ประโยชน์ของชาเขียว ... บล็อกที่ 93

ประโยชน์ของชาเขียว
ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย ขอขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้ค่ะ
ชาเขียว (green tea) เป็นชาที่เก็บเกี่ยวจากต้นชาและไม่ผ่านการหมัก (หากหมักและนำไปอบจะเป็นชาอูหลงและชาดำ) น้ำชาเขียวจะเป็นสีเขียวหรือเหลืองอมเขียว มีรสฝาด ชาเขียวมี 2 ประเภท คือ ชาเขียวแบบญี่ปุ่น ซึ่งไม่ต้องคั่วใบชา กับชาเขียวแบบจีน ซึ่งมีการคั่วใบชาในกะทะร้อน
ในชาเขียว มีสารสำคัญอยู่ 2 ชนิด คือ
1. คาเฟอีน (caffein) มีประมาณ 2.5% โดยน้ำหนัก เป็นสารที่กระตุ้นให้สมองสดชื่นแจ่มใส หายง่วง เนื่องจากมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เพิ่มการเผาผลาญ เพิ่มการทำงานของหัวใจและไต ผู้ป่วยโรคหัวใจจึงไม่ควรดื่มชาเขียว เนื่องจากคาเฟอีนมีคุณสมบัติในการกระตุ้นประสาทและบีบหัวใจ
2. แทนนิน หรือ ฝาดชา (tea tannin) พบในใบชาแห้งประมาณ 20-30 % โดยน้ำหนัก เป็นสารที่มีรสฝาด ใช้บรรเทาอาการท้องเสียได้ ดังนั้นหากต้องการดื่มชาเขียวให้ได้รสชาติดี จึงไม่ควรทิ้งใบชาค้างไว้ในกานานเกินไป เพราะแทนนินจะละลายออกมามาก ทำให้ชาเขียวมีรสขม แต่หากจะดื่มชาเขียวเพื่อจุดประสงค์ในการบรรเทาอาการท้องเสีย ก็ควรจะต้มใบชานานๆเพื่อให้มีปริมาณแทนนินออกมามาก และแทนนินยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหัวใจและขยายผนังหลอดเลือด ทำให้ชาเขียวเหมาะกับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ยิ่งกว่านั้นยังพบว่ามีสารแคทิชิน (catechin) ซึ่งเป็นสารแทนนินชนิดหนึ่งในชาเขียว มีฤทธิ์เป็นสารต้านการเกิดมะเร็ง


วิธีเก็บรักษาใบชา
ควรเก็บไว้ในที่แห้ง ณ อุณหภูมิห้อง ในภาชนะที่ปิดสนิท และควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
1. หากบรรจุซองฟอยด์ ให้รีดลมออกให้หมด เพื่อไม่ให้กลิ่นกระจายหาย และใบชาสดใหม่
2. หากบรรจุภาชนะอื่น ภาชนะนั้นต้องทึบแสง เช่น กระป๋องไม้ กระป๋องอะลูมิเนียม หลีกเลี่ยงการเก็บใบชาในภาชนะที่แสงสามารถผ่านได้ ภาชนะนั้นต้องปราศจากกลิ่นแปลกปลอมใดๆ เนื่องจากใบชามีคุณสมบัติดูดกลิ่นได้เป็นอย่างดี ควรทำความสะอาดภาชนะนั้นด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้ง จนแน่ใจว่าสะอาดที่สุด และไม่ควรวางไว้ในตู้ที่มีกลิ่นรุนแรงหรือมีกลิ่นแปลกปลอม

วิธีชงชา
1. ใส่ใบชาในกาชาประมาณ 1/6 -1/4
2. รินน้ำเดือดลงในกาชาครึ่งหนึ่ง เททิ้งทันที (ไม่ควรเกิน 5 วินาที) เพื่อล้างและอุ่นใบชาให้ตื่นตัว
3. รินน้ำเดือดลงในกาชาจนเต็ม ปิดฝากา ทิ้งไว้ประมาณ 45 - 60 วินาที
4. รินน้ำชาลงในแก้วดื่ม (การรินแต่ละครั้ง ต้องรินน้ำให้หมดกา มิฉะนั้นจะทำให้น้ำชาที่เหลือมีรสขมและฝาดมากขึ้น เสียรสชาติ) ใบชาสามารถชงได้ 4 - 6 ครั้ง และในการชงแต่ละครั้ง ให้เพิ่มเวลาขึ้นครั้งละ 10 - 15 วินาที

