลังงาน สิ้นเปลืองพลังงานในการย่อยและดูดซึมมากจนเกินไป ได้แก่ เนื้อสัตว์ อาหารขยะที่มีแป้งขัดขาว ไขมัน และ น้ำตาลสูง อาหารที่เติมวัตถุปรุงแต่ง สารกันบูด น้ำมันผ่านกรรมวิธีทางเคมี รวมถึงยาสังเคราะห์ต่างๆ ด้วย
สตวะ คืออาหารบริสุทธิ์และเมื่อผ่านกระบวนการกลั่นกรองสารสำคัญแล้ว จะทำให้เกิด ojas สร้างประโยชน์แก่ร่างกายและจิตวิญญาณอย่างแท้จริง เมื่อกล่าวถึง ojas และ ama กันแล้ว เราก็ขอชวนมาลองสังเกตร่างกายตัวเองเล่นๆ (แต่ได้ประโยชน์จริงๆ) กันหน่อยดีกว่า ว่าอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายของเราถูกหล่อเลี้ยงด้วย ojas หรือ ama ด้วยข้อสังเกตง่ายๆ ดังนี้
Ojas (สารอาหารชั้นดี) | Ama (ขยะตกค้างในร่างกาย) | ตื่นนอนแล้วรู้สึกสดชื่น | มึนงงเวลาตื่นนอน ลุกจากที่นอนยาก |
ลิ้นและเหงือกเป็นสีชมพูเรื่อ อาจมีฝ้าที่ลิ้นได้เล็กน้อย หรือไม่มี |
ลิ้นเป็นฝ้าหนา เหงือกแดงจัด แดงคล้ำ ออกม่วงหรือซีด ร้อนในบ่อย |
ไม่มีกลิ่นปาก กลิ่นตัว หรือกลิ่นลมหายใจ รู้สึกถึงความเย็นสบายเมื่อหายใจเข้าออก |
มีกลิ่นปาก กลิ่นตัว รู้สึกได้ถึงความร้อน ของลมหายใจที่ผ่านเข้าออก | รู้สึกสบายท้องเมื่อกินอาหารอิ่ม |
อึดอัดหลังกินอิ่ม ท้องอืดบ่อย อาหารย่อยไม่ค่อยได้ |
คล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง ตัวเบาสบาย (ไม่เกี่ยวกับความอ้วนหรือผอม) |
เฉื่อยชา ขาดพลัง เหนื่อยง่าย อยากอาหารประเภทแป้ง หรือน้ำตาลมากกว่าปกติ |
ร่างกายปรับตามสภาพแวดล้อม สภาพอากาศได้ดี ไม่ป่วยง่าย หรือป่วยแล้วหายได้ง่าย |
ป่วยง่าย เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หรือมีการเปลี่ยนสภาพแวดล้อม มักเกิดการเจ็บป่วย |
อารมณ์ดีเสมอ ใจเย็น
มีความมั่นคงทางอารมณ์สูง |
โกรธง่าย หายยาก เครียดบ่อย
มีภาวะซึมเศร้า |

นอกจากการเลือกประเภทของอาหารแล้ว อายุรเวทยังมีหลักในการทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีอยู่อีกหลายประการ ที่เราเห็นว่าน่าจะนำมาแนะนำให้ได้ปรับประยุกต์ทำกันให้ติดเป็นนิสัย เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการทานอาหารแต่ละมื้อ เช่น
- กินอาหารเมื่อหิว ไม่ใช่เมื่ออยาก เมื่อเราหิวจริงๆ เท่านั้น ระบบย่อย และดูดซึมสารอาหารในร่างกาย จึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าหากใครไม่สามารถแยกอาการหิวจริง หรืออยากกิน ออกจากกันได้ เราแนะนำว่า ให้ฝึกทานอาหารทุกมื้อ ในเวลาเท่ากันทุกๆ วัน จนเคยชิน ร่างกายคนเราเปรียบเหมือนนาฬิกาชีวภาพ สิ่งใดที่เราทำซ้ำๆ กันจนเคยชิน เมื่อถึงเวลาที่จะต้องทำ ร่างกายจะส่งสัญญาณให้เรารับรู้ได้เอง
