นอนอย่างไรให้ใจสดชื่น ... บล็อกที่ 42

นอนอย่างไรให้ใจสดชื่น
นำมาจาก Facebook นิตยสารชีวจิต
อยากล้างท็อกซินในตัว ต้องตื่นมาทำดีท็อกตอนเช้า ส่วนถ้าอยากขจัดท็อกซินความทุกข์ เพื่อเริ่มต้นวันใหม่ด้วยใจสดชื่น ทำได้ง่ายๆ แค่ใช้เวลาก่อนและหลังตื่นนอน
เคล็ดลับเป็นอย่างไรนั้น น้อมจิตมาฟัง พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก กัน
ก่อนนอน คิดทบทวนชีวิตและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ประสบมาตลอดวัน ทั้งเรื่องที่พอใจและไม่พอใจ ตั้งสติแล้วคิดว่าอดีตที่ผ่านไปแล้วไม่อาจแก้ไขได้
จากนั้นพิจารณาว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นอนิจจัง คือไม่แน่นอน ทั้งสิ่งดีและร้าย เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมมีวันเปลี่ยนแปลง ไม่อาจคงอยู่เหมือนเดิมตลอดไป จงให้อภัยตนเองและผู้อื่น ปล่อยวางความทุกข์ คิดว่าประสบการณ์ที่เราได้รับล้วนเป็นบทเรียนที่ต้องขอบคุณ เพราะทำให้เราได้เรียนรู้และมีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น
ตื่นนอนเมื่อลืมตาขึ้น ตั้งสติให้รู้ตัวว่าขณะนี้กำลังนอนอยู่ แล้วจึงลุกขึ้นอย่างช้าๆ พิจารณาความรู้สึกของตนเองขณะตื่น หากมีอารมณ์เศร้าหมองให้พยายามปรับจิตใจให้เบิกบาน ยิ้มกับตัวเอง สูดอากาศบริสุทธิ์ยามเช้า ออกกำลังกาย หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง
ควรจัดเวลาสำหรับนั่งสมาธิ 20-30 นาที ตั้งสติระลึกถึงลมหายใจเข้าและออกช้าๆ และตั้งจิตอธิษฐานว่าจะใช้ชีวิตในวันนี้โดย คิดดี ทำดี พูดดี ในทุกสถานการณ์
พระอาจารย์มิตซูโอะ ชี้แนะเพิ่มเติมว่า เมื่อชำระล้างจิตใจและสามารถเริ่มต้นชีวิตอย่างมีความสุขแล้ว จงแผ่ขยายความรู้สึกนี้ออกไปเพื่อสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นในสังคม.



Secret Garden - Song From A Secret Garden .. ความยาว 3.37 นาที
หมายเหตุ : อีกตอนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการนอน คือเรื่อง โรคอัลไซเมอร์สามารถป้องกันได้แม้ในยามหลับ
หลับสนิทกำจัดท็อกซินในสมอง (ช่วงเวลาที่ดีสำหรับการนอน คือ ช่วง 21 .00- 5.00 น.)
งานวิจัยจากภาควิชาประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกษาวิจัยพบว่า การอดนอน กระตุ้นให้โปรตีนบีตาแอมเมิลลอยด์ (Beta-Amyloid protein) ในสมองเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เซลล์สมองถูกทำลายและสมองเสื่อมเร็ว ในขณะที่การนอนเต็มอิ่มช่วยให้ระดับโปรตีนบีตา-แอมเมิลลอยด์ลดลง
อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กล่าวว่า "เมื่อแอมเมิลลอยด์รวมตัวกันมากเข้าจะปรากฏเป็นเมือกบางๆ คล้ายไขมันในท้องสัตว์ โดยแผ่นคราบนี้เรียกตามภาษาทางการแพทย์ว่า พลัก (plaque) ซึ่งหากรวมตัวอยู่ในสมองในปริมาณมาก จะทำให้สมองทำงานผิดปกติ ดังนั้นวิธีที่จะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองคือ การเร่งระบายแอมเมิลลอยด์หรือท็อกซินออกจากสมอง"
ทั้งนี้การระบายท็อกซินเกิดขึ้นเมื่อสมองได้พักผ่อนเต็มที่ในขณะนอนหลับ โดยการนอนอย่างมีคุณภาพต้องนอนหลับสนิท ไม่ฝัน และหลับลึกจนถึงเช้า นอนหลับ 5-6 ชั่วโมงหรืออย่างมากที่สุด 8 ชั่วโมง ก็นับว่าเพียงพอ
นอนพอหรือไม่ สังเกตุด้วยตนเองง่ายๆ .. หากตึ่นมามีแรง รู้สึกสดชื่น สมองแจ่มใส แสดงว่านอนหลับเต็มอิ่ม แต่หากตื่นขึ้นมา รู้สึกอ่อนเพลีย สมองไม่แล่น อาจเป็นเพราะนอนหลับไม่สนิท นอนน้อยหรือนอนมากเกินไป
สำหรับใครที่จัดสรรเวลานอนอย่างลงตัวแล้ว แต่มีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับหรือนอนหลับไม่สนิท อาจารย์สาทิส แนะนำให้ใช้วิธีคลาย-เกร็งกล้ามเนื้อ และทำสมาธิก่อนนอน
วิธีคลายเกร็งกล้ามเนื้อ จะช่วยให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายให้ผ่อนคลาย เริ่มจาก หน้า คอ มือ แขน ช่องท้อง และเท้า .. ส่วนวิธีทำสมาธิก่อนนอน ช่วยให้จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ส่งผลให้เราหลับง่ายและหลับสนิทตลอดคืน.



หากท่านใดประสงค์จะโหวตให้บล็อกนี้ ขอความกรุณาโหวตในสาขาสุขภาพ ขอบคุณค่ะ
จาก พรไม้หอม
Create Date : 31 สิงหาคม 2555 |
Last Update : 1 กันยายน 2555 11:37:25 น. |
|
45 comments
|
Counter : 4274 Pageviews. |
 |
|
|
ภาพประกอบสวยจังเลยค่ะ :)