การชงชาให้ได้รสชาติดี มีข้อสำคัญ 4 ประการ
1. ปริมาณใบชา จะใช้ใบชาเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับลักษณะของใบชา เช่น ชาที่มีรูปกลมแน่น กลมกลวม หรือเป็นเส้น ถ้าใช้ใบชาที่มีลักษณะกลมแน่น จะใช้ชาประมาณ 25 % ของกาชา ใบชาเมื่อแช่อยู่ในน้ำร้อน จะเริ่มคลี่ตัวออกทีละน้อย จนเป็นใบชัดเจน ถ้าใส่ใบชามากเกินไปจะทำให้การคลายตัวไม่สะดวก ซึ่งรสชาติที่ชงออกมาจะไม่ได้ตามมาตรฐานของชานั้นๆ และเมื่อใบชาคลายตัวออกมาเต็มที่ ควรจะมีปริมาณประมาณ 90% ของกาชา
2. อุณหภูมิน้ำ น้ำที่ชงชาไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเดือด 100 องศาเซลเซียส แต่ต้องดูว่าจะชงชาประเภทใด เช่น อุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียสขึ้นไป เหมาะสำหรับชงชาที่ทรงแน่นกลม อุณหภูมิ 80 - 90 องศาเซลเซียส เหมาะสำหรับชงชาที่มีรูปร่างบอบบาง แตกหักง่าย หรือชาที่มีใบอ่อนมาก และอุณหภูมิต่ำกว่า 80 องศาเซลเซียส ใช้กับการชงชาเขียวทั่วไป
3. เวลา การใช้เวลานานหรือไม่ จะบอกถึงน้ำชาจะอ่อนหรือแก่ โดยปกติประเภทกลมแน่น จะใช้เวลาในครั้งแรกประมาณ 40 - 60 วินาที ครั้งต่อๆไป เพิ่มอีกครั้งละ 10 - 15 วินาที/ครั้ง
4. กาชา กาที่ใช้ควรเป็นกาที่ทำจากดินเผา กาดินเผาจะเก็บความร้อนได้ดีกว่า และให้การตอบสนองที่ดีกว่ากาที่ทำจากวัสดุอื่น



ประโยชน์ของชาเขียว
1. จะช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนังได้ เพราะในชาเขียวมีสารแอนติออกซิแดนท์ โพลีฟีนอล ซึ่งมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง
2. จะช่วยลดน้ำหนัก สารคาเฟอีนและสารแคทิชิน (catechin) ในชาเขียว จะช่วยทำให้เมตาบอลิซึมในร่างกายดีขึ้น เผาผลาญพลังงานได้มาก เป็นผลทำให้น้ำหนักตัวลดลง โดยไม่มีผลกระทบต่ออัตราการเต้นของหัวใจ
3. จะช่วยต้านโรคไขข้ออักเสบ ช่วยป้องกันโรคข้ออักเสบรูห์มาติก (rheumatoid arthritis) ที่มักจะเกิดกับสตรีวัยกลางคน อาการของโรคโดยทั่วไปคือ มีอาการอักเสบบวมแดง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ
4. จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล สารแคทิชิน (catechin) ในชาเขียว จะช่วยทำลายคอเลสเตอรอลและกำจัดปริมาณของคอเรสเตอรอลในลำไส้ และยังช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่พอดีอีกด้วย
5. จะช่วยลดกลิ่นปาก ช่วยลดเชื้อแบคทีเรียในปาก ช่วยป้องกันฟันผุ ช่วยทำให้ลมหายใจสดชื่น ผลการศึกษาสรุปว่า สารโพลีฟีนอลส์ในชาเขียว ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียถึง 30% ลดการผลิตของสารประกอบที่เป็นสาเหตุทำให้ลมหายใจเหม็นบูด ชาเขียวมีสรรพคุณช่วยป้องกันฟันผุ โดยช่วยยับยั้งแบคทีเรียที่ชื่อ Streptococcus mutans ซึ่งเป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดหินปูนที่มาเกาะฟัน
6. ชาเขียว จะช่วยป้องกันเชื้อไวรัสเอชไอวี ข้อมูลในวารสารวิทยาภูมิคุ้มกันทางการแพทย์และโรคภูมิแพ้ ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน พิมพ์ว่า สารแคทิชิน (catechin) ในชาเขียวโดยเฉพาะ EGCG มีสรรพคุณป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ชาเขียวเข้มข้นช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเอชไอวี จับตัวกับเซลล์เม็ดเลือดขาว ชนิดที่มีความสำคัญต่อภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนเราที่เรียกว่า "ทีเซลล์" (T cells) ซึ่งเป็นด่านแรกที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้ ถ้ามีผลการศึกษาเพิ่มเติมยืนยันผลการวิจัยนี้ นักวิจัยกล่าวว่าจะนำสารในชาเขียวมาใช้ทดลองผลิตยาชนิดใหม่ เพื่อป้องกันการลุกลามของเชื้อเอชไอวี