- อย่ากินอาหารในขณะที่อารมณ์ไม่ปกติ ในสภาวะอารมณ์ที่ไม่เป็นปกติ เช่น เวลาที่เรามีความเครียด ระบบประสาทอัตโนมัติจะทำงานหนักขึ้น ระบบย่อยอาหารก็เช่นกัน กระเพาะอาหารจะบีบรัดและหลั่งน้ำย่อยมากผิดปกติ จนก่อให้เกิดอาการกรดเกินในกระเพาะอาหาร เป็นสาเหตุสำคัญของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร และกรดไหลย้อน
- มีความตั้งใจในการกินอาหารที่อยู่ตรงหน้า ใส่ใจในการเคี้ยวอาหารให้ละเอียด หากเราทำกิจกรรมอื่นๆ ไปด้วย เช่น คุยโทรศัพท์ เล่นเกมส์ อาจทำให้เราเผลอเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ดื่มน้ำมากเกินไป หรือ กินอาหารมากเกินไป จนเป็นเหตุให้ระบบย่อยอาหารทำงานแปรปรวน หากมีพฤติกรรมการกินเช่นนี้เป็นประจำ ย่อมทำให้เกิดขยะตกค้างในร่างกาย ต้นเหตุของโรคต่างๆ ตามมาโดยไม่รู้ตัว
- กินแต่พอดี ทั้งในด้านรสชาติของอาหาร คือ ปรุงรสแต่พอดี ไม่กินรสจัดเกินไป ในด้านปริมาณ แม้จะเป็นอาหารประเภทเติมได้ไม่อั้น เราก็ควรเห็นแก่ความลำบากของระบบย่อยอาหารเป็นหลัก หรือแม้กระทั่ง การเลือกกินอาหารที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายก็ตาม หากกินมากเกินไปก็อาจเป็นโทษได้
- กินอาหารธรรมชาติเป็นหลัก ทางเลือกที่ง่ายที่สุดสำหรับข้อนี้ เท่าที่วิถีชีวิตคนกรุงจะทำได้คือ พยายามเลือกกินอาหารจากร้านที่ปรุงขายสดใหม่ หรือหาเวลาทำอาหารกินเองบ้าง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีการเติมวัตถุปรุงแต่งทางเคมี เช่น ผงปรุงรส แต่งกลิ่น และ สารกันเสีย (อ๊ะๆ
คงไม่มีใครบอกว่ายากจนเกินไปนะ)
- กินให้ครบทุกรสในแต่ละวัน (จริงๆ ต้นตำรับบอกให้กินครบทุกรสในทุกมื้อ แต่เราว่าอาจจะยากไปสักหน่อย) ตามคำแนะนำของเจ้าตำรับอายุรเวทอธิบายไว้ว่า ในแต่ละมื้อ เราควรกินอาหารให้ได้ครบทั้ง 6 รสชาติ คือ 1. เปรี้ยว 2. หวาน 3. มัน 4. เค็ม 5. ขม 6. เผ็ด โดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ดูแล้วหลายคนอาจจะร้องว่า โอ๊ยยย มันยากเกินไปไหม อันที่จริงแล้วก็มีอาหารไทยมากมายที่ปรุงรสจากพืชผักผลไม้ตามธรรมชาติที่ครบรสอย่างที่ว่านี้ เช่น ข้าวยำ แกงเลียง เมี่ยงคำ หรือแม้แต่ส้มตำ หากเราจะเอามาปรับใช้ให้เหมาะกับวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ก็น่าจะทำได้ไม่ยาก เช่น ส้มตำเจ้าไหนกินบ่อยๆ รู้ใจกันหน่อย ก็กระซิบบอกแม่ค้าว่า ไม่ใส่ผงชูรส แบบนี้ก็พออนุโลม

- กินให้หลากหลาย อย่ากินอาหารเดิมๆ ซ้ำๆ บ่อยเกินไป เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารหลากหลาย ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่อยู่ในภาวะที่กินดี จนได้รับสารอาหารบางชนิดมากเกินไป แต่กลับขาดสารอาหารอื่นๆ