7. ใช้ชาเขียวร่วมกับใบหม่อน จะช่วยป้องกันโรคหวัด ลดไขมันในเลือด
8. ใช้ชาเขียวร่วมกับส่วนหัวของต้นหอม จะช่วยขับเหงื่อ แก้ไข้หวัด
9. ใช้ชาเขียวร่วมกับขิงสด จะช่วยรักษาอาการอาหารเป็นพิษและจุกลม ช่วยต่อต้านมะเร็งตับ
10. ใช้ชาเขียวร่วมกับตะไคร้แห้ง จะช่วยขับไขมันในเลือด
11. ใช้ชาเขียวร่วมกับคึ่นฉ่าย จะช่วยลดความดันโลหิต
12. ใช้ชาเขียวร่วมกับดอกเก๊กฮวยสีเหลือง จะช่วยแก้วิงเวียนศีรษะ ตาลาย
13. ใช้ชาเขียวร่วมกับลูกเดือย จะลดอาการบวมน้ำ ตกขาว และมดลูกอักเสบ
14. ใช้ชาเขียวร่วมกับเนื้อลำไยแห้ง จะบำรุงสมอง เสริมความจำ
15. ใช้ชาเขียวร่วมกับบ๊วยเค็ม จะช่วยบรรเทาอาการคอแห้ง แสบคอ เสียงแหบ
16. ใช้ชาเขียวร่วมกับหนวดข้าวโพด จะช่วยลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือด ลดอาการบวมน้ำ
17. ใช้ชาเขียวร่วมกับเม็ดบัว จะช่วยบรรเทาอาการฝันเปียก และยับยั้งการหลั่งเร็ว




18. ชาเขียว จะช่วยทำความสะอาดพรม นอกจากใบชาแห้งจะเป็นยาดับกลิ่นได้ดีแล้ว ยังมีคุณสมบัติต่อต้านหรือหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้ด้วย ก่อนทำความสะอาดพรมด้วยเครื่องดูดฝุ่น ควรโปรยใบชาแห้งบนพรมให้ทั่ว ทิ้งไว้สักครู่หนึ่ง หลังจากนั้นจึงดูดฝุ่นรวมทั้งใบชาทั้งหมด กลิ่นหอมสะอาดของใบชาเขียวจะช่วยทำให้ห้องสดชื่นรวมทั้งทำความสะอาดพรมด้วย
19. ชาเขียว จะช่วยทำความสะอาดเครื่องครัว เราสามารถใช้กากชาเขียวดับกลิ่นคาวต่างๆได้ โดยหลังจากใช้เขียงประกอบอาหารแล้ว ให้นำไปล้างน้ำ หลังจากนั้นเกลี่ยใบชาเปียกให้ทั่วเขียง ทิ้งไว้สักพักใหญ่ จึงใช้ใบชาขัดถูเขียงให้ทั่ว และล้างออกด้วยน้ำสะอาด น้ำชาต้มก็สามารถนำมาใช้ล้างทำความสะอาดเขียงและอุปกรณ์เครื่องครัวอื่น ๆ ได้ดีเช่นเดียวกัน
20. ชาเขียว จะช่วยป้องกันสนิม ใช้ใบชาขัดถูหม้อ หรือกะทะเหล็ก จะช่วยป้องกันสนิมได้ สารแทนนิน (tannin) ในใบชาจะจับตัวกับเหล็กและสร้างสารเคลือบบางๆบนพื้นผิวหม้อหรือกะทะเพื่อป้องกันสนิม
21. ชาเขียว จะช่วยประคบดวงตาให้สดใส นำถุงชาที่เปียกและเย็น ทั้งที่ใช้แล้วหรือถุงชาเก่าที่ยังไม่ได้ใช้ วางบนเปลือกตาจะช่วยคลายความเมื่อยล้าและทำให้ดวงตาสดใส
22. ชาเขียว จะช่วยผสมน้ำอาบได้ นำถุงชาใช้แล้วหรือใบชาใส่ถุงผ้าฝ้ายบางๆ มัดให้แน่น แช่ทิ้งไว้ในอ่างอาบน้ำอุ่น น้ำอุ่นผสมน้ำชาจะทำให้ร่างกายสดชื่น
23. หมอนใบชา กลิ่นหอมบางๆจากใบชา จะช่วยทำให้ร่างกายหลับสบาย การดูแลรักษาหมอนใบชาทำได้ง่ายๆโดยนำหมอนที่ทำจากใบชาออกตากในที่ร่ม เพื่อระบายอากาศเป็นประจำ สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง
24. ใบชาเป็นเครื่องหอม นำใบชามาเผาเป็นเครื่องหอม จะให้มีกลิ่นหอมมาก
25. ใบชาเป็นยาดับกลิ่นในตู้เย็น ให้นำถุงผ้าฝ้ายบางๆ บรรจุใบชาหรือถุงชาใช้แล้วใส่ไว้ในตู้เย็น สามารถขจัดกลิ่นที่ไม่พึงปรารถนาในตู้เย็นได้
26. ใบชาใช้เป็นปุ๋ย นำกากชาไปใส่ในกระถางต้นไม้ ใช้เป็นปุ๋ยได้




โทษของชาเขียว
ปกติชาเขียวจะมีประโยชน์ แต่หากชาเขียวเข้มข้นเกินไป และแช่ทิ้งไว้นานๆ จะเกิดโทษต่อร่างกายได้
1. ผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรงดดื่มชาเขียว เพราะคาเฟอีนจะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น
2. ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ จะมีอาการกระสับกระส่าย หัวใจเต้นเร็ว มือสั่นเพิ่มขึ้น
3. หญิงมีครรภ์ ควรงดดื่มชาเขียว เพราะจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้
4. ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชาเขียว เพราะชาเขียวจะไปกระตู้นให้ผนังกระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยซึ่งมีสภาวะเป็นกรดมากกว่าปกติ ทำให้อาการอักเสบรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตามหากเลิกดื่มชาเขียวไม่ได้ ควรดื่มนมพร้อมกับชาเขียว เพราะนมจะช่วยยับยั้งแทนนินไม่ให้ออกฤทธิ์กระตุ้นน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร
5. ในกรณีที่ต้องการดื่มชาเขียวเพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันมะเร็ง การเติมนมในชาจะไม่ได้ผล เพราะเมื่อเติมนมลงไป นมจะไปจับกับสารแทนนิน ไม่ให้ออกฤทธิ์ แม้จะมีงานวิจัยต่างๆระบุว่า สาร EGCG ในแคทิชิน (catechin) ซึ่งมีอยู่ในชาเขียวจะสามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งได้ถึง 50% แต่การทดลองบางแห่งพบว่า EGCG เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดมะเร็งในสัตว์ได้อีกชนิดหนึ่ง อาจจะเพราะความสลับซับซ้อนของเอมไซม์และฮอร์โมนของสัตว์ที่แตกต่างกัน ฉะนั้นการดื่มชาเขียวเพื่อสุขภาพที่แท้จริง จึงควรอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะพอดี
6. การดื่มชาเขียวเป็นอาหารเช้า จะทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร จึงควรดื่มนมหรือเติมน้ำตาล และควรทานอาหารที่มีประโยชน์ชนิดอื่นร่วมด้วย
7. การดื่มชาเขียวในปริมาณเข้มข้นมากๆ จะทำให้ท้องผูก และนอนไม่หลับ
8. การดื่มชาเขียวในปริมาณสูง อาจมีผลต่อการลดการดูดซึมวิตามิน B1 และ ธาตุเหล็กได้
9. การดื่มชาเขียวที่ร้อนจัดมากๆ จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร ระคายเคืองต่อเซลล์ จะทำให้เกิดโรคมะเร็งสูง.



สวัสดีค่ะ
จาก พรไม้หอม
หากท่านใดประสงค์จะโหวตให้บล็อกนี้ ขอความกรุณาโหวตในสาขาสุขภาพ ขอบคุณค่ะ
Create Date : 06 มิถุนายน 2556 |
Last Update : 6 มิถุนายน 2556 17:10:39 น. |
|
30 comments
|
Counter : 6295 Pageviews. |
 |
|
|