- กินอาหารที่มีพลังชีวิตสูง หลีกเลี่ยงอาหารที่ค้างหรือเก็บรักษาไว้นานเกินไป เช่น เลือกกินผักผลไม่พื้นถิ่น ตามฤดูกาล ที่ยังคงความสดใหม่ไว้มากที่สุด ไม่ต้องผ่านกรรมวิธีในการเก็บรักษามาก มีความทนทานต่อโรคและแมลงสูง ลดความเสี่ยงจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืช
- ไม่ดื่มน้ำมากจนเกินไป หรือกินผักผลไม้ที่มีน้ำมากเกินไปในระหว่างมื้ออาหาร เพื่อไม่ให้น้ำย่อยถูกเจือจางจนทำให้รบกวนการย่อยอาหาร
- คนพื้นถิ่นไหน ย่อมเหมาะกับพืชผัก สมุนไพรของพื้นถิ่นนั้น ไม่จำเป็นจะต้องไปสรรหาสมุนไพรราคาแพงต่างถิ่นที่ไหน เพราะแม้จะมีสรรพคุณดีเด่นอย่างไร หากเข้ากับสภาวะร่างกายไม่ได้ นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ บางครั้งอาจเป็นพิษต่อร่างกาย ทำให้เป็นอันตรายได้อีกด้วย ดังที่หลักอายุรเวทว่าไว้ ว่ารากฐานของสุขภาพร่างกายที่ดีนั้นมีพื้นฐานมาจากความเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ
นับเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ ที่คนโบราณในยุคสมัยที่ยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ใดๆ มาช่วยในการค้นคว้า วิเคราะห์วิจัย กลับมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งในเรื่องของสุขภาพ และถ่ายทอดภูมิปัญญาเหล่านี้ให้คนรุ่นต่อๆมาสามารถทำความเข้าใจได้โดยไม่ต้องใช้ศัพท์แสงที่เข้าใจยากแต่อย่างใด
ที่เล่าให้ฟังมาทั้งหมดนี้ เราแค่จะบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่จัดอยู่ในประเภท สตวะ รัชช ตมัส คนเดินดินธรรมดาอย่างเราๆ สามารถกินได้ทุกอย่าง เพียงแต่ต้องเลือกกินในสัดส่วนที่สมดุลกัน และเหมาะสมกับสภาวะร่างกายในขณะนั้นๆ กินอาหารดีมีประโยชน์มากหน่อย กินตามใจชอบแต่พอประมาณ
ที่สำคัญฝึกการสังเกตสัญญาณเตือนจากร่างกายบ้าง ว่าภายในร่างกายของเรานั้น มีสารอาหาร หรือขยะตกค้างอยู่มากกว่ากัน แล้วปรับการกินอยู่ให้เอื้ออำนวยต่อการมีสุขภาพดี แค่นี้ก็เพียงพอ
ขอขอบคุณ
ภาพจาก...อินเตอร์เน็ต ข้อมูลจาก...เว็บ ดิ อโรคยา //thearokaya.co.th/web/?p=5871
สวัสดีค่ะ
จาก พรไม้หอม
หากท่านใดประสงค์จะโหวตให้บล็อกนี้ ขอความกรุณาโหวตในสาขาสุขภาพ ขอบคุณค่ะ
Create Date : 12 กรกฎาคม 2559 |
Last Update : 12 กรกฎาคม 2559 17:25:08 น. |
|
23 comments
|
Counter : 3739 Pageviews. |
 |
|
อ่านแล้วได้ความรู้เยอะเลย
กินอาหารเมื่อหิว ไม่ใช่เมื่ออยาก
คนส่วนมากมักกินเมื่ออยาก
เพิ่งรู้ไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย
ลงชื่อไว้ก่อนค่ะ